คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๕๘/๒๕๔๒
- ชั้นต้น
- ชั้นอุทธรณ์
- ชั้นฎีกา
- ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว
- สำหรับข้อหาฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น
- คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ ๑ กระทำผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฆ่าผู้อื่นโดยทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
- ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า คำรับสารภาพของจำเลยที่ ๑ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลควรลดโทษให้จำเลยที่ ๑ นั้น
- พิพากษา
ที่ ๓๖๕๘/๒๕๔๒ |
พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา | โจทก์ | ||
ระหว่าง | นางกิ้มอิ้น บุญทวี | โจทก์ร่วม | |
นายเรืองศักดิ์ หรือศักดิ์ หรือซิง ทองกุล ที่ ๑ | จำเลย | ||
นายสงกรานต์ หรือจ้อง แก้วอุบล ที่ ๒ |
เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ชิงทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ
จำเลยที่ ๑ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ลงวันที่ ๒๖ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ศาลฎีการับวันที่ ๖ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานจำนวนหนึ่งกระบอก และกระสุนปืนขนาดเบอร์ ๑๒ จำนวนหนึ่งนัด อาวุธปืนพกลูกโม่รีวอลเวอร์ขนาด .๓๒ หมายเลขทะเบียน ยล ๑/๖๑๐ จำนวนหนึ่งกระบอก ของนายเจ๊ะโส๊ะ ผดุง ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองพาอาวุธปืนทั้งสองกระบอกดังกล่าว โดยสลับกันพาติดตัวคนละหนึ่งกระบอกไปตามถนนสงขลา-ระโนด และหมู่ที่ ๖ ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร ซึ่งเป็นหมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร ทั้งไม่ใช่กรณีต้องมีติดตัวเพราะมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และจำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปในเรือนอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายประภาส บุญทวี และนางเจียมจิตร บุญทวี โดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วร่วมกันชิงเอาทรัพย์สินยี่สิบหกรายการ รวมเป็นเงินหนึ่งหมื่นสองพันแปดร้อยสามสิบบาท ของนายประภาส และนางเจียมจิตร ซึ่งเป็นสามีภริยากัน โดยใช้อาวุธปืนจี้บังคับขู่เข็ญ และใช้กำลังกายจับมัดมือมัดเท้า และขังตัวนายประภาส นางเจียมจิตร เด็กชายกัมปนาท บุญทวี เด็กชายชัฏชวาล บุญทวี และเด็กชายปรนนท์ บุญทวี ซึ่งเป็นบุตรของนายประภาสและนางเจียมจิตร ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ภายหลังที่จำเลยทั้งสองชิงทรัพย์ดังกล่าวไปแล้ว จำเลยทั้งสองยังเชื่อว่า นายประภาสและนางเจียมจิตรมีเงินมากกว่าที่จำเลยทั้งสองชิงเอาไปได้ จึงขู่บังคับให้นางเจียมจิตรบอกที่เก็บสมุดเงินฝากธนาคาร เมื่อนางเจียมจิตรบอกที่เก็บสมุดเงินฝากธนาคารแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีเงินในบัญชี จำเลยทั้งสองจึงใช้ไม้กดที่ลำคอนางเจียมจิตร โดยมีเจตนาฆ่า แต่นางเจียมจิตรไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองจึงใช้เนกไทรัดคอ ใช้มือบีบลูกกระเดือก และจับศีรษะนางเจียมจิตรกระแทกกับเหล็กขอบเตียงนอน อันเป็นการร่วมกันฆ่าโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้นางเจียมจิตรถึงแก่ความตาย ในการชิงทรัพย์นี้ จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม หลังจากจำเลยทั้งสองฆ่านางเจียมจิตรแล้ว จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ผ้าผูกคอนายประภาส เด็กชายปรนนท์ เด็กชายชัฏชวาล เด็กชายกัมปนาท และผูกปลายผ้าอีกข้างหนึ่งไว้กับราวบันได จากนั้น จำเลยทั้งสองถีบและผลักให้นายประภาสห้อยแขวนอยู่กับราวบันได แล้วจับเด็กชายปรนนท์ เด็กชายชัฏชวาล และเด็กชายกัมปนาท ตามลำดับ มาแขวนคอโยนลงไป โดยมีเจตนาฆ่า โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโดยกระทำทารุณโหดร้าย เพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำ และเพื่อปกปิดความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้นายประภาส เด็กชายปรนนท์ และเด็กชายกัมปนาทสมองขาดอากาศและคอหักถึงแก่ความตาย เด็กชายชัฏชวาลสมองขาดเลือดและกระดูกคอเคลื่อนถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา หลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดสิ่งของเครื่องมือที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำผิด และวัตถุพยานจากที่เกิดเหตุ รวมยี่สิบเจ็ดรายการ และติดตามยึดทรัพย์ของผู้ตายซึ่งจำเลยทั้งสองชิงเอาไปแล้วนำไปขาย ให้ และฝากไว้แก่ผู้มีชื่อ ยี่สิบรายการ ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสอง และยึดพระเครื่องหกองค์ จี้รูปรัชกาลที่ห้าหนึ่งอัน พลอยแดงเก้าเม็ด นิลสี่เม็ด เข็มกลัดตรากระทรวงสาธารณสุขหนึ่งอัน กล่องใส่ทองหนึ่งกล่อง ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้ตายที่จำเลยทั้งสองชิงเอาไป อีกทั้งยึดทรัพย์สิบเก้ารายการของผู้ตายได้จากผู้มีชื่อ ซึ่งจำเลยทั้งสองนำไปขายและมอบไว้ให้ และยึดอาวุธปืนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีและพกพา รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สงขลา พ-๘๓๑๑ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี, ๓๗๑, ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ริบอาวุธปืน กระสุนปืน และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางกิ้มอิ้น บุญทวี มารดาของนายประภาส ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดต่อชีวิตและชิงทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๕), (๗), ๓๓๙ วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา ๘๓, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง วรรคสาม), ๗๒ ทวิ วรรคสอง วรรคท้าย (ที่ถูก มาตรา ๗๒ ทวิ วรรคสอง) ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำเลยที่ ๒ มีอายุสิบเก้าปี รู้ผิดชอบดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษ ความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ที่ถูก ฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะพาทรัพย์ไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย) และความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน มีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด) จำคุกคนละสองปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละหนึ่ง จำเลยที่ ๒ รู้สำนึกในความผิด ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ สมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน เมื่อคำนวณลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒ (๒) แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดหนึ่งปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดหกเดือน เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ และจำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิตในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนมารวมได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) รวมทุกกระทงแล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ และจำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิต อาวุธปืนลูกซองสั้นและอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ อีกทั้งอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีทะเบียนและกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบอาวุธปืนสองกระบอกและกระสุนปืนของกลาง รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้ขับไปยังที่เกิดเหตุและหลบหนี มิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ จึงให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางและของกลางส่วนที่เหลือแก่เจ้าของ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว สำหรับข้อหาฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกสองปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกหนึ่งปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า อาวุธปืนของกลางไม่มีตำหนิอื่นที่จะยืนยันได้ว่า เป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่จำเลยที่ ๑ ใช้ในที่เกิดเหตุ จึงฟังลงโทษจำเลยที่ ๑ ไม่ได้นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๑ เพียงว่า จำเลยที่ ๑ กระทำผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฆ่าผู้อื่นโดยทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ ทางพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า โจทก์ร่วมเป็นมารดาของนายประภาส บุญทวี นายประภาสกับนางเจียมจิตร บุญทวี เป็นสามีภรยากัน มีบุตรด้วยกันสามคน คือ เด็กชายกัมปนาท บุญทวี อายุสิบสามปี เด็กชายชัฏชวาล บุญทวี อายุสิบสองปี และเด็กชายปรนนท์ บุญทวี อายุสิบเอ็ดปี นายประภาส นางเจียมจิตร เด็กชายชัฏชวาล และเด็กชายปรนนท์อาศัยอยู่ที่บ้านเกิดเหตุ เลขที่ ๑๑๒ หมู่ที่ ๘ ถนนหัวเขาแดง-ระโนด ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา บ้านโจทก์ร่วมห่างจากบ้านนายประภาสประมาณครึ่งกิโลเมตร เด็กชายกัมปนาทอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วม จำเลยที่ ๑ รู้จักกับนายประภาสและนางเจียมจิตรมาก่อน โดยไปบ้านนายประภาสหลายครั้ง ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ สืบทราบมาว่า นายประภาสเป็นนายหน้าขายที่ดินและขายที่ดินได้เป็นเงินหนึ่งล้านสองแสนบาท ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๐ จะมีการชนวัวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและมีการล้มเงินรางวัล นายประภาสจะต้องไปเล่นการพนันชนวัวดังกล่าว ดังนั้น ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ นายประภาสจะต้องเก็บเงินไว้ที่บ้านจำนวนมากเพื่อใช้ในการเล่นการพนันและล้มเงินรางวัล จำเลยที่ ๑ ไม่มีเงินใช้จ่ายเนื่องจากไม่มีงานทำและต้องการเงินดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงชวนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเพื่อน ร่วมกันไปชิงทรัพย์นายประภาส วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ จำเลยทั้งสองเดินทางไปบ้านนายประภาสโดยรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ ๑ พกอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .๓๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ พกอาวุธปืนลูกซองสั้นติดตัวไปคนละกระบอก จำเลยทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันขับรถและถึงบ้านนายประภาสเวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ พบเด็กชายชัฏชวาลและเด็กชายปรนนท์ เด็กทั้งสองรู้จักจำเลยที่ ๑ มาก่อน ขณะนั้น นายประภาสยังไม่กลับบ้าน จำเลยที่ ๑ ฝากข้อความแก่เด็กทั้งสองว่า ถ้านายประภาสกลับมาบ้าน ให้รอจำเลยที่ ๑ ด้วย หลังจากนั้น จำเลยทั้งสองได้ขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านนายประภาสไปบ้านนางสาวสุปรียา สุขสว่าง เพื่อนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนายประภาสประมาณหนึ่งร้อยเมตร จำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้านนางสาวสุปรียา จนถึงเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกาจึงออกจากบ้านนางสาวสุปรียาไปหาอาหารรับประทาน และกลับไปบ้านนายประภาสอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา แต่ไม่พบผู้ใด จำเลยทั้งสองนั่งรออยู่ที่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้าน สักครู่หนึ่ง เด็กชายชัฏชวาลและเด็กชายปรนนท์ขี่รถจักรยานเข้ามาในบริเวณบ้าน จำเลยทั้งสองตามเข้าไปและขอน้ำเย็นจากเด็กทั้งสองดื่ม เมื่อดื่มน้ำเสร็จแล้ว จำเลยที่ ๑ พูดกับเด็กชายปรนนท์ว่า จำเลยที่ ๑ มีปัญหาจะพูดธุระกับนายประภาส จะขอมัดตัวไว้ก่อน จำเลยที่ ๑ นำผ้าจากกองผ้าซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างของบ้านมัดมือเด็กชายปรนนท์และอุ้มขึ้นไปไว้ที่ห้องด้านขวามือชั้นบนของบ้าน จำเลยที่ ๑ บอกจำเลยที่ ๒ ให้แก้เชือกผูกรองเท้าของนายประภาสซึ่งมีอยู่หลายคู่นำมามัดมือเด็กชายปรนนท์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และใช้ถุงน่องมัดปาก เสร็จแล้ว จำเลยที่ ๑ ลงมาชั้นล่าง พบเด็กชายชัฏชวาลกำลังเข้ามาในบ้าน จำเลยที่ ๑ จับเด็กชายชัฏชวาลมัดมือด้วยเชือกผูกรองเท้าและมัดปากด้วยถุงน่อง จำเลยที่ ๑ ประคองเด็กชายชัฏชวาลขึ้นไปบนห้องด้านขวามือชั้นบน โดยจัดให้นอนบนเบาะ จำเลยที่ ๑ ใช้ผ้าห่มพันขาเด็กทั้งสองติดกัน จากนั้น จำเลยที่ ๑ ลงมานั่งรอนายประภาสที่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้าน เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา นายประจักษ์ พกบุญมี เพื่อนนายประภาส ได้มาที่บ้านนายประภาสและนำแบบพิมพ์ เอกสารหมาย จ. ๒๓ มาให้นายประภาส แต่ไม่พบนายประภาส คงพบจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์สีขาวแดง นายประจักษ์ถามจำเลยที่ ๑ ว่า ภาสกลับมาหรือยัง เจียมกลับมาหรือยัง จำเลยที่ ๒ ตอบว่า ยังไม่กลับ นายประจักษ์ถามจำเลยที่ ๒ ว่า ภาสจะกลับมาเวลาไหน จำเลยที่ ๒ ตอบว่า หกโมงกว่า ๆ นายประจักษ์ถามจำเลยที่ ๒ อีกว่า เจียมจะกลับเมื่อไหร่ จำเลยที่ ๒ ตอบว่า ประมาณห้าโมงกว่า นายประจักษ์บอกว่า จะฝากเอกสารไว้หน่อย จำเลยที่ ๑ พูดขึ้นว่า จะขึ้นไปรอข้างบนก่อนไหม นายประจักษ์บอกว่า ไม่รอ อาศัยรถเขามาหลายคน จะรีบไป นายประจักษ์พูดขอปากกาจากจำเลยที่ ๑ เพื่อจดเบอร์โทรศัพท์ให้นายประภาส จำเลยที่ ๑ บอกให้จำเลยที่ ๒ ไปนำมาปากกาให้นายประจักษ์ จำเลยที่ ๒ เดินเข้าไปเอาปากกาในบ้านมาให้นายประจักษ์ นายประจักษ์จดเบอร์โทรศัพท์แล้วมอบเอกสารให้จำเลยที่ ๑ นายประจักษ์เข้าไปปัสสาวะในห้องน้ำซึ่งอยู่ชั้นล่างใกล้บันได หลังจากนั้น ก็ออกจากบ้านไปขึ้นรถกลับ จำเลยที่ ๑ รับเอกสารจากนายประจักษ์แล้วนำไปไว้บนโต๊ะข้างตู้เย็นชั้นล่างของบ้าน จากนั้น จำเลยที่ ๑ ออกมานั่งรอนายประภาสที่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้าน ต่อมาประมาณสิบนาที นายประภาสเดินเข้ามาในบ้าน โดยมีนายอ่ำ ณ สุวรรณ เดินตามหลังมา จำเลยที่ ๑ ยกมือไหว้นายประภาสและพูดว่า พี่ รถเพื่อนผมหาย เห็นเพื่อนบอกว่า ทางพี่เอาไป นายประภาสบอกว่า ไม่ได้เอาไป แต่จะช่วยสืบให้ จำเลยที่ ๑ บอกตำหนิรูปพรรณของรถแก่นายประภาส นายประภาสเดินไปดูไก่ที่หลังบ้าน เด็กชายกัมปนาทขี่รถจักรยานมาที่บ้านและพูดกับนายอ่ำว่า มาเอาเสื้อไปให้เขาปัก นายประภาสเรียกให้เด็กชายกัมปนาทไปดูแกงที่ตั้งไว้เนื่องจากมีกลิ่นแกงไหม้ นายประภาสเดินมาที่ประตูหลังบ้าน จำเลยที่ ๑ พูดว่า หิวน้ำ ขอน้ำกินสักแก้ว ขณะที่นายประภาสจะไปเปิดตู้เย็นหน้าห้องน้ำ จำเลยที่ ๑ เดินตามไปข้างหลังพร้อมกับใช้มือซ้ายล็อกคอนายประภาส ส่วนมือขวาถืออาวุธปืนพกลูกซองสั้นจ่อศีรษะนายประภาส จำเลยที่ ๒ เข้าไปช่วยโดยใช้เน็กไทมัดมือทั้งสองข้างของนายประภาสไขว้หลัง และหาผ้ามามัดปากไว้ไม่ให้ร้อง จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธปืนจี้บังคับนายประภาสขึ้นไปบนบ้าน พาเข้าไปไว้ในห้องนอนที่บุตรทั้งสองของนายประภาสถูกมัดอยู่ จำเลยที่ ๑ ใช้เน็กไทผูกมัดมือนายประภาสไว้กับเหล็กดัดขอบหน้าต่าง เมื่อเสร็จแล้วก็ลงมาข้างล่างพบเด็กชายกัมปนาทเข้ามาในบ้าน จำเลยที่ ๑ ชักอาวุธปืนออกมา เด็กชายกัมปนาทได้ต่อสู้โดยชกจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ วางอาวุธปืนและกระโดดล็อกคอโดยใช้แขนซ้ายรัดใต้ลำรอและใช้มือขวาปิดปากเด็กชายกัมปนาทไม่ให้ร้อง จำเลยที่ ๒ ได้ช่วยมัดมือเด็กชายกัมปนาทและใช้ถุงน่องมัดปากไม่ให้ร้อง แล้วนำไปผูกมัดรวมกันไว้กับนายประภาส โดยมัดแขนโยงกับลูกกรงเหล็กใกล้ขอบหน้าต่าง จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ ถืออาวุธปืนเฝ้านายประภาส ส่วนจำเลยที่ ๑ ลงมารอนางเจียมจิตรที่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้าน เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา นางเจียมจิตรกลับบ้านและทักทายกับจำเลยที่ ๑ นางเจียมจิตรเดินเข้าบ้านทางประตูหลังโดยมีจำเลยที่ ๑ เดินตามหลังติด ๆ สักครู่ จำเลยที่ ๑ ออกมาถามนายอ่ำว่า “ตีหกแล้ว ลุงไม่กลับบ้านอีกหรือ” นายอ่ำบอกว่า “เดี๋ยวจะกลับ” แล้วนายอ่ำเดินอ้อมกลับไปทางหลังบ้าน จำเลยที่ ๑ เดินเข้าบ้านและปิดประตู เมื่อเข้ามาในบ้านแล้วจำเลยที่ ๑ ใช้มือซ้ายล็อกคอนางเจียมจิตร ขณะที่มือขวาถืออาวุธปืนจ่ออยู่ที่ศีรษะ จำเลยที่ ๒ ลงมาที่ชั้นล่างแล้วหาเชือกมัดมือนางเจียมจิตรไขว้หลังและใช้ผ้าพันคอลูกเสือมัดปากนางเจียมจิตร จำเลยที่ ๑ อุ้มนางเจียมจิตรขึ้นบันไดเข้าไปในห้องนอนห้องกลาง วางนางเจียมจิตรบนเตียง จำเลยที่ ๑ มัดนางเจียมจิตรใหม่ให้แน่นกว่าเดิม ส่วนจำเลยที่ ๒ แยกไปควบคุมนายประภาสกับบุตร จำเลยที่ ๑ เรียกจำเลยที่ ๒ เข้าไปค้นหาทรัพย์สินในห้องนางเจียมจิตร จำเลยที่ ๒ ค้นได้แหวนทองคำสามวง สร้อยคอทำด้วยเงินมีรูปหัวใจห้อยที่ปลายสร้อยหนึ่งเส้น สร้อยข้อมือเงินสองเส้น เม็ดทับทิมเล็ก ๆ จำนวนแปดเม็ด ต่างหูทองรูปวงกลมหนึ่งคู่ เหรียญบาทโบราณจำนวนหนึ่ง จำเลยที่ ๒ เข้าไปช่วยจำเลยที่ ๑ ค้นหาทรัพย์ในห้องนายประภาสได้เงินสดประมาณเจ็ดร้อยถึงแปดร้อนบาท จำเลยที่ ๒ ถอดแหวนที่นางเจียมจิตรใส่อยู่ที่นิ้วกลางข้างซ้าย จำเลยที่ ๑ ไปหยิบสมุดฝากเงินของนางเจียมจิตรที่วางอยู่บนโถส้วมชักโครกภายในห้องน้ำชั้นบน เมื่อเปิดดูแล้วปรากฏว่า ไม่มีเงินฝากในบัญชี จำเลยที่ ๑ จึงตัดสินใจฆ่านางเจียมจิตรโดยใช้เน็กไทรัดคอ นางเจียมจิตรดิ้น เป็นเหตุให้ศีรษะกระแทกขอบเหล็กปลายเตียงและถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ เข้าไปในห้องนายประภาสกับบุตร และบอกว่า ฆ่าทั้งครอบครัว และถามว่า จะให้ใครตายก่อน นายประภาสพูดว่า ขอตายก่อน จำเลยที่ ๑ นำลวดทอดแดงในบ้านมาผูกขาของนายประภาสกับบุตรแล้วต่อปลั๊กไฟตัวผู้ เมื่อนำไปเสียบกับปลั๊กไฟตัวเมีย นายประภาสกับบุตรมีอาการกระตุกและร้อง ไฟในบ้านดับเนื่องจากบ้านนายประภาสมีเครื่องป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ไปสับสวิตช์อีกครั้งหนึ่ง ไฟในห้องติดขึ้นมาชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แล้วก็ดับอีก จำเลยที่ ๑ จึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะฆ่าด้วยกระแสไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นใช้วิธีแขวนคอแทน จำเลยทั้งสองนำนายประภาสกับบุตรออกจากห้อง แล้วใช้ผ้าผูกคอคนทั้งสี่แทนเชือก โดยนำปลายผ้าอีกด้านหนึ่งผูกกับราวบันไดหน้าห้อง หลังจากนั้น ก็ช่วยกันผลักคนทั้งสี่ลงมา โดยผลักทางประภาสเป็นคนแรก เด็กชายปรนนท์เป็นคนที่สอง เด็กชายชัฏชวาลเป็นคนที่สาม และเด็กชายกัมปนาทเป็นคนสุดท้าย จำเลยทั้งสองดูคนทั้งสี่ถูกแขวนคอจนแน่ใจว่าตายหมดแล้ว จำเลยที่ ๑ เข้าไปล้วงกระเป๋าจากศพนายประภาส ได้กระเป๋าเงินหนึ่งใบ ภายในบรรจุเงินหนึ่งพันห้าร้อยบาท แล้วจำเลยทั้งสองช่วยกันค้นหาทรัพย์สินภายในบ้านได้เงินทั้งสิ้นสามพันแปดร้อยบาท ทรัพย์สินทั้งหมดใส่ไว้ในถุงพลาสติกโดยจำเลยที่ ๑ เป็นคนถือ ขณะนั้น เป็นเวลาประมาณ ๒๑:๓๐ นาฬิกา จำเลยทั้งสองได้หลบหนีไปโดยรถจักรยานยนต์ วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ ๘:๓๐ นาฬิกา โจทก์ร่วมจึงได้มาพบศพคนทั้งห้า พนักงานสอบสวนกับพวกได้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันเดียวกันนั้น ต่อมา วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๑ ได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี และยึดพระเครื่อง พลอย เข็มขัด และล็อกเกตของผู้ตายได้จากจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ รับสารภาพว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ฆ่านายประภาส ภริยา และบุตรของนายประภาส วันเดียวกันนั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๒ ได้ที่จังหวัดสงขลา จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพว่า ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดอาวุธปืน รถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะและทรัพย์สินของผู้ตายรวมยี่สิบห้ารายการตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน เอกสารหมาย จ. ๑๗๙ ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ
จำเลยที่ ๑ นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ ๒ และไม่ได้กระทำความผิด วันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าพนักงานตำรวจบังคับขู่เข็ญล่อลวงให้จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในเอกสารและนำชี้ที่เกิดเหตุ
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิด มีแต่พยานแวดล้อม และพยานแวดล้อมล้วนแล้วแต่มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ก่อนเกิดเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายประจักษ์ พุกบุญมี เป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชพร้อมนายภิญโญ โชติพานิช และนายธาตรี วงศ์รัตน์ จะไปจังหวัดยะลาโดยผ่านเส้นทางสายนครศรีธรรมราช-สงขลา เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา นายภิญโญจอดรถริมถนนบริเวณฝั่งตรงข้ามบ้านนายประภาส ผู้ตาย พยานเดินเข้าไปในบ้านจะนำเอกสารของวิทยาลัยบัณฑิตสกลนครไปให้นายประภาส ตะโกนเรียก ภาส ๆ อยู่หลายคำ ไม่มีเสียงตอบรับ พยานจึงวางเอกสารพร้อมบันทึก เมื่อพยานเงยหน้าขึ้นเห็นรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่สีขาวแดงจอดอยู่ พยานคิดว่า น่าจะมีคนอยู่ จึงเดินไปหลังบ้าน พบจำเลยทั้งสอง พยานถามจำเลยทั้งสองว่า เป็นอะไรกับนายประภาสและนางเจียมจิตร จำเลยที่ ๑ บอกว่า เป็นหลานน้าภาส พยานจึงฝากเอกสารไว้ให้แล้วพยานเดินทางต่อไป ต่อมาวันจันทร์จึงทราบข่าวว่า นายประภาสถูกฆาตกรรม จึงโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจว่า วันเกิดเหตุ พยานไปบ้านผู้ตายพบชายสองคน และระบุตำหนิรูปพรรณของชายทั้งสองให้ตำรวจทราบ ต่อมา วันที่ ๒๑ หรือ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ขณะพยานดูโทรทัศน์เห็นเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี เห็นว่า พยานปากนี้มีตำแหน่งเป็นช่างรังวัด ๗ ทำงานอยู่ที่องค์การทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช เพียงแต่เป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับนายประภาสและนางเจียมจิตรโดยศึกษาอยู่ด้วยกันที่วิทยาลัยบัณฑิตสกลนคร วิทยาเขตนครศรีธรรมราช หากไม่เห็นเหตุการณ์จริงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบว่า ตนเห็นเหตุการณ์และจำหน้าจำเลยทั้งสองได้ แม้การเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปจังหวัดยะลาขาไปและขากลับจะเดินทางคนละเส้นทางกัน และพยานไม่ได้ไปงานศพผู้ตาย ก็หาเป็นเหตุพิรุธไม่ พยานเบิกความมีรายละเอียดและเชื่อมโยง น่าเชื่อว่า เบิกความไปตามความเป็นจริง นอกจากนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีร้อยตำรวจเอกหญิง กนิษฐา ชื่นแย้ม ผู้ชำนาญการพิเศษ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ เบิกความประกอบว่า พยานได้ตรวจรอยพิมพ์นิ้วมือแฝงซึ่งตรวจเก็บได้ที่พัดลมที่อยู่ในห้องรับแขกชั้นล่าง ตามเอกสารหมาย จ. ๔๕ ตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือซ้าย นิ้วกลางซ้าย นิ้วนางซ้าย นิ้วก้อยซ้าย และฝ่ามือซ้ายของจำเลยที่ ๑ แสดงว่า จำเลยที่ ๑ อยู่ในที่เกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ ๒ แม้พยานปากนี้เป็นเพียงความเห็นโดยอาศัยหลักวิชา แต่ก็นำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ และโจทก์กับโจทก์ร่วมยังมีนางสาวสุปรียา สุขสว่าง เป็นพยานเบิกความว่า พยานผู้จักจำเลยที่ ๑ มาประมาณสิบห้าปี เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์ มีจำเลยที่ ๒ ซ้อนท้ายมาที่บ้านพยาน รถจักรยานยนต์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ ยี่ห้อฮอนด้า สีขาวคาดแดง จำเลยทั้งสองจอดรถจักรยานยนต์ไว้ที่หน้าบ้านพยานแล้วไปนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนแคร่ใต้กอไผ่ที่หลังบ้านนานประมาณสองชั่วโมง จนถึงเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพยานไป บ้านพยานอยู่ห่างบ้านที่เกิดเหตุประมาณหนึ่งร้อยเมตร เห็นว่า พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า จะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง อีกทั้งระยะเวลาที่พยานพบจำเลยที่ ๑ เป็นระยะเวลาห่างจากเวลาเกิดเหตุหลายชั่วโมง แต่เป็นพยานหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า จำเลยที่ ๑ อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ สำหรับนายอ่ำ ณ สุวรรณ ซึ่งให้การชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยทั้งสองอยู่บ้านที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองพูดคุยกับนายประภาสขณะที่นางเจียมจิตรกำลังเดินเข้ามา ต่อมา พยานกลับบ้าน แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่นำนายอ่ำมาเบิกความ ทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของนายอ่ำซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับพยานทั้งสองและพยานผู้ชำนาญการพิเศษแล้ว ฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ อยู่ในที่เกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีจ่าสิบตำรวจ วินัย สารวัตรัตน์ รับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอธารโต จังหวัดยะลา เบิกความว่า ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ นายเม่นแนะนำให้รู้จักจำเลยที่ ๑ ว่าเป็นหลายชาย แต่ไม่ได้บอกว่าชื่ออะไร เพียงแต่เรียกว่า บ่าว ต่อมาปลายเดือนเมษายน ๒๕๔๐ ขณะพยานอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอธารโต นายชัยบอกว่า หลานนายเม่นที่ชื่อ บ่าว จะมาขอให้ช่วยส่งจากตลาดธารโตไปที่ตำบลคีรีเขต เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา พยานลงจากอาคารสถานีตำรวจ พบจำเลยที่ ๑ จึงชวนไปบ้านพัก พยานเห็นถุงพลาสติกโผล่ออกจากกระเป๋าเสื้อของจำเลยที่ ๑ จึงสอบถามว่า อะไร จำเลยที่บอกว่า พระ จำเลยที่ ๑ หยิบถุงพลาสติกจากกระเป๋าเสื้อให้ดู ภายในถุงพลาสติกมีอัญมณีประมาณสิบเม็ด พระเครื่องประมาณสามสิบองค์ และเหรียญต่าง ๆ คล้ายเหรียญบาทมีลักษณะเก่า เหรียญดังกล่าวมีทั้งเหรียญรัชกาลที่ ๕ เหรียญพระราชินี พยานขอพระจากจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑ เลือกพระดี ๆ ให้แก่พยาน จำเลยที่ ๑ เลือกพระเครื่องห้าองค์และเหรียญล็อกเกตรูปรัชกาลที่ ๕ จำนวนหนึ่งเหรียญให้แก่พยาน พระเครื่องดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายใบโพธิ์ พยานหยิบอัญมณีสีแดงมาสามเม็ด จำเลยที่ ๑ บอกว่า พระเครื่ององค์หนึ่งที่ให้พยานนั้นเป็นพระวัดบ่อทราย เป็นพระดังที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พยานเห็นจำเลยที่ ๑ มีพระเครื่องหลายองค์จึงรู้สึกผิดปกติว่าจะเป็นของที่ได้มาโดยมิชอบ จึงสอบถามว่า ได้มาจากไหน จำเลยที่ ๑ บอกว่า จำเลยที่ ๑ ได้มาจากปล้นบ้านที่อำเภอสิงหนคร พยานจึงสอบถามจำเลยที่ ๑ ว่า ขณะนี้ ตำรวจตามจับจำเลยที่ ๑ หรือไม่ จำเลยที่ ๑ บอกว่า ไม่ ญาติของจำเลยที่ ๑ เจรจาให้แล้ว จำเลยที่ ๑ เล่าให้ฟังว่า การปล้นทรัพย์นี้จำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนพกสั้นขนาด .๓๘ จำนวนสองกระบอกไปกับเพื่อนอีกสองคนรวมเป็นสามคน เพื่อนของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เอาอาวุธปืนไปเก็บไว้ รุ่งเช้า พยานจึงฝากจำเลยที่ ๑ ให้ไปกับนายชม และโจทก์กับโจทก์ร่วมยังมีนายวิสูตร ไตรสุวรรณ เป็นพยานเบิกความว่า รู้จักนายเม่น หรืออรรถพล นพวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลคีรีเขต อำเภอธารโต ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ นายเม่นพาจำเลยที่ ๑ มาแนะนำให้รู้จักว่า เป็นหลานชายชื่อ ศักดิ์ ต่อมาวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา ขณะที่พยานอยู่ที่บ้านของนางยมนั่งดื่มกาแฟอยู่จนถึงเวลา ๙ นาฬิกา นายชม หรือบัญญัติ แสงมณี ขับรถยนต์กระบะมาจอดที่หน้าบ้านนางยม มีจำเลยที่ ๑ นั่งคู่มากับนายชม พยานจึงสอบถามจำเลยที่ ๑ ว่า มาเมื่อไร จำเลยที่ ๑ บอกว่า “มานานกับจ่านัยที่ธารโตหนึ่งคืน” พยานกับจำเลยที่ ๑ พูดคุยกันที่บ้านนางยมสองถึงสามชั่วโมง จำเลยที่ ๑ หยิบสิ่งของออกมาจากถุงพลาสติกและบอกว่า ปล้นมาจากญวน สิ่งของดังกล่าวได้แก่ พระเครื่องประมาณสี่สิบองค์ มีทั้งพระผงและพระโลหะ นอกจากนี้ มีเม็ดกลมสีทองหนึ่งเม็ด มีพลอยทับทิมทั้งสีดำและสีแดงรวมประมาณสิบเม็ด เพชรสีขาวขนาดเก้าถึงสิบเม็ด ตุ้มหูทองคำหนึ่งคู่ ตุ้มหูดังกล่าวมีรูปทางเป็นสายต่อลงมาจากขอเกี่ยวและมีทองคำรูปหัวใจอยู่ที่สายดังกล่าว พลอยทับทิมสีดำบรรจุอยู่ในตลับพลาสติกหนึ่งอัน พลอยทับทิมแดงบรรจุอยู่ในตลับพลาสติกอีกหนึ่งอัน เพชรบรรจุอยู่ในตลับพลาสติกอีกหนึ่งอัน รวมเป็นสามตลับ นายตุ้ง นายป้อม และนายเสกสรรพูดขอพระเครื่องจากจำเลยที่ ๑ และเอาพระเครื่องไป ยังคงเหลือพระเครื่องโลหะอีกสิบเจ็ดองค์ พระผงสิบห้าองค์ เม็ดกลมสีทองหนึ่งเม็ด พยานขอพระเครื่องส่วนที่เหลือดังกล่าวและเม็ดกลมสีทองจากจำเลยที่ ๑ พระเครื่องที่พยานได้รับมาจากจำเลยที่ ๑ ส่วนใหญ่มีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับวัตถุพยานหมาย ว.จ. ๑๘ ถึง ว.จ. ๔๔ พยานจำได้ว่า พระเครื่อง วัตถุพยานหมาย ว.จ. ๓๘ ถึง ว.จ. ๔๖ และเม็ดกลมสีทอง วัตถุพยานหมาย จ. ๔๘ เป็นทรัพย์ที่พยานได้มาจากจำเลยที่ ๑ ช่วงที่พยานได้รับวัตถุพยานหมาย ว.จ. ๔๘ จากจำเลยที่ ๑ วัตถุพยานดังกล่าวบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกอันเดียวกับที่บรรจุอยู่ในขณะนี้ เหตุที่จำพระเครื่อง วัตถุหมาย ว.จ. ๓๘ ได้ เพราะเป็นพระหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ขณะอยู่ที่บ้านนางยม พยานเห็นจำเลยที่ ๑ มีพระเครื่องเลี่ยมทองหนึ่งองค์ พยานกับพวกไม่กล้าพูดขอพระเครื่องเลี่ยมทองจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งพยานเห็นว่า เป็นของมีค่า เมื่อพยานกับพวกได้รับพระเครื่องจากจำเลยที่ ๑ แล้ว พยานขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ ๑ ไปที่ขนำของพยาน ต่อมาในเวลากลางคืน ขณะที่พยานและจำเลยที่ ๑ อยู่ที่ขนำ จำเลยที่ ๑ พูดเสนอขายพระเครื่องเลี่ยมทองในราคาหนึ่งพันบาท เสนอขายตุ้มหูทองรูปหัวใจหนึ่งคู่ในราคาสามร้อยบาท พยานจึงรับซื้อพระเครื่องและตุ้มหูไว้เป็นเงินหนึ่งพันสามร้อยบาท จำเลยที่ ๑ ให้พยานดูเพชรพลอยสีดำสีแดงหลายเม็ด ทั้งบอกว่า จะมาหานายเม่นและจะนำไปขาย จำเลยที่ ๑ ยังพูดกับพยานว่า จำเลยที่ ๑ ฆ่าคนมาห้าศพ จำเลยที่ ๑ ชี้ให้พยานดูข่าวหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๐ ในหัวข่าวเรื่องฆ่าห้าศพ จำเลยที่ ๑ นอนค้างคืนที่ขนำของพยานหนึ่งคืน รุ่งขึ้น พยานจึงขับรถจักรยานยนต์ไปที่ตลาดธารโต มีจำเลยที่ ๑ นั่งซ้อนท้ายไปด้วย นับแต่พยานรับซื้อพระ วัตถุหมาย ว.จ. ๑ และต่างหู วัตถุพยานหมาย ว.จ. ๒ ไว้จากจำเลยที่ ๑ แล้ว แขวนวัตถุพยานหมาย ว.จ. ๑ ไว้ที่คอของพยานตลอดเวลา ส่วนตุ้มหูเก็บไว้ที่ขนำของพยาน ต่อมาวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เจ้าพนักงานตำรวจมาตามพยานไปพบพันตำรวจโท เกียรติกับเจ้าพนักงานตำรวจอีกหลายคนที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่อำเภอเมืองยะลา พลตำรวจตรี วรรณรัตน์ คชรักษ์ สอบถามพยานว่า พระเครื่อง วัตถุพยานหมาย ว.จ. ๑ สวมอยู่นั้นมาจากไหน พยานบอกว่า หลานผู้ใหญ่เม่นเอามาขายให้ หลานผู้ใหญ่เม่นชื่อ ศักดิ์ ไม่ทราบชื่อจริง พลตำรวจตรี วรรณรัตน์ถามว่า มีของอื่นอีกหรือไม่ พยานบอกว่า มีพระ มีตุ้มหู มีหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ ๑ อยู่ที่ขนำของพยาน พลตำรวจตรี วรรณรัตน์เก็บพระเครื่องวัตถุพยานหมาย ว.จ. ๑ ไว้ แล้วให้พยานนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาทรัพย์ดังกล่าวมาจากขนำของพยาน พยานนำพระเครื่อง ตุ้มหู เม็ดกลมสีทอง และเอกสารหมาย จ. ๗๒ มามอบให้พันตำรวจโท เกียรติที่ป้อมตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการรับมอบของกลางตามเอกสารหมาย จ. ๗๔ และพลตำรวจตรี วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๐ อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้พยานและพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ไปสืบสวนสอบสวนคดีที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในเบื้องแรก พยานสอบปากคำพยานสองปาก คือ นายประจักษ์ พุกบุญมี และนายอ่ำ ณ สุวรรณ ได้ความว่า พบชายวัยรุ่นสองคนอยู่ในที่เกิดเหตุ ต่อมา พันตำรวจโท เกียรติ ขันหาญศึก รายงานว่า ทราบมาจากนายวิสูตร ไตรสุวรรณ ว่า มีผู้นำทรัพย์สินมาจำหน่ายที่อำเภอธารโตและพูดว่าตนเป็นคนร้ายคดีฆ่าห้าศพที่อำเภอสิงหนคร พยานจึงไปสอบปากคำนายวิสูตรที่โรงแรมแห่งหนึ่งในท้องที่อำเภอเมืองยะลา นายวิสูตรให้การว่า นายศักดิ์ซึ่งเป็นหลานของนายเม่นไปนอนที่ขนำของนายวิสูตร และได้ให้ทรัพย์สินบางอย่างแก่นายวิสูตร และให้ดูหนังสือพิมพ์ พร้อมทั้งบอกว่า นายศักดิ์ก่อคดีฆ่าห้าศพที่อำเภอสิงหนคร นายวิสูตรไม่ทราบชื่อจริงและชื่อสกุลของนายศักดิ์ จากการสอบปากคำของนายวิสูตร ทำให้เชื่อว่า นายศักดิ์น่าจะเป็นคนร้ายรายนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมของคนร้ายในท้องที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงพบว่า เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณหนึ่งเดือน เกิดคดีปล้นทรัพย์ขึ้นที่ปั๊มน้ำมันในท้องที่อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง คนร้ายจับมัดเจ้าทรัพย์ห้าคนไว้ในป่าและบังคับให้เจ้าทรัพย์เซ็นเช็ค เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพยูน ทราบว่า คนหนึ่งในคนร้ายดังกล่าวชื่อนายศักดิ์ ทองกุล พยานจึงมั่นใจว่า นายศักดิ์ ทองกุล เป็นหนึ่งในคนร้ายรายนี้ จึงนำภาพถ่ายของนายศักดิ์มาให้นายประจักษ์และนายอ่ำดู พยานทั้งสองยืนยันว่า นายศักดิ์เป็นคนร้าย พนักงานสอบสวนขออนุมัตินายอำเภอออกหมายจับนายศักดิ์ ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ พันตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง จับกุมนายศักดิ์ จำเลยที่ ๑ ได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ กับยึดของกลางได้จากจำเลยที่ ๑ และนำตัวจำเลยที่ ๑ ไปพบกับอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยที่ ๑ บอกว่า ผู้ร่วมกระทำความผิดอีกหนึ่งคนคือนายจ้อง หรือสงกรานต์ แก้วอุบล อยู่ที่จังหวัดสงขลา ต่อมาในวันเดียวกัน พยานกับพวกจับกุมจำเลยที่ ๒ ได้ที่จังหวัดสงขลา จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายทั้งห้าโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะและใช้ปืนสองกระบอกเป็นอาวุธ หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ นำทรัพย์บางส่วนไปให้น้องสาวของจำเลยที่ ๒ ต่อมา จำเลยที่ ๒ พาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดอาวุธปืน รถจักรยานยนต์ และทรัพย์ดังกล่าว เห็นว่า คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจ วินัย และนายวิสูตร พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์ของกลางจากจำเลยที่ ๑ ทั้งที่พยานทั้งสองรู้แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการชิงทรัพย์และฆ่าคนในบ้านถึงห้าศพ แสดงว่า พยานทั้งสองอาจมีส่วนช่วยปกปิดการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งอาจมีความผิดด้วย แต่พยานทั้งสองเบิกความอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีเหตุจูงใจที่ให้เห็นว่า เบิกความเพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหรือรับประโยชน์จากคำเบิกความของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามที่จะรับฟังคำเบิกความประกอบพยานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่จากคำเบิกความของพยานทั้งสองเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ซัดทอดว่า ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จึงเชื่อว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความตามความเป็นจริง มีน้ำหนักรับฟังได้ นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้บังคับการกองปราบปราม ผู้จับกุมจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า พยานให้จำเลยที่ ๑ ดูหมายจับและแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ ๑ ทราบแล้ว จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพทุกข้อหา พยานให้จำเลยที่ ๑ พาไปเอากระเป๋าเสื้อผ้าในบ้านและตรวจค้นกระเป๋าเสื้อผ้าพบของกลางเจ็ดรายการ ได้แก่ พระเครื่ององค์เล็กหกองค์ พลอยสีแดงเก้าเม็ด พลอยสีดำสี่เม็ด สายสิญจน์ผูกไม้หนึ่งเส้น เข็มกลัดเน็กไทมีเครื่องหมายงูพันคบเพลิงซึ่งเป็นเครื่องหมายกระทรวงสาธารณสุขหนึ่งอัน กล่องพลาสติกสีแดงสำหรับใส่ทองหนึ่งกล่องไม่มีทองอยู่ในกล่อง ล็อกเกตรูปรัชกาลที่ ๕ จำนวนหนึ่งอัน พยานยึดของกลางทั้งเจ็ดรายการ จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ. ๘๒ และจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งที่อยู่ของนายจ้อง จำเลยที่ ๒ ให้ตำรวจทราบ เห็นว่า พยานปากนี้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ ๑ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่า จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ ๑ และพบวัตถุของกลางหลายอย่างของผู้ตายอยู่ที่จำเลยที่ ๑ อีกทั้งเมื่อจับจำเลยที่ ๒ ได้แล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ เชื่อว่า พยานเบิกความตามความเป็นจริง นอกจากนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจโท ทวี สอดส่อง ผู้ร่วมสอบสวน เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ พันตำรวจเอก อัศวินกับพวกจับจำเลยที่ ๑ ได้ที่จังหวัดกาญจนบุรีและได้นำจำเลยที่ ๑ ไปที่สำนักงานอธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมตำรวจให้พยานสอบปากคำจำเลยที่ ๑ ต่อหน้าสื่อมวลชน พยานได้บันทึกคำให้การจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ. ๑๕๓ และให้จำเลยที่ ๑ นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ. ๑๕๔ และถ่ายรูปขณะนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ. ๘๓ ถึง จ. ๑๔๔ และเมื่อค้นห้องพักจำเลยที่ ๑ พบใบเสร็จรับเงินชั่วคราวและรายการลูกค้าตามเอกสารหมาย จ. ๑๕๕, จ. ๑๕๖ และ จ. ๑๕๗ จำเลยที่ ๑ รับว่า จำเลยที่ ๑ ชิงทรัพย์ของผู้ตายเพื่อนำเงินไปชำระค่ารถตามเอกสารดังกล่าว เห็นว่า พยานปากนี้ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ ๑ มาก่อน ทั้งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้สอบปากคำจำเลยที่ ๑ ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก และขณะถ่ายรูปประกอบคำให้การรับสารภาพมีประชาชนเป็นจำนวนมาก และคำให้การชั้นสอบสวนมีรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย ยิ่งกว่านั้น จากคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้จับจำเลยที่ ๒ ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติแล้วว่า จำเลยที่ ๒ กระทำความผิด จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ คำให้การดังกล่าวใช้ยันจำเลยที่ ๑ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ ที่จำเลยที่ ๑ นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ไม่รู้จักจำเลยที่ ๒ และไม่ได้กระทำความผิด เจ้าพนักงานตำรวจบังคับ ขู่เข็ญล่อลวงให้จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในเอกสารและนำชี้ที่เกิดเหตุนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนประกอบภาพถ่ายแล้วเห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ ๑ นำชี้ที่เกิดเหตุนั้น มีคนอื่นอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ข้ออ้างของจำเลยที่ ๑ ขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานมานำสืบยืนยันว่า จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๒ และคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ อยู่กับผู้ตายก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ อีกทั้งเมื่อจับกุมจำเลยที่ ๑ ได้แล้ว ยังพบของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ที่จำเลยที่ ๑ อีกด้วย เมื่อพิจารณาประกอบคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กระทำความผิดตามฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า คำรับสารภาพของจำเลยที่ ๑ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลควรลดโทษให้จำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่า แม้พฤติการณ์แห่งคดีนี้จะเป็นที่สะเทือนขวัญของประชาชนอย่างยิ่ง แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงพยานแวดล้อม หากไม่มีคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน อาจลงโทษจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ดังนั้น จะถือว่า จำเลยที่ ๑ รับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานหาได้ไม่ คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ จึงนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม เมื่อคำนวณโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒ (๑) แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓
- เหล็ก ไทรวิจิตร
- พันธาวุธ ปาณิกบุตร
- กิติยาภรณ์ อาตมียะนันทน์
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"