ข้ามไปเนื้อหา

เรื่องสั้น ๆ ของครูเทพ/เรื่อง 4

จาก วิกิซอร์ซ
รพินทรนารถ ตกูร์ กับชมภูทวีป

พ่อถึกได้ทราบข่าวว่า มีปราชญ์อินเดียนเข้ามาเยี่ยมกรุงสยาม โดยกรุงสยามเชิญให้แวะเข้ามาในระหว่างที่ท่องเที่ยวผ่านประเทศ รัฐบาลรับรองอย่างแขกเมือง และคณะแขกคณะจีนในกรุงเทพฯ ผู้ได้มีส่วนเชื้อเชิญท่านนักปราชญ์นี้ด้วยก็ได้มีสโมสรสันนิบาตเป็นคณะ ๆ อ่านรายงานต้อนรับแสดงความเคารพยินดีเป็นอย่างไพเราะ เมื่อได้ทราบว่า ท่านนักปราชญ์จะแสดงปาฐกถาให้มหาชนฟังด้วย พ่อถึงจึงตามไปฟังในที่ต่าง ๆ แล้วกลับมาคุยกับเพื่อนฝูงว่า ท่านปราชญ์กวีผู้นี้ ศรีกรุงว่า เกิด พ.ศ. ๒๔๐๔ ในตระกูลขัติย คือ นักรบ เป็นราชสกุล พ่อถึงเห็นรูปร่างสูง มีสง่า, ผิวเนื้อและเคราขาว, แต่งกายตามลัทธิของชาติ สมเป็นผู้ประกอบด้วยชาติวุฒิ, วัยวุฒ และคุณวุฒ พร้อมบริบูรณ์จริง นอกจากนั้น ท่านใช้ปริญญาดอกเตอร์นำหน้าชื่อ ทั้งที่กล่าวกันว่า พระเจ้ายอร์ชแห่งกรุงอังกฤษผู้เป็นจักรพรรดิ์ราชแห่งอินเดียได้พระราชทานอิสริยาภรณ์ให้มีอิสสริยยศเป็นเซอรยิ่งกว่าอะไรหมด ท่านเป็นชาวอาเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลวรรณคดีอันชื่อว่า โนเบลไฟรส์แห่งกรุงสวีเดน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ อันรางวัลนี้ย่อมเป็นที่นิยมทั่วโลกว่า มีเกียรติคุณยิ่งสำหรับเป็นบรรณาการที่เลือกให้ทุกปีไปแก่ผู้ทรงคุณธรรมยอดเยี่ยมในทางวิชาหรือทางส่งเสริมความสงบแห่งโลก แล้วพ่อถึกก็เลยสรุปเล่าถึงปาฐกต่อไปตามความพอใจของแก

ท่านนักปราชญ์ผู้นี้ออกตัวอยู่ว่า ท่านหาใช่นักการศึกษา คือ Educationist ไม่ ท่านเป็นกวีและนักอักษรศาสตร์ แต่มาเกิดความสำนึกว่า การศึกษาแผนใหม่ที่เราชาวตะวันออกกำลังรับจากชาวตะวันตกทุกวันนี้ผิดทาง ท่านจึงปลงใจให้ชีวิตของท่านเท่าที่เหลืออยู่เพื่อทดลองแก้ไขหาทางที่ดีที่เหมาะต่อไป ท่านแสดงเรื่องให้ชื่อว่า The ideal of national education จริงทีเดียว ท่านไม่ใช่นักการศึกษามาแต่ก่อน ท่านใช้ศัพท์ National ต่างจากความหมายของศัพท์นั้นที่ใช้กันในวงการศึกษา คือ แทนที่จะหมายถึงคนทั้งหลายที่เกณฑ์เข้ามาเรียนไม่เลือกหน้า ท่านหมายความไปในทางคุณธรรมที่เป็นเครื่องแสดงชาติหรือประเทศให้แปลกไปจากชาติหรือประเทศอื่น ๆ ดังจะปรากฎต่อไปข้างหน้า

ท่านว่า พวกเราชาวชมภูทวีปเคยเป็นครูให้ความรู้และแบบแผนแก่ทวีปอื่น ๆ มาก่อน แต่พอเราหยุดก้าวหน้า เราก็นอนหลับ ในระหว่างที่เรางีบไปกว่าสองพันปีนี้ ทวีปยุโรปได้เจริญขึ้นและนำอารยะธรรมอย่างใหม่ซึ่งวิเศษน่าเลื่อมใสมาปลุกให้เราตื่น ฝ่ายเราผู้เจ้าของบ้านกำลังมัวนอนตามธรรมดาของคนแรกตื่นนอน แทนที่จะเป็นเจ้าของบ้านรับแขก เลือกเชื้อเชิญและถ่ายเอาวิชาที่เป็นคุณเหมาะแก่เรา เรากลับปล่อยบ้านให้เป็นศาลาที่พักคนเดินทางแล้วแต่แขกหน้าไหนจะเข้ามา และแล้วแต่ใครจะนำวิชาอะไรมาให้ บ้านของเราจึงเต็มไปด้วยสิ่งที่เราปรารถนาและไม่ปรารถนา เพราะอารยะธรรมใหม่ได้เข้ามาจู่โจมเอาเราทั้งด้วยคุณและด้วยโทษ โดยเรามิได้ใช้อารยะธรรมเก่าของเราเป็นหลักและจัดระเบียบรับรองอารยะธรรมใหม่อันเป็นแขกเสียเลย ดังที่อุปมาไว้ว่า เจ้าของบ้านมีแต่ไม่รับแขก บ้านก็เลยกลายเป็นศาลที่พักคนเดินทางไปฉิบ

อันที่จริง อารยะธรรมใหม่ของยุโรปนี้วิเศษนักหนา มนุษย์ใดรู้เท่าธรรมชาติ มีชัยในการเผยแผ่ความลับที่ซ่อนเร้น สามารถผสมโลกธาตุเป็นส่วนเหมาะได้ ใช้เป็นกำลังในการอุปโภคบริโภค เหาะเหินเดินอากาศ ทั้งมีหูทิพย์ตาทิพย์ จัดว่า ไม่เคยมีอารยะธรรมสมัยใดที่ให้มนุษย์กระเดื่องเดชได้ถึงเพียงนี้ แต่อารยะธรรมนี่เป็นส่วนนอกตัว Impersonal เป็นคลังแห่งความจริง Facts จึงเป็นของตาย Dead ผิดกับอารยะธรรมโบราณของเราชาวชมภูทวีปซึ่งเป็นส่วนในตัว Personal เป็นคลังแห่งความสัตย์ Truth และเป็นของเป็น Living อารยะธรรมเก่าคุมประเทศที่แม้หลับอยู่ได้ตั้งสองพันปีก็ไม่มีบุบสลาย แต่อารยะธรรมใหม่จะไม่ยั่งยืน อาจมีกำลังแปลกใหม่โผล่พลุ่งขึ้นอย่างพลุเมื่อไรก็ได้ เช่น อินเวนชั่นสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น เพราะเหตุที่เป็นเพียงความจริงนอกตัว ไม่มีเยื่อใยเหมือนส่วนในตัว

อารยะธรรมโบราณใช้เงินเป็นทาสสำหรับทำความสะดวกในการแลกเปลี่ยนที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งประชุมชน เพราะเงินก็เป็นเพียงของนอกตัวอย่างหนึ่ง แต่อารยะธรรมใหม่บูชาเงินเป็นพระเจ้าเพื่อประโยชน์แห่งเอกชนที่จะเป็นมหาเศรษฐีมิลเลียแนร์บิลเลียแนร์ ท่านปาฐกถาเล่าว่า ท่านผ่านไปในชนมบทบ้านนอกในอินเดียแห่งหนึ่งซึ่งกันดารน้ำ ท่านอยากน้ำ ขอน้ำ ก็ได้น้ำกิน แต่เมื่อท่านให้เงินตอบแทนของที่มีราคาเพราะหายาก คือ น้ำ ชาวบ้านหายอมรับเงินไม่ เขากลับไม่พอใจ เห็นเป็นการดูหมิ่นเจ้าของถิ่นว่า ปราศจากมรรยาทอันงามในการต้อนรับและเอื้อเฟื้อต่ออาคันตุกะแม้เพียงการเล็กน้อย คือ ให้น้ำดื่ม แต่ครั้นท่านปาฐกเดินทางเข้าไปในเมือง ท่านก็ต้องซื้อน้ำ ซึ่งท่านยอมรับว่า ถูกแล้ว ท่านไม่ติเตียนเขาผู้มีสิทธิ์ในน้ำของเขาซึ่งเขาขายโดยสุจจริต แต่ท่านประสงค์แสดงให้เห็นว่า อารยะธรรมเก่ายังมีรอยเหลืออยู่ในประเทศบ้านนอก และอารยะธรรมใหม่ได้แผดเผาให้ประเทศที่เป็นบ้านเมืองปากทางผันแปลไปแล้วอย่างไร พ่อถึกบอกว่า ท่านปาฐกไม่ได้กล่าวเพียงปัญหาศึกษา ท่านนก้าวไปถึงปัญหาเศรษฐกิจด้วย.

แต่ว่า อารยะธรรมเก่าของเรา ที่ว่า เป็นของในตัว เป็นความสัตย์ และเป็นของเป็นนั้น อย่างไร? ท่านปาฐกแถลงว่า มหาวิทยาลัยของเราเดิมอยู่ในป่า พระฤๅษีเป็นศาสตราจารย์ ศิษย์ผู้แสวงหาวิชาออกไปอยู่ปฏิบัติพระสิทธาจารย์ ตักน้ำใช้น้ำกัน หาฟืนกองกุณฑ์ให้ท่าน นวดฟั้น และรับใช้ด้วยความตั้งใจและความรักใคร่รับถือ ฝ่ายพระสิทธาจารย์เล่าก็พร่ำสอนศิษย์ ตามเอาใจใส่ ให้นิสสัย และรักใคร่เหมือนลูกหลาน ทั้งครูทั้งศิษย์มีความรักกัน มีเยื่อใยต่อกัน และต่างมีแก่ใจที่จะทำคุณและรู้สึกบุญคุณแก่กันและกัน วิธีแห่งการศึกษาในสมัยนั้นจึงเป็นวิธีเพาะความเกี่ยวข้องส่วนตัว คือ เยื่อใย พร้อมกับการให้ศิลปศาสตร์ แต่วิธีแห่งการศึกษาสมัยนี้เป็นการให้ศิลปศาสตร์อย่างเดียว ไม่เป็นการเพาะเยื่อใยในตัวเสียเลย เยื่อใยเช่นนั้นจึงจืดจางห่างเหินไปทุกที จงดูเยื่อใยระหว่างครูกับศิษย์ ระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างผู้จ้างกับลูกจ้าง และระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน (หรือประธานาธิบดี) กับราษฎร ว่า เดี๋ยวนี้กับแต่ก่อนเป็นอย่างไรกัน ทั้งนี้ เพราะวิธีการศึกษาแต่ก่อนเป็นส่วนในตัว Personal เป็นคลังแห่งความสัตย์ Truth เป็นวิธีเป็น Living แต่วิธีการศึกษาปรัตยุบันเป็นส่วนนอกตัว Impersonal เป็นคลังแห่งความจริง Facts และเป็นวิธีตาย Dead

เพราะเหตุวิธีการศึกษาโบราณเป็นส่วนในตัว ความเป็นตนเอง คือ อัตตภาพ Personality จึงเกิดได้สะดวก เมื่ออัตตภาพเป็นสำคัญกว่าวัตถุภายนอก การบำบัดความกระหายของอาคันตุกะผู้ผ่านมาจึงเป็นการสำคัญกว่าการได้เงินจากการขายน้ำให้แก่เขานั้น อัตตภาพของประชุมชนรวมกันช่วยให้เกิดลัทธิธรรมเนียมหรือกฎหมายซึ่งได้ชื่อว่า นิติธรรม Culture ของชาวประเทศ และในทำนองเดียวกัน นิติธรรมของหลายประเทศในทวีปก็ช่วยให้เกิดนิติธรรมของทวีป แต่นิติธรรมของทวีปจะตู่เอาว่า เป็นนิติธรรมของประเทศใด ๆ ในทวีปนั้นโดยฉะเพาะ หาได้ไม่ เช่น นิติธรรมของยุโรป European culture ไม่ใช่นิติธรรมอังกฤษ หรือฝรั่งเศส หรือเยอรมัน แต่เป็นนิติธรรมกลางซึ่งประเทศทั้งหลายในยุโรปมีร่วมกัน ฉันใดก็ดี นิติธรรมของชมภูทวีปก็ไม่ใช่นิติธรรมของอินเดีย หรือสยาม หรือจีน หรือญี่ปุ่น แต่เป็นนิติธรรมของพวกเราชาวตะวันออกร่วมกัน และนิติธรรมของตะวันออกและตะวันตกนี้ เป็นเพราะตะวันออกตะวันตกห่างเหินกัน จึงต่างกันมาก

การคมนาคมแต่ก่อนไม่สะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ถึงกระนั้น ผู้คนที่อุตส่าห์ข้ามประเทศไปถึงกันก็ไปแถลงและเรียนแบบจากกัน คือ เจือจานนิติธรรมแห่งชาติของตน ๆ เผื่อแผ่แก่กันและกัน ดังเห็นได้ในสยามนี้ว่า มีหลายอย่างของไทยเดี๋ยวนี้ที่ได้มาแต่จีนแต่แขก แต่ทุกวันนี้ แม้การคมนาคมจะสะดวกขึ้นทุกหนทุกแห่ง ผู้คนโดยมากที่ข้ามประเทศไปถึงกันก็ไปเพื่อค้าขายกำไร เพราะทุกวันนี้ เงินเป็นใหญ่กว่าอัตตภาพเสียแล้ว ประเทศก็ชนะกันด้วยความมั่งมี และสงครามก็รบกันด้วยเงิน ในสมัยมหาสงครามที่แล้วมานี้ ในนาฑีหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างต้องใช้เงินเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ แสน ๆ ของเงินตราแห่งประเทศนั้น ๆ

อารยะธรรมเก่าของเรายังไม่สูญ แทนที่จะหลับครึ่งตื่นครึ่งฉวยเอาอารยะธรรมใหม่เข้าแทของเก่า เรารื้อของเก่าของเราขึ้นแล้วเลือกรับของใหม่เข้ากลมกลืนกับของเก่าจะมิดีกว่าหรือ? ท่านปาฐกใช้โวหารว่า ให้เอาอารยะธรรมของเราที่เป็นส่วนในตัวมีอัตตภาพเข้าเป็นพื้น Back Ground รับภาพใหม่ แล้วภาพของเราจะเป็นภาพอารยะธรรมที่วิเศษที่สุด วิเศษกว่าอาระธรรมโบราณและอารยะธรรมปรัตยุบัน ด้วยความสำนึกเช่นนี้ ท่านจึงตั้งมหาวิทยาลัยของท่านขึ้นในที่เหมาะในอินเดีย ให้ชื่อว่า อิศวภารตี การสอนใช้กลางแจ้งเป็นรุกขมูลใต้ต้นไม้เป็นพื้น และนอกจากอบรมนิติธรรมเก่าของอินเดีย ท่านปรารถนาให้มหาวิทยาลัยของท่านอบรมนิติธรรมแห่งชมภูทวีป เป็นสูนย์แห่งการทดลองเช่นนี้ขึ้นแห่งหนึ่งด้วย ท่านจึงจารึกไปในประเทศแห่งชมภูทวีป เพื่อศึกษานิติธรรมของประเทศนั้น ๆ ด้วยตนเอง แล้วนำมาสู่มหาวิทยาลัยอิศวภารตี ให้การศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนี้ได้เป็นการอบรมนิติธรรมแห่งชมภูทวีปด้วย ท่านกลับไปคราวนี้ ตั้งใจจะสอนภาษาจีนขึ้นอีกวิชาหนึ่ง ท่านขอให้พวกเราชาวตะวันออกช่วยกันอุดหนุนกิจการของท่านให้ได้อำนวยผลแก่พวกเราชาวตะวันออกโดยเร็วเถิด

พ่อถึกมีความเลื่อมใสในท่านศาสดาและกวีผู้นี้มาก ชมว่า ท่านเป็นบุรุษอาฌานัยแท้ เสียงเพราะ ชัดอักขระ มีปฏิภาณ และเป็นพหูสูจแท้ น่าเลื่อมใส สมที่โลกยกย่องและบรรณาการด้วยโนเบลพีสไพรส์ อรรถาธิบายของท่านจับใจ และเป็นไอดีล Ideal คือ ทางเลิศ แท้จริง แต่จะเป็นทางปฏิบัติได้สำเร็จเพียงใด ยังต้องการเวลาและการแก้ไขกันอีกมาก พ่อถึกเห็นด้วยว่า อารยะธรรมปรัตยุบันมี Physical Science คือ วิทยาศาสตร์ว่าด้วยรูปธรรม อันล้วนเป็นส่วนนอกตัว เป็นบันทัดถาน แต่อารยะธรรมโบราณของเรานั้นอาศัยบันทัดถานในทาง Moral Science คือ วิทยาศาสตร์ว่าด้วยนามธรรม อันเป็นส่วนในตัว ส่วนอารยะธรรมที่จะมาข้างหน้านั้น จะต้องประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งสองส่วนนี้เป็นสมุฏฐานรากเง่า แม้ในยุโรปเวลานี้ก็เอาใจใส่ทางจิตตศาสตร์กันมากขึ้นแล้ว วิทยาศาสตร์ส่วนนามธรรม เมื่อได้ค้นคว้าศึกษามากเข้า ก็อาจเจริญได้มากมายเช่นวิทยาศาสตร์ส่วนรูปธรรมเหมือนกัน และมนุษย์อาจมีเดชานุภาพเหนือธรรมชาติยิ่งไปกว่าอานุภาพที่ได้แล้วหรือยังจะได้ต่อไปจากวิทยาศาสตร์ส่วนรูปธรรมนี้เสียอีก นี้เป็น Ideal ทางเลิศแน่แล้ว และท่านศาสดาจารย์ตกูร์ผู้นี้ก็เป็น Idealist ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ

แต่ Idealist เป็นผู้ชี้ทางจะสร้าง ทางจะต้องประสบอุปสัคต่าง ๆ เป็นต้นว่า National Education ที่ท่านปาฐก หมายความว่า นิติธรรมแห่งชาติ National Culture นั้น National Education ศัพท์นี้ ตามความหมายของนักการศึกษา เขาหมายเอา Compulsory Education ซึ่งให้ทุกคนได้เรียนตามควรแก่อัตตภาพ เมื่อ quality กับ quantity จะต้องเข้ามาด้วยกันเช่นนี้ ก็เป็นอุปสัคใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง หรือว่า จะเลิกวิธีศึกษาแผนใหม่เช่นนี้เสีย และกลับไปหาแผนเก่าที่ท่านกวีบราวนิงเรียกว่า สร้างยักษ์สร้างเทวดา คือ หมายความว่า ไม่ยกคนทั้งชาติขึ้นสู่ภูมิสูงขึ้นไป ยกแต่สองสามคนที่เขารักและขวนขายศึกษาเองเป็น Partisan Education กระนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้น จะต้องนัดกันเปลี่ยนแผนศึกษาทั่วโลก ถ้าใครขืนเปลี่ยนอยู่ประเทศเดียว เป็นจบแน่ อุปสัคสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ โลกเราเดี๋ยวนี้เป็นโลกเศรษฐกิจ เงินจึงเข้ามาเป็นพระเจ้าให้เราบูชา ถ้าจะตัดทางไปสู่ที่หมายเป็นทางเลิศ จำต้องเปลรี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกจรรยา ให้เศรษฐกิจเป็แต่เครื่องประกอบสำหรับทำความสะดวกให้ ดังท่านปาฐกกล่าวว่า ในสมัยโบราณ ท่านใช้เงินเป็นทาษสำหรับทำความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์แก่ประชุมชน ไม่ใช่ให้เงินเป็นพระเจ้าสำหรับสร้างยักษ์สร้างเทวดาสองสามคน คือ พวกมหาเศรษฐีมิลเลียแนร์บิลเลียแนร์ ก็ใครเล่าจะเป็นผู้เปลี่ยนโลกเศรษฐกิจให้เป็นโลกจรรยา? จะต้องโลกเองเป็นผู้เปลี่ยน ไม่ใช่ผู้อื่น เหรียญกสาปน์หรือเงินตราที่ใช้เป็นมาตราเพื่อสะดวกแก่การแลกเปลี่ยนมีคุณมหันต์โทษอนันต์ (ดูเรื่อง เงินคือแก้วสารพัตรนึก ใน เสนาศึกษาพฤษภาคม ศก ๒๔๖๕) ใคร ๆ ก็ย่อมทราบ แต่จะเลิกเสียก็ยังไม่มีวิธีอะไรมาแทน จึงต้องใช้กันไป และยิ่งใช้หนักเข้า เงินก็ยิ่งมีอำนาจมากเข้า เลยกลายเป็นพระเจ้าเอาทีเดียว อะไร ๆ มีราคาเป็นเงินไปหมด.

อะไรที่เป็นโลกนิยม ย่อมเกิดแต่คนทั้งหลายช่วยกันนิยมขึ้น พ่อถึกยินดีนักที่ท่านศาสดาจารย์ตกูร์กล้าพลิกแผ่นดิน เมื่อผู้เริ่มริ Pioneer ได้ปฏิสนธิขึ้นแล้วเช่นนี้ และเป็นผู้ที่ยกย่องอยู่แล้วด้วย การเริ่มคงจะไม่เป็นหมัน ขอให้เกิดคณะผู้เริ่มริ Pioneer ขึ้นมาก ๆ โดยเร็วเถิด เราชาวตะวันออกจะได้ไม่ทัน "กว่าถั่วจะสุกก็งาไหม้" เพราะอารยะธรรมใหม่จู่โจมเข้ามาเล่นงานเราทั้งคุณและโทษ.

ในที่สุด พ่อถึกกล่าวสรรเสริญและบูชาท่านศาสดาตกูร์แล้วก็หยุด.