งานแปล:ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี/ส่วนที่ 1
หน้าตา
- กรมราชเลขาธิการ
- วันที่ ๒๙ กรกฎา ๒๔๖๙
สำเนา
วังศุโขทัย
23 กรกฎาคม 1926
ถึง ดร.แซร์[1]
พร้อมกันกับจดหมายฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอส่งบันทึกว่าด้วยปัญหาบางประการของสยามกับแบบสอบถามมาให้ท่านพิจารณา ข้าพเจ้าเกรงว่า ได้รีบเขียนบันทึกนั้นไปหน่อยเพื่อจะได้ส่งถึงท่านให้ทันก่อนที่เราจะสนทนากันในวันพรุ่ง พรุ่งนี้เราจะคุยกันเบื้องต้น ซึ่งเราจะได้ถกคำถามเหล่านั้นกันได้เต็มที่ยิ่งขึ้น เมื่อท่านพิจารณาคำถามอย่างเต็มที่แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ได้คำตอบจากท่านเป็นลายลักษณ์อักษร
บันทึกนี้มิได้หยิบยกปัญหาทุกประการในบ้านเมืองมากล่าวแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเพียงเอ่ยถึงข้อที่เห็นว่าสำคัญ หากท่านมีความเห็นอื่นใดนอกจากที่อยู่ในข่ายของคำถาม ก็ยินดีรับฟังอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านจะได้รับความสะดวกสบายที่โรงแรมพญาไท
- ด้วยใจจริง
- (พระบรมนามาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.
ปัญหาของสยาม
1. ระเบียบการปกครอง[2] | ||
ก) ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน | พระเจ้าแผ่นดินสยามย่อมมาจากการสมมติ[3] ของผู้คน ในสมัยก่อน มีการประกอบพิธีสมมติ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ จะมีการประชุมสภาอันประกอบด้วยพระราชวงศ์ เสนาบดีแห่งรัฐ[4] และผู้สูงศักดิ์ในศาสนจักร จากนั้น เจ้าชายหรือเสนาบดีที่มีอาวุโสจะเสนอว่า พึงยกเจ้าชายพระองค์นั้นพระองค์นี้ขึ้นสู่ราชสมบัติ และถามว่า มีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครตอบคำถามนี้ แต่บางทีก็มีการให้คำตอบในทางเห็นชอบโดยการยกมือไหว้หรือค้อมศีรษะ[5] ครั้นแล้ว จะประกาศพระเจ้าแผ่นดินอย่างเป็นทางการ และเพิ่มข้อความ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" เข้าในพระนาม[6] | |
ธรรมเนียมนี้ดำเนินมาจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรังสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการสถาปนามกุฎราชกุมารซึ่งสืบราชสมบัติอย่างไร้ข้อกังขา ส่วนพิธีการ ณ เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์นั้นก็เป็นแต่ประกาศบางอย่าง | ||
รัชกาลที่ 6 ไม่มีพระราชโอรส จึงตกเป็นปัญหาในเสนาบดีสภาว่า ควรให้พระเชษฐาหรืออนุชาร่วมพระราชบิดามารดามาสืบทอดพระองค์ ภายหลังจึงทรงตรากฎหมายการสืบสันตติวงศ์ขึ้น[7] | ||
กฎหมายการสืบสันตติวงศ์นี้มีหลักการโดด ๆ อยู่สองประการ คือ หลักการเลือกตั้ง กับหลักการสืบสันตติวงศ์ด้วยการสืบตระกูล ในกฎหมายนี้ เริ่มข้อความโดยแถลงว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงสงวนไว้ซึ่งสิทธิอันบริบูรณ์ในการที่จะแต่งตั้งสมาชิกผู้ใดในราชตระกูลขึ้นเป็นผู้สืบทอดพระองค์ แต่ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์โดยมิได้ทรงแต่งตั้งผู้สืบทอดไว้ การสืบสันตติวงศ์ก็จะตกสู่พระราชโอรสของพระองค์ ข้อนี้ก็ฟังดูไม่อ้อมค้อมดีอยู่ แต่นิสัยการมีภริยามากเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากขึ้นตรงนี้ กฎหมายระบุว่า พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีควรอยู่ในลำดับก่อนผู้อื่น แล้วจึงให้ลำดับแก่พระราชโอรสที่พระมารดามีพระยศถัดจากพระมเหสี (มีพระยศต่างกันสี่ชั้นและลดหลั่นลงมาตามขั้นไปจนถึงพระราชโอรสอันประสูติแต่พระสนมในที่สุด) ข้อนี้ก็ยังฟังดูใช้ได้ในหลักการ ถ้ามิใช่เพราะมีข้อเท็จจริงว่า พระสนมนั้นจะเลื่อนพระยศขึ้นเมื่อใดก็ได้ และพระมเหสีเองนั้นจะทรงถูกลดพระยศลงตามพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า เรื่องนี้ทำให้เป็นไปได้อย่างยิ่งยวดที่จะเกิดความยุ่งยาก ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้จัดลำดับความสำคัญของพระราชโอรสด้วยพระยศที่พระมารดาทรงได้แต่ประสูติ ข้าพเจ้าหมายความว่า ควรให้ความสำคัญแก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าหญิง เช่น พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน จากนั้นเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ ถ้ามีพระราชโอรสมากกว่าหนึ่งพระองค์ซึ่งพระมารดามีพระยศเสมอกัน การสืบสันตติวงศ์จึงจะอาศัยความอาวุโสทางพระชันษาของเจ้าชายเหล่านี้ เมื่อหาพระราชโอรสมิได้แล้ว การสืบสันตติวงศ์จึงจะตกแก่พระเชษฐาหรืออนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน ตามความในกฎหมายดังที่เป็นอยู่นี้ การจัดลำดับความสำคัญยังอาศัยพระยศที่พระมารดาทรงได้จากการสถาปนา ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้แก้ไขปรับปรุงอย่างเดียวกับที่ว่ามาข้างต้นนี้ คำถามต่อไปมีว่า กฎหมายมิได้สร้างความชัดเจนนักในกรณีที่ไม่มีพระเชษฐาหรืออนุชาเหลืออยู่ หรือในกรณีที่บุคคลซึ่งควรจะได้สืบสันตติวงศ์นั้นเกิดดับสูญเสียแล้ว พระโอรสทุกพระองค์ของเจ้าชายพระองค์นั้นชอบจะได้ขึ้นสู่ราชสมบัติหรือไม่ หรือเฉพาะพระโอรสประสูติแต่พระชายาเอกที่สามารถสืบสันตติวงศ์ได้ใช่หรือไม่ กรณีดังนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งปรากฏว่า ในพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น พระโอรสทุกพระองค์สามารถสืบสันตติวงศ์ได้ ในกรณีข้าพเจ้า พระโอรสของกรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯ[8] ถูกข้ามไปตามพระราชประสงค์ที่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงแสดงเอาไว้[9] ทีนี้ หลายคนมองว่า แนวคิดที่ว่า พระโอรสทุกพระองค์สามารถสืบสันตติวงศ์ได้นั้น ควรค้าน เนื่องเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าชายบางพระองค์ทรงมีอนุชายาที่ชื่อเสียงเสื่อมเสียอย่างถึงที่สุด ซึ่งไม่เหมาะจะเป็นพระราชมารดาพระเจ้าแผ่นดินเอาเสียเลย เขายังว่า ชาวสยามดำเนินตามธรรมเนียมอินเดีย และประสงค์ให้พระเจ้าแผ่นดินของตนประสูติแต่เจ้าหญิงในราชตระกูล เป็นเจ้าชายซึ่งรับรู้กันว่า "ประสูติมาแต่พระครรภ์อันบริสุทธิ์" ก็คือ เป็นเจ้าฟ้า | ||
คำถามเกี่ยวกับหลักการที่เกี่ยวข้องซึ่งข้าพเจ้าใคร่จะได้ความเห็นจากท่านนั้น มีว่า | ||
คำถามที่หนึ่ง | พระเจ้าแผ่นดินควรทรงมีสิทธิเลือกเจ้าชายพระองค์ใด ๆ เป็นรัชทายาทหรือไม่? ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงมีสิทธิเช่นนี้ ควรหรือไม่ที่สิทธินี้จะขยายไปสู่สภาพระบรมวงศ์และเสนาบดีแห่งรัฐในกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์โดยมิได้ทรงเลือกรัชทายาทไว้? ในขณะนี้ พระเจ้าแผ่นดินแต่พระองค์เดียวที่มีสิทธิกำหนดรัชทายาท แต่คงจะสมเหตุสมผลมากกว่า ถ้าให้สภาสักสภาใช้สิทธิดังกล่าวเมื่อพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงกระทำเช่นนั้น ข้อนี้คงจะสอดรับกับแนวคิดเรื่องสมมติราชมากกว่า | |
คำถามที่สอง | ควรหรือไม่ที่จะยอมรับหลักการเลือกทุกประการ หรือควรไหมที่ให้จะสืบสันตติวงศ์ด้วยชาติกำเนิดแต่ประการเดียว และควรไหมที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างในกฎหมายปัจจุบัน? | |
ข) พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน | ดังที่ท่านทราบดี พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกสิ่ง หลักการนี้ดีอย่างยิ่งและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับประเทศตราบที่เรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ดี ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นสมมติราชอย่างแท้จริงแล้ว ก็น่าที่ผู้นั้นจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดีทีเดียว แต่แนวคิดเรื่องการเลือกตั้งนี้ออกจะเป็นทฤษฎีแท้ ๆ และในความเป็นจริงแล้วพระเจ้าแผ่นดินสยามก็มาจากการสืบตระกูลล้วน ๆ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกนั้นก็จำกัดยิ่งนัก เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไปว่า เราจะได้พระเจ้าแผ่นดินที่ดีทุกครั้ง ดังนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จอาจกลายเป็นภัยโดยแท้ต่อบ้านเมือง นอกจากนี้ การณ์ก็แปรเปลี่ยนไปมากมาย ในยุคก่อน แทบไม่มีใครสงสัยในพระจริยวัตรของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะทำเช่นนั้นก็คงไม่ปลอดภัย ทั้งพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเป็นที่เคารพอย่างจริงแท้ และพระราชดำรัสก็เป็นกฎหมายอย่างแท้จริง แต่การณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ เสียใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินยังทรงเป็นที่ยำเกรงและเคารพอย่างสูงยิ่ง แม้เป็นเช่นนั้นไปจนสิ้นรัชกาล ก็ยังมีคนหนุ่มสาวคณะหนึ่งเริ่มวิจารณ์พระเจ้าแผ่นดินในหลาย ๆ ทาง แต่มิได้ออกหน้าออกตา ครั้นในรัชกาลที่เพิ่งสิ้นลงนี้ การณ์ย่ำแย่ลงอย่างยิ่งด้วยสาเหตุหลายประการ ซึ่งข้าพเจ้าไม่จำต้องเล่าให้ท่านฟังเพราะท่านทราบดีพออยู่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นบุคคลที่ถูกชักจูงได้โดยใครก็ตามที่สามารถเป็นที่สนอกสนใจของพระราชวัลลภ ข้าราชการทุกคนต้องสงสัยว่ายักยอกหรือเห็นแก่ญาติไม่มากก็น้อย โชคยังดีที่เจ้าชายทั้งหลายยังทรงได้รับความเคารพในฐานะที่ทรงอยู่ในหมู่ผู้ซื่อสัตย์ทั้งปวง ส่วนเรื่องที่ชวนโทมนัสเหลือเกิน ก็คือ ราชสำนักนั้นถูกชิงชังอย่างสุดขั้วหัวใจ และช่วงหลัง ๆ ก็แทบจะถูกเย้ยหยันถากถาง[10] การเกิดขึ้นของสื่อเสรียิ่งทำให้เรื่องบานปลาย สถานะของพระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นสิ่งที่มีความลำบากอย่างสาหัส ขบวนการทางความคิดในประเทศนี้เป็นเค้าลางแน่นอนว่า ระบอบผู้ครองอำนาจเด็ดขาดนั้นนับวันได้ ถ้า[11] ราชวงศ์นี้จะดำรงอยู่ต่อ ก็ต้องทำให้สถานะของพระเจ้าแผ่นดินมั่นคงยิ่งขึ้น และต้องหาหลักประกันสักอย่างมาป้องกันมิให้มีพระเจ้าแผ่นดินผู้โฉดเขลา | |
⟨คำถามที่สาม⟩ | แล้วการปกครองสยามควรเป็นไปในรูปแบบใด? วันหนึ่งประเทศนี้ก็ต้องมีระบบรัฐสภาใช่ไหม และการปกครองแบบมีรัฐสภาอย่างแองโกล-แซ็กซันนั้นเหมาะสมแก่ชาวตะวันออกหรือไม่? | |
คำถามที่สี่ | ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทนสักแบบ? | |
สำหรับคำถามที่สามนั้น โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้ายังกังขาอยู่ ส่วนคำถามที่สี่นั้น ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า คือ "ไม่" แบบเน้น ๆ | ||
แล้วควรทำอะไรไปพลาง? ความพยายามขั้นแรกของข้าพเจ้าในอันที่จะหาหลักประกันสักอย่างให้องค์พระเจ้าแผ่นดินนั้น คือ การจัดตั้งอภิมนตรีสภา | ||
ค) อภิมนตรีสภา[12] | การก่อกำเนิดอภิมนตรีสภานั้นควรค่าแก่การเล่าให้ฟังพร้อมรายละเอียดบางเรื่อง | |
ข้าพเจ้าได้ถกแนวคิดเรื่องสภาเช่นว่านั้นในหมู่เพื่อนฝูงมาสักระยะก่อนที่จะเกิดแนวคิดใด ๆ ว่า ควรมีโอกาสได้จัดตั้งสภานั้นด้วยตนเองแล้ว ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อย่างหนักแน่น คือ กรมพระดำรงฯ[13] ข้าพเจ้าปรึกษาเรื่องแนวคิดนี้กับเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ[14] และเจ้าฟ้าบริพัตรฯ[15] เพียงหนึ่งวันก่อนพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศจะเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าพระองค์แรกไม่สนพระทัยในแนวคิดนั้นนัก เพราะทรงเห็นว่า จะเป็นการบั่นทอนพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน แต่เจ้าฟ้าพระองค์หลังสนพระทัยอย่างแรงกล้า ครั้นพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็มีการตัดสินใจว่า ควรจัดตั้งอภิสภาในทันที เรามีเวลาสองวันให้เตรียมประกาศ และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศสวรรคตได้สามวัน ก็มีการประกาศอภิมนตรีสภาโดยวิธีแถลงต่อองคมนตรี[16] | ||
ทีนี้ ข้าพเจ้าจะอธิบายเหตุผลที่รีบจัดตั้งสภานี้ถึงเพียงนั้น ดังที่ท่านทราบ ประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาในพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศตลอดมาจนสิ้นรัชกาล และคำถามเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ก็ก่อความกังวลใหญ่หลวง พระบรมวงศ์พระองค์เดียวที่พอจะมีชื่ออยู่บ้าง ก็คือ เจ้าฟ้าบริพัตรฯ และหลายคนคงอยากให้พระองค์ได้สืบสันตติวงศ์ แม้รู้กันดีว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงคาดหมายที่จะได้พระราชบุตรอยู่ และถ้าพระองค์ไร้ซึ่งพระราชโอรสแล้ว การสืบสันตติวงศ์ก็จะตกแก่พระเชษฐาหรืออนุชาที่—ข้าพเจ้าขออภัยที่ต้องกล่าวเช่นนี้—ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองในแง่ดี ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น ข้าพเจ้าเป็นม้ามืด และยังอ่อนหัดในกิจการของรัฐไม่ว่าในแง่ใด แต่ข้าพเจ้าค่อนข้างจะโชคดีที่พอสิ้นอัษฎางค์ฯ[17] พี่ชายของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าได้รับโอกาสหลายครั้งให้ปฏิบัติราชกิจแทนพระเจ้าอยู่หัวในช่วงที่ไม่ทรงอยู่ในพระนครและในช่วงที่ทรงพระประชวร ข้าพเจ้ามีบุญพอที่สามารถได้รับความไว้วางใจจากเสนาบดีและพระบรมวงศ์ถึงขั้นที่ท่านเหล่านี้เห็นชอบในข้อเสนอให้ข้าพเจ้าขึ้นสู่ราชสมบัติ ข้าพเจ้ายังได้รับการสนับสนุนอย่างดีที่สุดจากเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ครั้นข้าพเจ้าขึ้นสืบราชสมบัติแล้ว ก็มีความเห็นกันอย่างแน่แท้ว่า จำจะต้องทำอะไรสักอย่างโดยพลันเพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน ฉะนั้น จึงนำไปสู่การจัดตั้งอภิมนตรีสภา เรื่องนี้เกิดผลทันที และข้าพเจ้าก็ได้รับศรัทธาจากประชาชนภายในวันเดียวจริง ๆ เหตุผลที่การกระทำครั้งนี้มีผลลัพธ์ฉับพลันเช่นนั้น ก็เพราะเป็นการให้คำมั่นถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าพึงใจ | ||
ประการแรก คือ ราชตระกูลมารวมตัวกันและจะทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว | ||
ประการที่สอง คือ พระเจ้าแผ่นดินเต็มพระทัยจะแสวงหาคำแนะนำจากเหล่าเจ้าชายซึ่งเป็นที่เคารพอย่างสูง จัดเจนในกิจการของรัฐ และได้รับความไว้วางใจจากปวงประชา โดยไม่เอาชนชั้นข้าราชการซึ่งผู้คนรังเกียจไว้ในสภานี้แม้แต่ผู้เดียว | ||
ประการที่สาม คือ สภานี้จะมาลดทอนอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในอันที่จะกระทำการโดยพลการ (ขอให้ระลึกว่า ในสถานการณ์ทางความคิดในบ้านเมืองยามนี้นั้น มองกันว่า พระเจ้าแผ่นดินมักจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี) | ||
เพราะฉะนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีจากการจัดตั้งอภิมนตรีสภานั้นจึงค่อนข้างดี และข้าพเจ้าคิดว่า สภานี้สมความมุ่งหมายอย่างดียิ่งแล้ว และการกระทำของข้าพเจ้านั้นก็มีเหตุผลรองรับดี นับแต่นั้น ประชาชนมีช่วงเวลาให้สะท้อนความรู้สึกไม่มาก และอภิมนตรีสภาก็ตกเป็นเป้าการวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ข้าพเจ้าจะขอจาระไนคำวิจารณ์บางข้อและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น | ||
1.ผู้คนสงสัยว่า อภิมนตรีสภาเป็นองค์กรที่ปรึกษาหรือเป็นองค์กรบริหารกันแน่ บางคนคิดว่า สภานี้มีอำนาจมากไป ข้าพเจ้าใคร่ขอตอบว่า สภานี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างเดียว เพราะไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในทางบริหารได้เลย ความเห็นของสภานี้จะมีผลในทางบริหารผ่านทางพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว วิธีทำงานของสภาในเวลานี้ คือ สภาจะประชุมโดยพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ด้วย และไม่มีวันประชุมโดยพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จอยู่ด้วยเว้นแต่มีรับสั่งเป็นพิเศษ คำถามทั้งหลายที่เสนอไปยังสภานั้น ได้แก่ คำถามทุกอย่างในทางนโยบาย คำถามในกิจการคลังของชาติ การแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ดังเช่นเสนาบดีของรัฐ คำถามในการปูนบำเหน็จชั้นสูงและชั้นพิเศษดังเช่นยศเจ้าพระยาและสายสะพาย[18] (ในอดีตมีการนำไปใช้โดยมิชอบและก่อให้เกิดอิทธิพลหลังฉาก) และคำถามเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมอันสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินอาจแสวงหาคำแนะนำในกิจการส่วนพระองค์หรือส่วนราชตระกูลด้วยก็ได้ | ||
เมื่อมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับกระทรวงแห่งใด เสนาบดีผู้รับผิดชอบก็อาจได้รับเชิญร่วมประชุม | ||
อภิมนตรี[19] ย่อมนั่งประชุมในเสนาบดีสภาและออกความเห็น แต่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายในเรื่องสำคัญดังเช่นการประกาศใช้กฎหมายใหม่หรือการลงนามในสนธิสัญญานั้นเป็นกิจของเสนาบดีสภาเสมอ และในเสนาบดีสภาก็ดี อภิมนตรีสภาก็ดี พระราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่เป็นใหญ่ ถึงแม้ในช่วงเหตุการณ์ปรกติ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงรับตามความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ตลอด แต่ในเมื่อทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วไซร้ ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทรงกระทำเช่นนั้น | ||
2.วิจารณ์กันว่า อภิมนตรีสภาซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษานั้นไม่ควรมานั่งประชุมในเสนาบดีสภาซึ่งเป็นองค์กรบริหาร ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้อนี้ค่อนข้างจริง เรารับระบบนี้มาเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสะดวก แต่ถ้าอภิมนตรีสภาไม่มานั่งประชุมในคณะเสนาบดีด้วยแล้ว การงานก็คงล่าช้าขึ้นมาก เพราะคำถามใด ๆ ที่วินิจฉัยกันในคณะเสนาบดี ก็ต้องยกไปพิจารณากันในอภิมนตรีสภาซ้ำอีก และเพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้เดียวที่จะวินิจฉัยคำถามทั้งหลาย จึงยังไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องนำความยุ่งยากใด ๆ เข้ามาในชั้นนี้ ถ้ามีอัครมหาเสนาบดีมาเป็นประธานเสนาบดีสภาแล้ว ใครจะเป็นผู้ถวายคำวินิจฉัยของเสนาบดีสภาต่อพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น คงจะดีถ้าให้อภิมนตรีสภาเป็นองค์กรแยกต่างหากซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงปรึกษาได้ก่อนจะมีพระราชวินิจฉัยขั้นสุดท้าย เราจะคุยเรื่องนี้กันเพิ่มในภายหลัง | ||
3.ที่ว่า ควรมีกฎหมายบางอย่างมาระบุและจัดระเบียบหน้าที่ของอภิมนตรีนั้น อันนี้จำเป็นแน่นอน และมีการยกร่างกฎหมายขึ้นแล้ว แต่เพราะยังเห็นไม่ลงรอยกันว่า หน้าที่ของอภิมนตรีควรมีอะไรบ้าง ข้าพเจ้าจึงพักร่างนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้แนวคิดที่ชัดเจนขึ้นว่า กำหนดให้สภาเช่นนี้มีรูปแบบใดดีที่สุด | ||
4.ที่ว่า อภิมนตรีสภาเป็นที่ยอมรับในเวลานี้เพราะลักษณะส่วนตัวของผู้เป็นมนตรี และในกรณีที่เอาคนอื่นมาแทนมนตรีเหล่านี้แล้ว สภาจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า แนวคิดเช่นนี้ออกจะเป็นการมองแง่ร้ายไปหน่อย ถ้าสืบไปภายหน้าจะหาคนดีไม่ได้อีก เราก็สิ้นหวังสำหรับสยามแล้ว | ||
5.ที่ว่า การมีอยู่ของอภิมนตรีสภาเป็นการบั่นทอนพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้อนี้ก็จริง แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เกียรติยศของความเป็นราชาในประเทศนี้แทบจะไม่ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้อีก ข้าพเจ้าได้อธิบายแล้วถึงเหตุที่ข้าพเจ้ากังขายิ่งนักว่า มีทางจะกอบกู้เกียรติยศแต่ครั้งเก่าก่อนได้อีกไหม ข้าพเจ้าคิดว่า ความเห็นของสาธารณชนในกรุงเทพฯ และในชั้นปัญญาชนนั้นวิวัฒนาการไปไกลโขแล้ว และการเพียรจะนำความรุ่งเรืองใด ๆ ในวันเก่ากลับคืนมานั้นคงเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร พระเจ้าแผ่นดินควรพอพระทัยที่ได้ทำความดีทุกอย่างที่ทำได้ ถึงแม้คนอื่นจะได้หน้าก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่า ณ เวลานี้ และตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเช่นที่เป็นอยู่ในยามนี้ แม้ไม่มีอภิมนตรีสภา ทุกครั้งคนที่ได้หน้าก็จะเป็นคนอื่น เป็นเสนาบดีบางท่าน ไม่ก็เจ้าชายบางพระองค์อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา ก็จะยกให้เป็นอิทธิพลของคนชั่วบางคน และ[ถือว่า]พระเจ้าแผ่นดินกำลังถูกคนผู้นั้นชักจูงให้เลอะเทอะ ผู้คนดูจะมีแนวคิดว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นหัวโขนสักอย่างที่ใครก็ชักจูงได้ง่าย ๆ และพระเจ้าแผ่นดินไม่มีความเห็นเป็นของตนเลย คำพูดนี้อาจฟังแล้วเกินจริง แต่ที่จริงแล้วแทบไม่เกินจริง | ||
6.ที่ว่า พระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินถูกลดทอนนั้น แน่นอน นี่เป็นเรื่องที่ตั้งใจอยู่แล้ว ดังที่ข้าพเจ้าได้เอ่ยมาแล้ว อำนาจเบ็ดเสร็จนั้นนับวันได้ อ.ส.[20] จึงย่อมลดทอนพระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินในอันที่จะกระทำการโดยพลการจนส่งผลเสียเป็นแน่ แต่ที่แน่ ๆ มิได้ลดทอนพระราชอำนาจในการทำดี ซึ่งในกรณีนี้ อ.ส. ควรสนับสนุนพระองค์อย่างสุดหัวใจจริง ๆ | ||
ข้าพเจ้าเชื่อว่า เหตุผลบางอย่างที่ทำให้ อ.ส. กลายเป็นที่วิจารณ์และเกรงกลัวกันหนักหนาในเวลานี้ คือ ความรู้สึกริษยาในบางแง่ คนไหนที่พระเจ้าแผ่นดินเอาพระทัยใส่ คนนั้นก็ย่อมถูกชังน้ำหน้าเรื่อยไป อ.ส. ยังทำให้อิทธิพลหลังฉากเกิดค่อนข้างยาก เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนจะต้องเดินทะลุฉากถึงห้าชั้นหรือกว่านั้น แทนที่จะเป็นชั้นสองชั้น | ||
ก็เมื่อได้กล่าวถึงคำวิจารณ์บางอย่างที่มีต่ออภิมนตรีสภาในรูปแบบปัจจุบันนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอตั้ง. . . | ||
คำถามที่ห้า | กำหนดให้อภิมนตรีสภามีรูปแบบใดดีที่สุด? คุ้มไหมที่จะให้สภานี้เป็นสถาบันถาวรของประเทศ หรือควรปล่อยให้สภานี้ยุติไปตามยถากรรม? | |
ง) คณะเสนาบดี | ในบทความของท่านใน แอตแลนติกรายเดือน นั้น[21] ท่านได้กล่าวว่า ระบบการปกครองสยามอยู่ในสัดส่วนแยกกันอย่างรัดกุม ข้อนี้จริงแท้แน่นอน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า นี่เป็นเนื้อในของระบบที่ให้เสนาบดีแต่ละคนรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่ละคนย่อมดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของกระทรวงตนฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ได้พยายามจะปรับปรุงเรื่องนี้โดยให้มีประชุมทุกสัปดาห์แล้ว อย่างน้อยเสนาบดีจะพบกันสัปดาห์ละครั้งเพื่อถกเรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน และข้าพเจ้าเห็นว่า มีการกระเตื้องขึ้นจริง ๆ แต่ก็ยังจะดีกว่านี้ได้ถ้าเรามีอัครมหาเสนาบดีมาเป็นประธานคณะเสนาบดี คนผู้นี้ควรได้รับอนุญาตให้มีอิสระพอสมควรในการเลือกเพื่อนร่วมงานของตน เพื่อที่คณะเสนาบดีจะทำงานได้ดีอย่างองค์กรซึ่งมีรากเหง้าเดียวกัน เสนาบดีนั้นพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงตั้งขึ้นหลังจากที่ได้ทรงปรึกษากับมหาเสนาบดี[22] ข้าพเจ้าเชื่อว่า นี่จะเป็นผลประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ส่วนอภิมนตรีสภานั้นก็จะได้ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรควบคุม ข้าพเจ้าได้กำหนดแนวทางสำหรับดำเนินงานภายใต้ระบบนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วนสิ่งที่จะต้องวินิจฉัย ก็คือ ระบบนี้ควรนำมาใช้เลยหรือเอาไว้ก่อน | |
คำถามที่หก | เราควรมีอัครมหาเสนาบดีหรือไม่? ควรเริ่มระบบนี้ตอนนี้เลยหรือไม่? | |
จ) สภานิติบัญญัติ | คำถามเกี่ยวกับการมีสภานิติบัญญัติสักสภานั้นได้ถกกันมาหลายวาระแล้ว ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติประเภทหนึ่งขึ้น[23] สภานี้ประกอบด้วยเสนาบดีแห่งรัฐและสมาชิกที่ทรงแต่งตั้งมาสิบสองคน สภานี้ดำรงอยู่ราวห้าปี และหลังจากนั้นก็เข้ากรุไป กระนั้น สมาชิกบางคนในครั้งนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าเห็นว่า สภานี้ล้มเลิกไปเพราะรู้สึกกันว่า ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องมีสภาเช่นนั้น และสภานี้มีแต่ทำให้งานของเสนาบดีล่าช้า | |
ครั้นพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรมหลวงพิษณุโลกฯ[24] ถวายคำแนะนำให้ทรงก่อตั้งสภาแห่งรัฐ คล้าย ๆ กับที่มีอยู่ในรัสเซียสมัยนั้น (ไม่ได้หมายถึง ดูมา)[25] ข้าพเจ้าเชื่อว่า เรื่องนี้ได้ถกกันในที่ประชุมคณะเสนาบดีแล้ว แต่ก็มิได้ตกลงรับโครงการนี้ เนื่องจากความเห็นของนายเจนส์ เวสเตนการ์ด[26] ที่คิดว่า การนำระบบรัฐสภารูปแบบใด ๆ มาใช้แก้ขัดนั้นไม่ช่วยให้เกิดผลดีอันใด | ||
บัดนี้ กรมพระดำรงฯ[13] ได้เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยข้าราชการที่แต่งตั้งจากทุกกระทรวง ที่จริงสภานี้จะทำงานเหมือนเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายสักคณะ แต่เรามีกรมร่างกฎหมายอยู่แล้ว และข้าพเจ้าไม่มั่นใจว่า สภาที่เสนอมานั้นจะทำงานได้ดีกว่ากัน ความกริ่งเกรงของข้าพเจ้านั้นออกจะไปในทางตรงกันข้าม และสภานี้ก็จะทำให้งานล่าช้าเหมือนกัน นอกจากนั้น สภาอาจพยายามวิจารณ์นโยบายของเสนาบดี และด้วยเหตุที่สมาชิกสภาได้แก่ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งแต่งตั้งมาแต่ชั่ววาระหนึ่ง ระบบนี้จึงอาจไม่ดีนักสำหรับการรักษาวินัย ปัญหาในการสรรหาสมาชิกนั้นก่อความยากลำบากเกี่ยวกับสภาที่มาจากแต่งตั้งดังกล่าวเสมอ ในยามนี้เราไม่มีเงินพอจะจ้างสมาชิก และเราก็ไม่มีทางจะได้สมาชิกที่ไม่รับค่าจ้าง | ||
คำถามที่เจ็ด | เราควรมีสภานิติบัญญัติหรือไม่? องค์ประกอบ[27] ของสภาเช่นว่านั้นควรเป็นเช่นไร? (ข้าพเจ้าได้รับฎีกาหลายฉบับให้จัดตั้งสภาขึ้นสักอย่าง) | |
⟨2.⟩ กิจการคลัง | ||
เกี่ยวกับกิจการคลังนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวมากมาย เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า ตนเองไร้ความสามารถในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เรามีที่ปรึกษาที่เปี่ยมความสามารถอย่างยิ่งอยู่แล้ว คือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด คุก | ||
ปัญหาสำคัญข้อหนึ่ง คือ การปันทรัพยากรที่มีในหมู่กระทรวงต่าง ๆ นั้นให้เหมาะสม ข้าพเจ้าทราบว่า ในความเห็นของท่าน เราใช้เงินมากไปในด้านกองกำลังกลาโหม ข้าพเจ้ามีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับท่านในประการนี้ กระนั้น การตัดงบประมาณด้านกลาโหมเป็นความรับผิดชอบอันหนักอึ้งนัก มีไม่กี่คนที่กล้าหนุนเรื่องเช่นนี้ เพราะเราได้ประสบการณ์มากล้นจากนโยบายอันบ้าบิ่นของเพื่อนบ้านเรา | ||
ข้าพเจ้ากำลังจะยกเครื่องนโยบายการคลังทั้งหมดของเรา แต่ข้าพเจ้าออกจะด้อยเปรียบตรงที่ไม่มีความสามารถในเรื่องนี้เอาเสียเลย | ||
คำถามที่แปด | ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการคลังของเราบ้างไหม? | |
⟨3.⟩ กิจการภายใน | ||
การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ อันอยู่ในความครุ่นคิดของข้าพเจ้า ณ เวลานี้ คือ องค์การของสภาเทศบาล[28] ข้าพเจ้าเห็นว่า เบื้องต้น สภาเหล่านี้ควรมาจากการแต่งตั้ง จากนั้น เราอาจลองเลือกตั้งเทศบาล เรื่องนี้คงจะนำไปสู่แนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเริ่มการปกครองแบบมีผู้แทนสักแบบ เรื่องนี้จะเป็นที่ถูกใจของความคิดหัวก้าวหน้าในประเทศ ทั้งจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ประชาชนพร้อมจริง ๆ หรือยังที่จะมีสิทธิ์มีเสียงในกิจการบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ | ||
คำถามอีกข้อซึ่งข้าพเจ้ามองว่าสำคัญ คือ คำถามเกี่ยวกับจีน ชาวจีนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสยาม ในกาลก่อน เขาสมรสกับหญิงชาวสยามและกลายเป็นพลเมืองที่ดียิ่งของสยาม แต่นับจากการปฏิวัติจีนเป็นต้นมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงพอดู ในสมัยนี้ ชาวจีนพาภริยาของตัวมาจากจีน และตกลงใจจะเป็นจีนต่อไป เขาตั้งโรงเรียนที่ซึ่งการเรียนการสอนเกือบทั้งหมดเป็นภาษาจีนล้วน ๆ เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างชวนวิตก เพราะเราต้องสูญเสียบ่อเกิดพลเมืองที่ดีและอุตสาหะไป ทั้งเมื่อแนวคิดใหม่ ๆ ในจีนหลั่งไหลไปทั่ว ก็ย่อมกลายเป็นภัยแอบแฝง | ||
คำถามที่เก้า | ทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อให้ชาวจีนกลายเป็นชาวสยามเหมือนเมื่อก่อน? (ในนิคมช่องแคบ เขาสมัครใจจะกลายเป็นคนในบังคับบริเตน) | |
เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาทั้งหมดที่เรายังหาทางแก้ไขอันน่าพอใจมิได้ หรือจะตีให้แตกด้วยทางใดจึงจะเหมาะก็ยังกังขาอยู่ ส่วนเรื่องอื่น ๆ กำลังแก้ไขหรือก็ใกล้จะได้แก้ไขแล้ว |
หมายเหตุ
[แก้ไข]- ↑ พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
- ↑ ตาม Dictionary.com (2020a) "constitution" สามารถหมายถึง (1) ระบบระเบียบการบริหารองค์การ ประเทศ ฯลฯ และ (2) เอกสารว่าด้วยระบบระเบียบดังกล่าว นอกเหนือไปจากความหมายอื่น ในที่นี้ เมื่อพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวม และการใช้คำนี้ในส่วนอื่น ๆ แล้ว เห็นว่า ไม่ได้หมายถึงเอกสาร จึงแปลว่า "ระเบียบการปกครอง"
- ↑ ต้นฉบับว่า "elect" ในที่นี้แปลว่า "สมมติ" ตามประเพณี ดังในถ้อยคำว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" (ผู้คนหมู่ต่าง ๆ มาประชุมกันกำหนดขึ้น) หรือ "พระมหาสมมติ" (พระนามกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งตำนานพุทธศาสนาระบุว่า มาจากการที่ผู้คนพร้อมใจกันกำหนดให้เป็น) ทั้งนี้ "สมมติ" มีความหมายตรงตัวว่า ความคิดเห็นเสมอกัน, ความคิดเห็นเท่ากัน ฯลฯ มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สม" (เสมอกัน) + "มติ" (ความคิดเห็น) ส่วนในที่อื่น ๆ จะแปล "elect" ว่า "เลือกตั้ง" ตามปรกติ
- ↑ อาจเรียกว่า "เสนาบดีฝ่ายอาณาจักร" หากเทียบกับถ้อยคำตามประเพณี เช่น ในประกาศยกรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ (ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, 2472, น. 29) มีว่า "ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารและพลเรือน ทั้งพระพุทธจักรและพระราชอาณาจักร ประชุมในพระที่นั่งอนันตสมาคม" ซึ่งจะสอดคล้องกับถ้อยคำในภาษาอังกฤษที่ว่า "minister of state" อันสื่อว่า เป็น minister ฝ่ายรัฐ ตรงกันข้ามกับ "minister of the church" คือ minister ฝ่ายศาสนจักร (หมายถึง ศาสนาจารย์)
- ↑ ดูตัวอย่างการประชุมเช่นนี้เมื่อคราวรัชกาลที่ 4 สวรรคต ใน ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (2472, น. 19–29) และ มหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล), เจ้าพระยา (2490, น. 27–31)
- ↑ เช่น สร้อยพระนามรัชกาลที่ 5 มีว่า "สรรพวิเศษศิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ" (กฎหมายลักษณอาญา, 2451, น. 207)
- ↑ ดู "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467". (2467, 12 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41, ตอน 0 ก. น. 195–213.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
- ↑ รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2486 (อ้างถึงใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.ป.ป.) ว่า "ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์"
- ↑ ต้นฉบับว่า "rediculed" ซึ่งน่าจะพิมพ์ผิดจาก "ridiculed" (เย้ยหยัน ถากถาง ฯลฯ) ในที่นี้แปลเป็น "ridiculed"
- ↑ ต้นฉบับว่า "it if" ซึ่งคงเป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิด ที่ถูกอาจเป็น (1) "as if" หรือ (2) "if" เฉย ๆ ในที่นี้แปลตาม (2)
- ↑ ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรีสภา" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Council of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
- ↑ 13.0 13.1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
- ↑ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
- ↑ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- ↑ ดู พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา (2468, น. 2618–2620)
- ↑ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
- ↑ "grand cross" เป็นชั้นเครื่องอิสริยาภรณ์ แปลตรงตัวว่า มหากางเขน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ป.ป.) ว่า เทียบได้กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยชั้นสายสะพาย
- ↑ ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรี" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Councillor of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
- ↑ "อภิมนตรีสภา" (Supreme Council) หรือชื่อเต็มว่า "อภิรัฐมนตรีสภา" (Supreme Council of State) ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
- ↑ ดู Sayre, F. B. (1926, pp. 841–851)
- ↑ ต้นฉบับใช้ทั้ง "prime minister" และ "premier" ในคำแปลนี้จึงใช้ "อัครมหาเสนาบดี" กับ "prime minister" และ "มหาเสนาบดี" กับ "premier" เพื่อแสดงความแตกต่างทางถ้อยคำเท่านั้น
- ↑ คงหมายถึง สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1236 (พ.ศ. 2417) ราวหกปีหลังรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์
- ↑ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
- ↑ Dictionary.com (2020b): "ดูมา" (duma) สามารถหมายถึง (1) สภาหรือสมัชชาอย่างเป็นทางการในประเทศรัสเซียก่อน ค.ศ. 1917, (2) สภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นสภาล่างในรัฐสภารัสเซีย พระเจ้านิโคลัสที่ 2 ทรงตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1905
- ↑ เจนส์ ไอเวอร์เซน เวสเตนการ์ด (Jens Iversen Westengaard) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Foreign Language Press Survey, 1903)
- ↑ ตาม Dictionary.com (2020a) "constitution" สามารถหมายถึง องค์ประกอบ หรือรูปแบบการบริหาร ก็ได้ (นอกเหนือจากความหมายอื่น ๆ) ในที่นี้เห็นว่า กำลังอภิปรายเรื่ององค์ประกอบสภา มากกว่ารูปแบบการบริหารสภา จึงแปลว่า "องค์ประกอบ"
- ↑ ในที่นี้แปลว่า "องค์การ" เพราะต้นฉบับใช้รูปพหูพจน์ (organizations) แต่อาจเป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิด เพราะควรเป็นรูปเอกพจน์ (organization) อันจะแปลว่า "การจัดระเบียบ"
บรรณานุกรม
[แก้ไข]ต้นฉบับ
[แก้ไข]- ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2545). Memorandum of 27 July 1926. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 167–176). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.
อ้างอิง
[แก้ไข]- "กฎหมายลักษณอาญา". (2451, 1 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25, ฉบับพิเศษ. หน้า 206–287.
- กระทรวงการต่างประเทศ. (ม.ป.ป.). การเขียนชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยในภาคภาษาอังกฤษ. http://www1.mof.go.th/home/mofhistory/cordon2.htm
- ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2472). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 52 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร ครบสัปตมวารณวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2472).
- "พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา". (2468, 28 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 42, ตอน 0 ง. หน้า. 2618–2620.
- มหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล), เจ้าพระยา. (2490). จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร ฉะบับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. [บุตรและธิดาพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพมหาเสวกโท พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) และคุณหญิงอุไทยธรรม (หลี วัชโรทัย) วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2490].
- สุพจน์ ด่านตระกูล. (ม.ป.ป.). ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต. http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-the-death-of-king-ananda/
- Dictionary.com. (2020a). Constitution. https://www.dictionary.com/browse/constitution
- Dictionary.com. (2020b). Duma. https://www.dictionary.com/browse/duma
- Foreign Language Press Survey. (1903, 31 October). Professor Westengaard leaves for Bangkok. https://flps.newberry.org/article/5420780_3_1094
- Sayre, F. B. (1926, June). Siam. The Atlantic Monthly, 841–851. https://www.unz.com/print/AtlanticMonthly-1926jun-00841/