งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 6

จาก วิกิซอร์ซ
6. ฝ่ายตุลาการ

ในหัวเรื่องกิจการตุลาการ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับส่วนอื่น และก็เป็นแต่ถ้อยคำกว้าง ๆ ยิ่งนัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การมิให้ระบบตุลาการถูกจำกัดอย่างเคร่งครัดด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ตายตัวนั้นดีที่สุด เป็นการรอบคอบแล้วที่เพียงแต่ลง "เนื้อหากว้าง ๆ อันสร้างความแพรวพราว" แล้วปล่อยรายละเอียดขององค์กรเอาไว้ในตัวบทที่ยืดหยุ่นกว่า มาตรา 57 ว่าดังนี้

"ให้ศาลยุติธรรมดำเนินกิจการตุลาการไปตามกฎหมาย[และ]ในพระปรมาภิไธยจักรพรรดิ การจัดองค์กรของศาลยุติธรรมนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด"

อิโต[1] อธิบายเรื่องนี้ไว้ในข้อความต่อไปนี้

"องค์อธิปัตย์ทรงเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรม และอำนาจทางตุลาการของพระองค์นั้นก็มิใช่ใดอื่นนอกจากอำนาจอธิปไตยที่สำแดงออกมาในรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น คำพิพากษาย่อมประกาศออกมาในพระปรมาภิไธยจักรพรรดิ อำนาจตุลาการในแง่นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ใน[การใช้]อำนาจอธิปไตยอันเป็นของพระองค์"[2]

ส่วนที่เกี่ยวกับตุลาการนั้น มีบัญญัติไว้เพียงว่า

"ให้แต่งตั้งตุลาการจากบรรดาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามกฎหมาย การถอดตุลาการจากตำแหน่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่ด้วยคำพิพากษาอาญาหรือการลงโทษทางวินัย หลักเกณฑ์ในการลงโทษทางวินัยนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด"[3]

อิโตให้คำอธิบายไว้ว่า

"เพื่อธำรงความเป็นกลางและเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ตุลาการพึงอยู่ในสถานะที่เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงอำนาจ และไม่ควรไขว้เขวไปด้วยผลประโยชน์ของผู้ทรงอิทธิพลหรือความร้อนแรงแห่งข้อโต้เถียงทางการเมือง"[4]

ซาโต[5] ได้ชวนให้ดูเหตุการณ์ตัวอย่างอันโดดเด่นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกี่ยวกับความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีชายผู้ประทุษร้ายซาเรวิตช์ (บัดนี้เป็นซาร์แล้ว) แห่งรัสเซียและกระทำให้พระองค์ทรงบาดเจ็บที่โอสึเมื่อปี 1891[6] มีความพยายามจะให้คดีนี้ถือเป็นคดีพิเศษเพื่อความมุ่งหมายทางการเมือง แต่ศาลยืนยันหนักแน่นที่จะตัดสินคดีตามมุมมองของกฎหมายแต่ประการเดียว และพิพากษาลงโทษผู้ประทุษร้าย ซึ่งมิใช่โทษประหารชีวิต (ดังที่รัฐบาลประสงค์) แต่เป็นจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นโทษสูงสุดตามกฎหมายในคดีเช่นนั้น ซาโต[7] เสริมว่า

"นี่มิใช่เพียงประเด็นทางเทคนิคที่มีความสำคัญอันน่าเร้าใจ แต่ยังเป็นหมุดหมายที่โดดเด่นอย่างยิ่งยวดในเส้นทางแห่งความก้าวหน้าของญี่ปุ่นในฐานะชาติที่ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญทีเดียว ในคดีนี้ หลักการที่ว่า ฝ่ายตุลาการย่อมเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากฝ่ายบริหารนั้น ได้รับการตั้งมั่นไว้อย่างถาวรและชัดเจนเป็นที่สุด"

มีบทบัญญัติหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ มาตรา 59 ที่ว่า "การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล ให้กระทำโดยเปิดเผย

"อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นที่เกรงว่า การเปิดเผยเช่นนั้นจะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือการธำรงรักษาศีลธรรมของสาธารณชน จะงดการพิจารณาโดยเปิดเผยด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือด้วยคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมก็ได้"

จุดสำคัญที่ควรสังเกต ก็คือ ฝ่ายตุลาการญี่ปุ่นไม่มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ ดังที่ระบุไว้แล้วในส่วนก่อนหน้า อำนาจเช่นว่านั้นดำรงอยู่ทั้งหมดในองค์จักรพรรดิ

อนึ่ง ตามมาตรา 61 ศาลยุติธรรมโดยทั่วไปของญี่ปุ่นนั้นไม่มีเขตอำนาจในกรณีใด ๆ อันเป็น

"อรรถคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิซึ่งอ้างว่า ได้ถูกละเมิดด้วยมาตรการอันมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ทางปกครอง และซึ่งให้อยู่ในอำนาจของศาลคดีปกครองที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ"

เรื่องนี้เป็นผลให้อูเอฮาระ[8] ออกความเห็นไว้ว่า

"ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ไม่มีจุดใดที่พิทักษ์รักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการล่วงล้ำของข้าราชการประจำในฝ่ายบริหารเลย"

ทั้งนี้ เพราะคณะรัฐมนตรีมี "อำนาจแทบจะแต่ผู้เดียวในการควบคุม" ศาลคดีปกครอง ซึ่งมี "ขอบข่ายกว้างขวาง" เนื่องจาก

"พิพากษาคดีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาษี เว้นแต่อากรศุลกากร [และที่เกี่ยวข้องกับ] การลงโทษผู้ค้างชำระภาษี การห้ามถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สิทธิและกิจการด้านน้ำ (ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน) และข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลในเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน"[9]

อาจเหมือนยั่วให้อภิปรายกันถึงระบบตุลาการสมัยใหม่ของญี่ปุ่นซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงมามหาศาลแล้ว แต่ในเรื่องนี้ คงเพียงพอแล้วถ้าจะกล่าวว่า โดยทั่วไป ตัวระบบเองเป็นจุดที่ปรับปรุงอย่างเด่นชัดขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกกันว่า การบริหารกฎหมายในสมัยเจ้าขุนมูลนาย และในกรณีทั่วไป ความยุติธรรมและเป็นธรรมยังใช้การได้อยู่ การพิจารณาคดีเกาหลีสมคบกันอันโด่งดังนั้น[10] หาได้ดำเนินตามแนวคิดเรื่องกิจการตุลาการแบบแองโกล-แซกซันไม่ และฉะนั้น จึงดูประหนึ่งจะเป็นความล้มเหลวในการประสาทความยุติธรรม แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 1915 จักรพรรดิทรงนิรโทษกรรมบรรดาผู้ถูกประกาศว่ามีความผิดและได้รับโทษมาส่วนหนึ่งแล้ว ก็นำมาซึ่งความปีติยินดีเป็นยกใหญ่ ระบบของญี่ปุ่นซึ่งเอาระบบภาคพื้นยุโรปเป็นแม่แบบ รวมถึงการไต่สวนมูลฟ้องด้วยวิธีที่โดยพฤตินัยแล้วเท่ากับเป็นการทรมานในบางคดี และความล่าช้าในการให้ประกันตัว ถ้าหากจะมีการให้ประกันในทางใดก็ตาม และแนวคิดที่ปรากฏชัดแจ้งว่า ต้องถือว่าบุคคลเป็นผู้ผิดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ผิด เหล่านี้ และจุดเล็กจุดน้อยอื่น ๆ อีก ย่อมขัดกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมและเป็นธรรมแบบแองโกล-แซกซัน เรื่องทั้งหมดนี้ตกเป็นวัตถุแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมาแล้ว ซึ่งมิใช่แต่ถูกวิจารณ์โดยชาวต่างชาติ ยังรวมถึงชาวญี่ปุ่นเองด้วย และเรื่องเหล่านี้ก็คงจะได้รับการแก้ไขในทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้ตำรวจมีอำนาจน้อยลง และให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความคุ้มครองมากขึ้น และเพิ่งจะไม่นานมานี้เองที่มีการอภิปรายกันอย่างกะตือรือร้นว่า ระบบพิจารณาคดีด้วยคณะลูกขุนนั้นควรรับมาใช้ในญี่ปุ่นหรือไม่


  1. Ito, H. (1889). Commentaries on the Constitution of the Empire of Japan. Tokyo: Igirisu-Hōritsu Gakko. OCLC 1412618.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. Op. cit., p. 101.
  3. มาตรา 58
  4. Op. cit., p. 105.
  5. Op. cit., pp. 45, 46.
  6. ดู เหตุการณ์ที่โอสึเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1891 (ตามปฏิทินเก่า) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. Satoh, H. (1914). Evolution of Political Parties in Japan: A Survey of Constitutional Progress. Tokyo: K.M. Kawakami. OCLC 259706032.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. Op. cit., p. 132.
  9. Ibid., p. 141.
  10. ดู อุบัติการณ์ซ็อนช็อนเมื่อปี 1911 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)