งานแปล:รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ/ส่วนที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ค.ศ. 1793) โดย ที่ประชุมแห่งชาติ, แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย วิกิซอร์ซ
2. รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ
สารบัญ
รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ
  1. ว่าด้วยสาธารณรัฐ (มาตรา 1)
  2. ว่าด้วยการแบ่งส่วนประชาชน (มาตรา 2–3)
  3. ว่าด้วยสถานะพลเมือง (มาตรา 4–6)
  4. ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของประชาชน (มาตรา 7–10)
  5. ว่าด้วยสมัชชาชั้นต้น (มาตรา 11–20)
  6. ว่าด้วยการมีผู้แทนระดับชาติ (มาตรา 21–36)
  7. ว่าด้วยสมัชชาการเลือกตั้ง (มาตรา 37–38)
  8. ว่าด้วยองค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 39–44)
  9. การดำเนินการประชุมขององค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 45–52)
  10. ว่าด้วยกิจหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 53–55)
  11. ว่าด้วยการจัดทำกฎหมาย (มาตรา 56–60)
  12. ว่าด้วยการขึ้นต้นกฎหมายและกฤษฎีกา (มาตรา 61)
  13. ว่าด้วยคณะมนตรีบริหาร (มาตรา 62–74)
  14. ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคณะมนตรีบริหารกับองค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 75–77)
  15. ว่าด้วยองค์กรบริหารและเทศบาล (มาตรา 78–84)
  16. ว่าด้วยการยุติธรรมทางแพ่ง (มาตรา 85–95)
  17. ว่าด้วยการยุติธรรมทางอาญา (มาตรา 96–97)
  18. ว่าด้วยคณะตุลาการเพื่อการกลับคำพิพากษา (มาตรา 98–100)
  19. ว่าด้วยภาษีสาธารณะ (มาตรา 101)
  20. ว่าด้วยคลังของชาติ (มาตรา 102–104)
  21. ว่าด้วยการบัญชี (มาตรา 105–106)
  22. ว่าด้วยกองกำลังของสาธารณรัฐ (มาตรา 107–114)
  23. ว่าด้วยการประชุมแห่งชาติ (มาตรา 115–117)
  24. ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสกับต่างชาติ (มาตรา 118–121)
  25. ว่าด้วยการรับประกันสิทธิ (มาตรา 122–124)



ม า ต ร า แ ร ก

สาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นอันหนึ่งอันเดียวและแบ่งแยกมิได้


2. ประชาชนชาวฝรั่งเศสย่อมแบ่งส่วนออกเป็นสมัชชาชั้นต้นประจำตำบล เพื่อการใช้อำนาจอธิปไตยของตน

3. ประชาชนย่อมแบ่งส่วนออกเป็นจังหวัด อำเภอ และเทศบาล เพื่อการบริหารและเพื่อการยุติธรรม

4. ทุกคน[1] ที่เกิดและมีภูมิลำเนาในฝรั่งเศส มีอายุถึง 21 ปีแล้วก็ดี

ชาวต่างชาติทุกคนที่มีอายุถึง 21 ปีแล้ว มีภูมิลำเนาในฝรั่งเศสมาแล้ว 1 ปี ซึ่ง

ดำรงชีพ ณ ที่นั้นด้วยแรงงานของตน

หรือได้มาซึ่งทรัพย์สิน

หรือสมรสกับหญิงฝรั่งเศส

หรือรับบุตรบุญธรรม

หรือเลี้ยงดูผู้ชราก็ดี

ประการสุดท้าย ชาวต่างชาติทุกคนซึ่งองค์กรนิติบัญญัติจะได้วินิจฉัยว่าควรค่าแก่มนุษยธรรมก็ดี[2]

ย่อมได้รับการเปิดให้ใช้สิทธิพลเมืองฝรั่งเศส

5. การใช้สิทธิแห่งพลเมืองเป็นอันสิ้นไป

ด้วยการแปลงสัญชาติในต่างประเทศ

ด้วยการยอมรับกิจหน้าที่หรือความอนุเคราะห์อันมาจากรัฐบาลที่มิใช่ของประชาชน

ด้วยการถูกพิพากษาลงโทษอันน่าอับอาย[3] หรือน่าเจ็บปวด[4] จนกว่าจะมีการล้างมลทิน

6. การใช้สิทธิพลเมืองเป็นอันถูกระงับ

ด้วยสถานะผู้ต้องหา

ด้วยคำพิพากษาว่าจงใจไม่ไปศาล[5] ตราบที่คำพิพากษานั้นยังไม่ถูกยกเลิก


7. ประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตย คือ พลเมืองฝรั่งเศสทั้งมวล

8. ประชาชนย่อมแต่งตั้งผู้แทนของตนโดยตรง

9. ประชาชนย่อมมอบหมายให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิเลือกผู้บริหาร อนุญาโตตุลาการสาธารณะ ตุลาการทางอาญา และ [ตุลาการ] เพื่อการกลับคำพิพากษา[6]

10. ประชาชนย่อมประชุมปรึกษา[7] กันด้วยเรื่องกฎหมาย


11. สมัชชาชั้นต้นประกอบด้วยพลเมืองที่มีภูมิลำเนาในตำบลแต่ละแห่งมาแล้ว 6 เดือน

12. สมัชชาประกอบด้วยพลเมืองอย่างน้อย 200 คน อย่างมาก 600 คน ซึ่งได้รับการเรียกให้มาลงคะแนนเสียง

13. สมัชชาเป็นอันก่อตั้งขึ้นด้วยการแต่งตั้งประธาน เลขานุการ และผู้นับคะแนนเสียง

14. อำนาจรักษาความเรียบร้อยในสมัชชาย่อมเป็นของสมัชชา

15. มิให้ผู้ใดปรากฏตัวในสมัชชาโดยมีอาวุธ

16. การเลือกตั้งจะกระทำโดยใช้บัตรหรือโดยเสียงอันดังก็ได้ แล้วแต่ผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคนจะเลือก

17. มิให้สมัชชาชั้นต้นกำหนดวิธีการรูปแบบเดียวกันสำหรับการลงคะแนนเสียง ไม่ว่าในกรณีใด

18. ให้ผู้นับคะแนนเสียงรับรองคะแนนเสียงของพลเมืองที่เขียนหนังสือไม่เป็นและเลือกลงคะแนนเสียงโดยใช้บัตร

19. คะแนนเสียงว่าด้วยกฎหมาย ย่อมแสดงโดย "รับ" หรือ "ไม่รับ"

20. ให้ประกาศมติของสมัชชาชั้นต้นดังนี้ "พลเมืองที่ประชุมกันในสมัชชาชั้นต้นแห่ง ... มีผู้ลงคะแนนเสียงจำนวน ... คน ได้ลงคะแนนรับหรือไม่รับ ด้วยเสียงข้างมาก ... เสียง"


21. การมีผู้แทนระดับชาติย่อมอิงประชากรเท่านั้น

22. ให้มีผู้แทน 1 คนต่อปัจเจกบุคคล 40,000 คน

23. สมัชชาชั้นต้นแต่ละแห่งที่เป็นผลมาจากประชากร 39,000 ถึง 40,000 ราย ย่อมแต่งตั้งผู้แทนโดยตรงได้ 1 คน

24. การแต่งตั้ง ให้กระทำโดยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด

25. ให้สมัชชาแต่ละแห่งนับคะแนนเสียง และส่งข้าหลวงไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางที่สุด เพื่อการรวมคะแนนเสียงโดยทั่วกัน

26. ถ้าการรวมคะแนนเสียงครั้งแรกไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ให้มีการเรียก [มาลงคะแนนเสียง] เป็นคราวที่สอง และให้ลงคะแนนเสียงเลือกระหว่างพลเมืองทั้งสองรายที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด

27. ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ผู้มีอายุมากที่สุดย่อมมีสิทธิดีกว่า ไม่ว่าในฐานะที่พึงออกเสียงให้[8] หรือที่พึงได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่อายุเท่ากัน ให้จับฉลากตัดสิน

28. ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่ใช้สิทธิพลเมืองย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ในอาณาเขตของสาธารณรัฐ

29. ผู้แทนแต่ละคนย่อมเป็น [ผู้แทน] ของชาติโดยรวม

30. ในกรณีที่ผู้แทนมิได้รับการยอมรับ ลาออก ถูกถอดถอน หรือตาย ให้สมัชชาชั้นต้นที่แต่งตั้งผู้นั้นจัดหาผู้มาแทน

31. ผู้แทนที่ได้ยื่นขอลาออก จะยังออกจากตำแหน่งมิได้ จนถึงภายหลังจากที่มีผู้เข้ามาสืบตำแหน่ง

32. เพื่อการเลือกตั้ง ให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสชุมนุมกันทุกปีในวันที่ 1 พฤษภาคม

33. ประชาชนย่อมดำเนินการเช่นนั้น ไม่ว่าพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะมีจำนวนเท่าใด

34. สมัชชาชั้นต้นย่อมจัดตั้งขึ้นเป็นการวิสามัญ เมื่อมีคำเรียกร้องจาก 1 ใน 5 ของพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชานั้น

35. ในกรณีนี้ ให้เทศบาลแห่งสถานที่ประชุมตามปรกติเป็นผู้เรียกประชุม

36. สมัชชาวิสามัญนี้จะประชุมปรึกษากันก็ต่อเมื่อมี 1.5[9] ของพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชานั้นมาประชุม


37. พลเมืองที่ประชุมกันในสมัชชาชั้นต้นย่อมแต่งตั้งผู้เลือกตั้ง 1 คนต่ออัตราส่วนพลเมือง 200 คน ไม่ว่าจะมาประชุมหรือไม่ หรือ 2 คนต่อ 301–400 คน หรือ 3 คนต่อ 501–600 คน

38. การดำเนินสมัชชาการเลือกตั้ง และวิธีการเลือกตั้ง ให้เป็นอย่างเดียวกับในสมัชชาชั้นต้น


39. องค์กรนิติบัญญัติย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และเป็นถาวร

40. สมัยประชุมขององค์กร คือ 1 ปี

41. องค์กรย่อมมาประชุมกันในวันที่ 1 กรกฎาคม

42. สมัชชาแห่งชาติจะก่อตั้งมิได้ ถ้ามิได้ประกอบด้วย 1.5 ของผู้แทน [ทั้งหมด] เป็นอย่างน้อย

43. การฟ้องร้อง[10] ตั้งข้อกล่าวหา หรือมีคำพิพากษาต่อผู้แทน เพราะความคิดเห็นที่เขาเหล่านั้นได้แสดงไว้ในท่ามกลางองค์กรนิติบัญญัติ จะกระทำมิได้ ไม่ว่าในเวลาใด

44. เขาเหล่านั้นอาจถูกควบคุมตัวเพราะการกระทำทางอาญาได้ ถ้าได้กระทำซึ่งหน้า แต่มิให้ออกหมายจับหรือหมายเบิกตัว[11] เขาเหล่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากองค์กรนิติบัญญัติ


45. การประชุมของสมัชชาแห่งชาติ ย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย

46. รายงานการประชุมของสมัชชา ย่อมได้รับการพิมพ์เผยแพร่

47. สมัชชาจะประชุมปรึกษามิได้ เว้นแต่ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 200 คน

48. การห้ามสมาชิกตนมิให้ขึ้นกล่าวตามลำดับที่เขาเหล่านั้นได้ร้องขอไว้แล้ว สมัชชาจะกระทำมิได้

49. สมัชชาย่อมทำคำวินิจฉัย[7] ด้วยเสียงข้างมากของผู้มาประชุม

50. สมาชิก 50 คนมีสิทธิเรียกให้มีการขานชื่อ[12]

51. ในท่ามกลาง [ที่ประชุมของ] ตน สมัชชามีสิทธิตรวจสอบยับยั้งความประพฤติของสมาชิกตน

52. ในสถานที่ประชุม และในพื้นที่รอบนอกซึ่งสมัชชาได้กำหนดไว้แล้ว อำนาจรักษาความเรียบร้อยย่อมเป็นของสมัชชา


53. องค์กรนิติบัญญัติเสนอกฎหมายและออกกฤษฎีกา

54. ที่เรียกโดยทั่วไปว่า "กฎหมาย" นั้น ประกอบด้วย รัฐบัญญัติขององค์กรนิติบัญญัติอันว่าด้วย

กฎหมายแพ่งและอาญา

การบริหารโดยทั่วไปซึ่งรายได้และรายจ่ายสามัญของสาธารณรัฐ

อาณาเขตของชาติ

ชื่อเรียก น้ำหนัก แบบพิมพ์ และหน่วยของเงิน

ลักษณะ ปริมาณ และการเก็บภาษี

การประกาศสงคราม

การแบ่งส่วนดินแดนฝรั่งเศสออกเป็นแบบใหม่เป็นการทั่วไปทุกครั้ง

การศึกษาสาธารณะ

การเชิดชูเกียรติยศเป็นการสาธารณะเพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญ

55. ที่กำหนดให้เรียกโดยเจาะจงว่า "กฤษฎีกา" นั้น ได้แก่ รัฐบัญญัติขององค์กรนิติบัญญัติอันว่าด้วย

การจัดตั้ง[13] กองกำลังทางบกและทางทะเลประจำปี

การอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้กองทหารต่างชาติผ่านดินแดนฝรั่งเศส

การส่งกองกำลังนาวาต่างชาติเข้าไปในท่าเรือของสาธารณรัฐ

มาตรการเพื่อความมั่นคงและความสงบสุขโดยทั่วกัน

การแบ่งส่วนสิ่งบรรเทาทุกข์และการงานสาธารณะเป็นรายปีและเป็นครั้งคราว

คำสั่งจัดทำเหรียญกระษาปณ์[14] ทุกชนิด

ค่าใช้จ่ายอันคาดหมายมิได้และเป็นการวิสามัญ

มาตรการระดับท้องถิ่นและระดับพิเศษในเรื่องการบริหาร เรื่องแขวง หรือเรื่องการงานสาธารณะประเภทหนึ่ง ๆ

การป้องกันดินแดน

การให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญา

การแต่งตั้งและปลดแม่ทัพ

การดำเนินคดีเพื่อความรับผิดชอบของสมาชิกคณะมนตรี[15] และผู้ปฏิบัติกิจหน้าที่สาธารณะ

การตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกแจ้งว่า สมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านความมั่นคงโดยทั่วกันของสาธารณรัฐ

การเปลี่ยนแปลงการแบ่งส่วนบางส่วนของดินแดนฝรั่งเศสทุกครั้ง

เครื่องอิสริยยศของชาติ


56. ร่างกฎหมายนั้นให้มีรายงาน[16] นำมา

57. มิให้เปิดอภิปราย และมิให้ตกลงรับกฎหมายเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะครบ 15 วันหลังมีรายงาน

58. ร่างกฎหมายนั้นให้พิมพ์เผยแพร่และจัดส่งไปยังแขวงทั้งหมดในสาธารณรัฐด้วยชื่อนี้ "กฎหมายที่เสนอ"

59. หลังจัดส่งกฎหมายที่เสนอนั้นไปแล้ว 40 วัน ถ้าไม่มีคำคัดค้านจาก 1 ใน 10 ของสมัชชาชั้นต้นที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบประจำจังหวัดแต่ละแห่งในจำนวน 1.5 ของจังหวัดทั้งหลาย ร่างกฎหมายก็เป็นอันได้รับการยอมรับและกลายเป็น "กฎหมาย" ได้

60. ถ้ามีคำร้องขอ ก็ให้องค์กรนิติบัญญัติเรียกประชุมสมัชชาชั้นต้นทั้งหลาย


61. กฎหมาย กฤษฎีกา คำพิพากษา และตราสารสาธารณะทั้งปวง ให้ขึ้นต้นว่า "ในนามของประชาชนชาวฝรั่งเศส ในปี ... ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส"


62. ให้มีคณะมนตรีบริหารคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน

63. ให้สมัชชาเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่ละแห่งแต่งตั้งผู้สมัครมา 1 คน ให้องค์กรนิติบัญญัติเลือกสมาชิกคณะมนตรีจากรายชื่อรวม

64. เมื่อมีสภานิติบัญญัติแต่ละชุด ในเดือนสุดท้ายของสมัยประชุมสภานั้น ให้ครึ่งหนึ่งของคณะมนตรีเป็นอันเปลี่ยนใหม่

65. ให้คณะมนตรีมีกิจเป็นการบังคับบัญชาและกำกับดูแลการปกครองโดยทั่วไป คณะมนตรีจะกระทำการได้ก็แต่โดยดำเนินตามกฎหมายและกฤษฎีกาขององค์กรนิติบัญญัติ

66. ให้คณะมนตรีแต่งตั้งหัวหน้าพนักงานในการบริหารสาธารณรัฐโดยทั่วไปจาก [บุคคล] ภายนอกคณะมนตรี

67. ให้องค์กรนิติบัญญัติกำหนดจำนวนและกิจหน้าที่ของพนักงานเหล่านี้

68. พนักงานเหล่านี้มิได้ประกอบกันเป็นคณะมนตรีใด พนักงานเหล่านี้ย่อมแยกจากกัน โดยไม่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในระหว่างพวกตน พนักงานเหล่านี้มิได้ใช้อำนาจหน้าที่ส่วนตัวแต่อย่างใด

69. ให้คณะมนตรีแต่งตั้งพนักงาน [ด้านกิจการ] ภายนอกของสาธารณรัฐจาก [บุคคล] ภายนอกคณะมนตรี

70. ให้คณะมนตรีเจรจาสนธิสัญญา

71. ในกรณีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่[17] สมาชิกคณะมนตรีย่อมถูกองค์กรนิติบัญญัติตั้งข้อกล่าวหา

72. คณะมนตรีต้องรับผิดชอบในการไม่ดำเนินตามกฎหมายและกฤษฎีกา และในการกระทำมิชอบที่ตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ

73. ให้คณะมนตรีเพิกถอนและเปลี่ยนตัวพนักงานที่ตนแต่งตั้ง

74. ถ้ามีช่อง คณะมนตรีต้องร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลเหล่านั้นต่อเจ้าหน้าที่ตุลาการ


75. คณะมนตรีบริหารย่อมดำรงคงอยู่เคียงคู่องค์กรนิติบัญญัติ คณะมนตรีมีทางเข้าและพื้นที่ต่างหากในที่ประชุมขององค์กร

76. ให้รับฟังคณะมนตรีทุกคราวที่คณะมนตรีมีถ้อยคำจะกล่าว

77. เมื่อเห็นสมควร องค์กรนิติบัญญัติจะเรียกคณะมนตรีทั้งหมดหรือบางส่วนมายังท่ามกลางองค์กรก็ได้


78. ในแต่ละแขวงของสาธารณรัฐ ให้มีการบริหารแบบเทศบาล

ในแต่ละอำเภอ มีการบริหารในชั้นกลาง

ในแต่ละจังหวัด มีการบริหารส่วนกลาง

79. ให้สมัชชาแขวงเลือกตั้งเจ้าพนักงานเทศบาล

80. ให้สมัชชาการเลือกตั้งประจำจังหวัดและประจำอำเภอแต่งตั้งผู้บริหาร

81. ให้ครึ่งหนึ่งของเทศบาลและคณะบริหารเป็นอันเปลี่ยนใหม่ทุกปี

82. ผู้บริหารและเจ้าพนักงานเทศบาลไม่มีลักษณะเป็นผู้แทน

บุคคลเหล่านี้มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐบัญญัติขององค์กรนิติบัญญัติหรือระงับการดำเนินตามรัฐบัญญัตินั้นได้ ไม่ว่าในกรณีใด

83. ให้องค์กรนิติบัญญัติกำหนดกิจหน้าที่ของเจ้าพนักงานเทศบาลและของผู้บริหาร ระเบียบว่าด้วยลำดับบังคับบัญชาของบุคคลเหล่านี้ และโทษที่เขาเหล่านี้อาจได้รับ

84. การประชุมของเทศบาลและของคณะบริหาร ย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย


85. ประมวลกฎหมายแพ่งและอาญาย่อมมีรูปแบบเดียวกันสำหรับทั่วทั้งสาธารณรัฐ

86. การประทุษร้ายต่อสิทธิของพลเมืองในอันที่จะให้ข้อพิพาทของตนได้รับการตัดสินจากอนุญาโตตุลาการที่ตนเลือกเองนั้น จะเกิดขึ้นมิได้

87. คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเหล่านี้ย่อมเป็นเด็ดขาด ถ้าพลเมืองมิได้สงวนสิทธิในการคัดค้านเอาไว้

88. ให้มีตุลาการแห่งสันติ[18] ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพลเมืองในเขตต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

89. ให้ตุลาการเหล่านี้ไกล่เกลี่ยและพิพากษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

90. ให้องค์กรนิติบัญญัติวางระเบียบในเรื่องจำนวนและอำนาจหน้าที่ของตุลาการเหล่านี้

91. ให้มีอนุญาโตตุลาการสาธารณะซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมัชชาการเลือกตั้ง

92. ให้องค์กรนิติบัญญัติระบุจำนวนและเขตของตุลาการเหล่านี้

93. ให้ตุลาการเหล่านี้ไต่สวนข้อขัดแย้งที่มิได้ยุติเป็นเด็ดขาดด้วยอนุญาโตตุลาการเอกชนหรือด้วยตุลาการแห่งสันติ

94. ให้ตุลาการเหล่านี้ประชุมปรึกษาเป็นการเปิดเผย

ให้ตุลาการเหล่านี้แถลงความคิดเห็นด้วยเสียงอันดัง

ให้ตุลาการเหล่านี้ชี้ขาดตัดสินเป็นชั้นสุดท้ายในเรื่องข้อต่อสู้ที่กระทำด้วยวาจา หรือในเรื่องที่เป็นแต่บันทึก[19] โดยไม่ต้องมีวิธีพิจารณา และไม่คิดค่าใช้จ่าย

ให้ตุลาการเหล่านี้แสดงเหตุผลในคำตัดสินของตน

95. ให้เลือกตั้งตุลาการแห่งสันติและอนุญาโตตุลาการสาธารณะทุกปี


96. ในเรื่องทางอาญา จะมีพลเมืองถูกพิพากษามิได้ เว้นแต่ด้วยข้อกล่าวหาที่ลูกขุนได้รับหรือที่องค์กรนิติบัญญัติมีกฤษฎีกาไว้

ผู้ถูกกล่าวหาย่อมมีที่ปรึกษาที่ตนเลือกเอง หรือที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยตำแหน่ง[20]

การนั่งพิจารณาย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย

ให้ลูกขุนที่พิพากษาประกาศข้อเท็จจริงและเจตนา

ให้คณะตุลาการทางอาญาเป็นผู้กำหนดโทษ

97. ให้สมัชชาการเลือกตั้งเลือกตั้งตุลาการทางอาญาทุกปี


98. ให้มีคณะตุลาการเพื่อการกลับคำพิพากษาสำหรับทั่วทั้งสาธารณรัฐ

99. คณะตุลาการนี้มิได้ไต่สวนรูปคดี

ให้คณะตุลาการนี้วินิจฉัยในเรื่องการไม่ปฏิบัติตามรูปแบบและเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

100. ให้สมัชชาการเลือกตั้งเลือกตั้งสมาชิกคณะตุลาการนี้ทุกปี


101. ไม่มีพลเมืองผู้ใดได้รับยกเว้นจากพันธะหน้าที่อันทรงเกียรติในการมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายสาธารณะ


102. คลังของชาติเป็นจุดศูนย์รวมแห่งรายรับและรายจ่ายของสาธารณรัฐ

103. ให้พนักงานบัญชีที่คณะมนตรีบริหารแต่งตั้งเป็นผู้บริหารคลังของชาติ

104. ให้พนักงานเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงที่องค์กรนิติบัญญัติแต่งตั้งขึ้นโดยนำมาจากภายนอกองค์กร และต้องรับผิดชอบในการกระทำมิชอบที่ตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ


105. บัญชีของพนักงานคลังแห่งชาติ และของผู้บริหารเงินทุนสาธารณะ ให้ยื่นเป็นรายปีต่อข้าหลวงผู้รับผิดชอบซึ่งคณะมนตรีบริหารแต่งตั้ง

106. ให้ผู้ตรวจสอบเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงซึ่งองค์กรนิติบัญญัติแต่งตั้งโดยนำมาจากภายนอกองค์กร และต้องรับผิดชอบในการกระทำมิชอบและข้อผิดพลาดทั้งหลายที่ตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ให้องค์กรนิติบัญญัติเป็นผู้ชำระบัญชี


107. กองกำลังโดยทั่วไปของสาธารณรัฐย่อมประกอบด้วยประชาชนทั้งปวง

108. สาธารณรัฐย่อมธำรงกองกำลังติดอาวุธทางบกและทางทะเลไว้ในการใช้งานโดยให้ค่าจ้าง แม้ในยามสันติ

109. ชาวฝรั่งเศสทุกคนย่อมเป็นทหาร เขาเหล่านั้นทุกคนย่อมได้รับการฝึกฝนให้ใช้อาวุธ

110. ไม่มีจอมทัพแต่ประการใด

111. ความแตกต่างของขั้น เครื่องหมายเฉพาะของขั้น และลำดับบังคับบัญชา จะมีอยู่ก็แต่ในเรื่องที่เนื่องด้วยการปฏิบัติหน้าที่และชั่วเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

112. กองกำลังสาธารณะที่ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ย่อมไม่ปฏิบัติการเว้นแต่มีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น

113. กองกำลังสาธารณะที่ใช้ต่อต้านศัตรูจากภายนอกนั้น ย่อมปฏิบัติการตามคำสั่งของคณะมนตรีบริหาร

114. มิให้องค์กรติดอาวุธใด ๆ มีการประชุมปรึกษา[7]


115. ถ้า 1 ใน 10 ของสมัชชาชั้นต้นที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบประจำจังหวัดแต่ละแห่งในจำนวน 1.5 ของจังหวัดทั้งหลาย ร้องขอให้ตรวจชำระรัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือให้เปลี่ยนแปลงบางมาตราของรัฐบัญญัตินั้น องค์กรนิติบัญญัติจะต้องเรียกประชุมสมัชชาชั้นต้นทุกแห่งของสาธารณรัฐ เพื่อหยั่งทราบว่า จะมีช่องให้เกิดการประชุมแห่งชาติได้หรือไม่

116. ที่ประชุมแห่งชาติย่อมจัดตั้งขึ้นในลักษณะเดียวกับสภานิติบัญญัติ และย่อมประมวลไว้ซึ่งอำนาจของสภาเหล่านั้น

117. ในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ให้ที่ประชุมจดจ่ออยู่แต่กับวัตถุประสงค์ที่ก่อให้เกิดการเรียกประชุม


118. ประชาชนชาวฝรั่งเศสย่อมเป็นเพื่อนและเป็นพันธมิตรตามธรรมชาติกับเสรีชนทั้งหลาย

119. ชาวฝรั่งเศสไม่ก้าวก่ายการการปกครองของชาติอื่น ชาวฝรั่งเศสไม่ยอมให้ชาติอื่นก้าวก่าย [การปกครอง] ของตน

120. ชาวฝรั่งเศสให้ที่ลี้ภัยแก่ชาวต่างชาติที่ถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเพราะเหตุผลเรื่องเสรีภาพ

ชาวฝรั่งเศสไม่ให้ที่ลี้ภัยแก่ทรราช

121. ชาวฝรั่งเศสไม่ก่อสันติกับศัตรูผู้ยึดครองดินแดนของตน


122. รัฐธรรมนูญย่อมรับประกันต่อชาวฝรั่งเศสทุกคนถึงความเสมอภาค เสรีภาพ ความมั่นคง ทรัพย์สิน หนี้สินสาธารณะ การปฏิบัติตามลัทธิต่าง ๆ ได้โดยเสรี การศึกษาร่วมกัน การสาธารณสงเคราะห์ เสรีภาพอันไร้ขีดจำกัดของสื่อ สิทธิในการร้องทุกข์ สิทธิในการชุมนุมเป็นสมาคมของประชาชน และการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนทั้งปวง

123. สาธารณรัฐฝรั่งเศสเชิดชูความภักดี ความกล้าหาญ ความอาวุโส ความกตัญญูต่อครอบครัว และความอับโชค[21] สาธารณรัฐขอฝากรัฐธรรมนูญของตนไว้ในความคุ้มครองของคุณธรรมทั้งมวล

124. ให้จารึกประกาศสิทธิและรัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญไว้บนโต๊ะในองค์กรนิติบัญญัติและในที่สาธารณะ

ลงนาม กอโล-แดร์บัว[22] ประธาน; ดูว์ร็อง-มายาน,[23] ดูว์โก,[24] เมโอล,[25] เซอัช. เดอลาครัว,[26] โกซูแอ็ง,[27] เป. อา. ลาลัว[28] เลขานุการ

หมายเหตุ[แก้ไข]

  1. CNRTL (2012g) ว่า "homme" จะหมายถึงคนโดยไม่จำกัดเพศ หรือคนเพศชายก็ได้
  2. CNRTL (2012h) ว่า "humanité" สามารถหมายถึง (1) ลักษณะที่แสดงว่าเป็นมนุษย์ (เช่น ลักษณะทางกายภาพ หรืออุปนิสัย) (2) ความเมตตาหรือกรุณาที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ (3) มนุษยชาติ (4) มนุษยศาสตร์
  3. CNRTL (2012i) ว่า "peine infamante" (โทษอันน่าอับอาย) เป็นคำเรียกโทษประเภทหนึ่งซึ่งส่งผลให้เสียคุณสมบัติบางประการ เช่น การลดขั้นพลเมือง (dégradation civique)
  4. CNRTL (2012a) ว่า "peine afflictive" (โทษอันน่าเจ็บปวด) เป็นคำเรียกโทษที่มุ่งสร้างความเจ็บปวดทางกายภาพ เช่น การโบย (fouet) หรือการสักประจาน (flétrissure)
  5. CNRTL (2012d) ว่า "contumace" หมายถึง (1) การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้วไม่ไปศาล หรือหลบหนีไปเสียก่อนมีคำพิพากษา หรือ (2) ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลับหลัง ในที่นี้นำศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสภาว่า "การจงใจไม่ไปศาล" สำหรับคำว่า "contumacy" มาใช้
  6. CNRTL (2012c) ว่า "cassation" หมายถึง คำตัดสินของศาลสูงที่ให้เพิกถอนคำตัดสินของศาลล่าง โดยเป็นการตัดสินในข้อกฎหมาย มิใช่ในรูปคดี ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์สำหรับคำนี้ว่า "การกลับคำพิพากษา" จึงนำศัพท์บัญญัตินี้มาใช้
  7. 7.0 7.1 7.2 CNRTL (2012e) ว่า "délibérer" สามารถหมายถึง (1) ประชุมปรึกษา (เป็นสภา) (2) พิเคราะห์ หรือพิจารณา (3) มีคำวินิจฉัย (หลังจากได้ประชุมปรึกษา)
  8. CNRTL (2012b) ว่า "ballotter" มีความหมายเจาะจงถึงการออกเสียงโดยใช้บัตร
  9. "La moitié, plus an" แปลตรงตัวว่า "กึ่งบวกหนึ่ง" หมายถึง 0.5 กับ 1 หรือก็คือ 1.5
  10. CNRTL (2012p) ว่า "rechercher" สามารถหมายถึง (1) ตรวจค้น (2) ค้นหา (3) สอบสวน (4) ฟ้องร้อง ฯลฯ
  11. คำว่า "amener" ปรกติแปลว่า "นำ" หรือ "พา" แต่เมื่อประกอบกับคำ "mandat" ("หมาย") เป็น "mandat d'amener" แล้ว Collins (2022) ว่า แปลว่า "หมายเรียก" ส่วน Ooreka (2022) อธิบายว่า เป็นหมายศาลที่สั่งให้ตำรวจำพาบุคคลมาศาลเพื่อการไต่สวน
  12. หมายถึง การเรียกสมาชิกให้มาออกเสียงทีละคน ดู appel nominal
  13. CNRTL (2012f) ว่า "établissement" ในความหมายทั่วไป หมายถึง การจัดตั้ง การสถาปนา ฯลฯ และในทางทหาร ยังหมายถึง การกระจายกำลังไปยังสถานที่ที่ต้องยึดครอง
  14. CNRTL (2012m) ว่า "monnaie" สามารถหมายถึง (1) เหรียญทำจากโลหะเจือหรือโลหะอย่างดี ใช้เป็นเงินตามกฎหมาย (2) เหรียญทำจากสัมฤทธิ์ ทองแดง หรือเงิน (3) เงินปลอม (4) เงินตรา (ไม่จำกัดประเภท เช่น จะเป็นเหรียญหรือเป็นบัตรก็ได้) ฯลฯ
  15. คงหมายถึง คณะมนตรีบริหาร ดูมาตรา 71–72 เพิ่ม
  16. คงหมายถึง เอกสารที่เรียกว่า "รายงานของรัฐสภา" ดู rapport parlementaire
  17. CNRTL (2012o) ว่า "prévarication" หมายถึง (1) การฝ่าฝืนกฎของพระเจ้า หน้าที่ทางศาสนา หรือพันธะทางศีลธรรม (2) ความผิดที่เจ้าพนักงานกระทำในตำแหน่งหน้าที่ (3) การฝ่าฝืนพันธะในหน้าที่หรือฝ่าฝืนคำสั่งอย่างร้ายแรง
  18. CNRTL (2012j) ว่า "juge de paix" (แปลตรงตัวว่า "ตุลาการแห่งสันติ") เป็นตุลาการที่มีเขตอำนาจในท้องที่ระดับตำบล และมีหน้าที่หลายอย่าง ที่สำคัญคือหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ส่วนราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำ "justice of the peace" ว่า "ผู้พิพากษาศาลแขวง"
  19. CNRTL (2012l) ว่า ในทางกฎหมาย "mémoire" คือ เอกสารที่บันทึกเหตุผลของคู่ความ ตรงกับที่ภาษาอังกฤษเรียก "brief" ดูเพิ่มที่ mémoire judiciaire และ brief
  20. CNRTL (2012n) ว่า ในกฎหมายอาญา "d'office" หมายความว่า ตามความจำเป็นแห่งตำแหน่งหน้าที่ เช่น "Il avait été chargé de défendre d'office une femme accusée d'avoir volé une paire de bas" ("โดยตำแหน่งแล้ว เขามีหน้าที่ต้องแก้ต่างให้หญิงผู้หนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยถุงเท้าคู่หนึ่ง")
  21. CNRTL (2012k) ว่า "malheur" สามารถหมายถึง (1) สาเหตุที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เช่น ความวินาศ ความวิบัติ ความเสื่อมถอย ความล่มจม ความไม่สำเร็จ หรือความพ่ายแพ้ (2) ความไม่สมปรารถนาในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความผิดหวังในความรัก (3) อาชญากรรม เรื่องอื้อฉาว (5) โชคร้าย ลางร้าย (6) ความตาย ฯลฯ
  22. ฌ็อง-มารี กอโล แดร์บัว (Jean-Marie Collot d'Herbois)
  23. ปีแยร์-ตูแซ็ง ดูว์ร็อง เดอ มายาน (Pierre-Toussaint Durand de Maillane)
  24. รอเฌ ดูว์โก (Roger Ducos)
  25. ฌ็อง นีกอลา เมโอล (Jean Nicolas Méaulle)
  26. ชาร์ล-ฟร็องซัว เดอลาครัว (Charles-François Delacroix)
  27. เออแฌน-เซซาร์ โกซูแอ็ง (Eugène-César Gossuin)
  28. ปีแยร์-อ็องตวน ลาลัว (Pierre Antoine Laloy)

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • CNRTL (2012a). "Afflictive". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012b). "Ballotter". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012c). "Cassation". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012d). "Contumace". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012e). "Délibérer". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012f). "Établissement". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012g). "Homme". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012h). "Humanité". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012i). "Infamante". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012j). "Juge". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012k). "Malheur". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012l). "Mémoire". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012m). "Monnaie". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012n). "Office". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012o). "Prévarication". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012p). "Rechercher". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • Collins (2022). "Mandat d'amener". Collins French-English Dictionary. 
  • Ooreka (2022). "Mandat d'amener". Ooreka Droit.