คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/126/1.PDF |
- โจทก์ฟ้องว่า
- จำเลยทั้งสองให้การว่า
- ทางไต่สวน ข้อเท็จจริงได้ความว่า
- พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า
- ๑. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่
- ๒. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ หรือไม่
- ๓. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ และศาลฎีกาแผนกมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่
- ๔. จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
- ๔.๑ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่
- ๔.๒ จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือไม่
- ๕. การที่จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญากับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น ถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ ฝ่าฝืนและมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
- ๖. จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วยหรือไม่ และเพียงใด
- ๗. จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่
- ๘. ที่ดินพิพาท และเงินที่จำเลยที่ ๒ ชำระค่าที่ดินพิพาทนั้น เป็นทรัพย์อันพึงริบหรือไม่
- เมื่อพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดแล้ว ควรรอการลงโทษจำเลยที่ ๑ หรือไม่
- พิพากษา
คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๐ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐ |
ระหว่าง | อัยการสูงสุด | โจทก์ | |
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ | จำเลย | ||
คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ ๒ |
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ ๑ ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสีย ในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ ๒๒๙๘, ๒๒๙๙, ๒๓๐๐ และ ๒๓๐๑ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่สามสิบสามไร่ เจ็ดสิบแปดตารางวา เก้าตารางเมตร จำนวนเงินเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสองล้านบาท กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่จำเลยที่ ๑ มีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการ การบริหารทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้เข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ด้วยการให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๒ ในการเสนอราคาประมูลซื้อที่ดิน ทำสัญญาจะซื้อ จะขายที่ดิน และทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมีการปรับลดราคาในช่วงที่จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการปรับเพิ่มราคาที่ดินหลังจากจำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินแล้ว การที่จำเลยที่ ๒ เข้าไปเสนอราคาประมูลซื้อที่ดิน ทำสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ในการเข้าไปมีส่วนได้เสีย และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตข้างต้น เหตุเกิดที่แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ต่อมา คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เห็นว่า เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔, ๑๐๐ และ ๑๒๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๘๖, ๙๐, ๙๑, ๑๕๒ และ ๑๕๗ กับให้ริบเงินจำนวนเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสองล้านบาท ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิด และที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๘, ๒๒๙๙, ๒๓๐๐ และ ๒๓๐๑ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการกระทำความผิด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ทางไต่สวน พยานหลักฐานจากการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และรายงานสรุปสำนวนการตรวจสอบไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีประกาศกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้เป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสีย ในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ควบคุมหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นนิติบุคคล ที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ เมื่อบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์ จำกัด หนึ่งในสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแก้ไขฟื้นฟู และเพิ่มทุนให้สามร้อยล้านบาท กับรับโอนหุ้นจดทะเบียน และชำระค่าหุ้นแล้วจากบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์ จำกัด ร้อยละเจ็ดสิบห้า ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์ จำกัด มีฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น ก่อนที่จะพิจารณานำหุ้นออกขายในภายหลัง เป็นเหตุให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์จำกัด ร้อยละเก้าสิบสอง แต่สถานะของบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์จำกัด มีเงินกองทุนติดลบอยู่ จำเป็นต้องทำให้เงินกองทุนเป็นบวกเสียก่อนนำออกขาย เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๘ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงซื้อที่ดินของบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์จำกัด จำนวนสองแปลง แปลงที่หนึ่ง อยู่ติดศูนย์วัฒนธรรม รวมสิบแปดโฉนด เนื้อที่แปดสิบห้าไร่ สามงาน หกสิบห้าตารางวา ในราคาสองพันเจ็ดร้อยสี่สิบเก้าล้านสี่หมื่นบาท และแปลงที่สอง อยู่ติดถนนเทียมร่วมมิตร รวมสิบสามโฉนด เนื้อที่สามสิบห้าไร่ สองงาน หกสิบเก้าตารางวา ในราคาสองพันหนึ่งร้อยสี่สิบล้านสามแสนห้าหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาท ซึ่งทำให้บริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์จำกัด นำกำไรจากการขายที่ดินไปล้างการขาดทุนสะสมที่มีอยู่ เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก และจะได้นำหุ้นออกขายต่อไป ต่อมาประมาณกลางปี ๒๕๔๔ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ปรับปรุงเกณฑ์บันทึกการบัญชีทรัพย์สินรอการขายใหม่ทั้งหมด เพื่อรับรู้ผลการขาดทุน โดยใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินในขณะนั้นเป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่เป็นจริง เป็นผลให้ราคาที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวลดลง โดยที่ดินแปลงที่หนึ่งมีราคาหนึ่งพันสามร้อยสิบล้านหนึ่งแสนบาท และแปลงที่สองมีราคาเจ็ดร้อยห้าสิบสี่ล้านห้าแสนบาท เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖ คณะกรรมการจัดการกองทุนอนุมัติให้นำทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินออกจำหน่ายโดยประมูลขาย และได้นำที่ดินแปลงที่สองออกประมูลขายทางอินเทอร์เน็ตในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๖ ถึง ๑๖:๓๐ นาฬิกา โดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่แปดร้อยเจ็ดสิบล้านบาท หรือราคาประเมินของกรมที่ดิน บวกร้อยละสิบห้า ผู้ประสงค์จะเข้าประมูลต้องลงทะเบียนและชำระเงินมัดจำการประมูลสิบล้านบาทบาทที่บริษัทสามารถอินโฟมีเดีย จำกัด หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระหว่างวันที่ ๑๕ ถึงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ปรากฏว่า มีผู้ประสงค์จะซื้อที่ดินแปดราย ลงทะเบียนและชำระเงินมัดจำการประมูลสามราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทองหล่อเรสซิเด้นท์ จำกัด และบริษัท แสนสิริ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาเสนอราคา กลับไม่มีผู้ใดเสนอราคาประมูล กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงยกเลิกการประมูล แล้วดำเนินการรังวัดที่ดินแปลงที่สอง ทั้งสิบสามโฉนด โดยแบ่งหักส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ออก กับรวมและแบ่งแยกโฉนดใหม่เป็นสี่โฉนด คือ โฉนดเลขที่ ๒๒๙๘, ๒๒๙๙, ๒๓๐๐ และ ๒๓๐๑ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เหลือเนื้อที่รวมสามสิบสามไร่ เจ็ดสิบแปดตารางวา เก้าตารางเมตร และประกาศขายที่ดินใหม่อีกครั้ง โดยวิธีประกวดราคา และไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ กำหนดวันซื้อแบบประกวดราคาระหว่างวันที่ ๒ ถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ ระหว่างเวลา ๙ ถึง ๑๖:๓๐ นาฬิกา ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำเพื่อการยื่นซองประกวดราคาหนึ่งร้อยล้านบาท ภายในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ ก่อนเวลา ๑๒ นาฬิกา กำหนดวันยื่นซองและเปิดซองประกวดราคาวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๑:๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม ๒ ชั้น ๔ อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่า มีผู้ซื้อแบบสี่ราย แต่ยื่นซองเสนอราคาสามราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) โดยนายวีระพงษ์ มุทานนท์ ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคาเจ็ดร้อยสามสิบล้านบาท, บริษัท โนเบิลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยนายกีรติ คตะสุข ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคาเจ็ดร้อยห้าสิบล้านบาท, และจำเลยที่ ๒ โดย นายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคาเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสองล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุด คณะกรรมการจัดการกองทุนได้ประชุม และอนุมัติให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๖ และชำระค่าที่ดินครบถ้วนในเวลาต่อมาก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ โดยจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๒ ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว พร้อมมอบหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบการทำสัญญาด้วย หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาลที่จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีอำนาจตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ต่อมา นายวีระ สมความคิด ได้กล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐว่า การที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยจำเลยที่ ๑ รู้เห็นยินยอมดังกล่าว เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) ซึ่งมีโทษตามมาตรา ๑๒๒ ต่อมา วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กล่าวโทษจำเลยทั้งสองฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน ในการกระทำความผิดอาญา และวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๐ ได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษเพิ่มเติม คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) และเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นหรือไม่ คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอ และได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้นายพิชิต ชื่นบาน ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จำเลยที่ ๒ ประมูลซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยเปิดเผย และจำเลยที่ ๑ ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๒ ในฐานะสามีของจำเลยที่ ๒ เป็นการส่วนตัว มิได้กระทำในฐานะนายกรัฐมนตรี กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานในสังกัดของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนใด ๆ ที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ได้รับความเสียหายจากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ เพราะมีกำไรและสามารถนำเงินที่ได้ไปลดภาระหนี้สิน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยไม่สมัครใจ คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองน่าจะเป็นความผิดอาญาที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบด้วย และส่งสำนวนการตรวจสอบไต่สวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาและฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว สำหรับปัญหาที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ข้อ ๒ และข้อ ๕ กับบทบัญญัติมาตรา ๔ มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยวินิจฉัยเกี่ยวกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ตามคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๑ ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ มิได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด และวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา ๔ มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามคำวินิจฉัยที่ ๑๑/ ๒๕๕๑ ว่า บทบัญญัติมาตรา ๔ มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ สอดคล้องกับหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และหลักธรรมาภิบาล อันเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖, ๒๗, ๒๘, ๒๙, ๓๙ และ ๔๓ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวง เป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันศาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๑ วรรคสาม และมาตรา ๒๑๖ วรรคห้า องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลงในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ สิ้นสุดลงในวันดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับต่อไป ก็คงมีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ เฉพาะกรณีความผิดที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า ในการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศในแต่ละครั้งนั้น ผู้ทำการรัฐประหารมีความประสงค์ที่จะยึดอำนาจอธิปไตยที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ มารวมไว้ โดยให้มีผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวหรือคณะบุคคลคณะเดียวเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบแต่อย่างใด แม้แต่อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยก็ยังปรากฏเป็นข้อที่รับรู้กันทั่วไปว่า ตามปกติ ผู้ทำการรัฐประหารจะยังคงให้อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่อไปได้ คงยึดอำนาจไว้แต่เฉพาะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้น ในการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็เช่นกัน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมารวมไว้ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป แสดงให้เห็นว่า บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งได้ตราขึ้นและมีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะที่มีการยึดอำนาจนั้นหาได้ถูกยกเลิกไปด้วยแต่ประการใดไม่ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ คงมีผลให้กฎหมายและบุคคลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยต่าง ๆ ยกเว้นศาลยุติธรรมสิ้นสุดลง ตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวโดยแจ้งชัดเท่านั้น ดังนั้น แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้ตราขึ้นใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อมีการตราขึ้นใช้บังคับโดยชอบแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติทั่วไป กล่าวคือ หากไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ย่อมมีความสมบูรณ์ และดำรงคงความเป็นกฎหมายอยู่ในตัวเอง สามารถนำไปใช้บังคับแก่กรณีต่าง ๆ ได้ โดยหาจำต้องอาศัยความดำรงคงอยู่ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ การสิ้นผลหรือการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปในการยกเลิกกฎหมาย กล่าวคือ มีการบัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นใช้บังคับแทน หรือมีกฎหมายบัญญัติให้ยกเลิกโดยชัดแจ้งเท่านั้น เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ ไม่ได้บัญญัติให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญด้วย การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงไม่มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด ส่วนที่ปรากฏต่อมาว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับต่อไปนั้น ก็เป็นเพียงการยืนยันว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกไปเพราะการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเท่านั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ มิได้ถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ หรือไม่ ในปัญหานี้จำเลย ทั้งสองโต้แย้งว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ได้รับความเสียหาย การร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐไม่ใช่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เห็นว่า ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น การดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมาตรา ๑๙ กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริง และสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็น เพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนการเริ่มต้นคดีโดยผู้เสียหาย เป็นไปตามมาตรา ๖๖ ที่ให้ผู้เสียหายที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่หลังจากยึดอำนาจปกครองประเทศแล้ว ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งข้อ ๕ (๒) (๓) และ (๔) แห่งประกาศดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ และตรวจสอบการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เห็นว่า เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งความในวรรคสามยังให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๙ แห่งประกาศดังกล่าวกำหนดว่า ในกรณีดำเนินการตรวจสอบแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ก็ให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งได้แก่ การยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น สถานะและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐย่อมเป็นไปตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แม้จะไม่ใช่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็สามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่หรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยตัวบทกฎหมายดังกล่าวได้ ส่วนการตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีนี้เป็นไปโดยชอบหรือไม่นั้น ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า เป็นการตรวจสอบในกรณีกล่าวหาจำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย กับจำเลยที่ ๒ ในฐานะคู่สมรสของจำเลยที่ ๑ ว่า ร่วมกันกระทำความผิด ด้วยการเข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน ที่ทำกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งโจทก์อ้างว่า เป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ ๑ มีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อการป้องปรามการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้แสวงหาประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแล ของตน อันจะก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตนและของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัตินี้ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตาม หากปฏิบัติฝ่าฝืน ก็อาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ (๒) (๓) และ (๔) และยังอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่นตามบทบัญญัติมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการการบริหารทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ด้วยการให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๒ ในการเสนอราคาประมูลซื้อที่ดิน ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ในส่วนนี้ การกระทำตามที่กล่าวหาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่จะดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๙ (๒) และมาตรา ๖๖ ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๒ เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) และเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๒) ส่วนการกล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ วรรคท้าย กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด ซึ่งในเรื่องนี้ ได้ความจากคำเบิกความของนายวีระ สมความคิด ประกอบสำเนาหนังสือพร้อมเอกสารแนบท้าย และบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ. ๑๐๙ และ ๑๑๕ ว่า เรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทคดีนี้ พยานเคยมีหนังสือกล่าวโทษไปยังเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเพื่อขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง แต่ไม่เป็นผล เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำการยึดอำนาจการปกครอง และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแล้ว พยานจึงมีหนังสือกล่าวโทษไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ดำเนินการเรื่องนี้ในขั้นต้นตามที่มีผู้ร้องเรียนมา โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการตรวจสอบ อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่กำหนดไว้โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ วรรคท้าย ดังกล่าวแล้ว หาจำต้องให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษเสียก่อนดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างไม่ อย่างไรก็ดี ได้ความจากคำเบิกความของนายนามต่อไปว่า เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนทำการตรวจสอบแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจึงแจ้งให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ โดยในเบื้องต้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง และต่อมา กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้มีหนังสือกล่าวโทษไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และได้ความจากคำเบิกความของนายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกอบสำเนาหนังสือ สำเนารายงานการประชุม และบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. ๗๖, ๗๘, ๗๙ และ ๑๒๐ ว่า หลังจากกระทรวงการคลังได้รับแจ้งจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแล้ว ได้มีหนังสือถึงกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาคณะกรรมการจัดการกองทุนจึงประชุม และพิจารณาแล้ว เห็นว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยฝ่าฝืนข้อห้ามในเรื่องคุณสมบัติของจำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) อาจเป็นผลให้สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ และทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้รับความเสียหาย จึงมีมติให้ยื่นคำร้องกล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งพยาน ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ปฏิบัติไปตามมติของคณะกรรมการจัดการกองทุนดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ได้รับความเสียหาย โดยอ้างนายชาญชัย บุญญฤทธิ์ไชยศรี พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี เป็นพยานสนับสนุนนั้น ได้ความจากนายชาญชัยว่า เป็นเพียงความเห็นของพยาน โดยอาศัยสมมุติฐานที่ว่า มีการขายที่ดินพิพาทโดยเปิดเผย และได้ราคาสูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน เพราะการจะรับฟังตามข้ออ้างของจำเลยทั้งสองได้ ต้องได้ความว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น แต่กรณีนี้ ข้อต้องห้ามในคุณสมบัติของจำเลยทั้งสองในการเป็นคู่สัญญาอาจเป็นผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และต้องมีการคืนทรัพย์สินแก่กัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๗๒ ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินย่อมได้รับความเสียหาย เพราะต้องนำที่ดินพิพาทออกจำหน่ายใหม่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้เพิ่มขึ้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็ได้ปฏิบัติไปตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีอำนาจตรวจสอบ และดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง กับได้มีการกล่าวโทษและคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) และ (๒)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ใช่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี ทั้งการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่ใช่เรื่องประโยชน์ส่วนบุคคลขัดหรือแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม ในการวินิจฉัยปัญหานี้เห็นสมควรวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองเป็นประเด็นตามลำดับไปดังนี้
ที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ไม่ได้บัญญัติคำจำกัดความของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ไว้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามมีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัตินิยามของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ไว้ในมาตรา ๓ ว่า หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นใดที่ดำเนินกิจการของรัฐตามกฎหมาย และได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินหรือทรัพย์สินลงทุนจากรัฐ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้การจัดหาสินค้าและบริการของหน่วยงานของรัฐเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีการแข่งขันกันอย่างเสรี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ทั้งกำหนดลักษณะความผิดและกลไกในการดำเนินการเอาผิดแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การปราบปรามดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันมีเจตนารมณ์สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ต้องการให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวตราขึ้นในปีเดียวกัน และมีสถานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ดังนั้น คำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ ย่อมมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นหน่วยงานในธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๒๙ ตรี เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ในทำนองเดียวกับวัตถุประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจัดสรรเงินสำรองส่งสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นคราว ๆ ไป องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑)
ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีเจตนารมณ์เพื่อป้องปรามการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิให้แสวงหาประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของตน เพราะการปฏิบัติหน้าที่ หรือวินิจฉัยสั่งการ หรืออำนาจที่ตนมีอยู่เหนือหน่วยงานของรัฐ อาจส่งผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อการใช้ดุลพินิจหรือการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ อันจะก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตนกับผลประโยชน์ของรัฐ หรือก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ โดยข้อจำกัดสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่ง หากแต่ใช้เฉพาะตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ดังกล่าว ประกอบประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งกำหนดห้ามไว้เฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า บทบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งในทางบริหารราชการแผ่นดินระดับสูง โดยมิได้จำกัดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะต้องมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีในหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ โดยตรง ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดินมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นสามส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจงแสดงความคิดเห็นทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็น จะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย ส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงต่าง ๆ มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวง ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ แต่มีข้อจำกัดว่า อำนาจดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๑ กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการขัด หรือแย้ง หรือลดทอนอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตรา ๒๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในการให้รัฐมนตรีผู้ใดพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี จึงแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่า มีขอบเขตอย่างกว้างขวาง มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ในทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวง ต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงและทบวงนั้น ๆ โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลตามลำดับผ่านรัฐมนตรี สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงินเป็นหน่วยงานในธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๒๙ ตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ในทำนองเดียวกันกับวัตถุประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอยู่ในสังกัดฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน แม้มาตรา ๒๙ เตรส จะบัญญัติให้การวางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการกองทุน แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการจัดการกองทุน ตามมาตรา ๒๙ นว ที่ประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน แล้ว เห็นว่า ล้วนมีความเกี่ยวข้องและอยู่ในสถานะที่อาจถูกพิจารณาในทางให้คุณให้โทษโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ทั้งสิ้น โดยคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งอาจพ้นจากตำแหน่งได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ออก ตามมาตรา ๒๙ เอกาทศ ส่วนปลัดกระทรวงการคลังเป็นข้าราชการประจำ อยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นหน่วยงานสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงการคลัง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องอาศัยรัฐบาลให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำเสนอ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยปกตินายกรัฐมนตรีจะไม่เข้าไปสั่งการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยลำพัง เว้นแต่มีเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีสามารถให้ความเห็นหรือสั่งการได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานที่เคยทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหลายปาก ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เบิกความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีหนี้จำนวนมาก สมัยรัฐบาลที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรประมาณห้าแสนล้านบาท เพื่อหาเงินมาล้างหนี้ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พยานเองก็เคยเสนอรัฐบาลให้ออกพันธบัตรประมาณแปดแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท เพื่อล้างหนี้ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เบิกความว่า ลักษณะของกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานเพื่อให้สืบความกับกระทรวงการคลัง เงินที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินใช้ในการบริหารจัดการ กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรประมาณล้านกว่าล้านบาท เพื่อเอาเงินใส่เข้าไปในสถาบันการเงิน เมื่อขายไม่ได้ ก็ต้องออกพันธบัตรระยะยาว แล้วตั้งงบประมาณชำระ และอีกส่วนหนึ่งเอากำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยมา โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะเข้าไปกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เบิกความว่า รัฐบาลออกพันธบัตรมาสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เบิกความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย โครงสร้างการกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการ และมีกรรมการอื่น เช่น ปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รัฐมนตรีจะขอหรือสั่งการให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินดำเนินการในเรื่องใดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีได้ ภายหลังเกิดวิกฤติปี ๒๕๔๐ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีหนี้มาก หนี้เหล่านี้มาจากการขายพันธบัตร เพื่อเอาเงินมาช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และมีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นภาระรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่าย การจัดการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการกองทุนทำได้เองแต่บางเรื่อง เช่น การเพิ่มทุนหรือลดทุนต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เบิกความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขสถาบันการเงิน โดยช่วยเหลือผู้ฝากเงิน คือ เป็นหลักประกันว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนครบถ้วน และนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เบิกความว่า ขณะเกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๗ รัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีเครื่องมือช่วยสภาพคล่องสถาบันการเงิน ดังนั้น จึงตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขึ้นมา โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย การที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจ่ายเงินไปเพื่อช่วยสถาบันการเงินที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง หรือเรื่องความอยู่รอดหรือล้มละลายของสถาบันการเงิน หากสถาบันการเงินมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและล้มละลาย ก็จะจ่ายเงินให้ไม่ได้ เพราะจะไม่ได้เงินกลับคืน ถ้าไม่ได้กลับคืนมา ก็จะต้องหาเงินมาใส่ การเอาเงินมาใส่ก็เอามาจากภาษีอากร คือ โยกเงินจากรัฐบาลมาใส่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉะนั้น การจะให้สภาพคล่องต่อสถาบันการเงินจึงจะต้องมีการตัดสินใจโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง คำเบิกความของพยานดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นอกจากนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายดังกล่าว ในทางปฏิบัติของการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เคยใช้อำนาจดังกล่าวกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามลำดับชั้นด้วย องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงหกต่อสาม ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีอำนาจในการกำกับ ควบคุม ดูแล กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินกิจการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ (๑) หรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๑๐๐ บัญญัติไว้ในหมวด ๙ ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม บทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ (๑) จึงต้องเป็นกรณีสัญญาตามมาตรา ๑๐๐ (๑) มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นที่รู้กันทั่วไป รวมทั้งจำเลยที่ ๑ ว่า สาเหตุที่ต้องมีการก่อตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤติของสถาบันการเงินหลายแห่งมีหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนมาก ขาดสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียน หากปล่อยให้ล้มละลาย จะทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อน ทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศเสียหาย รัฐบาลจึงต้องหาวิธีแก้ไขโดยนำเงินส่วนหนึ่งจากเงินงบประมาณหรืออนุมัติการออกพันธบัตรเงินกู้ เพื่อให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนำไปช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ซื้อทรัพย์สินในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดมาก เพื่อให้สถาบันการเงินดังกล่าวสามารถล้างการขาดทุนสะสมมีกำไร ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก สามารถนำหุ้นของสถาบันการเงินนั้นออกขายได้ มีเงินชำระแก่เจ้าหนี้และสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ กรณีที่ดินพิพาท กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เข้าไปซื้อจากบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์ จำกัด รวม สิบสามโฉนด เนื้อที่รวมสามสิบห้าไร่ สองงาน หกสิบเก้าตารางวา ในราคาสองพันหนึ่งร้อยสี่สิบล้านสามแสนห้าหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาท โดยซื้อพร้อมกับที่ดินอีกแปลงหนึ่ง รวมสิบแปดโฉนด เนื้อที่รวมแปดสิบห้าไร่ สามงาน หกสิบห้าตารางวา ในราคาสองพันเจ็ดร้อยสี่สิบเก้าล้านสี่หมื่นบาท ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันใกล้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดวิกฤติของสถาบันการเงินหลายแห่ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องใช้เงินจำนวนสูงถึงล้านล้านบาท นำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการเงินหลายแห่งในราคาสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านั้นมีกำไรมีเงินหมุนเวียน ไม่ขาดสภาพคล่อง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่การที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่รับซื้อมาหลายสถาบันการเงินอยู่เป็นจำนวนมาก หากนำออกขายได้ราคามากเท่าใด กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็จะลดการขาดทุนลง นั่นย่อมหมายถึง เงินของรัฐก็จะเสียหายน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น เมื่อปี ๒๕๔๔ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ปรับปรุงเกณฑ์บันทึกการบัญชีทรัพย์สินรอการขายที่ดินดังกล่าว โดยปรับลดราคาที่ดินแปลงสิบสามโฉนดลงเหลือเจ็ดร้อยห้าสิบสี่ล้านห้าแสนบาท เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวสามารถขายได้ นำเงินมาลดการขาดทุน เปิดประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ โดยกำหนดราคาขั้นต่ำเป็นเงินแปดร้อยเจ็ดสิบล้านบาท โดยคำนวณจากราคาของกรมที่ดิน และปรับเพิ่มอีกร้อยละสิบห้า และกำหนดให้ผู้ประสงค์จะเข้าประมูลซื้อที่ดินต้องวางเงินมัดจำการประมูลรายละสิบล้านบาท มีผู้แสดงความประสงค์จะซื้อจำนวนแปดราย แต่มีผู้ลงทะเบียนชำระเงินมัดจำการประมูลเพียงสามราย แต่ถึงวันประมูลไม่มีผู้เสนอราคาประมูล จึงต้องยกเลิกการประมูล หลังจากนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินทั้งสิบสามโฉนดในส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ออกไปแล้ว รวมแบ่งแยกเป็นสี่โฉนด เหลือเนื้อที่สามสิบสามไร่ เจ็ดสิบแปดตารางวา ห้าตารางเมตร แล้วประกาศขายโดยการประกวดราคา กำหนดยื่นซองและเปิดซองประกวดราคาในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๖ ผู้เข้าประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำหนึ่งร้อยล้านบาท ปรากฏว่ามีผู้ยื่นซองประกวดราคารวมสามราย และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ซื้อได้ โดยเสนอราคาเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสองล้านบาท สูงกว่าผู้เสนอราคาอีกสองราย ที่เสนอราคาเจ็ดร้อยสามสิบล้านบาท และเจ็ดร้อยห้าสิบล้านบาท เห็นได้ว่า แม้การซื้อทรัพย์โดยวิธีประกวดราคาจะเป็นการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรมและโดยเปิดเผย แต่ผู้เสนอราคาก็ไม่ต้องการเสนอราคาที่สูง เพราะไม่ต้องการซื้อราคาแพง ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ผู้เสนอราคารายอื่นเสนอราคาต่ำกว่าที่ตนเสนอ ขณะนั้นจำเลยที่ ๑ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะมั่งคั่ง มีอำนาจและบารมีทางการเมืองสูง เป็นที่ยอมรับทั้งในคณะรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาลและประชาชนจำนวนมาก หากพิจารณาในด้านของธรรมาภิบาลแล้ว บุคคลผู้เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงภริยาและบุตร ไม่สมควรที่จะเข้าไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะการขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ราคามากหรือน้อยย่อมมีผลถึงสถานะทางการเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบอยู่ จำเลยที่ ๒ เป็นภริยาและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป นายเกริก วณิกกุล เบิกความว่า ก่อนมีการประมูลขายครั้งที่ ๒ นี้ ได้ข่าวว่า ภริยานายกรัฐมนตรีจะมาประมูลซื้อที่ดินแปลงนี้เช่นกัน แสดงว่าข่าวจำเลยที่ ๒ จะเข้าประมูลซื้อที่ดินตามฟ้อง ได้แพร่กระจายอยู่ก่อนแล้ว และอาจจะกล่าวได้ว่า ค่านิยมของข้าราชการส่วนใหญ่มักจะจำยอมต่อผู้มีอำนาจบารมีเหนือตน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจและบารมีทางการเมืองสูงเช่นจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจให้คุณให้โทษได้ แม้ต่อบุคคลนอกวงราชการก็ตาม กระบวนการจัดการประกวดราคาครั้งที่ ๒ นี้ มีการรังวัดแบ่งแยกกันทางสาธารณประโยชน์ออกไป และรวมเหลือสี่โฉนด มีการประกาศประกวดราคาเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ โดยระบุเลขที่โฉนดที่ดินทั้งสี่โฉนดทั้งที่การออกโฉนดทั้งสี่โฉนดเพิ่งเสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ ทั้งมีการกำหนดวงเงินมัดจำของผู้เข้าประกวดราคาสูงถึงหนึ่งร้อยล้านบาท ไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ การกำหนดเงินมัดจำสูงถึงหนึ่งร้อยล้านบาท เป็นที่เห็นได้ว่า การกำหนดวงเงินมัดจำสูงมากเพียงใด สามารถกีดกันผู้เข้าประมูลให้น้อยลงตามไปด้วย การที่มีผู้เข้าเสนอราคาประมูลเพียงสามราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โนเบิลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ ๒ ซึ่งต่างเสนอราคาในราคาเจ็ดร้อยสามสิบล้านบาท, เจ็ดร้อยห้าสิบล้านบาท และเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสองล้านบาท แต่ก็เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเสนอราคาสูงสุดก็ตาม ก็ยังต่ำกว่าราคาขั้นต่ำแปดร้อยเจ็ดสิบล้านบาทที่ตั้งไว้ในการประมูลครั้งแรก สำหรับผู้เสนอราคาอีก ๒ ราย ซึ่งเสนอราคาต่ำจากราคาที่จำเลยที่ ๒ เสนอ โดยห่างกันประมาณยี่สิบล้านบาทเป็นลำดับ น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ แม้คณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะเห็นว่า ราคาที่จำเลยที่ ๒ ประมูลได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสมก็ตาม แต่ยังอาจไม่ใช่ราคาสูงสุดที่ควรจะขายก็ได้ ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงว่า ผู้เข้าประมูลซื้อที่ดินแข่งกับจำเลยที่ ๒ ทั้งสองรายเป็นบริษัทประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ต่างก็รู้ว่ากำลังเสนอราคาประมูลแข่งกับภริยาของนายกรัฐมนตรี น่าเชื่อว่า ผู้เข้าประมูลซื้อทั้งสองรายย่อมต้องรู้ว่าไม่สมควรที่จะชนะการประมูลในครั้งนี้ ผลการประมูลจึงออกมาว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่สามารถขายที่ดินตามฟ้องทั้งสี่แปลงโดยการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ได้รับประโยชน์จากการขายที่ดินตามฟ้องทั้งสี่แปลงได้เท่าที่ควร กรณีจึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมโดยชัดแจ้ง การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งต้องห้ามมิให้กระทำตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ ๑ เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ย่อมถือว่า การเข้าทำสัญญานั้นเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ เอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ วรรคสาม ที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่า การลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๒ ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นเพียงการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบราชการนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่จำเลยที่ ๒ ดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อแก้ตัวให้จำเลยที่ ๑ พ้นผิดตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสอง เช่นนี้ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงห้าต่อสี่ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ (๑) ซึ่งต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) ร่วมกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา มีเพียงการที่จำเลยที่ ๑ ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๒ ในการร่วมประมูลซื้อและทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท และจากการไต่สวนพยานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบรายงานสรุปสำนวนการตรวจสอบไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้ความว่า การดำเนินการตั้งแต่ร่วมเสนอราคา ทำสัญญาจะซื้อจะขาย จนกระทั่งทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ ๒ โดยไม่ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ มีการกระทำการอย่างใดที่แสดงให้เห็นว่าร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยที่ ๒ ด้วย ส่วนที่โจทก์อ้างว่า การดำเนินการในเรื่องนี้มีข้อพิรุธหลายประการ ได้แก่ การปรับลดราคาที่ดินพิพาทลงในช่วงที่จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การไม่กำหนดราคาขั้นต่ำของที่ดินพิพาทในการประกวดราคา หนังสือชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคามีรายละเอียดไม่ครบถ้วน มีการเพิ่มเงินมัดจำในการยื่นซองประกวดราคาเป็นหนึ่งร้อยล้านบาท และมีการยกเลิกข้อจำกัดเรื่องความสูงในการก่อสร้างอาคารบริเวณที่ดินที่ขายแก่จำเลยที่ ๒ ทำให้ที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมนั้น ก็เป็นเพียงการส่อถึงข้อพิรุธในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกับจำเลยที่ ๒ เท่านั้น แต่ไม่พอที่จะรับฟังว่า เป็นการกระทำหรือจำเลยที่ ๑ มีส่วนกระทำหรือเกี่ยวข้อง ในอันที่จะแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ว่า ประสงค์จะมีเจตนาร่วมซื้อที่ดินพิพาทอย่างเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๒ ลำพังการที่จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอถึงขนาดให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ มีเจตนากระทำการในลักษณะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๒ ได้ นอกจากนี้ การที่บุคคลใดจะต้องรับโทษทางอาญา ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า บุคคลนั้นได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย สำหรับบทบัญญัติที่เป็นความผิดและบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ วรรคสาม มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิบางประการของคู่สมรสและมาตรา ๑๒๒ เป็นบทกำหนดโทษทางอาญาที่จะลงแก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีเจตนารมณ์สำคัญในการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้โอกาสจากการมีอำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากหน่วยงานของรัฐที่ตนมีหน้าที่กำกับดูแลหรือควบคุม อันอาจจะทำให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตนกับผลประโยชน์ของรัฐ โดยเมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นบทบัญญัติห้ามเด็ดขาดมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๐ (๑) ถึง (๔) โดยบทบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่า การกระทำของคู่สมรสเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติมาตรา ๑๒๒ ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ แต่ไม่ได้ระบุให้ลงโทษรวมไปถึงคู่สมรสด้วย ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติกำหนดโทษในมาตราอื่น ๆ ที่ใช้คำว่า ให้ลงโทษแก่ผู้ใดที่ฝ่าฝืน โดยไม่ระบุว่า ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อกำหนดห้ามมิให้คู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นดำเนินกิจการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ก็เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เป็นข้ออ้างเพื่อหลบเลี่ยงได้ วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดห้ามนี้คงจำกัดเพียงให้ถือว่า การดำเนินกิจการดังกล่าวของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วในมาตรา ๑๐๐ วรรคสามเท่านั้น หาได้ประสงค์จะลงโทษทางอาญาแก่คู่สมรสด้วยไม่ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเจ็ดต่อสอง ว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีความผิด และไม่ต้องร่วมรับโทษตามมาตรา ๑๒๒ กับจำเลยที่ ๑ ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ กับจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิด เพราะถือว่า การดำเนินกิจการประมูลซื้อขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ เป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ ๒ ความผิดของจำเลยที่ ๑ จึงหาใช่เพราะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ หรือเพราะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ตามข้อกล่าวหา ลำพังเพียงแต่การที่จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ ๒ จะรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไม่ เพราะได้ความจากนายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ว่า แม้คู่สมรสไม่มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอม กรมที่ดินก็ยังสามารถจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อได้ โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามคู่สัญญาว่า จะบันทึกยืนยันเรื่องโมฆียกรรมและคู่สัญญายินยอมตามนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงแปดต่อหนึ่ง ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ จำเลยที่ ๒ ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ที่ดินพิพาทและเงินที่จำเลยที่ ๒ ชำระค่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์อันพึงริบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ร่วมประมูลราคาและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น หาได้เป็นความผิดในตัวเองไม่ เหตุที่เป็นความผิด สืบเนื่องจากสถานภาพของจำเลยที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กฎหมายห้ามมิให้ทำสัญญาหรือมีส่วนได้เสียกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ มีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการกระทำความผิดแต่อย่างใด และมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเจ็ดต่อสอง ว่า เงินที่จำเลยที่ ๒ ชำระราคาที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ที่ดินพิพาทและเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์อันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) และ (๒)
เมื่อพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ ๑ กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งที่จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษ
พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุกสองปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
- ทองหล่อ โฉมงาม
- สมชาย พงษธา
- สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
- สมศักดิ์ เนตรมัย
- วัฒนชัย โชติชูตระกูล
- ประพันธ์ ทรัพย์แสง
- พิชิต คำแฝง
- ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช
- เกรียงชัย จึงจตุรพิธ
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๖ ก/หน้า ๑/๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"