ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานกฎหมายเมืองไทย และประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
หลวงอินทอาญา (พงษ์ ณ นคร)
หลวงอินทอาญา (พงษ์ ณ นคร)
  • หลวงอินทอาญา (พงษ์ ณ นคร)
  • ๒๔๒๕–๒๔๙๓

ประวัติหลวงอินทอาญา

หลวงอินทอาญา นามเดิม พงษ์ ณ นคร เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๒๕ ณ บ้านตำบลในเมือง อำเภอตลาดใหญ่ จังหวัดตะกั่วป่า เป็นบุตร์คนสุดท้องของพระเรืองฤทธิ์รักษาราษฎร์ (พัน) มารดาชื่อ เหี้ยง บิดาเป็นผู้ช่วยราชการจังหวัดตะกั่วป่าในเวลานั้น กำพร้าบิดาตั้งแต่อายุราว ๖–๗ ขวบ

เริ่มการศึกษาเมื่อปี ๒๔๓๒ ที่วัดใหม่ เมืองตะกั่วป่า พระครูอุดมปัญญาเป็นอาจารย์ ได้เรียนหนังสือไทยกับเลขที่สำนักนั้นจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้ออกไปศึกษาหนังสืออังกฤษที่โรงเรียนแองโกลไชนีสสกูลและโรงเรียนเซนเซเวียร์แอสอีสสติวเซนสกูลที่ปีนัง เรียนถึงชั้น ๖ ของโรงเรียนนั้น

เมื่อกลับมาเริ่มทำงาน รับราชการเป็นพนักงานรักษาเงินคลังเมืองตะกั่วป่า พ.ศ. ๒๔๔๔ เข้ามารับราชการในกรมรถไฟหลวง กรุงเทพฯ ในปีเดียวกันนั้น ได้ไปปฏิบัติราชการพิเศษเป็นล่ามภาษาอังกฤษของกรมพระแสงสรรพาวุธในการรับปืนและกระสุนปืนของรัฐบาลที่บรรทุกเรือมาจากประเทศญี่ปุ่นที่เกาะสีชัง ๑๕ วัน เมื่ออายุราว ๑๘ ปี ระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ มารดาถึงแก่กรรม จึงอยู่ในความอุปการดูแลของพี่สาวคนหัวปี คือ คุณหญิงพร้อม คงคาธราธิบดี ซึ่งเป็นพี่สาวคนเดียวเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่ด้วยกันมาจนเติบโต พี่คนอื่นถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์หมด

พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เข้ารับราชการกรมโทรเลข กระทรวงโยธาธิการ ระหว่างนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ ทรงกรุณาให้อยู่ในวังของพระองค์ท่านที่ตำบลเสาชิงช้า (จนกระทั่งออกไปเป็นผู้พิพากษาศาลเมืองพุมเรียงในภายหลัง) เริ่มเข้าศึกษาวิชากฎหมายในโรงเรียนกฎหมายเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๔๕ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๗ เสด็จในกรมฯ ทรงฝากฝังให้เข้ารับราชการในกระทรวงยุตติธรรมเป็นเสมียนในกรมบัญชาการ พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้เลื่อนเป็นนายเวร สอบวิชากฎหมายชั้นต้นและความรู้ชั้นผู้พิพากษารองได้เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๕๐ ทางราชการได้ส่งไปช่วยพิจารณาความที่ศาลสโบริสภาที่ ๒ สิบวันเศษ แล้วให้ไปช่วยที่ศาลจังหวัดเพ็ชร์อยู่เดือนเศษ

ต่อมา กระทรวงยุตติธรรมได้มีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาไปรับราชการที่ศาลเมืองพุมเรียง (ไชยา) ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๕๐ จน พ.ศ. ๒๔๕๓ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดกำแพงเพ็ชร์ ระหว่างนั้น ทางราชการสั่งให้ไปช่วยพิจารณาความศาลจังหวัดตากอยู่ ๑๔ วัน พ.ศ. ๒๔๕๖ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดระนอง พ.ศ. ๒๔๖๑ ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลจันทบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๕ ทางราชการให้ไปช่วยพิจารณาความศาลจังหวัดระนอง ๒ เดือนเศษ พ.ศ. ๒๔๖๗ ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๔๗๓ ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลนครไชยศรี หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๔๗๖ ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรสงคราม จนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงออกจากราชการครบเกษียรอายุ

ยศและบรรดาศักดิ์

๒๔๕๔ ได้รับยศเป็นรองอำมาตย์เอก
๒๔๕๖ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุภาเสพ
๒๔๖๐ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอินทอาญา
๒๔๖๗ ได้รับยศเป็นอำมาตย์ตรี
เครื่องราชอิสสริยาภรณ์

๒๔๕๔ เหรียญพระบรมราชาภิเศกรัชกาลที่ ๖
"
เข็มไอยราพต
๒๔๕๙ วิจิตราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕
๒๔๖๙ เหรียญพระบรมราชาภิเศกรัชกาลที่ ๗
๒๔๗๔ เบญจมาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕
๒๔๗๕ เหรียญฉลองพระมหานคร (เงิน)
๒๔๗๗ เหรียญจักรพรรดิมาลา
๒๔๘๐ จัตุรถาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔

หลวงอินทอาญาได้ป่วยเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๔๙๒ ได้รับการผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชจนพ้นอันตรายจากโรคนั้น แต่คงเนื่องด้วยอายุวัยชรา ปรากฏว่า มีโรคไตพิการแทรกในภายหลัง และไม่ยอมอยู่รักษาตัวที่โรงพยาลนั้นอีกต่อไป บุตรและญาติจึงจำต้องรับกลับมารักษาตัวที่บ้านถนนลาดหญ้า จังหวัดธนบุรี อยู่ได้ ๒ วันก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๙๒ สิริอายุได้ ๖๗ ปีเศษ.