ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายไทยฯ/เล่ม 6/เรื่อง 5

จาก วิกิซอร์ซ
ประกาศว่าด้วยนัดพิจารณาความแพ่ง

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงตั้งพระราชหฤไทยเพื่อจะให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีความของราษฎรณศาลทั้งปวงเปนระเบียบเรียบร้อย ให้ราษฎรผู้เกี่ยวข้องต้องคดีได้รับผลยุติธรรมโดยลำดับโดยเร็ว มิให้คดีความสะสมคั่งค้างเปนที่เสียเวลาการทำมาหากิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีสภาประชุมปฤกษาเรียบเรียงพระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่งแลความอาญา เปลี่ยนแก้เพิ่มเติมพระราชกำหนดกฎหมายเดิมให้เปนการง่ายและระเบียบเรียบเร็วโดยยุติธรรมสมควรแก่กาลสมัยไว้เปนพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดินสืบไป แต่การนั้นเปนการใหญ่ ยังไม่สำเร็จได้โดยเร็ว

บัดนี้ทรงตรวจรายงานการพิจารณาคดีความณศาลต่าง ๆ คั่งค้างเพราะเหตุคู่ความมิใคร่พร้อมตามเวลานัดหมายของศาล การพิจารณาต้องเลื่อนเวลาตามตัวความอยู่เสมอ มิใคร่สำเร็จตามกำหนดได้

ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การนัดความยังเปนเหตุขัดขวางในทางพิจารณาชักช้าอยู่ ควรต้องผ่อนแก้ไขให้การได้ดำเนินไปพลางก่อน กว่าพระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาจะเสร็จได้ใช้ต่อไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า แต่นี้ต่อไปการพิจารณาอรรถคดีที่ศาลมีหมายนัดเรียกคู่ความมาทำการพิจารณาต่าง ๆ เปนต้นตั้งแต่นัดจำเลยมาให้การนัดชี้สองสฐานสืบพยานฟังคำพิพากษาแลนัดอย่างอื่น ๆ ตามกำหนดวันในหมายนัดนั้น ๆ ถ้าคู่ความฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลยได้รับหมายนัดรู้กำหนดวันแลเวลาแล้วมิได้มาเอง ฤๅไม่มีคนแก้ต่างว่าต่างมาแทน แลไม่แจ้งเหตุการที่จำเปนจะมาไม่ได้ในวันนัดนั้นด้วยเหตุประการใดให้ศาลทราบ ก็ให้ศาลถือว่าคู่ความนั้นขาดนัด ให้บังคับตามความในประกาศต่อไปนี้

(๑)เมื่อศาลได้กำหนดวันชำระความเรื่องใด ให้ออกหมายนัดให้คู่ความทราบล่วงน่าก่อนถึงวันนัดตั้งแต่ ๕ วันขึ้นไปพอที่คู่ความจะได้มีเวลาเตรียมตัว หมายนัดนั้นให้พิมพ์ข้อความตามข้อพระราชบัญญัตินี้ที่เกี่ยวกับคดีนั้น ๆ ไว้ให้ผู้รับหมายทราบด้วย เมื่อเจ้าพนักงานศาลถือหมายไปให้คู่ความทราบแล้ว ให้คู่ความผู้รับเซนชื่อรับใบคู่ฉบับหมาย แล้วให้เจ้าพนักงานศาลฉีกคู่ฉบับหมายนำกลับมาส่งต่อยกระบัตรศาลลงบาญชีความที่รับหมายนัด แล้วเสนอต่อผู้พิพากษา แลประกาศไว้ณศาล

(๒)เมื่อถึงวันกำหนดนัด ผู้พิพากษาเรียกความที่นัดมาพิจารณาเรื่องใด โจทย์จำเลยฤๅผู้แก้ต่างว่าต่างโจทย์จำเลยไม่มาตามนัดทั้งสองข้าง แลมิได้มีคำชี้แจงเหตุที่จำเปนจะมาไม่ได้ฤๅคำขอเลื่อนวันนัดอย่างหนึ่งอย่างใดที่ศาลจะเห็นสมควร โจทย์จำเลยขาดนัดเช่นนี้ ก็ให้ศาลพิพากษาเลิกความเรื่องนั้นเสีย

(๓)ถ้าโจทย์ฤๅผู้ว่าต่างโจทย์มิได้มาว่าความตามกำหนดหมายนัด แลไม่แจ้งเหตุการฤๅขอเลื่อนวันประการใด แต่ฝ่ายจำเลยฤๅผู้ว่าต่างจำเลยได้มาตามนัด ถ้าความนัดจำเลยยังไม่ได้ให้การ ก็ให้พิพากษายกฟ้องโจทย์ผู้ขาดนัดเสียทีเดียว ถ้าจำเลยได้ให้การไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลตรวจดูในคำให้การจำเลย ถ้าคำให้การจำเลยรับตามฟ้องเพียงใด ให้พิพากษาแต่ตามที่รับเพียงนั้น ข้อที่ไม่รับกันนั้นไม่ต้องพิจารณาต่อไป ให้ยกเสีย แต่ข้อที่จำเลยให้การเกี่ยวแก้กลับกล่าวโทษโจทย์นั้น ถ้าจำเลยจะว่ากล่าวต่อไป ก็ให้จำเลยไปฟ้องหาโจทย์เปนคดีหนึ่งต่างหาก

(๔)ถ้าจำเลยฤๅผู้ว่าต่างจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัด แลมิได้บอกเหตุที่จำเปนจะมาไม่ได้ให้พอที่ศาลจะเห็นสมควร แลศาลไต่สวนเชื่อแน่ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกหมายนัดนั้นแล้วแลไม่มาตามนัด แต่ฝ่ายโจทย์ได้มาตามนัด ก็ให้ศาลพิจารณาสำนวนโจทย์ไปฝ่ายเดียวแลตัดสินตามรูปความ

(๕)คดีที่จำเลยขาดนัด ศาลพิจารณาแต่สำนวนโจทย์ไปฝ่ายเดียวก็ดี ฤๅคดีที่ฝ่ายโจทย์ขาดนัด ฤๅโจทย์จำเลยขาดนัดด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ศาลได้พิพากษายกฟ้องยกความเสียก็ดี บันดาคดีที่ศาลได้พิพากษาโดยเหตุคู่ความขาดนัดดังกล่าวมานั้น ถ้าคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฤๅทั้งสองฝ่ายมีเหตุการจำเปนจริงที่ตนจะมาว่าความตามนัดไม่ได้โดยสุจริต ได้มาพิสูทธิ์ตนชี้แจงแสดงเหตุต่อศาลในเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนศาลยังมิได้ตัดสินความก็ดี ฤๅเมื่อศาลได้ตัดสินแล้ว ได้มาร้องทุเลาภายในกำหนด ๑๕ วันนับตั้งแต่วันตัดสินเปนต้นไปก็ดี ก็ให้ศาลพิสูทธิ์ไต่สวนตามคำทุเลานั้นก่อน ถ้าได้ความจริงสมคำทุเลา แลผู้พิพากษาเห็นสมควรแก่ยุติธรรมที่จะต้องพิจารณาคดีนั้นตามสำนวนต่อไป ก็ให้พิพากษายกคำพิพากษาเดิมเสีย แลกำหนดวันนัดพิจารณาคดีเรื่องนั้นต่อไปใหม่ก็ได้ แต่ต้องยกไปไว้ท้ายบาญชีกำหนดวันพิจารณาโดยอันดับต่อไป

(๖)บันดาคดีที่โจทย์จำเลยขาดนัดทั้งสองฝ่ายฤๅแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ดี ถ้าเปนความพระราชอาญาซึ่งจำเลยต้องคำหาในคดีฉกรรจ์มหันตะโทษ จะยกความนั้นเสียไม่ได้ ให้ศาลลงโทษผู้ขาดนัดเอาตัวขังไว้มีกำหนดไม่เกินเดือนหนึ่งลงมา

(๗)คดีเรื่องใดที่ผู้พิพากษาได้กำหนดวันนัดพิจารณาชำระแลออกหมายนัดไปยังคู่ความได้รับหมายนัดแล้ว โจทย์จำเลยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะขอเลื่อนวันชำระต่อไป ผู้พิพากษาเห็นสมควร ก็ให้เลื่อนได้ ถ้าเวลาว่าความในศาลนั้นไม่พอพิจารณาความที่กำหนดชำระในวันนั้นก็ดี ฤๅมีเหตุการจำเปนที่ผู้พิพากษาเห็นสมควรจะงดเลื่อนการพิจารณาต่อไปวันอื่นก็ดี ศาลมีอำนาจจะเลื่อนกำหนดไปพิจารณาเวลาอื่นได้

ให้ผู้พิพากษาตระลาการแลผู้มีอรรถคดีณศาลทั้งปวงปฏิบัติให้ต้องตามประกาศนี้เทอญ

ประกาศมาณวันที่ ๗ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เปนวันที่ ๑๐๐๔๐ ในรัชกาลปัตยุบันนี้