คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๘/๒๕๑๒
ที่ ๓๖๘/๒๕๑๒ |
บริษัทเนชั่นแนล เปอร์ริโอดิคอล บับลิคเคชั่น อิงค์ | โจทก์ | ||
โดยนางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น ผู้รับมอบอำนาจ | |||
ระหว่าง | |||
นายเจ้าเต็ง แซ่ลิ้ม เจ้าของร้านลิ้มเข่งสูน | จำเลย |
เรื่อง เพิกถอนเครื่องหมายการค้า
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๑ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๐
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ก่อตั้งและจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานใหญ่อยู่บนถนนเล็กซิงตัน เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้แต่งตั้งให้นางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในการยื่นคำขอและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทย ตลอดจนป้องกันคุ้มครองการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ รวมทั้งมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีในนามของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายคำฟ้อง
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าและผลิตสินค้าจำพวก ๓๙ ประเภทเครื่องเขียน สิ่งตีพิมพ์ และสินค้าอื่น ๆ ส่งไปจำหน่ายเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งในประเทศก็ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายเกินกว่าสิบปีแล้ว โดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปคนที่ประดิษฐ์ขึ้น และอักษรโรมันคำว่า “Superman” (ซูเปอร์แมน) อันเป็นรูปลักษณะเฉพาะที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น ประชาชนทั่วไปเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า ซูเปอร์แมน เครื่องหมายการค้านี้โจทก์ได้ใช้กับสินค้าของโจทก์มายี่สิบกว่าปีแล้ว ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยก็ได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๗๑ ทะเบียนเลขที่ ๖๓๐๔ ปรากฏตามรูปถ่ายหมายเลข ๒ ท้ายคำฟ้อง นอกจากนั้น ยังเป็นลิขสิทธิ์ซึ่งโจทก์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๐๓ จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปซูเปอร์แมน (รูปคนประดิษฐ์มีอักษร S ติดหน้าอก) อันเป็นสาระสำคัญ มีรูปดาวเป็นส่วนประกอบ ต่อกองเครื่องหมายการค้า กระทรวงเศรษฐการ ในสินคำจำพวก ๓๑ ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๓๙๗๑๖ ทะเบียนเลขที่ ๓๑๒๙๙ ปรากฏตามภาพถ่ายรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยท้ายคำฟ้อง หมายเลข ๓
การที่จำเลยเอาเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์รูปซูเปอร์แมนของโจทก์ไปจดทะเบียนและใช้กับสินค้าของจำเลยโดยดัดแปลงเป็นรูปคนซูเปอร์แมนกำลังเหาะ ใช้อักษร S ติดหน้าอก อันเป็นคำที่เข้าใจและรู้จักกันดีว่าเป็นคำย่อของคำว่า Superman และเพิ่มรูปดาวเข้าเป็นส่วนประกอบอันไม่ใช่สาระสำคัญ ก็หาทำให้แตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งได้ใช้และจดทะเบียนมาก่อนจำเลยไม่ เมื่อประชาชนผู้ใช้เห็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็เข้าใจได้ทันทีว่า เป็นรูปซูเปอร์แมนอันเป็นเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของโจทก์ เป็นการลวงสาธารณชน สามารถทำให้สับสนหลงผิดเข้าใจว่า เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยโจทก์ หรือทำให้เข้าใจไปว่า โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและใช้สิทธิอันมีแต่จะทำให้โจทก์เสียหาย กับละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกด้วย ทั้งนี้ เป็นเพราะจำเลยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นที่รู้จักดี มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน จึงแอบอ้างอาศัยเกียรติคุณชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยมิชอบ
ขอให้พิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลยต่อไป และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยให้การว่า ในระหว่างที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ ๓๙๗๑๖ โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนได้วินิจฉัยให้ยกคำร้องคัดค้านของโจทก์เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ โจทก์ได้ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตั้งแต่วันนั้น มิได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและมิได้นำคดีขึ้นสู่ศาลภายในเก้าสิบวัน จึงสิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๔
เครื่องหมายการค้าของจำเลยนี้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของ มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้สำหรับสินค้าจำพวก ๔๒ มีหัวผักกาดดองเค็ม ผักกาดดอง ตังฉ่าย ซีเต็กฉ่าย เกี้ยมฉ่าย เนื้อกระป๋อง ปลากระป๋อง ไข่เยี่ยวม้า ผลไม้กระป๋อง ผลไม้ดอง โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลย ทั้งรูปตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายคำฟ้องอันเป็นเครื่องหมายการค้าไม่ใช่วรรณกรรมหรือศิลปกรรมหรือส่วนสำคัญแห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมอันจะถือลิขสิทธิ์ได้
ตัวอักษรโรมันซึ่งมีรูปร่างลักษณะอ่านว่า เอส นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียว ตัวอักษรที่กล่าวนี้ไม่ใช่คำที่เข้าใจได้ทันทีหรือรู้จักกันดีว่า เป็นคำย่อภาษาอังกฤษว่า ซูเปอร์แมน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยก็แตกต่างกันมาก ไม่เป็นการลวงสาธารณชน ไม่มีใครเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปซูเปอร์แมนอันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้ประชาชนสับสนหลงเข้าใจผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโจทก์หรือโจทก์มีสิทธิเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ความจริงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่แพร่หลาย ประชาชนไม่รู้จักว่า เครื่องหมายของโจทก์ตามรูปเอกสารท้ายคำฟ้องเป็นเครื่องหมายการค้า จะพบเห็นก็แต่เพียงเป็นรูปการ์ตูนหรือในภาพยนตร์โทรทัศน์
จำเลยใช้สิทธิโดยสุจริต มิได้ใช้สิทธิอันมีแต่จะทำให้โจทก์เสียหาย และมิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สินค้าของจำเลยกับของโจทก์เป็นคนละจำพวกห่างไกลกัน ผู้ซื้อสินค้าของจำเลยและของโจทก์เป็นคนละประเภทคนละอาชีพ ไม่มีทางทำให้ใครหลงผิดหรือเข้าใจผิดได้เลย จำเลยมิได้สมอ้างอาศัยเกียรติคุณชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ รูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ใช้จริงปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายคำให้การ จำเลยเรียกชื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่า ตราดาวคน รูปลักษณะสีสันแตกต่างกับเครื่องหมายของโจทก์อย่างเทียบกันไม่ได้
ชั้นพิจารณา โจทก์แถลงว่า ได้ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำร้องคัดค้านของโจทก์ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์และมิได้นำคดีมาฟ้องศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่ทราบคำวินิจฉัยนั้น แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๔ หากแต่ฟ้องโดยอาศัยมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ และรูปซูเปอร์แมนที่จำเลยเอาไปใช้ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ที่โจทก์จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง จำเลยจะนำไปใช้ไม่ได้
ทั้งสองฝ่ายรับกันว่า รูปเครื่องหมายการค้าที่ต่างได้จดทะเบียนไว้นั้น ของโจทก์เป็นรูปตามเอกสารหมายเลข ๒ ของจำเลยเป็นรูปตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายคำฟ้อง จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก ๔๒ มีรายละเอียดในเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายคำฟ้อง ส่วนของโจทก์ใช้กับสินค้าประเภทสิ่งพิมพ์ สิ่งตีพิมพ์ จำพวก ๓๙ ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔
จำเลยรับว่า รูปคนซูเปอร์แมนมีอักษรโรมันเอสนั้น จำเลยไม่ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นคนแรก แต่ไม่รับรองว่า โจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นคนแรกและจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้จริงหรือไม่ เฉพาะเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งรูป จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเอง โจทก์แถลงว่า รูปคนซูเปอร์แมนมีอักษรโรมันเอสโจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นและจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้
ทั้งนี้ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๙
ต่อมา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ว่า คดีชี้ขาดได้โดยไม่ต้องสืบพยาน ให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความหนึ่งร้อยสี่สิบบาทแทนจำเลย โดยวินิจฉัยว่า ข้อหาของโจทก์มิได้อ้างเหตุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๔๑ อนุมาตรา ๒ และ ๓ อีกทั้งกรณีไม่ต้องด้วยอนุมาตรา ๑ เพราะไม่ใช่เครื่องหมายอันเดียวกันและใช้สำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน อนึ่ง การกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิในลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยได้จดทะเบียนรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้แล้ว ย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือมีแต่จะทำให้โจทก์เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เจ็ดสิบห้าบาทแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ฟังทนายโจทก์ทนายจำเลยแถลงการณ์ด้วยวาจาและประชุมปรึกษาแล้ว
ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ตามที่รับและไม่ได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ในประเทศไทยสำหรับใช้กับสินค้าจำพวก ๓๙ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๗๑ ทะเบียนเลขที่ ๖๓๐๔ จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับใช้กับสินค้าจำพวก ๔๒ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๐๓ ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๓๙๗๑๖ โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยตามทะเบียนเลขที่ ๓๑๒๙๙ โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๒ ของจำเลยเป็นรูปตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๓
โดยที่โจทก์แถลงตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ และในฐานะเป็นลิขสิทธิ์ที่โจทก์จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งได้รับความคุ้มครอง ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า ข้อหาของโจทก์มิได้อ้างเหตุตามมาตรา ๔๑ (๑), (๓) คงอ้างแต่ว่า โจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หากทางการยอมให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ลวงสาธารณชนและเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เป็นการขัดต่อรัฐประศาสโนบายตามมาตรา ๕ (๗) ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีความที่จะอนุโลมได้ว่า โจทก์กล่าวอ้างเช่นนั้น เพราะตามมาตรา ๕ (๗) หมายถึง ตัวเครื่องหมายนั้นเองขัดต่อรัฐประศาสโนบาย ไม่ใช่กรณีดังที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์
ส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๔๑ (๑) ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า มาตรา ๔๑ (๑) เป็นกรณีพิพาทในเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่า ใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยไม่ใช่เครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน และใช้กับสินค้าคนละจำพวก ไม่อาจทำให้สาธารณชนเข้าใจหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่ผลิตจากบริษัทโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์จึงฎีกาใจความว่า ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเครื่องหมายการค้า เช่น เอารูปที่เป็นลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนและเป็นเครื่องหมายการค้าที่ลวงสาธารณชนให้เข้าใจผิดสับสนว่าเป็นของโจทก์ เป็นต้น ทั้งไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๔ (๕) และขัดต่อรัฐประศาสโนบายตามมาตรา ๕ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน คือ เป็นรูปซูเปอร์แมน ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างไรมีอะไรอื่นประกอบก็เรียกว่าเป็นรูปซูเปอร์แมนเหมือนกัน เพราะรูปคนมีลักษณะพิเศษ ซึ่งโจทก์ประดิษฐ์ขึ้นตามจินตนาการของโจทก์เอง ทั้งไม่จำต้องใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอน
ศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปคนมีเสื้อคลุมยืนเท้าเอวอยู่เฉย ๆ ส่วนของจำเลยเป็นรูปคนเกาะดาวอยู่ในท่ากำลังเหาะ รูปดาวใหญ่เด่นชัดแจ้งอยู่ตรงกลางเครื่องหมาย ไม่มีทางจะให้เข้าใจสับสนว่า เป็นเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน อีกทั้งใช้กับสินค้าคนละจำพวก คือ ของโจทก์ใช้กับสินค้าประเภทสิ่งพิมพ์หรือตีพิมพ์ จำพวกที่ ๓๙ ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ ของจำเลยใช้กับสินค้าประเภทวัตถุที่ใช้เป็นอาหาร สินค้าจำพวกที่ ๔๒ ไม่อาจทำให้สาธารณชนเข้าใจหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่ผลิตจากบริษัทโจทก์ ที่จำเลยใช้รูปคนเกาะดาวอยู่ในท่าที่กำลังเหาะ หาเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่เป็นรูปคนมีเสื้อคลุมยืนเท้าเอวอยู่เฉย ๆ ไม่ เพราะรูปคนทั่ว ๆ ไป แม้จะอ้างว่า เป็นซูเปอร์แมนหรือเป็นผู้เก่งกาจกว่าคนอื่น ๆ ก็ตาม ก็ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิสงวนรูปคนไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของตนแต่ผู้เดียว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว
ส่วนที่ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยขัดต่อรัฐประศาสโนบายตามมาตรา ๕ (๗) โจทก์ให้เหตุผลในฎีกาเป็นใจความว่า เพราะเป็นเครื่องหมายที่ลอกเลียนมาจากเครื่องหมายผู้อื่น และเป็นเครื่องหมายอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์มิได้ตั้งประเด็นเป็นข้อหาไว้ และจะอนุมานว่า ได้มีการตั้งข้อหาเช่นนั้นแล้วดังโจทก์กล่าวในฎีกาก็ไม่ได้ เพราะคำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๒ วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย แต่คำฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อนี้หาได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาดังกล่าวไม่ ยิ่งกว่านั้น เหตุผลที่ยกขึ้นกล่าวในฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายที่ลอกเลียนมาจากเครื่องหมายผู้อื่นและเป็นเครื่องหมายอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ก็ไม่เป็นเหตุผลที่แสดงว่าขัดต่อรัฐประศาสโนบาย เพราะไม่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองอย่างใด
คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยต่อไปตามข้ออ้างของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ เป็นลิขสิทธิ์ที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมที่โจทก์จะมีขึ้นได้นั้น ต้องเป็นศิลปกรรมที่ได้ทำขึ้นในแผนกศิลปะ เช่น รูปศิลปะ รูปตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ ไม่ใช่รูปศิลปะ แต่เป็นเพียงเครื่องหมายการค้า สิทธิของโจทก์จึงเป็นสิทธิในเครื่องหมายการค้า ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรม โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้
โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ และถือไม่ได้ว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอันมีแต่จะทำให้โจทก์เสียหาย
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาหนึ่งร้อยบาทแทนจำเลย
- วงษ์ วีระพงศ์
- ประกอบ หุตะสิงห์
- บัญญัติ สุขารมณ์
ดูเพิ่ม
[แก้ไข]
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"