ข้ามไปเนื้อหา

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒/๒๕๕๘

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[1]
ที่ ๒/๒๕๕๘
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ




ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงยุทธศาสตร์สำคัญ ๙ ด้าน เพื่อใช้เป็นหลักหรือแนวทางในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงไว้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องมีการเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดการบูรณาการ รวมทั้งสอดคล้องรองรับกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว และโดยที่มาตรา ๔๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติให้ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ประกอบด้วย

(๑) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
(๒) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รองประธานกรรมการ
(๓) ปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการ
(๔) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรรมการ
(๕) ผู้บัญชาการทหารบก กรรมการ
(๖) ผู้บัญชาการทหารเรือ กรรมการ
(๗) ผู้บัญชาการทหารอากาศ กรรมการ
(๘) พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กรรมการ
(๙) พลเอก วิลาศ อรุณศรี กรรมการ
(๑๐) พลอากาศเอก ถาวร มณีพฤกษ์ กรรมการ
(๑๑) นายอำพน กิตติอำพน กรรมการ
(๑๒) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการ
(๑๓) ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคน กรรมการ
(๑๔) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ กรรมการและเลขานุการ

ข้อ ๒ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(๒) รายงานผลการดำเนินการตาม (๑) รวมทั้งความเห็นหรือข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
(๓) กำหนดแนวทางและมาตรการหรือกลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(๔) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามความจำเป็น
(๖) เชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำ หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
(๗) ดำเนินการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ข้อ ๓ ให้สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามคำสั่งนี้ และให้พิจารณาการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ /ตอนพิเศษ ๙ ง /หน้า ๖๒ / ๑๔ มกราคม ๒๕๕๘ .



๑/๒๕๕๘ ขึ้น ๓/๒๕๕๘

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"