เรื่องสั้น ๆ ของครูเทพ/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
คิดถึงสอิ้งของเรา

สอิ้งได้ทำงานร่วมกับเรามาเป็นเวลาประมาณ ๑๕ ปี เราสามารถให้ความเห็นได้ดังต่อไปนี้ คือ— ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถและทำงานด้วยความรอบคอบมีระเบียบวินัย เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้รับความเชื่อถือไว้ใจอย่างยิ่งจากผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเห็นว่า เป็นนายที่ดีและเป็นมิตร์ที่ประเสริฐ สัตรูไม่มีความเห็นใด ๆ ที่จะแสดง เพราะสอิ้งของเราไม่มีนิสสัยที่จะปลูกสัตรูขึ้นในโลกนี้.

ความซื่อตรงต่อหน้าที่และอุตสาหะวิริยภาพเป็นอุปกรร์ส่งเสริมให้ดาวประจำอนาคตเปล่งปลั่งสุกใส ชีวิตซึ่งอยู่ในวัยอันเปี่ยมด้วยกำลังกายและกำลังใจที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แสดงว่า ดาวประจำอนาคตของสอิ้งของเราจะรุ่งโรจน์ต่อไปอีก แต่อนิจจา กำลังกายได้เริ่มถดถอยลงโดยเหตุที่สอิ้งเป็นมาแลเลียอย่างแรงเมื่อครั้งไปทำงานตรากตรำในป่าคราวที่ยังรับตำแหน่งภาค โรคที่กล่าวนี้ยังไม่ทันหายขาด ก็มามีโรคลำไส้และโรคไตแทรกแซง โรคาพยาธิ์ใด ๆ ก็ไม่อาจที่จะดึงกำลังใจอันแรงกล้าให้เสื่อมลงได้ สอิ้งของเรายังคงซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่จนวาระสุดท้าย หมกมุ่นอยู่ในราชการ จนบรรดาเพื่อนฝูงต้องขอร้องให้ลาหยุดเพราะเห็นว่า อาการไม่สู้ดี ร่างกายซึ่งทรุดโทรมอยู่แล้ว เมื่อมีโรคมาแทรกแซงอีก ก็ย่อมต้องสลายลง พวกเราทั้งหมดรู้สึกเศร้าสลดและอาลัยเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ทราบข่าวมรณะของสอิ้งของเรา มรณะกรรมนี้ทำให้กองช่างโทรเลขต้องขาดประโยชน์ไป ซึ่งไม่สามารถจะเทียบกับราคาเงินได้ บิดามารดาก็ต้องเสียบุตร์ผู้ซึ่งเป็นศรีแห่งสกุล และพวกเราขาดปิยมิตรซึ่งพวกเราเทอดไว้ด้วยความรักใคร่ ถ้ามีญาณวิถีใดที่จะสามารถส่งกระแสความรู้สึกของพวกเราให้สอิ้งของเราทราบได้ ก็ขอให้สอิ้งทราบไว้ว่า พวกเราคงคิดถึงและอาลัยในสอิ้งของเราอยู่เสมอ.

กองช่างโทรเลข

ร.อ.ท. สอิ้ง จงสงวน

ประวัติ

ร.อ.ท. สอิ้ง จงสงวน บุตรนายช้วน และนางแช่ม จงสงวน เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เริ่มการศึกษาณสำนักโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ เมื่ออายุ ๑๕ ปี จึงได้สมัคร์เข้ามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ แผนกวิศวกรรมศาสตร์ ครั้นจบหลักสูตร์ที่กล่าวนี้แล้ว ก็ได้สมัคร์ศึกษาวิศวกรรมโยธาต่ออีก ๑ ปี เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงเรียกเข้าบรรจุเป็นนักเรียนของกรมตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ปฏิบัติราชการในแผนกช่างต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ อายุครบกำหนดที่จะต้องรับราชการทหาร จึงได้สมัคร์เข้าโรงเรียนนายดาบ สอบไล่ได้เป็นที่ ๒ และสมัคร์เข้าประจำสังกัดกรมทหารพาหนะเป็นนักเรียนทำการนายดาบอยู่ ๓ เดือน ก็ได้รับพระราชทานยศนายดาบ ครั้นรับราชการทหารครบกำหนด ๒ ปีบริบูรณ์ จึงได้กลับมารับราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขในตำแหน่งพนักงานโทรเลข ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายไปรษณีย์โทรเลขกลางเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ครั้นวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. เดียวกัน ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายตรวจเอก แผนกโทรเลขกรุงเทพฯ ย้ายไปประจำตำแหน่งนายตรวจเอกประจำภาคใต้เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์โทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ และเลื่อนขึ้นเป็นนายช่างผู้ช่วยโทรเลขประจำภาคใต้เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ย้ายไปประจำภาคตะวันออกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ และย้ายมารักษาการในตำแหน่งนายช่าง แผนกสร้าง, ซ่อม, และสำรวจ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ร.อ.ท. สอิ้ง จงสงวน เป็นผู้ที่มีนิสสัยเยือกเย็น สุขุม และซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ของตน ทั้งใฝ่ใจอยู่เสมอที่จะเขยิบวิทยะฐานะของตนเอง ในขณะที่เข้ารับราชการกรมไปรษณีย์โทเลข ก็ได้สมัคร์เข้าศึกษาวิชาไฟฟ้าโดยทางไปรษณีย์ณสำนัก Chicaco Engineering Work Institution และสอบไล่ได้ชั้น Diploma เมื่อครบกำหนดหลักสูตร์ ๔ ของวิทยาลัยนั้น

ร.อ.ท. สอิ้ง จงสงวน ได้เริ่มป่วยโดยโรคลำไส้พิการเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ แพทย์ได้พยายามแก้ไขจนอาการดีขึ้นมาก ครั้นวันที่ ๓๐ เดือนเดียวกัน ปรากฎว่า มีอาการปอดบวมเข้ามาแทรก การรักษาพยาบาลก็มิได้ละลด แต่ก็เป็นการเหลือความสามารถของแพทย์ ร.อ.ท. สอิ้ง จงสงวน ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๗ น. นับอายุตั้งแต่วันชาตะถึงวันมรณะได้ ๓๖ ปี ๓ เดือน กับ ๑๘ วัน.