หน้า:ธศย ๑๒๗.pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๑๒๗
เล่ม ๒๕ หน้า ๓๓๒
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๗นอกจากศาลพิเศษซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเฉภาะแก่พระราชบัญญัติหรือราชการอย่างใดในหัวเมืองนั้น ให้มีศาลประจำสำหรับพิจารณาคดีตามหัวเมืองเปนสามชั้นโดยลำดับกันดังนี้ คือ

ศาลมณฑล

ศาลเมือง

ศาลแขวง

แลศาลพิเศษซึ่งจะตั้งขึ้นในมณฑลเปนครั้งเปนคราว

มาตรา๑๘ศาลประจำทั้งสามชั้นนี้จะควรตั้งณที่ใด ๆ ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพิเคราะห์ดูตามสมควรแก่ราชการแล้วกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแลได้ประกาศแก่มหาชนให้ทราบแล้ว ก็ให้ตั้งได้

มาตรา๑๙ศาลมณฑลต้องมีผู้พิพากษาประจำตำแหน่งคณะหนึ่ง คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑล กับผู้พิพากษาอื่นอีก รวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าสองนาย จึงจะเปนองค์คณะที่จะพิจารณาแลพิพากษาคดีได้เต็มอำนาจศาล ศาลเมืองก็ต้องมีผู้พิพากษาคณะหนึ่ง คือ ผู้พิพากษาศาลเมือง กับผู้พิพากษาอื่น รวมกันไม่ต่ำกว่าสองนาย จึงจะเปนองค์คณะแลพิจารณาพิพากษาคดีได้เต็มอำนาจศาลเมือง แต่ศาลแขวงนั้นมีตำแหน่งผู้พิพากษาแต่ศาลละนาย

เมื่อผู้พิพากษาไม่สามารถจะนั่งพิจารณาความให้ครบคณะได้ เช่น ผู้พิพากษาบางคนป่วย หรือลา หรือนั่งไม่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับคดีเรื่องนั้น เปนต้น ก็ให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณานั้นมีอำนาจเชิญข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์คนใดคนหนึ่งมานั่งเปนสำรองผู้พิพากษาเพื่อให้ครบคณะได้ แต่การที่จะทำดังนี้ต้องทำเมื่อเปนการด่วน แลเปนการจำเปนต้องหมายเหตุไว้ในคดีนั้นด้วย

เมื่อผู้พิพากษาได้เชิญคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีด้วยดังที่ว่ามาข้างบนนั้นแล้ว ต้องให้รายงานเข้ามาขออนุญาตต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมโดยทันที แลในระหว่างที่ยังไม่ได้รับตอบ ไม่ต้องรอการพิจารณาไว้คอย ถ้าภายหลังได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม การสิ่งใดที่ศาลทำไปแล้วก็ใช้ได้ แต่ถ้าเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมไม่อนุญาตแล้ว คดีเรื่องนั้นต้องตั้งต้นพิจารณาใหม่

มาตรา๒๐ศาลมณฑลบังคับคดีได้ตามอำนาจศาลตลอดเขตร์มณฑลเทศาภิบาลซึ่งตั้งศาลนั้น ศาลเมืองบังคับคดีตามอำนาจได้แต่ในเขตร์เมืองที่ตั้งศาล แลศาลแขวงบังคับคดีตามอำนาจได้แต่ในท้องที่ซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดแขวงให้ว่ากล่าวมากน้อยเท่าใดก็ได้