กฎหมายไทยฯ/เล่ม 1/เรื่อง 7
๏มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำหรัสสั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์แต่ยังเปนสมุหพระกระลาโหมให้ประกาศแก่พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทลูกขุนผู้ปรับแลตระลาการผู้รักษาเมืองกรมการเมืองเอกเมืองโทเมืองตรีเมืองจัตวาฝ่ายไต้ฝ่ายเหนือบันดาที่ได้พิจารณาตัดสินความให้ทราบทั่วกัน ด้วยกฎหมายลักษณพยานที่รับค้านต้องบทห้าม ๓๓ จำพวกนั้น ถ้าพยานรับค้านแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ไม่มีพยานอื่นเจือ ฟังเปนพยานไม่ได้ โจทย์จำเลยยอมให้สืบ จึ่งฟังเปนพยานได้ แลคู่ความโจทย์จำเลยคิดยักย้ายค้านพยานเคลือบคลุมแอบแฝง จะให้พยานรับค้านด้วยกลอุบายหลายอย่าง แลตระลาการผู้พิจารณาก็ไม่ซักฟอกข้อค้านให้แจ่มแจ้งให้พยานเข้าใจ พยานที่รู้ความอยู่บ้างก็แบ่งแก้แบ่งรับแยกย้ายออกได้บ้าง พยานที่ไม่รู้กระบวนความก็รับค้าน ต้องกลอุบายของผู้ค้าน ประการหนึ่ง ลูกขุนผู้ปรับแลผู้รักษาเมืองกรมการเหนแต่ว่าพยานรับค้านต้องกฎหมายห้าม ก็ปฤกษาตัดสินให้ยกคำพยานเสีย พยานที่รับค้านจะควรฟังได้มิได้ไม่พิจารณาให้เลอียด ปฤกษาตามคำรับค้าน ตัดสินความจึ่งหาเปนยุติธรรมไม่ ฯพณฯ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินจึ่งตรวจดูในลักษณพยานเหนว่า ลักษณพยานต้องค้าน ๓๓ จำพวกนี้ว่าไว้เคลือบคลุมอยู่ไม่ชัดเจน แลพยานที่ต้องค้านควรจะฟังใช้ได้ก็มีบ้าง ที่ใช้ไม่ได้ก็มีบ้าง ยังระคนปนกันอยู่ จึ่งมีพระประสาสน์สั่งให้พระยาเจริญราชไมตรี ขุนหลวงพระไกรศรี พระศรีสังขกร เลือกคัตตัดรอนเพิ่มเติมในลักษณพยานการที่จะตัดสินพิภาคษาว่าความให้แน่นอน แล้วให้ปฤกษาพระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ตรวจดู เหนชอบพร้อมกันแล้ว จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเปนพระราชบัญญัติจัดเปนมาตราสำหรับผู้พิจารณาพิภาคษาตัดสินความแต่นี้สืบไปเมื่อน่า
มาตรา๑พยานที่ห้ามไว้ ๓๓ จำพวกเดิมที่มิให้ฟังเปนพยานนั้น ให้ยกขึ้นเปนพยานฟังได้ ๑๑ จำพวก คือ คนมิได้อยู่แก่ศิลห้าศิลแปด ๑ หญิงมีครรภ ๑ เปนกระเทย ๑ เปนบันเดาะ ๑ หมอยามิได้เรียนคำภีร์แพทย์ ๑ ช่างเกือก ๑ คนประมง ๑ คนโทโสมาก ๑ คนเปนเพชฆาฎ ๑ คนโรคมาก ๑ คนมักเสีย⟨ด⟩ส่อท่าน ๑ คน ๑๑ จำพวกนี้ให้ควรฟังเอาเปนพยานได้
มาตรา๒คน ๒๒ จำพวกจะฟังเอาถ้อยคำเปนพยานไม่ได้นั้น คนกู้หนี้ยืมสืนผู้เปนความตั้งแต่ตำลึงหนึ่งขึ้นไป ๑ คนเปนทาษผู้เปนความค่าตัวแต่สองตำลึงขึ้นไป ๑ คนเปนญาติพี่น้องบิ⟨ด⟩ามารดาเขยสะไพ้ผู้เปนความ ๑ คนเปนมิตรสะหายได้ลงนิ้วสาบาลร่วมทุกข์รวมศุขไว้ต่อกัน ๑ คนไม่มีบ้านเรือนเที่ยวจรนอนตามวัดตามศาลาโรงร้านที่ต่าง ๆ ๑ คนถือกระเบื้องกระลาฃอทานเลี้ยงชีวิตร ๑ คนหูหนวกทั้งสองข้างไม่ได้ยิน ๑ คนตาบอดทั้งสองข้างมิได้เหน ๑ หญิงนครโสภีนีมีสารกรมธรรมประทับตราแล้วก็ดี แลยังไม่ได้ประทับตราก็ดี รับจ้างชำเราหาเงิน ๑ หญิงแพศยามากชู้เหนือผัว ๑ คนเพื่อนกินอยู่สำมะเลเสพย์สุราสาบาลตัวไว้ต่อกันกับผู้เปนความ ๑ คนอริวิวาทกับผู้เปนความกำหนดใน ๗ เดือน ๑ คนมักมากถ้อยความรับว่าความแทนผู้เปนความหลายโรงศาล ๑ คนโกรธผูกเวรกับผู้เปนความ ๑ เด็กอายุแต่ ๗ ปีลงมาถ้อยคำไม่ยั่งยืน ๑ คนสูงอายุ ๗๐ ปีขึ้นไปถ้อยคำฟั่นเฟือนหลงใหล ๑ คนเต้นรำฃอทานเลี้ยงชีวิตร ๑ คนเปนพ่อมดแม่มดมารยาอุบายให้คนเชื่อถือ ๑ คนพิกลจริต ๑ คนนักเลงเล่นเบี้ยบ่อนเที่ยวปี้ขาหากินที่บ่อนเปนนิตย์ ๑ คนเปนโจรเปนปาราชิกต้องจำอยู่ทิมตรางคุกก็ดี พ้นโทษแล้วก็ดี ๑ คน ๒๒ จำพวกนี้ห้ามมิให้ฟังเปนพยาน ถ้าพยานรับค้านต้องบทห้ามข้อใดข้อหนึ่ง ให้ผู้พิภาคษาปฤกษาตัดสินยกพยานนี้เสีย อย่าให้ฟังเอาเปนพยาน ถ้ามีพยานอื่นที่ไม่ต้องค้านเบิกความเจือพยานที่ต้องค้านเข้ามาด้วย จึ่งให้ปฤกษาตัดสินประกอบกันฟังได้
มาตรา๓มีกฎหมายในลักษณพยานแต่ว่า ถ้าเกิดวิวาทกันในที่บ่อนแล นักเลงเปนพยาน ถ้าวิวาทกันในโรงทำเกือก ช่างเกือกเปนพยาน ถ้าวิวาทกันในที่ทำประมง ชาวประมงเปนพยาน ถ้าวิวาทกันในที่เสพย์สุรา ผู้เสพย์สุราเปนพยาน ฟังได้ แลที่วังเจ้า บ้านขุนนาง บ้านเสรษฐี บ้านพ่อค้าใหญ่ ที่ไม่มีผู้ใดแปลกปลอมเข้าไปได้ เกิดวิวาท ไม่มีพยานนอกบ้านผู้ใดผู้หนึ่งรู้เหน มีแต่บุตรภรรยาทาษลูกหนี้บ่าวไพร่เจ้าของวังเจ้าของบ้านเจ้าของเรือนอยู่ในถานวิวาทได้รู้เหน จะอ้างเปนพยานฟังได้ฟังไม่ได้ประการใด ไม่มีในกฎหมาย ยังฃวาอยู่ แต่นี้สืบไป ถ้าเจ้าตั้งกรมแล้ว เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม แลขุนนางผู้มีบันดาศักดิ์ที่ได้รับสัญญาบัตรตั้งแต่นา ๑๐๐๐ ไร่ขึ้นไป เสรษฐีแลพ่อค้าใหญ่ ซึ่งไม่มีผู้ใดแปลกปลอมปะปนเข้าไปได้ เกิดวิวาทด้วยคดีต่าง ๆ แลเกิดโจรในวังเจ้า ในบ้านขุนนาง ในบ้านเสรษฐี ในบ้านพ่อค้าใหญ่ดังกล่าวมานี้ ไม่มีพยานนอกวังนอกบ้านรู้เหน เจ้าของวังเจ้าของบ้านจะอ้างเอาทาษลูกหนี้บ่าวไพร่เจ้าของวังเจ้าของบ้านเรือนในถานที่วิวาทรู้เหนเปนพยานสมกับข้อความ ก็ควรฟังเปนพยานได้ เพราะว่าพยานอยู่ในถานที่มูลวิวาท
มาตรา๔มีกฎหมายลักษณพยานข้อหนึ่งว่า คู่ความอ้างพยานนำตระลาการไปเผชิญโดยอ้าง ครั้นภบพยานแล้ว เชิญไปสถานที่ควร ตระลาการถามพยานโดยอ้าง พยานนิ่งอยู่ มิได้ว่าถ้อยคำสิ่งใดก็ดี อนึ่ง พยานสาบาลตัวแล้วนิ่งเสียมิได้ให้การ มิได้แก้คำค้าน มิได้กล่าวคำสิ่งใดไซร้ ชื่อว่าโมฆพยาน บมิควรเอาผู้นั้นเปนพยาน กฎหมายบทนี้เหนว่า โจทย์จำเลยอ้างพยาน ก็ต้องสาบาลให้การตามรู้ตามเหนตามได้ยินตามสัตย์ตามจริง จะอั้นความไว้ไม่ให้การ จะให้ยกพยานเสียไม่ให้สืบนั้น ไม่ควร ให้ยกกฎหมายบทนี้เสีย แต่นี้สืบไป ถ้าโจทย์จำเลยอ้างพยาน ก็ให้ตระลาการเสมียนผู้คุมเชิญพยานมาสาบาลในถานที่ควร แล้วสืบตามประเด็นข้ออ้างของโจทย์จำเลย ถ้าพยานอั้นความไว้ไม่ให้การตามประเด็นข้ออ้าง แลไม่แก้ค้านแก้ติงตามข้อค้านข้อติง ก็ให้ตระลาการเสมียนผู้คุมเกาะพยานไว้ ให้โจทย์จำเลยเฝ้าพยานอยู่ อย่าให้มีเหตุที่จะแนะนำซักซ้อมจ้างบนพยานประกระการใด ๆ แล้วให้ตระลาการสืบตามประเด็นข้ออ้างของโจทย์จำเลยให้จงได้ เสร็จแล้วจึ่งให้ปล่อยพยานไป
มาตรา๕กฎหมายในลักษณพยานข้อหนึ่งว่า คู่ความนำตระลาการไปเผชิญพยานโดยอ้าง มิภบพยานที่บ้านเรือน พยานมีที่ไปแลมิได้ไปทางไกล ผู้อ้างจะนำไปสถานที่อื่นไซร ให้นำไปแต่สามแห่ง ถ้ามิภบ ให้กลับมาคอยท่าพยานอยู่ที่บ้านเรือนจนพระอาทิตย์อัษฎงคตให้ถ้วนคำรพสามวัน ถ้ามิภบพยานไซร้ ชื่อว่าประไลยสักขีพยาน ๆ นั้นเปนสูญ กฎหมายข้อนี้เหนว่า โจทย์จำเลยนำตระลาการเสมียผู้คมไปสืบถึงบ้านเรือนพยาน ไม่ภบพยาน จะให้คอยพยานอยู่จนพระอาทิตย์อัษฎงคตถึงสามวันนั้น ก็จะป่วยการตระลาการเสมียนผู้คุมว่าการอื่น ๆ ให้เนิ่นช้าไป กฎหมายข้อนี้ให้ยกเสีย แต่นี้สืบไป ถ้าตระลาการจะไปสืบถึงบ้านเรือนพยาน ไม่ภบพยานครั้งหนึ่งสองครั้งสามครั้ง ไม่ต้องคอยพยานให้ป่วยการเวลา ให้ตระลาการทอดโฉนดบาทหมายไปถึงเจ้าหมู่มุลนายแลกำนันอำเภอให้ส่งตัวพยานมาให้ตระลาการเสมียนผู้คุมสืบให้จงได้
มาตรา๖กฎหมายในลักษณพยานข้อหนึ่งว่า โจทย์จำเลยอ้างพยานผู้ใด ออกชื่อพยานปรากฎแล้ว ให้เผชิญในวันนั้น ถ้าอยู่แรมคืนจึ่งไปเผชิญ บมิควรเอาผู้นั้นเปนพยาน กฎหมายข้อนี้เหนว่า ถ้าโจทย์จำเลยมีพยานรู้เหนแต่คนหนึ่งสองคน ออกชื่อปรากฎแล้ว จะนำตระลาการไปสืบมิทัน บางทีพยานบ้านอยู่ไกล บางทีไปสืบไม่ภบตัวพยาน จะให้ยกพยานเสียนั้น ยากที่ตระลาการจะพิจารณาได้ความจริง กฎหมายข้อนี้ให้ยกเสีย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อน่า ถ้าโจทย์จำเลยอ้างพยานระบุชื่อปรากฎแล้ว ก็ให้ตระลาการเสมียนผู้คุมสืบพยานที่โจทย์จำเลยระบุชื่อไว้ก่อนให้จงได้ แล้วจึ่งให้สืบพยานที่ยังไม่ได้ระบุชื่อต่อภายหลัง
มาตรา๗ผู้มีอรรถคดีเปนความแก่กัน ตระลาการพิจารณาจะถึงสืบพยานโจทย์จำเลย เหนว่าสำนวนบกพร่อง กลัวความจะแพ้ แกล้งกำหนดอ้างพยานฝ่ายละ ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๔๐ คนบ้าง เพื่อประสงค์จะหาพยานสืบให้สมข้อความของตน แลคิดจะเหนี่ยวหน่วงถ่วงความให้เนิ่นช้ามิให้ตระลาการพิจารณาให้เสร็จลงได้ กฎหมายแต่ก่อนก็หาได้มีบังคับให้กำหนดพยานว่าเท่าใดไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ถ้าผู้มีอรรถคดีเปนความกันณโรงศาลกรมใด ๆ ตระลาการพิจารณาจะถึงสืบพยาน ให้โจทย์จำเลยกำหนดอ้างพยาน ถ้าความ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ให้กำหนดอ้างพยานแต่ข้อละ ๓ คน ถ้าความหลายข้อขึ้นไป ก็ให้กำหนดอ้างพยานในสำนวนฝ่ายละ ๑๒ คน ถ้าโจทย์จำเลยจะอ้างมากกว่า ๑๒ คนขึ้นไป ห้ามอย่าให้ตระลาการเสมียนรับจดกำหนดพยานไว้เปนอันขาดทีเดียว อนึ่ง โจทย์จำเลยนำตระลาการเสมียนผู้คุมไปสืบพยาน ๆ สาบาลตัวให้การแก้ค้านเสร็จแล้ว ฝ่ายโจทย์แลจำเลยที่มิได้เปนผู้อ้างร้องต่อตระลาการเสมียนผู้คุมติดใจพยานว่าเปนพยานรับสินจ้างสินบนทนสาบาล มีพยานรู้เหน กลัวจะหลบหนีไป ฃออายัตตัวพยานไว้แก่ตระลาการเสมียนผู้คุม ก็ให้ตระลาการเสมียนผู้คุมรับอายัตเรียกเอาค่าเชิงประกันแก่พยาน แล้วให้ปล่อยตัวพยานไป ให้ตระลาการบังคับให้โจทย์จำเลยนำสืบพยานตามซึ่งได้กำหนดไว้ให้เสร็จก่อน ถ้าโจทย์จำเลยจะฟ้องกล่าวโทษพยานผู้รับสินจ้างสินบน จึ่งให้ฟ้องต่อภายหลัง ให้ประทับฟ้องพยานมาให้ตระลาการเดิมร่วมศาลเดียวกันเร่งพิจารณาความพยานรับสินจ้างสินบน เสร็จสำนวนแล้วเมื่อใดจึ่งให้คัดคำหาคำให้การคำพยานชั้นความเดิมแลชั้นความพยานรับสินจ้างสินบนขึ้นให้ผู้พิภาคษาปฤกษาตัดสินพร้อมกัน แลให้ลูกขุนผู้ปรับลูกขุนตระลาการผู้รักษาเมืองกรมการแต่บันดาได้พิจารณาปฤกษาตัดสินความให้ทำตามพระราชบัญญัติทุกประการ ถ้าผู้ใดไม่ทำตาม จะให้ลงโทษตามโทษานุโทษ ๚ะ
ประกาศให้ไว้ณวันอาทิตย์ เดือนสี่ ขึ้นแปดค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๒ ปีมเมีย โทศก