ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ราชบัณฑิตยสภาเลือกเรื่องหนังสือและจัดการพิมพ์เพื่อพระราชทานแจกในงานศพคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา (นิติ) ตจ. รัตน ปปร ๔. นางสนองพระโอษฐของสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งไปถึงอนิจจกรรมในเวลาโดยเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นเจ้าภาพงานศพนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้เลือกเรื่องหนังสือ คิดเห็นว่า งานศพคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ คงจะมีคนไปช่วยมาก ทั้งที่เป็นไทยและเป็นชาวต่างประเทศ เพราะพระยาและคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ มีผู้ชอบพอมากในบุคคลทั้งสองจำพวก อีกประการหนึ่ง งานศพคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ เป็นงานพิเศษคล้ายกับงานหลวง ด้วยทรงพระมหากรุณาฯ มีผู้อนุโมทนาในพระราชกุศลอยู่แพร่หลาย คงจะมีคนไปมาก หนังสือแจกควรจะให้พอใจอ่านทั่วไปในบุคคลทุกจำพวกนั้น ๆ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูเห็นว่า หนังสือ อธิบาย เรื่อง เครื่องมโหรีปี่พาทย์ไทย ที่ข้าพเจ้าได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ จะเหมาะแก่การดี ด้วยเป็นหนังสือให้ประโยชน์ในทางความรู้ แต่เมื่อพิมพ์ครั้งแรก ความที่กล่าวในเรื่อง และรูปภาพที่ทำขึ้นแสดงในครั้งนั้น ยังบกพร่อง ไม่สู้ดีนัก ถึงกระนั้น ชาวต่างประเทศก็ได้ขออนุญาตเอาหนังสือเรื่องนี้ไปแปลพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสที่เมืองไซ่ง่อนและภาษาดัชที่กรุงเฮคแล้วถึง ๒ ภาษา ถ้าแต่งชำระหนังสือนั้นและทำรูปภาพใหม่ให้บริบูรณ์ดีขึ้น และแปลเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นด้วยในฉะบับที่พิมพ์ใหม่ ก็จะพอใจของผู้ที่จะได้รับพระราชทานทั่วกัน ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว ราชบัณฑิตยสภาจึงได้พิมพ์หนังสืออธิบายเครื่องมโหรีปี่พาทย์ฉะบับนี้ขึ้นใหม่

การพิมพ์หนังสืออธิบายเครื่องมโหรีปี่พาทย์ฉะบับหลวงครั้งนี้ ส่วนตัวเรื่อง ข้าพเจ้าได้ตรวจชำระใหม่ตลอดแต่ต้นจนปลาย และได้แปลเป็นภาษาอังกฤษในราชบัณฑิตยสภา ส่วนรูปภาพที่พิมพ์ในฉะบับนี้ทำขึ้นใหม่ในคราวนี้ทั้งหมด ด้วยได้อาศัยเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน เสนาบดีกระทรวงวัง จัดผู้ชำนาญมโหรีปี่พาทย์ในกรมมโหรศพมาให้ถ่ายรูป และเครื่องดุริยางค์ดนตรีซึ่งไม่มีที่อื่นก็ได้อาศัยใช้ของในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร นาย อี. กรุตเต เป็นผู้ถ่ายฉายาลักษณ์ การจึงสำเร็จได้ ราชบัณฑิตยสภาขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้มีแก่ใจช่วยทั่วกัน.

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • นายกราชบัณฑิตยสภา
  • วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓