ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/ภาคผนวก 6

จาก วิกิซอร์ซ
6. กฎหมายราชวงศ์[1]

ไม่มีความจำเป็นมากมายที่จะต้องนำกฎหมายราชวงศ์อันประกาศใช้คราวเดียวกับรัฐธรรมนูญนั้นมาลงซ้ำไว้ที่นี่แบบเต็ม เพียงหยิบยกประเด็นสำคัญที่สุดออกมาสักไม่กี่ประเด็นก็ย่อมจะเพียงพอแล้ว[2]

มาตราที่มีอยู่เป็นอันมากนั้น (มีทั้งหมด 62 มาตรา) ว่าด้วยเรื่องส่วนตัวและความสัมพันธ์ของราชตระกูล ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่มาตรา 35

"ให้สมาชิกราชตระกูลอยู่ในความควบคุมของจักรพรรดิ"

"การสมรสของสมาชิกราชตระกูลนั้น ให้อยู่ภายใต้พระราชานุมัติของจักรพรรดิ" (มาตรา 40)

"สมาชิกราชตระกูลไม่อาจรับผู้ใดเป็นบุตรชายบุญธรรมของตนได้" (มาตรา 42)

"เมื่อสมาชิกราชตระกูลประสงค์จะเดินทางออกนอกพรมแดนจักรวรรดิ ให้ขอพระราชานุมัติของจักรพรรดิเสียก่อน" (มาตรา 43)

"สมาชิกสตรีในราชตระกูลซึ่งสมรสกับสามัญชน ให้ตัดออกจากการเป็นสมาชิกราชตระกูล" (มาตรา 44)

มาตรา 1 ว่า

"ให้ผู้สืบเชื้อสายที่เป็นชาย ตามสายราชบรรพชนฝ่ายชาย สืบราชบัลลังก์ญี่ปุ่น"

มาตรา 2 ระบุว่า

"ให้พระราชโอรสพระองค์หัวปีของจักรพรรดิสืบราชบัลลังก์"

มาตรา 3–9 ระบุลำดับการสืบราชบัลลังก์ไว้โดยเจาะจงยิ่งนักสำหรับกรณีที่ไม่มีพระราชโอรสหรือนัดดาพระองค์หัวปี หรือผู้สืบเชื้อสายคนใด ๆ หรือไม่มีพระเจ้าพี่หรือน้องยาเธอ หรือผู้สืบเชื้อสาย หรือไม่มีพระเจ้าลุงหรืออาเธอ หรือผู้สืบเชื้อสาย ทั้งยังระบุไว้อย่างเรียบร้อยว่า มิให้มีการขาดสายในลำดับ เพื่อให้เป็นไปดังที่กล่าวไว้ในคำปรารภ คือ "ราชวงศ์เราจะได้ตั้งอยู่อย่างแข็งแกร่งไปชั่วกาล และศักดิ์ศรีของราชวงศ์จะธำรงคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์"

มาตรา 11 กำหนดว่า

"ให้ประกอบพิธีราชาภิเษกและให้จัดเลี้ยงสมโภชราชาภิเษกเป็นการใหญ่ในเคียวโตะ"

ตามมาตรานี้ จักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันจึงทรงราชาภิเษกอย่างเป็นทางการในเคียวโตะเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1915

มาตรา 13 มีเนื้อความว่า

"เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว ให้เถลิงศักราชใหม่ และให้นามของศักราชนั้นคงอยู่ไปโดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดรัชกาล"

เพราะเหตุนั้น เมื่อจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันเสด็จขึ้นทรงราชย์ในปี 1912 ศักราชเมจิจึงต้องเปิดทางให้แก่ศักราชไทโช หรือศักราชมหายุติธรรม

จักรพรรดิ พระราชโอรสพระองค์หัวปีของจักรพรรดิ (มกุฏราชกุมาร) และพระราชนัดดาของจักรพรรดิ บรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนม์สิบแปดพรรษา แต่สมาชิกคนอื่น ๆ ทั้งหมดของราชตระกูลไม่บรรลุนิติภาวะจนกว่าจะอายุยี่สิบปี

จักรพรรดิ พระปัยยิกา พระอัยยิกา และพระมเหสี จะได้รับการเรียกขานว่า "แมเจิสตี" (ฮิส เฮอร์ หรือยัวร์)[3] ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ทั้งหมดของราชตระกูลจะได้รับการเรียกขานว่า "ไฮนิส" (ฮิส เฮอร์ หรือยัวร์)[4]


  1. ชื่อญี่ปุ่น คือ "皇室典範" (โคชิตสึเท็มปัง) แปลตรงตัวว่า "แบบแผนราชวงศ์" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ผู้แปล คือ ซาโต
  3. คำว่า "majesty" ในภาษาอังกฤษ จะเปลี่ยนคำนำหน้าไปตามเพศหรือบุรุษ (เช่น "His Majesty" เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้เรียกขานเพศชาย ส่วน "Your Majesty" เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้เรียกขานเพศใดก็ได้) ส่วนในภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า "陛下" (เฮกะ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. คำว่า "highness" ในภาษาอังกฤษ จะเปลี่ยนคำนำหน้าไปตามเพศหรือบุรุษ (เช่น "His Highness" เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้เรียกขานเพศชาย ส่วน "Your Highness" เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้เรียกขานเพศใดก็ได้) ส่วนในภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า "殿下" (เด็งกะ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)