งานแปล:เรื่องเล่าแบบเต็มและเที่ยงตรงถึงการปฏิวัติฯ ในราชอาณาจักรสยามในอินเดียตะวันออก/ตอน 2

จาก วิกิซอร์ซ
อนุทินของเจ้าหน้าที่[1] ฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งปฏิบัติงานอยู่ ณ เมอร์กวี[2] ในบังคับบัญชาของเมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง มีรายละเอียดหลายประการเกี่ยวกับวจนิพนธ์ก่อนหน้านี้
วั นที่ 25 มิถุนายน 1688 ขณะประจำหน้าที่และบังคับบัญชากองทหารสยาม 50 คนอยู่ในป้อมน้อยที่เมอร์กวี ข้าถูกคนของตนเองกุมตัวและจับเป็นนักโทษ แล้วถูกตรึงไว้กับเสาเป็นเวลา 4 วันด้วยโซ่เหล็กที่พันรอบตัวข้า คล้องมือและเท้าข้า

วันที่ 29 ข้าถูกหามออกมาตรวจดูเผื่อข้าจะสามารถทราบและระบุตัวชาวฝรั่งเศสบางคนซึ่งถูกสังหารในช่วงที่เมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง จัดการป้องกันเป็นสามารถอยู่ในป้อมและในตอนที่เขาถอนผู้คนออกจากป้อมแล้วล่าถอยเข้าไปในเรือกำปั่นเสร็จแล้วจึงหลบหนีไป ทั้งนี้ เพราะมีศพราว 13 รายก่ายกองอยู่ตรงนั้น และครั้นข้าบอกเขาทุกสิ่งที่ข้าเห็นว่า สมควรสำหรับเขาในอันที่จะกระจ่างทราบในเรื่องราวนั้นได้แล้ว เหล่าขุนนางซึ่งบังคับบัญชาอยู่ในกองทัพที่ปิดล้อมป้อมก็สั่งให้เอาข้าไปทรมานเพื่อบีบให้ข้าคายและเผยข้อมูลที่ข้ามักได้ฟังมาจากปากของเมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง ว่า การที่เขาได้มาอยู่และบังคับบัญชา ณ เมอร์กวีนั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามมิได้ทรงล่วงรู้เลย และเป็นไปตามคำสั่งของเมอซีเยอกงสต็องส์แต่ผู้เดียว ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ตนได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในประเทศ และเมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง กำลังรอเรือหลายลำพร้อมผู้คน อาวุธ และเครื่องกระสุน มาจากฝรั่งเศส เพื่ออำนวยให้เขาดำเนินตามเจตนานั้นได้อย่างเห็นผลยิ่งขึ้น เขาใช้และไม่หยุดการทรมานแก่ข้าเป็นเวลารวม 4 ชั่วโมง

วันที่ 7 กรกฎาคม เหล่าขุนนางให้ข้าเดินทางไปสยาม[3] พร้อมกับทหารฝรั่งเศสนาม ปีการ์ ซึ่งเคราะห์ร้ายถูกจับเป็นนักโทษในวันเดียวกับที่เมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง ล่าถอยจากเมอร์กวี และแม้เราจะมีกันแค่สองคน และถูกล่ามโซ่กันทั้งคู่ แต่เขาก็ยังกินแหนงแคลงใจในเราจนถึงขั้นที่ต้องเอาทหารกว่า 60 คนมาคุมเราไปที่นั่น

ข้ามายังสยาม[3] ในวันที่ 17 และถูกพาไปละโว้ในวันที่ 19 ที่แรกที่เขาพาข้าเข้าไปเป็นมหาศาลาซึ่งมีพระคลังนั่งอยู่พร้อมขุนนางมากมายรายรอบ พระคลังบังคับบัญชาให้สอบปากคำข้าในเรื่องเมอซีเยอบรูว์อ็องด้วยความเข้มงวดอย่างยิ่ง

เช้าวันถัดมา นักบวชมิชชันนารีผู้หนึ่งซึ่งเผอิญเจอสถานที่ข้าถูกขังเป็นนักโทษอยู่นั้นแจ้งข้าว่า บิชอปแห่งเมเทลโลโพลิส[4] ไปบางกอกแล้วตามคำสั่งอันชัดแจ้งของออกพระเพทราชา เพื่อไปเจรจาสนธิสัญญาหย่าศึกกับเมอซีเยอเด ฟาร์ฌ[5] แม่ทัพของเรา และว่า พวกเขารอฟังผลการบรรลุสนธิสัญญานั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นับแต่ตกอยู่ในเงื้อมมือเขา นี่เป็นครั้งแรกที่ข้ามีเหตุผลดี ๆ สักข้อให้ตั้งตนอยู่บนความหวังว่าจะมีชีวิตรอด เพราะจนถึงบัดนี้ ข้าได้หมดอาลัยตายอยากสิ้นแล้ว

วันที่ 25 ท่านบิชอปกลับคืนมาละโว้พร้อมอำนาจเต็ม[6] จากเมอซีเยอเด ฟาร์ฌ ให้มาทำสนธิสัญญาว่าด้วยการหย่าศึก และนับแต่ยามนั้นสืบมา ออกพระเพทราชาก็เริ่มยุติการประพฤติโหดร้ายต่อชาวฝรั่งเศสและคริสเตียนคนอื่น ๆ ที่อยู่ในอำนาจตน

ในเดือนกรกฎาคม พระเจ้าแผ่นดินสยามเกิดสวรรคต แต่พระอาการที่สวรรคตก็ดี วันอันแน่นอนก็ดี ยังไม่เป็นที่รับทราบ ในวันสิ้นเดือน ออกพระเพทราชาออกเดินทางจากละโว้มายังสยาม ที่ซึ่งเขาได้รับการราชาภิเษกผ่านพิธีอันยิ่งใหญ่และไร้ผู้ใดคัดค้าน วันถัดมาหลังราชาภิเษกแล้ว เขาสั่งปล่อยชาวฝรั่งเศสและอังกฤษทั้งปวงที่อยู่ ณ สยามและละโว้ให้เป็นอิสระ

วันที่ 3 สิงหาคม ข้ามาถึงสยามกับเจ้าหน้าที่[1] ฝรั่งเศสอีก 4 คน คือ เมอซีเยอเดอ แฟร็ตวีย์, เดอ ว็องดรีล, เด การ์ฌ, และเดอ แล็ส

วันที่ 9 ออกพระเพทราชา ซึ่งบัดนี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามแล้ว ส่งเราทั้ง 5 ไปบางกอก มิใช่ไปหาแม่ทัพของเราเองดังที่เราหวัง แต่ไปหาแม่ทัพของเขาที่บังคับบัญชาชาวมลายู ผู้ซึ่งขังเราไว้เป็นนักโทษเกือบเดือน แล้วบรรดาชาวฝรั่งเศสที่ถูกทิ้งไว้ ณ สยามก็ถูกส่งไปอยู่ในอารักขาของเยสุอิตและของหัวหน้าตัวแทนค้าต่าง[7] ในบริษัทพ่อค้าฝรั่งเศสให้คอยรับผิดชอบเขาเหล่านั้น

พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อตัดสินพระทัยจะให้บรรลุการหย่าศึกให้จงได้ ในที่สุดจึงส่งเราไปหาเมอซีเยอเด ฟาร์ฌ ผู้ซึ่งจะไม่รับฟังเรื่องสนธิสัญญาใด ๆ โดยไม่ยอมให้เราได้ประโยชน์จากการได้รับการบรรจุ[8] อยู่ในนั้นด้วย โดยวิธีนี้เอง เราจึงได้รับอิสรภาพ

วันที่ 30 กันยายน มีการบรรลุและลงนามในการหย่าศึก 2 วันให้หลัง เมอซีเยอเด ฟาร์ฌ แม่ทัพของเรา ส่งข้าจากบางกอกไปยังเมอร์กวีให้ไปดูว่า เมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง เป็นตายร้ายดีประการใด และให้ไปแจ้งเขาว่า การหย่าศึกนั้นบรรลุแล้ว พระเจ้าแผ่นดินสยามประทานขุนนางผู้หนึ่งให้ไปกับข้า และจัดหาสิ่งทั้งหลายที่จำเป็นระหว่างการเดินทางนั้นให้ข้าด้วย

วันที่ 12 ตุลาคม ข้าไปถึงเมอร์กวี ข้ามิได้อยู่ที่นั่นนาน เพราะข้าสืบทราบอันใดเกี่ยวกับเมอซีเยอเดอ บรูว์อ็อง มิได้เลย

วันที่ 1 พฤศจิกายน ข้าลงกำปั่นลำน้อยของพระเจ้าแผ่นดินสยาม แล้วล่องไปตามลำน้ำ Tanay, Musavan, และ Sorian ในราชอาณาจักรพะโค คิดว่า จะได้เจอเขาในที่เหล่านี้สักที่ แต่เมื่อไม่พบเขาที่นั่นแล้ว ข้าก็จำต้องผ่านเลยหมู่เกาะ Rey แล้วไปขึ้นฝั่งที่ Seroide ซึ่งข้ารู้ได้ว่า เมอซีเยอ บรูว์อ็อง เข้ามาถึงแล้ว จากร่องรอยบางประการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเศษเสื้อผ้าทหารฝรั่งเศสที่ดูจะถูกทิ้งไว้ตรงนั้นด้วยความมุ่งหมายจะให้เป็นที่สังเกตแก่เราว่า เขาได้ผ่านมาทางนั้นแล้ว

วันที่ 12 พฤศจิกายน ข้ากลับไปเมอร์กวีอีกหน ที่นั่น เมื่อพบเรือของกองทหารหลวงฝรั่งเศสชื่อ เดอะค็อก ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของเมอซีเยอดาร์มาญ็องแล้ว ข้าก็ขึ้นเรือนั้นไปในอีก 2 วันให้หลัง เพื่อเดินทางไปยังพอนดีเชรี ข้าได้รับคำสั่งให้ไปรอท่าเมอซีเยอเด ฟาร์ฌ อยู่ที่นั่น ตามคำบัญชาที่เขาให้ข้าไว้ในคราวแยกจากกันที่บางกอก

จ บ

หมายเหตุ[แก้ไข]

  1. 1.0 1.1 คำว่า "officer" สามารถหมายถึง เจ้าหน้าที่โดยทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ทางทหารชั้นผู้บังคับบัญชา ดังที่ Kersey (1708, น. 454) นิยามว่า "one that is in any Office; In Military Affairs, a Perſon that has ſome Command in the Company, or Troop, he ſerves in" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. เมอร์กวี (Mergui, เอกสารนี้เขียนเป็น Morgen) เป็นชื่อเก่าของมะริด เมืองในประเทศเมียนมาปัจจุบัน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. 3.0 3.1 เอกสารนี้มักเอ่ยว่า มีสยาม และมีละโว้ แสดงว่า ในเอกสารนี้ "สยาม" หมายถึง อยุธยา (ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางของราชอาณาจักรอยุธยา) มากกว่าจะหมายถึงราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. เมเทลโลโพลิสเป็นเขตปกครองในเอเชียน้อย หลุยส์ ลาโน เป็นบิชอปแห่งเขตนั้น (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. เด ฟาร์ฌ นายทหารชาวฝรั่งเศส (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. ในภาษาปัจจุบัน "full powers" หมายถึง หนังสือมอบอำนาจ (ให้เป็นตัวแทนของรัฐไปทำสนธิสัญญา) แต่ในภาษาเก่า "full power" จะมีความหมายเดียวกันหรือไม่ก็ยังสืบค้นไม่ได้ ดังนั้น จึงแปลไปตามตัวอักษรว่า "อำนาจเต็ม" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. ในภาษาเก่า "factor" หมายถึง ผู้ทำการแทนพ่อค้าคนหนึ่งอยู่ในดินแดนโพ้นทะเล หรือผู้ซื้อและขายสินค้าในฐานะที่เป็นทรัสตี (ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการหรือทรัพย์สิน) ของผู้อื่น ดังที่ Kersey (1708, น. 260) นิยามว่า "an Agent for a Merchant beyond Sea" และ Bailey (1730, น. 305) นิยามว่า "one who is an agent for a merchant beyond ſea, one that buys and ſells goods as a truſtee for other perſons" คำว่า "ตัวแทนค้าต่าง" เป็นคำในกฎหมายไทย (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. ในภาษาเก่า "comprehend" แปลว่า (1) บรรจุไว้ ใส่ไว้ (2) เข้าใจ รับรู้ ดังที่ Kersey (1708, น. 185) นิยามว่า "to contain or include; to underſtand, perceive, or have the knowledge of" คำว่า "comprehend" ในที่นี้ไม่มีทางแปลตาม (2) ได้ เพราะ "comprehend" เป็นสกรรมกริยา (กริยาที่ต้องมีกรรมรองรับ) และกรรมตาม (2) คือ สิ่งที่จะเข้าใจหรือรับรู้ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ สนธิสัญญา แต่ในประโยคข้างต้น กรรม คือ เรา ดังนั้น จึงแปลตาม (1) ได้แต่ประการเดียว คือ แปลว่า ใส่เราไว้ในสนธิสัญญาด้วย ซึ่งหมายความว่า ให้สนธิสัญญามีเนื้อหาเกี่ยวกับเราด้วย และเนื้อหาในที่นี้ ก็คือ เนื้อหาที่กำหนดให้ปล่อยเราเป็นอิสระ ดังบ่งบอกไว้ในข้อความถัดมาที่ว่า "โดยวิธีนี้เอง เราจึงได้รับอิสรภาพ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

บรรณานุกรม[แก้ไข]