ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
1. พระราชอำนาจ

อำนาจอธิปไตยเป็นของจักรพรรดิ เป็นหลักการรากฐานของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มาตรา 1 มีเนื้อความว่า

"ให้จักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ภายใต้รัชกาลและการปกครองของจักรพรรดิเป็นลำดับไม่ขาดสายไปชั่วกาลนิรันดร์"

โคชากุอิโต[1] ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมาตรานี้ไว้งานเรื่อง อรรถกถาว่าด้วยรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น[2] ของตนดังนี้

"เป็นที่มุ่งหมายกันว่า จักรพรรดิผู้ประทับบนราชบัลลังก์นั้นย่อมทรงรวมอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐกับทั้งการปกครองประเทศและพสกนิกรเข้ามาไว้ในพระองค์เอง"

ในอังกฤษ มีการใช้ "เทวสิทธิ์ของราชา" อย่างสุดโต่งจนชาลส์ที่ 1[3] ต้องพระเศียรหลุด แต่ในญี่ปุ่น รับรู้กันว่า "เทวสิทธิ์ของจักรพรรดิ" นั้นมีอยู่จนถึงระดับที่สมาชิกราชวงศ์สทิวเวิร์ตคนใดก็ไม่อาจเคยนึกเคยฝันถึงได้ ในงานเขียนของเขาชื่อ พัฒนาการทางการเมืองของญี่ปุ่น[4] อูเอฮาระกล่าวประเด็นนั้นไว้แจ่มแจ้งนัก เขายืนกรานว่า ราชดำรัสอันเลื่องลือของหลุยส์ที่ 14 ที่ว่า "รัฐหรือ คือข้าเอง" นั้น จักรพรรดิญี่ปุ่น "ทรงนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งกว่าตัวผู้ตรัส" เสียอีก และนอกจากนี้ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้นี้ยังสรุปสถานะของจักรพรรดิไว้ว่า

"ตามความรู้สึกนึกคิดแบบญี่ปุ่นแล้ว พระองค์ทรงเป็นสิ่งสูงสุดในจักรวาลของญี่ปุ่น เฉกเช่นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นในจักรวาลสำหรับนักปรัชญาแนวสรรพเทวนิยม ทุกสิ่งก่อกำเนิดจากพระองค์ ทุกสิ่งสถิตอยู่ในพระองค์ บนพื้นปฐพีญี่ปุ่น ไม่มีสิ่งไรดำรงอยู่โดยไม่ขึ้นกับพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่เป็นเจ้าของจักรวรรดิ เป็นผู้สรรค์สร้างกฎหมาย ความยุติธรรม เอกสิทธิ์ และเกียรติยศ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติญี่ปุ่น ไม่ทรงต้องมีสังฆราชาหรือมุขนายกใดมาถวายมงกุฎให้ในยามขึ้นทรงราชย์ ทรงเป็นใหญ่ในบรรดากิจทางโลกของรัฐ กับทั้งในบรรดาเรื่องทางธรรม และทรงเป็นรากฐานศีลธรรมแห่งสังคมและพลเมืองญี่ปุ่น"[5]

ด้วยผลแห่งหลักการรากฐานนี้ จักรพรรดิจึง "ทรงมีความศักดิ์สิทธิ์และจะทรงถูกละเมิดมิได้" อิโตว่า

"จักรพรรดินั้นทรงอวตารลงมาจากสรวงสวรรค์ ทรงเป็นเทวะ และทรงมีความศักดิ์สิทธิ์ ทรงโดดเด่นเหนือพสกนิกรทั้งผอง ทรงต้องได้รับความยำเกรง และจะทรงถูกละเมิดมิได้ . . . ใช่แต่จะต้องมีความยำเกรงต่อพระองค์ของจักรพรรดิ ยังต้องไม่นำจักรพรรดิไปเป็นหัวข้อแห่งการออกความเห็นในทางเสียหายหรือในการอภิปรายอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย"[6]

การที่จักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ใดจะเกิดเผชิญชะตากรรมเยี่ยงชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษได้นั้น เป็นเรื่องที่นึกภาพกันไม่ออกจริง ๆ ก็แนวคิดว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดินี้เองที่ทำให้ทีแรกผู้คนไม่เชื่อถือรายงานการสมคบกันล้มล้างการปกครองเมื่อปี 1910[7] อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า แม้แต่จักรพรรดิเองก็ไม่ทรงรอดพ้นจากการตกเป็นหัวเรื่องแห่งการอภิปรายเสมอไป กระนั้น ในภาพรวมแล้ว ถือโดยทั่วกันว่า ทรงมีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ความพยายามลากพระองค์ลงสู่การเมืองจึงนำมาซึ่งความโกรธเคือง การพยายามอย่างชัดเจนที่จะนำพระราชหัตถเลขาของเยาวจักรพรรดิพระองค์ใหม่มาใช้เพื่อประโยชน์ของพลพรรค ก็เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีชุดสุดท้ายของคัตสึระ[8] ย่อยยับอัปราลงในปี 1913 ส่วนการที่ครั้งนั้นไซอนจิ[9] ไม่สั่งให้เซยูไก[10] ยอมตามสิ่งที่ว่ากันว่า เป็นพระราชประสงค์ขององค์จักรพรรดิในกรณีนั้น ก็เชื่อกันว่า เป็นเหตุให้ไซอนจิจำต้องถอนตัวจากตำแหน่งผู้นำพรรคแล้วหันเข้าหาชีวิตสันโดษสืบไป

ในปาฐกถาต่อสมาคมเอเชียแห่งญี่ปุ่น ดอกเตอร์แมกลาเรน[11] กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

"มีการนำพระปรมาภิไธยอันทรงเกียรติภูมิล้ำเหลือนั้นมาใช้ปกป้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง . . . มีการทำให้สถานะเทพอวตารขององค์กษัตริย์กลายเป็นที่แบกรับภาระทั้งหมดในการปกครองแบบคณาธิปไตย . . . คณาธิปไตยก็ดี ราชาธิปไตยก็ดี ถูกผสมปนเปเข้าด้วยกันเป็นอำนาจปกครองเพียงหนึ่งเดียวที่ยังดำรงคงอยู่ผ่านความยำเกรงที่ผู้คนมีต่อราชบัลลังก์"[12]

แนวคิดเรื่องพระปรมาภิไธยมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดกรณีตัวอย่างอันน่าขำกลิ้งของสิ่งที่เรียกกันว่า การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาแล้ว ดังเช่น ในปี 1893 คณะรัฐมนตรี[13] ต้องถูกต่อว่าต่อขาน "เพราะไม่ระมัดระวังในการดำรงรักษาศักดิ์ศรีของสถาบันกษัตริย์" และปรากฏว่า นักกฎหมายชาวอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่น เอาพระปรมาภิไธยจักรพรรดิมาใช้ในคำให้การของตนเองในคดีของศาลกงสุลอังกฤษที่โยโกฮามะ!

รัฐธรรมนูญกล่าวอย่างเด็ดขาดอีกว่า

"จักรพรรดิทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิ ทรงนำสิทธิทั้งหลายในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์มารวมไว้ในพระองค์เอง และทรงใช้สิทธิเหล่านั้น ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"[14]

ในอรรถกาถาว่าด้วยมาตรานี้ อิโตระบุถึงจักรพรรดิว่า

"ผู้ทรงความสูงส่งเป็นที่สุดผู้นี้ ผู้ที่ทรงกุมเส้นใยอันแตกแขนงทั้งหลายของชีวิตทางการเมืองแห่งประเทศเอาไว้ในเงื้อมพระหัตถ์ จะว่าดั่งนั้นก็ได้ เสมือนสมองในกายคนซึ่งเป็นแหล่งที่มาแรกสุดของมโนกรรมทั้งปวงที่ปรากฏผ่านแขนขาทั้ง 4 และภาคส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย"[15]

ใช่แต่จักรพรรดิจะทรงใช้อำนาจบริหารแห่งรัฐ แต่ตามมาตราอันเฉพาะเจาะจงมาตราหนึ่ง[16] "จักรพรรดิ[ยัง]ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยความยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ" และตามมาตรา 6 โดยที่จักรพรรดิ "ทรงอนุมัติกฎหมาย และทรงบัญชาให้นำกฎหมายไปประกาศใช้และบังคับใช้" สิ่งที่สืบเนื่องมาตามธรรมดาและตามตรรกะแล้ว ก็คือ "ทรงมีอำนาจที่จะไม่อนุมัติก็ได้ด้วย" ตามความเห็นของอิโต[17] อูเอฮาระเขียนถึงประเด็นนี้ว่า

"การที่องค์อธิปัตย์จะทรงอนุมัติร่างกฎหมายนั้น เป็นจุดสุดท้ายในกระบวนการนิติบัญญัติญี่ปุ่น จักรพรรดิทรงมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านอาจกล่าวได้ว่า จักรพรรดิทรงยับยั้งกฎหมายทั้งปวงได้อย่างเต็มที่ ไม่มีวิธีใดในทางรัฐธรรมนูญที่สภานิติบัญญัติจะลบล้างการยับยั้งของจักรพรรดินี้ได้เลย"[18]

ประการหนึ่ง การที่จักรพรรดิจะทรงควบคุมองค์กรนิติบัญญัติ คือ สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ นั้น ปรากฏจริงอยู่ในมาตรา 7 ที่ว่า "จักรพรรดิทรงเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ทรงเปิด ปิด และเลื่อนประชุม และทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร"

ข้อที่ว่า รัฐธรรมนูญสงวนอำนาจบางอย่างไว้ให้จักรพรรดินั้น ก็มิได้ต่างมากนักจากธรรมเนียมที่มีการให้ "อำนาจอันสงวนไว้" แก่ฝ่ายบริหารในประเทศอื่น ๆ จนถึงกับต้องออกความเห็นอันใดเป็นพิเศษ ขอชวนให้ไปดูมาตรา 11–16[19] ก็น่าจะพอแล้ว

ทว่า ในหัวข้อ "พระราชอำนาจ" นี้ มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่บทหนึ่งที่จำต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ รัฐธรรมนูญจะแก้ไขเพิ่มเติมมิได้ ถ้าไม่มีรับสั่งให้เสนอร่างกฎหมายเพื่อการนั้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ และทีนี้ ไม่ว่าสภาใดก็ไม่สามารถอภิปรายกันเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมได้ เว้นแต่มีสมาชิกของตนมาประชุมอยู่ด้วยถึง 2 ใน 3 อนึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติมก็จะผ่านไม่ได้ ถ้าไม่มีการอนุมัติจาก 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม[20] ในเรื่องที่ว่า เหตุใดสภานิติบัญญัติจึงริเริ่มการแก้ไขเพิ่มเติมมิได้นั้น อิโตอธิบายโดยกล่าวว่า "สิทธิแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นของจักรพรรดิเอง เพราะพระองค์แต่ผู้เดียวที่เป็นผู้สรรค์สร้างรัฐธรรมนูญ"[21] อย่างไรก็ดี คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า จักรพรรดิทั้งหลายที่ทรงพระปรีชา ย่อมจะสดับตรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม ดุจเดียวกับที่จักรพรรดิพระองค์ก่อน ซึ่งยามนี้เป็นที่รู้จักกันว่า จักรพรรดิเมจิ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญตามความปรารถนาหรือเสียงเรียกร้อง

เกี่ยวกับพระราชอำนาจในญี่ปุ่นนั้น โดยทั่วไปแล้วอาจพูดได้ว่า ถึงแม้จะไม่ถูกจำกัด ไม่ว่าในทางนิตินัยหรือในทางทฤษฎีก็ตาม แต่ในทางพฤตินัยนั้น ก็ยังถูกจำกัดอยู่บ้าง อูเอฮาระว่า "จะธรรมเนียมหรือกฎหมายใดก็ดี ทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจะรัฐธรรมนูญก็ดี มิได้จำกัดอำนาจอธิปไตยอันสูงสุดของพระองค์ไว้เลย พระองค์ทรงเป็นเจ้าใหญ่นายโตที่สุดในจักรวรรดิ"[22]

กระนั้น การบริหารราชการอย่างแท้จริง ก็หาได้ถูกจักรพรรดิแทรกแซง พระองค์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ทรงปกครอง จักรพรรดิพระองค์ก่อนทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการแผ่นดินอย่างลุ่มลึกเป็นการส่วนพระองค์ แต่ไม่เคยทรงแสดงความปรารถนาที่จะทรงดำเนิน "การปกครองด้วยพระองค์เอง" แม้แต่น้อยนิด เพราะเหตุนั้น จึงไม่ยากเย็นสำหรับจักรพรรดิที่จะเป็น "กษัตริย์โดยสมบูรณ์" และเป็นเจว็ดโดยสมบูรณ์ไปพร้อม ๆ กัน เว้นแต่จักรพรรดิพระองค์นั้นจะเป็นผู้ทรงพระบารมีแรงกล้า ซึ่งมักเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเก่า และก็มิใช่จะเป็นไปไม่ได้ในญี่ปุ่นใหม่ อูเอฮาระยืนกรานอย่างเด็ดเดี่ยวเป็นที่สุดว่า "ความแข็งแกร่งและคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นนั้น . . . มิได้ขึ้นอยู่กับพระบารมีของจักรพรรดิ"[23] และเขาอ้างว่า นี่เป็น "ประวัติศาสตร์และประเพณีอันหาใดเหมือนของราชบัลลังก์" แต่แม้จะขัดใจชาวญี่ปุ่นท่านนี้ เราก็อยากเสี่ยงที่จะพูดว่า บารมีขององค์อธิปัตย์นั้นย่อมสำคัญเป็นพิเศษ เป็นไปได้ว่า ในกรณีทั่วไป บารมีในฐานะจักรพรรดิย่อมมีน้ำหนักมากกว่าบารมีในฐานะปัจเจกบุคคล แต่ในกรณีของจักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิพระองค์ก่อน พระบารมีของพระองค์ในแง่ที่เป็นปัจเจกบุคคลนั้นเป็นปัจจัยมิใช่น้อยเลยต่อความจงรักภักดีและความรักชาติบ้านเมืองของพสกนิกรนับพัน และคงจะไม่เป็นการเปรียบเทียบที่แสลงหู ถ้าจะกล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดต่อจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันนี้[24] ดูอย่างไรก็ยังไม่เท่ากับที่มีต่อมุตสึฮิโตะมหาราช[25] พระบิดาผู้รุ่งเรืองของพระองค์


  1. คือ อิโต ฮิโรบูมิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วน "โคชากุ" นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นเอก ภาษาอังกฤษเรียกเป็น "prince" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. Igirisu Horitsu Gakko, Tokyo, 1889, p. 3.
  3. พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. Dutton, New York, 1910, pp. 19–24.
  5. Ibid., p. 23.
  6. Commentaries, p. 6.
  7. หมายถึง การลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิเมจิเมื่อปี 1910 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 3 ที่มีคัตสึระ ทาโร เป็นนายกรัฐมนตรี (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. ไซอนจิ คิมโมจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  10. พรรคการเมือง ชื่อเต็มว่า ริกเก็งเซยูไก (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  11. McLaren, W. W. (1914). Japanese Government Documents. Tokyo: Asiatic Society of Japan. OCLC 561088048.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  12. Japan Advertiser, Tokyo, 19 June, 1913.
  13. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีอิโต ฮิโรบูมิ เป็นนายกรัฐมนตรี (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  14. มาตรา 4
  15. Op. cit., p. 7.
  16. มาตรา 5
  17. Op. cit., p. 11.
  18. Political Development of Japan, p. 128.
  19. ที่ภาคผนวก
  20. มาตรา 73
  21. Op. cit., p. 140.
  22. Op. cit., pp. 193–194.
  23. Ibid., p. 201.
  24. จักรพรรดิไทโช (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  25. อีกพระนามหนึ่งของจักรพรรดิเมจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)