การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคหนึ่ง/บทที่ 4

จาก วิกิซอร์ซ
บทที่ ๔
การศาลยุตติธรรมในแคว้นลาว

ศาลยุตติธรรมในแคว้นลาวแบ่งแยกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศสและคนต่างด้าว อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคนลาว

สำหรับการพิจารณาซึ่งเกี่ยวกับคนชาติฝรั่งเศสและคนต่างด้าวนั้น ใช้กฎหมายฝรั่งเศส ถ้าเกี่ยวกับคนชาติลาว ใช้กฎหมายลาวโดยฉะเพาะ

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่เมืองเวียงจันทน์ มีศาลอาญาและศาลแพ่งสำหรับพิจารณาคดีอันเกี่ยวกับคนชาติฝรั่งเศสและคนต่างด้าวเป็นคู่ความ ผู้พิพากษาเป็นชาวฝรั่งเศส แต่บัดนี้ ได้ล้มเลิกศาลนั้นเสียแล้ว เพราะเกี่ยวแก่การประหยัดเงิน จึงคงให้มีแต่ศาลลาว คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา สำหรับคนชาติลาวเท่านั้น.

ส่วนศาลสำหรับพิจารณาคดีเกี่ยวแก่คนชาติฝรั่งเศสและคนต่างด้าว ถ้าเป็นคดีสำคัญ ก็จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นชั่วคราว โดยมีคณะผู้พิพากษามาจากเมืองฮานอย ถ้าเป็นคดีเล็กน้อย ก็ให้นำคดีไปพิจารณาที่ศาลเมืองฮานอยหรือไซ่ง่อนตามท้องที่ของศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณา แล้วแต่กรณี เป็นอันว่า ศาลในหัวเมืองลาวขณะนี้มีแต่ศาลลาวสำหรับพิจารณาคดีตามกฎหมายลาวเท่านั้น.

ศาลชั้นต้น

๑. ศาลชั้นต้นมีอยู่ทุกเมืองซึ่งมีที่ว่าการเจ้าเมือง ศาลนี้ประกอบด้วยคณะผู้พิพากษามีหัวหน้าศาล ๑ ผู้พิพากษารอง ๑ ผู้พิพากษาสำรอง ๑ จ่าศาล ๑ รองจ่าศาล ๑

๒. ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมักคัดเลือกจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายที่เมืองเวียงจันทน์ นอกจากนั้น คัดเลือกจากข้ารัฐการฝ่ายเมือง

๓. ตามธรรมนูญศาลยุตติธรรม ศาลเหล่านี้แยกอำนาจเด็ดขาดจากเจ้าเมือง เว้นแต่เมืองใดยังหาตัวผู้พิพากษาบรรจุตามตำแหน่งไม่ได้ จึงได้ฝากงานศาลนี้ไว้แก่เจ้าเมืองและอุปฮาดทำหน้าที่ตุลาการอีกตำแหน่งหนึ่ง

๔. อำนาจศาลชั้นต้นนี้พิพากษาอรรถคดีในทางอาญาเพียงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี สำหรับค่าปรับเป็นพินัยหลวงหรือสินไหมนั้นไม่จำกัดจำนวน และสำหรับคดีแพ่งมีอำนาจพิพากษาได้สำหรับทุนทรัพย์ไม่เกินห้าสิบเหรียญ หรือคดีแพ่งอื่น ๆ ซึ่งมิได้เกี่ยวแก่ทุนทรัพย์

ศาลชั้นที่ ๒ หรือศาลอุทธรณ์

๑. ศาลชั้นที่ ๒ นี้เป็นศาลอุทธรณ์ ตั้งอยู่ณะที่ตั้งจังหวัด มีคณะผู้พิพากษาประกอบด้วย―

 ก. เรสิดังต์เดอฟรังส์เป็นหัวหน้า

 ข. ปลัดเรสิดังต์เดอฟรังส์เป็นผู้ช่วยหรือผู้แทน ในเมื่อหัวหน้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

 ค. ผู้พิพากษารอง ๒ นาย แต่งตั้งโดยเรสิดังต์สุเปริเออร์โดยคำเสนอของเรสิดังต์เดอฟรังส์ และให้คัดเลือกจากตำแหน่งเจ้าเมืองหรืออุปฮาดในเมืองนั้น

 ง. ผู้พิพากษาสำรอง ๑ นาย เพื่อทำการแทนผู้พิพากษารอง ในเมื่อผู้พิพากษารองปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

 จ. จ่าศาล รองจ่าศาล

๒. ศาลชั้นที่ ๒ นี้มีข้อพิเศษบางประการสำหรับจังหวัดหลวงพระบางซึ่งให้อำนาจแก่กษัตริย์แห่งนครหลวงพระบางเป็นหัวหน้าศาล และศาลนี้เรียกว่า "หอสนาม" ศาลนี้พิพากษาคดีเยี่ยงศาลชั้นต้น สำหรับคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตต์ท้องที่จังหวัดหลวงพระบาง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกตัวบทกฎหมาย และสำหรับความแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าร้อยเหรียญ และความแพ่งอื่น ๆ ซึ่งไม่มีทุนทรัพย์

ศาลชั้นที่ ๓ หรือศาลฎีกา

๑. ศาลชั้นที่ ๓ นี้เป็นศาลฎีกา สำหรับรับพิจารณาพิพากษาคดีอุทธรณ์ทั่วไปในแคว้นลาว

๒. คณะกรรมการประกอบด้วย―

 ก. จเรการเมืองและการปกครอง (ชาวฝรั่งเศส) เป็นประธาน

 ข. ข้ารัฐการลาวชั้นสูง ๑ นาย เป็นกรรมการ

 ค. กรรมการสำรองอีก ๒ นาย ๆ ๑ คัดเลือกจากข้ารัฐการฝ่ายปกครองชาวฝรั่งเศส อีกนาย ๑ คัดเลือกจากข้ารัฐการลาวซึ่งรับเงินเดือนขั้นสูงสุด

กรรมการสำรองทั้งสองนายนี้มีหน้าที่เป็นผู้แทนกรรมการคนที่สอง ในเมื่อกรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และเรสิดังต์สุเปริเออร์เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสำรองทั้งสองนี้

๓. ในศาลฎีกานี้มีจ่าศาล ๑ นาย ซึ่งต้องคัดเลือกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกที่ ๒ แห่งสำนักงานเรสิดังต์สุเปริเออร์