โฉมหน้าศักดินาไทย/กำเนิดของระบบศักดินาโดยทั่วไป

จาก วิกิซอร์ซ
กำเนิดของระบบศักดินา
โดยทั่วไป
 

ระบบศักดินา (Feudal System) เป็นระบบผลิตของสังคมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากระบบทาส (Slave System)

ในสมัยระบบทาส เป็นสมัยที่มนุษย์ทํามาหากินด้วยการเลี้ยงสัตว์, ล่าสัตว์, ทําการกสิกรรมและหัตถกรรม ปัจจัยสําคัญในการผลิตของมนุษย์ก็คือ ทาส (slave) เป็นอันดับที่หนึ่ง และที่ดินเป็นอันดับที่สอง ที่กล่าวว่าทาสเป็นปัจจัยแห่งการผลิตที่สําคัญเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็เพราะนายทาสเป็นกลุ่มชนที่ไม่ทําการผลิตด้วยตนเอง ทาสเท่านั้นที่เป็นผู้ผลิต กล่าวคือเป็นผู้ทํางานบนผืนดิน และยิ่งกว่านั้นทาสยังเป็นสมบัติของนายทาสโดยสมบูรณ์ นายทาสถือกรรมสิทธิ์ในตัวทาสเหมือนกับที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและปัจจัยแห่งการผลิตอื่นๆ ฐานะของทาสเป็นเสมือนเครื่องมือในการทํามาหากินอย่างหนึ่ง กล่าวคือเป็นเครื่องมือที่พูดได้ (Talking tool) ทาสมิได้มีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นคน หากมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยแห่งการผลิตเหมือนกับไถเหมือนกับคราดหรือสัตว์เลี้ยง การเป็นทาสมิได้เป็นโดยการขายตัวเหมือนทาสสมัยศักดินา หากเป็นทาสโดยการกําหนดของผู้มีอำนาจ กล่าวคือเมื่อชาติกุลหนึ่งไปรบแย่งชิงผลประโยชน์กับอีกชาติกุลหนึ่งและได้ชัยชนะ เชลยทั้งมวลที่จับมาได้ก็จะถูกกดลงเป็นทาส เป็นสมบัติของผู้ชนะ (ทั้งนี้แทนการประหารที่เคยทํามาในสมัยปลายยุคบุพกาล ซึ่งอันนี้ เป็นลักษณะก้าวหน้าอย่างหนึ่งของระบบทาส) พวกเชลยที่ถูกกดลงเป็นทาสเป็นเครื่องมือในการทํามาหากินของฝ่ายผู้ชนะเหล่านี้ จะไม่มีวันกลับคืนเป็นไทได้อีกเลย ลูกเต้าทั้งหญิงชายที่เกิดใหม่ก็ตกเป็นสมบัติของนายทาสเหมือนลูกวัวลูกควายที่นายทาสเลี้ยงไว้ฉะนั้น นายทาสมีสิทธิที่จะทําอะไรกับทาสก็ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะขายหรือฆ่า การเป็นทาสจึงเป็นโดยทางชนชั้น โดยสืบสกุลจะเปลี่ยนชนชั้นไม่ได้

ในการผลิต ผลิตผลทั้งหมดที่พวกทาสทําได้บนผืนดินตกเป็นของนายทาสโดยสิ้นเชิง นายทาสจะตั้งโรงเลี้ยงเพื่อหุงหาให้ทาสกินเป็นรายมื้อเหมือนให้อาหารสัตว์ หรือไม่ก็แจกข้าวปลาให้พวกทาสได้กินพอยังชีพเท่านั้น สิทธินอกจากการกินให้มีแรงแล้ว พวกทาสไม่มี ทรัพย์สินส่วนตัวของทาสก็มีไม่ได้เลยแม้แต่น้อยเช่นเดียวกัน

ในสมัยสังคมทาส มนุษย์จึงแบ่งเป็นสองชนชั้นกล่าวคือ ชนชั้นนายทาส (Slave Master) และชนชั้นทาส (Slave) สังคมของนายทาสเป็นสังคมที่หรูหราฟุ่มเฟือยคุกรุ่นไปด้วยกามารมณ์ เพราะพวกนี้ ไม่ต้องทําอะไรเลยจริงๆ พวกนายทาสมีเวลาแต่งโคลงกลอน ถกเถียงปัญหาทางปรัชญา ฯลฯ อย่างเต็มที่ ความเจริญทางปัญญาของมนุษย์ตั้งอยู่บนรากฐานของความทุกข์ยากและทํางานเหมือนวัวควายของพวกทาส นี่นับเป็นอีกข้อหนึ่งที่ระบบทาสสร้างความก้าวหน้าให้แก่สังคมมนุษยชาติ

ในประเทศกรีซ สมัยทอง (Golden Age) ประมาณ ๖๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช คิดเฉลี่ยแล้วเสรีชนผู้ชายในกรุงเอเธนส์คนหนึ่งๆ มีทาสทํางานในบังคับ ๑๘ คน ในเมืองคอรินธ์ (Corinth) เมืองเอจินา (Aegina) และเมืองกรีซอื่นๆ ก็มีอัตราเฉลี่ยของทาสจํานวนพอๆ กัน ถ้าเราคํานึงว่ากรีกโบราณอยู่รวมกันเป็นสกุล เป็นครอบครัวใหญ่ๆ สกุลหนึ่ง สมมุติว่ามีผู้ชาย ๑๐ คน ก็เป็นอันว่ามีทาสเฉลี่ยแล้ว ๑๘๐ คน ซึ่งแน่นอนสกุลกรีกที่มีอำนาจในทางการเมืองหนึ่งๆ อาจจะมีทาสตั้งพันๆ คนก็ได้! ในกรุงโรมสมัยก่อนคริสต์ศักราชก็มีทาสอย่างคับคั่ง ทาสเหล่านี้เป็นผู้ทํางานแทนนายทั้งหมดนับตั้งแต่งานในไร่นา, งานหัตถกรรม, งานในบ้าน มาจนถึงการฟ้อนรํา, ตีกระบี่กระบอง, สู้กับวัวกระทิงให้วัวขวิดไส้ทะลักให้นายดู ฯลฯ นายทาสที่มีบรรดาศักดิ์คนหนึ่งๆ มีทาสอย่างน้อย ๒๐๐ คน เวลาไปไหนมาไหนก็เกณฑ์พวกทาสเหล่านี้ ติดตามแห่แหนเป็นขบวน เพื่อเป็นเครื่องอวดเกียรติยศอานุภาพกันและกัน พวกขุนนางเวลาจะไปไหนมาไหนก็มีเจ้าหน้าที่ ๑๒ คนคอยคุ้มกันให้ความสะดวก พวกที่ให้ความคุ้มกันนี้ ถือมัดหวายแสดงอาญาสิทธิในการโบยตีทําโทษผู้ขัดขวางทาง ถ้าหากออกนอกกรุง ก็จะเอาขวานเสียบมัดหวายนั้นไปด้วยเป็นเครื่องแสดงอาญาสิทธิที่จะประหารใครๆก็ได้ มัดหวายนี้ เรียกกันว่า Fasces (อันเป็นเครื่องหมายและต้นรากของคําว่า Fascism ของมุสโสลินีในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒)

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าการขูดรีดในสังคมทาสเป็นการขูดรีดชนิดที่เรียกว่า "ขูดรีดโดยสิ้นเชิง" กล่าวคือ ทั้งตัวทาส ทั้งผลิตผลที่ทาสทําได้ ตกเป็นกรรมสิทธิของนายทาสโดยสิ้นเชิง นายทาสมิได้เหลืออะไรไว้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของทาสเลยแม้แต่ตัวของทาสเอง

แน่นอน ความขัดแย้ง (Contradiction) สําคัญของสังคมทาสก็คือความขัดแย้งระหว่างนายทาสกับทาส

และ แน่นอน...

ระบบศักดินาก็ได้ถือกําเนิดขึ้นจากความขัดแย้งของสังคมทาสในตอนปลายอันเป็น ความขัดแย้งขั้นแตกหัก (antagonism) ระหว่างนายทาสกับทาส นี้เอง!

ในตอนปลายของสังคมทาส ความขัดแย้งได้ทวีเกิดขึ้นถึงขีดสูงสุด พวกนายทาสได้ขูดรีดทาสอย่างย่ามใจ แรงงานทาสจํานวนมหึมามหาศาลตัองถูกระดมและบังคับให้ทํางานเพื่อรับใช้นายทาสจํานวนไม่กี่คน นอกจากจะรับใช้นายของตนเองแล้ว ยังต้องรับใช้นายทาสใหญ่ผู้เป็นประมุขของรัฐ หรือนัยหนึ่งผู้เป็นประธานคณะกรรมการดูแลจัดสรรผลประโยชน์ของพวกนายทาสอีกด้วย ปิรามิดใหญ่น้อยของอียิปต์อันเป็นหลุมศพของนายทาสผู้ใหญ่ (กษัตริย์) ก็ดี, สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน (The Hanging Garden of Babylon) ซึ่งพระเจ้าเนบูชัดเนสซาร์ (Nebuchadnezzar) สร้างขึ้นบนหลังคาของอาคารขนาดมหึมาเพื่อเอาใจมเหสี (Amytis) เมื่อราว ๖๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลก็ดี, ปราสาทหินนครวัต อันเป็นมฤติกาลัย (Funeral Temple) หรือกึ่งเทวสถานกึ่งหลุมฝังศพของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ แห่งกัมพูชา ซึ่งสร้างเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ก็ดี และศิลปวัตถุอีกมากมายอันนับเนื่องเข้าในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของพวกทาสที่ถูกบังคับ และทํางานภายใต้เสียงควับเควี้ยวของหวายและเชือกหนังของผู้คุมทั้งสิ้น

"ความดีที่สุดในชีวิตของทาสก็คือการมีชีวิต กรุงโรมทั้งกรุงมิใช่อะไรอื่นนอกไปจากหยดเลือดหยาดเหงื่อและความเจ็บปวดรวดร้าวของพวกทาส"

ยิ่งกว่านั้น ในตอนปลายยุคทาส พวกนายทาสได้ทําสงครามแย่งชิงทาสซึ่งกันและกันขนานใหญ่ พวกทาสได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นทุกขณะ พวกนอแมดอารยันซึ่งใช้ประชาธิปไตยของชาติกุลได้เข้าโจมตีรัฐทาสของชนผิวดํา (Iberian) ในคาบสมุทรกรีกและบอลข่าน เข้าโจมตีรัฐชนผิวดําของพวกเปอร์เซียและอินเดีย เมื่อได้รับชัยชนะก็เหยียดพวกผิวดําทั้งหมดลงเป็นทาส เศรษฐีชาวอารยันของอินเดียโบราณมีบริวารนับเป็น "แปดหมื่นสี่พัน" ซึ่งบางทีก็เป็นบริวารหญิงเสียด้วย พวกบริวารเหล่านี้ ก็คือทาสนั่นเอง ระบบทาสตอนท้ายๆ ที่เกิดสงครามแย่งชิงทาสกันขึ้นจึงร้ายแรงสุดยอด ทํานองเดียวกับยุคจักรวรรดินิยมขั้นสุดท้ายที่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือแย่งชิงแหล่งผูกขาดกันและกันฉะนั้น

เมื่อสภาพการขูดรีดดําเนินไปจนถึงขั้นสุดยอดเช่นนี้ บรรดาทาสซึ่งปรกติก็ทํางานรวมหมู่อยู่แล้วจึงรวมกําลังขึ้นต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเอง จุดหมายขั้นพื้นฐานของทาสก็คือ ปลดตนเองให้พ้นจากสภาพ "เครื่องมือพูดได้" มาเป็น "คน" ที่มีสิทธิในการทํางานเพื่อเลี้ยงตัวเองด้วยเครื่องมือของตน, จากสภาพของการไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลมาเป็นคนที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและที่ดินอันเป็น ปัจจัยแห่งการผลิต

ขอให้สังเกตว่า ที่ดินอันเป็นปัจจัยแห่งการผลิตอันดับรองของสังคมทาส ซึ่งที่ดินนี้เองได้เป็นเงื่อนไขที่จะทําให้ก้าวไปสู่สังคมศักดินาที่คนกลายเป็นไท และมีที่ดินเป็นปัจจัยแห่งการผลิต ถ้าจะเทียบก็เทียบได้กับการหัตถกรรมและการค้าผูกขาดของสังคมศักดินาอันเป็นการผลิตอันดับรอง และเป็นเงื่อนไขที่จะก้าวไปสู่การอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมเสรีนิยมของระบบทุนนิยม

การรวมพลังกันต่อสู้กับนายทาสนี้ ย่อมเป็นนิมิตหมายอันแสดงว่าความขัดแย้งหลัก (Main contradiction) ของสังคมทาสได้พัฒนามาสู่จุดสุดยอดคือขั้นแตกหัก (antagonism) แล้วนั่นเอง และจุดนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการอวสานของระบบทาส แต่อย่างไรก็ดีการต่อสู้ของพวกทาสต้องประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้เพราะขาดการจัดตั้งอันมีระเบียบและขาดการนําอันเด็ดเดี่ยวถูกต้อง ทาสส่วนมากยังติดข้องอยู่กับการฝากชีวิตไว้กับตัวบุคคล

ขบวนการปลดแอกของชนชั้นทาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คือ การลุกฮือของทาสชาวโรมันแห่งกรุงโรม ภายใต้การนําของสปาร์ตาคัส (Spartacus) ทาสผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อราว ๑๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช (คือราว ๒๐๐๐ ปี มาแล้ว) สปาร์ตาคัสรวมกําลังทาสหนีนายเข้าไว้ถึง ๗๐,๐๐๐ คน (บางแห่งว่า ๙๐,๐๐๐ คน บางแห่งว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน) จุดหมายของการต่อสู้ของพวกทาสก็คือ "โลกใหม่ที่ไม่มีทาส ไม่มีนายทาส มีแต่เพียงประชาชนอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยสันติและภราดรภาพ...เมืองที่ไม่ต้องมีกําแพง...ไม่มีสงคราม, ไม่มีความลําเค็ญ และไม่มีความทุกข์ยากอีกต่อไป" เขาปรารถนาที่จะสร้างสังคมที่ถือศีลธรรมใหม่ที่ว่า : อะไรที่เป็นความดีแก่ประชาชนเป็นสิ่งที่ถูก อะไรที่ทําร้ายประชาชนเป็นสิ่งที่ผิด

"การลุกฮือของสปาร์ตาคัสได้เป็นที่สนใจของผู้นําแห่งการปฏิวัติของชนกรรมาชีพมานานแล้ว คาลมาร์กซ์ได้เขียนถึงเฟรเดอริก เองเกิลส์เมื่อ ๑๘๖๑ ว่า "ในตอนเย็นๆ ผมผ่อนอารมณ์ด้วยการอ่านประวัติศาสตร์การสงครามกลางเมืองของโรมัน ซึ่งเป็นข้อเขียนของแอปเปียน (Appian) ...ปรากฏว่าสปาร์ตาคัสเป็นบุคคลที่วิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณทั้งมวล เขาเป็นขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ (ไม่ใช่ "การิบัลดี"), มีลักษณะสูงส่ง, เป็นตัวแทนของชนกรรมาชีพยุคโบราณที่แท้จริง" เมื่อไม่นานมานี้ การเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของโซเวียตก็ได้กล่าวถึงการลุกฮือขึ้นของสปาร์ตาคัสไว้ว่า เป็นเหตุการณ์สําคัญอันหนึ่ง จะเห็นได้ว่าจากการวิเคราะห์ในหนังสือชื่อ "การเปลี่ยนแปรจากโลกสมัยโบราณมาสู่สมัยกลาง" (ตามที่กล่าวไว้ใน Voprossy Istorii ฉบับกรกฎาคม ๑๙๔๙)"

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่จะทําให้ระบบทาสเสื่อมสลายตัวลง ก็คือพวกนอแมดอารยันที่รุกรานกรีกและอินเดียได้นําระบบประชาธิปไตยของชาติกุลมาใช้แทนระบบราชะ พวกโรมันเองก็เคยได้ใช้ระบบประชาธิปไตยแทนระบบราชะด้วยยุคหนึ่งเช่นกัน เป็นอันว่าระบบราชะถูกขจัดไปชั่วคราว การที่พวกอิสรชนกรีก, โรมันและอินเดียใช้ระบบประชาธิปไตยปกครองพวกเดียวกันเองเช่นนี้ ทําให้พวกทาสเริ่มใฝ่ฝันในอิสรภาพรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะในระบบประชาธิปไตยของอิสรชนนายทาสดังกล่าว พวกทาสไม่มีสิทธิในทางการเมืองเช่นพวกนายทาส พวกทาสจึงพยายามหาทางปลดแอกตนเองอยู่เสมอ การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างนายทาสกับทาสอันยืดเยื้อและรุนแรง ทําให้พวกนายทาสต้องผ่อนคลายการขูดรีดลง ระบบผลิตแต่เดิมที่ไม่อนุญาตให้ทาสมีทรัพย์สมบัติส่วนตัวได้ก็ค่อยคลายความเข้มงวดลง ทาสเริ่มมีทรัพย์สินส่วนตัวได้บ้าง

อีกประการหนึ่ง การผลิตของระบบทาสได้พัฒนามาจนสุดยอด และในที่สุดก็ถึงขั้นชะงักงัน ทั้งนี้เพราะทาสไม่มีแก่ใจผลิต หรือปรับปรุงเทคนิคการผลิตให้ดีขึ้น พวกทาสเห็นว่าความพยายามของตนที่จะพัฒนาเทคนิคเป็นความพยายามที่ไร้ผลตอบแทน สิ่งที่จะได้รับก็คือเลือดและความทุกข์ยากเช่นเดิม เหตุนี้ทําให้นายทาสเริ่มหาวิธีแก้ไข จุดประสงค์ในการแก้ไขของนายทาสก็คือ

๑. ผ่อนคลายความเคียดแค้นของพวกทาส ล่อหลอกเอาใจให้พวกทาสลืมการต่อสู้

๒. เพื่อให้พวกทาสพัฒนาการผลิตให้ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่งซึ่งวิธีนี้ตนก็จะได้รับผลประโยชน์มากขี้นกว่าเดิม

วิธีแก้ไขก็คือ เริ่มปูนบําเหน็จทาสที่ทํางานดีโดยมอบที่ดินและปัจจัยในการผลิตอื่นๆ ให้เป็นสมบัติของทาสและพร้อมกันนั้นก็ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท คือเป็นอิสรชน แต่ยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่บนผืนดินนั้นโยกย้ายไม่ได้ ต้องขึ้นทะเบียนเข้าสังกัดของนายทาสเดิมต่อไป ผลิตผลที่ได้เป็นกรรมสิทธิของทาส แต่ทาสจะต้องส่งส่วยหรือผลประโยชน์ให้แก่นายเก่าเป็นการตอบแทนเสมอไปตามอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งอาจจะเป็น ๕๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนายทาสมีงานการพิเศษก็จะต้องมาลงแรงช่วยงานด้วย ดังนี้ความสัมพันธ์ในการผลิตจึงเปลี่ยนไปจากเดิม นั่นคือเริ่มมีอิสรชนที่ทํางานอิสระด้วยตนเอง แต่ส่งส่วยเป็นค่าเช่าที่ดินให้เจ้าขุนมูลนายผู้เป็นเจ้าของปัจจัยแห่งการผลิต (คือที่ดิน) นี่คือระบบไพร่และเลก เมื่อที่ดินกลายเป็นปัจจัยแห่งการผลิตที่เด่นขึ้น อิสรชนกับนายทาสสัมพันธ์กันโดยมีที่ดินเป็นสื่อกลาง มิใช่สัมพันธ์กันทางตัวบุคคลเช่นที่เป็นมา ความสัมพันธ์ในการผลิตแบบศักดินาจึงได้เริ่มฟักตัวขึ้นในปลายระบบทาส และเมื่ออิสรชนได้ครอบครองผืนดินมานาน จนผืนดินนั้นขาดจากกรรมสิทธิของนายทาส กลายเป็นกรรมสิทธิของอิสรชนเอง (โดยเหตุใดเหตุหนึ่ง) ระบบการผลิตเอกระของชาวนาก็เกิดขึ้น อันเป็นการก้าวไปสู่ระบบผลิตศักดินาในที่สุด

สาเหตุสุดท้ายของการสลายตัวแห่งระบบทาสก็คือการรุกรานของพวกเยอรมันกับพวกสแกนดิเนเวียนครั้งใหญ่เมื่อราว ค.ศ. ๑๐๐๐ ที่เรียกกันว่า การรุกรานของพวกอนารยชน การรุกรานของพวกนี้ ได้สกัดกั้นการแผ่อำนาจของรัฐทาสทั้งมวลในยุโรปไว้ และท้ายที่สุดก็ได้ทําลายรัฐทาสลงได้โดยเด็ดขาด พวกนายทาสที่ถูกฆ่าตายบ้าง หนีหายไปบ้าง ที่รัฐทาสทลายลงโดยง่ายเช่นนี้ ก็เพราะพวกนายทาสที่เป็นชนชั้นปกครองและเป็นนักรบมัวเมาระเริงสุขอยู่กับชีวิตอันฟุ้เฟ้อเหลวแหลกและกามารมณ์จนกําลังในการต่อสู้ลดถอยลง เสรีชนที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้ปกป้องรัฐทาสมีจํานวนน้อย ทางพวกทาสก็ไม่ยินดีจะปกป้องรัฐของนายทาส เพราะถ้าปกป้องไว้ก็เท่ากับช่วยรักษาการขูดรีดและแอกอันหนักอึ้งบนบ่าของตนไว้นั่นเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คงเป็นรอยเดียวกับการพังทลายของอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕ โดยการโจมตีของกองทัพไทย นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ที่เมืองนครธมอันมีกําแพงศิลาสูงตระหง่านล้อมรอบด้านละ ๔ กิโลเมตร มีเนื้อที่ภายในกําแพงเมืองถึง ๑๖ ตารางกิโลเมตร ต้องแตกในครั้งนั้นมิใช่ฝีมือกองทัพไทยฝ่ายเดียว หากเป็นเพราะฝีมือพวกทาสและประชาชนเขมรที่ถูกกดขี่โดยชนชั้นปกครองมานมนานและปรารถนาจะปลดแอกตนเองด้วย และแน่นอน กองทัพไทยก็คงใช้สงครามจิตวิทยาโดยประกาศว่า "ชาติเขมรชาติไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน" หรือ "เจ้าไทยใจดีกว่าเจ้าเขมร" หรือไม่ก็ "ไทยมาช่วยพี่น้องชาวเขมรปลดแอก" อะไรทํานองนี้ เหมือนกับที่เราเคยใช้ในครั้งศึกอินโดจีนและเหมือนกับที่ญี่ปุ่นเคยใช้เมื่อบุกประเทศไทย คือใช้ว่า "ญี่ปุ่นช่วยไทยปลดแอกเอเซียจากอังกฤษ" อะไรทํานองนี้ด้วย

เมื่อรัฐทาสทลายลงแล้ว ทาสก็กลายเป็นเสรีชนที่ทํางานอยู่บนผืนดินซึ่งตกมาเป็นกรรมสิทธิของตน พวกเสรีชนเหล่านี้ เมื่อได้อาศัยกําลังของอนารยชนทลายรัฐทาสแล้ว ก็คิดอ่านกําจัดอิทธิพลของพวกอนารยชนอันนี้ เช่นเดียวกับประชาชนเขมร เมื่ออาศัยกองทัพไทยช่วยทลายรัฐทรราชลงแล้วก็หาทางกําจัดอิทธิพลของไทยต่อไป ทั้งนี้ จะเห็นได้จากเมื่อคราวสมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปโจมตีได้เมืองนครธมในปีพ.ศ. ๑๙๓๖ จับอุปราชซึ่งเป็นลูกเจ้าแผ่นดินเขมรได้ เป็นอันว่าอํานาจของเจ้านายเขมรผู้ที่เคยทารุณประชาชนเขมรสูญสิ้นลง แต่ทางไทยก็ตั้งพระยาไชยณรงค์ขึ้นเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ประชาชนเขมรจึงต้องเผชิญกับผู้ขูดรีดคนใหม่และคอยหาทางสลัดแอกอยู่ตลอดเวลง พอพวกญวนยกกองทัพมารบ พวกเขมรก็พากันอาศัยความขัดแย้งระหว่างไทยกับญวนในการปลดจากการขูดรีดของไทยโดยหันไปสร้างแนวร่วมกับญวน พระยาไชยณรงค์คุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่ ในที่สุดก็ได้รับคําสั่งจากอยุธยาให้ทิ้งเมืองเขมร ถึงในสมัยต่อมาคือในรัชกาลพระบรมราชาที่ ๒ กษัตริย์ไทยจะยกกองทัพไปยึดเมืองนครธมไว้ได้อีก (พ.ศ. ๑๙๗๕) แต่พระอินทรราชาโอรสของพระบรมราชาที่ ๒ ที่ออกไปปกครองเมืองเขมรในฐานะผู้พิชิตและขูดรีดคนใหม่ก็เชื่อกันว่าถูกพวกเขมรลอบปลงเสียในที่สุด

พวกเสรีชนของยุโรปที่คิดจะขจัดและป้องกันอิทธิพลของอนารยชนนี้ มิได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นบ้านเมืองหรือรัฐอย่างมีระเบียบ การป้องกันตนเองจึงไม่มีผลชะงัด ทางออกของพวกเสรีชนก็คือหันเข้าพึ่งผู้ที่มีกำลังและมั่งคั่ง มีป้อมปราการ (Chateau fort) มั่นคงทั้งนี้ เพราะพวกเขายังคงยึดมั่นในการพึ่งพาตัวบุคคล ยังมิได้คิดพึ่งกำลังของตนเองร่วมกันเช่นกรรมาชีพในยุคทุนนิยม!

เมื่อพวกเสรีชนเข้ามาพึ่งพาใบบุญของเจ้านายผู้มีป้อมปราการ ความสัมพันธ์ใหม่ก็เกิดขึ้น นั่นคือ พวกเสรีชนต้องส่งผลิตผลและส่วยให้แก่เจ้านาย, ต้องออกแรงช่วยเจ้านายสร้างป้อมปราการ และช่วยเจ้านายทําไร่ไถนา (นั่นคือระบบงานเกณฑ์) ทั้งนี้ เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนบุญคุณที่เจ้านายช่วยพิทักษ์ความปลอดภัย ความจริงแล้วเจ้านายก็หาได้พิทักษ์ความปลอดภัยให้โดยตรงไม่ เพราะเมื่อมีการรุกรานพวกเจ้านายก็เกณฑ์เสรีชนเหล่านั้นนั่นเองไปช่วยกันปกป้อง เช่น หมู่บ้านอำแดงสีถูกรุกราน เจ้านายก็เกณฑ์กำลังของหมู่บ้านอำแดงอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ความพิทักษ์ของตนไปช่วยป้องกันอำแดงสี เจ้านายผู้เป็นเจ้าของป้อมเป็นเพียงผู้นำเท่านั้น ที่พิเศษอยู่หน่อยก็ตรงที่ป้อมของเจ้านายนั้นใหญ่โต ถ้าเกิดศึกใหญ่ พวกเสรีชนก็อพยพผู้คนเข้าไปหลบภัยได้เท่านั้น นี่ก็คือธรรมเนียมการอพยพคนเข้าเมืองเวลามีศึกของยุคศักดินา

โดยลักษณะนี้ พวกเสรีชนที่ทํางานบนผืนดินโดยรอบป้อมปราการก็กลายเป็นคนในสังกัดของเจ้าของป้อม เมื่อเปลี่ยนตัวเจ้าของป้อม พวกเสรีชนก็เปลี่ยนนายใหม่ มีหน้าที่จัดส่งส่วยให้เจ้านายในป้อมเช่นเดิมต่อไป สภาพของพวกนี้ก็เลยกลายเป็นคนทํางานบนผืนดินอันอยู่ในอำนาจของเจ้านาย นั่นก็คือมีสภาพเป็นทาสกสิกร หรือ เลก (Serf) ต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนในสังกัด ย้ายสังกัดไม่ได้ ย้ายที่ทํากินก็ไม่ได้ การขูดรีดจึงกลายเป็นการขูดรีดระหว่างเจ้านาย คือ เจ้าขุนมูลนายกับทาสกสิกรหรือเลก พวกเลกแม้จะถูกขูดรีดอย่างหนักแต่ก็ยังเป็นไทแก่ตัว พวกเจ้าขุนมูลนายจะขายจะฆ่าจะข่มเหงดังยุคทาสไม่ได้ นี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าของสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นลักษณะอันก้าวหน้าของระบบศักดินาที่สถาปนาขึ้นใหม่นั่นเอง ยิ่งกว่านั้นพวกเลกยังต่างจากทาสที่มีเครื่องมือในการทํามาหากินเป็นของตนเอง สามารถสะสมผลิตผลของตนเองได้ ทําให้มีจิตใจในการผลิตมากขึ้น การผลิตและเทคนิคจึงพัฒนาไปได้อีกระดับหนึ่ง ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นที่ว่าด้วยลักษณะของระบบเศรษฐกิจศักดินา

การแผ่ขยายเขตแดนของพวกเจ้าขุนมูลนาย ทําให้เกิดชาวนาขึ้นอีกประเภทหนึ่งคือชาวนาที่มีที่นาของตนเองเป็นอิสระ และเสียผลิตผลเป็นอัตราภาษีให้แก่เจ้าขุนมูลนาย ที่ดินของเจ้าขุนมูลนายบางผืนก็แบ่งออกให้คนเช่าทํามาหากิน โดยเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตกลงกัน ระบบผลิตศักดินาจึงพัฒนาถึงขั้นสมบูรณ์คือมีครบทั้งเลกทั้งชาวนาเอกระ (ทํานาของตนเอง) และชาวนาเช่าที่ และนอกจากนี้ ยังมีเสรีชนที่ไม่มีที่ดินใช้แรงกายเข้ารับจ้างทํานาอีกพวกหนึ่งอันเป็นชาวนาลูกจ้าง

พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้แหละคือเจ้าขุนมูลนายของระบบศักดินาที่เรียกกันว่า Feudal Lords พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ขนาดย่อม ต้องหันเข้าไปพึ่งใบบุญเจ้าขุนมูลนายที่ใหญ่โตกว่าขึ้นไป เจ้าขุนมูลนายที่โตกว่าขึ้นไปก็ต้องหันเข้าพึ่งเจ้าขุนมูลนายชั้นที่โตกว่าขึ้นไปเป็นทอดๆ ที่ว่าพึ่งนี้ มิใช่อยู่ดีๆ ก็หันไปพึ่งกันง่ายๆ หากต้องพึ่งเพราะหวาดกลัวว่า ถ้าเฉยอยู่เจ้าขุนมูลนายที่เข้มแข็งกว่าจะรุกรานเอา เรียกว่าพวกเหล่านี้ถูกอํานาจรุกรานเอาโดยตรงบ้าง ถูกกลิ่นอายของอํานาจบาตรใหญ่ข่มขู่ให้หวาดกลัวบ้าง ในที่สุดก็ต้องรวมกับเจ้าขุนมูลนายใหญ่ที่สุดอันได้แต่ราชะหรือกษัตริย์

แรกๆ พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ ก็ยังคงเกะกะระรานไม่ค่อยอ่อนน้อมค้อมหัวให้แก่ราชะนัก เพราะต่างก็เป็นเจ้าที่ดินใหญ่ๆ กันทั้งนั้น การกระทําใดๆ ของราชะที่ขัดกับผลประโยชน์ของตน ตนก็ขัดขืนท้าทาย ท้ายที่สุดราชะก็เลยรวบอํานาจริบที่ดินเป็นของราชะเสีย แล้วประทานให้ข้าราชบริพาร หรือเจ้าขุนมูลนายคนสนิทคนซื่อสัตย์ไปปกครอง จึงเกิดเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ขึ้น พวกเจ้าขุนมูลนายที่ได้รับมอบที่ดินไปจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคําบัญชาของราชะอย่างไม่มีข้อแม้ ตัวอย่างของผู้ที่ใช้วิธีนี้ ก็คือพระเจ้าวิลเลียมพิชิตราชแห่งนอมันดี (William the Conqueror)

ที่ดินที่ราชะมอบให้แก่คนหนึ่งๆ ไปครองนั้นเรียกว่า Fief หรือ Feud ค้านี้ มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินยุคหลังว่า Feodum แปลว่าผืนดินที่ใหูไปท้ากินโดยตูองส่งค่าเช่า นี้แหละเป็นตูนก้าเนิดของค้าว่า Fee ในภาษาอังกฤษอันแปลว่าค่าเช่า และเป็นต้นกำเนิดของคำว่า Feudalism อันเป็นชื่อของระบบศักดินาภาษาอังกฤษ และ Féodalisme ของภาษาฝรั่งเศส๑๐

ในสมัยแรกของระบบศักดินาในยุโรป ที่ดินที่มอบให้เจ้าขุนมูลนายย่อยไปดูแลทํามาหากินนั้น เรียกว่า Benefice ซึ่งแปลว่า "พระมหากรุณา" หรือ "ผลประโยชน์อันเก็บจากที่ดิน" แต่ต่อมาในชั้นหลังเมื่อที่ดินนั้นตกทอดเป็นมรดกสืบสกุล จึงเปลี่ยนมาเรียกเสียใหม่ว่า Fief หรือ Feud ดังกล่าว ส่วนเจ้าขุนมูลนาย ที่ได้รับที่ดินไปนั้น เรียกกันว่า Vassal คือสามนตราชหรือ Feudal Lords คือเจ้าขุนมูลนาย เจ้าแผ่นดินใหญ่ผู้ประทานที่ดินนั้น เรียกกันว่า Suzerain อันแปลได้ว่า "อธิราช" ที่ดินที่พวกสามนตราชหรือ Vassal รับพระราชทานไปนั้น ส่วนหนึ่งจะสงวนไว้ให้ทาสอันเป็นซากเดนของสังคมทาส ทําไร่ไถนาส่งผลประโยชน์ทั้งมวลแก่ตน ส่วนหนึ่งกําหนดให้พวกเลกหรือไพร่ทํางานส่งส่วยให้ตน บางส่วนก็ให้เสรีชนเช่าทํามาหากิน บางส่วนก็ประทานต่อไปให้เสรีชนที่มีความดีความชอบประกอบการทํามาหากิน เป็นชาวนาเอกระ ชาวนาเอกระที่เกิดล้มละลายด้วยหนี้ สิน ต้องขายตัวเป็นทาส อาจขายที่ดินของตนให้ชาวนาเอกระคนอื่นๆ ในที่สุดชาวนาเอกระที่รับซื้อหรือบังคับซื้อที่ดิน ก็กลายเป็นเจ้าที่ดิน (Landlord) ขึ้นมา ชนชั้นเจ้าที่ดินจึงเพิ่มปริมาณขึ้นด้วยความล้มละลายฉิบหายของพวกชาวนาเอกระ และขณะเดียวกัน อาณาเขตของพวกสามนตราชก็แบ่งแยกซอยเป็นผืนดินขนาดเล็กกระจายออกไปทุกขณะ ความจริงข้อที่ผืนดินของสามนตราชกระจายออกไป และเกิดเจ้าที่ดินขนาดกลางเพิ่มขึ้นนี้ จะเห็นได้จากประเทศบราซิลในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อโปรตุเกสใช้ลัทธิอาณานิคมเข้าครอบครอง (ค.ศ. ๑๕๓๔) นั้น บราซิลถูกแบ่งแยกออกเป็นอาณาเขตของสามนตราชเพียง ๑๓ ส่วนใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ละส่วนยาวเลียบฝั่งสมุทรอัตลันติคเป็นระยะเฉลี่ยถึง ๒๐๐ ไมล์ ผู้ครอบครองแต่ละส่วนก็คือเจ้าขุนมูลนาย ที่เรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Donatarios๑๑ แต่ต่อๆ มาที่ดินนั้นก็แบ่งกระจายออก แต่กระนั้นก็ยังใหญ่โตมโหฬาร เจ้าที่ดินโปรตุเกสคนหนึ่งๆ มีที่ดินในครอบครองขนาดโตกว่าประเทศโปรตุเกสเองด้วยซ้ำ ครั้นพอถึงศตวรรษที่ ๑๘ ที่ดินก็กระจายออกจนเป็นส่วนย่อย มีเจ้าที่ดินขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น เช่นในจังหวัดสําคัญของรัฐ Rio Grande do Sul เพียงจังหวัดเดียว มีเจ้าที่ดินครอบครองถึง ๕๓๙ คน แต่ละคนครอบครองที่ดินจาก ๑๘,๐๐๐-๙๐,๐๐๐ เอเคอร์๑๒ ที่ St. Lawrence ในคานาดาอันเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและที่อื่นๆ ก็มีปรากฏการณ์อันยกเป็นตัวอย่างได้เช่นเดียวกัน๑๓

โดยมีการกระจายของที่ดินเช่นนี้ ทําให้พวกสามนตราช (Vassal) กลายมาเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยในชั้นหลังไม่มีอํานาจยโสโอหังเหมือนตอนแรกๆ ทั้งนี้ ก็เพราะที่ดินในอํานาจของตนลดน้อยลง พวกสามนตราชที่กลายมาเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยนี้ เรียกกันว่า Liegeman ซึ่งแปลว่า "ผู้ซื่อสัตย์" หรือ "ผู้รับใช้นาย" ส่วนกษัตริย์ที่เรียกว่า Suzerain (อธิราช) ก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Liegelord อันแปลว่า "เจ้านายผู้ใหญ่" เป็นคู่กัน

ในการมอบที่ดินและรับมอบที่ดินนั้น มีพิธีอยู่ ๒ พิธี พิธีแรกเรียกว่า Investiture อันแปลว่า "การมอบสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน" พิธีนี้ เป็นพิธีที่กษัตริย์ทําเพื่อมอบที่ดินให้พวกสามนตราชไปทํามาหากิน ในพิธีนี้ กษัตริย์จะให้คําสัญญาว่าจะคุ้มกันภัยให้เสมอไป ส่วนอีกพิธีหนึ่งเรียกว่าพิธี Homage๑๔ อันแปลว่า "การเคารพนบนอบและรู้จักบุคคลผู้เป็นนาย" พิธีนี้เป็นพิธีที่สามนตราช (Vassal) กระทําต่อกษัตริย์ ในพิธีนี้กษัตริย์จะประชุมบริวารของตนมาเป็นองค์พยาน สามนตราชผู้จะได้รับมอบที่ดินจะต้องคุกเข่าลงท่ามกลางข้าราชบริพาร ประสานมือของตนวางลงบนมือของกษัตริย์ แล้วให้สัตย์สาบานว่าตนจะซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์ตลอดไป ฝ่ายกษัตริย์จะมอบธง ไม้เท้าอาญาสิทธิ์และโฉนดที่ดิน หรือไม่ก็กิ่งไม้หรือก้อนดินให้แก่สามนตราชเป็นเครื่องหมายสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตนมอบให้ พิธีนี้ก็ลงเป็นรอยเดียวกับพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสาบานตัวของเจ้าเมืองและข้าราชการในเมืองไทย ไม้เท้าอาญาสิทธินั้นในเมืองไทย เขมรและลาวใช้ดาบเรียกว่า พระแสงอาญาสิทธิ์ (ซึ่งได้ฟื้นฟูขึ้นใช้อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ห้าในการตั้งอุปราชครองมณฑล) ในสมัยโบราณทีเดียวดาบที่ให้นี้ เรียกกันว่า "พระแสงขรรค์ชัยศรี" ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นของคู่บารมีกษัตริย์แต่ผู้เดียว ปัญหานี้จะกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนต่อไป

หน้าที่ของกษัตริย์ที่มีต่อสามนตราชนั้น ยังมีอีกประการหนึ่ง คือให้ความยุติธรรมแก่พวกสามนตราชในคราวที่เกิดกรณีพิพาทหรือสามนตราชตกลงกันไม่ได้ก็จะมาพึ่งศาลของกษัตริย์อันเป็น ศาลสูงสุด (ฎีกา) ส่วนสามนตราชก็ต้องรับใช้กษัตริย์ทั้งกิจการภายในและภายนอก รวมทั้งการออกศึกสงคราม บางคราวก็ต้องเสียเงินทองช่วยกิจการพิเศษอื่นๆ เช่น

๑. ถ้ากษัตริย์ถูกจับยามสงคราม พวกสามนตราชก็ต้องรวบรวมเงินไปไถ่ตัวกษัตริย์คืนมา

๒. เมื่อลูกชายคนโตของกษัตริย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน (Knight) พวกสามนตราชก็ต้องออกเงินช่วยเป็นของขวัญบรรณาการ

๓. เมื่อลูกสาวคนโตของกษัตริย์แต่งงานก็ต้องช่วยเงินเป็นบรรณาการของขวัญ

ในยุคศักดินานี้ มีลัทธิใหม่เกิดขึ้นลัทธิหนึ่ง นั่นคือ ลัทธิอัศวิน (Chivalry)๑๕ ลัทธินี้มุ่งอบรมคนให้เป็นนักรบผู้ซื่อสัตย์และสามารถของกษัตริย์ อัศวิน (Knight) ทุกคนจะต้องฝึกฝนมาแต่ยังเยาว์เพื่อให้กล้าหาญ, อดทน, ซื่อสัตย์ มีระเบียบและพร้อมที่จะตายแทน "เจ้าชีวิต" ลัทธิอัศวินนี้ ถ้าในประเทศญี่ปุ่นก็เรียกว่า "ลัทธิบูชิโด" อัศวินของญี่ปุ่นเรียกว่า "ซามูไร"๑๖ ในเมืองไทยก็มี "ลัทธิขุนศึก" หรือ "ทหารเสือ" ปัญหานี้จะกล่าวต่อไปในตอนที่ว่าด้วยศักดินาของไทย

คราวนี้ก็มาถึงชีวิตของพวกทาสกสิกร หรือเลกและไพร่ของศักดินาในยุโรป พวกนี้ได้รับสิทธิเสรีมากขึ้นดังกล่าวแล้วตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ดี ต่อๆ มาพวกนี้ ก็ถูกขูดรีดอย่างหนักหน่วงขึ้นทุกขณะ จะขอยกตัวอย่างพวกทาสกสิกรในฝรั่งเศส พวกนี้โดยปรกติต้องเป็นทาสทางการเงินของชนชั้นศักดินา นั่นคือเป็นหนี้เป็นสินรุงรัง ต้นทบดอก ดอกทบต้น ยุ่งเหยิงจนปลดหนึ้ไม่หลุด นอกจากนี้ ยังต้องเสียภาษีโดยตรง (Taille) ภาษีทางอ้อม (เช่น Gabelle - ภาษีเกลือ) ทั้งสองอย่างนี้เสียให้แก่รัฐ นอกจากเสียให้แก่รัฐแล้วยังต้อง เสียภาษีที่เรียกว่า Cens (เงินกินเปล่าเป็นส่วยประจําปี) Champart (ส่วนแบ่งของผลิตผลในไร่นา) และภาษียุบยิบอื่นๆ อีกหลายอย่างให้แก่เจ้าขุนมูลนายของตน ถัดมาก็ต้องเสียภาษีที่ดิน (Banalités) ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการใช้โรงสีและเครื่องมืออื่นๆ ของเจ้านาย ครั้นจะโยกย้ายกรรมสิทธิที่ดินกันสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องเสียค่าโยกย้ายกรรมสิทธิ (Lods et ventes) นอกจากนั้นก็ต้องเสียภาษีจุกจิกที่เรียกว่า Taine และท้ายสุดก็ต้องเสียเงินบํารุงวัด (เรียกว่า Tithes) สรุปแล้วคํานวณได้ว่าในเงินที่ชาวนาหาได้ ๑๐๐ ฟรังก์ จะต้องเสียให้แก่รัฐเสีย ๕๓ ฟรังก์ ให้แก่เจ้านายของตน ๑๔ ฟรังก์ ให้แก่วัดอีก ๑๔ ฟรังก์ ชาวนาเหลือเป็นรายได้สุทธิเพียง ๑๙ ฟรังก์เท่านั้น

นี่คือภาษีที่ทาสกสิกรชาวฝรั่งเศสต้องเสียให้แก่รัฐ เจ้านายและวัดในสมัยก่อนหน้าการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลางเมื่อปี ๑๗๘๙!

เท่านั้นยังไม่พอ พวกทาสกสิกรและชาวนายังจะต้องยินยอมให้สุนัขล่าเนื้อ นกพิราบและกองล่าสัตว์ของเจ้าขุนมูลนายเหยียบย่ำตะลุยไปบนพื้นที่เพาะปลูกของตนที่กําลังงอกงามจนฉิบหายวอดวายไปเป็นแถบๆ อีกด้วย! พวกทาสกสิกรเหล่านี้จะเดือดร้อนกันทั่วไปทั้งประเทศหรือไม่ เราอาจจะคํานวณดูได้ว่าที่ดินทั้งประเทศฝรั่งเศส มีที่ตกเป็นของเจ้าขุนมูลนายเสียถึงสองในสาม มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่เป็นของชาวนาเอกระที่ทํามาหากินโดยที่นาผืนย่อมๆ ของตนเอง ประชาชนที่เดือดร้อนเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปถึงสองในสามของประเทศฝรั่งเศสทีเดียว นี่เป็นการสํารวจของ Arthur Young ก่อนหน้าการปฏิวัติใหญ่ ๑๗๘๙ และเป็นสภาพที่นับกันว่าดีขึ้นมากแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ขึ้นไปมีชาวนาที่ทํานาของตนเป็นจํานวนน้อยเต็มที!๑๗

นั่นคือสภาพในยุโรป

ทางเอเซียเล่า สภาพของพวกทาสกสิกรก็เช่นเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน ทั้งนี้ เพราะมันเป็นสภาพสากลของระบบศักดินา

ขอยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นในราว ค.ศ. ๑๖๐๐ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของศักดินา ยุคนั้นโชกุนขุนนางผู้ทรงอิทธิพลเป็นผู้แจกจ่ายที่ดินให้แต่เจ้าขุนมูลนายและบริวารของตนไปทํามาหากิน

"ราษฎรพลเมืองในครั้งนี้ ถูกกดขี่ให้อยู่ในฐานะอันเลวทรามยิ่ง ที่ดินทุกหัวเมืองตลอดทั้งพระราชอาณาจักรล้วนเป็นทรัพย์สมบัติของโชกุนและของพวกดาอิมิโอทั้งนั้น๑๘ ชาวนาหรือชาวนอกเมืองต้องขอเช่าจากเขา และต้องส่งส่วยอย่างแรงจากผลที่ได้จากท้องที่ที่ตนเช่าเขามาด้วย ราษฎรชาวเมือง พวกนายช่าง, พ่อค้า, ยิ่งเลวทรามลงไปอีก แต่ทั้งชาวนาในเมืองหรือนอกเมืองก็หาใช่ทาสของใครไม่ เป็นแต่มีผลประโยชน์และความชอบธรรมน้อย และเกือบจะไม่มีความอิสรภาพเลยทีเดียว"๑๙

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วค่อนข้างจะยืดยาวทั้งหมดนี้คงจะพอเป็นพื้นฐานของความเข้าใจได้แล้วว่า ระบบศักดินามีกําเนิดขึ้นได้อย่างไร มีสภาพคร่าวๆ เช่นไร มีความก้าวหน้าและคุณประโยชน์แก่การผลิตและชีวิตของมนุษยชาติอย่างไร ตลอดจนมีความชะงักงันถอยหลังเป็นผลร้ายต่อสวัสดิภาพและการผลิตของสังคมมนุษย์อย่างไร

สิ่งที่จําต้องตระหนักและยึดมั่นเสมอไปในการศึกษาระบบศักดินาก็คือ

๑. ในยุคต้น มันได้ปลดปล่อยทาสให้หลุดพ้นออกมาเป็นเสรีชน แม้ชั้นต่ำที่สุดจะเป็นเสรีชนแบบเลกและไพร่ มันก็ยังมีส่วนก้าวหน้ากว่าระบบทาส

๒. การพัฒนาขั้นสุดยอดของมันเป็นการพัฒนาการผลิตให้ก้าวหน้ากว่าเดิม ทําให้ระบบของเทคนิคในการผลิตก้าวหน้าและประณีตขึ้น ทําให้เกิดการประสานงานระหว่างกสิกรรมและหัตถกรรมในครัวเรือน ทําให้เกิดระบบผลิตเอกระอันเป็นผลดีในการผลิตของสังคมระดับหนึ่ง และทําให้เกิดการพัฒนาทางหัตถกรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าอันเป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่ระบบทุนนิยม

๓. พัฒนาการในขั้นสุดท้ายของมัน ทําให้การผลิตชะงักงันลง การเกษตรล้าหลัง และการขูดรีดระหว่างชนชั้นของมันทําให้เกิดผลเสียและความทุกข์ยากต่อสวัสดิภาพของประชาชน

โดยการยึดหลักสามประการนี้ การศึกษาระบบศักดินาจึงจะสมบูรณ์ การมองเห็นแต่คุณประโยชน์ของระบบศักดินาเพียงด้านเดียวหรือมองเห็นแต่ผลเสียของระบบศักดินาแต่ด้านเดียว หาใช่การศึกษาที่ถูกต้องไม่ และถ้าทําเช่นนั้นการศึกษาระบบศักดินาย่อมจะไม่สมบูรณ์เลยโดยเด็ดขาด!