ข้ามไปเนื้อหา

เรื่องสั้น ๆ ของครูเทพ/เรื่อง 2

จาก วิกิซอร์ซ
กุศโลบายแห่งการแผ่สาสนา
ของพวกลัทธิมหายาน

มีข่าวหนังสือข่าวเรื่องการพระพุทธสาสนาของเราจะแผ่ไปยังนา ๆ ประเทศ ทำให้ข้าพเจ้าคิดเกิดปีติยิ่งนัก จึงแปลข่าวนั้นเป็นภาษาไทยเพื่อพวกเราได้อ่านกันทั่ว ๆ ดังนี้

กรุงโตเคียว. วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๖๙

เคานท์โอทานี เจ้าอาวาสใหญ่ในญี่ปุ่น (เข้าใจกันว่า ท่านผู้นี้เองเป็นสมณทูตเข้ามารับพระสารีริกธาตุส่วนของประเทศญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ) กำลังดำริห์จะสร้างวัดใน ส.ป. อเมริกา เพื่อประโยชน์แห่งฝรั่งอเมริกัน เพราะท่านเชื่อว่า พระพุทธสาสนามีธรรมซึ่งจะส่งเสริมคฤสห์สาสนาให้วิเศษยิ่งขึ้น เพื่อคฤสห์สาสนิกจะได้ดื่มรสธรรมอันล้ำลึกเป็นลำดับขึ้นไป.

ท่านเคานท์ผู้นี้ไม่เชื่อในทางเปลี่ยนสาสนาของคน เช่น ให้เขาเลิกเป็นคฤสห์สาสนิกและเปลี่ยนมาเป็นพุทธสาสนิก ท่านไม่เห็นดีด้วยในวิธีสอนสาสนาเช่นนั้น ไม่ว่าสำหรับสาสนาใด ๆ หมด ที่สาสนาเดิมเขาสำคัญอยู่แล้ว แต่ท่านเชื่อว่า ในประเทศอเมริกายังต้องการธรรมรสฉะเพาะที่ล้ำลึกสุขุมคามภีรภาพของพระพุทธสาสนาอยู่ ถ้าความดำริห์ของท่านเป็นผลสำเร็จแล้ว ขันติอันเป็นคุณธรรมอันพิเศษอย่งยิ่งของคฤสห์สาสนานั้นเองคงเข้าช่วยท่านในความเพียรชอบของท่านเป็นแน่.

เคานท์โอทานีได้สร้างโรงเรียนนักธรรมขึ้นที่กรุงเคียวโท (กรุงเก่าของญี่ปุ่น) สำหรับรับนักเรียนชาวตวันตกผู้ปรารถนาจะเรียนพุทธสาสนานิกายฮุงวันยี คือ นิกายของท่าน ซึ่งเป็นนิกายใหญ่และมั่งมีมาก เป็นผู้ออกทุนทรัพย์เลี้ยงดูอาคันตุกหรือนักเรียนชาวตวันตกผู้มาเล่าเรียนในสำนักนี้ทุกอย่างโดยไม่คิดค่าอันใดเลย.

อนึ่ง ท่านกำลังเตรียมการที่จะส่งผู้สอนสาสนาออกไปสอนในประเทศ ส.ป. อเมริกา ทุกวันนี้ ผู้สอนพุทธสาสนาก็มีอยู่มากแล้วในประเทศนั้น แต่ยังทำหน้าที่สั่งสอนฉะเพาะพวกญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้น ธรรมกถึกที่จะส่งออกไปใหม่นี้จะขยายกิจการในหน้าที่ให้เผื่อแผ่ไปถึงชาวอเมริกันผิวขาวด้วย ท่านเคาน์เอาญี่ปุ่นที่เกิดที่เกาะฮาวาย (เกาะของ ส.ป. อเมริกา อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับอเมริกา) มาเลี้ยงไว้สองคน และให้การศึกษาสำหรับจะส่งไปเป็นผู้แผ่พระพุทธสาสนาของชาวตวันออกให้แก่ชนตวันตก

เคานท์โอทานีเป็นผู้ได้ท่องเที่ยวในทวีปยุโรปและอเมริกามามาก ท่านเป็นราชินิกูล เพราะชายาของท่านเป็นน้องของสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวฉะเพาะการสาสนา ท่านเคานท์ผู้นี้เป็นพระที่มีอำนาจมากที่สุดในญี่ปุ่น ทางการเมืองและการสมาคมท่านก็เป็นผู้กว้างขวางมีอำนาจอยู่เหมือนกัน (พระญี่ปุ่นโดยมากไม่ถือพรหมจรรย์ มีภรรยาได้ นิกายถือพรหมจรรย์ก็มี แต่น้อยที่สุด)

หนึ่งในสิบของชาวญี่ปุ่นขึ้นอยู่ในนิกายฮุงวันญีซึ่งท่านเคานท์เป็นนายก ในโบราณสมัย พระอารามฮุงวันญีในกรุงเคียวโทเป็นราชมหาวิหารอันงดงามเหลือขนาด เพราะทางราชการเข้าทนุบำรุง แต่ครั้นตกมาสมัยปัจจุบัน เมื่อเปลี่ยนวิธีการปกครองบ้านเมืองแห่งประเทศญี่ปุ่นราว ๔๐ ปีมาแล้ว (ญี่ปุ่นตั้งรัฐสภา พ.ศ. ๒๔๓๓) การสาสนาแยกจากการเมือง ความงดงามของพระอารามนี้ ซึ่งเปรียบประดุจวัดเซ็นทืปีเตอร์ของญี่ปุ่น ก็ได้เสื่อมถอยลงมาก ถึงกระนั้นก็ดี แม้ทุกวันนี้ วัดฮุงวันญียังเป็นพระอารามที่นักเที่ยวต้องดูเมื่อไปเที่ยวกรุงอันเต็มไบด้วยวัด คือ กรุงเคียวโท.