ข้ามไปเนื้อหา

การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคนำ/บทที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
ภาคนำ
การปกครองอินโดจีนฝรั่งเศสทั่วไป
บทที่ ๑
การปกครองส่วนกลางของอินโดจีนฝรั่งเศส

อินโดจีนฝรั่งเศส (Indochine Française) คือ อาณานิคมฝรั่งเศสซึ่งฝรั่งเศสจัดตั้งเป็นสหภาพขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๗ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ในครั้งนั้น สหภาพนี้ประกอบด้วยอาณานิคมญวนใต้ (Conchinchine) ซึ่งฝรั่งเศสได้เข้าถืออำนาจปกครองเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๒ (พ.ศ. ๒๔๐๕) เขมรซึ่งได้เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๓ (พ.ศ. ๒๔๐๖) ญวนกลาง (Annam) ซึ่งได้เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๔ (พ.ศ. ๒๔๒๗) และญวนเหนือ (ตังเกี๋ย) ซึ่งได้พร้อมกับญวนกลางระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๔๓๖, ร.ศ. ๑๑๒) ถึง ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐, ร.ศ. ๑๒๖) ดินแดนไทยแท้ ๆ ซึ่งฝรั่งเศสเฉือนไปเป็นชิ้น ๆ ก็ได้ไปรวมเข้าอยู่ฝนสหภาพอินโดจีนนี้ด้วย ณะบัดนี้ สหภาพอินโดจีนฝรั่งเศสจึงประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:

๑.รัฐอารักขาตังเกี๋ย (ญวนเหนือ) เมืองหลวง ฮานอย

๒.รัฐอารักขาอานัม (ญวนกลาง) เมืองหลวง เว้

๓.อาณานิคมโคแชงชีน (ญวนใต้) เมืองหลวง ไซ่ง่อน

๔.รัฐอารักขาเขมร เมืองหลวง พนมเป็ญ

๕.รัฐอารักขาลาว เมืองหลวง เวียงจันทน์

อนึ่ง ดินแดนอีกเขตต์หนึ่ง เรียกชื่อว่า กวงเชาวัน ซึ่งฝรั่งเศสได้เช่าจากจีนนั้น ก็ได้ถูกรวมเข้ากับอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๙ (พ.ศ. ๒๔๔๒) แต่มิได้มีสภาพเป็นรัฐดังเช่นแคว้นอื่น ๆ

อินโดจีนฝรั่งเศสมีรัฐบาลกลางตั้งที่ฮานอย เรียกว่า Gouvernement Général มีผู้สำเร็จราชการซึ่งเรียกว่า Gouverneur Général เป็นประมุข รัฐบาลกลางนี้มีอำนาจปกครองทั่วอินโดจีน แต่เนื่องจากอินโดจีนเป็นสหภาพแห่งอาณานิคม ซึ่งแต่ละแห่งถือว่า มีสภาพเป็นรัฐ ดังนั้น กิจการหลายอย่างจึงดำเนินโดยรัฐต่าง ๆ แต่แม้กระนั้นก็ดี รัฐบาลอินโดจีนก็มีอำนาจควบคุมการบริหารของรัฐต่าง ๆ ได้โดยเฉียบขาด

แม้รัฐที่ประกอบสหภาพอินโดจีนจะมีฐานะต่าง ๆ กันก็ดี และแม้อินโดจีนจะเป็นสหภาพก็ดี แต่ตามกฎหมายฝรั่งเศสถือว่า อินโดจีนเป็นอาณานิคมอันเดียว และอำนาจอธิปตัยในอาณานิคมนี้เป็นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสจะใช้อำนาจอธิปตัยอย่างไรก็ได้ และผู้ใช้อำนาจอธิปตัยแทนสาธารณรัฐฝรั่งเศส คือ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนซึ่งเป็นข้ารัฐการสังกัดกระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศส ผู้สำเร็จราชการรับผิดชอบต่อกระทรวงและรัฐบาลของตนเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดในอินโดจีนเลย แม้เจ้าพื้นเมืองบางองค์ในอินโดจีน จะได้ชื่อว่า เป็นพระจักรพรรดิ์ หรือกษัตริย์ ดังเช่นในกรณีญวนกลางและเขมร แต่ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนก็มีอำนาจเหนือท่านผู้สูงศักดิ์เหล่านั้น จึงเมื่อได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่า อำนาจของผู้แทนสาธารณรัฐฝรั่งเศส คือ ผู้สำเร็จราชการนั้น ไม่ผิดแผกไปจากอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเลย

อำนาจนิติบัญญัติสำหรับอินโดจีนทั่วไปเป็นของผู้สำเร็จราชการโดยตรง ซึ่งใช้อำนาจนี้โดยประกาศกฎหมายในหนังสือรัฐกิจจานุเบกษาของอินโดจีน (Journal Officiel de l'Indochine) มิได้มีสภาผู้แทนราษฎรสำหรับพิจารณาร่างกฎหมายดังเช่นในระบอบประชาธิปตัย ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเศสเจ้าของอินโดจีนเคยขึ้นชื่อว่า เป็นผู้นำลัทธิประชาธิปตัยในยุโรป แต่สำหรับในอาณานิคมญวนใต้นั้น มีกฎหมายบัญญัติให้มีผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส และส่งเข้าไปประชุมในสภาผู้แทนราษฎรที่กรุงปารีสเป็นฉะเพาะ

อานาจบริหารสำหรับอินโดจีนทั่วไปเป็นของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ซึ่งมีอำนาจปกครองเหนือแคว้นต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด และมีอำนาจทางทูตด้วย

อำนาจตุลาการก็เป็นของผู้สำเร็จราชการด้วยเหมือนกัน ผู้สำเร็จราชการใช้อำนาจทางนี้คล้าย ๆ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรมในประเทศฝรั่งเศสเช่นนั้น

ในทางทหาร ผู้สำเร็จราชการเป็นจอมทัพ แต่ในขณะเมื่อได้มีประกาศใช้กฎอัยยการศึกแล้ว ผู้บัญชาการทหารบกและเรือมีอำนาจเด็ดขาดในทางทหาร ผู้สำเร็จราชการเป็นแต่เพียงที่ปรึกษาในขณะนั้น

ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีสภาที่ปรึกษาหลายสภา สภาที่สำคัญ คือ:―

๑.สภาแห่งรัฐบาล (Conseil de Gouvernement) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นข้ารัฐการชั้นผู้ใหญ่ของอินโดจีน และมีอำนาจให้คำปรึกษาในกิจการคลัง ภาษีอากร และการปกครองทั่วไป ผู้สำเร็จราชการเป็นประธานสภานี้โดยตำแหน่ง

๒.สภาใหญ่สำหรับการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการคลัง (Grand Conseil des Intérêts Economiques et Financiers) ซึ่งมีอำนาจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการเศรษฐกิจและการคลัง สภานี้ประกอบด้วยสมาชิกทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวพื้นเมือง แต่สมาชิกชาวฝรั่งเศสมีจำนวนมากกว่าสมาชิกชาวพื้นเมือง สภาเลือกประธานขึ้นเองในหมู่สมาชิก

๓.สภาป้องกันประเทศ (Conseil de Défénse) ซึ่งมีอำนาจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการป้องกันอาณานิคม ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนเป็นประธานสภานี้โดยตำแหน่ง

๔.สภาสูงสำหรับการสุขาภิบาล (Conseil Supérieur d'Hygiène) มีอำนาจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสุขาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเป็นประธานสภานี้โดยตำแหน่ง

ผู้สำเร็จราชการมีผู้ช่วยซึ่งครองตำแหน่งรองลงมาคนหนึ่ง เรียกว่า Secrétaire Général du Gourvernement (เลขาธิการรัฐบาล) ซึ่งมีฐานะเท่ากับเรสิดังต์สุเปริเออร์ประจำแคว้นต่าง ๆ และมีอำนาจสั่งการแทนผู้สำเร็จราชการอินโดจีนได้

ตำแหน่งอื่น ๆ ซึ่งประกอบรัฐบาลกลางอินโดจีน คือ อธิบดีกรมกลาง, อธิบดีกรมศุลกากร สรรพากร และสรรพสามิตต์, อธิบดีกรมคลัง, อธิบดีกรมยุตติธรรม, อธิบดีกรมควบคุมการเงิน, อธิบดีกรมไปรษณีย์ไทรเลข, อธิบดีกรมโยธาธิการ, อธิบดีกรมศึกษาธิการ, อธิบดีกรมสาธารณสุข. ที่เรียกตำแหน่งเหล่านี้ว่า อธิบดี เพราะภาษาฝรั่งเศสไม่เรียกว่า Ministre แต่ความจริงก็มีฐานะคล้ายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

กิจการซึ่งดำเนินโดยรัฐบาลกลางอินโดจีนและโดยเงินงบประมาณส่วนกลาง คือ:―

๑.การควบคุมการเงิน

๒.การทหารบก

๓.การทหารเรือ

๔.ระเบียบราชการพลเรือน

๕.ระเบียบราชการตุลาการ

๖.การคลัง

กิจการซึ่งดำเนินในส่วนภูมิภาค แต่ใช้เงินในงบประมาณของรัฐบาลกลาง คือ:―

๑.การภาษีศุลกากร การสรรพากร และสรรพสามิตต์

๒.การไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์

๓.การวิทยุโทรเลข

๔.การจดทะเบียนทรัพยสิทธิ์

๕.การเหมืองแร่

๖.การภูมิศาสตร์

๗.การห้องสมุด

๘.การจดทะเบียนเรือ

๙.โรงเรียนภาษาฝรั่งเศสในตะวันออกไกล

๑๐.การอุตตุนิยมวิทยา

๑๑.การค้นคว้าทางเกษตรวิทยา

๑๒.การสหกรณ์กสิกรรม

ฯลฯฯลฯ

กิจการซึ่งดำเนินในส่วนภูมิภาค แต่ใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลกลางและของแคว้นต่าง ๆ ร่วมกัน คือ

๑.การโยธาสาธารณะ

๒.การสาธารณสุขและการแพทย์

๓.การศึกษาสาธารณะ

๔.การตำรวจและตำรวจสันติบาล

๕.สถานปาสเตอร์แห่งอินโดจีน

๖.การบำบัดโรคแคนเซ่อร์

๗.การบำเหน็จบำนาญพลเรือนแห่งคนพื้นเมือง

๘.สำนักงานข้าวแห่งอินโดจีน

๙.การพาณิชย์

ฯลฯฯลฯ

รัฐบาลกลางมีงบประมาณรายได้ซึ่งได้จากภาษีอากรและกิจการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:―

๑.ภาษีศุลกากรและการสรรพากร

๒.อากรสรรพสามิตต์ต่าง ๆ

๓.การผูกขาดตัดตอน

๔.ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนต่าง ๆ

๕.รายได้จากการไปรษณีย์โทรเลข

๖.รายได้จากการรถไฟ

๗.รายได้จากการรัฐพาณิชย์อื่น ๆ

๘.รายได้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) อินโดจีนมีงบประมาณรายได้และรายจ่ายเป็นจำนวนเงิน ๑๐๒,๖๑๖,๐๐๐ เหรียญ