คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๕๗/๒๕๓๐
ที่ ๒๘๕๗/๒๕๓๐ |
พนักงานอัยการ กรมอัยการ | โจทก์ | ||
ระหว่าง | นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ | ผู้ร้อง | |
พลเอก เสริม ณ นคร กับพวก รวมสี่สิบคน | จำเลย |
เรื่อง ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
ผู้ร้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๓๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙
โจทก์ฟ้องเป็นใจความสำคัญว่า จำเลยทั้งสี่สิบคน ตามบัญชีรายชื่อท้ายฟ้อง กับพวกที่หลบหนี ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๘ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยที่ ๖, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๒๑ ถึง ๓๓ และที่ ๓๕ ถึง ๓๗ กับพวกที่หลบหนี ได้ร่วมกันสะสมกำลังพล อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และรถถังจำนวนมาก เพื่อเป็นกบฏ และสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ และเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๘ ตั้งแต่เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงเวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทุกคนกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันเป็นกบฏ โดยใช้กำลังพลและอาวุธที่ได้ร่วมกันสะสมไว้ดังกล่าวจี้บังคับขู่เข็ญพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และควบคุมเอาตัวไปที่กองบัญชาการทหารสูงสุด และบังคับขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้ายนายประพจน์ สาครบุตร กับพวกให้อ่านประกาศและคำแถลงการณ์ของจำเลยกับพวกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สั่งให้ทหาร ตำรวจ และประชาชนอยู่ในความสงบ มิให้ขัดคำสั่ง และบังคับขู่เข็ญนางถาวร จันทรไทย กับพวกให้นำรถยนตร์โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกไปรับผู้ใช้แรงงานตามโรงงานต่าง ๆ แล้วนำไปส่งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อล้มล้างและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ และได้ประกาศล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร โดยประกาศยุบรัฐบาลและยกเลิกคณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กับยึดอำนาจการปกครองของประเทศ โดยยึดกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกบฏ และทำการปิดกั้นถนน พร้อมทั้งยึดสถานที่สำคัญของราชการหลายแห่ง เพื่อให้การล้มล้างและการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จ จำเลยทั้งหมดกับพวกร่วมกันขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และปืนรถถังยิงเสาอากาศสถานีวิทยุกองพลที่ ๑ ตัวอาคารสถานีวิทยุกองพลที่ ๑ อาคารที่ทำการกองพลที่ ๑ และรถบรรทุกน้ำกับรถบรรทุกทหารของกองพลที่ ๑ จนได้รับความเสียหาย รวมทรัพย์สินของทางราชการเสียหายคิดเป็นเงินสิบสี่ล้านสี่แสนหกหมื่นสามพันแปดร้อยสี่สิบเจ็ดบาท ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจและเอกชนเสียหายคิดเป็นเงินสองล้านหนึ่งแสนสองหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยสิบสามบาทห้าสิบสตางค์ และเป็นเหตุให้นายวิรัตน์ อุดมศรี กับพวกได้รับอันตรายแก่กายรวมสามสิบเอ็ดคน สิบเอก ประทาน คงคาใส กับพวกรวมสิบเจ็ดคนได้รับอันตรายสาหัส และนายนีล ไบรอัน เดวิส, นายวิลเลียม นิสสัน รัช, นางวีณา อัศวลาภสกุล, พลทหาร อำภา วงสา และพลทหาร สมศักดิ์ ประดับวงศ์ ถึงแก่ความตาย กับเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๘ ตั้งแต่เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงเวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๑๓, ๓๐, ๓๔, ๓๙ และ ๔๐ กับพวกที่หลบหนี ได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน กรรมกร และผู้ใช้แรงงานที่ไปชุมนุมและดูเหตุการณ์อยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าด้วยวาจา โดยพูดจาอภิปรายชักชวนให้ประชาชนสนับสนุนพวกจำเลยทำการกบฏ และทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือ โดยทำคำแถลงการณ์และประกาศคำสั่ง แล้วอ่านส่งกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินและรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เหตุตามฟ้องทุกข้อเกิดที่แขวงดุสิต แขวงวชิระ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต, แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย, แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร, แขวงห้วยขวาง แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง, แขวงเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท, แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี, ตำบลปากข้าวสาร และตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เกี่ยวพันกัน จำเลยที่ ๓๙ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนดสองเดือนฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น พ้นโทษมาและกระทำผิดคดีนี้ภายในห้าปี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๙๒, ๑๑๓, ๑๑๔, ๑๑๖, พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบของกลางตามบัญชีทรัพย์ของกลางอันดับที่ ๑ ถึง ๒๔, ๔๑, ๔๒, ๔๙, ๕๒, ๕๓, ๕๕ ถึง ๗๑ ที่จำเลยกับพวกได้ใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด และคืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ของกลางอันดับ ๒๕ ถึง ๔๐, ๔๓ ถึง ๔๕, ๔๗, ๔๘, ๕๐, ๕๑, ๕๔, ๗๒ ให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ และเพิ่มโทษจำเลยที่ ๓๙
นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยอ้างว่า ผู้ร้องเป็นผู้เสียหาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ พนักงานอัยการ กรมอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓, ๑๑๔ และ ๑๑๖ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ซึ่งถือได้ว่า เป็นการกระทำความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้ผู้ร้องจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มิใช่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
- ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล
- สมศักดิ์ เกิดลาภผล
- สาระ เสาวมล
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"