หน้า:ประชุมจารึก (ภาค ๑) - ๒๔๗๗.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ลิไทย คือ พระมหาธรรมราชา เหมือนกัน ความโดยมากเป็นเรื่องยอพระเกียรติพญาลิไทย และชักชวนให้ประกอบการกุศล มีบางตอนชำรุดเหลือที่จะอ่านได้ ศิลาจารึกหลักนี้มีคำแปลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ อยู่นานแล้ว แต่ศาสตราจารย์เซเดส์ได้สอบคำแปลกับตัวจารึกดู เห็นว่า มีผิดพลาด จึงแปลใหม่

หลักที่ ๕

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง พระยาโบราณราชธานินทร์ไปพบที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) ในเขตต์อยุธยา เป็นศิลาจารึกของพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เหมือนกัน จารึกเป็นภาษาไทย ข้อความตรงกันกับหลักที่ ๔ ภาษาเขมร จึงเข้าใจว่า คงทำเป็น ๒ หลัก คือ หลักไทยหลักหนึ่ง เขมรหลักหนึ่ง ข้อความต้องกัน แล้วตั้งไว้คู่กัน

หลักที่ ๖

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นอักษรขอม ภาษามคธ พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมพ์) ขุดพบที่วัดป่ามะม่วงเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เสด็จออกทรงผนวชเมื่อวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง พ.ศ. ๑๙๐๕ ศิลาจารึกหลักนี้ชำรุดมาก ด้าน ๔ ทั้งด้านชำรุดจนอ่านไม่ออกเลย

หลักที่ ๗

เรียกว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เหมือนกัน พระยารามราชภักดีส่งลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ทรงสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในป่ามะม่วงในปีที่ทรงผนวชในวัดป่ามะม่วง