เหตุใดไทยจึงพูดซ้อนคำ ฯลฯ/เรื่อง 4
ถ้าถามว่า การพะนันเป็นของชั่วหรือไม่ ทุกคนคงจะตอบว่า เป็น แม้นักเลงการพะนันก็คงจะตอบเช่นกัน ฉันเดียวกับนักเลงเหล้า ถ้าถามว่า การกินเหล้ามีโทษหรือไม่ แม้ตัวเองจะเมาทุกวัน ถ้าตอบโดยจริงใจ คงจะตอบว่า มีอยู่นั่นเอง ผู้อ่านมีปัญญา พึงสังเกตว่า ปัญหาว่า การกินเหล้ามีโทษหรือไม่นั้น เป็นปัญหาไม่มีเงื่อนไข ถ้าตอบว่า กินแต่พอควร ก็ไม่มีโทษ ฉะนี้ "กินแต่พอควร" นั้นเป็นเงื่อนไข คำตอบจึ่งหาใช่ตอบปัญหาซึ่งไม่มีเงื่อนไขไม่ อนึ่ง ศีลที่ ๕ ของเรามิได้กล่าวถึงพอควรหรือไม่พอควร ต้องเว้นทั้งสิ้น
ความดีของคนอันยกย่องกันโดยปฏิเสธความชั่วนั้น เรานิยมกันมาแต่โบราณสามอย่าง คือ ไม่สูบฝิ่น ไม่กินเหล้า ไม่เล่นเบี้ย การขอลูกสาวแต่ก่อน เมื่อฝ่ายชายแต่งให้มีผู้เป็นสื่อไปขอแล้ว ถ้ายังไม่รู้จักคุ้นเคยกัน ฝ่ายหญิงก็ต้องขอผัดสืบ และเมื่อไปถามใครที่รู้จัก ถ้าชายเป็นคนไม่มีความชั่ว ผู้ถามก็คงจะได้รับตอบว่า ดีดอก ไม่สูบฝิ่น ไม่กินเหล้า ไม่เล่นเบี้ย เป็นคำตอบซึ่งดี เป็นที่พอใจในสมัยก่อน ในสมัยนี้ บิดามารดาฝ่ายหญิงต้องการทราบยิ่งกว่านั้น
คำที่ใช้เป็นคำจ่าน่าของเรานี้ ถือเอาแล้วว่า การพะนันเป็นของชั่ว ไม่ถามว่า ชั่วหรือไม่ ถามว่า ชั่วเพราะเหตุไร
ปัญหานี้ ถ้าตอบโดยมิได้ตรึกตรอง ก็มักจะตอบกันว่า การพะนันเป็นของชั่ว เพราะทำให้ฉิบหาย คือ ทำให้เสียทรัพย์ และเมื่อเสียไปแล้ว ผู้เสียก็อาจประกอบการเป็นโทษต่าง ๆ ในที่สุด ถึงทำผิดกฎหมายถูกจำคุกก็ได้ การตอบเช่นนี้เป็นการตอบง่าย ๆ ซึ่งทุกคนย่อมจะคิดได้เอง ถ้าใครตอบลึกขึ้นไปกว่านั้น ก็มักจะตอบตามที่ท่านว่าไว้ในบาลี กล่าวนัยหนึ่งคือ ตอบตามคำพระเทศน์ ซึ่งชี้แจงดีขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คำอธิบายในบาลีว่า เหตุใดการพะนันจึงเป็นของชั่วนั้น มีในสิงคาโลวาทสูตร์ กำหนดเอาการพะนันเป็นทางหนึ่งแห่งอบายมุขทั้ง ๖ และเหตุที่ยกขึ้นกล่าวว่าชั่วนั้น คือ โทษ ๖ สถาน ว่าย่อ ๆ ก็คือ
สถานที่๑การพะนันย่อมก่อเวรระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้
สถานที่๒ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
สถานที่๓ทรัพย์ของผู้พะนันมักฉิบหาย
สถานที่๔ไม่มีใครเชื่อถือนักเลงพะนัน
สถานที่๕นักเลงพะนันย่อมเป็นที่ดูหมิ่นของคน
สถานที่๖ไม่มีใครยอมแต่งงานด้วย
โทษทั้ง ๖ สถานนี้ ดูก็เข้าใจไม่สู้ยาก ไม่น่าจะต้องอธิบายต่อไปอีก ถ้าจะพูดถึงความสำคัญว่า สถานไหนสำคัญมาก สถานไหนสำคัญน้อยกว่ากัน ก็พูดได้แต่ตามความเห็นบุคคลในประชุมชนของเราเวลานี้ ในสมัยพระพุทธเจ้าเราพูดไม่ถูก เพราะผิดเวลากันตั้ง ๒๕๐๐ ปี บ้านเมือง ขนบธรรมเนียม และใจคน ย่อมจะผิดกับเราทั้งนั้น แต่ว่าโทษ ๖ สถานที่ชี้ให้เห็นในสิงคาโลวาทสูตร์นั้น เป็นโทษที่ชี้ฉะเพาะตัวบุคคล ไม่ใช่ชี้โทษแห่งการพะนันโดยน้ำเนื้อของมันเอง ถ้าจะค้นคำตอบข้อนี้ เห็นจะต้องตอบจากที่อื่นในบาลี อาจต้องย้อนไปถึงปฐมเทศนาก็เป็นได้ ผู้เขียนในที่นี้ไม่ใช่ผู้ทรงพระไตรปิฎก จำต้องพูดภายในความรู้และปัญญาของตน
การที่จะตอบว่า เหตุใดการพะนันจึงเป็นของชั่วโดยน้ำเนื้อของมันเองนี้ เป็นของยากจริง ๆ เรายอมรับทุกคนว่า การพะนันเป็นของชั่ว แต่คนโดยมากมีความเห็นดีเห็นชั่วโดยเหตุเลือน ๆ ถ้าขอให้อธิบายเหตุ ก็อธิบายเลือน ๆ เมื่ออธิบายแล้ว กลับสงสัยขึ้นก็เป็นได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งยกตัวอย่างมาอ้างว่า คนนั้นคนนี้ฉิบหายสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะการพะนัน ก็อาจได้รับตอบว่า แน่แล้ว การพะนันเป็นของชั่ว แต่ถ้าจะชั่งน้ำหนักกับตัวอย่างที่ยกนั้น ก็มีตัวอย่างอื่น ๆ เป็นอันมากซึ่งนักพะนันไม่สิ้นเนื้อประดาตัวเพราะการนั้น ที่กลับมั่งมีก็พอชี้ตัวได้
ผู้เขียนเรื่องนี้ไม่เชื่อว่า ใครอาจทำอะไรให้การพะนันหมดไปจากโลกหรือจากบ้านเมืองใดได้ แต่เชื่อว่า ถ้ามีน้อยลง จะดีกว่ามีมากขึ้น ความเห็นที่ว่า ควรมีการพะนันน้อยลงนั้นเป็นความเห็นในทางธรรมไม่น้อยกว่าในทางโลก คือว่า โทษโดยน้ำเนื้อของมันจะอยู่ในเรื่องได้เงินเสียเงินเท่านั้นหามิได้ ผู้เขียนเคยอ่านความเห็นของผู้มีปัญญาว่า การกอบกรรมอันใดจะเป็นโทษก็ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
ประการที่๑กรรมนั้นมีผลชั่ว
ประการที่๒กรรมนั้นเกิดจากใจเป็นบาป
ประการที่๓กรรมนั้นแสดงออกมาซึ่งหลักการอันร้าย
ผู้กล่าวเหตุ ๓ ประการนี้ไม่ได้พูดถึงการพะนัน พูดทั่วไปถึงการกอบกรรมอันมีโทษ ถ้าการพะนันเป็นโทษ ก็ควรจะลงใน ๓ ประการนั้น และเราเชื่อว่า ลงกันได้ คือ ประการที่ ๑ การพะนันมีผลชั่วแน่ เห็นได้ในข้อที่นับเป็นอบายมุขในพุทธศาสนา ประการที่ ๒ การพะนันย่อมเกิดจากใจอันอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ประการที่ ๓ หลักแห่งการพะนัน คือ ความได้เสียโดยมิได้มีตอบแทนกันเลย
ถ้าจะพิจารณาอีกทางหนึ่งซึ่งเห็นได้ง่ายกว่า ก็อาจกล่าวได้ว่า เหตุที่นายเขียวควรได้เงิน ๑ บาทจากนายแดงนั้นมีเพียง ๓ อย่าง ถ้าพ้น ๓ อย่างนี้ไป นายเขียวก็ได้เงินจากนายแดงโดยประการไม่ดี เหตุ ๓ อย่างนั้น คือ
อย่างที่๑นายเขียวได้ทำงานให้นายแดงเป็นราคา ๑ บาท (หลักการรับจ้าง)
อย่างที่๒นายเขียวได้ให้ของแก่นายแดงเป็นราคา ๑ บาท (หลักการแลกเปลี่ยน)
อย่างที่๓นายแดงรักนายเขียว จึงให้โดยกรุณา (หลักเสน่หา)
ผู้เล่นพะนันได้ทรัพย์จากกันไม่ใช่โดยเหตุ ๓ อย่างนี้เลย จึงควรเห็นว่า ได้เสียกันเพราะเหตุอันเป็นโทษ
เมื่อเราได้กล่าวมาฉะนี้แล้ว ก็อาจมีคำค้านว่า ผู้มีเงินเล่นไพ่กันตองละสตางค์ ไม่ได้สำคัญที่การได้เสีย เล่นเพื่อจะเพลินต่างหาก คำค้านเช่นนี้เป็นการเอาของ ๒ อย่างไปรวมกัน คือ ความเพลิน อย่างหนึ่ง การพะนัน อย่างหนึ่ง ของ ๒ อย่างนั้นอาจรวมในที่เดียวและเวลาเดียวกันได้ แต่ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน
เราได้กล่าวมาแต่แรกแล้วว่า ปัญหาชะนิดนี้ตอบยาก ถึงจะตอบเกลี้ยงเกลาที่สุดปัญญาจะพาให้ตอบได้ ก็สุดวิสัยที่จะทำให้แจ่มแจ้งจนเห็นสว่างได้ทุกคน เราไม่หาญกล่าวว่า เราได้ตอบเกลี้ยงเกลาแล้ว แต่การเบิกปัญหาขึ้นเช่นนี้ ย่อมเป็นการชวนให้คิดและเป็นเครื่องฝึกฝนปัญญา
(หนังสือข้างบนนี้แต่งเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗)