ข้ามไปเนื้อหา

คำแนะนำการศึกษา เรื่อง ประวัติพระบรมมหาราชวัง

จาก วิกิซอร์ซ
คำแนะนำการศึกษา
เรื่อง
ประวัติพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงนิพนธ์
พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าจอมถนอม ในรัชกาลที่ ๕
ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

คำนำ

เรื่องประวัติพระบรมมหาราชวังนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพธ์ประทานอธิบายแก่พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) ซึ่งได้กราบทูลถามเมื่อไปเฝ้าที่เกาะปีนัง เรื่องนี้ยังไม่เคยได้พิมพ์เลย เพราะมีอยู่เพียง ๒–๓ หน้ากระดาษ แต่เป็นเรื่องน่ารู้ บัดนี้ หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล โปรดให้ข้าพเจ้าจัดพิมพ์หนังสือแจกในการพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมถนอม รัชกาลที่ ๕ ซึ่งอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายในกำหนดวันที่ ๒๒ เดือนนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เรื่องประวัติพระบรมมหาราชวังนี้เหมาะแก่ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในอย่างหนึ่ง และเหมาะแก่กำหนดเวลาที่โรงพิมพ์จะสามารถพิมพ์ได้ทันด้วย จึงได้จัดเรื่องประวัติพระบรมมหาราชวังนี้ถวาย.

หวังว่า ผู้ที่ได้รับไปคงจะพอใจ และพร้อมกันทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลที่ได้ทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชบริพารทั่วหน้า.

พูนพิศมัย.

เจ้าจอมถนอม ในรัชกาลที่ ๕
ชาตะ วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๘
อนิจจกรรม วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

ประวัติ

เจ้าจอมถนอม รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรีนายสงวน และนางแข บรรจงเจริญ เกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน ทางจันคติ ตรงกับวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๘ ทางสุริยคติ มีพี่น้อง ๓ คน คือ:–

๑. เจ้าจอมถนอม รัชกาลที่ ๕
๒. หม่อมพยอม นวรัตน์ ถึงแก่กรรมแล้ว
๓. หม่อมพยง นวรัตน์
๔. นายสวัสดิ์ บรรจงเจริญ

เมื่อเจ้าจอมถนอมมีอายุได้ ๓ ปี มารดาป่วยหนัก หม่อมทองผู้เป็นญาติจึงได้พาเข้ามาถวายสมเด็จพระปิยมาวดีให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษเพราะสงสาร อยู่ได้ ๑ ปี สมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าก็ทรงขอไปชุบเลี้ยงเป็นข้าหลวง ได้เชิญเสด็จทูลกระหม่อมขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกพระองค์ เมื่ออายุได้ ๗ ปี สมเด็จฯ โปรดให้ไปฝึกหัดเป็นละครที่คุณท้าววรจันทร์ ได้ออกโรงเป็นตัวนางเฆมขลา เป็นเหตุให้ชาววังเรียกกันว่า คุณถนอมเมฆขลา พ.ศ. ๒๔๓๒ จึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอม ได้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดเป็นพิเศษ ดังพวกคุณจอมด้วยกันเล่าว่า ในเวลาพระเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่น จะมีคุณถนอมอยู่เฝ้ารับใช้คนเดียวเป็นประจำ เพราะคุณถนอมรู้พระราชหฤทัยว่าจะต้องพระราชประสงค์สิ่งใด ก็หยิบถวายได้โดยที่มิต้องมีพระราชดำรัสสั่งเสียก่อน และขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีสีหน้าดีเป็นพิเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • ตติยจุลจอมเกล้า
  • เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓
  • เข็มพระชนมายุเงิน

เจ้าจอมถนอมได้อยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้ามาตลอดชีวิต สมเด็จฯ ประทับในวัง เธอก็อยู่ในวัง ประทับที่วังสระปทุม เธอก็ตามเสด็จออกมาอยู่วังสระปทุม จนถึงอนิจจกรรม เจ้าจอมถนอมป่วยเป็นโรควักกะพิการเรื้อรังเนื่องแต่ความดันโลหิตสูง และถึงแก่อนิจจกรรมเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๖.๔๕ น. มีอายุได้ ๘๗ ปี.

คำแนะนำการศึกษา
เรื่องประวัติพระบรมมหาราชวัง
เขียนให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร
ที่เมืองปีนังเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗

๑.หนังสือเก่าซึ่งควรอ่านหาความรู้เรื่องพระบรมมหาราชวัง ว่าตามที่ฉันนึกได้ในเวลานี้ เรื่องตอนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเลือกที่และเริ่มสร้างพระบรมมหาราชวัง มีอธิบายเหตุโดยพิสดารอยู่ในหนังสือ “เรื่องตำนานวังเก่า” ที่ฉันแต่งให้หอพระสมุดพิมพ์เรื่อง ๑ อธิบายว่าด้วยวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งที่ ๑ เป็นอย่างไร มีอยู่ในเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่งในรัชกาลที่ ๓ (แต่ไม่บริบูรณ์นัก) หอพระสมุดได้พิมพ์แล้วเหมือนกันอีกเรื่อง ๑.

อธิบายการแก้ไขและก่อสร้างในพระบรมมหาราชวังเมื่อรัชกาลที่ ๒ มีอยู่ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่ฉันแต่ง ตั้งแต่หน้า ๒๓๐ จนหน้า ๒๕๖ เรื่อง ๑.

ในรัชกาลที่ ๓ มีการซ่อมแปลงปฏิสังขรณ์ในพระบรมมหาราชวังมาก ดูเหมือนฉันจะได้รวมเรื่องให้หอพระสมุดพิมพ์แล้วแจกในงานหน้าพระศพพระวิมาดาเธอฯ คราว ๑ แต่จำไม่ได้ ถ้าว่าแต่รายการที่จำได้

(๑)ซ่อมหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระมหาปราสาททั้งหมด.

(๒)แก้พลับพลาสูงของเดิมทำเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรยปราสาท.

(๓)ประตูพระราชวังเดิมเป็นประตูไม้ เปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูนทั้งหมด.

(๔)ตำหนักต่าง ๆ ที่ในวังเดิมเป็นตำหนักไม้ (เช่นตำหนักเขียวและตำหนักแดงเป็นต้น) รื้อทำเป็นตึกทั้งวัง มีพรรณนาตำหนักสมเด็จพระศรีสุราลัยซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๓ อยู่ในประกาศก่อฤกษ์พระที่นั่งจักรี พิมพ์ไว้ในหนังสือ “คอต” ของสมเด็จพระราชปิตุลาฯ เล่ม ๒ หน้า ๑๖๗.

ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสร้างและซ่อมแปลงในพระบรมมหาราชวังมาก แต่ฉันได้รวมรายการพิมพ์ไว้แล้วในหนังสือ “เรื่องสถานที่ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง”

ถ้าไปหาหนังสือต่าง ๆ ที่ได้ระบุชื่อมาอ่าน จะได้ความรู้ให้ถูกต้องดีขึ้น.

๒.ตอนนี้จะทักท้วงและบอกอธิบายตามบันทึกของเจ้าคุณต่อไป.

(๑)เรื่องย้ายบ้านจีนไปตั้งที่สำเพ็ง และเรื่องสร้างพระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท มีอธิบายพิสดารอยู่ในเรื่องตำนานวังเก่าแล้ว.

(๒)พระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท สร้างสำหรับทำการพระราชพิธีราชาภิเษกและพิธีสำคัญสำหรับพระนคร เมื่อไฟไหม้และสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน ก็สำหรับการเช่นนั้น การที่ตั้งพระศพบนพระมหาปราสาท ฉันเข้าใจว่า ตั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นปฐม เพราะฉะนั้น พิธีบรมราชาภิเษกจึงย้ายมาทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา เพราะพระมหาปราสาทติดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพอยู่ทุกคราว การที่ตั้งพระศพเจ้านายบนพระมหาปราสาทน่าจะมีประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ที่กรุงศรีอยุธยามีปราสาทถึง ๓ องค์ ในกรุงเทพฯ มีแต่องค์เดียว จึงต้องตั้งบนพระบรมมหาปราสาท.

(๓)เครื่องประดับมุขที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ ดูเหมือนจะสร้างเป็น ๒ ยุค ยุคแรก สร้างบานประตูมณฑปพระพุทธบาท ๔ คู่ บานประตูพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๖ คู่ ใครจะเป็นนายงาน หาทราบไม่ ยุคที่ ๒ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เป็นนายงาน มีของที่สร้างครั้งนั้น คือ:–

ข้อพระแท่นเศวตฉัตร (อยู่ที่พระมหาปราสาท)

ข้อพระแท่นเสด็จออกขุนนาง (ตั้งอยู่หน้าพระแท่นเศวตฉัตร)

ข้อพระแท่นบรรทม (ใช้เป็นพระแท่นมณฑล อยู่บนพระมหาปราสาท)

ข้อพระกระดานพิง (ดูเหมือนอยู่ที่พระราชวังดุสิต)

ข้อตู้พระสมุดคู่ ๑ (อยู่ในหอมณเฑียรธรรม)

ข้อตู้พระภูษา (อยู่ในหอมณเฑียรธรรม)

ข้อตู้มณฑปพระไตรปิฎก (อยู่ในพระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

ถ้าบานประตูพระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามประดับมุข ก็สร้างในยุคนี้.

(๔)พระบัญชรบุษบกมาลาในพระมหาปราสาทนั้นสร้างในรัชกาลที่ ๔ (เห็นจะทำตามอย่างที่พระที่นั่งธัญญมหาปราสาทเมืองลพบุรี) ให้เข้าระเบียบกับบุษบกมาลาที่มุขเด็ดพระมหาปราสาทซึ่งมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ด้วย ประเพณีเฝ้าแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามีเป็น ๒ อย่าง คือ ถ้าเสด็จออกว่าราชการ เสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้าในท้องพระโรง ประทับที่ช่องพระบัญชร (ที่พระที่นั่งธัญญามหาปราสาท) มีบุษบกมาลาประกอบกับช่องพระบัญชรนั้น ถ้าเสด็จออกมหาสมาคม เสด็จออกมุขเด็ด ข้าเฝ้าฯ เฝ้ากลางแจ้ง รับแขกเมืองต่างประเทศก็เป็น ๒ อย่างทำนองเดียวกัน ถ้ารับแขกเมืองใหญ่ เสด็จออกในท้องพระโรง ถ้ารับแขกเมืองน้อย (เช่นทูตเมืองทวายเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๑) เสด็จออกมุขเด็ด ดั่งนี้.

(๕)เสาเขียนลายทองในพระมหาปราสาทนั้น เมื่อเอาเสากลาง ๔ ต้นออกครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เห็นขื่อตรงหัวเสานั้นระบายสีและเขียนลายเหมือนที่อื่น จึงรู้ได้ว่า เดิมไม่มีเสาตรงนั้น เป็นของเพิ่มเข้าต่อภายกลัง เสามุมผนังอีก ๔ ต้นจะเป็นของเพิ่มขึ้นภายหลังครั้งเดียวกัน (ในรัชกาลที่ ๒) ก็เป็นได้.

(๖)พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์นั้นสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเป็นในคราวเดียวกับสร้างประตูกำแพงแก้วเป็นซุ้มมณฑป ของเดิมเป็นประตูหูช้าง.

(๗)หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้นสร้างเพิ่มเติมต่อกันมาหลายชั้น ชั้นแรกพอสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสวยราชย์ได้ปี ๑ ก็ลงมือสร้าง “พระที่นั่งใหม่” ความคิดชั้นแรกดูเหมือนจะสร้างเป็นแต่พระที่นั่งหลังเดียวสำหรับเสด็จออกรับแขกเมืองเฝ้าไปรเวตแทนพระที่นั่งบรมพิมานครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเปลี่ยนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาอีก ๒ ปี เสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์และอินเดียกลับมา จึงขยายการสร้าง “พระที่นั่งใหม่” เป็นที่เสด็จประทับ มีพระที่นั่ง ๕ องค์ด้วยกัน ต่อมาอีกสัก ๓ ปี จึงลงมือสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกับท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีนั้นแบบเดิมจะสร้างเป็นตึก ๒ ชั้น ได้ก่อขึ้นไปมากแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีประยูรวงศ์ กราบทูลขอให้ทำยอดเป็นปราสาท จึงได้แก้ไขเป็นปราสาท ๓ ยอดต่อภายหลัง.

(๘)พระที่นั่งพุดตาลถมในท้องพระโรงกลางนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) เมื่อยังเป็นพระยานครศรีธรรมราช ทำเฉลิมเกียรติในสกุล เพราะเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) บิดาของท่าน เคยทำพระราชยานถม (กับพระเก้าอี้ถมซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ) ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าพระยานคร (น้อย) ปู่ของท่าน ได้เคยทำพระแท่นถมสำหรับเสด็จออกขุนนาง และพนักถมสำหรับเรือพระที่นั่งกราบ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน.

(๘)รูปภาพที่ติดฝาท้องพระโรงกลางนั้น

ก.รูปโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ที่วังเวอซาย เดิมพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ตรัสสั่งให้เขียนไว้เฉลิมพระเกียรติ ต่อมาถึงสมัยเมื่อเกิดจราจลในประเทศฝรั่งเศส มีผู้เอาไปจากประเทศฝรั่งเศส ไปตกอยู่ที่คลังรูปภาพ ณ เมืองมิวนิคในเยอรมนี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้จำลองมา.

ข.รูปพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ที่วังปักกิงฮัม เป็นแต่เขียนจำลองจากรูปในหนังสือพิมพ์ข่าว ไม่ได้มีรูปเขียนขึ้นไว้โดยเฉพาะ.

ค.รูปเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เข้าเฝ้าเอมปเรอนะโปเลียนที่ ๓ ฝรั่งเศส ที่วังฟอนเตนโบล รูปนี้เอมปเรอนะโปเลียนโปรดให้อาจารย์เจโรมเขียนเฉลิมพระเกียรติ เขียนเหมือนกันเป็น ๒ แผ่น ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแผ่น ๑ เอาไว้ในประเทศฝรั่งเศส (เดี๋ยวนี้อยู่ในคลังรูปภาพที่วังเวอซาย) แผ่น ๑.

ฆ.รูปราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่งอนันตสมาคม ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ รูปนี้เอมปเรอนะโปเลียนให้ช่างเขียนมากับทูต เข้าใจว่าเขียนเป็น ๒ แผ่นเหมือนกัน.

(๑๐)พระรูปหมู่ในห้องปราสาทองค์ตะวันออก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ใหเขียนในประเทศอิตาลีเมื่อเสด็จยุโรปคราวแรก.

(๑๑)พระบรมรูปและพระรูปเขียนสีที่ติดไว้ ณ พระที่นั่งจักรีก่อนรัชกาลปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าประวิช (ต๋ง) ชุมสาย เป็นผู้คิดแบบ พระองค์เจ้าปฤษภางค์เป็นผู้ว่าให้ช่างเขียนในยุโรปสำหรับมาติดในพระที่นั่งจักรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕.

๓.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ เดิมเป็นพระที่นั่งโถง เสาไม้ มาก่อผนังและเปลี่ยนเป็นเสาก่อเมื่อรัชกาลที่ ๓ หลังขวางข้างหน้าสร้างในรัชกาลที่ ๔ ต่อมุขอออกไป ๒ ข้างในรัชกาลที่ ๖.

๔.พระที่นั่งบุษบกมาลาในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แต่เดิมตั้งบุษบกเตี้ยกว่านี้ ทำฐานชั้นล่างหนุนให้สูงขึ้นไปเมื่อรัชกาลที่ ๓

๕.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลกทรงพระชรา เสร็จลงมาประทับและสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลฯ เดิมไม่ได้เขียนรูปภาพที่ฝาผนัง มาเขียนในรัชกาลที่ ๓.

๖.ท้องพระโรงหน้า ระวางพระที่นั่งไพศาลฯ กับพระที่นั่งจักรพรรดิฯ เดิมเสาไม้และโถง มาทำฝาเปลี่ยนเป็นเสาก่อในรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับพระที่นั่งอมรินทรฯ.

๗.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สร้างในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จประทับทุกพระองค์ ไม่มีเว้น.

๘.พระที่นั่งสนามจันทร หอพระสุราลัยพิมาน หอพระธาตุมณเฑียร สร้างในรัชกาลที่ ๒ สีหบัญชรสร้างในรัชกาลที่ ๔.

๙.พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ กับหอเสถียรธรรมปริต สร้างในรัชกาลที่ ๑ เดิมทำด้วยไม้ เป็นพระที่นั่งโถงทั้ง ๒ หลัง เรียกว่า “พระที่ทรงปืนซ้ายขวา” ถึงรัชกาลที่ ๓ เปลี่ยนเสาเฉลียงเป็นก่ออิฐ แต่ยังเป็นพระที่นั่งโถงทั้ง ๒ องค์ ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงแก้องค์ข้างตะวันออกเป็นหอเสถียรธรรมปริต ฝากระจก พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นั้นทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕.

๑๐.พระที่นั่งราชฤดี เดิมเป็นตึกอย่างฝรั่ง ๒ ชั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสำหรับให้ฝรั่งเฝ้า ถึงรัชกาลที่ ๕ รื้อสร้างใหม่เป็นเก๋งอย่างจีน ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงสร้างอย่างเป็นอยู่บัดนี้.

๑๑.มหิศรปราสาทนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอุทิศเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นได้ทรงสร้างปราสาทไว้ทุกพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้างดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างพุทไธสวรรยปราสาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างอาภรณ์พิโมกขปราสาท ถึงรัชกาลที่ ๕ ปรารภจะสร้างปราสาทแต่แรกเสวยราชย์ เดิมคิดจะสร้างปราสาทอย่างพระที่นั่งพุทไธสวรรยบนกำแพงพระราชวังทางด้านแม่น้ำ สำหรับทอดพระเนตรซ้อมกระบวรทหารเรือ จะขนานนามว่า “พระที่นั่งทัศนานิกร” อยู่ตรงกำแพงที่ก่อยื่นออกไปยังปรากฏอยู่ ตวปราสาทก็ได้ยกโครงไม้แล้วค้างมา เลิกเมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีเป็นปราสาท.

  • เรื่องนี้ได้ทรงประทานเจ้าคุณอนุรักษ์ฯ
  • โดยพระหัตถ์ที่เกาะปีนัง. มลายู.


  • ร.พ. มหามกุฏฯ หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
  • นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา ๑๖/๗/๒๕๐๕

  • พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
  • นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๕๐๕

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก