ข้ามไปเนื้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๒๖-๕๑๒๗/๒๕๓๗

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยให้การ
ศาลชั้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า
จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า
จำเลยที่ ๓ นำสืบว่า
จำเลยที่ ๔ นำสืบว่า
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า
๑. จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง ใช่หรือไม่
๒. จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามฟ้อง ใช่หรือไม่
พิพากษา





คำพิพากษา
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๕๑๒๖-๕๑๒๗/๒๕๓๗
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์
ระหว่าง
นายดำรง หรือแบะ นุรักเข ที่ ๑ จำเลย
นายสมศักดิ์ หรือเปี๊ยก ภู่ระหงษ์ ที่ ๒
นายประเสริฐ ตันสกุล ที่ ๓


เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร


พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์
ระหว่าง

นายประสิทธิ์ ชีวินนิติปัญญา หรือเว่ยเซียะกัง หรือไท่เซิง แซ่เว่ย จำเลย


เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร



จำเลยที่ ๒, ที่ ๓, ที่ ๔ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๕

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกจำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ ๔

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสี่กับพวกอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง ให้โทษในประเภท ๑ จำนวนยี่สิบเอ็ดกระสอบ รวมหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบก้อน น้ำหนักหกแสนหนึ่งหมื่นห้าพันเก้าร้อยหกสิบสี่กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์น้ำหนักห้าแสนสองหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กับร่วมกันส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยบรรทุกลงเรือยนต์เพื่อส่งไปเมืองฮ่องกงเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสี่กับพวกลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เนื่องจากเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นและจับกุมได้เสียก่อนพร้อมสตริกนินหนึ่งกระสอบเพื่อใช้ในการผสมเฮโรอีน และเมื่อระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๓๐ ต่อเนื่องกันถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันปลอมใบอนุญาตให้ใช้เรือแบบ บ. ๑๓๖ ของกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่กรมเจ้าท่าออกให้กับเรือชื่อ ชำนาญก้องสมุทร เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๖ โดยลบแล้วเขียนข้อความขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นใบอนุญาตให้ใช้เรือที่กรมเจ้าท่าออกให้กับเรือเทพมงคล การกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเมื่อระหว่างวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลากลางวัน ต่อเนื่องถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ กับพวกได้ร่วมกันใช้ใบอนุญาตให้ใช้เรือที่จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ กับพวกทำปลอมขึ้น โดยนำสำเนาภาพถ่ายของใบอนุญาตให้ใช้เรือที่จำเลยปลอมขึ้นดังกล่าวไปติดไว้ประจำเรือเทพมงคล เพื่อแสดงต่อผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นให้หลงเชื่อว่า เป็นสำเนาภาพถ่ายของใบอนุญาตให้ใช้เรือของเรือเทพมงคล การกระทำของจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ กับพวกน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร, ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลอำเภอจังหวัดใดไม่ปรากฏชัดหลายท้องที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๕, ๖๖, ๑๐๒, พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๒) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๒ ข้อ ๑ (๑), ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ ริบเฮโรอีน, สตริกนิน, เรือยนต์หมายเลขทะเบียนเลขที่ พบ ๐๓๘๙, สำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตใช้เรือปลอม เลขที่ ปข. ๒๔๓๘, เงินจำนวนห้าแสนบาทของจำเลยที่ ๓ ที่ฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย สาขาบางจาก เลขที่บัญชี ๐๓๕ ๒ ๑๑๒๘๙ ๕ ของกลาง พร้อมดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฝาก คือ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๐ เป็นต้นไป และนับโทษจำเลยที่ ๔ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๐๖/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๔ รับว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสอง, ๖๕ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ และเฉพาะจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ วรรคแรก ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษของจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่, ที่ ๒ ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้ประหารชีวิต และเฉพาะจำเลยที่ ๓ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ จำคุกสามปี รวมกระทงลงโทษของจำเลยที่ ๓ แล้วคงประหารชีวิต ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๔ ริบของกลางทั้งหมด คำขออื่นให้ยก

โจทก์ และจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสอง, ๖๕ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓ การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (ที่ถูก มาตรา ๙๐) ให้ประหารชีวิต นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ ๒, ๓ และ ๔ ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า เมื่อต้นปี ๒๕๓๐ พันตำรวจเอก วิรัช ชุติมิต ผู้กำกับการ ๗ กองปราบปราม และเป็นหัวหน้าฝ่ายสืบสวน ศูนย์ปราบปรามยาเสพติดให้โทษ กรมตำรวจ สืบทราบว่า กลุ่มของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับกลุ่มชาวยูนนานหรือชาวจีนฮ่อซึ่งมีถิ่นที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศร่วมกันค้ายาเสพติดให้โทษโดยส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ต่อมา เดือนกันยายน ๒๕๓๐ สายลับรายงานว่า จำเลยที่ ๓ จะใช้เรือชื่อ ส. เทพประทานพร ขนเฮโรอีนไปจำหน่ายที่เมืองฮ่องกง และจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นัดพบกันเพื่อตกลงเกี่ยวกับการขนเฮโรอีนและชำระเงินค่าจ้างขนให้แก่จำเลยที่ ๓ ที่ร้านอาหารธารทิพย์ ถนนศรีนครินทร์ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา พันตำรวจเอก วิรัชได้สั่งร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัย ศิริทรัพย์ กับพวก ไปเฝ้าดูพฤติการณ์ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้มาพบกันตามนัด โดยจำเลยที่ ๔ มากับชายหนึ่งคน นายดาบตำรวจ อนนท์ อินทร์ศรี ได้ถ่ายรูปไว้ ระหว่างพูดกันและขณะที่จำเลยที่ ๔ ส่งถุงกระดาษหูหิ้วสีน้ำตาลให้แก่จำเลยที่ ๓ หลังจากนั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกได้ขับรถยนต์ออกจากร้านอาหารไป ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยกับพวกขับรถยนต์ติดตามจำเลยที่ ๔ ไป ระหว่างทาง จำเลยที่ ๔ กับพวกได้เปลี่ยนรถหลายคันและไปหลายแห่ง ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยกรงว่า จำเลยที่ ๔ กับพวกจะรู้ตัว จึงเลิกติดตามและรายงานต่อพันตำรวจเอก วิรัช วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๐ สายลับรายงานต่อพันตำรวจเอก วิรัชอีกว่า จำเลยที่ ๔ จ่ายเงินค่าจ้างขนเฮโรอีนไปเมืองฮ่องกงแก่จำเลยที่ ๓ จำนวนหนึ่งล้านบาท จำเลยที่ ๓ จะใช้เรือประมงชื่อ ส. เทพประทานพร ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น เทพมงคล ขนเฮโรอีน โดยจะออกเรือจากตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และรับมอบเฮโรอีนซึ่งจะมีผู้นำมาส่งในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ และวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกาถึง ๔ นาฬิกาของวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ บริเวณเกาะมัตราหรือมัดตาซึ่งอยู่ในเขตน่านน้ำจังหวัดชุมพร พันตำรวจเอก วิรัชกับพวกวางแผนจับกุมโดยแบ่งกำลังออกเป็นสองชุด ชุดแรกมีร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยเป็นหัวหน้าชุด ชุดที่สองมีพันตำรวจเอก วิรัชเป็นหัวหน้าชุด ชุดของร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยเดินทางไปถึงจังหวัดชุมพรวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกาและไปลงเรือประมงที่เตรียมไว้ ชุดของร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยซึ่งมีนายดาบตำรวจ อนนท์, จ่าสิบตำรวจ พจนารถ โคจรานนท์ กับพวก รวมประมาณหกคน ได้นำเรือไปจอดอยู่ระหว่างเกาะมัตรากับเกาะสาก รุ่งขึ้น วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลา ๑ นาฬิกา พันตำรวจเอก วิรัชเดินทางไปถึงจังหวัดชุมพร วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกา สายลับรายงานต่อพันตำรวจเอก วิรัชว่า เรือที่จะใช้ขนเฮโรอีนได้แล่นออกจากท่าน้ำจังหวัดชุมพรแล้ว พันตำรวจเอก วิรัชจึงวิทยุแจ้งแก่ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยให้เฝ้าดูการเคลื่อนไหว ต่อมา เวลาประมาณ ๒ นาฬิกาของวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยกับพวกเห็นเรือเทพมงคลแล่นมาทอดสมอลอยลำอยู่ระหว่างเกาะมัตรากับเกาะสาก ห่างจากเรือของร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยประมาณเจ็ดสิบถึงแปดสิบเมตร สักครู่หนึ่ง มีแสงไฟกระพริบสองครั้งจากเรือเทพมงคล โดยไฟกระพริบส่องไปทางท้ายเกาะมัตรา และก็มีแสงไฟกระพริบตอบ แล้วมีเรือหางยาวแล่นจากเกาะมัตรามาเทียบเรือเทพมงคล ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยรายงานต่อพันตำรวจเอก วิรัช พันตำรวจเอก วิรัชสั่งให้จับกุม เมื่อคนร้ายขนเฮโรอีนขึ้นเรือเทพมงคลเรียบร้อยแล้ว ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยจึงแล่นเรือเข้าไปเทียบเรือเทพมงคลห่างประมาณห้าสิบเมตร ได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขอตรวจค้นและจับกุม เรือหางยาวที่แล่นมาเทียบเรือเทพมงคลได้แล่นหลบหนีไป คนร้ายที่อยู่บนเรือเทพมงคลได้ยิงปืนมาที่เรือของร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยหลายนัด ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยกับพวกยิงโต้ตอบ เมื่อเสียงปืนสงบแล้วจึงนำเรือไปเทียบกับเรือเทพมงคลและขึ้นไปตรวจค้น พบจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ แอบอยู่ข้างแท็งก์น้ำบนเรือ กับพบเฮโรอีนยี่สิบเอ็ดกระสอบ, สตริกนินหนึ่งกระสอบ และรอยเลือดที่กาบเรือ และพบธนบัตรรัฐบาลไต้หวันครึ่งใบ และภาพเรือประมงจีน, สำเนาใบอนุญาตให้ใช้เรือเทพมงคล จึงยึดไว้เป็นของกลาง แล้ววิทยุรายงานต่อพันตำรวจเอก วิรัช และลากเรือเทพมงคลมาที่ท่าน้ำสหกรณ์ประมง จังหวัดชุมพร พันตำรวจเอก วิรัชได้ควบคุมจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมของกลางไปที่แผนก ๑ กองกำกับการ ๓ ตำรวจน้ำ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับว่า รับจ้างจากจำเลยที่ ๓ ขนเฮโรอีนไปส่งที่เมืองฮ่องกง พันตำรวจเอก วิรัชรายงานต่อผู้บังคับบัญชาแล้วสั่งให้ควบคุมจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาดำเนินคดีที่กรุงเทพมหานคร และพันตำรวจเอก วิรัชได้โทรศัพท์สั่งให้พันตำรวจโท ประสิทธิ์ คล้ายมุข จับจำเลยที่ ๓ ที่จังหวัดสมุทรปราการ ตรวจค้นบ้านจำเลยที่ ๓ ยึดสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางจาก ของจำเลยที่ ๓ ซึ่งมีเงินอยู่ในบัญชีจำนวนมาก และควบคุมตัวจำเลยที่ ๓ มาที่กองปราบปราม จำเลยที่ ๓ รับว่า รับจ้างขนเฮโรอีนโดยเป็นผู้จัดหาเรือเทพมงคลขนเฮโรอันไปต่างประเทศ ได้เงินค่าจ้างห้าแสนบาท จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การรับสารภาพต่อหน้าพลตำรวจเอก เภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจ และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ว่าจ้าง พันตำรวจเอก วิรัชได้ออกหมายจับจำเลยที่ ๔ และส่งวัตถุที่ยึดไปตรวจพิสูจน์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ปรากฏว่า เป็นเฮโรอีนน้ำหนักหกแสนหนึ่งหมื่นห้าพันหกร้อยเก้าสิบห้ากรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์น้ำหนักห้าแสนสองหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดกรัม สำหรับสตริกนินน้ำหนักยี่สิบกิโลกรัมไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ แต่ใช้สำหรับผสมเฮโรอีนให้มีคุณภาพแตกต่างออกไปและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และส่งสำเนาใบอนุญาตให้ใช้เรือไปตรวจสอบที่กรมเจ้าท่า ปรากฏว่า สำเนาใบอนุญาตให้ใช้เรือเทพมงคลมีการแก้ไขข้อความ โดยสำเนาใบอนุญาตให้ใช้เรือดังกล่าวเป็นของเรือชำนาญก้องสมุทร ซึ่งร้อยตำรวจเอก ลือชัย เดชาคนีวงศ์ พนักงานสอบสวน และเรือเอก จิโรจน์ ประศาสน์กุล ร่วมกันตรวจเรือเทพมงคล พบว่า ที่เก๋งเรือมีการขูดลบชื่อ ชัยรักสมุทร ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเรือออก และเครื่องเรือเทพมงคลตรงกับเครื่องเรือ ส. เทพประทานพรตามที่จดทะเบียนไว้ จากการตรวจสอบของกรมเจ้าท่า ปรากฏว่า เรือชัยรักสมุทรเปลี่ยนชื่อเป็นเรือ ส. เทพประทานพร โดยมีการโอนจากนางสมใจ เทิดสุธาธรรม มาเป็นของนายศักดิ์สิทธิ์ ตันสกุล และนางพิกุล ตันสกุล บุตรและภริยาของจำเลยที่ ๓ เรือ ส. เทพประทานพรจึงเป็นเรือลำเดียวกับเรือเทพมงคล ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน โดยเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๓ ให้การรับด้วยว่า เงินในบัญชีห้าแสนบาทเป็นค่าจ้างขนเฮโรอีนที่ได้รับเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๐ และนำเข้าบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาอโศก-ดินแดง แล้วโอนมาเข้าบัญชีดังกล่าว ร้อยตำรวจเอก ลือชัยได้อายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ ต่อมา วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ พันตำรวจตรี อวยพร จินตกานนท์ จับกุมจำเลยที่ ๔ ได้ที่จังหวัดเชียงใหม่

จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า มีอาชีพรับจ้างทำการประมงโดยทำหน้าที่เป็นพ่อครัว วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๐ นายวัฒนา หรือแก่ ไม่ทราบนามสกุล ได้มาชวนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไปจับปลาที่จังหวัดสงขลานานประมาณหนึ่งเดือน จะให้เงินสามพันบาท โดยจะให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นพ่อครัว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตกลง และไปลงเรือประมงชื่อ เทพมงคล เดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ โดยมีคนร่วมเดินทางเก้าคน นายวัฒนาทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือ จนกระทั่งวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา เรือดังกล่าวแล่นมาถึงจังหวัดชุมพร แต่ไม่จอดเทียบท่า คงลอยลำอยู่ในทะเล ในวันเดียวกันนั้น เวลาต่อมา มีเรือหางยางแล่นมาเทียบ ในเรือมีคนนั่งมาสามคน นายวัฒนาได้พูดกับคนที่นั่งมาในเรือหางยาวและช่วยกันขนถุงปุ๋ยประมาณยี่สิบถุงลงเรือหางยาว ขณะนั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อยู่ท้ายเรือ ไม่ทราบของที่บรรจุอยู่ในถุง จากนั้น ชายทั้งสามก็แล่นเรือออกไปและเรือเทพมงคลก็ออกเดินทางต่อไป คนในเรือนำสุรามาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดื่ม จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ง่วงนอนจึงไปนอนที่ท้ายเรือ จนวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงรู้สึกตัวขณะเจ้าพนักงานตำรวจพาขึ้นรถยนต์มากรุงเทพมหานครไปกรมตำรวจ และพบกับจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่รู้จักจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มาก่อน

จำเลยที่ ๓ นำสืบว่า จำเลยที่ ๓ ทำงานตำแหน่งหัวหน้าช่างเครื่องยนต์ที่บริษัทคาลิกห้องเย็น จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ ๓ พักอยู่บ้านพักของบริษัทห่างจากบริษัทประมาณสองร้อยถึงสามร้อยเมตรกับภริยาและบุตร เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๓ มาทำงานเวลา ๑๐:๒๐ นาฬิกา ออกจากโรงงานเวลา ๑๖:๑๓ นาฬิกา ระหว่างทำงานไม่ได้ออกไปไหน จำเลยที่ ๓ ร่วมกับนายสุรัตน์ นาวีเสถียร น้องเขย ซื้อเรือสองลำไว้ทำการประมง มีกำไรแบ่งกันประมาณเดือนละสองแสนถึงสามแสนบาท จำเลยที่ ๓ มีภริยาอีกคนหนึ่งชื่อ นางพิกุล ตันสกุล มีบุตรชื่อ นายศักดิ์สิทธิ์ ตันสกุล นอกจากนี้ จำเลยที่ ๓ ยังเลี้ยงกุ้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีรายได้จากการขายกุ้งคราวละประมาณสามแสนถึงหกแสนบาทบาท เรือ ส. เทพประทานพร จำเลยที่ ๓ เข้าหุ้นกับนางพิกุลและนายศักดิ์สิทธิ์ซื้อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๘ ราคาสี่แสนห้าหมื่นบาท เดิมชื่อ เรือ ส. ชัยรักสมุทร เมื่อซื้อมาแล้วใส่ชื่อนางพิกุลและนายศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าของ แต่ทั้งสองมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินการ เรือ ส. เทพประทานพรเครื่องเก่าเสียเป็นประจำและประสบการขาดทุน จำเลยที่ ๓ จึงให้นางปราณี วาณิชสำราช เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ในราคาเจ็ดแสนบาท แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนเพราะยังชำระราคาไม่ครบ การเช่าซื้อดังกล่าว นายสัมฤทธิ์ วาณิชสำราญ สามีนางปราณี เป็นผู้ค้ำประกัน นางปราณีรับเรือไปตั้งแต่วันทำสัญญา และปัจจุบัน นางปราณีได้ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ ๓ ถูกจับกุมวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ ที่บ้านพัก เจ้าพนักงานตำรวจยึดสมุดฝากเงินธนาคาคกสิกรไทย สาขาบางจาก ของจำเลยที่ ๓ ไป แล้วควบคุมจำเลยที่ ๓ ไปถึงกองปราบปรามเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา ต่อมา เวลา ๑๗ นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาที่กองปราบปราม จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ บอกว่า เรือเทพมงคลเป็นเรือของจำเลยที่ ๓ ถูกจับกุมที่จังหวัดชุมพร ในเรือมีเฮโรอีน จำเลยที่ ๓ ปฏิเสธ เจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ ไปแถลงข่าวที่กรมตำรวจโดยขู่เข็ญจำเลยที่ ๓ ให้ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ ๔ นำสืบว่า จำเลยที่ ๔ มีอาชีพค้าขายเพชรพลอย และเป็นกรรมการของบริษัทแคนโฮเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตผลไม้กระป๋องและพืชไร่อบแห้งส่งขายทั้งในและต่างประเทศ จำเลยที่ ๔ มีหน้าที่จัดซื้อวัตถุดิบเข้าโรงงาน ประจำอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงระหว่างก่อนและหลังเกิดเหตุหนึ่งเดือน จำเลยที่ ๔ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เดินทางมากรุงเทพมหานคร เพราะกำลังปรับปรุงขยายโรงงาน จำเลยที่ ๔ อ่านภาษาไทยไม่ได้และไม่รู้จักจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ และไม่เคยไปร้านอาหารธารทิพย์ รูปถ่ายหมาย จ. ๕ และ จ. ๔๘ ไม่ใช่รูปถ่ายจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ถูกจับกุมวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจยึดรูปถ่ายของจำเลยที่ ๔ ไปประมาณสิบรูป รูปถ่ายในหมายจับ เอกสารหมาย จ. ๑๘ ก็เป็นรูปถ่ายที่ถูกยึดเอาไป นอกจากนี้ เจ้าพนักงานตำรวจยึดสมุดฝากเงินของจำเลยที่ ๔ และนางมณฑาทิพย์ กี้แซง หรือยี่แสง ภริยาจำเลยที่ ๔ แล้วควบคุมจำเลยที่ ๔ มาดำเนินคดี จำเลยที่ ๔ ลงชื่อในเอกสารหมาย จ. ๔๗ โดยไม่ทราบข้อความ ส่วนเอกสารหมาย จ. ๔๘ และ จ. ๔๙ ลงชื่อยังมิได้กรอกข้อความ

พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ปลอมและใช้เอกสาร เห็นว่า ความผิดดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีกำหนดสามปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ว่า จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างทำครัวในเรือประมงที่เกิดเหตุ ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดคดีนี้ จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ได้ให้นางปราณี วาณิชสำราญ เช่าซื้อเรือประมงที่เกิดเหตุก่อนเกิดเหตุแล้ว และจำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ได้เดินทางมากรุงเทพมหานครระหว่างก่อนและหลังเกิดเหตุหนึ่งเดือน โดยจำเลยที่ ๔ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น โดยเฉพาะรูปถ่ายหมาย จ. ๕ และ จ. ๔๘ ไม่ใช่รูปถ่ายของจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๔ ลงชื่อในเอกสารหมาย จ. ๔๗ ถึง จ. ๔๙ โดยไม่ทราบข้อความนั้น เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๒ ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยกับพวกจับจำเลยที่ ๒ ได้ขณะที่จำเลยที่ ๒ อยู่บนเรือประมงที่เกิดเหตุพร้อมเฮโรอีนของกลาง โดยเรือนั้นไม่ได้ทำการประมงนับตั้งแต่แล่นออกจากตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ และลอยลำอยู่ในทะเลบริเวณเกาะมัตราในเขตน่านน้ำจังหวัดชุมพร วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๐ ทั้งจำเลยที่ ๒ ยอมรับตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม เอกสารหมาย จ. ๑๓ ว่า ร่วมกับพวกมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งเฮโรอันของกลางออกนอกราชอาณาจักร และจำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ. ๓๒ ว่า ได้ร่วมกับลูกเรือคนอื่นยกถุงปุ๋ยขึ้นมาจากเรือลำเล็กในลักษณะที่หลบซ่อน ซึ่งปรากฏว่า ถุงปุ๋ยดังกล่าวทั้งหมดบรรจุเฮโรอีนของกลาง ยกเว้นถุงปุ๋ยหนึ่งใบเป็นสตริกนินอีกด้วย เช่นนี้ เห็นว่า การที่ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ว่า มีการทำประมงก่อนเกิดเหตุ และไม่ปรากฏว่า มีเครื่องมือในการทำประมง ตามที่เรือเอก วิโรจน์ ซึ่งรับราชการที่กรมเจ้าท่า ตำแหน่งเจ้าพนักงานตรวจเรือ ได้ตรวจเรือประมงที่เกิดเหตุ เบิกความว่า เรืออยู่ในสภาพใช้งานได้ แต่ไม่มีเครื่องมือประมง ประกอบกับคนในเรือประมงที่เกิดเหตุมีไม่มาก ผู้ที่อยู่ในเรือด้วยกันทุกคนย่อมได้รับการคัดเลือกและไว้วางใจเป็นพิเศษให้ทำกิจการนอกเหนือจากการทำประมง จึงต้องรู้ดีว่า กิจการที่กระทำบนเรือประมงที่เกิดเหตุนั้นผิดกฎหมายเป็นแน่ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๒ ถูกจับพร้อมกับเฮโรอันของกลางในเรือประมงที่เกิดเหตุ ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๒ รู้ว่า มีเฮโรอีนบรรจุอยู่ในถุงปุ๋ยเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ร่วมกับผู้อื่นมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ที่จำเลยที่ ๒ นำสืบต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงลูกจ้าง ไม่รู้เห็นในการกระทำผิด ก็ขัดกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ไม่อาจรับฟังได้ สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น แม้จะไม่ได้จับจำเลยที่ ๓ ได้พร้อมกับเฮโรอีนของกลาง แต่โจทก์มีร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัย นายดาบตำรวจ อนนท์ และจ่าสิบตำรวจ พจนารถเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ ๓ นั่งคุยและรับประทานอาหารกับจำเลยที่ ๔ ที่ร้านอาหารธารทิพย์เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง จำเลยที่ ๔ ส่งมอบซองกระดาษสีน้ำตาลให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยขณะนั้น ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัยและจ่าสิบตำรวจ พจนารถนั่งอยู่ที่โต๊ะหนึ่งห่างประมาณสิบเมตร แล้วยังมีคำรับของจำเลยที่ ๓ ตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม เอกสารหมาย จ. ๒๑ ว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดหาเรือประมงชื่อ เทพมงคล ให้จำเลยที่ ๑ กับพวกขนเฮโรอีนจากบริเวณปากน้ำชุมพร จังหวัดสมุทรปราการ ไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยได้ค่าตอบแทนห้าแสนบาท และปรากฏจากคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๓ ตามเอกสารหมาย จ. ๓๓ อีกว่า จำเลยที่ ๓ ได้พบกับชายคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้จัดการ ที่ร้านอาหารธารทิพย์ โดยผู้จัดการจ้างจำเลยที่ ๓ ให้นำเรือประมงขนเฮโรอีนไปเมืองฮ่องกง สอดคล้องกับที่ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัย นายดาบตำรวจ อนนท์ และจ่าสิบตำรวจ พจนารถเบิกความว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ พบกันที่ร้านอาหารธารทิพย์ โดยเฉพาะจำเลยที่ ๓ ไม่ได้คัดค้านเอกสารหมาย จ. ๒๑ ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบแต่อย่างใด กลับเบิกความรับว่า ลายมือชื่อในช่องผู้ต้องหาเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ ๓ ด้วย นอกจากนี้ จำเลยที่ ๓ ยังเบิกความรับว่า เรือ ส. เทพประทานพร เดิมชื่อ ส. ชัยรักสมุทร จำเลยที่ ๓ เข้าหุ้นร่วมกับนางพิกุลและนายศักดิ์ ภริยาและบุตรของจำเลยที่ ๓ ตามลำดับ ซื้อมา นางพิกุลและนายศักดิ์สิทธิ์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับเรือได้ตามเอกสารหมาย ปล. ๑ ยิ่งกกว่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เรือประมงที่เกิดเหตุได้ถูกแก้ชื่อเรือว่าเป็นเรือชื่อ เทพมงคล เพื่อใช้ในการกระทำผิด มีการปลอมใบอนุญาตให้ใช้เรือด้วย โดยจำเลยที่ ๓ ปลอมใบอนุญาตให้ใช้เรือประมงและร่วมรู้เห็นในการใช้ใบอนุญาตให้ใช้เรือประมงที่เกิดเหตุปลอม อีกทั้งจำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าของและมีอำนาจสั่งการเรือประมงที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะในการที่จะให้เรือประมงที่เกิดเหตุเดินทางไปไหนได้ในที่ต่าง ๆ ซึ่งปรากฏตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๓ ได้สั่งการให้นายวัฒนา คนขับเรือประมงที่เกิดเหตุ ให้ออกเดินทางจากอำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ไปจังหวัดชุมพรในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ ตามที่จำเลยที่ ๓ ได้รับการนัดหมาย พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่ ๓ ดังที่ได้วินิจฉัยมานั้นเชื่อได้ว่า จำเลยที่ ๓ ร่วมมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ที่จำเลยที่ ๓ นำสืบต่อสู้คดีว่า เรือประมงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ ได้ให้นางปราณี วาณิชสำราญ เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในราคาหกแสนบาทตามเอกสารหมาย ล. ๒ แต่จำเลยที่ ๓ เบิกความว่า ได้ตกลงขายให้นางปราณีในราคาเจ็ดแสนบาท กรณีจึงแตกต่างและขัดกันในข้อสำคัญในราคาและลักษณะของนิติกรรม ทั้งตามเอกสารหมาย ปล. ๑ ก็ปรากฏว่า นางพิกุลและนายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่เกิดเหตุซึ่งได้รับโอนจากนางสาวสมใจ เทิดสุธาธรรม ตามเอกสารหมาย ปจ. ๑ และหมาย จ. ๒๑ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ เพียงเพื่อจดทะเบียนเรือและเป็นผู้แทนในเรื่องเรือยนต์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงให้ขายหรือให้เช่าซื้อซึ่งเป็นการจำหน่ายสิทธิของนางพิกุลและนายศักดิ์สิทธิ์ด้วยเลย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๓ ขายหรือให้นางปราณีเช่าซื้อเรือประมงที่เกิดเหตุ ส่วนที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่า ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ออกไปจากบริษัทที่จำเลยที่ ๓ ทำงานอยู่ในระหว่างเวลาทำงานตามบัตรตอกเวลา เอกสารหมาย ล. ๕ นั้น ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายทวีวงศ์ วิสุทธิอัมพร ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ของบริษัทที่จำเลยที่ ๓ ทำงานอยู่ ว่า พนักงานคนใดจะออกไปธุระจะต้องขออนุญาตนายทวีวงศ์ แต่มีบ้างที่นายทวีวงศ์ไม่อยู่ ซึ่งไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนายทวีวงศ์ยืนยันว่า ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ นายทวีวงศ์ได้อยู่ที่บริษัทและเห็นจำเลยที่ ๓ อยู่ที่บริษัทตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยที่ ๓ อาจจะออกไปจากบริษัทเพื่อไปพบจำเลยที่ ๔ ที่ร้านอาหารธารทิพย์โดยไม่ขออนุญาตนายทวีวงศ์ก็ได้ กรณีจึงฟังไม่ได้ตามที่จำเลยที่ ๓ อ้าง และที่จำเลยที่ ๓ อ้างอีกว่า ได้ลงลายมือชื่อในคำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ. ๓๓ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้อ่านให้ฟังนั้น ก็ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ เองว่า ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว เจ้าพนักงานตำรวจได้นำบันทึกคำให้การตามเอกสารหมาย จ. ๓๓ ที่จำเลยที่ ๓ ลงลายมือชื่อไว้แล้ว ต่อมา มีการบันทึกคำให้การเพิ่มเติมโดยเขียนด้วยลายมือ และเจ้าพนักงานตำรวจได้อ่านข้อความที่บันทึกเพิ่มเติมดังกล่าวให้ฟังแล้ว แต่จำเลยที่ ๓ เห็นว่า ไม่ถูกต้อง จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อนั้น จึงเห็นได้ว่า ข้อความในเอกสารตามเอกสารหมาย จ. ๓๓ ตอนต้นที่เป็นการพิมพ์จะต้องมีการอ่านให้จำเลยที่ ๓ ฟังก่อน และจำเลยที่ ๓ เห็นว่า ถูกต้อง จึงได้ลงลายมือชื่อไว้ ทั้งจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ถามค้านร้อยตำรวจเอก ลือชัยไว้เกี่ยวกับข้ออ้างนี้ จึงมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง สำหรับจำเลยที่ ๔ เห็นว่า ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๔ เอกสารหมาย จ. ๔๗ จำเลยที่ ๔ รับว่า ได้พบกับจำเลยที่ ๓ ประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ที่ร้านอาหาร และพนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายจำนวนสองภาพให้ดูซึ่งเป็นภาพของจำเลยที่ ๔ นายพงษ์ และจำเลยที่ ๓ ขณะกำลังรับประทานอาหารที่ร้านอาหารธารทิพย์ซึ่งเห็นได้ว่า ภาพถ่ายสองภาพดังกล่าวคือภาพถ่ายตามหมาย จ. ๕ และภาพถ่ายตามหมาย จ. ๑๙ ถึง ๒๑ ซึ่งเป็นภาพถ่ายการชี้ตัวจำเลยที่ ๔ ของร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัย นายดาบตำรวจ อนนท์ และจ่าสิบตำรวจ พจนารถที่ยืนยันว่า จำเลยที่ ๔ พบกับจำเลยที่ ๓ ที่ร้านอาหารธารทิพย์นั้น จำเลยที่ ๔ ยอมรับว่า บุคคลในชุดเสื้อสีฟ้าอ่อนคือจำเลยที่ ๔ เมื่อพิจารณาประกอบกับภาพถ่ายหมาย จ. ๕ แผ่นที่หนึ่ง ภาพแรก บุคคลที่มีหมายเลข ๑ กำกับ และภาพที่สอง ตั้งแต่รูปร่าง ใบหน้า ทรงผม และความสูง มีลักษณะเหมือนกัน เชื่อว่า เป็นบุคคลเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ ๔ ก็ฎีการับว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ พบกันที่ร้านอาหาร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๔ พบกับจำเลยที่ ๓ ที่ร้านอาหารธารทิพย์ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ ตามที่ร้อยตำรวจเอก ฉัตรชัย นายดาบตำรวจ อนนท์ และจ่าสิบตำรวจ พจนารถเบิกความ แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ รู้จักกันมาก่อนหรือมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรจึงได้นัดพบกัน แต่การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ พบกันที่ร้านอาหาร และจำเลยที่ ๔ ส่งมอบซองเอกสารให้แก่จำเลยที่ ๓ แสดงว่า ต้องมีการมอบหมายให้ทำกิจการที่เป็นการผิดกฎหมายเป็นแน่ และตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม เอกสารหมาย จ. ๒๑ ที่ว่า จำเลยที่ ๓ ได้รับเงินค่าตอบแทนจากชายไทยชื่อ พงษ์ กับหลาน จำนวนห้าแสนบาท ซึ่งคำว่า หลาน นี้ จำเลยที่ ๓ ได้ให้การชั้นสอบสอนตามเอกสารหมาย จ. ๓๓ ว่า เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ไปที่ร้านอาหารธารทิพย์ พบกับชายไม่ทราบชื่อ ทราบแต่เพียงว่า เป็นหลายชายของชายคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จัก จึงได้เรียกชายคนดังกล่าวว่า ผู้จัดการ โดยผู้จัดการได้ตกลงจ้างจำเลยที่ ๓ นำเรือประมงขนเฮโรอีนไปส่งที่เกาะฮ่องกงในราคาหนึ่งล้านบาท โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับเงินจากนายพงษ์ซึ่งเป็นลูกน้องผู้จัดการจำนวนห้าแสนบาทเมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน ๒๕๓๐ แล้ว โดยผู้จัดการกำหนดให้จำเลยที่ ๓ จัดเตรียมเรือและออกเดินทางวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลานและผู้จัดการเป็นบุคคลคนเดียวกัน และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้นัดพบกันที่ร้านอาหารธารทิพย์ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ ดังนั้น หลานชายหรือผู้จัดการที่จำเลยที่ ๓ กล่าวถึงก็คือจำเลยที่ ๔ และเหตุที่จะจับจำเลยที่ ๔ ก็ปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจเอก วิรัชว่า จำเลยที่ ๓ ให้การรับว่า จำเลยที่ ๔ เป็นผู้จัดการ ซึ่งแม้จะเป็นคำซัดทอดของผู้ที่กระทำความผิดด้วยกันก็ตาม ก็เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานเช่นว่านั้นแต่อย่างไร หากเห็นว่า พยานเช่นว่านั้นให้การซัดทอดชอบด้วยเหตุผลพอให้รับฟังได้ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๔ ก็รับว่า ถูกจับได้ที่บ้านของนายหัสดิน พรสกุลไพศาล ซึ่งไม่ใช่บ้านของจำเลยที่ ๔ ตามที่พันตำรวจตรี อวยพรเบิกความว่า ก่อนจะจับจำเลยที่ ๔ ได้สืบทราบว่า จำเลยที่ ๔ อยู่ที่บ้านนายหัสดิน แสดงว่า จำเลยที่ ๔ ไปหลบอยู่ที่บ้านนายหัสดิน จำเลยที่ ๔ จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม ทำให้เห็นข้อพิรุธ พฤติกรรมของจำเลยที่ ๔ ตามที่สืบทราบมา เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เป็นการจับจำเลยที่ ๔ ได้โดยบังเอิญ และเหตุใดจำเลยที่ ๔ จึงไปอยู่ที่บ้านนายหัสดินก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของจำเลยที่ ๔ อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๔ เป็นผู้จัดให้มีการส่งเฮโรอีนของกลางเพื่อให้จำเลยที่ ๓ จัดเรือบรรทุกไปที่เมืองฮ่องกงตามที่มีการนัดหมายกันไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีเรือประมงแบบทางฮ่องกงและธนบัตรไต้หวันครึ่งฉบับตามหมาย จ. ๑๐ เป็นเครื่องหมายและหลักฐานในการส่งมอบเฮโรอีนของกลางให้แก่กัน กรณีจึงเป็นการร่วมกระทำผิดคดีนี้ด้วยกัน จำเลยที่ ๔ จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ที่จำเลยที่ ๔ นำสืบต่อสู้คดีว่า ตามที่โจทก์นำสืบ ไม่มีพยานหลักฐานฟังได้ว่า จำเลยที่ ๔ กระทำผิดคดีนี้นั้น เห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยที่ ๔ เป็นเพียงจัดให้มีการส่งเฮโรอีนของกลางโดยจัดการว่าจ้างจำเลยที่ ๓ และสั่งการให้จำเลยที่ ๓ ให้มีการส่งเฮโรอีนของกลาง ก็เพียงพอที่จะเชื่อมโยงให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๔ ได้ร่วมกระทำผิดโดยที่เฮโรอีนของกลางเป็นของจำเลยที่ ๔ ได้ เพราะลำพังแต่จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่สามารถมีเฮโรอีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ซึ่งมีจำนวนถึงห้าแสนสองหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดกรัมได้เป็นแน่ นอกจากนี้ ที่จำเลยที่ ๔ อ้างว่า ลงชื่อในเอกสารหมาย จ. ๔๗ ถึง จ. ๔๙ โดยไม่ทราบข้อความนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๔ ให้การปฏิเสธ ไม่มีเหตุผลที่เจ้าพนักงานจะกระทำตามที่จำเลยที่ ๔ อ้างได้ ทั้งจำเลยที่ ๔ ไม่ได้ถามค้านร้อยตำรวจเอก ลือชัย พนักงานสอบสวน ได้ ย่อมยากที่จะรับฟัง จึงเห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยที่ ๔ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์จำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิต และวางโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ประหารชีวิตโดยไม่ลดโทษให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่ง แม้จำเลยที่ ๑ มิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาลดโทษตลอดถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า คำรับของจำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ให้ลดโทษคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ (๑), ๕๓ เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษเป็นจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละสามสิบสามปีสี่เดือน จำคุกจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ คนละตลอดชีวิต เมื่อรวมกระทงลงโทษสำหรับจำเลยที่ ๓ แล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ ๓ ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์



ปราโมทย์ บุนนาค


อากาศ บำรุงชีพ


ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"