ข้ามไปเนื้อหา

เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475/บทที่ 5

จาก วิกิซอร์ซ
ชีวประวัติ
ของ
พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) กับคุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 ณ ที่บ้านวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) จังหวัดพระนคร ได้เข้าศึกษาวิชาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. 2443 สอบไล่ชั้น 5 ขึ้นชั้น 6 เป็นที่ 1 จึงได้รับทุนเล่าเรียนของรัฐบาลให้ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ยุโรปใน พ.ศ. 2447 ไปพร้อมกับ พล.ต. หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และ พล.ต. หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี ในฐานะเป็นนักเรียนด้วยกัน ไปถึงกรุงเบอรลินในราวกลางเดือนธันวาคม เรียนเตรียมอยู่สองปี จึงสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เมืองโกลสซ์สิตตอร์เฟลเด ครั้นสอบไล่โรงเรียนที่กล่าวได้แล้ว ก็ได้รับคำสั่งให้เป็นนักเรียนทำการนายร้อย (แฟนริช) ประจำกองร้อยที่ 3 กองพันที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่สนามที่ 4 (ปืนกระสุนวิถีราบ) ซึ่งปริ๊นซ์เรเกนต์หลุยโปลด์ เจ้าแห่งบาวาเรีย เป็นผู้บังคับการพิเศษ ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้ส่งไปเข้าโรงเรียนรบที่เมืองเมตซ์ เรียนอยู่ที่นั่นจนจบหลักสูตรและสอบไล่ได้ แล้วกลับมาสำรองราชการอยู่กรมเดิมอีก ได้รับสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรีในกรมทหารปืนใหญ่สนามเบาที่ 4 ครั้นได้เป็นนายทหารแล้ว ก็ย้ายมารับราชการอยู่ในกองพันที่ 3 ซึ่งเป็นกองพันที่ใช้ปืนใหญ่ต่างชนิดกับกองพันที่ 1 คือ ใช้ปืนใหญ่ชนิดกระสุนวิถีโค้ง

ในปลายปี 2455 ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทยให้ลาออกจากกองทัพบกเยอรมันนีเพื่อไปศึกษาวิชาช่างแสงในประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษาวิชาชั้นต้นเพื่อเตรียมเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคนิคชั้นสูงเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นเวลาจวนจะสอบไล่เพื่อเข้าโรงเรียนเทคนิคชั้นสูงอยู่แล้ว ก็ได้รับคำสั่งเรียกให้กลับประเทศไทย

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ออกไปประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2457 ได้รับยศเป็นนายร้อยโท ในเดือนเมษายน ปี 2458 ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้น รับในอัตรานายร้อยโทชั้น 1 กับเงินเพิ่มพิเศษอีก 100 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2458 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 2 ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางซื่อ ในเดือนเมษายน 2459 ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และรับเงินเดือนอัตราร้อยเอก ชั้น 3 กับเงินเพิ่มพิเศษอีก 100 บาท ในเดือนเมษายน 2460 ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้น รับอัตรานายร้อยเอก 2 กับเงินเพิ่มพิเศษอีก 100 บาท ในเดือนสิงหาคม 2460 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 9 จังหวัดฉะเชิงเทรา พอถึงเดือนเมษายน 2461 ก็ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้น รับอัตตรานายร้อยเอกชั้น 1 กับเงินเพิ่มพิเศษอีก 100 บาท และเดือนเดียวกันนั้น ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรายุทธสรสิทธิ์ ในปี พ.ศ. 2462 ได้รับคำสั่งให้ย้ายกรมทหารปืนใหญ่ที่ 9 ไปตั้งที่ดงพระราม จังหวัดปราจีนบุรี ประจำอยู่ที่ดงพระรามประมาณ 8 เดือน ก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับเข้ามาเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ตำบลบางซื่อ ในวันที่ 1 เมษายน 2462 ได้รับคำสั่งให้เลื่อนยศเป็นนายพันตรี

วันที่ 1 มกราคม 2462 ได้รับคำสั่งให้ไปรับราชการในกรมจเรทหารปืนใหญ่ทหารบกในกระทรวงกลาโหมเพื่อเตรียมตัวที่จะออกไปราชการประเทศญี่ปุ่นในอันที่จะได้ไปทำการผลัดเปลี่ยนหน้าที่นาย พล.ต. พระยาอินทรวิชิต ซึ่งเวลานั้นเปนหัวหน้าออกไปทำการตรวจรับปืนใหญ่ อันเป็นราชการพิเศษที่ประเทศญี่ปุ่น การไปราชการพิเศษครั้งนั้น นอกจากจะได้ไปเป็นผู้ตรวจรับปืนใหญ่แล้ว ยังมีโอกาสไปดูกิจการทหารต่าง ๆ ของกองทัพบกญี่ปุ่นด้วย เช่น การฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ การฝึกหัดเข้าสนามยุทธของทหารปืนใหญ่ญี่ปุ่น ระเบียบทหารภายในกรมกองหลายแห่ง กับทั้งได้ดูการซ้อมรบอีกด้วย

ในการไปราชการพิเศษประเทศญี่ปุ่นครั้งนั้น ได้รับพระราชทานตราทิพยสมบัติชั้น 4 จากราชาธิราชประเทศญี่ปุ่นด้วย ในเดือนเมษายน 2464 ได้กลับจากประเทศญี่ปุ่น แล้วเข้าประจำกรมจเรปืนใหญ่ รับอัตราเงินเดือนนายพันตรีชั้น 2 กับเงินเพิ่มพิเศษ 100 บาท วันที่ 1 เมษายน 2466 ได้เลื่อนยศเป็นนายพันโท และได้รับอัตราเงินเดือนนายพันโทชั้น 3 กับเงินเพิ่มพิเศษ 100 บาท วันที่ 9 กรกฎาคม 2467 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสรายุทธสรสิทธิ์ วันที่ 1 เมษายน 2468 ได้รับเงินเดือนอัตรานายพันโทชั้น 2 กับเงินเพิ่มพิเศษอีก 100 บาท วันที่ 1 เมษายน 2469 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ที่โคกกะเทียม วันที่ 1 เมษายน 2470 ได้รับอัตราเงินเดือนนายพันโทชั้น 1 กับเงินเพิ่มพิเศษ 100 บาท แล้วได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารกรมยุทธศึกษาทหารบก วันที่ 1 เมษายน 2471 ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก วันที่ 21 พฤษภาคม 2471 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวร

ครั้นวันที่ 25 กรกฎาคม 2472 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินในคราวประพาสสิงค์โปร์ ชวา บาหลี ในหน้าที่ราชองครักษ์ประจำ ซึ่งนับว่าเป็นราชการพิเศษอีกคราวหนึ่ง เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครแล้ว ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 4 กับแหนบพระบรมนามาภิธัยชั้น 2 วันที่ 1 เมษายน 2473 ได้รับเงินเดือนอัตรานายพันเอกชั้น 2 วันที่ 1 มิถุนายน 2473 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นจเรทหารปืนใหญ่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2473 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปประจำอยู่กับคณะฑูตที่เข้ามาเยี่ยมพระนคร ซึ่งมีท่านยองเคียร์เดอกราฟฟ์ ผู้สำเร็จราชการเนเธอร์แลนด์ อินเดีย เป็นหัวหน้า และเนื่องด้วยราชการพิเศษนั้น จึงได้รับตราออเรนจ์นัสเซาชั้น 3 วันที่ 1 เมษายน 2474 ได้รับเงินเดือนอัตรานายพันเอกชั้น 1 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2474 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เป็นหัวหน้าในคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติพร้อมกันให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับประธานคณะกรรมการราษฎรได้เลือกให้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการราษฎรด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งในวาระเดียวกันนั้น

ต่อมาเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้จัดโครงการกระทรวงกลาโหมขึ้นใหม่แล้ว ก็ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ลำดับตำแหน่งราชการ
  1. เป็นนายกรัฐมนตรี 21 มิถุนายน 2476
  2. เป็นนายกรัฐมนตรี 16 ธันวาคม 2476
  3. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ 16 ธันวาคม 2476
  4. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 16 ธันวาคม 2476