ข้ามไปเนื้อหา

เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475/บทที่ 4

จาก วิกิซอร์ซ
คำท้าย

เรื่องราวตั้งแต่ตอน 1 ถึงตอน 16 นั้น ผู้เขียนได้เรียบเรียงจากสัมภาษณ์ท่านเชษฐบุรุษเมื่อปี 2484 และได้นำมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” แล้ว ในการรวบรวมมาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนมิได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความอย่างใด ด้วยไม่มีเวลาจะทำได้ถนัด จึงปล่อยไปตามรูปเดิม คำนำนั้นได้เขียนไว้เมื่อวันที่ 20 มกราคม แล้วผู้เขียนก็ขึ้นไปเชียงใหม่ คิดไว้ว่า กลับลงมาจากเชียงใหม่ จะไปเยี่ยมท่านเชษฐบุรุษ และทบทวนถามเหตุการณ์ในวันปฏิวัติจากท่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เรียบเรียงตอน 17 คือตอนสุดท้าย

แต่โลกนี้เป็นโลกอนิจจัง ท่านเชษฐบุรุษได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยปัจจุบันทันด่วนในคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลานั้นการจัดพิมพ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” กำลังดำเนินอยู่ และรอบสุดท้ายข้าพเจ้ายังไม่ได้พบกับท่านเชษฐบุรุษ และก็ไม่มีโอกาสจะได้พบกับท่านอีกต่อไปแล้ว เรื่องราวในตอนที่ 17 นั้น ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์นายพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ผู้เป็นทหารเสือคนหนึ่งของวันที่ 24 มิถุนายน ข้าพเจ้าได้ไปสัมภาษณ์ท่านนายพลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี่เอง ข้อความคำบอกเล่านั้นเป็นคำบอกเล่าจากความจำของท่าน และข้าพเจ้าก็ได้เรียบเรียงลงไว้ตามถ้อยคำของท่านโดยมิได้สอบถามข้อความเพิ่มเติมจากที่ใดอีก

หนังสือเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นี้จะถือว่าเป็นหนังสือแสดงเหตุการณ์เบื้องหลังการปฏิวัติโดยสมบูรณ์แล้วหาได้ไม่ อันที่จริงหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ห่างไกลจากความสมบูรณ์ เพราะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ของนักปฏิวัติกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เหตุการณ์ทางหัวหน้าคณะปฏิวัติกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายท่านยังมิได้รับการบันทึกลงไว้ เช่น เหตุการณ์ทางด้านหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าปฏิวัติฝ่ายพลเรือน ทางด้านหลวงสินธุสงครามชัย หัวหน้าปฏิวัติฝ่ายนายทหารเรือ และทางด้านหลวงพิบูลสงคราม หัวหน้าปฏิวัติฝ่ายนายทหารบกชั้นผู้น้อย

ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสจะบันทึกเรียบเรียงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ลงไว้แล้ว ข้าพเจ้าก็ย่อมจะบันทึกเรียบเรียงลงไว้ตามความเป็นจริงในขณะที่มันได้เกิดขึ้น ความผันแปรแห่งการกระทำและจิตใจของนักปฏิวัติคนใดคนหนึ่งภายหลังนั้นพึงแยกออกพิจารณาต่างหากจากเหตุการณ์ในอดีต การบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นจำต้องใช้ความซื่อตรงเคร่งครัดต่อข้อความจริง และผู้บันทึกจำต้องแยกข้อความจริงออกจากอารมณ์ความรู้สึกของตนโดยเด็ดขาด

เหตุการณ์ “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นั้นเป็นเรื่องที่สมควรจะบันทึกลงไว้เป็นเกียรติประวัติของคณะปฏิวัติแน่นอน แต่เหตุการณ์หลังจากที่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจนถึงปัจจุบันก็มีคุณค่าในการสอบสวนบันทึกลงไว้ไม่น้อยกว่า และจะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่การศึกษาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนมีความสนใจและตั้งใจจะค้นคว้าเรียบเรียงขึ้นไว้ในภายหน้า

15 ปีของระบอบประชาธิปไตยได้ให้บทเรียนไว้มากหลายแก่การที่จัดให้ระบอบนี้ดำรงมั่นคงหรือสลายไป 15 ปีของระบอบประชาธิปไตยได้ให้ฉายาใหม่แก่สมาชิกไม่น้อยคนในคณะปฏิวัติ ผู้ได้ฉายาว่าวีรชนในสมัยหนึ่ง เป็นทุรชนในอีกสมัยหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงแห่งฉายาดังกล่าวนี้ไม่ได้จัดทำขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์หรือของพระเจ้าองค์ใด หากถูกเปลี่ยนแปลงโดยพฤติกรรมของผู้เป็นเจ้าของพฤติกรรมนั้นเอง

พฤติกรรมของผู้ใดในสมัยที่แสดงออกในรูปของวีรชร ก็ควรได้รับการบันทึกลงไว้ในรูปของวีรชน และพฤติกรรมของวีรชนคนนั้นในอีกสมัยหนึ่งเมื่อได้แสดงออกในรูปของทุรชน ก็ควรได้รับการบันทึกลงไว้ในรูปของทุรชน วีรชนใดรักษาเกียรติและอุดมคติของตนยืนนานมั่นคงตลอดไป ผู้นั้นก็ย่อมจะได้รับสรรเสริญและเคารพจากประชาชนและประเทศตลอดกาลนานไป

ชีวิตนี้ก็สั้นนัก เนื้อหนังเล่าก็จะทรุดโทรมสลายไปในไม่ช้า การสะสมบริโภคเพื่อความสำราญทางกายก็เป็นความสำราญชั่วแล่น นักการเมืองก็ได้ตายไปมากแล้ว กำลังจะตายอยู่ก็ไม่น้อย และที่จะไปตายในวันข้างหน้าก็เหลือคณานับ แต่พฤติกรรมความประพฤติของแต่ละคนจะคงอยู่ตลอดไป สำหรับที่จะรับพรเมื่อเป็นกุศลกรรม และรับคำสาปแช่งเมื่อเป็นอกุศลกรรม

ผู้เขียน
27 มีน. 90