ข้ามไปเนื้อหา

จดหมายเหตุเรื่องปราบขบถเวียงจันท์/ส่วนที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ

เดิมแต่โบราณมา เมืองเวียงจันท์เปนเอกราช เรียกนามอาณาเขตว่า กรุงศรีสัตนาคนหุต ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี เคยเปนข้าศึกกับกรุงศรีอยุธยาบ้าง เคยยอมเปนประเทศขึ้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง เคยเปนสัมพันธมิตรหรือเปนแต่มีทางไมตรีกันบ้าง ตามเหตุการณ์ที่มีมาในเรื่องพงศาวดาร จนถึงเมื่อกรุงธนบุรีเปนราชธานีของสยามประเทศนี้ ครั้งนั้น พระเจ้าสิริบุญสารครองกรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่เปนเอกราช ได้ทำทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงธนบุรี (เรื่องราวมีแจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์โดยพิสดาร) แต่ต่อมา พระเจ้าสิริบุญสารไม่รักษาทางพระราชไมตรี บังอาจแต่งกองทัพบุกรุกลงมาถึงตำบลดอนมดแดง (คือ เมืองอุบลบัดนี้) ให้มาจับพระวอ ซึ่งได้สามิภักดิต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ฆ่าเสีย พระเจ้ากรุงธนบุรีขัดเคือง จึงให้กองทัพยกขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๒๑ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเปนจอมทัพไปกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตีได้เมืองเวียงจันท์ซึ่งเปนราชธานีแลเมืองขึ้นของกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้าสิริบุญสารหนไปอาศรัยในแดนญวน ได้ตัวแต่บุตรของพระเจ้าสิริบุญสารหลายคน เมื่อเสร็จการปราบปรามแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตกับพระบาง แลพาตัวพวกบุตรพระเจ้าสิริบุญสาร ลงมากรุงธนบุรี ตั้งแต่นั้น กรุงศรีสัตนาคนหุตก็ตกเปนเมืองขัณฑสิมาอาณาเขตของกรุงสยาม แต่เมื่อในชั้นกรุงธนบุรี เปนแต่ให้ขุนนางอยู่รักษาเมืองเวียงจันท์แลหัวเมืองอื่น ๆ เปนอิศรแก่กันเหมือนอย่างหัวเมืองขึ้นชั้นนอก มาถึงรัชกาลที่ ๑ พระเจ้าสิริบุญสารรู้ว่า พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงบรรดาบุตรซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เปนผาสุก คิดเห็นว่า ตัวเองก็แก่ชราแล้ว จึงกลับเข้ามายังเมืองเวียงจันท์ หมายจะมาขอสามิภักดิ แต่พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่ทรงวางพระราชหฤทัย จึงทรงตั้งเจ้านันทเสน บุตรคนใหญ่ของพระเจ้าสิรบุญสารขึ้นไปครองเมืองเวียงจันท์เปนประเทศราช พระราชทานพระบางอันเปนพระพุทธรูปสำหรับเมืองคืนให้เปนเกียรติยศ ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารนั้น ก็พระราชทานอนุญาตให้อยู่ในเมืองเวียงจันท์กับบุตรต่อมาจนถึงพิราลัย แต่เจ้านันทเสนครองบ้านเมืองมาไม่เรียบร้อย โปรดฯ ให้กลับลงมาอยู่กรุงเทพฯ ทรงตั้งเจ้าอินทวงศ บุตรของพระเจ้าสิริบุญสารรองจากเจ้านันทเสนลงมา (ซึ่งเปนเจ้าตาของเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี) ขึ้นไปครองเมืองเวียงจันท์ โปรดฯ ให้เจ้าอนุวงศ (ที่เรียกกันเปนสามัญว่า “เจ้าอนุ”) บุตรของพระเจ้าสิริบุญสารอีกคน ๑ เปนตำแหน่งอุปราช เจ้าอนุวงศเปนคนมีความสามารถ เคยได้คุมกองทัพเมืองเวียงจันท์ไปช่วยรบพม่าทางเมืองเชียงแสน มีบำเหน็จความชอบถึง ๒ คราว ครั้นเจ้าเวียงจันท์อินทวงศถึงพิราลัย จึงทรงตั้งเจ้าอุปราชอนุวงศให้ครองเมืองเวียงจันท์ต่อมา

ถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้าอนุวงศแสดงความสามิภักดิฝากฝ่ายต่อกรุงเทพฯ จนเปนผู้ซึ่งสนิธชิดชอบพระราชอัธยาศัยทั้งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย แลพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แลมาทำความชอบครั้งพวกข่าขบถตีเมืองนครจำปาศักดิได้เมื่อปีเถาะ พ,ศ, ๒๓๖๒ เจ้าอนุวงศรับอาสาให้กองทัพเมืองเวียงจันท์ลงไปช่วยปราบปรามพวกข่าขบถได้ราบคาบ ครั้งนั้น เกิดปัญหาเรื่องการที่จะรักษาอาณาเขตเมืองนครจำปาศักดิต่อไปอย่างไรดี ด้วยพวกเจ้านายเมืองนครจำปาศักดิอ่อนแอ ไม่มีตัวผู้ที่จะสามารถรักษาบ้านเมือง เจ้าอนุวงศอยากจะใคร่ให้บุตรของตนเปนเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเปนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงช่วยอุดหนุนเจ้าราชบุตรโย้ บุตรของเจ้าอนุวงศ ซึ่งได้เปนผู้คุมกองทัพลงไปปราบปรามพวกข่าขบถครั้งนั้น ได้เปนเจ้านครจำปาศักดิสำเร็จดังปราถนาของเจ้าอนุวงศ การที่เจ้าราชบุตรโย้ได้เปนเจ้านครจำปาศักดิครั้งนั้นเปนเหตุให้เจ้าอนุวงศมีกำลังแลอำนาจขึ้นอีกเปนอันมาก เพราะสามารถจะบังคับบัญชาว่ากล่าวบ้านเมืองทางชายพระราชอาณาเขตได้ตั้งแต่ด้านเหนือลงมาตลอดด้านตวันออกจนต่อแดนกรุงกัมพูชา เจ้าอนุวงศก็มีใจกำเริบขึ้น

ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต เจ้าอนุวงศลงมาถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ ประจวบเวลาอังกฤษให้เฮนรีเบอร์นีเปนทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญา ฝ่ายไทยในชั้นแรกไม่อยากทำ ต้องปรึกษาโต้ตอบกันอยู่ช้านาน ในเวลาเมื่อเจ้าอนุวงศอยู่ในกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศลงมาครั้งนั้น เชื่อตัวว่า ได้สนิธชิดชอบมากับพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเพ็ททูลขอร้องอย่างไร คงทรงยินยอม จึงทูลขอแบ่งพวกครัวชาวเวียงจันท์ที่ได้กวาดต้อนลงมาเมื่อกองทัพไทยขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตครั้งกรุงธนบุรีจะเอากลับขึ้นไปบ้านเมือง พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พวกครัวก็ได้มาตั้งภูมิลำเนาเปนหลักแหล่งอยู่หัวเมืองชั้นในแล้ว ถ้าพระราชทานไปแม้แต่พวกใดพวกหนึ่ง พวกอื่นก็จะพากันกำเริบ จึงไม่พระราชทานตามประสงค์ เจ้าอนุวงศรู้สึกอัปยศ กลับขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ ก็ตั้งต้นคิดการขบถ ด้วยเห็นว่า ญวนขยายอำนาจเข้ามาทางกรุงกัมพูชาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ไทยก็ต้องเอาใจดีต่อญวน เพราะไทยเกรงจะเกิดทั้งศึกพม่าแลศึกญวนขึ้นเปน ๒ ทาง ญวนได้เมืองเขมรแล้ว กำลังคิดจะขยายอำนาจต่อขึ้นไปทางเมืองลาว ถึงจะตั้งตัวเปนอิศร ไหนไทยจะกล้าขึ้นไปปราบปรามอย่างแต่ก่อน เจ้าอนุวงศจึงไปฝากฝ่ายกับญวน หมายะจเอาเปนกำลังช่วยต่อสู้ไทย พอถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ มีข่าวเล่าลือขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ว่า ไทยเกิดวิวาทกับอังกฤษ ๆ จะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศเห็นเปนโอกาศ ก็ออกหน้าก่อการขบถ สั่งให้เจ้านครจำปาศักดิโย้ยกกองทัพเมืองนครจำปาศักดิเข้ามายึดหัวเมือง (มณฑลอุบล) ทางตวันออกทาง ๑ ให้เจ้าอุปราชติสสะ ผู้เปนน้อง คุมกองทัพลงมายึดหัวเมือง (มณฑลร้อยเอ็ด) ทางตวันออกเฉียงเหนือทาง ๑ ส่วนเจ้าอนุวงศเองเกณฑ์กองทัพเมืองเวียงจันท์ ให้เจ้าราชวงศเง่า ผู้เปนบุตรคนหนึ่ง เปนกองหน้า ตัวเจ้าอนุวงศ กับเจ้าโป๊ บุตรคนใหญ่ ซึ่งเปนตำแหน่งเจ้าสุทธิสาร เปนทัพหลวงยกลงมาเมืองนครราชสิมา การที่เจ้าอนุวงศยกกองทัพลงมาครั้งนั้น ลวงเจ้าเมืองกรมการรายทางว่า มีศุภอักษรขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ว่า อังกฤษจะยกกองทัพเรือเข้ามาตีกรุงเทพฯ โปรดฯ ให้เจ้าอนุวงศเกณฑ์กองทัพเมืองเวียงจันท์ยกลงมาช่วยต่อสู้ข้าศึก เจ้าเมืองกรมการรายทางไม่รู้เท่า เห็นเจ้าอนุวงศเปนคนโปรดปรานมาแต่ก่อน ก็ยอมให้กองทัพเวียงจันท์ยกผ่านเมืองมาแลจ่ายเสบียงอาหารให้จนถึงเมืองนครราชสิมา เพอิญเวลานั้น พระยานครราชสิมากับพระยาปลัดออกไปจัดราชการอยู่ทางเมืองขุขันธ์ มีแต่กรมการรักษาเมือง เจ้าอนุวงศก็เข้ายึดเมืองนครราชสิมา แล้วให้เจ้าราชวงศยกกองทัพหน้าลงมากวาดต้อนผู้คนที่เมืองสระบุรี

ฝ่ายกรุงเทพฯ รู้ว่า เจ้าอนุวงศเปนขบถ ต่อเมื่อเจ้าอนุวงศได้เมืองนครราชสิมาแล้ว ก็รีบเร่งกะเกณฑ์กองทัพในทันที แลในขณะที่กำลังเกณฑ์กองทัพนั้น ได้ข่าวซ้ำลงมาว่า ข้าศึกเข้ามาถึงเมืองสระบุรี ทางอีก ๓ วันจะถึงกรุงเทพฯ ไม่ทราบแน่ว่า ข้าศึกจะมีกำลังลงมามากน้อยเท่าใด ก็ต้องตระเตรียมป้องกันพระนคร ให้ตั้งค่ายวางรี้พลตั้งแต่ทุ่งสามเสนรายตลอดมาจนทุ่งหัวลำโพง พอเกณฑ์กองทัพพร้อมทัพ ๑ ก็โปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพรีบยกขึ้นไปเมืองสระบุรีเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ แต่เจ้าราชวงศหารออยู่ต่อสู้ไม่ พอรู้ว่า กองทัพกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปถึงท่าเรือพระพุทธบาท ก็รีบถอยหนีกลับไปเมืองนครราชสิมา กรมพระราชวังบวรฯ จึงเสด็จไปตั้งรักษาเมืองสระบุรีรอกำลังที่จะยกเปนกองทัพใหญ่ขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์อยู่ณที่นั้น[1] ฝ่ายเจ้าอนุวงศ เมื่อตั้งอยู่ณเมืองนครราชสิมา ให้กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองนครราชสิมาส่งขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ ครั้งนั้น เพอิญคุณหญิงโม้ ภรรยาพระปลัดเมืองนครราชสิมา ถูกกวาดต้อนไปด้วย คุณหญิงโม้มีสติปัญญาสามารถ คิดกลอุบายวิงวอนผ่อนผัดให้ควบคุมไปช้า ๆ รอพวกครัวที่ถูกกวาดค้อนไปทันกันที่ทุ่งสัมริด พอเห็นว่า มีกำลังมากกว่าพวกที่ควบคุม ก็ช่วยกันทั้งชายหญิงเข้าแย่งศัสตราวุธของข้าศึก ต่อสู้ฆ่าฟันพวกชาวเวียงจันท์ที่ควบคุมล้มตายแตกพ่ายไป แล้วพวกครัวก็ช่วยกันตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ทุ่งสัมริด ราษฎรชาวเมืองที่เที่ยวซุ่มซ่อนพลัดพรายอยู่นั้น ครั้นรู้ว่า พวกชาวเมืองนครราชสิมารวบรวมกันได้ ก็รีบพากันมาเข้ากับพวกครัวที่ทุ่งสัมริดอีกเปนอันมาก พระยาปลัด สามีคุณหญิงโม้ ก็ตามไปทันณที่นั่น ครั้นเจ้าอนุวงศให้กองทัพยกออกไปปราบ พระยาปลัด คุณหญิงโม้ ก็ให้พวกครัวช่วยกันตีแตกกลับมาอีก เจ้าอนุวงศปราบปรามพวกครัวชาวเมืองนครราชสิมาไม่ได้สมคิด พอได้ข่าวว่า กองทัพกรุงเทพฯ ยกขึ้นไป ก็รีบเลิกทัพกลับไปเมืองเวียงจันท์ ให้เจ้าราชวงศไปยึดเมืองหล่ม[2] แลให้เจ้าสุทธิสารไปยึดเมืองภูเขียว ตั้งรักษาด่านทางทั้งปวงเตรียมต่อสู้กองทัพกรุงเทพฯ ที่จะยกขึ้นไป การที่พวกครัวชาวเมืองนครราชสิมาต่อสู้ชนะข้าศึกครั้งนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จตั้งคุณหญิงโม้เปนท้าวสุรนารี แต่พระยาปลัดนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงตั้งเปนเจ้าพระยามหิศราธิบดี ที่ปรึกษาราชการเมืองนครราชสิมา

การปราบขบถเวียงจันท์ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดกองทัพที่จะยกขึ้นไปเปนกองทัพใหญ่ ๒ ทัพ กองทัพน้อยทัพ ๑ กองทัพใหญ่ที่ ๑ จะให้ตรงไปตีเมืองเวียงจันท์อันเปนเมืองหลวงของข้าศึก โปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เปนจอมทัพไปตั้งประชุมพลที่เมืองสระบุรี จัดกระบวรทัพให้พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาณรงควิไชย คุมพลเปนกองหน้าที่ ๑ ให้กรมหมื่นนเรศรโยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ คุมพลเปนกองหน้าที่ ๒ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเปนกองหลวง พร้อมด้วยกรมหมื่นรามอิศรเรศรเปนยกระบัตร กรมหมื่นเทพพลภักดิเปนเกียกกาย กรมหมื่นธิเบศรบวรเปนจเรทัพ กรมหมื่นนรานุชิตเปนปีกซ้าย กรมหมื่นสวัสดิวิไชยเปนปีกขวา ให้พระนเรนทราชา บุตรพระเจ้ากรุงธนบุรี คุมพลเปนกองหลัง ให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) คุมพลมอญเปนกองอิศรสมทบในกองทัพที่ ๑ ด้วย เมื่อจัดกระบวรพร้อมแล้ว ก็ยกจากเมืองสระบุรีขึ้นทางดงพระยาไฟ แต่กองมอญนั้น ให้เดิรทางดงพระยากลางไปสมทบทัพกันที่เมืองนครราชสิมา

กองทัพใหญ่ที่ ๒ นั้น จะให้ไปปราบพวกขบถมทางหัวเมือง (มณฑลอุบลแลร้อยเอ็ด) ฝ่ายตวันออก ขึ้นไปบัญจบกับกองทัพใหญ่ที่ ๑ ที่เมืองเวียงจันท์ โปรดฯ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์เปนจอมทัพ ตั้งประชุมพลที่เมืองปราจิณบุรี จัดกระบวรทัพให้พระยาราชสุภาวดี (ซึ่งภายหลังเปนเจ้าพระยาบดินทรเดชา) คุมพลเปนกองหน้าที่ ๑ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ซึ่งเปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศในรัชกาลที่ ๔) คุมพลเปนกองหน้าที่ ๒ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์เสด็จเปนกองหลวง (ผู้ใดเปนยกรบัตร เกียกกาย จเรทัพ แลกองหลัง หาปรากฎไม่) กรมหมื่นพิพิธภูเบนทรเปนปีกซ้าย กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศรเปนปีกขวา มีกองเขมรเปนกองอิศร ให้พระยาราชนิกูล พระยารามกำแหง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง พระยาจันทบุรี คุมไปตีเมืองนครจำปาศักดิอีกกอง ๑

กองทัพน้อยนั้น จะให้ไปตีเมืองหล่มแลหัวเมืองขึ้นของเวียงจันท์ทางตวันตก ไปบัญจบกับกองทัพใหญ่ที่ ๑ ที่เมืองเวียงจันท์ โปรดฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก เปนแม่ทัพ ตั้งประชุมพลที่ท่าเรือพระพุทธบาทแห่ง ๑ พระยาเพ็ชรพิไชย พระยาไกรโกษา ไปตั้งประชุมพลที่เมืองพิษณุโลกอีกแห่ง ๑ ยกไปบัญจบกันที่เมืองหล่ม

กระบวรทัพที่จัดดังกล่าวมานี้ กองทัพใหญ่ที่ ๒ ต้องเปลี่ยนแปลง มิได้ยกไปตามที่กะไว้ชั้นเดิม เหตุด้วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ว่า อังกฤษจะให้เฮนรีเบอร์นีเข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาที่ได้ทำไว้ แลอังกฤษเตรียมกองทัพเรือที่เกาะหมาก จะยกไปข้างไหนหาปรากฎไม่ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงวางพระราชหฤทัย เกรงว่า จะมีเหตุเปนอริกับอังกฤษเกิดขึ้น จึงโปรดฯ ให้เลิกกองทัพใหญ่ที่ ๒ กลับมารักษาเมืองสมุทปราการ คงแต่ให้พระยาราชสุภาวดีคุมพลเปนกองอิศรยกขึ้นไปเมืองนครราชสิมาทางช่องเรือแตก[3] ไปสมทบกองทัพที่ ๑ แลทรงมอบให้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงบัญชาการศึกทุกทาง

การรบในเรื่องปราบขบถเวียงจันท์ครั้งนั้นเปน ๒ ระยะ ๆ แรก กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดให้พระยาราชสุภาวดีคุมกองทัพน้อยไปทัพ ๑ ยกไปปราบพวกขบถทางหัวเมืองตวันออก (ตามที่กะไว้แต่เดิมว่า จะให้กองทัพใหญ่ที่ ๒ ยกไปนั้น) พระยาราชสุภาวดีได้รบกับข้าศึกตั้งแต่เมืองพิมาย ตีข้าศึกแตกแล้วยกตามไป ได้รบพวกเจ้าอุปราชติสสะที่เมืองโสธร[4] มีไชยชนะอีกแห่ง ๑ แล้วยกลงมาตีกองทัพเจ้านครจำปาศักดิโย้ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองอุบล ตีข้าศึกแตกเปนครั้งที่ ๓ แล้วก็ติดตามลงไปตีได้เมืองนครจำปาศักดิ จับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิโย้กับลูกหลานเจ้าอนุวงศอิกหลายคน พวกขบถทางตวันออกก็ราบคาบ กรมพระราชวังบวรฯ จึงโปรดฯ ให้พระยาราชสุภาวดีไปตั้งรักษาการอยู่ที่เมืองนครพนม

ส่วนกองทัพกรมพระราชวังบวรฯ นั้น โปรดฯ ให้กองหน้าที่ ๑ ซึ่งพระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาณรงควิไชย คุมพล กับกองมอญเจ้าพระยามหาโยธา แลกองโจรของเจ้าขุนเณร[5] รวมจำนวนคน ๘,๔๐๐ ยกขึ้นไปก่อน แล้วกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงตามขึ้นไปเมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๗๐ กองทัพหน้าได้รบกับข้าศึกที่ด่านหนองบัวลำภู ตีค่ายข้าศึกได้ แล้วยกไปตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งส้มป่อยใกล้ช่องเขาทางจะข้ามไปเมืองเวียงจันท์ ข้าศึกยกกองทัพใหญ่มาล้อมอยู่ ๗ วัน กองหน้าที่ ๒ ซึ่งกรมหมื่นนเรศรโยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ทรงคุมพล ตามขึ้นไปทัน เข้าช่วยกันตีข้าศึกแตกยับเยิน เจ้าอนุวงศรู้ว่า กองทัพที่มารักษาด่านหนองบัวลำภูแตกแล้ว ก็ไม่คิดจะต่อสู้ต่อไป พาครอบครัวอพยบหนีไปอาศรัยอยู่ในแดนญวน กองทัพไทยก็เข้าเมืองเวียงจันท์ได้โดยง่าย

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูธรกับพระยาเพ็ชร์พิไชยยกไปถึงเมืองหล่มพร้อมกัน ได้รบกับกองทัพเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันท์ ตีกองทัพเจ้าราชวงศ์แตกหนีไป เจ้าพระยาอภัยภูธรให้พระยาเพ็ชร์พิไชยอยู่รักษาเมืองหล่ม ส่วนตัวยกตามขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ (แต่เมื่อไปถึงแล้ว ไปป่วยถึงอสัญญกรรม) อนึ่ง กองทัพที่ตีเมืองเวียงจันท์ครั้งนี้ ได้โปรดฯ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน แลเมืองหลวงพระบาง ไปช่วย กองทัพเมืองเหล่านั้นก็ได้ยกไป แต่ไปถึงหาทันรบไม่ เสร็จการรบระยะต้นเพียงนี้

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้รื้อทำลายเมืองเวียงจันท์เสียให้หมด ให้เปนเยี่ยงอย่างแก่พวกประเทศราชทั้งปวง แต่กองทัพขัดสนเสบียงอาหาร ต้องมีตราให้หากองทัพใหญ่กลับลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้กองทัพพระยาราชสุภาวดีขึ้นไปทำลายเมืองเวียงจันท์ แลสืบหาพระบางซึ่งพวกชาวเวียงจันท์พาหนีไป พระยาราชสุภาวดีขึ้นไปตั้งอยู่เมืองเวียงจันท์ รื้อทำลายเมืองยังไม่ทันสำเร็จ เห็นไพร่พลอิดโรย พอตามได้พระบาง ก็ขออนุญาตเลิกทัพกลับลงมากรุงเทพฯ เดิมพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์จะตั้งพระยาราชสุภาวดีเปนที่สมุหนายกแทนเจ้าพระยาอภัยภูธร ครั้นทรงทราบว่า พระยาราชสุภาวดีรื้อทำลายเมืองเวียงจันท์ยังไม่สำเร็จ ก็ทรงขัดเคือง จึงเปนแต่โปรดฯ ให้เลื่อนบันดาศักดิเปนเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก พอเปนบำเหหน็จ แล้วโปรดฯ ให้กลับขึ้นไปรื้อทำลายเมืองเวียงจันท์อีก

เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับขึ้นไปเมื่อเดือน ๗ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ ครั้งนั้น ไม่ได้ยกไปเปนกระบวรทัพ ด้วยกิจที่จะไปเปนแต่จะไปรื้อทำลายเมืองเวียงจันท์ มีข้าราชการในกรุงฯ เปนนายกองขึ้นไปเกณฑ์คนที่เมืองนครราชสิมา เมืองภูเขียว ได้แล้วยกขึ้นไปถึงด่านหนองบัวลำภูปลายแดนเมืองเวียงจันท์เมื่อเดือน ๘ บุรพาสาธ จึงให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองคุมพล พร้อมด้วยพระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสิมา หลวงสุเรนทรนุชิต ยกล่วงหน้าขึ้นไปเมืองเวียงจันท์กอง ๑ เจ้าพระยาราชสุภาวดีรอรวบรวมผู้คนที่ยังตกค้าง จะตามขึ้นไปภายหลัง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองยกขึ้นไปถึงเมืองพันพร้าวริมลำน้ำโขงตรงเมืองเวียงจันท์ข้าม ให้คนไปเรียกท้าวพระยาที่อยู่รักษาเมืองเวียงจันท์ เห็นกำลังตระเตรียมผู้คนอลหม่าน ทั้งกิริยาอาการก็มิได้ยำเกรงเหมือนแต่ก่อน พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองจึงให้พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ กับหลวงสุเรนทรนุชิต คุมไพร่ ๓๐๐ ข้ามไปตั้งรักษาเมืองเวียงจันท์ ไปได้ความว่า เจ้าราชวงศเง่ามีหนังสือมาว่า พระเจ้าแผ่นดินญวนให้ข้าหลวงพาเจ้าอนุวงศกลับมาถึงท่าข้าม ระยะทางอีก ๔ วันจะถึงเมืองเวียงจันท์ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองก็แต่งคนเร็วให้รีบมาบอกเจ้าพระยาราชสุภาวดี ครั้นถึงเดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ข้าหลวงเมืองญวนพาเจ้าอนุวงศกับเจ้าราชวงศมาถึงเมืองเวียงจันท์ มีญวนมาด้วยประมาณ ๘๐ คน แต่พวกรี้พลของเจ้าอนุวงศมีมาประมาณพันเศษ ข้าหลวงญวนมาเจ้าอนุวงศไปหาพระยาพิไชยสงคราม บอกว่า เจ้าอนุวงศทำความผิดแล้วหนีไปอาศรัยอยู่ในแดนญวน พระเจ้าเวียดนำทรงพระดำริห์ว่า เมืองเวียงจันท์นั้น เมืองญวนเหมือนมารดา กรุงเทพฯ เหมือนบิดา เมื่อบุตรทำผิดต่อบิดาแล้ว มารดาก็ต้องขอโทษ จึงให้เจ้าอนุวงศกลับมาสารภาพรับผิดต่อท่านแม่ทัพ ขอให้ช่วยพาตัวลงมาลุแก่โทษยังกรุงเทพฯ ทางโน้น พระเจ้าเวียดนำก็จะให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนเข้ามาทูลขอโทษด้วยอีกทางหนึ่ง พระยาพิไชยสงครามเห็นว่า ญวนแต่งข้าหลวงเข้ามาเจรจาเปนการในระหว่าง ๒ พระนครเช่นนั้น ก็เชื่อฟังคำญวน ยอมให้เจ้าอนุวงศกับพวกญวนพักรอเจ้าพระยาราชสุภาวดีอยู่ในเมืองเวียงจันท์ ส่วนเจ้าอนุวงศก็วางกิริยาอาการเปนไมตรีดีเหมือนอย่างเดิม พวกไทยที่อยู่เมืองเวียงจันท์ก็ตายใจ ไม่ระแวงว่า เจ้าอนุวงศจะคิดร้าย ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบว่า ญวนจะพาเจ้าอนุวงศกลับเข้ามา ก็รีบขึ้นไปจากหนองบัวลำภู ไปถึงเมืองพันพร้าวในวันรุ่งขึ้น เดือน ๘ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง กำลังหาเรือยังไม่ทันข้ามฟากไปเมืองเวียงจันท์ พอบ่าย ๔ โมงวันนั้น เจ้าอนุวงศก็คุมสมัคพรรคพวกเข้ากลุ้มรุมฆ่าไทยที่อยู่ในเมืองเวียงจันท์ พวกไทยไม่รู้ตัว ถูกฆ่าตายลงเปนอันมาก ที่หนีได้จะข้ามฟากกลับมาเมืองพันพร้าว เจ้าอนุวงศให้เก็บเรือซ่อนเสียหมด ต้องลงว่ายน้ำข้ามฟาก พวกเจ้าอนุวงศก็ลงเรือตามฆ่าฟันตายที่ในลำน้ำโขงอีกเกือบหมด พวกไทย ๓๐๐ เศษ หนีรอดมาได้เพียง ๔๕ คน ตัวนายตายหมด ไม่มีเหลือมาเลย เจ้าพระยาราชสุภาวดีอยู่ค่ายเมืองพันพร้าว ทราบว่าเกิดเหตุขึ้นดังนั้น พิเคราะห์ดูเห็นว่า กำลังที่มีอยู่ไม่พอจะต่อสู้พวกชาวเวียงจันท์ได้ ก็ยกจากเมืองพันพร้าวในค่ำวันนั้น ลัดทางตรงมายังเมืองยโสธร รีบรวบรวมรี้พลได้พอเปนกำลัง แล้วยกกลับขึ้นไป ฝ่ายเจ้าอนุวงศรู้ว่า เจ้าพระยาราชสุภาวดีหนีได้ทัน ก็รวบรวมกำลังเปนกองทัพให้เจ้าราชวงศรีบยกตามลงมา หมายจะจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี กองทัพเจ้าราชวงศลงมาปะทะกับทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่บ้านบกหวาน (ใกล้เมืองอุดรธานีบัดนี้) ได้รบพุ่งกันเปนสามารถถึงตลุมบอน ในขณะที่รบกันนั้น เจ้าราชวงศกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีต่างบังพุ่มไม้ขับพลไปเจอกันเข้า เจ้าราชวงศเห็นก่อน ก็แทงเจ้าพระยาราชสุภาวดีถูกที่ท้องล้มลง หลวงพิพิธ น้องชายเจ้าพระยาราชสุภาวดี เข้าไปแก้ ถูกฟันตายอยู่กับที่ เจ้าราชวงศจะเข้ามาฟันซ้ำเจ้าพระยาราชสุภาวดี ทนายเอาปืนยิงถูกเข่าเจ้าราชวงศล้มลง พวกบ่าวกลัวเจ้าราชวงศจะเปนอันตราย ก็ช่วยกันยกขึ้นบ่าพาหนีไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีลุกขึ้นได้ คลำดูแผลที่ถูกแทง เห็นท้องไม่ทลุ ก็เอาผ้าพันแผล แล้วขึ้นแคร่ให้คนหามตามตีทัพเจ้าราชวงศจนแตกฉาน แล้วรีบยกตามขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ ฝ่ายเจ้าอนุวงศรู้ว่า กองทัพเจ้าราชวงศมาแพ้เจ้าพระยาราชสุภาวดี ก็รีบพาครอบครัวหนีไปยังเมืองพวน เจ้าพระยาราชสุภาวดีให้ออกเที่ยวติดตามจับได้ตัวเจ้าอนุวงศกับเจ้าสิทธิสาร แต่เจ้าราชวงศนั้นเลยหายสูญไป จะหนีรอดหรือตายด้วยบาดแผลหาปรากฎไม่ การครั้งปราบขบถเวียงจันท์ระยะหลังหมดเพียงนี้


  1. ในหนังสือพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศว่า กรมพระราชวังบวรฯ ตั้งประชุมพลที่ท่าเรือพระพุทธบาท แต่ได้ความในโคลงนิราสอีกเรื่องหนึ่งว่า ตั้งที่เมืองสระบุรี
  2. คือ เมืองหล่มเก่า อยู่เหนือเมืองหล่มสักซึ่งตั้งขึ้นใหม่เมื่อเสร็จการปราบขบถเวียงจันท์
  3. ชื่อที่เรียกว่า ช่องเรือแตก นี้ สืบไม่ได้ความแน่ว่า จะเปนทางไหน ทางช่องเขาบรรทัดที่จะขึ้นจากเมืองปราจิณบุรีมี ๓ ช่อง เรียกกันในท้องที่ว่า ช่องสะแกราด ช่อง ๑ ช่องบุกขนุน ช่อง ๑ ช่องตะโก ช่อง ๑ เข้าใจว่า ที่เรียกว่า ช่องเรือแตก นั้น คงเปนช่องใดช่องหนึ่งใน ๓ ช่องนี้
  4. ตัวเจ้าอุปราชติสสะเองไม่เต็มใจเปนขบถ คิดอุบายหลีกเลี่ยงตัวเสีย ภายหลัง เข้ามาหากองทัพโดยดี
  5. จะเปนพระองค์เจ้าขุนเณร น้องกรมพระราชวัง ที่เคยคุมกองโจรครั้งรบพม่าที่ลาดหญ้าในรัชกาลที่ ๑ หรือพระองคืเจ้าขุนเณรในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สงสัยอยู่