ข้ามไปเนื้อหา

อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมฯ

จาก วิกิซอร์ซ
คำแปล
 
อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่น
ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
 
  • กองแปล
  • กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
  • กระทรวงการต่างประเทศ
  • 28 กันยายน 2544

 

คำแปล
 
อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่น
ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

ได้รับการตกลงรับ และเปิดให้ลงนาม ให้สัตยาบัน และภาคยานุวัติ โดยข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติ ที่ ๓๙/๔๖ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๔

มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๗ ตามข้อ ๒๗(๑)

 

รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฉบับนี้

โดยพิจารณาว่า ตามหลักการที่ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ การยอมรับสิทธิที่เท่าเทียมกันและโอนมิได้ของสมาชิกทั้งปวงแห่งครอบครัวมนุษย์ เป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

 

โดยยอมรับว่าสิทธิเหล่านั้นมาจากศักดิ์ศรีแต่กำเนิดของมนุษย์

 

โดยพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐต่างๆ ภายใต้กฎบัตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ ๕๕ เพื่อส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามทั่วสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง

 

โดยคำนึงถึงข้อ ๕ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ ๗ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งทั้งสองฉบับต่างบัญญัติว่า ต้องมิให้บุคคลใดตกอยู่ภายใต้การทรมาน หรือการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

 

โดยคำนึงเช่นกันถึงปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทั้งปวงจากการตกอยู่ภายใต้การทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติได้ตกลงรับเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

โดยปรารถนาที่จะให้การต่อสู้เพื่อต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นทั่วโลก

ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

ภาค ๑
ข้อ ๑

๑. เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า "การทรมาน" หมายถึง การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้น สำหรับการกระทำ ซุ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามกระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือเป็นการข่มขู่ให้กลัวหรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพราะเหตุผลใด บนพื้นฐานของการเลือกประติบัติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้นกระทำโดย หรือด้วยการยุยง หรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจาก หรืออันเป็นผลปกติจาก หรืออันสืบเนื่องมาจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

๒. ข้อนี้ไม่มีผลกระทบต่อตราสารระหว่างประเทศหรือกฎหมายภายในใดที่มี หรืออาจจะมีบทบัญญัติที่ใช้บังคับได้ในขอบเขตที่กว้างกว่า

ข้อ ๒

๑. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐดำเนินมาตรการต่างๆ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร ทางตุลาการหรือมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิผลเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำการทรมานในอาณาเขตใดซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจรัฐของตน

๒. ไม่มีพฤตการณ์พิเศษใด ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม หรือสภาพคุกคามที่จะเกิดจากสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดที่ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้

๓. คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือจากทางการ ไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้

ข้อ ๓

๑. รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายต้อันตรายที่จะถูกทรมาน

๒. เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะวินิจฉัยว่ามีเหตุอันควรเชื่อเช่นว่าหรือไม่ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการที่มรูปแบบที่ต่อเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐนั้นอย่างร้ายแรง โดยซึ่งหน้า หรืออย่างกว้างขวางด้วย หากมี

ข้อ ๔

๑. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่า การกระทำทรมานทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของตน ให้ใช้หลักการเดียวกันนี้บังคับสำหรับการพยายามกระทำการทรมาน และสำหรับการกระทำโดยบุคคลใดที่เป็นการสมรู้ร่วมคิด หรือการมีส่วนร่วมในการทรมานด้วย

๒. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐทำให้ความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่มีโทษ ซึ่งมีระวางโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำเหล่านั้น

ข้อ ๕

๑. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจจำเป็นเพื่อให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่อ้างถึงในข้อ ๔ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

(ก) เมื่อความผิดเหล่านั้นเกิดขึ้นในอนาณาเขตใดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน หรือบนเรือ หรืออากาศยานที่จดทะเบียนในรัฐนั้น
(ข) เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนชาติของรัฐนั้น
(ค) เมื่อผู้เสียหายเป็นคนชาติของรัฐนั้น หากรัฐนั้นเห็นเป็นการสมควร

๒. ในทำนองเดียวกัน ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐดำเนินมาตรการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดทั้งปวงเช่นว่า ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในอาณาเขตใดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจรัฐของตน และรัฐนั้นไม่ยอมส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามข้อ ๘ ให้แก่รัฐที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้

๓. อนุสัญญานี้มิได้ยกเว้นเขตอำนาจทางอาญาใดที่ใช้ตามกฎหมายภายใน

ข้อ ๖

๑. เมื่อเป็นที่พอใจ หลังจากการตรวจสอบข้อสนเทศที่ตนมีอยู่แล้วว่า พฤติการณ์แวดล้อมบังคับให้ต้องดำเนินการเช่นว่านั้น รัฐภาคีใดที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดใดที่อ้างถึงในข้อ ๔ อยู่ในอาณาเขตของตน ต้องนำตัวบุคคลนั้นไปคุมขังไว้ หรือดำเนินมาตรการทางกฎหมายอื่นที่จะประกันการคงอยู่ของบุคคลนั้น การควบคุมตัวและมาตรการทางกฎหมายอื่นต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของรัฐนั้น แต่สามารถควบคุมตัวและดำเนินมาตรการนั้นต่อไปได้เพียงเท่าที่จำเป็นที่จะทำให้การดำเนินกระบวนการทางอาญาหรือกระบวนการพิจารณาสำหรับการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนสามารถกระทำได้เท่านั้น

๒. รัฐเช่นว่าต้องดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นในด้านข้อเท็จจริงโดยทันที

๓. บุคคลใดที่ถูกคุมขังตามวรรค ๑ ของข้อนี้ ต้องได้รับความช่วยเหลือในการติดต่อโดยทันทีกับผู้แทนที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดของรัฐที่ตนเป็นคนชาติ หรือกับผู้แทนของรัฐที่ตนพำนักอยู่เป็นปกติ หากบุคคลนั้นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ

๔. เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งได้นำตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปคุมขังไว้ตามข้อนี้ ให้รัฐนั้นแจ้งให้บรรดารัฐที่อ้างถึงในข้อ ๕ วรรค ๑ ทราบโดยทันที ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าบุคคลเช่นว่าตกอยู่ภายใต้การคุมขังและเกี่ยวกับพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวง ที่ทำให้ต้องกักตัวบุคคลนั้นไว้ ให้รัฐซึ่งทำการไต่สวนเบื้องต้นที่ระบุไว้ในวรรค ๒ ของข้อนี้ รายงานผลการไต่สวนของตนให้รัฐดังกล่าวทราบโดยลัน และให้ระบุด้วยว่าตนตั้งใจที่จะใช้เขตอำนาจนั้นหรือไม่

ข้อ ๔

๑. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่า การกระทำทรมานทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของตน ให้ใช้หลักการเดียวกันนี้บังคับสำหรับการพยายามกระทำการทรมาน และสำหรับการกระทำโดยบุคคลใดที่เป็นการสมรู้ร่วมคิด หรือการมีส่วนร่วมในการทรมานด้วย

๒. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐทำให้ความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่มีโทษ ซึ่งมีระวางโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำเหล่านั้น

ข้อ ๗

๑. ในกรณีต่างๆ ที่ระบุไว้ในข้อ ๕ ให้รัฐภาคีซึ่งพบตัวบคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดใดที่อ้างถึงในข้อ ๔ อยู่ในอาณาเขตซึ่งอยู่ภายในเขตอำนาจรัฐของตน มอบเรื่องให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของตนเพื่อความมุ่งประสงค์ในการฟ้องร้องดำเนินคดี หากรัฐนั้นไม่ยอมส่งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

๒. ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจนั้นทำคำวินิจฉัยของตนในลักษณะเดียวกันกับในกรณีของความผิดธรรมดาที่มีลักษณะร้ายแรงตามกฎหมายของรัฐนั้น ในกรณีต่างๆ ที่อ้างถึงในข้อ ๕ วรรค ๒ มาตรฐานทั้งปวงของพยานหลักฐานที่จำเป็นต้องมีสำหรับการฟ้องร้องดำนเนิคดีและการพิพากษาว่ามีความผิด ต้องไม่เข้มงวดน้อยกว่ามาตรฐานทั้งปวงที่ใช้บังคับสำหรับกรณีต่างๆ ที่อ้างถึงในข้อ ๕ วรรค ๑

๓. ให้บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดที่อ้างถึงในข้อ ๔ ได้รับการประกันว่าจะได้รับการประติบัติที่เป็นธรรมในทุกขั้นตอนของการดำเนินคดี

ข้อ ๘

๑. ความผิดที่อ้างถึงในข้อ ๔ ให้ถือว่ารวมอยู่ในความผิดทั้งปวงที่ส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนใดที่มีอยู่ระหว่างรัฐภาคี รัฐภาคีรับที่จะรวมเอาความผิดเช่นว่าเข้าไปอยู่ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนทุกฉบับที่จะทำขึ้นมาระหว่างกันในอนาคต ในฐานะความผิดต่างๆ ที่ส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้

๒. หากรัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งซึ่งกำหนดให้การส่งผู้ร้ายข้ามแดนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความคงอยู่ของสนธิสัญญา ได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากรัฐภาคีอีกรัฐหนึ่ง รัฐภาคีซึ่งมิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยกับรัฐภาคีนั้น มีสิทธิที่จะถือเอาอนุสัญญานี้เป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เกี่ยวข้องกับความผิดเช่นว่าได้ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของรัฐที่ได้รับการร้องขอ

๓. รัฐภาคีทั้งปวงซึ่งมิได้กำหนดให้การส่งผู้ร้ายข้ามแดนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความคงอยู่ของสนธิสัญญา ต้องยอมรับว่าวามผิดเช่นว่าเป็นความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันได้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของรัฐที่ได้รับการร้องขอ

๔. เพื่อความมุ่งประสงค์ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐภาคีทั้งปวง ให้ถือเสมือนว่าความผิดเช่นว่ามิได้เพียงแต่กระทำ ณ ที่ซึ่งความผิดนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ได้กระทำในอาณาเขตของรัฐซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องทำให้ตนมีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดนั้นตามข้อ ๕ วรรค ๑ ด้วย

ข้อ ๙

๑. รัฐภาคีทั้งปวงต้องเสนอมาตราการให้ความช่วยเหลือกันและกันให้มากที่สุดในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับความผิดที่อ้างถึงในข้อ ๔ รวมทั้งการจัดส่งพยานหลักฐานทั้งปวงที่ตนมีอยู่เท่าที่จำเป็นสำหรับการดำเนินคดีนั้นให้ด้วย

๒. รัฐภาคีทั้งปวงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของตนตามวรรค ๑ ของข้อนี้โดยสอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางการศาลที่อาจมีอยู่ระหว่างกัน

ข้อ ๑๐

๑. รัฐภาคีแต่ละรัฐต้องประกันว่า การศึกษาและข้อสนเทศเกี่ยวกับการห้ามการทรมานเข้าไปบรรจุอย่างสมบูรณ์ในหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่เป็นพลเรือนหรือทหาร พนักงานทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว การสอบสวน หรือการประติบัติต่อปัจเจกบุคคลที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะของการถูกจับ การกักขัง หรือการจำคุก ไม่ว่าจะในรูปแบบใด

๒. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐนำข้อห้ามนี้เข้าไปบรรจุอยู่ในกฎเกณฑ์หรือคำสั่งที่ออกมาเกี่ยวกับหน้าที่และภารกิจของบุคคลเช่นว่า

ข้อ ๑๑

ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐพิจารณาทบทวนอย่างเป็นระบบสำหรับกฎเกณฑ์ คำสั่ง วิธีการและแนวทางปฏิบัติในการไต่สวน ตลอดจนการจัดระเบียบทั้งปวงสำหรับการควบคุมและการประติบัติต่อบุคคลที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะของการจับ การกักขัง และการจำคุกไม่ว่าในรูปแบบใดในอาณาเขตที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน เพื่อที่จะป้องกันมิให้เกิดกรณีการทรมานใดขึ้น

ข้อ ๑๒

ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของคนดำเนินการสืบสวนโดยพลันและโดยปราศจากความลำเอียง เมื่อใดก็ตาที่มีมูลเหตุอันสมเหตุสมผลที่จะเชื่อได้ว่า ได้มีการกระทำการทรมานเกิดขึ้นในอาณาเขตใดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน

ข้อ ๑๓

ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่าปัจเจกบุคคลที่อ้างว่าตนถูกทรมานในอาณาเขตใดก็ตามที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐนั้น มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้น และที่จะทำให้กรณีของตนได้รับการพิจารณาตรวจสอบโดยพลันและโดยปราศจากความลำเอียงโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้น ให้ดำเนินขั้นตอนทั้งปวงเพื่อประกันว่า ผู้ร้องทุกข์และพยานได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือการข่มขู่ให้หวาดกลัวทั้งปวงอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น

ข้อ ๑๔

๑. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันในระบบกฎหมายของตนว่าผู้ถูกทำร้าย จากการกระทำการทรมานได้รับการชดใช้ทดแทนและมีสิทธิซึ่งสามารถบังคับคดีได้ที่จะได้รับสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ รวมทั้งวิถีทางที่จะได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในกรณีที่ผู้ถูกทำร้ายเสียชีวิต อันเป็ผนลจากการกระทำการทรมาน ให้ผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลนั้นมีสิทธิที่จะได้รับสินไหมทดแทน

๒. ไม่มีความใดในข้อนี้ที่มีผลกระทบที่สิทธิใดของผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นในอันที่จะได้รับสินไหมทดแทนซึ่งอาจมีอยู่ตามกฎหมายภายใน

ข้อ ๑๕

ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่าจะยกคำให้การใดที่พิสูจน์ได้ว่าได้ให้โดยเป็นผลจากการทรมาน ขึ้นอ้างเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีมิได้ เว้นแต่จะใช้เป็นหลักฐานผูกมัดบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการทรมาน ในฐานะเป็นหลักฐานว่าคำให้การได้มาโดยวิธีนั้น

ข้อ ๑๖

๑. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐรับที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการประติบัติ หรือการลงโทษที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ไม่ถึงกับเป็นการทรมานตามที่นิยามไว้ในข้อ ๑ เกิดขึ้นในอาณาเขตภายใต้เขตอำนาจของตน เมื่อการกระทำเช่นว่าได้กระทำโดย หรือด้วยการยุยง หรือความยินยอม หรือความรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธกรณีทั้งปวงในข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ ให้นำมาใช้บังคับ โดยการแทนที่การกล่าวถึงการทรมาน หรือการกล่าวถึงการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

๒. บทบัญญัติต่างๆ ของอนุสัญญานี้ไม่มีผลกระทบต่อบทบัญญัติทั้งปวงของตราสารระหว่างประเทศหรือกฎหมายภายใน ที่ห้ามมิให้มีการประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือที่เกี่ยวข้องกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการขับไล่ออกนอกประเทศ

ภาค ๒
ข้อ ๑๗

๑. ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (ซึ่งต่อไปในที่นี้ จะเรียกว่า คณะกรรมการฯ) ซึ่งต้องปฏิบัติภารกิจตามที่บัญญัติไว้ต่อจากนี้ ให้คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน ๑๐ คน ที่มีคุณลักษณะทางศีลธรรมสูง และมีความสามารถอันเป็นที่ยอมรับทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเฉพาะตัว ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ต้องได้รับการเลือกตั้งโดยรัฐภาคีทั้งปวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการกระจายตามหลักภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรมและความเป็นประโยชน์ของการเข้าร่วมของบุคคลบางคนที่มีประสบการณ์ทางกฎหมาย

๒. ให้สมาชิกของคณะกรรมการฯ ได้รับการเลือกตั้งโดยการลงคะแนนลับจากรายชื่อของบุคคลที่เสนอชื่อขึ้นมาโดยรัฐภาคี รัฐภาคีแต่ละรัฐสามารถเสนอชื่อบุคคลหนึ่งคนที่เลือกจากคนชาติของตน รัฐภาคีทั้งปวงต้องคำนึงถึงความเป็นประโยชน์ของการเสนอชื่อบุคคลที่เป็นสมาชิกทั้งปวงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และที่เต็มใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการต่อต้านการทรมานด้วย

๓. การเลือกตั้งสมาชิกของคณะกรรมการฯ ต้องกระทำทุกสองปีในการประชุมรัฐภาคีซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติจัดประชุม ในการประชุมเหล่านั้น ซึ่งจะต้องมีรัฐภาคีจำนวนสองในสามจึงจะครบองค์ประชุม บุคคลทั้งปวงที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการฯ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด และเป็นเสียงข้างมากที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้แทนของรัฐภาคีทั้งปวงที่เข้าประชุมและออกเสียง

๔. ให้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายในระยะเวลาไม่เกินหกเดือนหลังจากวันที่อนุสัญญานี้เริ่มมีผลบังคับใช้ ภายในเวลาอย่างน้อยสี่เดือนก่อนวันเลือกตั้งแต่ละครั้ง ให้เลขาธิการสหประชาชาติมีหนังสือถึงรัฐภาคีทั้งปวง เชิญชวนให้แจ้งการเสนอชื่อของตนภายในสามเดือน เลขาธิการสหประชาชาติต้องจัดทำบัญชีรายชื่อตามลำดับตัวอักษรของบุคคลทั้งหมดที่ได้รับการเสนอชื่อเช่นว่าโดยระบุชื่อรัฐภาคีที่เสนอชื่อบุคคลเหล่านั้นด้วย แล้วนำเสนอต่อรัฐภาคีทั้งปวง

๕. สมาชิกทั้งปวงของคณะกรรมการฯ ต้องได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งวาระละสี่ปี สมาชิกของคณะกรรมการฯ เหล่านี้มีสิทธิที่จะได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกได้ หากได้รับการเสนอชื่อขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดีวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกจำนวนห้าคนที่ได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกต้องสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นกำหนดเวลาสองปี โดยทันทีหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่หนึ่ง ชื่อของสมาชิกจำนวนห้าคนเหล่านี้ต้องถูกเลือกขั้นมาโดยการจับฉลากของประธานที่ประชุมตามที่อ้างถึงในวรรค ๓ ของข้อนี้

๖. หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งของคณะกรรมการฯ เสียชีวิต หรือลาออก หรือไม่ว่าด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในณะกรรมการฯ ได้อีกต่อไป รัฐภาคีที่เสนอชื่อสมาชิกผู้นั้นต้องแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจากคนชาติของรัฐนั้นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลือของสมาชิกผู้นั้น ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขของการได้รับความเห็นชอบจากรัฐภาคีส่วนใหญ่ ความเห็นชอบนั้นให้ถือว่าได้รับแล้ว เว้นแต่รัฐภาคีจำนวนครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าตอบปฏิเสธภายในหกสัปดาห์หลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติให้ทราบถึงการแต่งตั้งที่ถูกเสนอ

๗. ให้รัฐภาคีทั้งปวงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของบรรดาสมาชิกของคณะกรรมการฯ ระหว่างที่สมาชิกเหล่านั้นปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ (การแก้ไขเปลี่ยนแปลง (ดูข้อมติของสมัชชาฯ ๔๗/๑๑๑ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒))

ข้อ ๑๘

๑. ให้คณะกรรมการฯ เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของตนวาระละสองปี เจ้าหน้าที่เหล่านั้นสามารถได้รับการเลือกตั้งซ้ำอีกได้

๒. ให้คณะกรรมการฯ ออกระเบียบการดำเนินการของตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นอื่นแล้ว ให้บัญญัติว่า

(ก) ต้องมีสมาชิกหกคนจึงจะครบองค์คณะ
(ข) คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ให้กระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่เข้าประชุม

๓. ให้เลขาธิการสหประชาชาติจัดหาพนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการปฏบัติภารกิจที่มีประสิทธิผลของคณะกรรมการฯ ตามอนุสัญญานี้

๔. ให้เลขาธิการสหประชาชาติจัดประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการฯ หลังจากการประชุมครั้งแรก ให้คณะกรรมการฯ ประชุมกันตามกำหนดเวลาต่างๆที่บัญญํติไว้ในระเบียบการดำเนินการของตน

๕. ให้รัฐภาคีทั้งปวงรับผิดชอบสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นเนื่องจากการจัดประชุมต่างๆ ของรีฐภาคีและของคณะกรรมการฯ รวมทั้งการชำระเงินคืนให้แก่สหประชาชาติ สำหรับ ค่าใช้จ่ายใด ๆเช่นค่าพนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สหประชาชาติได้จ่ายไปตามวรรค ๓ ของข้อนี้ (การแก้ไขเปลี่ยนแปลง (ดูข้อมติสมัชชาฯ ที่ ๔๗/๑๑๑ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒))

ข้อ ๑๙

๑. ให้รัฐภาคีทั้งปวงเสนอรายงานต่อคณะกรรมการฯ โดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับมาตรการทั้งปวงที่ตนได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อทำให้ข้อผูกพันต่างๆของตนตามอนุสัญญานี้เป็นผลขึ้นมา ภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้สำหรับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นให้รัฐภาคีทั้งปวงเสนอรายงานเพิ่มเติมทุกๆ สี่ปี เกี่ยวกับมาตรการใหม่ใดที่ได้ดำเนินการไป และรายงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการฯ อาจร้องขอ

๒. ให้เลขาธิการของสหประชาชาติส่งรายงานเหล่านั้นให้รัฐภาคีทุกรัฐ

๓. รายงานแต่ละฉบับต้องได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ ซึ่งสามารถที่จะเสนอความคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับรายงานนั้นได้ตามที่อาจเห็นสมควร และให้ส่งความคิดเห็นเหล่านั้นไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง รัฐภาคีนั้นสามารถตอบกลับไปยังคณะกรรมการฯ พร้อมด้วยข้อสังเกตใดตามแต่จะเลือก

๔. คณะกรรมการฯ สามารถใช้ดุลพินิจที่จะวินิจฉัยรวมความคิดเห็นใดที่ตนได้ให้ไว้ตามวรรค ๓ ของข้อนี้ พร้อมด้วยข้อสังเกตเกี่ยวกับความคิดเห็นนั้นที่ได้รับจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องไว้ในรายงานประจำปีที่จัดทำขึ้นมาตามข้อ ๒๔ หากได้รับการร้องขอโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการฯ สามารถรวมสำเนาของรายงานที่เสนอตามวรรค ๑ ของข้อนี้เข้าไว้ด้วยก็ได้

ข้อ ๒๐

๑. หากคณะกรรมการฯ ได้รับข้อสนเทศที่เชื่อถือได้ ที่ตนเห็นว่ามีสิ่งบ่งชี้อันควรเชื่อได้ว่ากำลังมีการทรมานอย่างเป็นระบบในอาณาเขตของรัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่ง ให้คณะกรรมการฯ เชิญชวนให้รัฐภาคีนั้นให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อสนเทศนั้น และเพื่อการนี้ ให้ขอให้รัฐนั้นเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อสนเทศที่เกี่ยวข้องด้วย

๒. โดยคำนึงถึงข้อสังเกตใดที่อาจเสนอโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อสนเทศอื่นที่เกี่ยวข้องที่รัฐภาคีนั้นมีอยู่ หากวินิจฉัยว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ คณะกรรมการฯ สามารถมอบหมายให้สมาชิกของตนคนหนึ่งหรือมากกว่าไต่สวนในทางลับ แล้วรายงานผลให้คณะกรรมการฯ ทราบโดยด่วน

๓. หากมีการไต่สวนตามวรรค ๒ ของข้อนี้ ให้คณะกรรมการฯ ขอความร่วมมือจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยความตกลงกับรัฐภาคีนั้นการไต่สวนเช่นว่า อาจรวมถึงการเข้าไปในอาณาเขตของรัฐนั้นด้วย

๔. หลังจากที่ได้ตรวจสอบผลการไต่สวนของสมาชิกหรือสมาชิกอื่น ๆ ที่เสนอตามวรรค ๒ ของข้อนี้แล้ว ให้คณะกรรมการฯ ส่งผลของการไต่สวนเหล่านี้ไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยความคิดเห็นหรือข้อแนะนำที่เห็นเหมาะสม เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์นั้น

๕. การดำเนินกระบวนการพิจารณาทั้งปวงของคณะกรรมการฯ ตามที่อ้างถึงในวรรค ๑ ถึงวรรค ๔ ของข้อนี้ ให้กระทำในทางลับ และในทุกขั้นตอนของการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นให้ขอความร่วมมือจากรัฐภาคี หลังจากที่การดำเนินกระบวนการพิจารณาเช่นว่าสิ้นสุดลงในส่วนที่เกี่ยวกับการไต่สวนที่กระทำตามวรรค ๒ แล้ว คณะกรรมการฯ สามารถวินิจฉัยหลังจากการหารือกับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ให้รวมเนื้อหาโดยสรุปของผลการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นไว้ในรายงานประจำปีที่ทำตามข้อ ๒๔ ได้

ข้อ ๒๑

๑. รัฐภาคีของอนุสัญญานี้ รัฐใดรัฐหนึ่งสามารถที่จะประกาศตามข้อนี้เมื่อใดก็ได้ว่าตนยอมรับอำนาจของคณะกรรมการฯ ที่จะรับและพิจารณาคำร้องเรียนว่ารัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งอ้างว่ารัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ของรัฐนั้นตามอนุสัญญานี้ คำร้องเรียนเช่นว่าสามารถรับไว้และได้รับการพิจารณาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในข้อนี้ได้ เมื่อถูกเสนอขึ้นมาโดยรัฐภาคีที่ได้รับประกาศรับอำนาจของคณะกรรมการฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับตนเองด้วยเท่านั้น คณะกรรมการฯ จะดำเนินการกับคำร้องเรียนตามข้อนี้มิได้ หากคำร้องเรียนนั้นเกี่ยวกับรัฐภาคีที่มิได้ประกาศเช่นว่าให้ดำเนินการกับคำร้องเรียนที่ได้รับไว้ตามกระบวนการต่อไปนี้

(ก) หากรัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งเห็นว่ารัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ รัฐภาคีนั้นสามารถจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาสู่ความรับทราบของอีกรัฐภาคีนั้นได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในสามเดือนหลังจากที่ได้รับคำร้องเรียนนั้น รัฐที่ได้รับคำร้องเรียนต้องส่งคำอธิบายหรือคำแถลงอื่นเพื่อชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรไปให้รัฐที่ออกคำร้องเรียนนั้นทราบ ซึ่งควรจะรวมถึงเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการภายในและการเยียวยาที่ได้กระทำไปแล้ว หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือที่มีช่องทางที่จะกระทำได้ในเรื่องนี้ให้ครอบคลุมและเกี่ยวข้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
(ข) หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการปรับให้เป็นที่พอใจของรัฐภาคีทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายในหกเดือนหลังจากรัฐผู้รับได้รับคำร้องเรียนฉบับแรก รัฐใดรัฐหนึ่งจะมีสิทธิที่จะส่งเรื่องนั้นไปให้คณะกรรมการฯ โดยการแจ้งถึงคณะกรรมการฯ และรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง
(ค) คณะกรรมการฯ จะดำเนินเรื่องที่ส่งมาให้ตนตามข้อนี้ได้หลังจากที่ทราบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเยียวยาภายในได้ถูกนำมาใช้และดำเนินการไปจนสิ้นสุดกรบวนการในเรื่องนี้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว สิ่งนี้ไม่ถือเป็นกฎเกณฑ์หากการใช้การเยียวยานั้นยืดเยื้อออกไปโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่น่าจะทำให้เกิดการบรรเทาทุกข์อย่างมีประสิทธิผลต่อผู้ที่เป็นผู้เสียหายจากการละเมิดอนุสัญญานี้
(ง) ให้คณะกรรมการฯ จัดประชุมลับเมื่อพิจารณาคำร้องเรียนทั้งปวงตามข้อนี้
(จ) ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติของอนุวรรค (ค) ให้คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้มีการเจรจากันสำหรับรัฐภาคีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการแก้ปัญหาฉันมิตรในเรื่องนั้นได้ บนพื้นฐานของการเคารพพันธกรณีทั้งปวงที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้ เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ เมื่อเป็นการสมควร คณะกรรมการฯ สามารถตั้งคณะกรรมาธิการประนีประนอมเฉพาะกิจขึ้นมาได้

(ฉ) ในเรื่องใดที่ส่งมายังคณะกรรมการฯ ตามข้อนี้ คณะกรรมการฯ สามารถขอให้รัฐภาคีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องตามที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) จัดส่งข้อสนเทศที่เกี่ยวข้องให้ได้
(ช) รัฐภาคีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) มีสิทธิที่จะให้มีผู้แทนของตนร่วมอยู่ด้วยเมื่อเรื่องนั้นกำลังได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ และที่จะแลถงด้วยวาจาและ/หรือเป็นลายลักษณ์อักษร
(ซ) ภายในสิบสองเดือนหลังจากวันที่ได้รับการแจ้งตามอนุวรรค (ข) ให้คณะกรรมการฯ เสนอรายงาน
(๑) หากบรรลุการแก้ไขปัญหาตามความในอนุวรรค (จ) ได้ ให้คณะกรรมการฯ จำกัดรายงานของตนเพียงคำแถลงสรุปข้อเท็จจริงและวิธีการแก้ปัญหาที่บรรลุเท่านั้น
(๒) หากไม่บรรลุการแก้ปัญหาตามความในวรรควรรค (จ) ได้ ให้คณะกรรมการฯ จำกัดรายงานของตนเพียงคำแถลงสรุปข้อเท็จจริง โดยต้องแนบคำแถลงที่เป็นลาลยลักษณ์อักษรและบันทึกคำแถลงด้วยวาจาของรัฐภาคีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องไว้ในรายงานด้วย
ในทุกๆ เรื่อง ให้ส่งรายงานไปให้รัฐภาคีทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง

๒. บทบัญญัติของข้อนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อรัฐภาคีของอนุสัญญานี้จำนวนห้ารัฐได้ทำการประกาศตามวรรค ๑ ของข้อนี้แล้ว ให้รัฐภาคีมอบคำประกาศเช่นว่าให้เลขาธิการสหประชาชาติเก็บรักษาไว้ โดยเลขาธิการสหประชาชาติต้องส่งสำเนาคำประกาศเช่นนั้นไปให้รัฐภาคีอื่นๆ คำประกาศนี้สามารถถูกเพิกถอนเมื่อไรก็ได้โดยการแจ้งให้เลขาธิการฯ ทราบ การเพิกถอนเช่นว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาในเรื่องใดซึ่งเป็นเรื่องที่มีคำร้องเรียนซึ่งได้ส่งไปแล้วตามข้อนี้ คำร้องเรียนเพิ่มเติมใดที่ทำโดยรัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่ง จะรับไว้มิได้ หลังจากที่เลขาธิการฯ ได้รับการแจ้งการเพิกถอนคำประกาศนั้นแล้ว เว้นแต่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะได้ทำการประกาศใหม่อีก

ข้อ ๒๒

๑. รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้รัฐใดรัฐหนึ่งสามารถที่จะประกาศตามข้อนี้เมื่อไรก็ได้ ว่าตนยอมรับอำนาจของคณะกรรมการฯ ในอันที่จะรับไว้และพิจารณาคำร้องเรียนทั้งปวงที่มาจากหรือกระทำในนามของปัจเจกบุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจของตน ซึ่งอ้างว่าได้ตกเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดบทบัญญัติต่างๆของอนุสัญญานี้โดยรัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่ง คณะกรรมการฯ จะรับคำร้องเรียนที่เกี่ยวกับรัฐภาคีที่มิได้ทำประกาศเช่นว่ามิได้

๒. ให้คณะกรรมการฯ ถือว่าคำร้องเรียนใดที่ไม่ปรากฏนามผู้ส่ง หรือที่ตนเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิที่จะยื่นคำร้องเรียนเช่นว่าโดยมิชอบ หรือขัดต่อบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ เป็นสิ่งที่จะรับไว้พิจารณามิได้

๓. ภายใต้บังคับของบทบัญญํติทั้งปวงของวรรค ๒ ให้คณะกรรมการฯ นำคำร้องเรียนที่มีถึงตนเข้ามาสู่ความรับทราบของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้ที่ได้ทำการประกาศตามวรรค ๑ และซึ่งต้องหาว่าได้ละเมิดบทบัญญัติใดของอนุสัญญานี้ รัฐผู้รับต้องยื่นคำอธิบายทั้งปวงเป็นลายลักษณ์อักษรและคำแถลงต่างๆที่จะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้และการเยียวยาที่รัฐนั้นได้กระทำไปแล้ว หากมี ต่อคณะกรรมการฯ ภายในหกเดือน

๔. ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาคำร้องเรียนทั้งปวงที่ได้รับตามข้อนี้ โดยอาศัยข้อสนเทศทั้งปวงที่ส่งมาให้คนโดยหรือในนามของปัจเจกบุคคลและโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง

๕. คณะกรรมการฯ ต้องไม่พิจารณาบรรดาคำร้องเรียนใดจากปัจเจกบุคคลตามข้อนี้ เว้นแต่จะแน่ใจแล้วว่า

(ก) เรื่องเดียวกันนี้มิได้ถูกตรวจสอบ หรือกำลังอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบตามกระบวนพิจารณาของการสืบสวนสอบสวน หรือกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศอื่นอยู่
(ข) ปัจเจกบุคคลดังกล่าวได้ใช้การเยียวยาภายในทั้งหมดที่มีอยู่จนถึงที่สุดแล้ว สิ่งนี้ไม่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์หากการใช้การเยียวยาเหล่านั้นยืดเยื้อออกไปนานโดยไม่สมเหตุสมผล หรือไม่น่าจะทำให้เกิดการบรรเทาทุกข์อย่างมีประสิทธิผลต่อผู้ที่เป็นผู้เสียหายจากการละเมิดอนุสัญญานี้

๖. ให้คณะกรรมการฯ จัดประชุมลับเมื่อพิจารณาคำร้องเรียนทั้งปวงตามข้อนี้

๗. ให้คณะกรรมการฯ ส่งข้อคิดเห็นทั้งปวงของตนไปให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องและปัจเจกบุคคลนั้น

๘. บทบัญญัติของข้อนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อรัฐภาคีของอนุสัญญานี้จำนวนห้ารัฐได้ทำการประกาศตามวรรค ๑ ของข้อนี้แล้ว ให้รัฐภาคีมอบคำประกาศทั้งปวงเหล่านั้นให้เลขาธิการสหประชาชาติเก็บรักษาไว้ โดยเลขาธิการฯ ต้องส่งสำเนาคำประกาศเหล่านั้นไปให้รัฐภาคีอื่น ๆ คำประกาศนี้สามารถถูกเพิกถอนเมื่อไรก็ได้โดยการแจ้งให้เลขาธิการฯ ทราบ การเพิกถอนเช่นว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาในเรื่องใดซึ่งเป็นเรื่องที่มีคำร้องเรียนที่ได้ส่งต่อออกไปตามข้อนี้แล้ว คำร้องเรียนเพิ่มเติมใดที่ทำโดยหรือในนามของปัจเจกบุคคลใดจะรับไว้หลังจากที่เลขาธิการฯ ได้รับการแจ้งการเพิกถอนคำประกาศนั้นแล้วมิได้ เว้นแต่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะได้ทำการประกาศใหม่อีก

ข้อ ๒๓

สมาชิกทั้งปวงของคณะกรรมการฯและของคณะกรรมาธิการประนีประนอมเฉพาะกิจที่อาจถูกแต่งตั้งขึ้นตามข้อ ๒๑ วรรค ๑ (จ) มีสิทธิที่จะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆของผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติภารกิจให้สหประชาชาติ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ

ข้อ ๒๔

ให้คณะกรรมการฯ เสนอรายงานประจำปีที่เกี่ยวกับกิจกรรมของตนภายใต้อนุสัญญานี้ต่อรัฐภาคีทั้งปวงและสมัชชาสหประชาชาติ

ภาค ๓
ข้อ ๒๕

๑. อนุสัญญานี้เปิดให้รัฐทุกรัฐลงนามได้

๒. อนุสัญญานี้อยู่ภายใต้เงือ่นไขของการให้สัตยาบัน สัตยาบันสารทั้งปวงต้องมอบให้เลขาธิการสหประชาชาติเก็บรักษาไว้
ข้อ ๒๖

อนุสัญญานี้เปิดให้รัฐทุกรัฐภาคยานุวัติได้ การภาคยานุวัติให้กระทำโดยการมอบภาคยานุวัติสารต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๒๗

๑. อนุสัญญานี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

๒. สำหรับรัฐแต่ละรัฐที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้หรือภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ หลังจจากที่มีการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบแล้ว อนุสัญญานี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่สาสิบหลังจากวันมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของรัฐนั้นเอง

ข้อ ๒๘

๑. รัฐแต่ละรัฐสามารถที่จะประกาศในขณะที่ลงนามหรือให้สัตยาบันอนุสัญญานี้หรือภาคยานุวัติการเข้าเป็นภาคี ว่าตนไม่รับอำนาจของคณะกรรมการฯ ที่บัญญัติไว้ในข้อ ๒๐

๒. รัฐภาคีใดที่ได้ตั้งข้อสงวนตามวรรค ๑ ของข้อนี้มีสิทธิที่จะเพิกถอนข้อสงวนนี้เมื่อไรก็ได้โดยการแจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๒๙

๑. รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้รัฐใดสามารถที่จะเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมและยื่นข้อเสนอนั้นต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ในทันทีที่ได้รับข้อเสนอเช่นว่า เลขาธิการสหประชาชาติต้องส่งข้อแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้รับการเสนอนั้นให้แก่รัฐภาคีทั้งปวงพร้อมกับคำร้องขอให้รัฐภาคีเหล่านั้นแจ้งให้ตนทราบว่ารัฐภาคีเหล่านั้นสนับสนุนให้มีการประชุมรัฐภาคีทั้งปวงเพื่อพิจารณาและออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นหรือไม่ ในกรณีที่ภายในสี่เดือนนับจากวันที่แจ้งข้อเสนอเช่นว่า ปรากฏว่าอย่างน้อยหนึ่งในสามของรัฐภาคีทั้งปวงสนับสนุนให้มีการประชุมเช่นว่า ให้เลขาธิการฯ จัดประชุมภายใต้ความอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ให้เลขาธิการฯ ส่งข้อแก้ไขเพิ่มเติมใดที่ได้รับการลงมติตกลงรับโดยคะแนนเสียงข้างม่ากของรัฐภาคีทั้งปวงที่เข้าร่วมประชุมและออกเสียงไปให้รัฐภาคีทั้งปวงเพื่อการให้การยอมรับ

๒. ข้อแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้รับการลงมติตกลงรับตามวรรค ๑ ของข้อนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อสองในสามของรัฐภาคีทั้งปวงแห่งอนุสัญญานี้ได้แจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติว่ารัฐภาคีเหล่านั้นได้ให้การยอมรับข้อแก้ไขเพิ่มเติมนั้นตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญของรัฐเหล่านั้นแล้ว

๓. เมื่อข้อแก้ไขเพิ่มเติมเหล่านั้นมีผลบังคับใช้แล้ว ข้อแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะมีผลผูกพันรัฐภาคีทั้งปวงที่ได้ยอมรับข้อแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ส่วนรัฐภาคีอื่นยังคงถูกผูกพันโดยบทบัญญัติของอนุสัญญานี้และข้อแก้ไขเพิ่มเติมอื่นใดก่อนหน้านั้นที่รัฐภาคีเหล่านั้นได้ตกลงรับไว้แล้ว

ข้อ ๓๐

๑. ข้อพิพาทใดระหว่างรัฐภาคีสองรัฐหรือกว่านั้นขึ้นไปที่เกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับของอนุสัญญานี้ ที่ไม่สามารถระงับได้โดยการเจรจา ต้องมอบให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องขอของรัฐภาคีคู่พิพาทรัฐใดรัฐหนึ่ง หากภายในหกเดือนนับจากวันที่มีการร้องขอให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการจัดให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะส่งข้อพิาพทนั้นไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามคำร้องขอตามธรรมนูญของศาลฯ

๒. รัฐแต่ละรัฐสามารถที่จะประกาศในขณะที่ลงนามหรือให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ หรือภาคยานุวัติการเข้าเป็นภาคี ว่าตนไม่ถือว่าตนถูกผูกพันโดยวรรค ๒ ของข้อนี้ รัฐภาคีอื่นๆจะไม่ถูกผูกพันโดบวรรค ๑ ของข้อนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐภาคีที่ได้ตั้งข้อสงวนเช่นว่าไว้

๓. รัฐภาคีใดที่ได้ตั้งข้อสงวนตามวรรค ๒ ของข้อนี้ไว้มีสิทธิที่จะเพิกถอนข้อสงวนนี้เมื่อไรก็ได้ โดยการแจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๓๑
๑. รัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งสามารถที่จะบอกเลิกอนุสัญญานี้ได้โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการสหประชาชาติ การบอกเลิกจะมีผลหลังจากวันที่เลขาธิการสหปรชะาชาติได้รับการแจ้งเช่นว่าแล้วหนึ่งปี

๒. การบอกเลิกเช่นว่าจะไม่มีผลเป็นการปล่อยรัฐภาคีให้พ้นจากพันธกรณีของตนตามอนุสัญญานี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำหรือการละเว้นการกระทำใดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่การบอกเลิกนั้นมีผล หรือการบอกเลิกนั้นจะไม่กระทบแต่อย่างใดต่อการพิจารณาที่ยังดำเนินอยู่ต่อไปในเรื่องใดที่ได้เริ่มการพิจารณาไปแล้วก่อนวันที่การบอกเลิกจะมีผล

๓. หลังจากวันที่การบอกเลิกของรัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งเริ่มมีผลแล้ว คณะกรรมการฯ ต้องไม่เริ่มการพิจารณาเรื่องใหม่ใดที่เกี่ยวกับรัฐนั้น

ข้อ ๓๒

ให้เลขาธิการสหประชาชาติต้องให้รัฐภาคีทั้งปวงของสหประชาชาติและรัฐทั้งปวงที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้หรือที่ได้ภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีทราบเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

(ก) การลงนาม การให้สัตยาบันและการภาคยานุวัติทั้งปวงตามข้อ ๒๕ และ ข้อ ๒๖
(ข) วันที่เริ่มมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้ตามข้อ ๒๗ และวันที่เริ่มมีผลบังคับใช้ของข้อแก้ไขเพิ่มเติมใดตามข้อ ๒๙
(ค) การบอกเลิกทั้งปวงตามข้อ ๓๑
ข้อ ๓๓

๑. ต้นฉบับของอนุสัญญานี้ ซึ่งตัวบทภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน ต้องมอบให้เลขาธิการสหประชาชาติเก็บรักษาไว้

๒. เลขาธิการสหประชาชาติต้องส่งสำเนาที่ได้รับการรับรองแล้วของอนุสัญญานี้ให้แก่ทุกรัฐ

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"