คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๒๐/๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[1]
ที่ ๑๒๐/๒๕๕๗
เรื่อง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง




ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีนโยบายปรังโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสม และเป็นธรรม โดยการปรับภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงไป กรณีที่ราคาขายปลีกลดลง จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันมีผลขาดทุนจากปริมาณน้ำมันคงเหลือ จึงอาจไม่นำน้ำมันออกจำหน่าย และกรณีที่ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น จะทำให้มีการกักตุนน้ำมันไว้จำหน่ายในวันที่ราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงก่อนการปรับราคาขายปลีก ดังนั้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงต้องตรวจสอบปริมาณน้ำมันคงเหลือในคลังน้ำมันและสถานีบริการ

ข้อ ๑ ในคำสั่งนี้

“น้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า น้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี ๑๐ ออกเทน ๙๑ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี ๑๐ ออกเทน ๙๕ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี ๒๐ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี ๘๕ น้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ ๑ และชนิดที่ ๒ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งมีลักษณะและคุณภาพตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน

“ผู้ค้าน้ำมัน” หมายความว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๑๐ และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓

“สถานีบริการ” หมายความว่า สถานที่สำหรับจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชนโดยวิธีเติม หรือใส่ลงในที่บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะ โดยใช้มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่ง ตวงวัด ที่ติดตั้งไว้เป็นประจำ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ รวมทั้งสถานีบริการที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ และมาตรา ๑๐ ดำเนินการเอง

“เจ้าของสถานีบริการ” หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์ในสถานีบริการและกรณีที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในสถานีบริการเป็นนิติบุคคลให้ถือว่ากรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นเจ้าของสถานีบริการด้วย

“ประกาศราคาขายปลีก” หมายความว่า ประกาศราคาขายปลีกของสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงานตามข้อ ๒

“อัตราเงินชดเชย” หมายความว่า อัตราเงินชดเชยตามประกาศราคาขายปลีกของสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน

“อัตราเงินส่งเข้ากองทุน” หมายความว่า อัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามประกาศราคาขายปลีกของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๔/๒๕๔๗ เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการของกระทรวงพลังงานกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้

ข้อ ๒ เมื่อมีการประกาศปรับอัตราภาษีสรรพสามิตหรืออัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานประกาศราคาขายปลีกใหม่ อัตราเงินชดเชยอัตราเงินส่งเข้ากองทุน และภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเวลาที่ราคาขายปลีกใหม่ใช้บังคับเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ค้าน้ำมันรับทราบ และปฏิบัติตามคำสั่งนี้

ข้อ ๓ เมื่อมีการประกาศราคาขายปลีกตามข้อ ๒ ให้ผู้ค้าน้ำมันได้รับเงินชดเชยหรือจ่ายเงินเข้ากองทุน ในปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือสุทธิ ณ เวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันที่ราคาขายปลีกใหม่ ตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานมีผลใช้บังคับคูณด้วยอัตราเงินชดเชย หรืออัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามประกาศราคาขายปลีก

ข้อ ๔ ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ในการจ่ายและเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนตามคำสั่งนี้ โดยให้มีอำนาจกำหนดระเบียบเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งนี้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๕ เมื่อมีประกาศราคาขายปลีกตามข้อ ๒ ให้

(๑) ผู้ค้าน้ำมันหรือเจ้าของสถานีบริการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(ก) หยุดขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากคลังน้ำมันหรือสถานีบริการ ตั้งแต่เวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันที่ราคาขายปลีกใหม่ตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานมีผลใช้บังคับ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ไปตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือแล้ว เว้นแต่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานจะมีเหตุผลสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น
(ข) ตรวจสอบผลการตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือในแบบตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ และลงลายมือชื่อรับรองผลการตรวจวัด
(ค) แจ้งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ที่ซื้อหรือได้จากผู้ผลิต และโรงกลั่นน้ำมันในราชอาณาจักรที่สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร รวมทั้งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผู้ค้าน้ำมันจ่ายจากคลังน้ำมันเพื่อส่งไปให้แก่ผู้ค้าน้ำมันหรือเจ้าของสถานีบริการก่อนเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันที่ราคาขายปลีกใหม่ตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานมีผลใช้บังคับ และส่งมอบให้แก่ผู้ค้าน้ำมันหรือเจ้าของสถานีบริการภายหลังเวลาดังกล่าว และมาถึงคลังน้ำมันหรือสถานีบริการภายหลังเวลาดังกล่าว รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่รับฝากจากผู้อื่น (ถ้ามี) โดยในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกรมธุรกิจพลังงานและในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อสำนักงานพลังงานจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ อย่างช้าไม่เกิน ๗ วันทำการนับแต่วันที่มีการตรวจวัด

ทั้งนี้ กรณีผู้ค้าน้ำมันหรือเจ้าของสถานีบริการไม่อยู่ ณ คลังน้ำมันหรือสถานีบริการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้พนักงานหรือลูกจ้างของผู้ค้าน้ำมันหรือเจ้าของสถานีบริการมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้แทน

(๒) กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารไปตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ ณ คลังน้ำมันและสถานีบริการทุกแห่งในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๑ นาฬิกา ของวันที่ประกาศราคาขายปลีกใหม่ใช้บังคับ และให้สรุปผลปริมาณน้ำมันคงเหลือในเบื้องต้นส่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศราคาขายปลีกใหม่ใช้บังคับ
(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบสั่งการให้พลังงานจังหวัด นายอำเภอท้องที่ ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในท้องที่ และผู้บริหารงานท้องถิ่น ส่งพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารบกในพื้นที่หรือตำรวจภูธรจังหวัด ไปร่วมตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ ณ คลังน้ำมันและสถานีบริการทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ ตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๑ นาฬิกา ของวันที่ประกาศราคาขายปลีกใหม่ใช้บังคับ และรวบรวมผลการตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือดังกล่าว นำส่งสำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงาน อย่างช้าไม่เกิน ๑ วันทำการนับแต่วันที่ประกาศราคาขายปลีกใหม่ใช้บังคับ และให้พลังงานจังหวัดสรุปผลปริมาณน้ำมันคงเหลือในเบื้องต้นส่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานภายใน ๑๐ วันนับแต่วันที่ประกาศราคาขายปลีกใหม่ใช้บังคับ
(๔) กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารบกในพื้นที่ การค้าภายในจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด แล้วแต่กรณีไปร่วมตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือกับหน่วยงานตาม (๒) และ (๓)

ข้อ ๖ การคำนวณปริมาณน้ำมันคงเหลือสุทธิตามข้อ ๓ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด

ข้อ ๗ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างน้อย ๒ คน ที่เข้าตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือตามข้อ ๕ ลงลายมือชื่อรับรองผลการตรวจวัดในแบบตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ

ข้อ ๘ ให้กรมธุรกิจพลังงานและสำนักงานพลังงานจังหวัดแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ค้าน้ำมันในพื้นที่ที่รับผิดชอบทราบจำนวนเงินชดเชยที่พึงได้รับ หรือจำนวนเงินส่งเข้ากองทุน ซึ่งคำนวณจากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือสุทธิแต่ละชนิดคูณด้วยอัตราเงินชดเชยหรืออัตราเงินส่งเข้ากองทุนพร้อมกับส่งสำเนาหนังสือให้สถาบันทราบในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีทั้งจำนวนเงินชดเชยและเงินส่งเข้ากองทุน ให้คำนวณเป็นเงินชดเชย หรือเงินส่งเข้ากองทุนสุทธิ (ผลต่างระหว่างเงินชดเชยและเงินส่งเข้ากองทุน) ในแต่ละแห่ง

ข้อ ๙ ให้ผู้ค้าน้ำมันยื่นหนังสือขอรับเงินชดเชยหรือส่งเงินเข้ากองทุนสุทธิต่อสถาบันภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามข้อ ๘

ในกรณีการขอรับเงินชดเชย หากพ้นกำหนดเวลา ๙๐ วัน ผู้ค้าน้ำมันยังไม่ยื่นหนังสือถือว่าไม่ประสงค์จะขอรับเงินชดเชย

ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนสุทธิตามคำสั่งนี้ หากผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินไม่ส่งเงินให้สถาบันส่งเงินให้สถาบันไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องส่ง หรือไม่ส่งเงินคืนสถาบันภายในเวลาที่กำหนดให้กรมธุรกิจพลังงานและสำนักงานพลังงานจังหวัดส่งเรื่องให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนไม่ส่งเงินให้สถาบัน หรือส่งขาดหรือไม่ส่งเงินคืนสถาบันหรือส่งเงินเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ให้จ่ายเงินเพิ่มอีก ในอัตราร้อยละหกต่อเดือนของจำนวนเงินดังกล่าว ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดส่งและให้ถือว่าเงินเพิ่มนี้เป็นเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนด้วย

ข้อ ๑๑ ให้สถาบันเรียกเก็บเงินจากผู้ค้าน้ำมันหรือจ่ายเงินให้ผู้ค้าน้ำมันเป็นยอดเงินสุทธิตามข้อ ๘

ข้อ ๑๒ ในกรณีที่มีปัญหาในการตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาวินิจฉัยและให้ถือว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม /ตอน /หน้า / .



๑๑๙/๒๕๕๗ ขึ้น ๑๒๑/๒๕๕๗

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"