ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/ภาคผนวก 4

จาก วิกิซอร์ซ
4. กฎหมายการคลัง[1]

ตามคำแนะนำจากองคมนตรีสภาของเรา เราขออนุมัติกฎหมายการคลังฉบับนี้ และมีบัญชาให้นำกฎหมายนี้ออกประกาศใช้

  • [พระนามาภิไธย]
  • [พระราชลัญจกร]

วันที่ 11 เดือนยี่ ปีเมจิที่ 22 [11 กุมภาพันธ์ 1889]

[รัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ]

หมวด 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป

มาตรา1ปีการคลังของรัฐบาลนั้น ให้เริ่มขึ้น ณ วันที่ 1 เดือน 4 ของแต่ละปี และสิ้นลง ณ วันที่ 31 เดือน 3 ของปีถัดมา

บรรดาธุรกรรมในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยการรับและการจ่ายรายได้และรายจ่ายในปีการคลังแต่ละปีนั้น ให้เสร็จสิ้น ณ วันที่ 31 เดือน 11 ของปีการคลังปีถัดมา

มาตรา2บรรดารายรับจากภาษีและบรรดาทรัพยากรอย่างอื่นนั้น ให้จัดเป็นรายได้ ส่วนบรรดาค่าใช้จ่ายนั้น เป็นรายจ่าย รายได้และรายจ่ายนั้น ให้ประมวลไว้ในงบประมาณทั่วไป

มาตรา3ยอดเงินที่จัดสรรไว้สำหรับปีการคลังแต่ละปีนั้น มิให้นำไปใช้แก่การจ่ายค่าใช้จ่ายของปีการคลังปีอื่น

มาตรา4ไม่อนุญาตให้สำนักงานรัฐบาลใดเก็บรักษาทุนพิเศษนอกเหนือไปจากที่พระราชกำหนดกฎหมายบัญญัติไว้

หมวด 2 งบประมาณ

มาตรา5งบประมาณทั่วไปในเรื่องรายได้และรายจ่ายประจำปีนั้น ให้ยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิชุดปีที่แล้วเมื่อเริ่มสมัยประชุม

มาตรา6งบประมาณทั่วไปในเรื่องรายได้และรายจ่ายประจำปีนั้น ให้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนสามัญ และส่วนวิสามัญ และแต่ละส่วนนั้น ให้แบ่งย่อยออกเป็นลักษณะและวรรคต่าง ๆ

ให้จัดเอกสารดังต่อไปนี้มาพร้อมกับงบประมาณเพื่อการรับทราบของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

1.เอกสารแสดงจำนวนค่าใช้จ่ายโดยประมาณตามคำเรียกร้องของกรมต่าง ๆ ในแผ่นดิน ในเอกสารนี้ ให้แสดงรายการทุกรายการในแต่ละวรรคไว้โดยชัดเจน

2.เอกสารแสดงบัญชีรายได้และรายจ่ายตามจริงของปีการคลังซึ่งสิ้นลง ณ วันที่ 31 เดือน 3 ของปีปัจจุบัน

มาตรา7เงินสำรองที่จะบัญญัติไว้ในงบประมาณนั้น ให้แบ่งออกเป็นสองประเภทดังนี้ คือ เงินสำรองประเภทที่ 1 และเงินสำรองประเภทที่ 2

เงินสำรองประเภทที่ 1 ให้ใช้เติมเต็มส่วนที่ขาดพร่องไปอันไม่อาจเลี่ยงได้ในงบประมาณ เงินสำรองประเภทที่ 2 ให้ใช้รองรับค่าใช้จ่ายจำเป็นซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณ

มาตรา8บัญชียอดเงินที่ออกให้จากเงินสำรองนั้น เมื่อพ้นปีการคลังไปแล้ว ให้ยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ และขอรับความเห็นชอบจากสภา

มาตรา9จำนวนขั้นสูงของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยท้องพระคลังซึ่งจะออกในช่วงปีการคลังแต่ละปีนั้น ให้กำหนดโดยความยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

หมวด 3 รายรับ

มาตรา10การเพิ่มภาษีและรายได้อย่างอื่น ให้กระทำตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดกฎหมาย

การเรียกเก็บภาษีและรายได้อย่างอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยพนักงานที่มีคุณสมบัติเพื่อการนั้นตามพระราชกำหนดกฎหมาย

หมวด 4 รายจ่าย

มาตรา11จำนวนที่จัดสรรไว้เป็นค่าใช้จ่ายรัฐบาลในปีการคลังแต่ละปีนั้น ให้ออกโดยใช้รายได้ของปีการคลังปีเดียวกันนั้น

มาตรา12มิให้รัฐมนตรีขอจัดสรรเงินเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ในงบประมาณ และไม่อนุญาตให้รัฐมนตรีนำจำนวนที่จัดสรรไว้ในแต่ละวรรคนั้นมาสับเปลี่ยนกันและกัน

ให้รัฐมนตรีส่งรายรับทั้งปวงในความควบคุมของตนให้แก่ท้องพระคลัง และมิให้นำรายรับเหล่านั้นไปใช้โดยตรง

มาตรา13คำสั่งจ่ายเงินนั้น ให้รัฐมนตรีนำมาเบิกที่ท้องพระคลัง เพื่อออกเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปกครองแต่ละอย่างของตน

อย่างไรก็ดี อำนาจในการออกคำสั่งให้จ่ายเงินนั้น จะมอบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานคนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เพื่อการนั้นเป็นพิเศษก็ได้

มาตรา14มิให้ท้องพระคลังจ่ายเงินตามคำสั่งที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดกฎหมาย

มาตรา15มิให้รัฐมนตรีออกคำสั่งจ่ายเงิน เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือตัวแทนของผู้นั้น

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีจะออกคำสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือธนาคารที่รัฐบาลมอบหมายเป็นพิเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังแจกแจงไว้ด้านล่างนี้ ก็ได้

1.การจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยอันเป็นหนี้เงินของชาติ

2.ค่าใช้จ่ายด้านกองทหารและกองเรือ และเรือรัฐบาล

3.ค่าใช้จ่ายของสำนักงานรัฐบาลในต่างประเทศ

4.บรรดาค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในต่างประเทศนอกเหนือไปจากที่เอ่ยไว้ในข้อบทก่อนหน้า

5.ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในอำเภอทั้งหลายภายในประเทศ ที่ซึ่งเส้นทางขนส่งและคมนาคมยังไม่สมบูรณ์

6.ค่าใช้จ่ายสามัญอันเป็นจิปาถะทั้งหลายในสำนักงานรัฐบาลแห่งต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนเงินรายปีโดยรวมต่ำกว่าห้าร้อยเยน

7.ค่าใช้จ่ายของสำนักงานซึ่งยังไม่สามารถชำระสะสางสภาพการณ์ได้ในจุดเดียว

8.ค่าใช้จ่ายในการงานซึ่งดำเนินไปภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของสำนักงานรัฐบาลแห่งต่าง ๆ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวต้องไม่เกินสามพันเยนสำหรับพนักงานกำกับดูแลแต่ละคน

หมวด 5 บัญชีสุดท้าย

มาตรา16บัญชีสุดท้ายโดยทั่วไป ซึ่งรัฐบาลจะยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ หลังจากบัญชีได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจเงินนั้น ให้ร่างขึ้นในรูปแบบเดียวกับงบประมาณทั่วไป และให้มีถ้อยคำแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้อย่างชัดเจน

รายได้

จำนวนรายได้โดยประมาณ

จำนวนรายได้อันแน่นอน

จำนวนรายได้ที่ได้รับ

จำนวนรายได้ที่ยังมิได้รับ

รายจ่าย

จำนวนรายจ่ายโดยประมาณ

จำนวนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังจากการกำหนดงบประมาณ

จำนวนรายจ่ายที่มีการออกคำสั่งจ่ายเงิน

จำนวนที่จะต้องยกยอดไปปีการคลังปีถัดไป

มาตรา17ให้จัดเอกสารดังต่อไปนี้ รวมถึงรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงิน มาพร้อมกับบัญชีสุดท้ายโดยทั่วไปอันเอ่ยไว้ในมาตราก่อนหน้านี้

1.รายงานบัญชีสุดท้ายที่กรมต่าง ๆ ในแผ่นดินเสนอมา

2.บัญชีหนี้เงินของชาติ

3.บัญชีกรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้วิธีจัดการเป็นพิเศษ

หมวด 6 อายุความ

มาตรา18สำหรับความรับผิดทั้งหลายของรัฐบาล ซึ่งเจ้าหนี้มิได้เรียกร้องให้ใช้เงินหรือจ่ายเงินภายในห้าปีหลังจากสิ้นปีการคลังที่พึงมีการจ่ายเงินเช่นนั้น ให้ถือว่า ความรับผิดเหล่านั้นได้ขาดอายุความ และให้รัฐบาลพ้นจากความรับผิด แต่ในกรณีอายุความที่กำหนดโดยกฎหมายพิเศษนั้น ให้ดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นว่านั้น

มาตรา19ในเรื่องจำนวนเงินใด ๆ ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่รัฐบาลนั้น เมื่อบุคคลมิได้รับคำบอกกล่าวให้จ่ายเงินภายในห้าปีหลังจากสิ้นปีการคลังที่พึงมีการจ่ายเงินเช่นนั้น ให้บุคคลนั้นพ้นจากความรับผิดของตน แต่ในกรณีอายุความที่กำหนดโดยกฎหมายพิเศษนั้น ให้ดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นว่านั้น

หมวด 7 การโอนส่วนเกินของเงินจัดสรรไปยังปีการคลังปีอื่น
รายรับที่มิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณ
การคืนเงินจัดสรร

มาตรา20เมื่อเกิดส่วนเกินในบัญชีรายปีประจำปีการคลังปีหนึ่ง ให้ยกยอดส่วนเกินนั้นไปเป็นรายได้ของปีการคลังปีถัดไป

มาตรา21ในกรณีที่อนุญาตอย่างใด ๆ โดยชัดแจ้งไว้ในงบประมาณ หรือในกรณีที่มิได้จ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดในช่วงปีการคลังปีหนึ่ง ๆ เนื่องจากความล่าช้างอันเป็นผลมาจากพฤติการณ์ที่เลี่ยงมิได้ในการดำเนินงานผลิตใด ๆ ที่จำต้องเสร็จสิ้นภายในปีงบการคลังปีนั้น จะยกยอดเงินจัดสรรไปยังและจะใช้เงินจัดสรรนั้นในปีถัดไปก็ได้

มาตรา22ในกรณีที่มีการกำหนดยอดทั้งหมดของทุนรายจ่ายต่อเนื่องทุนหนึ่งไว้สำหรับงาน การผลิต หรือกิจอื่นใดซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเสร็จสิ้น ส่วนเกินในปีการคลังแต่ละปี จะยกยอดและใช้ต่อ ๆ ไปจนสิ้นปีที่งาน การผลิต หรือกิจอย่างอื่นนั้นเป็นอันทำเสร็จก็ได้

มาตรา23เงินที่จ่ายกลับคืนเป็นยอดชดใช้ที่ได้ออกด้วยความผิดหลงหรือได้จ่ายเกินไปก็ดี รายรับของปีการคลังที่บัญชีรายรับและรายจ่ายได้ทำเสร็จแล้วก็ดี และบรรดารายรับอย่างอื่นที่มิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณก็ดี ให้นำเข้าสู่รายได้ของปีการคลังปีปัจจุบัน ทว่า ในกรณีการทดรองจ่าย การใช้เงินโดยกะจำนวน หรือการใช้เงินโดยสับเปลี่ยนรายการชั่วคราว ซึ่งได้กระทำตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดกฎหมาย ยอดเงินที่จ่ายกลับคืนนั้นจะนำไปชดใช้เงินจัดสรรต่าง ๆ ซึ่งนำออกจ่ายเป็นยอดนั้นแต่เดิมก็ได้

หมวด 8 งานภายใต้รัฐบาล การซื้อและขายและการยืมและให้ยืมวัตถุ

มาตรา24ยกเว้นกรณีที่พระราชกำหนดกฎหมายกำหนดไว้เป็นประการอื่น งานภายใต้รัฐบาล และการซื้อและขายและการยืมและให้ยืมสิ่งของต่าง ๆ นั้น ให้จัดประกวดราคาโดยออกคำบอกกล่าวต่อสาธารณชน ทว่า ในกรณีดังต่อไปนี้ จะใช้ดุลพินิจในการเข้าสู่สัญญาโดยไม่อาศัยวิธีประกวดราคาก็ได้

1.ในกรณีซื้อหรือยืมสิ่งของซึ่งบุคคลหรือบริษัทหนึ่ง ๆ ครอบครองแต่ผู้เดียว

2.ในกรณีงานซึ่งต้องทำ หรือสิ่งของซึ่งต้องซื้อหรือขาย หรือยืมหรือให้ยืม ในพฤติการณ์ที่ต้องรักษาการดำเนินการของรัฐบาลไว้เป็นความลับ

3.ในกรณีฉุกเฉินอย่างวิสามัญ ซึ่งไม่มีเวลาให้จัดประกวดราคาสำหรับการดำเนินงาน หรือการซื้อหรือขายหรือการยืมหรือให้ยืมสิ่งของต่าง ๆ

4.ในกรณีสิ่งของซึ่งจำต้องซื้อโดยตรง ณ สถานที่สร้างสรรค์หรือผลิต หรือจากผู้สร้างสรรค์หรือผู้ผลิต สืบเนื่องจากสภาพจำเพาะของสิ่งของนั้น หรือเนื่องจากวัตถุประสงค์พิเศษในการใช้สิ่งของนั้น

5.ในกรณีซื้อผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือซึ่งไม่อาจผลิตได้เว้นแต่โดยศิลปินพิเศษ

6.ในกรณีซื้อหรือเช่าที่ดินและอาคารที่จำต้องมีที่ตั้งหรือการก่อสร้างโดยเฉพาะ

7.ในกรณีสัญญาที่เกี่ยวข้องกับงาน และกรณีซื้อหรือยืมสิ่งของ ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินห้าร้อยเยน

8.ในกรณีขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมูลค่าโดยประมาณไม่เกินสองร้อยเยน

9.ในกรณีซื้อเรือรบ

10.ในกรณีซื้อม้าในกองทัพบก

11.ในกรณีจัดให้มีการทำงานหรือการผลิต หรือซื้อสิ่งของบางอย่าง เพื่อความมุ่งหมายในการทดลอง

12.ในกรณีว่าจ้างคนจนซึ่งเป็นคนของสถานการกุศล หรือในกรณีซื้อทรัพย์โดยตรงจากสถานการกุศลที่สร้างสรรค์หรือผลิตทรัพย์นั้น

13.ในกรณีว่าจ้างแรงงานนักโทษ หรือซื้อทรัพย์โดยตรงจากนักโทษผู้ผลิตทรัพย์นั้น หรือในกรณีซื้อสิ่งของโดยตรง ณ สถานเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมภายใต้ความควบคุมของรัฐบาล อันเป็นแหล่งสร้างสรรค์หรือผลิตสิ่งของนั้น

14.ในกรณีขายสิ่งของซึ่งสร้างสรรค์หรือผลิตขึ้น ณ สถานเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมภายใต้ความควบคุมของรัฐบาล หรือสถานการกุศลหรือการศึกษา หรือ[ซึ่งสร้างสรรค์หรือผลิตขึ้น]โดยแรงงานนักโทษ

มาตรา25มิให้ทดรองจ่ายเงินเพื่องานหรือการผลิต หรือเพื่อการซื้อสิ่งของ เว้นแต่ในกรณีเรือรบ อาวุธ และเครื่องกระสุน

หมวด 9 พนักงานบัญชี

มาตรา26พนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้รับและใช้เงินสด หรือให้จัดส่งสิ่งของของรัฐบาลไปมา ให้มีความรับผิดชอบในทุกกรณีสำหรับเงินหรือสิ่งของภายใต้การบริหารจัดการของตน และให้รับการตรวจสอบและวินิจฉัยจากคณะกรรมการตรวจเงิน

มาตรา27ในกรณีที่พนักงานซึ่งเอ่ยไว้ในมาตราก่อนทำเงินสดหรือสิ่งของสูญหายหรือเสียหายไปในอัคคีภัยหรืออุทกภัย หรือเพราะถูกปล้น หรือเพราะเหตุอื่นใด มิให้พนักงานเหล่านั้นพ้นจากความรับผิดชอบ เว้นแต่ได้รับคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการตรวจเงินให้ปลดเปลื้องจากความรับผิดชอบในการนั้น หลังจากได้พิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจเงินว่า ความสูญหายหรือเสียหายนั้นมิอาจเลี่ยงได้ในระหว่างที่ตนอารักขา

มาตรา28พนักงานที่อาจถูกกำหนดให้วางหลักประกันในการได้รับมอบหมายให้รับหรือใช้เงินสด และในการจัดส่งสิ่งของไปมานั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกำหนด

มาตรา29ความสามารถในการสั่งจ่ายเงิน และความสามารถเกี่ยวกับการรับและใช้เงินนั้น มิให้รวมอยู่ในบุคคลคนเดียวในเวลาเดียวกัน

หมวด 10 หลักเกณฑ์จิปาถะ

มาตรา30ในกรณีที่ยากจะดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้สืบเนื่องจากความต้องการอันพิเศษทั้งหลาย จะอนุญาตให้ใช้วิธีจัดการเป็นพิเศษก็ได้

การจัดตั้งวิธีจัดการเป็นพิเศษนั้น ให้กระทำด้วยกฎหมาย

มาตรา31รัฐบาลจะมอบหมายให้นิปปงกิงโกะ [ธนาคารแห่งญี่ปุ่น] บริหารจัดการเงินทุนในท้องพระคลังก็ได้

หมวด 11 หลักเกณฑ์เพิ่มเติม

มาตรา32บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เดือน 4 ปีเมจิที่ 23 [1 เมษายน 1890] ส่วนบรรดาที่เกี่ยวข้องกับสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่เวลาเปิดประชุมสภา

บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีสุดท้าย ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่บัญชีสำหรับปีการคลังที่บัญชีนั้นได้รับคะแนนเสียงจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

มาตรา33พระราชกำหนดกฎหมายที่แย้งกับบทบัญญัติใด ๆ ในกฎหมายนี้ ให้เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่บทบัญญัติดังกล่าวเริ่มใช้บังคับ


  1. ชื่อญี่ปุ่นว่า "會計法" (ไคเกโฮ) แปลตรงตัวว่า "กฎหมายการบัญชี" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)