ข้ามไปเนื้อหา

แม่ย่านาง วรรณคดี และราชาวดี/เรื่อง 3

จาก วิกิซอร์ซ
ราชาวดี

เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ มีชาวอังกฤษชื่อ เซอร์เจมสบรุ๊ก เป็นราชทูตเข้ามาเจรจาการเมืองเรื่องขอแก้อัตราภาษีศุลกากร ท่านเซอร์ผู้นี้ปากตลาดเรียกว่า เยสัปบุรุษ ทำไม เจมสบรุ๊ก ถึงกลายมาเป็น เยสัปบุรุษ ก็เพราะเจมสบรุ๊กเป็นเสียงฝรั่งที่แปลกหูไทยและแปลไม่ได้ความ จึงต้องแก้เสียงให้เข้ารูปที่ชินหูและพอแปลได้ความ คือ แก้เป็น เยสัปบุรุษ

ฤษีกไลโกฏที่ในรามเกียรติ์ว่า แกโง่เสียหมดดี จนไม่รู้จักว่า ผู้หญิงเป็นพวกอะไร บางทีจะเป็นเพราะแปลกไลโกฏไม่ออก เลยแก้เป็นบรรลัยโกฏไป อย่างนี้เป็นเรื่องลากเข้าความโดยแก้รูปเสียงให้แปลได้

สัปเหร่อ จะมาจากภาษาอะไรหรือว่าจะเป็นคำไทยแท้ก็ไม่ทราบ เมื่อนึกถึงสัปเหร่อ ก็นึกถึงผีขึ้นมาทันที ก็ผู้ไม่เกลียดผีกลัวผีมักถือกันว่า เป็น "ผู้ตัดขาด" เป็นผู้มีใจสงบแล้ว แม้กระทั่งซากคนก็ไม่รังเกียจหวาดหวั่น เพราะฉะนั้น สัปเหร่อ ก็เท่ากับ สัปบุรุษ เพราะ สัปบุรุษ แปลว่า ผู้มีใจสงบแล้ว สัปเหร่อจึงเพี้ยนเสียงมาจากสัปบุรุษนั่นเอง กะโถน เพราะใช้บ้วนน้ำหมาก ก็คิดไปว่า เพี้ยนไปจาก กะถ่ม คือ ต้องกะให้ดีแล้วจึงถ่ม มิฉะนั้น เปรอะเปื้อนที่อื่นหมด อย่างนี้เป็นเรื่องแปลความหมายโดยวิธีลากเข้าความในคำอื่น แต่ไม่แก้รูปเสียง.

เมื่อสิบปีที่ล่วงมานี้ มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ นายแรงกิน Rankin และเขียนป้ายไว้ที่ประตูบ้าน แต่ถูกมนุษย์อุตริเติมไม้โทให้บ่อย ๆ ต้องคอยลบกันร่ำไปทุกเช้า อย่างนี้ก็เป็นลากเข้าความโดยคะนองมือ.

เจ๊กขายมะม่วงพิมเสนร้องว่า ขายมะม่วงสามเสน ก็เพราะเจ๊กรู้จักคำว่า สามเสน มากกว่ารู้จักคำว่า พิมเสน ครั้นถึงคำว่า สามเสน จะแปลว่าอะไรเราก็ไม่ทราบ จึงต้องเกิดเป็นนิยายว่า พระพุทธรูปลอยน้ำมา แต่ไม่มีใครฉุดชักขึ้นได้ ต้องใช้คนถึงสามแสนจึงสำเร็จ ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่า สามแสน แล้วกลายเป็น สามเสน อีกทีหนึ่ง นี่ก็การลากเข้าความอีก.

เจ๊กชื่อ พง ชื่อ พัด แก้เป็น พงศ์ และ พัฒน์ หรือคำว่า ข้าวตัง อาจเขียนเป็น ข้าวตังค์ ก็ได้ นุด ซึ่งอาจแปลว่า หนูหรือน้อย แต่ที่เขียนกันเป็น นุช เช่น นายนุช ผู้ชายแท้ ๆ กลายเป็นผู้หญิงได้ เพราะ นุช เห็นใช้กันอยู่แต่ นุชนาฏ นุชน้อง ลักษณะอย่างนี้เป็นการลากเข้าความโดยวิธีลากเข้าศัพท์ และที่ลากเข้าศัพท์มาแล้วเป็นอย่างดีก็มี เช่น ข้าวสาร เป็นต้น.

การลากเข้าความย่อมมีอยู่ทุกภาษา เพราะธรรมดาคำที่ไม่เข้าใจก็ต้องหาทางทำให้เข้าใจจนได้ และคำที่ถูกลากเข้าความมักเป็นคำต่างประเทศที่เป็นชื่อบ้านชื่อเมืองและชื่อคนเป็นส่วนมาก เช่น ที่ในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีแม่น้ำและสถานีรถไฟชื่อ ลำปลายมาศ คำ ปลายมาศ นี้ถูกลากเข้าความได้อย่างงดงาม เพราะคำว่า ปลายมาศ คำเดิมเป็น ไพรมาศ ที่เมืองบุรีรัมย์พลเมืองเป็นเขมรมาก เขมรออกเสียง ไพร เป็น เปรย แล้วคงไปถูกใครพูด ร เป็น ล เข้าอีกซ้ำหนึ่ง จึงกลายเป็น ปลายมาศ ไป.

บางทีเป็นภาษาไทยแท้ ชาวต่างประเทศนำเอาไปเรียกอย่างหนึ่ง แล้วเรากลับไปเรียกคำของเราเองโดยเอาอย่างต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง เลยกลายไปจนไม่ทราบว่า เดิมเป็นคำไทย เช่น หมู่บ้านที่ตรงพรมแดนระหว่างไทยกับเขมรในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ฝรั่งเศสมาตั้งด่านศุลกากรเรียกว่า ด่านปอยเปต เราก็พลอยเรียกตามฝรั่งว่า ปอยเปต ไปด้วย ต่อไปแปล ปอยเปต ไม่ออก อาจถูกลากเข้าความเป็น ปล่อยเป็ด ก็ได้ อันที่จริงที่ตรงนั้นเราเรียกว่า บ้านปอดแปด ฝรั่งเศสเรียกเพี้ยนหรือฟังเพี้ยนเป็น ปอยเปต ไป.

เมื่อได้พูดถึงเรื่องลากเข้าความพอเป็นเรื่องนำเพื่อทำความเข้าใจกันในเรื่องที่จะเล่าต่อไปแล้ว จะขอพูดถึงคำว่า ราชาวดี ซึ่งเป็นเนื้อหาของเรื่องนี้.

ราชาวดี เป็นชื่อยาสีพลอยขี้นกการเวกหรือสีฟ้า เครื่องทองในรัชชกาลที่ ๑ เช่น พานพระขันหมากใหญ่ และพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนก เป็นต้น ลงยาสีฟ้าเกือบทั่วไป แต่คำว่า ราชาวดี แม้รูปคำเป็นภาษาสํสกฤตอยู่เต็มตัว แต่ก็ปรับเข้ากับเรื่องยาราชาวดีไม่ได้ และคำว่า ราชาวดี ก็ไม่มีใช้ในภาษาสํสกฤต ท่านผู้ใหญ่ได้เคยค้นหาคำนี้และพบที่มาของคำมาแล้ว คงปรากฏว่า คำเดิมเป็นภาษาเปอร์เซอร์มาแต่ Lazuwerdi คำว่า Lapis Lazuli ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า แก้วไพฑูรย์ คือ พลอยสีน้ำผึ้งมีสายผ่านกลาง และคำว่า Azure ซึ่งแปลว่า สีฟ้า ก็มาจากคำเดียวกับ Lazuwerdi ถ้าอยากทราบว่า เพี้ยนกันอย่างไร ควรเปิดดูในพจนานุกรมอังกฤษ ในคำเหล่านั้นตรงบอกที่มาของคำก็จะทราบได้ ต้นเหตุที่ Lazuwerdi จะกลายมาเป็น ราชาวดี คงได้ความจากหนังสือ An Introduction to Indonesian Linguistics by R. Brandstetter, Ph.D. ว่า คำ Lazuwerdi ตกมาถึงชวา พระเจ้าแผ่นดินชวาองค์หนึ่งทรงแปลงเสียงให้แปลได้เป็น Royowerdi แปลว่า สี (werdi) พระราชา (rojo) คำว่า werdi ที่มากลายเป็น วดี เห็นจะเป็นเมื่อตกลงมาถึงเรา เพราะ werdi รูปไม่เป็นสํสกฤต และคำที่ใกล้กัน คือ วดี จึงได้ลากเข้าศัพท์เสีย เมื่อลากเข้าศัพท์ให้แล้ว ก็แปลไม่ออก เพราะถูกลากเข้าความถึงสองต่อ คือ จาก Lazuwerdi – Rojowerdi – Rajawadi ฉะนี้แล.