งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 3
การอภิปรายเรื่อง "ระบอบจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญ" นี้ ต้องไม่ลืมกล่าวถึงคณะบุคคลอันเรียกกันว่า เก็นโร ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษกันตามชอบใจด้วยคำว่า "รัฐบุรุษอาวุโส"[1] อันที่จริง บุคคลคณะนี้ไม่มีเอ่ยถึงในรัฐธรรมนูญ เขาเหล่านี้เป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือกว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร เว้นเสียแต่องค์จักรพรรดิกับองคมนตรีสภา บุคคลเหล่านี้เหลือรอดมาจากระบอบเจ้าขุนมูลนาย เป็นเถ้าอัฐิของประวัติศาสตร์ พูดให้ตรงกับความจริงยิ่งขึ้น บุคคลเหล่านี้เป็นผู้หลงเหลือมาจากคณะบุคคลอันยิ่งใหญ่ซึ่งประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูเมื่อปี 1868[2] และการปฏิสังขรณ์ญี่ปุ่นในช่วงเวลาอัศจรรย์แห่งยุคเมจิ พวกเขาสมควรได้รับกิตติศัพท์ยิ่งกว่าใครในการที่ได้สร้างสิ่งที่เป็นอยู่ในยามนี้ให้แก่ญี่ปุ่นใหม่ เขาเป็นรัฐบุรุษผู้ทรงความสามารถสูงสุด แต่มองกันว่า พวกเขาดำรงอยู่มาเกินเวลาที่ตนจะเป็นประโยชน์เสียแล้ว พวกเขาจึงอยู่ผิดยุคผิดสมัย ตั้งแต่โคชากุอิโต[3] ผู้แข็งขันและโดดเด่นที่สุด และโคชากุอิโนอูเอะ[4] ถึงแก่กรรมไป บุคคลคณะนี้ก็เหลือเพียง 3 คน ผู้เหลือรอด คือ โคชากุยามางาตะ[5] และโคชากุโอยามะ[6] (ซึ่งนานทีปีหนจะปฏิบัติกิจสักครา) และโคชากุมัตสึกาตะ[7]
รัฐบุรุษอาวุโสเหล่านี้เป็น "วอริกแห่งญี่ปุ่น" มิใช่ในแง่ที่เป็นผู้ยกกษัตริย์ขึ้นสู่ตำแหน่ง[8] แต่ในแง่ที่เป็นผู้ยกคณะรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่ง ความจริงแล้ว เขาเหล่านี้มิใช่เพียงยกคณะรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่ง แต่ยังยกคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย พวกเขาเป็นอำนาจทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าราชบัลลังก์ ในเรื่องวิกฤตการณ์สำคัญทางการเมืองทุกเรื่องนั้น จักรพรรดิทรงปรึกษากับบุคคลเหล่านี้เป็นประจำ และแน่นอนว่าอย่างไม่เป็นทางการ กระนั้น องค์คณะอัน "รุ่งเรืองแต่ล้าหลัง" นี้ ดูประหนึ่งจะนับวันเวลาที่เหลืออยู่ได้ทีเดียว เป็นความลับที่รู้กันทั่วแล้วว่า ในคราที่พวกเขาทูลเสนอต่อจักรพรรดิให้โอชากุโอกูมะเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 1914 นั้น พวกเขาทูลเช่นนั้นเพียงเพราะต้านเสียงเรียกร้องของปวงประชาไม่ไหวแล้ว หลังจากที่ได้พยายามก่อตั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายปฏิกิริยา[9] โดยมีชิชากุคิโยอูระ[10] เป็นหัวหน้าแล้วแต่ล้มเหลว ฉะนั้น 25 ปีแรกแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในญี่ปุ่นจึงเกิดผลลัพธ์ประการหนึ่ง คือ การที่ปัจจัยนอกรัฐธรรมนูญซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นปัจจัยรุนแรงนี้ถูกกำจัดไปเสียเกือบหมด และในอีกไม่ช้าย่อมจะลาโรงไปทั้งคณะด้วยมรณกรรม
- ↑ ดู 元老 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ การฟื้นฟูเมจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คือ อิโต ฮิโรบูมิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วน "โคชากุ" (公爵) นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นเอก ภาษาอังกฤษเรียกเป็น "prince" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คือ อิโนอูเอะ โควาชิ ส่วน "โคชากุ" (侯爵) นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นโท (ออกเสียงเหมือนบรรดาศักดิ์ชั้นเอก) ภาษาอังกฤษเรียกเป็น "marquis" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ยามางาตะ อาริโตโมะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ โอยามะ อิวาโอะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ มัตสึกาตะ มาซาโยชิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ สำนวนอังกฤษว่า "วอริก" (Warwick) นั้น มาจากตำแหน่งเอิร์ลแห่งวอริกของริชาร์ด เนวิลล์ ซึ่งมีฉายาว่า "ผู้สถาปนาราชา" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ฝ่ายที่ต้องการหวนกลับไปสู่ระบอบเดิม ดู พวกปฏิกิริยา (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คิโยอูระ เคโงะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)