ข้ามไปเนื้อหา

การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคหนึ่ง/บทที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
ภาคหนึ่ง
การปกครองแคว้นลาว
บทที่ ๑
การปกครองส่วนกลางของแคว้นลาว

ฝรั่งเศสได้แคว้นลาวไปเป็นรัฐอารักขาโดยสนธิสัญญากับไทย ไม่ได้ทำสนธิสัญญากับเจ้าพื้นเมือง เพราะครั้งนั้น ลาวก็คือส่วนหนึ่งของประเทศไทยแท้ ๆ เพราะฉะนั้น แม้ลาวจะมีสภาพเป็นรัฐอารักขาก็จริง แต่ก็มีฐานะต่ำต้อยกว่าเขมร ซึ่งเป็นรัฐอารักขาโดยสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับเจ้าพื้นเมืองซึ่งยังปกครองประเทศอยูโดยนิตินัย ลาวจึงเป็นรัฐอารักขาแต่ในนาม เพราะความจริงได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันอาณานิคมแท้ ๆ

ประมุขแห่งแคว้นลาว คือ Résident Supérieur ชาวฝรั่งเศส เรสิดังต์สุเปริเออร์ หรือผู้สำเร็จราชการแคว้นนี้ เป็นประมุขแห่งแคว้นทั้งโดยนิตินัยและโดยพฤตตินัย เพราะแคว้นลาวไม่มีกษัตริย์พื้นเมืองดังเช่นในญวนกลางและเขมร มีแต่เจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางซึ่งฝรั่งเศสยกย่องให้เป็นกษัตริย์แห่งนครหลวงพระบาง (Roi de Luang Prabang) โดยฉะเพาะ เรสิดังต์สุเปริเออร์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในทางปกครอง บังคับบัญชาข้ารัฐการทุกตำแหน่งหน้าที่ รับผิดชอบในความปลอดภัย ทุกข์สุขของราษฎร การภาษีอากร และในทางเศรษฐกิจ ต่อผู้สำเร็จราชการอินโดจีน

เรสิดังต์สุเปริเออร์มีสภาที่ปรึกษารัฐการแห่งแคว้นสภาเดียว คือ Assemblée Consultative Indigene (สภาที่ปรึกษาชาวพื้นเมือง) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์ตามแต่เรสิดังต์สุเปริเออร์จะส่งเรื่องไปให้พิจารณา และในแคว้นลาวนี้มีองค์การ เช่น Chambre de Commerce (หอการค้า) และ Chambre d'Agriculture (หอการเกษตรกรรม) ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของหอนั้น ๆ เช่นเดียวกับแคว้นอื่น ๆ แต่เพื่อการประหยัด จึงได้รวมหอทั้ง ๒ เป็นหอเดียวกัน นอกจากนี้ ก็มีคณะกรรมการเทฆนิค (Conseils techniques) ดังเช่นในแคว้นอื่น ๆ เหมือนกัน

ตำแหน่งรัฐการในแคว้นลาวถัดจากเรสิดังต์สุเปริเออร์ลงไปมี

๑.จเรการปกครองและการเมือง

๒.รอง (ปลัด) เรสิดังต์สุเปริเออร์

๓.ผู้อำนวยการไปรษณีย์โทรเลข

๔.ผู้บังคับการตำรวจ

๕.หัวหน้ากองคลัง

๖.หัวหน้ากองศุลกากรและสรรพากร

๗.หัวหน้ากองสาธารณสุข

๘.หัวหน้ากองสัตวแพทย์

๙.หัวหน้ากองป่าไม้และที่ดิน

๑๐.หัวหน้ากองโลหกิจ

๑๑.หัวหน้ากองเกษตร์

๑๒.หัวหน้ากองโยธาเทศบาล

๑๓.หัวหน้ากองธรรมการ

๑๔.หัวหน้ากองทะเบียนบุริมสิทธิ์และทรัพยสิทธิ์

๑๕.หัวหน้าแผนกกลาง ซึ่งตามปกติมี ๓ ตำแหน่ง

นอกจากนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่รองลงมาตามสมควร

เจ้าหน้าที่กองต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้ารัฐการผู้ใหญ่นั้น ถ้าจะเทียบตำแหน่งกับฝ่ายไทยแล้ว ก็เท่ากับข้าหลวงภาคหรือหัวหน้ากอง กิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานเหล่านี้จะได้มีอธิบายไว้ในบทว่าด้วยลักษณะการบริหารและกิจการบางอย่างในแคว้นลาว สำนักงานของเรสิดังต์สุเปริเออร์และของหัวหน้ากองต่าง ๆ ตั้งอยู่ณเมืองเวียงจันทน์

แคว้นลาวมีงบประมาณโดยฉะเพาะ และการทำงบประมาณนี้อยู่ในอำนาจของเรสิดังต์สุเปริเออร์ งบประมาณรายได้ได้จากภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรงมีดังนี้:―

๑.ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวยุโรปและคนต่างด้าว

๒.ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวพื้นเมือง

๓.ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวญวน

๔.ภาษีรัชชูปการสำหรับคนต่างด้าวชาวเอเซีย

๕.ภาษีถ่ายแรงแทนเกณฑ์จ้าง

๖.ภาษีถ่ายแรงแทนทำงานสาธารณประโยชน์สำหรับชาวญวน

๗.ภาษีโรงค้า

๘.ภาษีโรงต้มกลั่นสุราและการจำหน่ายสุรา

๙.ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้มีและใช้อาวุธปืน ค่าทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะ ฯลฯ

๑๐.ภาษีที่ดิน

๑๑.ภาษีรถจักรยานและเกวียน

๑๒.ค่าภาคหลวงในการตัดฟันชักลากไม้

ฯลฯฯลฯ

ภาษีทางอ้อมซึ่งเก็บทุก ๆ แคว้นมิดังนี้:―

๑.ภาษีศุลกากร

๒.ภาษีการจดทะเบียนบุริมสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ และนิติกรรม

๓.อากรแสตมป์

๔.ภาษีฝิ่น

๕.ภาษีสุราพื้นเมือง

๖.ภาษีเกลือ

๗.ภาษีสุราต่างประเทศ

๘.ภาษียาสูบ

๙.ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง

๑๐.ภาษีไม้ขีดไฟ

๑๑.ภาษีอาวุธปืนและเครื่องกะสุนปืน

๑๒.ภาษีไพ่

ฯลฯฯลฯ