ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานกฎหมายเมืองไทย และประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์/เรื่อง 1

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ตำนานกฎหมายเมืองไทย


ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐโปรดให้ตั้ง "พระราชกำหนดกฎหมายพระอัยยการ" ดังนี้ จะหมายความว่ากระไรเข้าใจยากอยู่ แต่ไม่ใช่พึ่งตั้งกฎหมายขึ้นในครั้งนั้นนั้นเป็นแน่ เพราะกฎหมายเป็นของคู่กับประชาชน ประชุมชนมีมาแต่เมื่อใด กฎหมายก็ต้องมีมาแต่เมื่อนั้น เมื่อมนุษย์ยังไม่รู้จักใช้หนังสือ การรักษากฎหมายก็ใช้ท่องให้ขึ้นปากเจนใจเอาไปป่าวร้องแล้วมีเจ้าพนักงานจำไว้บอกเล่าสืบต่อกันมา เมื่อรู้จักหนังสือ ก็ใช้จดกฎหมายลงเป็นตัวหนังสือ แล้วคัดลอกบอกหมายส่งกันไปให้ป่าวร้อง และเขียนลงในสิ่งใด ๆ มีใบลานหรือกระดาษเป็นต้น เก็บรักษากฎหมายไว้ ประเพณีเป็นดังนี้มาทั่วทุกประเทศ

ในสยามประเทศนี้ เมื่อก่อนพุทธศักราช ๑๘๒๖ ยังไม่มีหนังสือไทย ใช้กันแต่หนังสือคฤนถ์ซึ่งพวกพราหมณ์พามาแต่อินเดีย หนังสือคฤนถ์นั้น ตามที่เคยเห็นศิลาจารึก เห็นใช้เขียนแต่ภาษามคธ ภาษาสังสกฤต และภาษาขอม ไม่เคยพบจารึกอักษรคฤนถ์เป็นภาษาไทยเลย แต่บางทีจะเขียนภาษาไทยอย่างหนังสือขอมเขียนแปลร้อยได้ในครั้งนั้นแล้ว เข้าใจว่า กฎหมายไทยที่ตั้งขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีตอนก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ เห็นจะต้องให้แปลกลับเป็นภาษาขอมหรือภาษาสังสกฤต หรือบางทีจะมีวิธีเขียนภาษาไทยด้วยตัวหนังสือคฤนถ์แปลร้อยได้ แต่การจดลงเป็นหนังสือ[1] ไม่ว่าภาษาใด คงเป็นหน้าที่พราหมณ์ เพราะผู้ที่รู้หนังสือและเจ้าตำรับกฎหมายในเวลานั้นมีอยู่แต่ในพวกพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้ พราหมณ์จึงเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมายมาแต่โบราณ แม้จะดูในทำเนียบศักดินาพลเรือนในกฎหมายที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง ที่สูงศักดิ ชื่อเป็นพราหมณ์ทั้งนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าพระองค์ที่มีพระนามจารึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกในหนังสืออื่น มีหนังสือชินกาลมาลินีเป็นต้น ว่า พระยารามราช เป็นผู้คิดหนังสือไทยขึ้นเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๖๔๕ มหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖ (ตัวอย่างหนังสือไทยของสมเด็จพระร่วงเจ้า จารึกหลักศิลามีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณทุกวันนี้) เมื่อมีหนังสือไทยขึ้นแล้ว กฎหมายก็ตั้งขึ้นต่อมา หรือกฎหมายเก่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้เริ่มจดลงและรักษามาในหนังสือไทย แต่ความรู้หนังสือไทยแพร่หลายเร็วมาก ข้อนี้มีพะยานเห็นได้ด้วยศิลาจารึกภาษาไทยรุ่นเก่าใช้ตัวหนังสือไทยตามแบบของพระเจ้าขุนรามคำแหงทั่วทุกเมืองในอาณาจักร์ลานนาไทยตลอดขึ้นไปจนกรุงศรีสัตนาคนหุต เพราะความต้องการหนังสือสำหรับเขียนภาษาไทยมีอยู่ด้วยกันทุกประเทศที่ชาติไทยได้เป็นใหญ่ เมื่อเกิดแบบตัวหนังสือมีขึ้น ทุกประเทศก็ยอมรับใช้หนังสือนั้นโดยเห็นประโยชน์ มิต้องมีผู้ใดบังคับบัญชา

ขณะเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา แม้หนังสือไทยพึ่งมีขึ้นได้เพียง ๖๗ ปี ก็เชื่อได้ว่า คงจะได้ใช้ตลอดลงมาจนถึงเมืองอู่ทองแล้ว บรรดากฎหมายที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามา เข้าใจว่า เขียนเป็นหนังสือไทยทั้งนั้น แต่ประหลาดอยู่หน่อยที่ข้าพเจ้ายังได้พบพระราชกฤษฎีกาเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาและแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐมีที่เมืองพัทลุงเขียนเส้นดินสอดำในกระดาษ ยังใช้อักษรและภาษาเขมรหลายฉะบับ จะเป็นด้วยเหตุใด ข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็นจนทุกวันนี้ ได้ให้ต้นหนังสือนั้นไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ ผู้ใดจะตรวจดูก็ได้

กฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เราจะรู้ได้ในเวลานี้อยู่ในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่ม ซึ่งต้นฉะบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระเรียบเรียงไว้เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ และหมอบรัดเลได้พิมพ์จำหน่ายในครั้งแรกเมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ. ๒๔๑๖ ยังมีกฎหมายครั้งกรุงเก่าที่ไม่ได้พบหรือไม่เอาเข้าเรื่องเมื่อชำระกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ อยู่อีกบ้าง หอพระสมุดได้ไว้สัก ๒–๓ เล่ม ลักษณะทำกฎหมายแต่โบราณมาคงจะทำเป็นชั้น ๆ ดังนี้ คือ

ชั้นที่เมื่อแรกตั้งกฎหมาย ตั้งด้วยประกาศพระราชกฤษฎีกาบอกวันคืน เหตุผล และพระราชนิยม อย่างพระราชกฤษฎีกาที่ยังแลเห็นได้ในพระราชกำหนดเก่า พระราชกำหนดใหม่ และกฎหมายพระสงฆ์ เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่แรกตั้งอย่างนั้น

ชั้นที่เมื่อพระราชกฤษฎีกามีมาก ๆ เข้า จะสอบค้นยาก จึงตัดทอนพระราชกฤษฎีกาเก่า คงไว้แต่ใจความเป็นย่ออย่างกลาง ดังจะเห็นได้ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ และกฎหมายหมวดพระราชบัญญัติ

ชั้นที่เพื่อจะจัดระเบียบกฎหมายเก่าให้สะดวกแก่สุภาตุลาการให้ค้นได้โดยง่าย นาน ๆ จึงมีการชำระกฎหมายครั้ง ๑ อย่างเราเรียกทุกวันนี้ว่า ทำประมวลกฎหมาย คือ รวบรวมกฎหมายเก่าจัดเป็นหมวด ๆ ตามลักษณความ ตัดเหตุผลวันคืนที่ตั้งกฎหมายออกเสีย คงไว้แต่ใจความซึ่งเป็นพระราชนิยม เรียงเข้าลำดับเป็นมาตรา ๆ ในลักษณะนั้น ๆ

วิธีชำระกฎหมายดังกล่าวมานี้สำหรับทำแต่กฎหมายเก่าที่ตั้งมานาน ๆ แล้ว แต่กฎหมายที่ออกใหม่ก็ยังคงออกอย่างพระราชกฤษฎีกาตามเดิม ทำอย่างนี้เป็นวิธีมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งหลังที่สุด การชำระกฎหมายได้ทำเมื่อปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้น หนังสือกฎหมายครั้งกรุงเก่าคงจะเป็นอันตรายหายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงฯ เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรวบรวมค้นหาได้เท่าใด ก็เอามาเรียบเรียงตรวจแก้ตัดทอดทำเป็นกฎหมายฉะบับหลวงขึ้นใหม่ คือ ฉะบับพิมพ์เป็น ๒ เล่มนั้น มีกฎหมายชั้นกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ในนั้น ๔ ลักษณะ คือ (๑) พระราชบัญญัติ (๒) กฎหมายพระสงฆ์ (๓) พระราชกำหนดใหม่ ๓ ลักษณะนี้ตั้งในรัชกาลที่ ๑ กับ (๔) ลักษณะโจร ๕ เส้น ตั้งในรัชกาลที่ ๓ รวมเข้าเมื่อพิมพ์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ กฎหมาย ๒ เล่มพิมพ์นั้น เชื่อได้ว่า คงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า และเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก จะเห็นได้ว่า กฎหมายตอนปลายกรุงเก่าที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณะตามประมวลก็มี คือ กฎหมาย ๓๖ ข้อ และมีกฎหมายที่ยังเป็นพระราชกฤษฎีกายังไม่ได้ตัดความทีเดียวอยู่ในพระราชกำหนดเก่าก็อีกหลายสิบบท

วันคืนที่ใช้ในกฎหมายครั้งเก่า วิธีนับรอบปีตามนักษัตร คือ ชวด ฉลู เป็นต้น รู้ได้แน่ว่า ใช้มาแต่ครั้งสุโขไทยแล้ว ด้วยมีปรากฏในศิลาจารึกตั้งแต่ครั้งพระเจ้าขุนรามคำแหง วิธีนับสัปตวาร คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ เป็นต้น และนับเดือนตามจันทรคติ ก็ใช้มาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ด้วยปรากฏในศิลาจารึกเหมือนกัน แต่ศักราชครั้งสุโขทัยใช้มหาศักราช ถึงศิลาจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาชั้นต้นเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็ใช้มหาศักราช แต่ศักราชที่ปรากฎอยู่ในบานแผนกกฎหมายดูใช้ศักราชหลายอย่างปะปนกัน แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ใช้พุทธศักราช รัชชกาลต่อ ๆ มาใช้พุทธศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง จุลศักราชบ้าง และยังมีศักราชอีกอย่างหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ายังทราบไม่ได้ว่า ศักราชอะไร โหรเรียกว่า ศักราชจุฬามณี แต่สืบเอาเรื่องเอาเกณฑ์จากโหรยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเรียกไว้ว่า "ศักราชกฎหมาย" ศักราชทั้ง ๔ อย่างนี้จะสอบในหนังสือกฎหมายให้ได้ความว่า แผ่นดินไหนใช้ศักราชอะไร รู้ไม่ได้ ด้วยบานแผนกกฎหมายในแผ่นดินเดียวกันใช้ศักราชต่างกันก็มี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ศักราชในบานแผนกกฎหมายสับสนกันไป จะเป็นเพราะเมื่อเวลาชำระหรือคัดเขียนหนังสือกฎหมายในชั้นหลัง ๆ ผู้คัดอยากจะให้เข้าใจง่าย เลยคิดคำนวณบวกทอนศักราชซึ่งผิดกันกับอย่างที่ใช้อยู่ในเวลานั้นเปลี่ยนให้เป็นอย่างเดียวกัน จับผิดได้ที่ปีนักษัตรที่ควรเป็นคู่ ลงศกและศักราชเป็นคี่มีอยู่หลายแห่ง ยังเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลบศักราชเอาปีกุญเป็นสัมฤทธิศก ก็ทำให้ศักราชเคลื่อนไป ๒ ปี ศักราชที่ใช้ในบานแผนกกฎหมายทั้ง ๔ อย่างสอบได้ดังนี้ คือ (๑) พระพุทธศักราชในกฎหมาย ต้องใช้เกณฑ์เลข ๑๑๘๒ ลบเป็นจุลศักราช (๒) มหาศักราชในกฎหมาย ต้องใช้เกณฑ์ ๕๕๘ ลบเป็นจุลศักราช (๓) ศักราชกฎหมาย (ปรากฏในบานแผนกแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ข้าพเจ้าได้ลองสอบดู น้อยกว่ามหาศักราช ๓๐๐ ปีถ้วน) ลบด้วยเกณฑ์เลข ๒๕๘ เป็นจุลศักราช (๔) จุลศักราชเป็นศักราชที่ตั้งขึ้นในเมืองพะม่าก่อน น่าจะพึ่งเอาเข้ามาใช้ในราชการเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชตั้งแต่เกี่ยวข้องกับเมืองหงสาวดี

บานแผนกในกฎหมาย ใช้พุทธศักราชและมหาศักราชลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่นั้นมา เป็นจุลศักราชเป็นพื้น

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ตั้งเป็นอิสสระณกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องตั้งแบบแผนพระราชประเพณีและพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับพระนคร กฎหมายที่ตั้งครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จะมีอะไรบ้าง รู้ไม่ได้หมดอยู่เอง แต่ตรวจดูตามบานแผนกในกฎหมาย ๒ เล่ม ได้ความว่า กฎหมายเหล่านี้ได้มีมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือ

ลักษณพยาน ตั้งเมื่อปีขาล โทศก พ.ศ. ๑๘๙๔ (จุลศักราช ๗๑๒)

ลักษณอาญาหลวง กำหนดโทษ ๑๐ สถาน ตั้งเมื่อปีเถาะ ตรีศก พ.ศ. ๑๘๙๕ (จุลศักราช ๗๑๓)

ลักษณรับฟ้อง ตั้งเมื่อปีมะแม สัปตศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๗)

ลักษณลักพา ตั้งเมื่อปีมะแม สัปตศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๗)

ลักษณอาญาราษฎร์ ตั้งเมื่อปีระกา นพศก พ.ศ. ๑๙๐๑ (จุลศักราช ๗๑๙)

ลักษณโจร ตั้งเมื่อปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๙๐๓ (จุลศักราช ๗๒๑)

ลักษณเบ็ดเสร็จ ว่าด้วยที่ดิน ตั้งเมื่อปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๙๐๓ (จุลศักราช ๗๒๑)

ลักษณผัวเมีย ตั้งเมื่อปีชวด โทศก พ.ศ. ๑๙๐๔ (จุลศักราช ๗๒๒)

ลักษณผัวมีย อีกตอน ๑ ตั้งเมื่อปีฉลู ตรีศก พ.ศ. ๑๙๐๕ (จุลศักราช ๗๒๓)

ลักษณโจร ว่าด้วยสมโจร ตั้งเมื่อปีมะเมีย อัฐศก พ.ศ. ๑๙๑๐ (จุลศักราช ๗๒๘)

กฎหมายรัชกาลอื่น ๆ ครั้งกรุงเก่าที่มีบานแผนกและศักราชบอกไว้ ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ๒ เล่มดังนี้

แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒

กฎหมายลักษณอาญาศึก (อยู่ในลักษณขบถศึก) ตั้งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ (สงสัยว่า จะเป็นปีขาล จุลศักราช ๘๕๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ด้วยกล่าวถึงศักดินามีในกฎหมายนั้น)

แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ

ทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ตั้งเมื่อปีจอ พุทธศักราช ๑๙๙๘ (จุลศักราช ๘๑๖)

ทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตั้งเมื่อปีจอ ฉศก พุทธศักราช ๑๙๙๘ (จุลศักราช ๘๑๖)

ลักษณขบถ (อยู่ในลักษณขบถศึก) ตั้งเมื่อปีฉลู มหาศักราช ๑๓๗๓ จุลศักราช ๘๑๙

เพิ่มเติมลักษณอาชญาหลวง ไม่ปรากฏวัน

กฎมณเฑียรบาล ตั้งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๒๐

แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

เพิ่มเติมลักษณรับฟ้อง เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๑๙๕๖ (จุลศักราช ๘๗๔)

แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช

ลักษณพิศูจน์ ตั้งเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๘๙๗ (ที่พระเทียรราชาเสี่ยงเทียน เห็นจะเป็นเวลากำลังนิยมกันด้วยเรื่องพิศูจน์ เสี่ยงเทียนอยู่ในวิธีพิศูจน์อย่าง ๑)

แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

เพิ่มเติมลักษณอาญาหลวง เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๐๙๓ (จุลศักราช ๙๑๒)

สมเด็จพระเอกาทศรฐ
(ตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร)

พระราชกฤษฎีกาบำเหน็จศึก (อยู่ในลักษณขบถศึก) ตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

พระธรรมนูญกระทรวงศาล ตั้งเมื่อปีชวด ศักราชกฎหมาย ๑๒๔๔ (จุลศักราช ๙๘๖)

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

พิกัดเกษียณอายุ ตั้งเมื่อปีระกา จุลศักราช ๙๙๕

ลักษณอุทธรณ์ ตั้งเมื่อปีกุน มหาศักราช ๑๕๕๕ (จุลศักราช ๙๙๗)

พระธรรมนูญตรากระทรวง ตั้งเมื่อปีกุน สัปตศก มหาศักราช ๑๕๕๕ (จุลศักราช ๙๙๗)

ลักษณทาส ตั้งเมื่อปีฉลู นพศก มหาศักราช ๑๕๕๗ (จุลศักราช ๙๙๙)

เพิ่มเติมลักษณทาส เมื่อปีกุน เบญจศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๖๓ (จุลศักราช ๑๐๐๕ ควรเป็นปีมะแม)

ในพระราชกำหนดเก่า บท ๑ ปีมะแม เบญจศก จุลศักราช ๑๐๐๕

เพิ่มในลักษณอาชญาหลวง ห้ามไม่ให้ยกลูกสาวให้ชาวต่างประเทศ เมื่อปีกุน นพศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๖๗ (จุลศักราช ๑๐๐๙)

ลักษณกู้หนี้ ตั้งเมื่อปีชวด สัมฤทธิศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๖๘ (จุลศักราช ๑๐๑๐)

พระราชกำหนดเก่า บท ๑ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๐๑๑ กฎหมาย ๓๖ ข้อ บท ๑ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๐๑๒

แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เพิ่มเติมลักษณรับฟ้อง เมื่อปีกุน ตรีศุก มหาศักราช ๑๕๙๑ (จุลศักราช ๑๐๓๓)

ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๑๒ บท ระวางปีมะโรง จุลศักราช ๑๐๒๖ จนปีเถาะ จุลศักราช ๑๐๔๙

พระราชกำหนดเก่า ๔ บท ระวางปีจอ จุลศักราช ๑๐๓๒ จนปีเถาะ จุลศักราช ๑๐๓๔

แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา

มูลคดีวิวาท ว่าด้วยตัดสินปันหมู่ ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๕๒

ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ บท ๑ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๕๔

ลักษณตุลาการ ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๕๘

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๑๘ บท ระวางปีฉลู จุลศักราช ๑๐๗๑ จนปีมะแม จุลศักราช ๑๐๘๙

เพิ่มเติมลักษณตุลาการ เมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๐๙๐

เพิ่มเติมมูลคดีวิวาท ว่าด้วยปันสมรส ตั้งเมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓

พระราชกำหนดเก่า ๒๕ บท ระวางปีกุน จุลศักราช ๑๐๖๙ จนปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ

เพิ่มเติมมูลคดีวิวาท ว่าด้วยจำหน่ายเลข เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕

ลักษณวิวาท ตั้งเมื่อปีมะเส็ง เอกศก ศักราชกฎหมาย ๑๓๖๙ (จุลศักราช ๑๑๑๑)

เพิ่มเติมลักษณทาส เมื่อปีกุน สัปตศก ศักราชกฎหมาย (เข้าใจว่า ๑๓๗๕ จุลศักราช ๑๑๑๗)

ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๕ บท ระวางปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕ จนปีจอ จุลศักราช ๑๑๑๖

พระราชกำหนดเก่า ๒๖ บท ระวางปีฉลู จุลศักราช ๑๑๑๙ จนปีขาล จุลศักราช ๑๑๒๐

สารบาญกฎหมายครั้งกรุงเก่าที่กล่าวมานี้ ตามที่ตรวจดู เท่าที่รู้ได้ในกฎหมาย ๒ เล่ม ยังมีบานแผนกบางแห่งที่ศักราชและปีวิปลาศ ไม่แน่ใจว่จะเป็นในแผ่นดินไหน จึงไม่ได้เอามาลงไว้ ผู้อ่านสารบาญนี้ควรสังเกตแต่เค้าความว่า กฎหมายกรุงเก่าที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้ตั้งในแผ่นดินใด ๆ บ้าง แต่จะเข้าใจไปว่า แผ่นดินนั้นนั้นจะได้ตั้งแต่กฎหมายซึ่งกล่าวในสารบาญนี้เท่านั้นก็ดี หรือกฎหมายลักษณใดที่กล่าวไว่ในสารบาญว่า ตั้งในแผ่นดินใด จะพึงมีแต่แผ่นดินนั้นก็ดี นั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เราได้เห็นพิมพ์ไว้ในกฎหมาย ๒ เล่ม เป็นของที่ได้ตัดทอนแก้ไข เรียกรวมโดยนามว่า "ชำระ" มาหลายครั้งหลายคราว

ลักษณจัดหมวดประมวลกฎหมายครั้งกรุงเก่า อย่างเห็นในกฎหมายฉะบับพิมพ์ ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูตามรูปกฎหมายและเนื้อความที่ปรากฏในหมวดพระธรรมศาสตร์ ทำให้เข้าใจว่า แต่เดิม ประมวลกฎหมายไทยเห็นจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ชัด อยู่มาในกาลครั้ง ๑ น่าจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ซึ่งแปลเป็นภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย และมีผู้มาแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องในพระราชพงศาวดาร ก็น่ายุตติว่า คงจะแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉะนั้น ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึก เห็นจะไม่มีเวลาแปล

ที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ของพระมโนสาร หรือ มนู นี้ เป็นต้นเค้าของกฎหมายในมัธยมประเทศ เป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่โตมาก ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิมมอญได้มาเป็นภาษาสังสกฤต มีพระภิกษุรูป ๑ มาแปลออกเป็นภาษามคธที่เมืองรามัญ (แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกที ๑) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญ พึ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียเป็นอันมาก มีภาษามคธชั่วแต่มาติกากฎหมาย นอกนั้นเป็นภาษารามัญ ได้วานพระเทวโลก แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป[2] ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ แปลออกดู ได้ความตามมาติกามูลคดีวิวาทของรามัญตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญถึงเรื่องพระเจ้ามหาสมมตราชตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศซึ่งเป็นภาษาสังสกฤตเป็นหนังสือในศาสนาพราหมณ์และเป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่ เมื่อพระเอามาแปลที่เมืองรามัญ จะเลือกแปลแต่บางแห่ง และแปลงเนื้อความที่แปลนั้นให้เป็นหนังสือฝ่ายพระพุทธศาสนาด้วย ไทยเราได้พระธรรมศาสตร์มาจากมอญ ดังปรากฏอยู่ในคาถาคำนมัสการข้างต้น เห็นจะได้มาเมื่อกฎหมายไทยเรามีเป็นแบบแผนและจัดเป็นหมวดหมู่อยู่อย่างอื่นแล้ว มาจัดเอาเข้ามาติกาพระธรรมศาสตร์เมื่อทีหลัง จึงเข้าไม่ได้สนิท ข้อนี้จะแลเห็นได้ถนัดในกฎหมาย แม้สังเกตแต่มาติกามูลคดี ๆ รามัญว่า มี ๑๘ เท่าธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ แต่มูลคดีในพระธรรมศาสตร์ไทยขยายออกไปเป็น ๒๙ เห็นผิดกันมากอยู่ดังนี้ จึงเข้าใจว่า เมื่อจะจัดกฎหมายไทยให้เป็นหมวดตามพระธรรมศาสตร์ จะเอาเข้าไม่ได้สนิท จึงทำอย่างขอไปที จะยกตัวอย่างมาไว้ให้ดูได้ดังนี้

ตตฺถ อฏฺฏา ทฺวิธา วุตฺตา มูลสาขปฺปเภทโต
มูลฏฺ ฐาสธา สาขา ติทินฺ นาทิอเนกธา
อิณํ ธนํ สนฺนิธานํ อสกํ ปริกีณิกํ
อธมฺมธนวิภาคํ ธนํ ทตฺวา ปจฺฉา คเณฺห
ภติกสฺส ปลิโภโธ พหุมชฺเฌสุ สมฺมุเข
ยํ วจนํ กเถตฺวาน ปจฺฉา ปุน กเถนฺติ ตํ
กีณิตฺวา ปุน อิจฺฉติ วิกีณิตฺวา วิวตฺตติ
ทฺวิปทา วา จตุปฺปทา สพฺเพ มนุสฺสภตฺติกา
ปฐวีวิภตฺติวาจา อญฺญํ โทสปโรหิตํ
ปรฆาตํ ฆรํ คจฺเฉ อิตฺถิปุริสวิกฺกเต
วิภตฺติ ธนเหตุ อกฺขวตฺตปริภาโค
เอเต มูลา อฏฺฐารส ธมฺมสตฺเถ ปกาสิตา

แปลเป็นมูลคดี ๑๘ อย่าง สอบกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศของอาจารย์แมกสมุเลอ ได้คำแปลดังนี้

อิณํ ธนํ หนี้สิน Nonpayment of debts.
สนฺนิธานํ ของฝาก Deposit and pledge.
อสกํ มิใช่ของตน Sale without ownership.
ปริกีณิตํ หุ้นส่วน Concerns among partners.
อธมฺมธนวิภาคํ แบ่งสินมิเป็นธรรม Partition of inheritance
ธนํ ทตฺวา ปจฺฉา คเณฺห ให้สินแก่เขาแล้วกลับคืนเอาเล่า Resumption of gift.
ภติกสฺส ปลิโพโธ ไม่ให้เงินค่าจ้าง Nonpayment of wages.
พหุมชฺเฌสุ สมฺมุเข ไม่ทำตามสัญญา Nonperformance of agreement
ยํ วจนํ กเถตฺวาน
ปจฺฉา ปน กเถนฺติตํ
กีณิตฺวา ปุนอิจฺฉติ ซื้อแล้วคืนเล่า Recission of sale and purchase.
๑๐ วิกีณิตฺวา วาวิวตฺตติ ขายแล้วอยากได้คืน
๑๑ ทฺวิปทา วา จตุปฺปทา วิวาทเหตุสวิญญาณกทรัพย์ Dispute between owner of cattle and his servants.
สพฺเพ มนุสฺสภตฺติกา
๑๒ ปฐวีวิภตฺติวาจา แบ่งที่ดินเรือกสวนไร่นา Dispute regarding boundaries
๑๓ อญฺญํ โทสปโรหิตํ ใส่ความท่าน Defamation.
๑๔ ปรฆาตํ ฆ่าฟันท่าน Assault, robbery and violence.
๑๕ ฆรํ คจฺเฉ ลัก ทำชู้ Theft and adultery.
๑๖ อิตฺถิปุริสวิกเต ลักษณผัวเมีย Duties of man and wife.
๑๗ วิภตฺติ ธนเหตุ ลักษณแบ่งสิน Partition of inheritance.
๑๘ อกขวตตปริภาโค ลักษณเล่นการพนัน Gambling and betting.

แสดงมูลแห่งตุลาการ ๑๐ ประการ

อินทฺภาโส ธมฺมานุญฺโญ สกฺขิเฉทโก
อญฺญมญฺญํ ปฏิภาโส ปฏิภาณญฺจ เฉทโก
อฏฺฏคาโห อฏฺฏกูโฏ ทณฺโฑ โจทกเฉทโก
อกฺขทสฺสาทสญฺเจว เอเต มูลา ปกิตฺติตา

มูลคดีแห่งตุลาการ ๑๐ ประการที่แปลไว้ในกฎหมาย เทียบด้วยกฎหมายกรุงเก่า เป็นดังนี้

อินฺทภโส อินฺทภาษ ได้แก่ ลักษณอินทภาษและลักษณตุลาการ
ธมฺมานุญฺโญ พระธรรมนูญ ได้แก่ พระธรรมนูญ
สกุขี พะยาน ได้แก่ ลักษณพะยาน
สกฺขิเฉทโก ตัดพะยาน เอาไว้ใน ลักษณรับฟ้อง
อญฺญมญฺญํ ปฏิภาโส แก้ต่างว่าต่าง เอาไว้ใน ลักษณรับฟ้อง
ปฏิภาณญฺจ เฉทโก ตัดสำนวน เอาไว้ใน ลักษณรับฟ้อง
อฏฺฏคาโห รับฟ้อง ได้แก่ ลักษณรับฟ้อง
อฏฺฏกูโฏ ประวิง เอาไว้ใน ลักษณรับฟ้อง
ทณฺโฑ พรหมทัณฑ์ เอาไว้ใน กรมศักดิ์
๑๐ โจทกเฉทโก ตัดฟ้อง เอาไว้ใน ลักษณรับฟ้อง
อิณญฺจ รญฺโญ ธนโจรหารํ อธมฺมทายชฺชวิภตฺตภาคํ
ปรสฺส ทานํ คหณํ ปุเนว ภติกอกฺขปฺปฏิจารธุตฺตา
ภณฺฌญฺจ เกยฺยาวิกยาวหารํ เขตฺตาทิอารามวนาทิฐานํ
ทาสึจ ทาสํ ปหรญฺจ ขุํสา ชายมฺปตีกสฺส วิปตฺติเภทา
สังคามโทสาปิจ ราชทุฏฺโฐ ราชาณสุํกาทิวิวาทปตฺโต
ปรมฺปสโยฺหปิ จ อตฺตาอาณํ อีติยกาโร วิวิโธ ปเรสํ
ฐานาวิติกฺกมฺมผลากเรน ปุตฺตาทิอาทาคมนา สเหว
เหตุํ ปฏิจฺจมฺมธิการณํ วา อคฺฆาปนายู จ ธนูปนิกฺขา
อาถพฺพนิกาปิ จ ภณฺฑเทยฺยํ เต ตาวกาลีกคณีวิภาคํ
ปจฺจุทฺธรนฺตํ ตุ วิวาทมูลา เอกูนตึสาทิวิธาปิ วุตฺตา
โปรากวีนา วรธมฺมสตฺเถติ

มูลคดีวิวาท ๒๙ ประการที่แปลไว้ในกฎหมาย เทียบด้วยกฎหมายกรุงเก่า เป็นดังนี้

อิณํ ธนํ กู้หนี้ ได้แก่ ลักษณกู้หนี้
รญฺโญ ธนโจรหารํ ฉ้อพระราชทรัพย์ เอาไว้ใน ลักษณอาชญาหลวง
อธมฺมทายชฺชวิภตฺตภาคํ มรฎก ได้แก่ ลักษณมรดก
ปรสฺสํ ทานํ คหณํ ปุเนว ให้ปัน เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
ภติกา จ้างวาน เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
อกฺขปฺปฏิจารธุตฺตา เล่นพนัน เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
ภณฺฑญฺจ เกยฺยาวิกยํ ซื้อขาย เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
อวหารํ โจรกรรม ได้แก่ ลักษณโจร
เขตฺตาทิฐานํ ที่นา เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๑๐ อารามวนาทิฐานํ ที่สวน เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๑๑ ทาสึ ทาสํ ทาส ได้แก่ ลักษณทาส
๑๒ ปหรญฺจ ขุํสา ตบตีด่าว่า ได้แก่ ลักษณวิวาท
๑๓ ชายมฺปติกสฺส วิปตฺติเภทา ผัวเมีย ได้แก่ ลักษณผัวเมีย
๑๔ สงคามโทสา สงคราม ได้แก่ ลักษณอาชญาศึก
อยู่ในลักษณขบถศึก
๑๕ ราชทุฏฺโฐ ขบถ ได้แก่ ลักษณขบถ อยู่ใน
ลักษณขบถศึก
๑๖ ราชาณฺ ละเมิดพระราชบัญญัติ ได้แก่ ลักษณอาชญาหลวง
๑๗ สุํกาทิวิวาทปตฺโต อากรขนอนตลาด เอาไว้ใน ลักษณอาชญาหลวง
๑๘ ปรมฺปสโยฺห ข่มเหงท่าน ได้แก่ ลักษณอาชญาราษฎร์
๑๙ อีติยกาโร ที่กระหนาบคาบเกี่ยว เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๒๐ ฐานาวิติกฺกมฺมพลากร บุกรุก เอาไว้ใน ลักษณอาชญาราษฎร์
๒๑ ปุตตาทิอาทาคมนา สเหว ลักพา ได้แก่ ลักษณลักพา
๒๒ เหตุํ ปฏิจฺจ อธิกรณํ สาเหตุ เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๒๓ อคฺฆาปนายู เกษียณอายุ ได้แก่ กรมศักดิ์
๒๔ ธนูปนิกฺขา ฝากทรัพย์ เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๒๕ อาถพฺพนิกา กระทำกฤตยาคม เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๒๖ ภณฺฑเทยฺยํ เช่า เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๒๗ ตาวกาลิกํ ยืม เอาไว้ใน ลักษณเบ็ดเสร็จ
๒๘ คณีวิภาคํ ปันหมู่ชา ให้แก่ มูลคดีวิวาท
๒๙ ปจฺจุทธรนฺตํ อุทธรณ์ ได้แก่ ลักษณอุทธรณ์

กฎหมายกรุงเก่าอยู่นอกมาติกานี้ มีพระธรรมศาสตร์เพราะเป็นต้นมาติกา ๑ กฎมณเฑียรบาล ๑

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐทรงตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยยการ น่าเข้าใจว่า จะจัดประมวลกฎหมายเข้ามาติกาธรรมศาสตร์อย่างว่ามานี้เอง แต่เมื่อข้าพเจ้าไปกราบทูลหาเรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีรับสั่งว่า คาถาที่ปรากฏในกฎหมายไทย ตั้งแต่คำนมัสการจนพระธรรมศาสตร์ สำนวนภาษามคธวิปลาศไม่เรียบร้อย คล้ายกับคาถาคำนมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง เกือบจะสันนิษฐานว่า ผู้แต่งเป็นคนเดียวกันได้ ดังนี้

ทางภาษาในหนังสือเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยเวลาและประเภทที่แต่งหนังสืออยู่อย่าง ๑ ซึ่งจะไม่นำพาไม่ได้ เมื่อปรากฏว่า มีคาถาซึ่งแต่งครั้งสุโขทัย (คือ คาถานมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง) แห่ง ๑ และคาถาในพระธรรมศาสตร์กฎหมายไทยอีกแห่ง ๑ เป็นสำนวนเดียวกัน ถ้าเชื่อว่า คาถาไตรภูมิพระร่วงแต่งครั้งสุโขทัย ก็จะเชื่อว่า คาถาพระธรรมศาสตร์ไทยแต่งครั้งสมเด็จพระเอกาทศรฐไม่ได้อยู่เอง เพราะห่างกันหลายร้อยปีนัก จะว่า ได้พระธรรมศาสตร์ฉะบับรามัญเข้ามาแต่ครั้งสุโขทัย แต่งคาถาพระธรรมศาสตร์ไทยขึ้นคราว ๆ เดียวกัน จัดกฎหมายเข้าเป็นหมวดหมู่ตามพระธรรมศาสตร์อย่างกล่าวมาแล้วแต่ครั้งสุโขทัย ส่วนข้างภาษาไทยในกฎหมาย ก็เห็นได้ว่า โดยมากเป็นของแต่งใหม่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นข้อขัดข้องแก่การที่จะตัดสินอยู่ มีทางที่จะสันนิษฐานอีกอย่าง ๑ คือ คาถาคำนมัสการเรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้น ของเดิมภาษามคธจะไม่มี จะพึ่งมาแต่งขึ้นใหม่ในครั้งกรุงเก่า ถ้าเช่นนั้น ความสันนิษฐานที่ว่า พึ่งจัดกฎหมายเข้าหมวดพระธรรมศาสตร์เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐพอจะเป็นได้ การสอบกฎหมายทางที่เนื่องด้วยพงศาวดารดังอธิบายมานี้แสดงโดยอัตโนมัติของข้าพเจ้า อาจจะผิดจะพลาดได้ ถ้าผิดพลาดไป ข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่านผู้อ่าน.


  1. เมื่อไม่ช้ามานัก ในปีนี้ พนักงานกรมทางพบศิลาจารึกอักษรไทยที่เมืองสุโขทัยแผ่น ๑ นำมาส่งราชบัณฑิตยสภา ตรวจได้ความว่า เป็นกฎหมายลักษณโจร พระเจ้าเลอไทย ราชโอรสซึ่งรับรัชทายาทพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ให้จารึกไว้เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๘๗ ราชบัณฑิตยสภากำลังตรวจพิเคราะห์ว่า การตั้งกฎหมายในสมัยนั้นจะใช้จารึกศิลาปักโฆษณาหรืออย่างไร ยังไม่ยุตติความเห็นลงเป็นแน่
  2. เดี๋ยวนี้เป็นพระยาโหราธิบดี