คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๓/๒๕๕๔

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ อ. ๗๓๙/๒๕๔๙
คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๓/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
 
นายเลิส มิชาเอล อัลเดรออัส ชัค ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
พนักงานอัยการ ผู้คัดค้าน
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี


เรื่อง   คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คำพิพากษา)



ผู้ถูกฟ้องคดี และผู้คัดค้าน ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๔๑๒/๒๕๔๗ หมายเลขแดงที่ ๑๓๐๓/๒๕๔๙ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๕ ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีนายเลิส สิริมงคล บิดา เป็นผู้มีสัญชาติไทย และนางอินกริด ชัค มารดา เป็นผู้มีสัญชาติเยอรมนี บิดาและมารดาของผู้ฟ้องคดีได้อยู่กินฉันสามีภริยาจนมีบุตรคือผู้ฟ้องคดี มารดาของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งในสูติบัตรว่านายเลิสเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดี ตามหลักฐานสูติบัตรออกให้โดยเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล[1] ปัจจุบันคือ ที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-นอร์ท[2] เลขที่ ๑๖๙๒/๑๙๖๒ ในระหว่างที่มารดาของผู้ฟ้องคดีตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดผู้ฟ้องคดี บิดาของผู้ฟ้องคดีอยู่ที่ประเทศไทย ได้ติดต่อกับมารดาของผู้ฟ้องคดีทางจดหมายโดยตลอด ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้สิบวัน บิดาของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล ยอมรับว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดจากนางอินกริด และเป็นบุตรของตน ปรากฏตามหลักฐานการยอมรับเป็นบิดา ออกให้โดยเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล หลักเกณฑ์ การรับรองบุตรตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะต้องมีการแจ้งรับรองบุตรภายในกำหนดสองสัปดาห์นับจากวันที่เด็กเกิด การรับรองบุตรของบิดาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการทางทะเบียนและภายในเงื่อนเวลาที่กฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและกฎหมายไทย ดังที่บัญญัติมาตรา ๑๕๔๗ และมาตรา ๑๕๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมา บิดาของผู้ฟ้องคดีได้เสียชีวิตที่ประเทศไทย และทางราชการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้เคยมีหนังสือขอใบมรณบัตรของบิดา เพื่อนำไปใช้ประกอบการขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรของมารดาของผู้ฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อผู้ถูกฟ้องคดี โดยได้ส่งสำเนาสูติบัตร หลักฐานการยอมรับการเป็นบิดา และสำเนาใบมรณบัตรของบิดามาเป็นหลักฐาน พร้อมกับได้ให้ปากคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี หลักฐานดังกล่าวเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยเกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด แต่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๒๒.๐๑/๙๑๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้ถูกฟ้องคดี มีคำสั่งฉบับลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานและพยานบุคคลรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทย และในการพิจารณาคำขอพิสูจน์สัญชาติจะต้องมีการตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) ทุกราย ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบสารพันธุกรรมได้ เนื่องจากบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ส่วนญาติพี่น้องไม่สามารถติดต่อหรือนำตัวญาติมาให้ถ้อยคำและตรวจสอบสารพันธุกรรมได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดี ขัดต่อพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ การได้สัญชาติไทยของบุคคลตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นการได้สัญชาติไทยตามหลักสายโลหิต[3] ที่มีหลักเกณฑ์สำคัญคือบิดาจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หากครบหลักเกณฑ์แล้ว บุคคลนั้นย่อมได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ส่วนระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางที่ใช้ปฏิบัติภายในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่อย่างใด โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การตรวจสารพันธุกรรมน่าจะใช้ได้ในบางกรณี เช่น บิดาเป็นบุคคลไม่ปรากฏหลักฐานการมีสัญชาติไทย แต่ได้รับสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ อาทิ กรณีคนญวนอพยพ ที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสัญชาติของบิดาหรือมารดา สำหรับกรณีของผู้ฟ้องคดี เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า บิดาผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทย และผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ผู้ฟ้องคดีย่อมจะต้องได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

๑.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกคำสั่งฉบับลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ที่ให้ยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี

๒.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสัญชาติไทยตามคำขอของผู้ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕

ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี โดยแสดงหลักฐานสูติบัตรของผู้ฟ้องคดีออกให้โดยทางราชการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, หลักฐานการยอมรับเป็นบิดา, ใบมรณบัตรของบิดาผู้ฟ้องคดี และหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดี จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๕ มีสัญชาติเยอรมนี บิดาชื่อนายเลิส ทองด้วง สิริมงคล มีสัญชาติไทย ถึงแก่กรรมแล้ว ส่วนมารดาชื่อนางอินกริด มีสัญชาติเยอรมนี ถึงแก่กรรมแล้วเช่นเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีมีพี่สาวต่างมารดาชื่อ นางสาวลดาวัลย์ สิริมงคล เพียงผู้เดียว แต่ไม่สามารถมาให้การเป็นพยานได้ เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ นอกจากนั้นไม่มีญาติทางฝ่ายบิดาอีก ปรากฏตามคำให้การของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๕ และวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ พนักงานสอบสวนได้สรุปความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บิดาสัญชาติไทย มารดาสัญชาติเยอรมนี ไม่มีหลักฐานการสมรสของบิดามารดา ปัจจุบันบิดาและมารดาถึงแก่กรรมแล้ว ไม่สามารถส่งตัวผู้ฟ้องคดีไปตรวจสารพันธุกรรมได้ จึงขาดพยานหลักฐานสำคัญ พยานเอกสารและหลักฐานของผู้ฟ้องคดีที่นำมาแสดงประกอบคำร้องยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลที่เกิดจากบิดาสัญชาติไทยจริงตามที่กล่าวอ้าง การตรวจสารพันธุกรรมเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดี เนื่องจากการพิสูจน์สัญชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ การตรวจสอบสารพันธุกรรมย่อมสามารถพิสูจน์ความจริงได้โดยปราศจากความสงสัย การสอบสวนเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติซึ่งเกิดในต่างประเทศเป็นผู้มีสัญชาติไทยแท้จริงหรือไม่ ต่อมา วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๖ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้นำเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีเข้าประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการขอพิสูจน์สัญชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๖ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่า จากหลักฐานเอกสารและพยานบุคคล ยังไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลเกิดในราชอาณาจักรหรือมีสัญชาติไทยตามที่อ้าง มีมติให้เสนอผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสนอสำนวนการสอบสวนไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีให้สอบสวนพี่น้องร่วมบิดาทุกคนและติดตามหาบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ฟ้องคดี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีหนังสือแจ้งให้นางสาวลดาวัลย์ บุคคลที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นพี่สาวต่างมารดามาให้ถ้อยคำ แต่นางสาวลดาวัลย์ได้ให้ทนายความแจ้งว่า ตนเองมิได้เป็นญาติกับผู้ฟ้องคดี ประกอบกับสุขภาพไม่แข็งแรงเนื่องจากมีโรคประจำตัว ไม่สามารถมาให้ปากคำได้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีหนังสือ ที่ ๐๐๒๒.๐๑/๓๗๕๓ ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ รายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณา ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลเกิดในราชอาณาจักรไทยหรือมีสัญชาติไทย จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๒๒.๐๑/๙๑๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ แจ้งคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไปให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ การพิจารณาคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี มีขั้นตอนการพิจารณาเป็นไปตามระเบียบและบทกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้วางหลักว่า บุคคลจะได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ต่อเมื่อเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลในขณะที่บุคคลเกิด โดยจะต้องปรากฏว่าบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันก่อนการเกิดของบุคคลนั้น ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๓๔/๒๕๓๕ และที่ ๕๐๖/๒๕๔๓ (ที่ถูกคือ ๕๖๐/๒๕๔๓) คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีให้การยอมรับในคำฟ้องว่า บิดาและมารดาของผู้ฟ้องคดีอยู่กินฉันสามีภรรยาที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจนเกิดบุตรคือผู้ฟ้องคดี และไม่มีหลักฐานแสดงการสมรสของบิดามารดามาแสดง คำสั่งยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว

พนักงานอัยการได้ใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านตามมาตรา ๕๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ คัดค้านว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้มีสัญชาติไทย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ และขอถือเอาคำให้การดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำคัดค้าน

ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การของผู้คัดค้านและผู้ถูกฟ้องคดีว่า ในการยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ ผู้ฟ้องคดีได้ส่งสำเนาสูติบัตร สำเนาหลักฐานการยอมรับเป็นบิดา และสำเนาใบมรณบัตรของบิดา ประกอบการให้ปากคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเป็นเอกสารที่ได้มีการแปลและรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย จึงเป็นพยานเอกสารที่เพียงพอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยเกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทย นอกจากนั้น ผู้ฟ้องคดียังให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดามารดาโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับบิดาได้อย่างละเอียด หากผู้ฟ้องคดีไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะบิดากับบุตร ก็คงไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของบิดา และมารดาของผู้ฟ้องคดีเคยติดต่อกับทางราชการของประเทศไทยเพื่อขอเอกสารใบมรณบัตรของบิดาของผู้ฟ้องคดี เพื่อดำเนินการขอใช้อำนาจปกครองบุตรในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เนื่องจากกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีบัญญัติว่า หากบิดาเสียชีวิต มารดาต้องมีหนังสือรับรองว่าบิดาได้เสียชีวิตจริง จึงจะมีอำนาจปกครองบุตรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา ศาลเมืองฮัมบวร์ก[4] ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้มีความเห็นในคดีหมายเลข ๓๒๒๙/๑๘ ยืนยันว่าได้มีการแจ้งเรื่องการเสียชีวิตของบิดาของผู้ฟ้องคดี และได้ลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๘ ส่วนการได้สัญชาติของบุคคลตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นการได้สัญชาติตามหลักสายโลหิต คือ บิดาจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย บุตรจึงได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ส่วนการตรวจสารพันธุกรรมนั้น ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาที่มีสัญชาติไทย ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสารพันธุกรรมอีก การที่นางสาวลดาวัลย์ไม่สามารถมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมได้ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีขาดหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีสัญชาติไทย เพราะผู้ฟ้องคดีมีหลักฐานเป็นพยานเอกสาร ได้แก่ สำเนาหลักฐานการยอมรับเป็นบิดา, สำเนาสูติบัตร และสำเนาใบมรณบัตรของบิดา หากผู้ถูกฟ้องคดีต้องการที่จะพิสูจน์ว่าบิดาของผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลเดียวกันกับบิดาของนางสาวลดาวัลย์ หรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบทางประวัติทะเบียนราษฎรได้ การที่นางสาวลดาวัลย์ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นญาติกับผู้ฟ้องคดี แล้วสรุปว่าไม่มีพยานบุคคลและพยานเอกสารมาแสดงว่ามีสัญชาติไทย ย่อมเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ประกอบกับกรณีของผู้ฟ้องคดี แม้บิดามารดาจะมิได้สมรสกันในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด แต่ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดสิบวัน บิดาผู้ฟ้องคดีได้ให้การรับรองบุตรภายในระยะเวลาที่กฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๓๔/๒๕๓๕ และที่ ๕๐๖/๒๕๔๓ (ที่ถูกคือ ๕๖๐/๒๕๔๓) ที่วินิจฉัยว่า คำว่า บิดาตามกฎหมายสัญชาติ หมายถึง บิดาตามกฎหมาย และเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่บุคคลนั้นเกิด การรับรองบุตรหรือการจดทะเบียนสมรสกันภายหลังมีผลให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ไม่มีผลย้อนหลังไปถึงขณะที่เด็กเกิด เพื่อให้เด็กได้รับสัญชาติไทยตามสัญชาติของบิดา การได้สัญชาติตามหลักสายโลหิต จะต้องได้ความว่า เด็กนั้นต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่เกิดนั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวไม่สามารถนำมาปรับใช้กับกรณีของผู้ฟ้องคดีได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงในเรื่องการเป็นบิดาและบุตร ต่างกับกรณีของผู้ฟ้องคดี ที่มีการรับรองบุตรตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบิดา มีเอกสารใบสูติบัตร และรูปถ่ายของบิดามารดา ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับผู้ฟ้องคดี มีที่มาที่ไปอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ข้อเท็จจริงต่างจากข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาทั้งสองเรื่อง ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรไม่แน่ชัด นอกจากนั้น การรับรองบุตร หรือการจดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากบุตรเกิด ควรจะมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่บุคคลนั้นเกิด เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ในตัวแล้วว่า บุคคลนั้นสืบสายโลหิตมาจากบิดาโดยตรง เป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่มุ่งประสงค์ให้บุตรเกิดจากบิดาสัญชาติไทยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามความสัมพันธ์ทางสายโลหิต การตีความคำว่า บิดาตามหลักสายโลหิต ต้องถือตามความเป็นจริง ปรากฏชัดเจนในกฎหมายอาญา ดังนั้น การได้สัญชาติของบุคคลตามหลักสายโลหิตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ควรตีความคำว่า บิดา ตามความเป็นจริงเช่นกัน อันเป็นหลักเกณฑ์โดยธรรมชาติที่ว่า ผู้มีสายโลหิตเดียวกันย่อมมีชาติพันธุ์เดียวกันและมีเชื้อชาติสัญชาติเดียวกัน ส่วนมาตรา ๑๕๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาสมรสกันภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่มิได้หมายความว่า การจะเป็นบิดามารดาและบุตรตามสายโลหิตหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๑๕๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด บุคคลใดจะเป็นบิดาและบุตรกันหรือไม่ ย่อมถือตามความเป็นจริงเป็นสำคัญ การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิสูจน์สัญชาติให้มีการตรวจสารพันธุกรรม ย่อมชี้ให้เห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาคำร้องขอสัญชาติของบุคคลใด ย่อมพิจารณาตามความเป็นจริงเป็นสำคัญเช่นกัน โดยมิได้คำนึงถึงแต่การที่บุคคลนั้นต้องเกิดจากบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันก่อนบุตรเกิดแต่เพียงอย่างเดียว

ผู้คัดค้านและผู้ถูกฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกฟ้องคดียกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๐/๒๕๔๓ ประกอบหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๓๑๐.๑/ว ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๔ และขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ จากที่อ้างเลขคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๖/๒๕๔๓ เป็นคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๐/๒๕๔๓

ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นที่ศาลกำหนดว่า บิดามารดาของผู้ฟ้องคดีมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและตามกฎหมายของประเทศไทยแต่อย่างใด สาเหตุที่ชื่อบิดาตามสูติบัตรใช้ชื่อว่านายเลิส ทองด้วง สิริมงคล แต่ในคำฟ้องระบุว่าชื่อนายเลิส สิริมงคล นั้น คำว่า ทองด้วง เป็นชื่อกลางที่บิดาใช้ขณะประกอบธุรกิจในต่างประเทศ สำหรับหลักฐานของทางราชการประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่ปรากฏชื่อบิดามารดาของผู้ฟ้องคดี เช่น หลักฐานการศึกษา หลักฐานการเกณฑ์ทหาร นั้น หลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีหาได้ไม่ปรากฏชื่อบิดาและมารดาของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากบิดาของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตตั้งแต่ผู้ฟ้องคดีเป็นเด็ก การใช้อำนาจปกครองผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ที่มารดาตั้งแต่นั้นมา ส่วนบุคคลที่รู้จักกับบิดาของผู้ฟ้องคดีปัจจุบันส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว คงมีแต่บุคคลที่รู้จักครอบครัวของผู้ฟ้องคดีรวมทั้งตัวผู้ฟ้องคดีซึ่งสามารถให้ข้อเท็จจริงได้บางเรื่อง ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เอนก กิมสุวรรณ รู้จักกับน้าชายของผู้ฟ้องคดี (น้องชายของมารดาผู้ฟ้องคดี) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กับนายณรงค์ พกเกษม ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ ที่เป็นผู้ช่วยสืบหาที่อยู่ของบิดาผู้ฟ้องคดีรวมทั้งญาติพี่น้อง ผู้ฟ้องคดีได้ส่งคำแปลบทบัญญัติของกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เรื่องเงื่อนไขและผลของการรับรองบุตร พร้อมกับชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความถูกต้องตามกฎหมายของเด็กนอกสมรส แบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ กรณีตามมาตรา ๑๗๑๙[5] บุตรนอกสมรสนั้นมีสิทธิเท่าเทียมกับบุตรในสมรส เมื่อบิดาสมรสกับมารดาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกรณีตามมาตรา ๑๗๒๓[5] บิดาสามารถยื่นคำร้องให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรในสมรสได้ด้วยการยืมอำนาจรัฐ การรับรองความถูกต้องของบุตรนอกสมรสตามมาตรา ๑๗๒๓ บิดาสามารถยื่นคำร้องขอให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรในสมรสได้ กรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นการรับรองบุตรตามมาตรา ๑๗๒๓ การดำเนินการผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยการยื่นคำร้องของบิดาผู้ฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐแห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องต้องดำเนินการตรวจสอบและพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรของผู้ฟ้องคดีว่ามีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกันจริงหรือไม่ แล้วจึงออกหลักฐานการเป็นบิดาให้แก่บิดาของผู้ฟ้องคดี พร้อมกับระบุในใบสูติบัตรว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิส ผู้มีสัญชาติไทย เมื่อการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์จากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาผู้มีสัญชาติไทย ถือได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการพิสูจน์ในเรื่องของสัญชาติของผู้ฟ้องคดีแล้ว

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้บุคคลดังต่อไปนี้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ฯลฯ ประกอบมาตรา ๑๐ บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา ๗ (๑) มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ฟ้องคดี เป็นบุตรของนายเลิส ผู้มีสัญชาติไทย และนางอินกริด ผู้มีสัญชาติเยอรมนี เกิดที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นอกราชอาณาจักรไทย ถึงแม้ว่าขณะผู้ฟ้องคดีเกิดบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศไทยและกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ตาม แต่ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้สิบวัน นายเลิส บิดาของผู้ฟ้องคดีได้ไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล ยอมรับว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตร การจดแจ้งดังกล่าวเป็นการจัดทำนิติกรรมที่เป็นไปตามรูปแบบตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ บัญญัติว่า นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้น การจดแจ้งยอมรับว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนายเลิสจึงมีผลสมบูรณ์ และเป็นผลให้นายเลิสเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและกฎหมายประเทศไทยตามมาตรา ๑๕๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงฟังได้ว่า นายเลิส ผู้มีสัญชาติไทย เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ตามหนังสือ ที่ ตช ๐๐๒๒.๐๑/๙๑๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้มีสัญชาติไทย และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า การร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ แนวทางการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติมีสามแนวทาง คือ สั่งให้สัญชาติไทย, ยกคำร้อง หรือระงับการพิจารณา กรณีการสั่งยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาตินั้น เมื่อผู้ร้องขอนำหลักฐานมาแสดง แต่หลักฐานมีข้อขัดแย้งหาข้อยุติไม่ได้ และไม่สามารถตรวจสารพันธุกรรมกับพี่น้อง พ่อแม่ หรือญาติได้ เนื่องจากผู้ร้องเป็นบุตรคนเดียวของพ่อแม่ หรือพ่อแม่พี่น้องถึงแก่กรรมหมดแล้ว กรณีนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการขอพิสูจน์สัญชาติตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ก่อนที่จะมีความเห็นเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณายกคำร้องทุกราย หากผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ก็มีสิทธิร้องต่อศาล ตามมาตรา ๕๗ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ผ่านมามีคดีเกี่ยวกับคำร้องพิสูจน์สัญชาติฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นหลายคดี ศาลปกครองได้มีทั้งคำพิพากษายกฟ้อง พิพากษาให้สัญชาติไทย แล้วแต่กรณี ถ้าเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีนำสืบพยานขอตรวจสารพันธุกรรมในชั้นศาล แล้วนำผลการตรวจมาประกอบการพิจารณาของศาล หากศาลมีคำพิพากษาสั่งให้สัญชาติไทยกับผู้ร้อง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา เนื่องจากเห็นว่าการตรวจสารพันธุกรรมเป็นการพิสูจน์ความจริงตามหลักการตรวจทางวิทยาศาสตร์ของคณะแพทย์ มีโอกาสผิดพลาดน้อยมาก สำหรับคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยของผู้ฟ้องคดีนั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวน พยานเอกสารหลักฐานที่นำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่งานพิสูจน์สัญชาติยังไม่ชัดเจน และมีข้อสงสัยหลายประการ ในการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่บุคคลของผู้ถูกฟ้องคดีตามหลักสายโลหิตหรือหลักดินแดน เอกสารหลักฐานประกอบคำร้องขอต้องมีความชัดเจน สามารถหาข้อยุติได้ ถ้าการพิจารณาไม่รอบคอบ อาจเป็นการนำคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเข้ามาเป็นบุคคลสัญชาติไทย อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น หากพยานหลักฐานเอกสารยังมีข้อสงสัย และหาข้อยุติไม่ได้ ในชั้นการสอบสวนต้องยกคำร้องทุกราย เมื่อหลักฐานการรับรองของบิดาของผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงว่า บิดาและมารดาได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ประกอบกับผู้ฟ้องคดียอมรับว่าบิดามารดาของตนไม่เคยจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การรับรองว่าเป็นบุตรไม่ได้หมายความว่าผู้ฟ้องคดีต้องเป็นบุตรตามหลักสายโลหิต กฎหมายทุกประเทศต่างบัญญัติให้มีการรับรองบุตรนอกสมรสได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎ ระเบียบ กฎหมายของประเทศนั้นด้วย แนวทางปฏิบัติทุกประเทศเกี่ยวกับการรับรองบุตร เมื่อบิดานำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับรองบุตรนอกสมรส จะมีการตรวจสอบเอกสารเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการส่งตัวบิดาและบุตรไปตรวจสารพันธุกรรมเพื่อหาบิดาที่แท้จริงแต่อย่างใด การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า หลักฐานการรับเป็นบิดาของนายเลิสตามเอกสารที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ออกให้แก่ผู้ฟ้องคดี ได้มีการตรวจสอบรายละเอียดจากทางราชการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายไทยด้วยนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยจริงหรือไม่ ประกอบกับนางสาวลดาวัลย์ พี่สาวต่างมารดาที่ผู้ฟ้องคดีอ้างถึง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ทำหนังสือเชิญมาเป็นพยาน ได้ปฏิเสธว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกับตน ประเด็นนี้อาจมองได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตจากบิดาคนเดียวกันจริง อย่างไรก็ตาม กรณีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีโดยนำพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗ (๑) มาปรับใช้ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ในการพิจารณาก็ไม่พบความขัดกันของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติแต่อย่างใด จึงไม่เห็นควรนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ มาปรับใช้กับกรณีของผู้ฟ้องคดี คดีที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับคดีนี้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๕๖๐/๒๕๔๓ วินิจฉัยว่า บิดาของผู้ร้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาผู้ร้องผู้มีสัญชาติลาว ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาต่างด้าว พิพากษาไม่ให้สัญชาติไทยแก่ผู้ร้อง ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า คำร้องขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีมีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับคำพิพากษาดังกล่าว ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือเวียนให้ถือปฏิบัติตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว หากคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติมีข้อเท็จจริงเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี แต่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี และนางสาวลดาวัลย์ พี่สาวต่างมารดา ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ความจริง หากผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ฟ้องคดีและนางสาวลดาวัลย์ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีแก้อุทธรณ์ของผู้คัดค้านและผู้ถูกฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และขอถือคำพิพากษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำแก้อุทธรณ์ นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี พร้อมทั้งได้ส่งเอกสารประกอบการให้ถ้อยคำ ได้แก่ สำเนาสูติบัตร, สำเนาหลักฐานการยอมรับเป็นบิดา และสำเนามรณบัตรของบิดา สำเนาเอกสารดังกล่าวได้มีการรับรองความถูกต้องและรับรองการแปลจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยและจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับมารดาของผู้ฟ้องคดี รวมถึงการสืบหาญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี น่าจะเพียงพอในการพิสูจน์ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสผู้มีสัญชาติไทย และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้บุตรที่เกิดจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทยหรือบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยได้สัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตและหลักดินแดน โดยเฉพาะการได้สัญชาติไทยตามบทบัญญัติมาตรา ๗ (๑) การนำเรื่องความมั่นคงของประเทศมากล่าวอ้าง เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้อพยพลี้ภัยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำนโยบายความมั่นคงป้องกันภัยอันเป็นคอมมิวนิสต์มาใช้บังคับกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยกับประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีไม่มีปัญหาเรื่องผู้อพยพลี้ภัย ประเด็นที่ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรสืบสายโลหิตจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยจริงหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดียังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสผู้มีสัญชาติไทย เนื่องจากนายเลิสได้จดทะเบียนรับรองว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเทียบเคียงได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้หมายความเฉพาะกรณีบิดามารดาสมรสกัน การจดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายถือได้ว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาที่จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว แม้การจดทะเบียนรับรองบุตรของนายเลิสบิดาของผู้ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่ของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะไม่ได้ดำเนินการส่งตัวนายเลิสและผู้ฟ้องคดีไปตรวจสารพันธุกรรม ก็ไม่มีผลให้การจดทะเบียนรับรองบุตรที่ได้ทำตามแบบกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีต้องเสียไป ประกอบมาตรา ๑๗๒๓ ของกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการรับรองบุตรว่าต้องดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมก่อนจดทะเบียนรับรองบุตร ส่วนการที่นางสาวลดาวัลย์มีหนังสือปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นญาติกับผู้ฟ้องคดี เนื่องจากนางสาวลดาวัลย์ไม่เคยทราบว่าบิดามีบุตรอีกหนึ่งคนคือผู้ฟ้องคดี นายเลิสบิดาผู้ฟ้องคดีถึงแก่กรรมตั้งแต่ผู้ฟ้องคดีอายุสองปี ผู้ฟ้องคดีเพิ่งมาติดตามหาญาติพี่น้องในประเทศไทยหลังจากระยะเวลาได้ล่วงมาหลายสิบปี ย่อมทำให้นางสาวลดาวัลย์เกิดความไม่เชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับตน การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับนางสาวลดาวัลย์หรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีควรพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีได้นำมาประกอบการให้ปากคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งพยานหลักฐานที่อ้างส่งศาลในคดีนี้ เช่น ทะเบียนบ้านของนางสาวลดาวัลย์ ปรากฏชื่อบิดาเป็นชื่อเดียวกับชื่อบิดาของผู้ฟ้องคดี มิใช่เพียงแต่นำคำปฏิเสธของนางสาวลดาวัลย์มาใช้เป็นข้อพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีมิได้มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับนางสาวลดาวัลย์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาสั่งให้มีการตรวจสารพันธุกรรมระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนางสาวลดาวัลย์นั้น ตามบทบัญญัติมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องการตรวจสารพันธุกรรม ดังนั้น การบังคับให้ต้องมีการตรวจสารพันธุกรรมระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนางสาวลดาวัลย์ เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพในร่างกาย เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนทุกประเด็น แล้วมีคำพิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสผู้มีสัญชาติไทย การกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้มีการตรวจสารพันธุกรรมอีก เป็นข้ออุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลที่ศาลปกครองจะดำเนินการให้แต่อย่างใด การที่ศาลปกครองชั้นต้นนำกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาตรา ๑๗๒๓ ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับรองบุตร มาปรับใช้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติของประเทศไทย โดยอ้างบทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ นั้น เป็นอำนาจของศาลในการเลือกใช้กฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และมีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับกฎหมายไทย การกล่าวอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๕๖๐/๒๕๔๓ และหนังสือกระทรวงมหาดไทยแจ้งเวียนหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเรื่องสัญชาติให้ถือปฏิบัติตามแนวคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยของผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดีมีความแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีตามคำพิพากษาที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างถึง เนื่องจากกรณีของผู้ฟ้องคดี บิดาของผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนรับรองผู้ฟ้องคดีเป็นบุตร มีผลให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย

ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจา ประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี

ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๕ ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีสัญชาติเยอรมนี โดยมีนายเลิส ทองด้วง สิริมงคล เป็นบิดาผู้มีสัญชาติไทย และนางอินกริด ชัค เป็นมารดาผู้มีสัญชาติเยอรมนี บิดามารดาของผู้ฟ้องคดีมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและตามกฎหมายของประเทศไทย แต่ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้สิบวัน นายเลิสบิดาได้ไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามสูติบัตรเลขที่ ๑๖๙๒/๑๙๖๒ ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนายเลิส บิดานอกสมรส เกิดกับนางอินกริดมารดา ปัจจุบันบิดามารดาของผู้ฟ้องคดีได้เสียชีวิตไปแล้ว ต่อมา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเกิดจากนายเลิสบิดาผู้มีสัญชาติไทย พร้อมกับได้ส่งหลักฐานดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งได้ให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลเกิดในราชอาณาจักรไทยหรือมีสัญชาติไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๒๒.๐๑/๙๑๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ แจ้งคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไปให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีได้ทราบคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกคำสั่ง ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ที่ให้ยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสัญชาติไทยตามคำขอของผู้ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕

คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ตามหนังสือ ที่ ตช ๐๐๒๒.๐๑/๙๑๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (๑) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย (๒) ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นคนไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ (๓) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดมีด้วยกัน ๓ กรณี คือ (๑) ผู้ที่เกิดโดยบิดาเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย (๒) ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นคนไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ และ (๓) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้ถูกยกเลิก และให้ใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ บังคับแทน โดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย (๒) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น (๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ (๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เห็นว่า จากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ ยังคงกำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติตามหลักเกณฑ์เดียวกัน มีที่แก้ไขเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์เดิมคือ กรณีผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น (๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ (๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยของบุตรและหลานตลอดทั้งสายของคนต่างด้าวที่เป็นผู้อพยพ ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้มีความเหมาะสมและรัดกุมขึ้น ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด และตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ ขณะที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ และบุคคลย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ได้แก่ ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย หมายความว่า ขณะที่บุคคลนั้นเกิด บิดา ต้องเป็นบิดาตามกฎหมายของบุคคลนั้น เป็นผู้มีสัญชาติไทย เพราะหากพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีความประสงค์ที่จะให้บิดาตามมาตรา ๗ (๑) รวมไปถึงบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยแล้ว ก็จะต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๕ มีสัญชาติเยอรมนี มีนายเลิส บิดาผู้มีสัญชาติไทย และนางอินกริด มารดาผู้มีสัญชาติเยอรมนี ปัจจุบันบุคคลทั้งสองได้ถึงแก่กรรมไปแล้วโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศไทยและกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อผู้ฟ้องคดีเกิดจากนางอินกริด มารดาเป็นผู้มีสัญชาติเยอรมนี นายเลิส บิดาผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด และตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ และมาตรา ๑๐ ขณะที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ

คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า นายเลิสได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีรับว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตร จะเป็นผลให้นายเลิสเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามหลักฐานการยอมรับเป็นบิดา ออกโดยเจ้าพนักงานที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ เป็นเอกสารที่มีการแปลและมีการรับรองการแปลจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประกอบกับตามสำเนาพยานหลักฐานคำแปลเกี่ยวกับบทบัญญัติกฎหมายแห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในเรื่องของเงื่อนไขและผลของการรับรองบุตร แปลโดยศูนย์การแปลนานาชาติ ไอทีซี พร้อมคำชี้แจงเพิ่มเติมของผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้สำเนาให้ผู้คัดค้านและผู้ถูกฟ้องคดีทราบแล้ว และไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด สรุปว่า เด็กนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้สองกรณี ได้แก่ กรณีเมื่อบิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย กับกรณีบิดายื่นคำร้องขอให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรในสมรสต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องต้องดำเนินการตรวจสอบและพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรว่ามีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกันจริงหรือไม่ แล้วจึงออกหลักฐานการเป็นบิดาให้แก่ผู้ยื่นคำขอ ดังนั้น การที่นายเลิสบิดาได้แจ้งยอมรับว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของตนตามหลักฐานการยอมรับเป็นบิดาออกโดยเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก–ฟุลส์บึทเทล จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า นายเลิสจดแจ้งยอมรับว่าเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีผลให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่ และหากมีผลตามกฎหมายของประเทศไทยจะมีผลนับตั้งแต่เมื่อใด

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ บัญญัติว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิด ถ้าหากในขณะที่กล่าวนั้น สามีได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของสามีในขณะที่ถึงแก่ความตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเลิสบิดาผู้มีสัญชาติไทย นางอินกริดมารดาผู้มีสัญชาติเยอรมนี ผู้ฟ้องคดีจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสหรือไม่ ต้องนำกฎหมายสัญชาติของนายเลิสสามีของนางอินกริดในขณะที่ผู้ฟ้องคดีนั้นเกิด และขณะที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ นายเลิสถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของนายเลิส และขณะที่นายเลิสถึงแก่ความตายนายเลิสเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงต้องนำกฎหมายของประเทศไทยมาใช้บังคับ ดังนั้น การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้บัญญัติไว้ในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๐ ว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล (๑) ถ้าบิดามารดาสมรสกันภายหลังให้มีผลนับแต่วันสมรส (๒) ถ้าบิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรให้มีผลนับแต่วันจดทะเบียน (๓) ถ้ามีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร ให้มีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ขณะที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ถูกยกเลิก และใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ บังคับใช้แทน โดยมาตรา ๑๕๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ส่วนการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลตั้งแต่เมื่อใดนั้น มาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ มีผล (๑) นับแต่วันสมรส ในกรณีที่บิดามารดาสมรสกันภายหลัง (๒) นับแต่วันจดทะเบียน ในกรณีที่บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร (๓) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะผู้ฟ้องคดีเกิด บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศไทยและกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แต่ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้สิบวัน นายเลิสบิดาได้ไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล ยอมรับว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แม้นจะฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ตาม แต่การที่จดทะเบียนรับรองบุตรดังกล่าวจะถือว่าถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายของประเทศไทย อันจะมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสตามกฎหมายของประเทศไทยด้วยหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ บัญญัติว่า นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้น จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เป็นการรับรองนิติกรรมที่กระทำในต่างประเทศ หากนิติกรรมที่กระทำนั้นได้ทำตามแบบแห่งนิติกรรมถูกต้องตามกฎหมายของประเทศที่ทำนิติกรรม นิติกรรมนั้นก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อนายเลิสไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีรับว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตร การจดแจ้งดังกล่าวเป็นการทำนิติกรรมที่เป็นไปตามรูปแบบตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การจดแจ้งมีผลสมบูรณ์และเป็นผลให้นายเลิสรับว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและตามกฎหมายของประเทศไทย แต่การจดทะเบียนรับรองบุตรตามมาตรา ๑๕๓๐ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด และตามมาตรา ๑๕๔๗ และมาตรา ๑๕๕๗ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้บังคับขณะที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิส มีผลนับแต่วันที่นายเลิสผู้เป็นบิดาจดทะเบียนรับรองว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายเลิสบิดาของผู้ฟ้องคดีได้ไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก-ฟูลส์บึทเทล ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้สิบวัน จึงถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด อันจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด และตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ และมาตรา ๑๐ ขณะที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติได้

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖ บัญญัติว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๓๕ คำว่า บิดา ตาม (๑) ให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิด ตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) ฉบับเดียวกัน บัญญัติว่า บทบัญญัติวรรคสองของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เห็นว่า บุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด กรณีผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖ นั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้เกิดโดยบิดาจดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด หรือบิดาจดทะเบียนรับรองว่าผู้เกิดเป็นบุตรเท่านั้น แต่หมายความรวมถึง ผู้เกิดโดยบิดาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นบิดาของผู้เกิด ตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖ บัญญัติว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้ จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตร ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสตามกฎหมายของประเทศไทยตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเลิสบิดาผู้มีสัญชาติไทยมีผลนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีเกิด ตามมาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖ และการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีให้มีผลนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีเกิด และมิทำให้ผู้ฟ้องคดีเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ฟ้องคดีเกิดจนถึงเวลาที่นายเลิสบิดาได้จดทะเบียนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตร ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย อันจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้คัดค้าน จึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้มีสัญชาติไทย และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย

ส่วนอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้คัดค้านขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีและนางสาวลดาวัลย์พี่สาวต่างมารดาตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ความจริง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำขอดังกล่าวเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นข้อที่ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้คัดค้านไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ ๑๐๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้คัดค้านส่วนนี้ จึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาพิสูจน์สัญชาติไทยตามคำขอของผู้ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่คดีถึงที่สุด นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น



สุเมธ รอยกุลเจริญ   ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล   ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
ประธานศาลปกครองสูงสุด


ไพบูลย์ เสียงก้อง   ตุลาการองค์คณะ
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด


สุชาติ มงคลเลิศลพ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


พรชัย มนัสศิริเพ็ญ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


สุเมธ รอยกุลเจริญ   ตุลาการผู้แถลงคดี: นางสายสุดา เศรษฐบุตร



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. Hamburg-Fuhlsbüttel (ราชบัณฑิตยสถาน: ฮัมบูร์ก-ฟูลส์บึทเทล) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  2. Hamburg-North (ราชบัณฑิตยสถาน: ฮัมบูร์ก-นอร์ท) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  3. Jus sanguinis หรือ สิทธิตามสายโลหิต (right of blood) เป็นหลักกฎหมายที่ให้กำหนดสัญชาติของบุคคลตามสัญชาติของบิดามารดา มิใช่กำหนดตามดินแดนที่บุคคลนั้นเกิด หลักกฎหมายอย่างหลังนี้เรียก jus soli หรือ สิทธิตามดินแดน (right of soil) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  4. Amtsgericht Hamburg (ราชบัณฑิตยสถาน: อัมท์สเกอริชท์ ฮัมบูร์ก; Hamburg District Court) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  5. 5.0 5.1 ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน [Bürgerliches Gesetzbuch (ราชบัณฑิตยสถาน: เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค)] มาตรา ๑๗๑๘ ถึงมาตรา ๑๗๔๐ ปัจจุบันยกเลิกไปทั้งสิ้นแล้ว — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"