ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/การค้าเสรี/บทนำ

จาก วิกิซอร์ซ
การค้าเสรี โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทนำโดย ฟรีดริช เอ็งเงิลส์

บทนำ

ถึงปลายปี 1847 มีงานประชุมการค้าเสรีจัดขึ้นที่บรัสเซลส์ หนึ่งในกลยุทธ์รณรงค์การค้าเสรีที่ดำเนินโดยเจ้าของโรงงานอังกฤษ ผู้ที่สามารถเอาชนะนัดเหย้าด้วยการยกเลิกกฎหมายข้าวในปี 1846 บัดนี้พวกเขามาเยือนแผ่นดินใหญ่ เรียกร้องให้ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าประดิษฐกรรมจากอังกฤษ แลกกับอังกฤษยกเว้นอากรข้าวจากแผ่นดินใหญ่ ที่การประชุมครั้งนี้ มาคส์ลงชื่อเป็นผู้บรรยายไว้ แต่ไม่ผิดคาด ตารางจัดให้กว่าจะถึงตาเขางานก็จบลงแล้ว มาคส์จึงต้องนำเนื้อหาที่เตรียมไว้พูดเกี่ยวกับการค้าเสรีมาปราศรัยต่อหน้าสมาคมประชาธิปไตยบรัสเซลส์แทน ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่เป็นรองประธานอยู่

คำถามระหว่างการค้าเสรีกับการคุ้มครอง ปัจจุบันเป็นวาระสำคัญที่อเมริกา มีคนคิดว่าคำปราศรัยของมาคส์จะเป็นประโยชน์หากแปลเป็นอังกฤษ และมีคนขอให้ผมเขียนคำนำให้มา ณ โอกาสนี้

“ระบบการคุ้มครอง” มาคส์กล่าว[1] “เป็นปัจจัยเทียมสำหรับผลิตผู้ผลิต สำหรับริบทรัพย์กรรมกรอิสระ สำหรับแปลงปัจจัยการผลิตและยังชีพของชาติเป็นทุน และสำหรับบังคับย่นเวลาเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตยุคโบราณไปเป็นสมัยใหม่” ตอนกำเนิดในศตวรรษที่สิบเจ็ด การคุ้มครองเป็นเช่นนี้ จนค่อนศตวรรษที่สิบเก้าก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ณ เวลานั้น ประเทศศิวิไลซ์ในยุโรปตะวันตกแห่งใดล้วนถือเป็นนโยบายปกติ ยกเว้นเพียงรัฐจิ๋วต่าง ๆ ในเยอรมนีกับสวิตเซอร์แลนด์——ไม่ใช่ว่าไม่ชอบระบบนี้ แต่เพราะด้วยอาณาเขตขนาดย่อมปานนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับใช้

ภายใต้อ้อมปีกของการคุ้มครอง ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่——การผลิตด้วยเครื่องจักรไอน้ำ——ฟักตัวและเติบโตที่อังกฤษในระยะเวลาหนึ่งในสามสุดท้ายของศตวรรษที่สิบแปด และหากกำแพงภาษียังไม่พอ สงครามต่อต้านปฏิวัติฝรั่งเศสก็ได้ช่วยประเทศอังกฤษกระชับการผูกขาดกระบวนการอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เรือรบอังกฤษตัดขาดประเทศคู่แข่งทางอุตสาหกรรมของอังกฤษจากตลาดอาณานิคมของตัวเองนานกว่ายี่สิบปี ในขณะเดียวกันยังบังคับให้ตลาดเหล่านี้เปิดรับการค้าขายกับอังกฤษ อาณานิคมในอเมริกาใต้ที่แยกตัวจากการปกครองจากประเทศแม่ในยุโรป อาณานิคมฝรั่งเศสและดัตช์ทุกแห่งที่อังกฤษคิดว่าคุ้มเข้ายึดครอง อินเดียที่ทยอยโดนกำราบ ผู้คนในดินแดนไพศาลเหล่านี้กลายเป็นลูกค้าของสินค้าอังกฤษไปเสียหมด ประเทศอังกฤษเสริมมาตรการคุ้มครองที่บ้านด้วยการยัดเยียดการค้าเสรีใส่ลูกค้าที่มีศักยภาพในต่างเมือง นับเป็นบุญคุณของระบบสองระบบที่ผสมผสานกันอย่างสำราญ ที่เมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 1815 จะได้พบว่า ตนได้รับการผูกขาดการค้าโลกในอุตสาหกรรมที่สำคัญทุกสาขาโดยแท้จริงมาอยู่ในครอบครอง

ในปีสันติถัดจากนั้น การผูกขาดยิ่งขยายตัวและแข็งแรงขึ้น ความล้ำหน้าที่อังกฤษได้มาในช่วงสงครามเพิ่มขึ้นปีต่อปี ยิ่งทิ้งห่างคู่แข่งทั้งหมดที่พอสู้ได้ การส่งออกสินค้าประดิษฐกรรมให้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นปัญหาความเป็นความตายของประเทศ ปรากฏอุปสรรคขวางทางอยู่สองอย่าง: กฎหมายคุ้มครองหรือห้ามของประเทศอื่น กับอากรนำเข้าวัตถุดิบและอาหารของอังกฤษ

ลัทธิการค้าเสรีของเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก——ของธรรมชาตินิยมฝรั่งเศส กับผู้รับช่วงต่อชาวอังกฤษเช่นอดัม สมิธ และริคาร์โด——กลับกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาในแผ่นดินจอห์น บุลล์ การคุ้มครองในประเทศไร้ประโยชน์สำหรับเจ้าของโรงงานผู้เอาชนะคู่แข่งต่างชาติได้หมดแล้ว ผู้ซึ่งชีวิตเดิมพันกับการขยายตัวการส่งออก การคุ้มครองเป็นคุณแก่ผู้ผลิตอาหารและวัตถุดิบอื่น ๆ เท่านั้น คือภาคการเกษตร ที่อังกฤษสมัยนั้นหมายถึงผู้รับค่าเช่า ขุนนางเจ้าที่ดิน การคุ้มครองแบบนี้เป็นโทษต่อเจ้าของโรงงาน เมื่อเก็บภาษีวัตถุดิบ สินค้าที่ใช้มันผลิตก็ราคาสูงขึ้น เมื่อเก็บภาษีอาหาร ราคาแรงงานก็สูงขึ้น ในทั้งสองกรณี ทำให้เจ้าของโรงงานอังกฤษเสียเปรียบเทียบกับคู่แข่งต่างชาติ และเพราะประเทศอื่นส่งผลผลิตการเกษตรขายอังกฤษเป็นหลัก และซื้อสินค้าประดิษฐกรรมจากอังกฤษเป็นหลัก การเลิกคุ้มครองทางภาษีข้าวและวัตถุดิบของอังกฤษ ในขณะเดียวกัน เป็นคำขอให้ต่างประเทศเลิกหรืออย่างน้อยให้ลดอากรขาเข้าที่เรียกเก็บจากผู้ผลิตอังกฤษเป็นการแลกเปลี่ยน

หลังต่อสู้อย่างหนักหน่วงและยาวนาน นายทุนอุตสาหกรรมอังกฤษ ที่ในความเป็นจริงเป็นชนชั้นนำของประเทศอยู่แล้ว ที่ผลประโยชน์ของชนชั้นนั้นเป็นผลประโยชน์สูงสุดของชาติ ก็ได้ชัย ขุนนางเจ้าที่ดินจำยอม อากรข้าวและวัตถุดิบเลิกแล้ว การค้าเสรีกลายเป็นคำขวัญ ภารกิจถัดไปของเจ้าของโรงงานอังกฤษและกระบอกเสียงของเขา เหล่านักเศรษฐศาสตร์การเมือง คือการเปลี่ยนใจประเทศอื่นทั้งหมดให้เลื่อมใสในข่าวประเสริฐการค้าเสรี แล้วสร้างโลกที่อังกฤษเป็นศูนย์กลางใหญ่ของอุตสาหกรรม และประเทศที่เหลือเป็นเขตเกษตรกรรมในภาวะพึ่งพิง

ตอนนั้นเป็นงานประชุมที่บรัสเซลส์ ตอนที่มาคส์เตรียมปราศรัยเรื่องดังกล่าว มาคส์ยอมรับว่าการคุ้มครองอาจยังเป็นคุณแก่นายทุนอุตสาหกรรมในบางสถานการณ์ เช่นเยอรมนีในปี 1847 แต่ยังได้พิสูจน์ว่าการค้าเสรีมิใช่ยาครอบจักรวาลที่สามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายซึ่งชนชั้นแรงงานต้องประสบได้จนหมด และอาจทำให้กำเริบเสียอีก แต่สุดท้าย มาคส์ตัดสิน ในหลักการ ว่าจะสนับสนุนการค้าเสรี สำหรับเขาแล้ว การค้าเสรีเป็นเงื่อนไขปกติของการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่ พลังการผลิตของไอน้ำ ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลจะพัฒนาถึงขีดสุดได้ภายใต้การค้าเสรีเท่านั้น และยิ่งพัฒนาเร็วเท่าใด ผลลัพธ์ที่เลี่ยงไม่ได้จะยิ่งเผยตัวออกมาอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้า สังคมจะแบ่งออกเป็นสองชนชั้น นายทุนฝั่งนี้ แรงงานรับจ้างฝั่งนั้น ความรวยตกทอดฝั่งนี้ ความจนตกทอดฝั่งนั้น อุปทานที่ล้ำหน้าอุปสงค์ ตลาดจะไม่สามารถดูดซับมวลการผลิตอุตสาหกรรมที่เติบโตไม่หยุด วัฎจักรแห่งความรุ่งโรจน์ ละโมบ วิกฤต ตระหนก ตกต่ำเรื้อรัง และการทยอยฟื้นฟูการค้าขายที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่สิ้น ใช่เป็นลางของการปรับปรุงถาวร แต่ของการผลิตล้นเกินและวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ โดยย่อว่า พลังการผลิตที่ขยายตัวจนถึงจุดที่มันก่อกบฏต่อต้านสถาบันสังคมที่ขับเคลื่อนมันเอง เหมือนโซ่ตรวนสุดเหลือทน มีทางออกที่เป็นไปได้ทางเดียวเท่านั้น: การปฏิวัติสังคม ที่จะปลดโซ่พันธนาการพลังการผลิตทางสังคมจากระเบียบสังคมที่ล้าสมัย และผู้ผลิตที่แท้จริง มวลมหาประชาชน จากระบบทาสค้าจ้าง ในเมื่อการค้าเสรีคือบรรยากาศปกติธรรมชาติของวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์นี้ คือตัวกลางทางเศรษฐกิจที่จะสร้างเงื่อนไขสำหรับการปฏิวัติสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ได้อย่างเร็วที่สุด——ด้วยเหตุนี้ และด้วยเหตุนี้เท่านั้น มาคส์ประกาศหนุนการค้าเสรี

อย่างไรก็ดี ในปีต่อมาหลังจากชัยชนะของการค้าเสรีในอังกฤษ ดูจะพิสูจน์ความคาดหมายถึงความรุ่งโรจน์ที่จะตามมาแม้เกินจริงที่สุด การค้าอังกฤษสูงขึ้นอย่างเหลือเชื่อ การผูกขาดอุตสาหกรรมของอังกฤษในตลาดโลกดูมั่นคงแข็งแรงกว่าเคย โรงหลอมเหล็กใหม่ โรงงานทอผ้าใหม่ ปลูกกันเหมือนขายเหมา อุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ งอกเงยทั่วทุกหนทุกแห่ง แน่นอนว่าเกิดวิกฤตรุนแรงในปี 1857 แต่ผ่านมาได้ การค้าและอุตสาหกรรมเดินหน้าอีกครั้งเต็มอัตรา กระทั่งปี 1866 เกิดความตื่นตระหนกครั้งใหม่ ครั้งนี้ ดูเบนออกจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

อุตสาหกรรมและการค้าอังกฤษที่แกว่งขึ้นอย่างไร้เทียมทานระหว่างปี 1848 ถึง 1866 ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่แล้วมีเหตุจากการกำจัดการคุ้มครองทางภาษีของอาหารและวัตถุดิบ แต่มิใช่โดยลำพัง ในเวลาเดียวกันนั้นเอง เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยเสริม ช่วงปีดังกล่าว มีการค้บพบและทำเหมืองทองที่แคลิฟอร์เนียและออสเตรเลีย ซึ่งได้เพิ่มปริมาณของปัจจัยการแลกเปลี่ยนในตลาดโลกอย่างมหาศาล และเป็นหมุดหมายแห่งชัยชนะสุดท้ายของพลังไอน้ำเหนือปัจจัยการขนส่งทั้งปวง บนสมุทร เรือกลไฟมาแทนเรือสำเภา บนบก ในทุกอารยประเทศ รถไฟเป็นเอก ถนนลาดยางเป็นรอง การขนส่งเร็วขึ้นสี่เท่า ถูกลงสี่เท่า ในสภาพแวดล้อมน่าโปรดปรานเช่นนี้ ไม่แปลกที่อุตสาหกรรมอังกฤษซึ่งทำงานด้วยไอน้ำสามารถแผ่ขยายอำนาจอิทธิพล แลกด้วยอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้แรงงานมือ แต่ประเทศอื่นเขานิ่งดูดาย ศิโรราบรับการเปลี่ยนแปลงที่ลดทอนเขาเหลือเพียงแขนขาดำนาทำไร่ให้อังกฤษ ผู้เป็น “โรงงานของโลก” อย่างนั้นหรือ?

ต่างประเทศไม่มีใครทำเช่นนั้นเลย ฝรั่งเศสบังอุตสาหกรรมอยู่หลังม่านกำแพงเมืองจีนของภาษีคุ้มครองและข้อห้ามกว่าสองร้อยปี และสัมฤทธิ์ความหรูหราและรสนิยมที่เหนือกว่าในแบบที่อังกฤษมิบังอาจแม้แสร้งท้าทาย สวิตเซอร์แลนด์ภายใต้การค้าเสรีสมบูรณ์แบบครอบครองอุตสาหกรรมที่สำคัญพอตัวซึ่งคู่แข่งอังกฤษมิบังอาจแม้จะแตะต้อง เยอรมนีด้วยพิกัดอัตราศุลกากรที่เสรียิ่งกว่ามหาประเทศใด ๆ บนแผ่นดินใหญ่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้รวดเร็วยิ่งกว่าอังกฤษ และด้วยสงครามกลางเมืองปี 1861 อเมริกาต้องหันมาพึ่งทรัพยากรของตนอย่างกะทันหัน และต้องหาปัจจัยมาสนองอุปสงค์สินค้าประดิษฐกรรมนานาชนิดโดยฉับพลัน และสามารถด้วยการสร้างอุตสาหกรรมในประเทศเป็นของตนเองเท่านั้น อุปสงค์ช่วงสงครามยุติพร้อมสงคราม แต่อุตสาหกรรมใหม่ยังอยู่ และต้องเจอกับคู่แข่งอังกฤษ สำนึกว่าประชาชาติสามสิบห้าล้านคน ที่เพิ่มขึ้นสองเท่าในสี่สิบปีเป็นอย่างมาก เพียบพร้อมด้วยทรัพยากรมหาศาล แวดล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่จะทำเกษตรเป็นหลักไปต่ออีกหลายปี สำนึกว่าสินค้าบริโภคหลักในชาตินั้นมี “เทพลิขิต” ที่จะเป็นอิสระจากอุตสาหกรรมต่างชาติ และที่จะเป็นเช่นนั้นทั้งในยามสันติและยามสงคราม สำนึกเหล่านี้ในอเมริกาสุกงอมแล้วจากสงคราม ครั้นแล้วอเมริกาก็ตั้งกำแพงภาษี

ประมาณสิบห้าปีที่แล้ว ผมนั่งรถไฟพร้อมกับพ่อค้าชาวเมืองกลาสโกว์ผู้หลักแหลมท่านหนึ่ง เขาน่าจะสนใจเรื่องการค้าเหล็ก พอคุยถึงเรื่องอเมริกา เขาเริ่มชโลมผมด้วยภาษิตการค้าเสรีที่ชินหู: “ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมประเทศที่เต็มไปด้วยนักธุรกิจหัวไวอย่างอเมริกาจะต้องส่งบรรณาการให้โรงหลอมโรงตีเหล็กในประเทศด้วย ในเมื่อของแบบเดียวกัน หรือดีกว่าด้วยซ้ำ ถ้าซื้อจากประเทศเราจะถูกกว่าอีก?” แล้วเขายกตัวอย่างมาว่าชาวอเมริกันเก็บภาษีตัวเองตั้งเท่าไหร่เพื่อให้เจ้าของโรงหลอมโลภมากไม่กี่คนร่ำรวย “ก็นะ” ผมตอบไป “ผมคิดว่าคำถามนี้มีอีกด้าน ท่านรู้หรือเปล่าว่าจะเป็นถ่านหิน พลังน้ำ เหล็ก สินแร่ อาหารไม่แพง ฝ้ายพันธุ์พื้นถิ่น หรือวัตถุดิบใด ๆ อเมริกามีทั้งทรัพยากรและข้อได้เปรียบที่ประเทศยุโรปไหนก็เทียบไม่ติด ทรัพยากรพวกนี้พัฒนาได้ไม่สุดหรอกครับ ถ้าอเมริกาไม่กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ท่านต้องยอมรับ ทุกวันนี้ ประเทศใหญ่อย่างอเมริกาอยู่ไม่ได้ด้วยการเกษตรอย่างเดียว อย่างนั้นไม่ต่างจากต้องคำสาปให้ป่าเถื่อนและด้อยพัฒนาตลอดไป ยุคนี้ไม่มีประเทศไหนอยู่ได้หรอกครับ ถ้าไม่มีอุตสาหกรรมของตัวเอง แล้วถ้าอเมริกาต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรม และถ้าจะมีโอกาสทัดเทียมหรือแม้แต่แซงหน้าคู่แข่ง ก็มีทางเลือกอยู่สองทาง: จะทำการค้าเสรีต่อไปอีก สมมุติว่าห้าสิบปี แล้วทำสงครามแข่งขันกับอุตสาหกรรมอังกฤษที่เกิดมาก่อนเกือบร้อยปี ซึ่งจะสิ้นเปลืองมาก หรือว่าจะปิดกั้นอุตสาหกรรมอังกฤษด้วยกำแพงภาษี สมมุติว่ายี่สิบห้าปี แล้วพอถึงตอนจบ ซึ่งแน่นอนแทบถึงที่สุด จะสามารถรักษาที่ทางของตนในตลาดเปิดโลกได้ ทางไหนถูกและสั้นที่สุดล่ะครับ? นั่นคือคำถาม ถ้าท่านอยากไปลอนดอนจากกลาสโกว์ ท่านจะนั่งรถไฟหวานเย็นบริการสังคม ไมล์ละเพนนี คลานชั่วโมงละสิบสองไมล์ก็ได้ แต่ท่านก็ไม่ เวลามีค่า ท่านซื้อตั๋วรถด่วน ไมล์ละสองเพนซ์ สี่สิบไมล์ต่อชั่วโมง แน่ล่ะครับ อเมริกันชนเขานิยมจ่ายราคารถด่วนและถึงด้วยความเร็วรถด่วน” พ่อค้าเสรีชาวสกอตตอบไม่ออก

การคุ้มครอง เพราะเป็นปัจจัยเทียมสำหรับผลิตผู้ผลิต จึงไม่เพียงดูมีประโยชน์ต่อชนชั้นนายทุนที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ซึ่งยังต้องต้องต่อกรกับระบอบศักดินาอยู่เท่านั้น แต่ยังจะอุ้มชนชั้นนายทุนกำลังโตในประเทศที่ไม่เคยพบระบอบศักดินาอย่างอเมริกา แต่กลับพัฒนามาถึงจุดนั้นเนื่องด้วยความจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมมายังอุตสาหกรรม ในสถานการณ์เช่นนี้ อเมริกาตัดสินใจเลือกการคุ้มครอง นับจากนั้นมา ยี่สิบกับอีกห้าปีผ่านไปจากตอนที่ผมได้สนทนากับเพื่อนร่วมทาง และหากผมพูดไม่ผิด การคุ้มครองทำภารกิจให้อเมริกาสำเร็จแล้ว และบัดนี้ก็จะกลายเป็นเหตุรำคาญ

ผมมีทัศนะนี้มาเป็นเวลาหนึ่ง ประมาณสองปีก่อน ผมบอกกับชาวอเมริกันที่สนับสนุนการคุ้มครองผู้หนึ่ง “ผมแน่ใจว่าถ้าอเมริกาหันมาทำการค้าเสรี สิบปีก็เอาชนะอังกฤษในตลาดโลกได้แล้ว”

อย่างดีที่สุด การคุ้มครองเป็นเกลียวตัวหนอน ไม่รู้จะจบตรงไหน เมื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็ทำร้ายอุตสาหกรรมอื่นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เลยต้องคุ้มครองพวกเขาด้วย ทำแบบนี้ก็ทำร้ายอุตสาหกรรมแรกอีก ก็ต้องชดเชย แต่การชดเชยก็ส่งผลต่อสาขาอื่นทั้งหมด ทำให้มีสิทธิขอชดเชยต่อ และต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ในแง่นี้ อเมริกาเป็นแบบอย่างที่น่าทึ่งของการฆ่าอุตสาหกรรมสำคัญด้วยการคุ้มครอง ในปี 1856 ปริมาณการนำเข้าส่งออกทางเรือของสหรัฐมีรวม $641,604,850 ในปริมาณนี้ ร้อยละ 75.2 บรรทุกบนเรืออเมริกัน อีกเพียงร้อยละ 24.8 บรรทุกบนเรือต่างชาติ แม้แต่ตอนนั้น เรือกลไฟเดินสมุทรของอังกฤษก็เริ่มรุกล้ำเรือกำปั่นใบอเมริกันแล้ว ถึงอย่างนั้น ในปี 1860 ปริมาณการค้าทางเรือรวม $762,288,550 เรืออเมริกันยังบรรทุกร้อยละ 66.5 เมื่อมีสงครามกลางเมือง และมีการคุ้มครองอุตสาหกรรมต่อเรืออเมริกัน แผนการนี้ประสบผลสำเร็จมากจนธงอเมริกันเกือบหายไปจากทะเลหลวงเสียหมด ในปี 1887 ปริมาณการค้าทางเรือของสหรัฐรวม $1,408,502,979 ทั้งหมดนี้มีเพียงร้อยละ 13.80 ที่บรรทุกบนเรืออเมริกัน อีกร้อยละ 86.20 บนเรือต่างชาติ สินค้าบนเรืออเมริกันในปี 1856 รวม $482,268,275 ในปี 1860 รวม $507,274,757 ในปี 1887 จมดิ่งเหลือ $194,356,746[2] สี่สิบปีที่แล้ว ธงอเมริกันเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของธงอังกฤษ และมีแนวโน้มจะแซงบนมหาสมุทร ตอนนี้ไปอยู่ไหนแล้วไม่ทราบ การคุ้มครองอุตสาหกรรมต่อเรือฆ่าทั้งการขนส่งทางเรือและการต่อเรือ

อีกประการหนึ่ง วิธีการผลิตทุกวันนี้พัฒนาไล่ตามกันเร็วมาก และหน้าตาของอุตสาหกรรมตลอดทั้งสาขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้ในฉับพลัน จนการคุ้มครองทางภาษีที่ดูสมดุลพอควรเมื่อวาน มาวันนี้ก็ไม่แล้ว ยกตัวอย่างอีกกรณีจากรายงานของรัฐมนตรีคลังปี 1887:

“การพัฒนาเครื่องจักรกลที่ใช้ในการหวีขนแกะในช่วงปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนคุณลักษณะของสินค้าที่มีชื่อทางการค้าว่าผ้าวุสเตดไปมาก จนสามารถแทนที่ผ้าขนแกะในการใช้งานเป็นเครื่องแต่งกายบุรุษได้เป็นส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงนี้ . . . ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผู้ผลิตสินค้า (ผ้าวุสเตด) เหล่านี้ในประเทศ เพราะอากรขาเข้าของขนแกะที่ต้องใช้ผลิตสินค้านั้นเท่ากับของขนแกะที่ใช้ผลิตผ้าขนแกะ ในขณะที่พิกัดอัตราอากรขาเข้าของผ้าขนแกะมูลค่าไม่เกิน 80 เซนต์ต่อปอนด์เท่ากับ 35 เซนต์ต่อปอนด์และร้อยละ 35 ตามราคา พิกัดอัตราอากรขาเข้าของผ้าวุสเตดมูลค่าไม่เกิน 80 เซนต์ อยู่ระหว่าง 10 ถึง 24 เซนต์ต่อปอนด์และร้อยละ 35 ตามราคา ในบางกรณี อากรของขนแกะที่ใช้ทำผ้าวุสเตดมากกว่าอากรของสินค้าสำเร็จรูป” ดังนั้น การคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศเมื่อวาน วันนี้กลายเป็นอัตรานำเข้าพิเศษของต่างชาติ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจกล่าวว่า “มีเหตุผลเพียงพอให้เชื่อได้ว่า อุตสาหกรรมผลิตผ้าวุสเตดในประเทศนี้ไม่ช้าจะยุติ จนกว่าจะแก้ไขกฎหมายพิกัดอัตราศุลกากร” (หน้า xix) แต่หากจะแก้ ก็ต้องสู้กับผู้ผลิตผ้าขนแกะผู้ได้กำไรจากสถานการณ์นี้เสียก่อน ต้องเริ่มรณรงค์รวบรวมเสียงส่วนใหญ่จากทั้งสองสภาให้ได้ และสุดท้าย ต้องโน้มน้าวมติมหาชนให้เห็นตาม คำถามคือ คุ้มไหม?

แต่ความเลวที่สุดของการคุ้มครองคือ พอมีแล้วกำจัดยาก การปรับอากรให้เที่ยงธรรมยากเท่าใด การหันกลับหาการค้าเสรียิ่งยากเย็นแสนเข็ญ บริบทที่ได้อนุญาตให้อังกฤษเปลี่ยนไปภายในไม่กี่ปีจะไม่เกิดขึ้นอีก และแม้ที่นั่นเองก็ต่อสู้มาตั้งแต่ปี 1823 (ฮัสกิสสัน) เริ่มจะสำเร็จในปี 1842 (พิกัดอัตราของพีล) และดำเนินต่อไปอีกหลายปีกระทั่งยกเลิกกฎหมายข้าว แล้วการคุ้มครองอุตสาหกรรมผ้าไหม (อันเดียวที่ยังกลัวคู่แข่งต่างชาติ) ถูกต่ออายุไปอีกหลายปี และยังได้รับการอุดหนุนอีกทางที่ฉาวโฉ่ทีเดียว ขณะที่ พรบ. โรงงานซึ่งจำกัดชั่วโมงทำงานของผู้หญิง เยาวชน และเด็กบังคับใช้กับอุตสาหกรรมสิ่งทออื่นทั้งหมด อุตสาหกรรมผ้าไหมได้รับข้อยกเว้นจากกฎทั่วไปมากเป็นพิเศษ ทำให้จ้างเด็กได้เด็กลง และจ้างเด็กได้มากชั่วโมงกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทออื่น การผูกขาดของคู่แข่งต่างชาติที่พวกพ่อค้าเสรีหน้าไหว้หลังหลอกยกเลิกนั้น การผูกขาดที่จ่ายด้วยสุขภาพและชีวิตของเด็กอังกฤษเขาสร้างขึ้นใหม่

แต่จะไม่มีประเทศใดอีกแล้วซึ่งสามารถเปลี่ยนผ่านจากการคุ้มครองไปสู่การค้าเสรีทันทีที่อุตสาหกรรมทุกสาขาสามารถท้าทายคู่แข่งต่างชาติในตลาดเปิดได้ และจะจำเป็นต้องเปลี่ยนนานก่อนมีสิทธิ์ให้คิดหวังถึงสภาวะน่ายินดีนั้นอีก ความจำเป็นจะปรากฏชัดในแต่ละอุตสาหกรรมในแต่ละโอกาส ความขัดแย้งของผลประโยชน์ธุรกิจจะก่อกำเนิดการวิวาทสั่งสอน การซ่องสุมวิ่งเต้น และการสมคบคิดกันในรัฐสภา ช่างเครื่อง วิศวกร และช่างต่อเรืออาจคิดว่าสินค้าของเขาราคาสูงขึ้นจนส่งออกไม่ได้ เพราะเหตุผลเดียว เพราะการคุ้มครองที่ให้กับช่างเหล็ก ผู้ผลิตผ้าฝ้ายอาจเห็นช่องตีตลาดผ้าดิบในจีนและอินเดีย แต่เขาต้องจ่ายค่าด้ายแพง ๆ เพราะการคุ้มครองธุรกิจปั่นด้าย ฯลฯ ทันทีที่อุตสาหกรรมระดับชาติสาขาหนึ่งสามารถครองตลาดในประเทศได้แล้ว การส่งออกกลายเป็นสิ่งจำเป็น ภายใต้เงื่อนไขทุนนิยม อุตสาหกรรมไม่ขยายตัวก็ต้องเหี่ยวเฉา อยู่กับที่ไม่ได้ เมื่อหยุดขยายก็เค้าหายนะ ความรุดหน้าของสิ่งประดิษฐ์กลและเคมี ที่แซงหน้าแรงงานมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ ที่เพิ่มพูนและควบแน่นทุนอย่างไม่หยุดยั้ง จะผลิตความตะกละทั้งของคนงานและนายทุนในอุตสาหกรรมที่ซบเซา ความตะกละซึ่งไร้รูระบาย เพราะกระบวนการเดียวกันนี้เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการเดินทางจากอุตสาหกรรมในประเทศสู่การส่งออกกลายเป็นปัญหาความเป็นความตายของอุตสาหกรรมนั้น แต่กลับต้องเผชิญกับสิทธิที่มีอยู่แล้ว ผลประโยชน์ที่ฝังรากลึกของผู้ที่ยังปลอดภัยกว่าและได้กำไรสูงกว่าใต้การคุ้มครองมากกว่าใต้การค้าเสรี แล้วจะตามต่อด้วยการต่อสู้ดื้อดึงแสนยาวนานระหว่างผู้นิยมการค้าเสรีกับการคุ้มครอง การต่อสู้ที่ทั้งสองฝ่ายจะถูกพรากบทบาทนำไป จากมือของผู้ถือผลประโยชน์โดยตรงสู่มือของนักการเมืองมืออาชีพ ผู้ชักใยเบื้องหลังพรรคการเมืองจารีต ผู้ซึ่งผลประโยชน์มิใช่การหาข้อยุติของคำถามนี้ แต่คือการปล่อยให้ปลายเปิดตลอดไป ผลจากเวลา พลังงาน และเงินที่สูญไปมหาศาล คือการประนีประนอม เป็นคุณกับฝั่งหนึ่งบ้าง อีกฝั่งบ้าง ค่อย ๆ ลอยเลื่อนสู่ทิศทางการค้าเสรี แม้ไม่สง่านัก——เว้นแต่ว่าในระหว่างนั้น การคุ้มครองจะทำให้ประชาชาติมิอาจทนสนับสนุนตัวมันต่อได้อีกแล้ว ซึ่งดูท่าจะเป็นเช่นนั้นในอเมริกา

ทว่ามีการคุ้มครองอีกประเภทหนึ่งซึ่งเลวกว่าแบบไหน เช่นที่ปรากฏในเยอรมนี หลังปี 1815 ไม่นาน เยอรมนีเริ่มรู้สึกถึงความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม แต่เงื่อนไขแรกคือการสร้างตลาดในประเทศ ผ่านการกำจัดด่านศุลกากรและกฎหมายภาษีอากรนับไม่ถ้วนของรัฐจิ๋วทั้งหลายในเยอรมนี คือการก่อตั้งสหภาพศุลกากรเยอรมันหรือซ็อลแฟร์ไอน์ ซึ่งทำได้โดยอาศัยพิกัดอัตราแบบเสรีนิยมเท่านั้น ออกแบบมาเพื่อเพิ่มรายได้ส่วนกลางมากกว่าเพื่อคุัมกันอุตสาหกรรม ไม่มีเงื่อนไขอื่นเลยที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้รัฐขนาดเล็กเข้าร่วม พิกัดอัตราใหม่ของสหภาพศุลกากร ถึงแม้จะคุ้มครองอุตสาหกรรมบ้างเล็กน้อย ในช่วงเริ่มออกใช้กลับกลายเป็นต้นแบบของกฎหมายการค้าเสรี และยังคงสถานะนั้น แม้ว่านับแต่ปี 1830 นักอุตสาหกรรมเยอรมันส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการคุ้มครองอยู่เนือง ๆ ถึงกระนั้น แม้ด้วยพิกัดอัตราอย่างเสรีสุดขีด หรือการแข่งขันจากอุตสาหกรรมพลังไอน้ำอังกฤษที่บดขยี้อุตสาหกรรมพลังมือเยอรมันอย่างไร้ปรานีก็ตามที เยอรมนีทยอยเปลี่ยนผ่านจากแรงงานมือสู่เครื่องจักรกลทีละเล็กทีละน้อย ตราบจนบัดนี้แทบสมบูรณ์แบบแล้ว เยอรมนีเดินหน้าเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมในอัตราเดียวกัน เอื้อโดยเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 1866: การสถาปนารัฐบาลกลางและสภานิติบัญญัติสหพันธ์ที่เข้มแข็ง เพื่อรับรองเอกภาพของกฎหมายควบคุมการค้า อีกทั้งเอกภาพของเงินตรา หน่วยชั่ง และหน่วยวัด และสุดท้ายคือการได้รับเงินอัดฉีดหลายพันล้านจากฝรั่งเศส ถึงประมาณปี 1874 การค้าในตลาดโลกของเยอรมนีจึงติดอันดับชิดบริเตนใหญ่[3] เยอรมนียังใช้งานพลังไอน้ำในอุตสาหกรรมและการขนส่งมากกว่าประเทศยุโรปแผ่นดินใหญ่ทุกประเทศ เป็นบทพิสูจน์ว่าในทุกวันนี้ แม้อุตสาหกรรมอังกฤษจะได้ออกตัวล่วงหน้านานเท่าใด ประเทศขนาดใหญ่ก็สามารถไต่เต้าขึ้นเป็นคู่แข่งของอังกฤษในตลาดเปิดได้อย่างประสบผลสำเร็จ

แล้วอยู่ดีไม่ว่าดีก็ไปเปลี่ยนแนว: ในตอนที่การค้าเสรีดูจำเป็นต่อเยอรมนียิ่งกว่าตอนไหน ๆ ทันใดนั้นเองกลับหันหน้าหาการคุ้มครอง แน่ว่าทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่อธิบายได้ ในตอนที่เยอรมนีส่งออกธัญพืช ทั้งภาคเกษตรและภาคขนส่งทางเรือสนับสนุนการค้าเสรีไม่ขาดสาย แต่ในปี 1874 แทนที่จะส่งออก กลับต้องนำเข้าธัญพืชราคาถูกจากต่างประเทศจำนวนมาก ในเวลาเดียวกัน ธัญพืชนำเข้าราคาถูกจากอเมริกาเริ่มล้นตลาดยุโรป ไม่ว่าแห่งใด ทำรายได้จากผลผลิตที่ดินลดลง และค่าเช่าที่ดินก็ลดตาม นับแต่ตอนนั้น ภาคเกษตรทั่วยุโรปเริ่มเรียกร้องมาตรการคุ้มครองทางภาษี พร้อมกันนั้น อุตสาหกรรมเยอรมันประสบกับผลพวงจากการค้าเกินกำลังที่พรวดขึ้นจากค่าปฏิกรรมสงครามที่ฝรั่งเศสจ่ายให้หลายพันล้าน ขณะที่อังกฤษซึ่งอยู่ในภาวะตกต่ำเรื้อรังตั้งแต่วิกฤตการณ์ในปี 1866 ก็ส่งสินค้าค้างหิ้งไปลดแลกแจกแถมในต่างประเทศจนท่วมตลาด อุตสาหกรรมเยอรมัน ถึงแม้จะพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จึงมองการคุ้มครองเป็นเครื่องมือที่จะรับรองการผูกขาดตลาดในประเทศ แต่รัฐบาลซึ่งอยู่ใต้อุ้งมือขุนนางก็ดีใจเกินขนาดที่จะได้ใช้สถานการณ์นี้เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับค่าเช่าที่ดิน และจึงออกมาตรการคุ้มครองทางภาษีให้ทั้งเจ้าที่ดินและนักอุตสาหกรรม ปี 1878 ได้ประกาศใช้การคุ้มครองทางภาษีในอัตราที่สูงกับผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าประดิษฐกรรม

ผลที่ตามมาคือ ผู้บริโภคในประเทศกลายเป็นคนควักเงินอุ้มการส่งออกของอุตสาหกรรมเยอรมัน ซึ่งเมื่อมีโอกาส ก็รวมหัวกันควบคุมการค้าส่งออกหรือแม้แต่การผลิตเอง อุตสาหกรรมเหล็กเยอรมันอยู่ในมือบริษัทใหญ่ไม่กี่เจ้า ส่วนใหญ่เป็นบริษัทร่วมหุ้น รวมกันผลิตได้มากกว่าการบริโภคโดยเฉลี่ยของประเทศสามารถดูดซับได้ถึงสี่เท่า บริษัทเหล่านี้รวมหัวกันเลี่ยงไม่แข่งขันกันเองโดยไม่จำเป็น แบ่งสัญญาซื้อขายต่างประเทศระหว่างกัน และกำหนดเจ้าที่จะยื่นประมูลตัวจริงในแต่ละครั้ง ไม่กี่ปีก่อน กลุ่มรวมหัวกันนี้ยังสามารถบรรลุข้อตกลงกับโรงหลอมเหล็กอังกฤษ แต่ก็ไม่รอดถึงฝั่ง เช่นเดียวกัน เหมืองถ่านหินในเว็สท์ฟาเลิน (ผลผลิตราวสามสิบล้านตันต่อปี) ก็รวมหัวกันควบคุมการผลิต การประมูลสัญญา และการกำหนดราคา ทั้งหมดทั้งมวล นักอุตสาหกรรมเยอรมันจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประโยชน์เดียวของการคุ้มครองทางภาษีคือเป็นที่พักฟื้นในตลาดในประเทศ เพื่อชดเชยราคาย่อยยับนอกประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ระบบคุ้มครองอุตสาหกรรมที่ไร้เหตุผลเป็นแค่สินบนที่ให้นายทุนเพื่อแลกกับการสนับสนุนการผูกขาดที่ไร้เหตุผลยิ่งกว่าของกลุ่มเจ้าที่ดิน ไม่เพียงผลผลิตการเกษตรเท่านั้นที่โดนเก็บภาษีนำเข้าสูงและสูงขึ้นทุกปี แต่อุตสาหกรรมชนบทบางส่วนที่ประกอบการบนที่ดินผืนใหญ่ของเจ้าที่ดินยังถูกอุ้มด้วยเงินในกระเป๋าของสาธารณะด้วย อุตสาหกรรมน้ำตาลบีทไม่ได้แค่การคุ้มครองเท่านั้น แต่ยังได้อีกมหาศาลเป็นเงินอุดหนุนการส่งออก ใครที่ทราบเรื่องนี้ก็จะเห็นว่าถึงเทน้ำตาลส่งออกทิ้งทะเลหมด โรงงานก็ยังทำกำไรอย่างดีจากเงินอุดหนุนรัฐ เช่นเดียวกัน ตามกฎหมายใหม่ โรงกลั่นเหล้ามันฝรั่งยังจะได้ของขวัญจากกระเป๋าสตางค์สาธารณะกว่าเก้าล้านเหรียญต่อปี เพราะเจ้าของที่ดินผืนใหญ่แทบทุกรายในเยอรมนีตะวันออกเฉียงเหนือถ้าไม่ผลิตน้ำตาลบีทหรือกลั่นเหล้ามันฝรั่งก็ทำทั้งสองอย่าง ไม่แปลกใจว่าผลผลิตพวกนี้กำลังท่วมโลก ไม่ได้พูดเล่น

นโยบายแบบนี้ ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็พินาศ ยิ่งพังสองเท่าในประเทศที่อุตสาหกรรมยังยืนอยู่ได้ในตลาดที่เป็นกลางด้วยแรงงานราคาถูกเท่านั้น ค่าจ้างในเยอรมนีที่อย่างดีที่สุดถูกกดไว้เฉียดจุดอดตายเพราะมีประชากรเหลือเฟือ (ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้มีการย้ายถิ่นออกก็ตาม) อย่างไรเสียต้องขึ้นตามสินค้าจำเป็นที่แพงขึ้นเพราะการคุ้มครอง อุตสาหกรรมเยอรมันก็จะไม่สามารถชดเชยราคาสินค้าที่ย่อยยับด้วยการลดค่าจ้างจากปกติได้อีกต่อไป จากที่ทำอยู่บ่อยเกินแล้ว และจะถูกขับออกจากตลาด ในประเทศเยอรมนี การคุ้มครองกำลังเฉือนคอห่านที่วางไข่ทองคำ

ฝรั่งเศสก็ได้รับผลกระทบจากการคุ้มครอง ที่ซึ่งระบบนั้นแทบจะกลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของชีวิตของชาติ จากที่ครองอยู่นานถึงสองร้อยปีโดยไร้แรงต้าน แต่วันนับวันยิ่งกลายเป็นอุปสรรค การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตจำเป็นต้องเกิดอย่างต่อเนื่อง แต่การคุ้มครองมาขวางคลอง เดี๋ยวนี้ฐานของผ้ากำมะหยี่ไหมทำด้วยด้ายฝ้ายละเอียด ถ้าไม่จ่ายภาษีคุ้มครอง ผู้ผลิตฝรั่งเศสก็ต้องทนถูกระบบราชการรังแกไม่รู้จบ ไม่คุ้มเลยเทียบกับการยกเว้นภาษีจากการนำเข้าชั่วคราวที่จะได้คืนมา อุตสาหกรรมกำมะหยี่จึงย้ายฐานจากลียงไปเครเฟ็ลท์ เพราะการคุ้มครองทางภาษีของด้ายฝ้ายละเอียดที่นั่นค่อนข้างต่ำกว่า ดังที่กล่าวไว้ สินค้าส่งออกของฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งยังไม่มีใครมีรสนิยมเหนือกว่า ทว่าผู้บริโภคหลักของสินค้านั้น สมัยนี้ ทั่วทั้งโลก เป็นนายทุนหน้าใหม่ ผู้ไร้การศึกษาและไร้รสนิยม สมกันดีกับของเลียนแบบถูก ๆ หยาบ ๆ จากเยอรมนีและอังกฤษ และมักโดนหลอกขายในราคาไม่ธรรมดา คิดว่าเป็นของแท้จากฝรั่งเศส ตลาดของสินค้าชนิดพิเศษที่สามารถผลิตในประเทศฝรั่งเศสได้เท่านั้นยิ่งแคบลงทุกวัน อุตสาหกรรมส่งออกของฝรั่งเศสตามแทบจะไม่ทัน และในไม่ช้าจำต้องเสื่อมถอย ฝรั่งเศสจะเอาอะไรใหม่ ๆ มาส่งออกแทนของที่กำลังล้มหายตายจาก? ถ้าจะมีอะไรพอช่วยได้ ก็ต้องใจกล้าใช้มาตรการการค้าเสรี ฉุดดึงผู้ผลิตฝรั่งเศสออกจากเรือนกระจกที่เคยชิน เอามาตากไว้กลางแจ้ง ให้แข่งกับต่างประเทศ อันที่จริง การค้าโดยรวมของฝรั่งเศสคงจะหดตัวไปแล้ว หากไม่ใช่เพราะก้าวสั้น ๆ แบบสองจิตสองใจไปหาการค้าเสรี อย่างสนธิสัญญาคอบเดนปี 1860 แต่นั่นก็จวนหมดฤทธิ์ และต้องสั่งยาดองที่แรงกว่าเดิม

ให้กล่าวถึงรัสเซียคงจะเป็นการเสียเวลา ที่นั่น หน้าที่ของการคุ้มครองทางภาษี——ที่แทนที่จะจ่ายด้วยเงินกระดาษที่อ่อนค่า ต้องจ่ายด้วยทองคำ——คือการหาเงินปึกให้รัฐบาลยาจก ซึ่งต้องการใช้ทำธุรกรรมกับเจ้าหนี้ต่างชาติ วันใดที่ภาษีทำภารกิจคุ้มครองได้สำเร็จ และสามารถกีดกันสินค้าต่างประเทศได้ทั้งหมด จะเป็นวันที่รัฐบาลรัสเซียล้มละลาย แต่แล้วรัฐบาลเดียวกันยังคงห้อยความหวังล่อตาบำเรอประชากรว่าภาษีอากรนี้จะทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศพึ่งพาตนเองโดยสมบูรณ์ ประเทศที่ไม่ต้องการอะไรจากต่างประเทศเลย ไม่ว่าอาหาร วัตถุดิบ สินค้าประดิษฐกรรม หรือแม้แต่งานศิลปะ ผู้คนที่เชื่อในจินตภาพของจักรวรรดิรัสเซียที่สันโดษและเอกเทศจากโลกทั้งใบ อยู่ในระดับเดียวกับนายร้อยปรัสเซียผู้รักชาติ ที่เดินเข้าร้านค้าแล้วถามหาลูกโลก ไม่ใช่ของโลกที่เป็นดาวเคราะห์ แต่เป็นลูกโลกของปรัสเซีย

กลับมาที่อเมริกา มีอาการบ่งชี้พอวินิจฉัยได้ว่า การคุ้มครองได้ทำหน้าที่ให้สหรัฐจนสุดความสามารถแล้ว ยิ่งเอาออกไว ยิ่งดีกับทุกฝ่าย อาการหนึ่งคือการรวมหัวกันฉวยประโยชน์จากการผูกขาดที่ได้รับมาในอุตสาหกรรมที่คุ้มครอง จะว่าไปแล้ว การรวมหัวทางธุรกิจเป็นสถาบันอเมริกันโดยแท้ เมื่อใดที่จะใช้ข้อได้เปรียบโดยธรรมชาติ ปกติคนก็ยอมไปก่อนแม้จำใจ การผูกขาดทรัพยากรน้ำมันที่เพนซิลเวเนียของสแตนดาร์ดออยล์เป็นกระบวนการอันเป็นไปตามกฎแห่งการผลิตแบบทุนนิยม แต่หากโรงกลั่นน้ำตาลพยายามเอาการคุ้มครองที่ชาติมอบให้ไว้ใช้สู้คู่แข่งต่างชาติมาใช้ผูกขาดผู้บริโภคในประเทศแทน กล่าวคือ ชาติที่มอบการคุ้มครองนั้น ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้น โรงกลั่นน้ำตาลเจ้าใหญ่ก็ได้รวมหัวกันโดยมิได้มีเป้าหมายเป็นอื่นเลย เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพียงกลุ่มธุรกิจน้ำตาล แต่การรวมหัวกันนี้เองคือสัญญาณชัดว่าการคุ้มครองเสร็จงานแล้ว และคุณลักษณะของมันกำลังเปลี่ยน ไม่ได้คุ้มครองผู้ผลิตจากการนำเข้าต่างประเทศอีกต่อไป แต่คุ้มครองจากผู้บริโภคในประเทศ ได้ผลิตผู้ผลิตมามากพอแล้ว อย่างน้อยในสาขาที่มี มากเกินไปด้วยซ้ำ และเงินที่หล่นใส่กระเป๋าผู้ผลิตก็กำลังกลายเป็นเงินทิ้งขว้าง เฉกเช่นในเยอรมนี

ในอเมริกา อย่างในที่อื่น มีข้ออ้างหนุนการคุ้มครองว่า การค้าเสรีจะเป็นผลดีกับอังกฤษเท่านั้น ข้อพิสูจน์ตรงกันข้ามที่ดีที่สุดคือ ในอังกฤษเอง ไม่เพียงเกษตรกรกับเจ้าที่ดินเท่านั้น แม้แต่นักอุตสาหกรรมก็หันมาสนับสนุนมาตรการคุ้มครอง ในบ้านเกิดของการค้าเสรี “สำนักแมนเชสเตอร์” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1886 หอการค้าแมนเชสเตอร์หารือเพื่อลงมติ “ว่า เมื่อได้รอชาติอื่นทำตามแบบอย่างการค้าเสรีของอังกฤษมาสี่สิบปีแล้วโดยสูญเปล่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าถึงเวลาที่จะพิจารณาจุดยืนนี้ใหม่” แน่นอนว่ามีมติไม่เห็นชอบ แต่ผลออก 22 ต่อ 21 คะแนน! แล้วนี่คือศูนย์กลางอุตสาหกรรมฝ้าย อุตสาหกรรมอังกฤษหนึ่งเดียวที่ยังเหนือกว่าโดยไร้คู่แข่งในตลาดเปิด! แต่ก็ พวกนักประดิษฐ์อัจฉริยะในสาขานี้ย้ายจากอังกฤษไปอยู่ที่อเมริกากันแล้ว พัฒนาการล่าสุดของเครื่องปั่นและทอฝ้ายมาจากอเมริกาแทบทั้งหมด และแมนเชสเตอร์ต้องเอามาใช้ อเมริกาโดดเด่นเป็นผู้นำด้านสิ่งประดิษฐ์อุตสาหกรรมสารพัดอย่าง ขณะที่เยอรมนีไล่ตามอันดับสองของอังกฤษมาติด ๆ ในอังกฤษเริ่มรู้ตัวกันว่าประเทศนี้เสียการผูกขาดอุตสาหกรรมไปแล้วอย่างมิอาจเอาคืนมาได้ ว่ายังกำลังถดถอยขณะที่คู่แข่งกำลังเดินหน้า และจะทยอยตกที่นั่งกลายเป็นเพียงประเทศหนึ่งท่ามกลางประเทศอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเทศ แทนที่จะเป็น “โรงงานของโลก” ที่เคยฝันหวาน บุรุษผู้เมื่อสี่สิบปีก่อนเห็นการค้าเสรีเป็นหนทางเดียวสู่นิพพาน ลูกหลานของเขาเหล่านั้นเองบัดนี้กำลังปลุกผีการคุ้มครองกลับมาเพื่อขวางหายนะที่ใกล้มาเยือน พรางตัวด้วยหน้ากาก “การค้าที่เป็นธรรม” และสงครามภาษี แต่ไม่เนียน เมื่อผู้ผลิตอังกฤษเริ่มรู้สึกตัวว่าการค้าเสรีกำลังกลับมาทำลายเขา และเริ่มขอให้รัฐคุ้มครองเขาจากคู่แข่งต่างชาติ ถึงเวลาเหมาะเจาะที่คู่แข่งจะจับระบบคุ้มครองที่หมดประโยชน์โยนทิ้งทะเล เพื่อต่อสู้การผูกขาดอุตสาหกรรมที่ริบหรี่ของอังกฤษด้วยอาวุธมันเอง การค้าเสรี

แต่อย่างที่บอกไป การคุ้มครองทางภาษีออกง่าย แต่เลิกยาก เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติรับแผนคุ้มครองมาใช้ ก็ได้สร้างกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบ แต่ละกลุ่ม——อุตสาหกรรมแต่ละสาขา——ไม่พร้อมเผชิญกับการแข่งขันที่เปิดกว้างอย่างเท่ากัน บ้างจมปลักอยู่ข้างหลัง บ้างไม่ต้องการให้การคุ้มครองอนุบาลแล้ว สถานะที่ต่างกันจะทำให้เกิดการวิ้งเต้นเช่นที่คุ้นเคย เพื่อประกันว่าแม้หากมีมติเห็นชอบการค้าเสรี อุตสาหกรรมที่เคยได้รับการคุ้มครองก็จะได้รับการปลอบขวัญอย่างดีทีเดียว เฉกเช่นอุตสาหกรรมฝ้ายอังกฤษหลังปี 1846 เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสภาวะปัจจุบัน ฝ่ายหนุนการค้าเสรีจะต้องยอมทน ตราบเท่าที่มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงแล้วในหลักการ

คำถามว่าการค้าเสรีหรือการคุ้มครอง เป็นคำถามที่อยู่ในขอบเขตของระบบการผลิตแบบทุนนิยมในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับนักสังคมนิยมอย่างเราโดยตรงมากนัก เพราะเราต้องการเลิกระบบนั้นเสีย ทว่าโดยทางอ้อม ก็เป็นเรื่องที่เราต้องสนในมุมที่เราต้องการให้ระบบการผลิตปัจจุบันได้พัฒนาและขยายตัวอย่างอิสระและรวดเร็วที่สุด เพราะจะสร้างปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจำสืบเนื่องมาด้วยกัน ซึ่งจะทำลายทั้งระบบจนสิ้นซาก ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ยากของผองประชาจากการผลิตมากเกิน ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานล้นตลาดซ้ำเวียนและตามด้วยความตื่นตระหนกหรือไม่ก็ความซบเซา หรือจะเป็นสังคมที่ถูกแบ่งออกเป็นชนชั้นน้อยของนายทุนใหญ่กับชนชั้นใหญ่ของทาสค้าจ้างในเรือนเบี้ยพฤตินัย ชนกรรมาชีพ ซึ่งมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกเครื่องจักรประหยัดแรงงานแบบใหม่แย่งที่อย่างต่อเนื่อง กล่าวอย่างรวบรัดคือ สังคมเข้าตาจน หมดทางหนี เหลือทางเลือกเดียวคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอันเป็นรากฐาน จากมุมมองนี้ มาคส์ตัดสินเมื่อสี่สิบปีก่อน ในหลักการ ว่าจะสนับสนุนการค้าเสรีในฐานะแผนการที่ก้าวหน้ากว่า และฉะนั้น เป็นแผนการที่จะพาสังคมทุนนิยมถึงทางตันนั้นได้เร็วที่สุด แต่หากมาคส์สนับสนุนการค้าเสรีด้วยเหตุผลนี้ ก็เป็นเหตุผลให้ผู้สนับสนุนระเบียบสังคมปัจจุบันหันมาประกาศต้านการค้าเสรีกันหมดไม่ใช่หรือ? หากบอกว่าการค้าเสรีเป็นแนวปฏิวัติ พลเมืองดีทั้งหลายไม่ควรหันมาลงคะแนนให้การคุ้มครองอันเป็นแผนการอนุรักษ์นิยมหรือ?

หากประเทศใดในยุคนี้ยอมรับการค้าเสรี ก็มิได้ทำไปเพื่อโปรดพวกสังคมนิยม เพราะการค้าเสรีได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อนายทุนอุตสาหกรรม แต่หากเขาไม่เอาการค้าเสรีแล้วยึดติดการคุ้มครองเพียงเพื่อฉ้อหายนะทางสังคมที่คาดไว้ไปจากพวกสังคมนิยม ก็มิได้ทำลายโอกาสของสังคมนิยมเลยแม้แต่น้อย การคุ้มครองเป็นแผนการเพื่อผลิตผู้ผลิตโดยวิธีเทียม และจึงเป็นแผนการเพื่อผลิตแรงงานรับจ้างโดยวิธีเทียมเช่นกัน ท่านจะขยายพันธุ์อย่างหนึ่งแล้วเว้นอีกอย่างไม่ได้ แรงงานรับจ้างเดินตามรอยเท้าเจ้าของโรงงานไปทุกแห่ง เหมือน “ความวิตกหม่นดำ” ของฮอเรซ ที่นั่งซ้อนท้ายม้าเกาะหลังอัศวินตามไปทุกแห่ง[a] ท่านมิอาจฝืนชะตา ท่านมิอาจหนีผลอันจำเป็นของกรรมที่ท่านก่อ ระบบการผลิตบนการขูดรีดแรงงานรับจ้าง ที่ยิ่งจ้างและยิ่งขูดรีดคนงานแล้วยิ่งมั่งมี ระบบทำนองนี้อย่างไรเสียก็จะขยายชนชั้นของกรรมกรรับจ้าง ชนชั้นซึ่งฟ้าลิขิตให้สักวันหนึ่งต้องทำลายล้างระบบนั้นเอง ระหว่างนี้ ช่วยไม่ได้ ท่านต้องพัฒนาระบบทุนนิยมต่อไป ท่านต้องเร่งการผลิต การสะสม และการรวมศูนย์ของทุน และในขณะเดียวกัน ผลิตชนชั้นแรงงานปฏิวัติ ในขั้นสุดท้าย ไม่ว่าท่านจะลองใช้แผนคุ้มครองหรือเสรีการค้าก็ไม่ต่างกัน ไม่ทดเวลาที่เหลือให้ท่านพักหายใจรอวันที่ตอนจบจะมาถึงเลยสักนิด เพราะไม่ต้องรอนานให้ถึงวันนั้น การคุ้มครองจะกลายเป็นโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งประเทศที่ปรารถนา ที่มีโอกาสสำเร็จ ที่จะมีที่ยืนอยู่ในตลาดโลก

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์

  1. คาร์ล มาคส์, ทุน. ลอนดอน: Swan Sonnenschein Co., 1886; หน้า 782.
  2. รายงานประจำปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฯลฯ ประจำปี 1887. วอชิงตัน : 1887 ; หน้า xxviii, xxix.
  3. ปริมาณการค้ารวม รวมการส่งออกและการนำเข้า ปี 1874 หน่วยล้านเหรียญ : บริเตนใหญ่ —— 3300 ; เยอรมนี —— 2325 ; ฝรั่งเศส —— 1665 ; สหรัฐ —— 1245 ล้านเหรียญ. (Kolb, Statistik, พิมพ์ครั้งที่ 7. ไลพ์ซิช : 1875 ; หน้า 790.)


  1. อ้างถึง ศังสกานท์ บทประพันธ์โดยฮอเรซ ในเล่มที่ 3
    fastidiosus: sed Timor et Minae
    scandunt eodem quo dominus, neque
    decedit aerata triremi et
    post equitem sedet atra Cura.

    แปลว่า "... แต่ความกลัวและภัยอันตรายปีนขึ้นมาเสมอกับเจ้านาย ความวิตกหม่นดำจะไม่ทิ้งเรือเลี่ยมสำริด และจะนั่งซ้อนท้ายไปกับอัศวิน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน