ข้ามไปเนื้อหา

นิทานโบรานคดี/นิทานที่ 9

จาก วิกิซอร์ซ
นิทานที่ 9
เรื่องหนังสือหอหลวง

(1)

หอหลวงเปนที่เก็บรักสาหนังสือซึ่งเปนแบบฉบับ ตำหรับตำรา และจดหมายเหตุราชการบ้านเมือง (ที่เรียกว่า "หอหลวง" เห็นจะเปนคำย่อมาแต่ "หอหนังสือหลวง") มีไนพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงสรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็มีหอหลวงหยู่ที่ไนพระราชวังเช่นเดียวกัน ฉันเคยเห็น เปนตึกชั้นเดียวหลังหนึ่งหยู่ริมถนนตรงหน้าพระที่นั่งอมรินทวินิจฉัย ยังมีรูปภาพตึกนั้นเขียนไว้ไนพระวิหารหลวงวัดราชประดิถฯ (ห้องที่เขียนการพิธีทำขนมเบื้องเลี้ยงพระ) อาลักสน์เปนพนักงานรักสาหนังสือหอหลวง จึงทำการของกรมอาลักสน์ที่ตึกนั้นด้วย เปนเหตุไห้คนทั้งหลายเรียกตึกนั้นว่า "ห้องอาลักสน์" ด้วยอีกหย่างหนึ่ง

ไนรัชกาลที่ 5 (ดูเหมือนไนปีชวด พ.ส. 2419) เมื่อส้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดไห้รื้อตึกหอหลวงกับตึกสำหรับราชการกรมอื่น ๆ ที่รายเรียงหยู่แถวเดียวกันลง เพื่อจะส้างไหม่ไห้งามสมกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ไนเวลารื้อตึกส้างไหม่นั้น จำต้องย้ายของต่าง ๆ อันเคยหยู่ไนตึกแถวนั้นไปไว้ที่อื่น สมัยนั้น กรมหลวงบดินทไพสาลโสภนยังดำรงพระยสเปนกรมหมื่นอักสรสารโสภน ซงบันชาการกรมอาลักสน์ หาที่อื่นเก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้ จึงไห้ขนเอาไปรักสาไว้ที่วังของท่านอันหยู่ต่อเขตวัดพระเชตุพนฯ ไปข้างไต้ หนังสือหอหลวงก็ไปหยู่ที่วังกรมหลวงบดินทฯ แต่นั้นมาหลายปี

(2)

เมื่อ พ.ส. 2424 มีงานฉลองอายุพระนครครบ 100 ปี ไนงานนั้นมีการสแดงพิพิธภันฑ์ เรียกกันไนสมัยนั้นตามภาสาอังกริดว่า "เอ๊กซหิบิเชน" ส้างโรงชั่วคราวเปนบริเวนไหย่ไนท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวดำหรัดชวนพระบรมวงสานุวงส์ และข้าราชการตลอดจนครึหะบดีที่มีไจจะช่วยไห้จัดของต่าง ๆ อันควนอวดความรู้และความคิดกับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งไห้คนดู จัดที่สแดงเปนห้อง ๆ ต่อกันไปตามประเพทสิ่งของ ครั้งนั้น กรมหลวงบดินทฯ ซงรับสแดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดไนหอหลวงที่มีมาแต่โบรานมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ส.ร. กุหลาบ รับอาสาสแดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่งหยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทฯ ด้วยเปนของประเภทเดียวกัน ฉันเคยไปดูทั้ง 2 ห้องและเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น เรื่องประวัติของนายกุหลาบคนนี้กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเปนเสมียนหยู่ไนโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า "เสมียนกุหลาบ" ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ ก็ส้างบ้านเรือนหยู่ริมแม่น้ำข้างไต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเปนผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบรานคดี ได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่น หมายประกาสที่พิมพ์เปนไบปลิว และหนังสือเรื่องต่าง ๆ ที่พิมพ์เปนเล่มสมุดไนรัชกาลที่ 4 รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับสแดงหนังสือฉบับพิมพ์ไนงานครั้งนั้น ก็การสแดงพิพิธภันท์เปิดไห้คนดูหยู่นาน นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวันเพราะห้องหยู่ติดต่อกัน เมื่อได้เห็นหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบรานคดีต่าง ๆ ที่ตัวไม่เคยรู้หยู่เปนอันมาก ก็ติดไจหยากได้สำเนาไว้เปนตำราเรียน จึงตั้งหน้าประจบประแจงกรมหลวงบดินทฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวง จนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทฯ ซงพระเมตตา นายกุหลาบทูนขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัดว่า หนังสือหอหลวงเปนของต้องห้ามมิไห้ไครคัดลอก นายกุหลาบจนไจ จึงคิดทำกลอุบายทูนขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่า พออ่านแล้วจะรีบส่งคืนไนวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทฯ ไม่ซงระแวงก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างพวกทหานมหาดเล็กที่รู้หนังสือเตรียมไว้สองสามคน สมัยนั้น ฉันเปนผู้บังคับการกรมทหานมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่ไปรับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อ นายเมธ

นายเมธนั้นมีชื่อหย่างหนึ่งว่า "เมธะ" และมีส้อยชื่อต่อไปยาว เปนบุตรของจ่าอัสวราช ๆ ตั้งชื่อลูกเปนบทกลอนหย่างแปลกประหลาด ฉันจำได้จึงจดฝากไว้ไห้ผู้อื่นรู้ด้วยไนที่นี้

1.อาทิก่อนแม่ "กลีบ" เรณู

2.เมธะแปลว่ารู้ นาย "เมธ" ปะสิมา

3."กวี" ปรีชาปิยบุตรที่สาม

4."ฉวี" ผิวงามบุตรแม่พริ้มแรกเกิด

5."วรา" ประเสิดที่สองงามสม

6."กำดัด" ซามชมกัลยาลำยอง

7."สาโรจน์" บัวทองพิสพักตรประไพ

8."สุมน" สุมาลัยเยาวลักสน์นารี

9."บรม" แปลว่ามีปรมังลาภา

10."ลิขิต" เลขาบุตรบุตรพัลลภ

11."สุพรรน" วรนพพคุนสริรา

ที่เรียกกันแต่ตามคำที่หมาย "..." ไว้ ลูกผู้ชายรู้หนังสือไทยดีทุกคน

พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียนข้ามฟากไปยังวัดอรุนฯ ตามคำพวกทหานมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ไนพระระเบียง แล้วเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ไห้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกสมุดเอาหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาไห้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกทหานมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัดก็ไม่รู้ว่า นายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหน และจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกแต่ที่รีบคัดไห้หมดเล่มไนวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน แต่ฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาไจไส่ไนสมัยนั้น นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายหย่างนี้มาช้านาน เห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่าง ๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบรานคดี แม้จนพระราชพงสาวดารกรุงรัตนโกสินท์ทั้ง 4 รัชกาลซึ่งพระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวโปรดไห้เจ้าพระยาทิพากรวงส์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดหวาดหวั่นด้วยรู้ตัวว่า ลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่า ถ้าผู้หลักผู้ไหย่ไนราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวนหรือเพิ่มเติมความแซกลงไนสำเนาที่คัดไว้ไห้แปลกจากต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่า เปนหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิไช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องต่าง ๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวงเอาไปทำเปนฉบับขึ้นไหม่จึงมีความที่แซกเข้าไหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง

(3)

ถึง พ.ส. 2426 นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเส็ดแล้วเรื่องหนึ่งส่งไห้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า "คำไห้การขุนหลวงหาวัด" คือ คำไห้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงสรีอยุธยาไปเล่าเรื่องพงสาวดารและขนบทำเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่าย ไครอ่านก็พากันพิสวง ด้วยฉบับเดิมเปนหนังสือซ่อนหยู่ไนหอหลวงลับลี้ไม่มีไครเคยเห็น และไม่มีไครรู้ว่า นายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่า เปนผู้รู้โบรานคดีและมีตำหรับตำรามาก แต่หนังสือเรื่องคำไห้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่นายกุหลาบไห้พิมพ์นั้นมีผู้ชำนาญวรรนคดีสังเกตเห็นว่า มีสำนวนแซกไหม่ปนหยู่ไนนั้น แม้พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวก็ซงสังเกตเห็นเช่นนั้น จึงซงปรารภไนพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ตอนพิธีถือน้ำว่า "แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด (ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกิน จนจับได้ชัดเสียแล้วว่า มีผู้แซกแซมความแต่งขึ้นไหม่ ด้วยเหตุว่า พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้สเด็ดพระราชดำเนินออกไห้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัธนสัจจาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดทำเนียมนี้ขึ้นเมื่อไนรัชกาลที่ 4 ก็เหตุไดไนคำไห้การขุนหลวงหาวัดจึงได้เล่าเหมือนไนรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินท์ จนแต่งตัวแต่งตนและมีสเด็ดโดยขบวนพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลย ดังนี้ ก็เห็นว่า เปนอันชื่อไม่ได้ไนตอนนั้น พึ่งมีปรากตไนฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จิง เมื่อเราได้อ่านซาบความก็จะเปนที่พึงไจเหมือนหนึ่งทองคำเนื้อบริสุทธิ์ซึ่งเกิดจากตำบนบางตะพาน เพราะท่านเปนเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเอง ก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี้เมื่อมีผู้ส่งทองไห้ดูบอกว่า ทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่น ๆ เจือปนมากจนเปนทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจือหยู่บ้างจิง ๆ จะรับได้หรือว่า ทองทั้งก้อนนั้นเปนทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทำลายของแท้ไห้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนั้นก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควนจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เปนที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควนเลยที่ผู้ไดซึ่งรู้สึกตัวว่าเปนผู้ลักหนังสือจะประพรึติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งไดก็หาซาบไม่ แต่เปนของซึ่งไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด" ดังนี้ แต่ก็ยังไม่มีไครรู้ว่า นายกุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหน และต้นฉบับเดิมถ้อยคำสำนวนเปนหย่างไร จนมาถึงรัชกาลที่ 6 ไนเวลาฉันเปนนายกกัมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้หนังสือคำไห้การขุนหลวงหาวัดเปนสมุดไทยมาเมื่อ พ.ส. 2454 อีกฉบับหนึ่ง เดิมเปนของสมเด็ดเจ้าฟ้ากรมสมเด็ดพระบำราบปรปักส์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า "พระราชพงสาวดารแปลจากภาสารามัน" และมีบานแผนกหยู่ข้างต้นว่า พระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวโปรดไห้กรมหลวงวงสาธิราชสนิธซงจัดการแปลหนังสือนั้นเปนภาสาไทย ก็เปนอันได้หลักถานว่า นายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียไหม่เรียกว่า "คำไห้การขุนหลวงหาวัด" เอาหนังสือ 2 ฉบับสองทานกัน ก็เห็นได้ว่า แก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงพระราชปรารภ เมื่อนายกุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำไห้การขุนหลวงหาวัดนั้น ประจวบกับเวลาตั้งกรมโปลิสท้องน้ำซึ่งโปรดไห้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต) เปนผู้บันชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่า นายกุหลาบเปนคนกว้างขวางทางท้องน้ำ และมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตา จึงเอามาตั้งเปน "แอดชุแตนต์" (ยสเสมอนายร้อยเอก) ไนกรมโปลิสท้องน้ำ นายกุหลาบจึงได้เข้าเปนข้าราชการแต่นั้นมา

(4)

สมัยนั้น หอพระสมุดวชิรญานเพิ่งแรกตั้ง (ชั้นเมื่อยังเปนหอพระสมุดของพระโอรสธิดาไนพระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวรวมกันเปนเจ้าของ) นายกุหลาบขอสมัคเข้าเปนสมาชิก เจ้านายที่เปนกัมการซาบกันแต่ว่า นายกุหลาบเปนผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเปนสมาชิกหอพระสมุดฯ ตามประสงค์ ก็มีแก่ไจไห้หนังสือฉบับเขียนต่าง ๆ ที่ได้ลักคัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลงเปนฉบับไหม่เปนของกำนันแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันเปนกัมการหอพระสมุดฯ ก็ไม่เคยเห็นหนังสือไนหอหลวงมาก่อน และไม่รู้ว่า ย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทฯ เปนแต่พิจารนาดูหนังสือที่นายกุหลาบไห้หอพระสมุดฯ เห็นแปลกที่เปนสำนวนเก่าแกมไหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่อง ถามนายกุหลาบว่า ได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาสรีสุนทรฯ (ฟัก) และกรมสมเด็ดพระปรมานุชิตชิโนรส เปนต้น อันจะสืบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่า ที่เปนสำนวนไหม่นั้นน่าจะเปนของนายกุหลาบแซกลงเอง จึงมีความเท็ดหยู่มาก แต่ตอนที่เปนสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯ จึงตรัดเรียกหนังสือพวกนั้นว่า "หนังสือกุ" เพราะจะว่าแท้จิงหรือว่าเท็ดไม่ได้ทั้งสองสถาน กรมพระสมมตฯ ไคร่จะทอดพระเนตรหนังสือพวกนั้นไห้หมด จึงซงผูกพันทางไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนหย่างไม่รู้เท่า นายกุหลาบเข้าไจว่า กรมพระสมมตอมรพันธ์ซงนับถือ ก็เอาหนังสือฉบับที่ทำขึ้นมาถวายทอดพระเนตรจนถึงพงสาวดารกรุงรัตนโกสินท์ (ตอนรัชกาลที่ 3) ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงส์แต่ง ก็หนังสือเรื่องนั้นเปนหนังสือแต่งไหม่ไนรัชกาลที่ 5 สำเนาฉบับเดิมมีหยู่ไนหอพระสมุดฯ เมื่อได้ฉบับของนายกุหลาบมาเอาสอบฉบับเดิมก็จับได้ว่า นายกุหลาบแซกลงตรงไหน ๆ บ้าง กรมพระสมมตฯ กราบทูนสมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงไห้ซงซาบ ดำหรัดเรียกเอาไปทอดพระเนตร ซงจับได้ต่อไปว่า ความที่แซกนั้นนายกุหลาบคัดเอามาจากหนังสือเรื่องไหน ๆ ก็เปนอันรู้ได้แน่ชัดว่า ที่หนังสือฉบับนายกุหลาบผิดกับฉบับเดิม เปนเพราะนายกุหลาบแก้ไขแซกลงทั้งนั้น สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซง "มันไส้" ถึงเขียนลายพระราชหัถเลขาลงไนต้นฉบับของนายกุหลาบ ซงชี้ไห้เห็นตรงที่แซกบ้าง บางแห่งก็ซงเขียนเปนคำล้อเลียนหรือคำบริพาสแซกลงบ้าง แล้วพระราชทานคืนออกมายังกรมพระสมมตฯ ๆ ต้องไห้อาลักสน์เขียนตามฉบับของนายกุหลาบขึ้นไหม่ส่งคืนไปไห้เจ้าของ เอาหนังสือของนายกุหลาบที่มีลายพระราชหัถเลขารักสาไว้ไนหอพระสมุดวชิรญานจนบัดนี้

(5)

ต่อมา นายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนต์) โปลิสท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญานไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสารเรียกชื่อว่า "สยามประเภท" เหมือนหย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ "วชิรญาน" ทำเปนเล่มสมุดออกขายเปนรายเดือน เอาเรื่องต่าง ๆ ที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้นพิมพ์ไนหนังสือสยามประเพท และเขียนคำอธิบายปดว่า ได้ฉบับมาจากไหน ๆ ไปต่าง ๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทฯ นั้นมิได้ออกพระนามไห้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อ ก็นับถือนายกุหลาบถึงเรียกกันว่า "อาจารย์กุหลาบ" ก็มี ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อนายกุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง ก็ต้องแต่งเรื่องต่าง ๆ แต่โดยเดาขึ้นไนหนังสือสยามประเภท แต่อ้างว่า เปนเรื่องพงสาวดารแท้จิง แต่ก็ยังไม่มีไครทักท้วงประการได ๆ จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงสาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียแก่กรุงสรีอยุธยาพิมพ์ลงไนหนังสือสยามประเภทว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินซงพระนามว่า "พระปิ่นเกส" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสซงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกส" เสวยราชย์ ไม่มีความสามาถ จึงเสียบ้านเมือง สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น ตรัดว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็ดแต่งลวงว่าเปนความจิงก็ไม่ดีหยู่แล้ว ซ้ำบังอาดเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเปนพระปิ่นเกสและพระจุลปิ่นเกสเทียบเคียงไส่โทสเอาตามไจ เกินสิทธิไนการแต่งหนังสือ จึงโปรดไห้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ สุทัสน์) เมื่อยังเปนที่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งไห้ส่งต้นตำราเรื่องพงสาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวด นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่า ตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าหยู่หัวตรัดว่า จะลงโทสหย่างจริตผิดปรกติ โปรดไห้ส่งตัวนายกุหลาบไปหยู่กับผู้จัดการไนโรงเลี้ยงบ้าสัก 7 วัน แล้วก็ปล่อยไป นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย ถึง ร.ส. 119 (พ.ส. 2443) เมื่องานพระเมรุสมเด็ดพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุนหิส ก็แต่งอธิบายแบบแผนงานพระบรมสพครั้งกรุงสรีอยุธยาไนหนังสือสยามประเภทเปนทีว่า งานพระเมรุที่ทำครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผน และอ้างว่า ตัวมีตำราเดิมหยู่ พระเจ้าหยู่หัวมีรับสั่งไห้ข้าหลวงเรียกนายกุหลาบมาถาม ก็รับสารภาพว่า เปนแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น หามีตำหรับตำราหย่างอ้างไม่ ครั้งนี้ เปนแต่โปรดไห้ประกาสไนหนังสือราชกิจจานุเบกสาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปีนั้น หาได้ลงโทสนายกุหลาบหย่างไดไม่ นายกุหลาบก็ไม่เข็ด พอถึงงานพระเมรุสมเด็ดพระสังคราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิถ ร.ส. 119 นั่นเอง นายกุหลาบแต่งประวัติสมเด็ดพระสังคราชพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง อ้างว่า จะทูนเกล้าฯ ถวายสำหรับแจก คราวนี้ อวดหลักถานเรื่องต่าง ๆ ที่ตนกล่าวอ้างว่า ล้วนได้มาจากนักปราชญ์ซึ่งซงเกียรติคุน คือ กรมสมเด็ดพระปรมานุชิตฯ โดยฉเพาะ เพราะตนได้เคยเปนสัทธิงวิหาริก สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงพระดำหริว่า ถ้าเฉยหยู่ นายกุหลาบจะพาไห้คนหลงเชื่อเรื่องพงสาวดารเท็ดที่นายกุหลาบแต่งมากไป จึงโปรดไห้มีกัมการ ซงอาราธนาสมเด็ดพระมหาสมนะเจ้า กรมพระยาวชิรญานวโรรส (เมื่อยังดำรงพระยสเปนกรมหมื่น) เปนประธาน สอบสวน ก็ได้ความตามคำสารภาพของนายกุหลาบเองกับทั้งคำพยานว่า หนังสือพงสาวดารที่นายกุหลาบแต่ง และคำอวดอ้างของนายกุหลาบที่ว่า เคยเปนสิสกรมสมเด็ดพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เปนความเท็ด ครั้งนี้ ก็เปนแต่โปรดไห้ประกาสรายงานกัมการ มิไห้ลงโทสนายกุหลาบหย่างได สำนวนการไต่สวนครั้งนั้น หอพระสมุดฯ พิมพ์เปนเล่มสมุดเมื่อ พ.ส. 2472 ยังปรากตหยู่

ต่อมาเมื่อนายกุหลาบหมดทุนที่จะออกหนังสือสยามประเภทต่อไปแล้ว ไปเช่าตึกแถวหยู่ที่ถนนเฟื่องนครตรงวัดราชบพิธฯ เปนแต่ยังรับเปนที่ปรึกสาของคนหาความรู้ เช่น ผู้ที่หยากรู้ว่าสกุลของตนจะสืบชั้นบรรพบุรุสถอยหลังขึ้นไปถึงไหน ไปไถ่ถาม นายกุหลาบก็รับคิดค้นสมมติขึ้นไปไห้เกี่ยวดองกับผู้มีสักดิ์เปนบรรพบุรุสสมัยกรุงสรีอยุธยา ก็ยังมีคนนับหน้าถือตาว่ามีความรู้มากหยู่ไม่ขาด ถึงปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ส. 127 (พ.ส. 2451) นายกุหลาบยัง "พ่นพิส" อีกครั้งหนึ่งไนสมัยเมื่อมีหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว จะเอามาเล่าเสียด้วยไห้เส็ดไปไนตอนนี้ เพราะเกี่ยวกับประวัติหนังสือหอหลวงด้วย วันหนึ่ง ฉันไปหอพระสมุดฯ เห็นไบปลิวซึ่งนายกุหลาบพิมพ์โคสนาส่งมาไห้หอพระสมุดฯ ฉบับหนึ่ง อวดว่า ได้ต้นหนังสือกดหมายฉบับหลวงครั้งกรุงสรีอยุธยามาเล่มหนึ่ง และหนังสือนั้นเขียนเมื่อปีชวด จุลสักราช 1066 ไนรัชกาลพระเจ้าท้ายสะ มีตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้วประทับเปนสำคัน ถ้าไครไม่เชื่อจะไปพิสูจน์ไห้เห็นจิงด้วยตาตนเองก็ได้

ความประสงค์ของนายกุหลาบที่โคสนาดูเหมือนจะไคร่ขายหนังสือนั้น แต่ตามคำโคสนามีพิรุธเปนข้อสำคันหยู่หย่างหนึ่ง ด้วยตามปติทิน จุลสักราช 1066 เปนปีวอก มิไช่ปีชวดดังนายกุหลาบอ้าง เวลานั้น ฉันเปนสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร คิดสงสัย จึงกะซิบสั่งพระยาปริยัติธัมธาดา (แพ ตาลลักสน์) ไห้ไปขอดูเหมือนหย่างตัวอยากรู้เห็นเอง พระยาปริยัติฯ กลับมาบอกว่า หนังสือกดหมายที่นายกุหลาบได้ไว้นั้นเปนสมุดไทยกะดาดขาวเขียนเส้นหมึก ดูเปนของเก่า มีตราประทับ 3 ดวง และมีกาลกำหนดว่า ปีชวด จุลสักราช 1066 ตรงตามนายกุหลาบอ้าง แต่พระยาปริยัติฯ สังเกตดูตัวเลขที่เขียนสักราช ตรงตัว 0 ดูเหมือนมีรอยขูดแก้ ฉันได้ฟังก็แน่ไจว่า นายกุหลาบได้สมุดกดหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ 1 ไปจากที่ไหนแห่งหนึ่ง ซึ่งไนบานแผนกมีกาลกำหนดว่า "ปีชวด สักราช 1166" นายกุหลาบขูดแก้เลข 1 ที่เรือนร้อย เขียนแปลงเปน 0 ปลอมสักราชถอยหลังขึ้นไป 100 ปี ด้วยไม่รู้ว่า จุลสักราช 1066 นั้นเปนปีวอก มิไช่ปีชวด ปล่อยคำ "ปีชวด" ไว้ไห้เห็นชัดว่า ไม่ไช่ต้นฉบับกดหมายครั้งกรุงสรีอยุธยาดังอ้างไนคำโคสนา ฉันกราบทูนสมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวง จึงตรัดสั่งเจ้าพระยาอภัยราชาซึ่งเคยเปนหมอควานนายกุหลาบนายกุหลาบแต่ก่อนไห้ไปเรียกสมุดกดหมายเล่มนั้นถวายทอดพระเนตร เจ้าพระยาอภัยราชาได้ไปถวายไนวันรุ่งขึ้น สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงเปิดออกทอดพระเนตร ตรัดว่า "ไหนว่าสักราช 1066 หย่างไรจึงเปน 1166" เจ้าพระยาอภัยราชาก็ตกไจ กราบทูนเล่าถวายว่า เมื่อตอนเช้าวันนั้น จะไปสาลากะซวงนครบาล เมื่อผ่านหน้าห้องแถวที่นายกุหลาบหยู่ ได้แวะเข้าไปเรียกสมุดกดหมายนั้นออกมาเปิดดู สังเกตเห็นไนบานแผนกลงปีชวด จุลสักราช 1066 ตรงดังนายกุหลาบอ้าง เจ้าพระยาอภัยราชาบอกนายกุหลาบว่า "พระเจ้าหยู่หัวจะทอดพระเนตร" นายกุหลาบก็สแดงความยินดีเลยว่า ถ้าต้องพระราชประสงค์ ก็ทูนเกล้าฯ ถวาย เจ้าพระยาอภัยราชาจะไปทำงานที่กะซวงเสียก่อน จึงบอกนายกุหลาบว่า เวลาบ่ายวันนั้น เมื่อจะไปเฝ้าที่สวนดุสิต จะไปรับหนังสือ เวลาไปรับ นายกุหลาบก็เอาหนังสือมามอบไห้โดยเรียบร้อย เจ้าพระยาอภัยราชากราบทูนสารภาพรับผิดที่ประมาทมิได้เอาสมุดมาเสียด้วยตั้งแต่แรก นายกุหลาบจึงมีโอกาสขูดแก้สักราชไนเวลาเมื่อคอยส่งหนังสือไห้เจ้าพระยาอภัยราชานั่นเอง สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงได้ซงฟัง ก็ซงพระสวน ดำหรัดว่า "พระยารองเมืองไปเสียรู้นายกุหลาบเสียแล้ว" แล้วพระราชทานสมุดกดหมายเล่มนั้นมาไว้ไห้หอพระสมุดสำหรับพระนคร รอยที่นายกุหลาบขูดแก้ยังปรากตหยู่

(6)

ประวัติหนังสือหอหลวงมีเรื่องหลายตอน ที่เล่ามาแล้วเปนตอนที่คนทั้งหลายจะรู้เรื่องต่าง ๆ อันลี้ลับหยู่ไนหอหลวงเพราะเหตุที่นายกุหลาบลักคัดเอาสำเนาไปแก้ไขออกโคสนา จึงต้องเล่าเรื่องประวัติของนายกุหลาบด้วยยึดยาว ยังมีเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงเมื่อหยู่ที่วังกรมหลวงบดินทฯ ต่อไปอีก ด้วยการที่จะส้างหอหลวงไหม่เริดร้างหยู่ช้านาน จนถึงสมัยเมื่อจัดกะซวงต่าง ๆ ไน พ.ส. 2435 โปรดไห้รวบรวมอาลักสน์เข้าไนกะซวงมุรธาธร กรมพระสมมตอมรพันธ์ เมื่อยังเปนกรมหมื่น ได้ซงบันชาการกรมอาลักสน์ จึงไห้ไปรับหนังสือหอหลวงจากกรมหลวงบดินทฯ เพื่อจะเอากลับเข้าไปรักสาไว้ไนพระบรมมหาราชวังหย่างเดิม เวลาเมื่อจะส่งหนังสือหอหลวงคืนมานั้น มีคนไนสำนักกรมหลวงบดินทฯ จะเปนผู้ไดไม่ปรากตชื่อ แต่ต้องเปนมูลนายมีพัคพวก ลอบแบ่งเอาหนังสือหอหลวงยักยอกไว้ไม่ส่งคืนมาทั้งหมด มาปรากตเมื่อพายหลังว่า ยักยอกเอาหนังสือซึ่งเขียนฝีมือดีและเปนเรื่องสำคัน ๆ ไว้มาก เพราะไนเวลานั้น ไม่มีบันชีหนังสือหอหลวงหยู่ที่อื่นนอกจากที่วังกรมหลวงบดินทฯ อันผู้ยักยอกอาดเก็บซ่อนหรือทำลายเสียได้โดยง่าย แต่การที่ยักยอกหนังสือหอหลวงนั้น กรมหลวงบดินทฯ คงไม่ซงซาบ พวกอาลักสน์ที่ไปรับหนังสือก็คงไม่รู้ ได้หนังสือเท่าไดก็ขนมาแต่เท่านั้น หนังสือหอหลวงจึงแตกเปน 2 ภาค กลับคืนเข้ามาหยู่ไนพระบรมมหาราชวังภาคหนึ่ง พวกที่วังกรมหลวงบดินทฯ ยักยอกเอาไปซ่อนไว้ที่อื่นภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงบดินทฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ชะรอยคนที่ได้หนังสือหอหลวงไว้จะยากจนลง จึงเริ่มเอาหนังสือที่มีรูปภาพและฝีมือเขียนงาม ๆ ออกขาย โดยอุบายแต่งไห้คนชั้นบ่าวไพร่ไปเที่ยวบอกขายทีละเล่มสองเล่ม มีฝรั่งซื้อส่งเข้าหอสมุดไนยุโรปบ้าง ไทยที่ชอบสะสมของเก่ารับซื้อไว้บ้าง ฉันเริ่มซาบว่าหนังสือฉบับหอหลวงแตกกะจัดกะจายไปเมื่อไปเห็นที่ตำหนักหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เทอมีหยู่ไนตู้หลายเล่ม ถามเทอว่า หย่างไรจึงได้หนังสือฉบับหลวงเหล่านั้นไว้ เทอบอกว่า มีผู้เอาไปขาย เทอเห็นเปนหนังสือของเก่า ก็ซื้อไว้ด้วยเกรงฝรั่งจะซื้อเอาไปเสียจากเมืองไทย แต่ไครเอาไปขายไห้เทอ หรือหนังสือเหล่านั้นไปจากที่ไหน เทอหาบอกไม่ บางทีเทอจะไม่รู้เองก็เปนได้ เกิดลือกันขึ้นครั้งหนึ่งว่า มีผู้เอาหนังสือไตรภูมิฉบับหลวงเขียนประสานสีเมื่อครั้งกรุงธนบุรีไปขายไห้เยอรมันคนหนึ่งซื้อส่งไปยังหอสมุดหลวงที่กรุงเบอร์ลินเปนราคาถึง 1,000 บาท แล้วก็เงียบไป กรนีจึงรู้กันเพียงว่า มีผู้เอาหนังสือฉบับหลวงออกขาย เพราะหนังสือฉบับหลวงย่อมมีชื่ออาลักสน์ผู้เขียนและผู้ทานหยู่แต่ข้างต้นและมีคำว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" นำหน้าชื่อทุกเล่ม ไครซื้อไว้ก็มักปกปิดด้วยกลัวถูกจับ แต่ก็ยังไม่ปรากตว่า หนังสือฉบับหลวงเหล่านั้นแตกไปจากที่ไหนหยู่ช้านาน

(7)

เมื่อ พ.ส. 2447 พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวมีพระราชประสงค์จะซงส้างอนุสรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวเมื่อจำนวนปีแต่พระบรมราชสมภาพครบ 100 ปีเปนอภิลักขิตกาล จึงโปรดไห้รวมหนังสือไนหอมนเทียรธัม หอพระสมุดวชิรญาน และหอพุทธสาสนะสังคหะ เข้าด้วยกัน ตั้งเปนหอพระสมุดสำหรับพระนคร ขนานนามตามพระสมนามาภิไธยของพระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวว่า "หอพระสมุดวชิรญานสำหรับพระนคร" และไห้มีกัมการจัดหอพระสมุดฯ นั้น คือ พระบาทสมเด็ดพระมงกุตเกล้าเจ้าหยู่หัวเมื่อยังเปนสมเด็ดพระบรมโอรสาธิราชเปนสภานายก กรมพระสมมตอมรพันธ์ และตัวฉัน กับทั้งพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) และพระยาโบรานราชธานินท (พร เดชะคุปต์) เปนกัมสัมปาทิก รวมกัน 5 คน เปนคนะพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครมาแรกตั้ง เมื่อรวมหนังสือทั้ง 3 แห่งเข้าเปนหอสมุดอันเดียวกันแล้ว ถึงชั้นที่จะหาหนังสือจากที่อื่นมาเพิ่มเติม กัมการปรึกสากันเห็นว่า ควนจะหาหนังสือภาสาฝรั่งต่างชาติแต่ฉเพาะซึ่งแต่งว่าด้วยเมืองไทยตั้งแต่โบรานมารวบรวมก่อน หนังสือพวกนี้จะสั่งไปไห้หาซื้อไนยุโรปและอเมริกา ส่วนหนังสือภาสาไทยจะรวบรวมหนังสือซึ่งยังเปนฉบับเขียนอันมีกะจัดกะจายหยู่ไนพื้นเมืองเอามารวบรวมไว้ไนหอสมุดก่อนหนังสือพวกอื่น เพราะหนังสือไทยที่เปนจดหมายเหตุและตำหรับตำราวิชาการกับทั้งวรรนคดียังมีแต่เปนฉบับเขียนหยู่โดยมาก ถ้าทิ้งไว้ไม่รีบรวบรวมเอามารักสาไนหอพระสมุดฯ วิชาความรู้อันเปนสมบัติของชาติก็จะเสื่อมสูญไปเสีย วิธีที่จะหาหนังสือฉบับเขียนไนเมืองไทยนั้น ตกลงกันไห้กรมพระสมมตฯ ซงตรวดดูหนังสือไนหอหลวงซึ่งมิได้โปรดไห้โอนเอามารวมไว้ไนหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่กรมพระสมมตฯ ซงรักสาหยู่เอง ถ้าเรื่องไดควนจะมีไนหอพระสมุดสำหรับพระนคร ก็ไห้ซงคัดสำเนาส่งมา กรมพระสมมตฯ ซงหาได้หนังสือดี ๆ และเรียบเรียงประทานไห้หอพระสมุดฯ พิมพ์ปรากตหยู่เปนหลายเรื่อง ส่วนหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีหยู่ที่อื่นนอกจากหอหลวงนั้นไห้ตัวฉันเปนผู้หา ข้อนี้เปนมูลเหตุที่เกิดวิธีฉันหาหนังสือด้วยวิธีต่าง ๆ จึงรู้เรื่องประวัติหนังสือหอหลวงสิ้นกะแสความ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้า

หนังสือไทยฉบับเขียนของเก่านั้นลักสนะต่างกันเปน 3 ประเพท ถ้าเปนหนังสือสำหรับอ่านกันเปนสามัน เขียนไนสมุดไทยสีขาวด้วยเส้นหมึกบ้าง เขียนไนสมุดไทยสีดำด้วยเส้นดินสอขาวบ้าง หรือเส้นฝุ่น และเส้นหรดาน หรือวิเสสถึงเขียนด้วยเส้นทองก็มี เขียนตัวอักสรบันจงทั้งนั้น ต่อเปนร่างหรือสำเนาจึงเขียนอักสรหวัดด้วยเส้นดินสอ แต่ว่าล้วนเขียนไนสมุดไทย ประเภทหนึ่ง ถ้าเปนหนังสือตำหรับตำรา เช่น ตำราเลขยันต์หรือคาถาอาคม เปนต้น อันเจ้าของประสงค์จะซ่อนเร้นไว้แก่ตัว มักจานลงไนไบลานขนาดสั้นสักครึ่งคัมภีร์พระธัมร้อยเชือกเก็บไว้ แต่ล้วนเปนหนังสือคัมภีร์ไบลาน ประเภทหนึ่ง ถ้าเปนจดหมายมีไปมาถึงกัน แม้ท้องตราหรือไบบอกไนราชการ ก็เขียนลงไนกะดาดข่อยด้วยเส้นดินสอดำม้วนไส่กะบอกไม้ไผ่ลงไป เมื่อเส็ดกิจแล้วก็เอาเชือกผูกเก็บไว้เปนมัด ๆ มักมีแต่ตามสำนักราชการ ประเภทหนึ่ง หนังสือฉบับเขียนทั้ง 3 ประเภทที่ว่ามา ประเภทที่เขียนไนสมุดไทยมีมากกว่าหย่างอื่น แต่ที่นับว่า เปนฉบับดี ๆ เพราะตัวอักสรเขียนงามและสอบทานถูกต้องประกอบกัน นอกจากหนังสือหอหลวง มักเปนหนังสือซึ่งเจ้านายและขุนนางผู้ไหย่ไนรัชกาลก่อน ๆ ส้างไว้ แล้วแบ่งกันเปนมรดกตกหยู่ไนเชื้อวงส์เปนแห่ง ๆ ก็มี ที่ผู้รับมรดกรักสาไว้ไม่ได้แตกกะจัดกะจายไปตกหยู่ที่อื่นแห่งละเล็กละน้อยก็มี หนังสือพวกที่จานไนไบลานก็มีน้อย ถ้าหยู่กับผู้รู้วิชานั้นมักหวงแหน แต่ก็ได้มาบ้าง มักเปนเรื่องแปลก ๆ เช่น ลายแทงคิดปริสนาและตำราพิธีอันมิไคร่มีไครรู้ แต่มักไม่น่าเชื่อคุนวิเสสที่อวดอ้างไนหนังสือนั้น แต่หนังสือซึ่งเขียนด้วยกะดาดเพลามักมีแต่ของหลวงหยู่ตามสำนักราชการ ฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทยหยู่ด้วย ไห้ส่งหนังสือจำพวกนี้ที่มีหยู่ไนกะซวงและที่ได้พบตามหัวเมืองไปยังหอพระสมุดฯ ทั้งหมด แต่ไนสมัยเมื่อฉันหาหนังสือฉบับเขียนสำหรับหอพระสมุดฯ นั้น พวกฝรั่งและพวกเล่นสะสมของเก่า เช่น หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เปนต้น ก็กำลังหาซื้อหนังสือไทยฉบับเขียนแข่งหยู่อีกทางหนึ่ง ผิดกันแต่พวกนั้นต้องหาโดยปกปิด ฉันหาได้หย่างเปิดเผยและเลือกโดยความประสงค์ผิดกัน พวกนั้นหาหนังสือ "งาม" คือ ที่มีรูปภาพหรือที่มีฝีมือเขียนอักสรงาม แต่จะเปนหนังสือเรื่องหย่างไรไม่ถือเปนสำคัน ฝ่ายตัวฉันหาหนังสือ "ดี" คือ ถือเอาเรื่องหนังสือเปนสำคัน ถ้าเปนหนังสือเรื่องที่มีดื่น ถึงฉบับจะเขียนงาม ก็ไม่ถือว่าดี ถ้าเปนเรื่องแปลกหรือเปนฉบับเขียนถูกต้องดี ถึงจะเขียนไม่งาม หรือที่สุดเปนแต่หนังสือตัวหวัด ก็ซื้อและไห้ราคาแพงกว่าหนังสือซึ่งมีดื่น

วิธีที่ฉันหาหนังสือนั้น เมื่อรู้ว่า แหล่งหนังสือมีหยู่ที่ไหน ฉันก็ไปเอง หรือไห้ผู้อื่นไปบอกเจ้าของหนังสือไห้ซาบพระราชประสงค์ซึ่งซงตั้งหอสมุดสำหรับพระนครและขอดูหนังสือที่เขามีหยู่ ถ้าพบหนังสือเรื่องไดซึ่งยังไม่มีไนหอพระสมุดฯ ก็ขอหนังสือนั้น เจ้าของจะถวายก็ได้ จะขายก็ได้ หรือเพียงอนุญาตไห้คัดสำเนาหนังสือเรื่องนั้นมาก็ได้ตามไจ เจ้าของหนังสือไม่มีไครขัดขวาง หย่างหวงแหนก็เพียงขอต้นฉบับไว้ยอมไห้คัดสำเนามา แต่ที่เต็มไจถวายต้นฉบับทีเดียวมีมากกว่าหย่างอื่น บางแห่งก็ถึง "ยกรัง" หนังสือซึ่งได้เก็บรักสาไว้ถวายเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนครทั้งหมด เพราะมีการซึ่งหอพระสมุดฯ ทำอีกหย่างหนึ่งเปนปัจจัยไห้คนนิยม คือ แต่เดิมมา ไนงานสพ เจ้าภาพมักพิมพ์เทสนาหรือคำแปลภาสาบาลีเปนสมุดเล่มเล็ก ๆ แจกผู้ไปช่วยงาน ครั้นงานพระสพกรมขุนสุพรรนภาควดีเมื่อ พ.ส. 2447 สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงพระราชดำหริว่า หนังสือแจกซึ่งเปนธัมปริยายลึกซึ้งคนมิไคร่ชอบอ่าน จึงโปรดไห้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้นพิมพ์พระราชทานเปนของแจก และซงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องประวัติของคัมภีร์ชาดกกับทั้งซงแนะนำไว้ไนคำนำข้างต้นว่า หนังสือแจกควนจะพิมพ์เรื่องต่าง ๆ ไห้คนชอบอ่าน แต่นั้น เจ้าภาพงานสพก็มักมาขอเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกต่อกัมการหอพระสมุดฯ กัมการคิดเห็นว่า ถ้าช่วยอุดหนุนการพิมพ์หนังสือแจก จะเกิดประโยชน์หลายหย่าง เปนต้นแต่สามารถจะรักสาเรื่องหนังสือเก่าไว้มิไห้สูญ และไห้มหาชนเจริญความรู้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงรับธุระหาเรื่องหนังสือไห้เจ้าภาพพิมพ์แจกทุกรายที่มาขอ และเลือกหนังสือซึ่งเปนเรื่องน่าอ่าน เอามาชำระสอบทานไห้ถูกต้อง ทั้งแต่งอธิบายว่าด้วยหนังสือเรื่องนั้นไว้ไนคำนำข้างต้น แล้วจึงไห้ไปพิมพ์แจก จึงเกิด "หนังสือฉบับหอพระสมุด" ขึ้น ไครได้รับไปก็ชอบอ่านเพราะได้ความรู้ดีกว่าฉบับอื่น เจ้าของหนังสือฉบับเขียนเห็นว่า หอพระสมุดฯ ได้หนังสือไปทำไห้เปนประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าหยู่กับตน ก็เต็มไจถวายหนังสือดังกล่าวมา การหาเรื่องหนังสือไห้ผู้อื่นพิมพ์แจกจึงเลยเปนธุระส่วนไหย่อันหนึ่งของหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครสืบมา และเปนเหตุไห้มีหนังสือไทยเรื่องต่าง ๆ พิมพ์ขึ้นปีละมาก ๆ จนบัดนี้

การหาหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีหยู่เปนแหล่ง ไม่ยากเหมือนหาหนังสือซึ่งกะจัดกะจายหยู่ไนพื้นเมือง เพราะรู้ไม่ได้ว่า หนังสือจะมีหยู่ที่ไหนบ้าง พบเข้าก็มีแต่แห่งละเล็กละน้อย ทั้งเจ้าของก็มักเปนชั้นที่ไม่รู้จักคุนค่าของหนังสือ ฉันจึงคิดวิธีหย่างหนึ่งด้วยขอแรงพวกพนักงานไนหอพระสมุดฯ ไห้ช่วยกันเที่ยวหาไนเวลาว่างราชการ ไปพบหนังสือเรื่องดีมีที่ไหนก็ไห้ขอซื้อเอามา หรือถ้าไม่แน่ไจก็ชวนไห้เจ้าของเอามาไห้ฉันดูก่อน บอกแต่ว่า ถ้าเปนหนังสือดี ฉันจะซื้อด้วยราคาตามสมควน หาโดยกะบวนนี้บางทีได้หนังสือดีหย่างแปลกประหลาด จะเล่าเปนตัวหย่าง ดังครั้งหนึ่ง พระยาปริยัติธัมธาดา (แพ ตาละลักสน์) เมื่อยังเปนที่หลวงประเสิดอักสรนิติ ไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมไส่กะชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่า จะเอาไปไหน แกบอกว่า จะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูก่อน แกก็ส่งมาไห้ทั้งกะชุ พบหนังสือพงสาวดารเมืองไทยแต่ครั้งสมเด็ดพระนารายน์ฯ เล่มหนึ่งหยู่ไนพวกสมุดที่จะเผานั้น ออกปากว่าหยากได้ ยายแกก็ไห้ ไม่หวงแหน พระยาปริยัติธัมธาดาเอาสมุดเล่มนั้นมาไห้ฉัน เมื่อพิจารนาดู เห็นเปนหนังสือพงสาวดารความเก่าแต่งก่อนเพื่อน เรื่องและสักราชก็แม่นยำผิดกับฉบับอื่นทั้งหมด ฉันจึงไห้เรียกว่า "พระราชพงสาวดาร ฉบับหลวงประเสิด" ไห้เปนเกียรติยสแก่พระยาปริยัติฯ และได้ไช้เปนฉบับสำหรับสอบสืบมาจนบัดนี้ แต่เจ้าของบางคนก็เห็นค่าหนังสือของตนหย่างวิปริต ดังแห่งหนึ่งอวดว่า มีหนังสือเขียนตัวทองหยู่เรื่องหนึ่ง ตั้งราคาขายแพงมาก ผู้ไปพบจะขออ่านก็ไม่ไห้ดู ฉันไห้กลับไปถามเพียงชื่อเรื่องหนังสือนั้น บอกว่า "เรื่องพระลอ" ซึ่งมีฉบับเขียนหยู่ไนหอพระสมุดฯ แล้วหลายฉบับ ทั้งเปนเรื่องที่ตีพิมพ์แล้วด้วย ก็เปนเลิกกันเพียงนั้น แต่เมื่อคนรู้กันแพร่หลายว่า หอพระสมุดฯ หาซื้อหนังสือฉบับเขียน ก็เริ่มมีคนเอาหนังสือมาขายที่หอพระสมุดฯ ชั้นแรกดูเหมือนจะเปนแต่พวกราสดร ต่อมา เจ้าของที่เปนผู้ดีแต่งไห้คนมาขายก็มี ที่สุดถึงมีพวก "นายหน้า" เที่ยวหาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ เนืองนิจจนจำหน้าได้ พวกนายนี้เปนคนจำพวกเดียวกับที่เที่ยวหาหนังสือฉบับหลวงและของประหลาดขายฝรั่ง เขาว่า ของที่ขายมักได้มาโดยทุจริต แต่จะไถ่ถามถึงกัมสิทธิของผู้ที่มาขายหนังสือเสียก่อน ก็คงเกิดหวาดหวั่น ไม่มีไครกล้าเอาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ ฉันนึกขึ้นว่า หนังสือผิดกับทรัพย์สินหย่างอื่น ด้วยอาดจะคัดสำเนาเอาเรื่องไว้ได้ โดยจะเปนของโจรลักเอามา เมื่อเจ้าของมาพบ คืนต้นฉบับไห้เขา ขอคัดแต่สำเนาไว้ ก็เปนประโยชน์สมประสงค์ ไม่เสียเงินเปล่า ฉันจึงสั่งพนักงานรับหนังสือว่า ไครเอาหนังสือมาขาย หย่าไห้ไถ่ถามหย่างไรนอกจากราคาที่จะขาย แล้วเขียนราคาลงไนเสสกะดาดเหน็บกับหนังสือส่งมาไห้ฉันดูทีเดียว ฉันเลือกซื้อด้วยเอาเรื่องหนังสือเปนไหย่ดังกล่าวมาแล้ว บางทีเปนหนังสือเขียนงามแต่ฉันไม่ซื้อหรือไม่ยอมไห้ราคาเท่าที่จะขายเพราะเปนเรื่องดื่นก็มี บางทีเปนแต่สมุดเก่า ๆ เขียนด้วยเส้นดินสอ ผู้ขายตีราคาเพียงเล่มละบาทหนึ่งสองบาท แต่เปนเรื่องที่ไม่เคยพบหรือหายากยังไม่มีไนหอพระสมุด ฉันเห็นว่า เจ้าของตีราคาต่ำเพราะไม่รู้คุนค่าของหนังสือ จะซื้อตามราคาที่บอกขาย ดูเปนเอาเปรียบคนรู้น้อย หาควนไม่ ฉันจึงเพิ่มราคาไห้เปนเล่มละ 4 บาทบ้าง หรือ 5 บาทบ้าง ไห้บอกเจ้าของว่า ราคาที่ตั้งมายังไม่ถึงค่าของหนังสือ พวกคนขายหนังสือได้เงินเพิ่มเนือง ๆ ก็เชื่อถือความยุตติธัมของหอพระสมุดฯ จนไม่มีไครตั้งราคาขาย บอกแต่ว่า "แล้วแต่จะประทาน" การซื้อหนังสือไนพื้นเมืองก็สดวก จึงซื้อมาด้วยหย่างนั้นเปนนิจ

(8)

แต่ความที่กล่าวไว้ข้างต้นนิทานที่ว่า นายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปจากวังกรมหลวงบดินทฯ ก็ดี ที่ว่า คนไนวังกรมหลวงบดินทฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ และต่อมา เอาออกขายแก่ฝรั่งและผู้เล่นสะสมของเก่าก็ดี ไม่มีไครรู้มากว่า 20 ปี เค้าเงื่อนเพิ่งมาปรากตขึ้นเมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดฯ ดังพรรนนา ด้วยวันหนึ่ง มีคนเอาหนังสือพระราชพงสาวดารเปนฉบับเขียนเส้นดินสอมาขายสอง 2 สมุดไทย ฉันเห็นมีลายพระราชหัถเลขาของพระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัว เปนเส้นดินสอเหลือง ซงเขียนแก้ไขเพิ่มเติมเปนแห่ง ๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ฉันตีราคาไห้เล่มละ 10 บาท แต่ไม่บอกว่า เพราะมีพระราชหัถเลขาหยู่ไนนั้น ผู้ขายก็พิสวง บอกพนักงานรับหนังสือว่า หนังสือเรื่องนั้นยังมี จะเอามาขายอีก แล้วเอามาขายทีละ 3 เล่ม 4 เล่ม ฉันก็ไห้ราคาเล่มละ 10 บาทเสมอทุกครั้ง ได้หนังสือพระราชพงสาวดาร ฉบับพระราชหัถเลขา มาถึง 11 เล่ม จนผู้ขายบอกว่า หมดฉบับที่มีเพียงเท่านั้น

ฝ่ายตัวฉัน ตั้งแต่ได้หนังสือพระราชพงสาวดาร ฉบับพระราชหัถเลขา มา 2 เล่ม ก็เกิดพิสวง ด้วยเห็นชัดว่า หนังสือฉบับนั้นเปนของหลวงอันอาลักสน์รักสาไว้ไนหอหลวง เหตุไฉนจึงมาตกเปนของคนชั้นราสดรเอาออกเที่ยวขายได้ตามชอบไจ ฉันจึงเรียกหัวหน้าพนักงานรับหนังสือมากะซิบสั่งไห้สืบดูว่า ผู้ที่เอามาขายทำการงานหย่างไร และมีสำนักหลักแหล่งหยู่ที่ไหน เขาสืบได้ความจากผู้รู้จักว่า คน 2 คนที่เอาหนังสือพระราชพงสาวดาร ฉบับพระราชหัถเลขา มาขายนั้น เดิมเปนมหาดเล็กหยู่ที่วังกรมหลวงบดินทฯ แต่เมื่อกรมหลวงบดินทฯ สิ้นพระชนม์แล้ว เห็นเที่ยวร่อนเร่หยู่ จะสำนักที่ไหนหาซาบไม่ พอฉันได้ยินว่า คนที่เอาหนังสือมาขายเคยเปนมหาดเล็กหยู่ที่วังกรมหลวงบดินทฯ ก็รู้สึกเหมือนหย่างว่า ไครเปิดแสงไฟฟ้าไห้แลเห็นเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงไนทันที ยิ่งคิดไปถึงกรนีต่าง ๆ ที่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อน ก็ยิ่งเห็นตระหนักแน่ชัด ด้วยเปนเรื่องติดต่อสอดคล้องกันมาตั้งแต่กรมหลวงบดินทฯ เอาหนังสือหอหลวงไปรักสาไว้ที่วัง แล้วเอาออกอวดไห้คนดูเมื่องาน 100 ปี นายกุหลาบได้เห็น จึงได้พยายามขอยืมจากกรมหลวงบดินทฯ ไปลอบจ้างทหานมหาดเล็กไห้คัดสำเนาเอาไปดัดแปลงสำนวนออกพิมพ์ ครั้นถึงเวลาเมื่อขนหนังสือหอหลวงกลับคืนเข้าไปไว้ไนวังตามเดิม มีคนที่กรมหลวงบดินทฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ แล้วผ่อนไปขายแก่พวกฝรั่งและผู้สะสมของเก่า จึงปรากตว่า มีหนังสือฉบับหลวงออกเที่ยวขาย จนที่สุดถึงเอามาขายแก่ตัวฉันเอง จึงรู้ว่า ล้วนแต่ออกมาจากวังกรมหลวงบดินทฯ ทั้งนั้น แต่ผู้ขายหนังสือไม่รู้ว่า ฉันไห้สืบ เมื่อขายหนังสือพระราชพงสาวดาร ฉบับพระราชหัถเลขา ได้หมดแล้ว ยังเอาหนังสือกดหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ 1 ซึ่งประทับตรา 3 ดวงมาขายที่หอพระสมุดฯ อีก 2 เล่ม ฉันตีราคาไห้เล่มละ 20 บาท เลยได้ความหยู่ข้างจะขบขัน ด้วยผู้ขายดีไจจนออกปากแก่พนักงานรับหนังสือว่า เสียดายไม่รู้ว่าหอพระสมุดฯ จะไห้ราคาถึงเท่านั้น เคยเอาไปบอกขายนายกุหลาบเล่มหนึ่ง นายกุหลาบว่า จะไห้ 20 บาท ครั้นเอาหนังสือไปไห้ ได้เงินแต่ 2 บาท นอกจากนั้นทวงเท่าไดก็ไม่ได้ ที่ว่านี้คือกดหมายเล่มที่นายกุหลาบเอาไปแก้สักราชนั่นเอง ก็ได้ไปจากวังกรมหลวงบดินทฯ เหมือนกัน เมื่อขายกดหมายแล้ว ผู้ขายบอกว่า หนังสือซึ่งมีขายหมดเพียงเท่านั้น ก็เห็นจะเปนความจิง เพราะคนขายได้เงินมาก และหอพระสมุดฯ ก็มิได้ทำไห้หวาดหวั่นหย่างได ถ้ายังมีหนังสือคงเอามาขายอีก จึงเห็นพอจะอ้างได้ว่า เก็บหนังสือหอหลวงซึ่งยังตกค้างหยู่ไนแหล่งกรมหลวงบดินทฯ กลับมาได้สิ้นเชิงเมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่ตัวฉันยังมีกิจเกี่ยวข้องกับหนังสือหอหลวงซึ่งพลัดพรายไปหยู่ที่อื่นต่อมาอีก ด้วยเมื่อ พ.ส. 2472 ฉันไปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงกรุงลอนดอน ฉันนึกขึ้นได้ว่า เปนโอกาสที่จะตรวดดูไห้รู้ว่า อังกริดได้หนังสือฉบับเขียนไปจากเมืองไทยสักเท่าได ฉันจึงไปบอกที่หอสมุดของรัถบาล British Museum Library ว่า ฉันหยากจะเห็นหนังสือไทยฉบับเขียนที่มีหยู่ไนหอสมุดนั้น ถ้าหากว่าเขายังไม่ได้ทำบันชี จะไห้ฉันช่วยบอกเรื่องไห้ลงบันชีด้วยก็ได้ ฉันหมายว่า ถ้าพบเรื่องที่ไม่มีฉบับหยู่ไนเมืองไทย ก็จะขอคัดสำเนาด้วยรูปฉายเอากลับมา ฝ่ายอังกริดเขาเคยได้ยินชื่อว่า ฉันเปนนายกหอพระสมุดฯ ก็ยินดีที่ฉันจะบอกไห้หย่างนั้น ครั้นถึงวันนัด เขาขนหนังสือไทยบันดามีมารวมไว้ไนห้องหนึ่ง และไห้พนักงานทำบันชีมาคอยรับ ฉันไปนั่งตรวดและบอกเรื่องแปลเปนภาสาอังกริดไห้เขาลงบันชีทุกเล่ม ต้องไปนั่งหยู่ 2 วันจึงตรวดหมด ด้วยไนหอสมุดนั้นมีหนังสือไทยมากกว่าที่อื่น แต่เห็นล้วนเปนเรื่องที่มีไนหอพระสมุดฯ ทั้งนั้น ก็ไม่ต้องขอคัดสำเนา เมื่อฉันไปถึงกรุงเบอร์ลิน ไห้ไปบอกหย่างเช่นที่กรุงลอนดอน รัถบาลเยอรมันก็ไห้ฉันตรวดหนังสือด้วยความยินดีหย่างเดียวกัน หนังสือไทยที่ไนหอสมุดกรุงเบอร์ลินมีน้อยกว่าหอสมุดกรุงลอนดอน แต่เปนหนังสือฉบับหลวงซึ่งได้ไปจากหอหลวงไนกรุงเทพฯ โดยมาก เขาเชิดชูหนังสือไตรภูมิฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรีซึ่งซื้อราคาถึง 1,000 บาทนั้นเหมือนหย่างว่าเปนนายโรง แต่ประหลาดหยู่ที่หนังสือไตรภูมินั้นมี 2 ฉบับ ส้างก็ครั้งกรุงธนบุรีด้วยกัน และเหมือนกันทั้งตัวอักสรและรูปภาพ ขนาดสมุดก็เท่ากัน ฉบับหนึ่งคุนท้าววรจันท (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ 4) ได้มาจากไหนไม่ปรากต แต่ทูนเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวเมื่อตั้งหอพุทธสาสนสังคหะ แล้วโอนมาเปนของหอพระสมุดสำหรับพระนคร จึงไส่ตู้กะจกไว้ไห้คนชมหยู่ไนหอพระสมุดวชิรญาน เพราะฉะนั้น ถึงเยอรมันเอาไปเสียฉบับหนึ่งก็หาสูญสิ้นจากเมืองไทยไม่ แม้เรื่องอื่น ๆ ที่เยอรมันได้ไป เรื่องก็ยังมีหยู่ไนเมืองไทยทั้งนั้น จึงไม่ต้องขอคัดสำเนา นึกเสียดายที่ไม่ได้ตรวดไนหอสมุดของฝรั่งเสสไนครั้งนั้นด้วย เพราะเมื่อไปถึงกรุงปารีส ฉันยังไม่ได้คิดขึ้นถึงเรื่องตรวดหนังสือไทย จึงผ่านไปเสียแต่แรกแล้วก็ไม่มีโอกาสอีก

(9)

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกราชบันดิตสภาพ้นจากราชการทั้งปวงแล้ว ออกไปสำราญอิริยาบถตามประสาคนแก่ชราหยู่ที่เมืองปีนัง เพราะว่า ทางกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงระเบียบการราชบันดิตสภาหลายหย่าง เปนต้นว่า ตั้ง "ราชบันดิตสถาน" เปนคนะผู้รู้แยกออกจากกรมการต่าง ๆ ซึ่งเคยหยู่ไนราชบันดิตสภามาแต่ก่อน ส่วนกรมการต่าง ๆ นั้น แผนกหอพระสมุดสำหรับพระนครคงเปนแผนกหยู่หย่างเดิม เรียกว่า "หอสมุดแห่งชาติ" แผนกพิพิธภันท์สถานก็คงหยู่หย่างเดิม เรียกว่า "พิพิธภันท์สถานแห่งชาติ" แผนกสิลปากรก็คงหยู่หย่างเดิม เอากรมมหรสพเพิ่มเข้าอีกแผนกหนึ่ง เรียกทั้ง 4 แผนกรวมกันว่า "กรมสิลปากร" มีอธิบดีเปนผู้บังคับการทั่วไป จะว่าแต่ฉเพาะที่เนื่องด้วยหนังสือหอหลวง ซาบว่า หอสมุดแห่งชาติซื้อมรดกหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ ได้หนังสือหอหลวงซึ่งไปตกหยู่ที่หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถมาเข้าหอพระสมุดแห่งชาติหมด และต่อมา รัถบาลไห้โอนหนังสือหลวงบันดาที่หยู่ไนกรมราชเลขาธิการ (คือ ที่กรมอาลักสน์รักสาแต่เดิม) ส่งไว้ไนหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด เปนสมุดฉบับเขียนหลายพันเล่ม เดี๋ยวนี้อาดจะอ้างได้ว่า หนังสือหอหลวงซึ่งกะจัดพลัดพรายแยกย้ายกันหยู่ตามที่ต่าง ๆ มากกว่า 50 ปี กลับคืนมาหยู่ไนที่อันเดียวกันแล้ว ถึงต้นฉบับจะสูญไปเสียบ้าง เช่น ถูกฝรั่งซื้อเอาไปไว้เสียต่างประเทส ฉันได้ไปตรวดก็ปรากตว่า เรื่องของหนังสืออันเปนตัววิทยสมบัติของบ้านเมืองมิได้สูญไปด้วย ที่จะหายสูญทั้งต้นฉบับและตัวเรื่องเห็นจะน้อย เพราะฉะนั้น ถึงตัวฉันจะพ้นกิจธุระมาหยู่พายนอกแล้ว ก็มีความยินดีด้วยเปนอันมาก.