ข้ามไปเนื้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๕๔/๒๕๓๙

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๕๓๕๔/๒๕๓๙
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายแมน นุ่มละมูล จำเลย


เรื่อง ลักทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม



จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ ศาลฎีการับวันที่ ๓ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๙

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยการนำโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมบิลาซิตีแมน ๒๐๐ มาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอร์โคด (รหัสประจำเครื่องโปรแกรม) หมายเลข ๔๐๐๐๐ และก็อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข ๙๕๗๓๓๓๖ ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ ๙๐๐ มือถือของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย เข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้ลักเอาไปซึ่งสัญญาโทรศัพท์หมายเลข ๙๕๗๓๓๓๖ ของผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงินสองหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยสามสิบสามบาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน และแขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ต่อมา วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๗ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมโทรศัพท์มือถือที่จำเลยทำ มี และใช้ในการกระทำความผิด พร้อมแบตเตอรี แท่นชาร์จ หนึ่งชุด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔, ๖, ๒๒, ๒๓, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ริบของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวนสองหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยสามสิบสามบาทแก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖ ประกอบด้วยมาตรา ๒๓ กระทงหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียกกระทงลงโทษ ฐานทำ มี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับหนึ่งหมื่นบาท และฐานลักทรัพย์ จำคุกสองปี รวมจำคุกสองปีและปรับหนึ่งหมื่นบาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๗ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกหนึ่งปีและปรับห้าพันบาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวนสองหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยสามสิบสามบาทแก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยในประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ถึง ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยการนำโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมบิลาซิตีแมน ๒๐๐ มาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอร์โคดหมายเลข ๔๐๐๐๐ และก็อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข ๙๕๗๓๓๓๖ ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ ๙๐๐ มือถือของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย เข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้บังอาจลักเอาไปซึ่งสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข ๙๕๗๓๓๓๖ ของผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงินสองหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยสามสิบสามบาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ จำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่า ที่ฟ้องระบุว่า จำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนและก็อปปีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข ๙๕๗๓๓๓๖ ของผู้เสียหายแล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ก็เป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยอาศัยคลื่นสัญญาโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๒๕ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ปัญหาต่อไปมีว่า ควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว จำเลยยังคมมีความผิดฐานทำ มี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๒, ๒๓ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยห้าพันบาทเท่านั้น และโจทก์มิได้อุทธรณ์ในลักษณะขอให้เพิ่มโทษจำเลยสูงขึ้น ปัญหาเรื่องควรรอการลงโทษจำคุกหรือไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์



สมมาตร พรหมานุกูล


ชลอ บุณยเนตร


กอบเกียรติ รัตนพานิช




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"