นิทานเวตาล/เรื่องที่ 9
เวตาลเล่าเรื่องซึ่งยืนยันว่า เป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่ง ว่า
กว้างแลไกลในประเทศอันงามซึ่งชนอารยะผู้มีถิ่นเดิมในแผ่นดินสูงทางตวันตกสาดกันมาตั้งภูมิลำเนาเป็นปึกแผ่นอยู่นั้น เกียรติ์แห่งนางมุกดาวลี บุตรีพราหมณ์หริทาส เลื่องลือทุกทิศ บัณฑิตแลกวีนับจำนวนร้อยพากันแต่งกาพย์กลอนสำแดงความรัก บ้างก็กล่าวว่า นางอยู่ในที่ใด ที่นั้นย่อมสว่างเหมือนแสงฉายในเดือนมืด บ้างก็กล่าวสรรเสริญความงามแห่งนางแลแสดงทุกข์ที่เกิดเพราะความรัก
๏อ้าอนงค์ทรงศักดิ์ด้วย | ศรดอก ไม้แฮ | |
จากแหล่งแผลงตรงตรอก | อกข้า | |
โปร่งปรุทลุเล่ห์หอก | ไล่หั่น | |
ฤทธิ์ราคเริงแรงกล้า | เรี่ยวกลุ้มรุมใจ | |
๏สาวสวรรค์ดั้นจากด้าว | แดนสวรรค์ ใดฤๅ | |
อ่าเอี่ยมองค์เอวอัน | อ่อนชอ้อน | |
เพ็ญพักตร์ลักษณ์ลาวัณย์ | ราววาด | |
โอ้อกสทกทุกข์สท้อน | ท่าวสท้านลาญหลง | |
๏เดียวดอมกรอมทุกข์กล้ำ | กรึงกมล หม่นแล | |
กองระกำดำกล | ก่นเศร้า | |
เพลิงร้อนจะผ่อนปรน | พอปลด | |
ร้อนราคเราเร่าร้อน | รุ่มร้อนรอนทรวง | |
๏เปล่าเปลี่ยวเหี่ยวอกโอ้ | โอ๋อก | |
หนาวจิตคืออุทก | สทกสท้อน | |
คิดโฉมประโลมกก | กอดอุ่น | |
กายแม่เย็นยามร้อน | อุ่นเนื้อยามหนาว | |
๏ใคร่สมสมใคร่ได้ | ทางใด แม่เอย | |
เจ็บจิตอาจิณใจ | จักขว้ำ | |
โหยหวนอ่วนอกไอ | เป็นเลือด แล้วแม่ | |
แรงรักชักชอกช้ำ | ใช่ช้าลาตาย |
บ้างก็แต่งคำฉันท์ลำดับครุลหุซึ่งตนเห็นไปเองว่าไพเราะ กล่าวชมแลเชิญนางให้ยินยอมวิวาหะกับตน
๒๐ | ||
๏อ้าอุไรพธูพบูพิบูลย์ | ||
เฉลาแชล่มแจร่มจรูญ | เจริญภาส | |
๏ตูสวิงสวายเพราะสายสวาดิ์ | ||
ระทวยบ่ปลดระทดบ่ปราศ | บ่ปลิดโศก | |
๏แสนจะเสียวจะส้านณวารวิโยค | ||
จะข้ามณห้วงบ่ล่วงณโอฆ | ก็อกกรม | |
๏ใคร่เสน่หะนิตย์สนิทสนม | ||
จะแนบจะนิทร์จะชิดจะชม | ณเชิงรัก | |
๏เชิญสมรสุมาลย์สมานสมัค | ||
ประสานประสงค์ประจงประจักษ์ | ประจวบใจ |
บ้างก็กล่าวลบหลู่ตนเองด้วยความขุ่นแค้นที่ไม่สมหมาย และกระเดียดไปข้างเห็นว่า โลกจะแตกเพราะเหตุนั้น
๑๔ | ||
๏โอ้อาตมะอกวิตกยิ่ง | เพราะวหญิงวยาภา | |
ฉันใดจะได้สมรมา | นิทระแนบพนอชม | |
ใคร่สมบ่สมหทยะใคร่ | ก็ไฉนจะได้สม | |
โหยหวยระทวยอุระระทม | ทุขแทบถล่มลง | |
๏ใจผูกจะปลูกปิยะมนัส | ทวิวัฒนาทรง | |
แคล้วคลาดเพราะมาดมนทนง | นรต้อยจะสอยดาว | |
๏ต่ำชาติและปราศนรุปถัม | ภกช้ำอุรายาว | |
แร้นทรัพยะยับยศณคราว | ทุขกว้างบ่บางเบา | |
๏แค้นใจบ่ใส่ชลกะโหลก | บ่ชโงกจะดูเงา | |
น้ำหน้ากระลาศิรษเรา | ฤจะหมายตะกายสูง | |
๏คางคกผยกมุขเผยอ | จิตเห่อจะปีนยูง | |
เป็นหมูจะคู่อศวจูง | จรได้ไฉนนา | |
๏ตกทุกข์จะลุกสิก็ถลำ | ทุขล้ำจะไตรตรา | |
หลีกหล่มก็ล้มจะคมนา | คมเกลื่อนบ่เหมือนใจ | |
๏น้ำรักประจักษ์จิตบ่ขาด | กลบาศกระลึงไกร | |
โซ่เหล็กก็ล่ามหทยะไทย | ดุจทาสบ่อาจจร | |
๏อ้าตูจะดูสกลภพ | ก็สยบแสยงหยอน | |
มืดมนก็จะด้นนยนะซอน | ก็และเครื่องจะเคืองตา | |
๏ปราศหวังก็ดังสุริยะดับ | ระวิลับนิราภา | |
คิด ๆ ระอิดอุระระอา | อุรุโลกจะแหลกฤา ฯ |
บ้างก็กล่าวลบหลู่พระจันทร์ว่า
๏เพ็ญพระจันทร์นั้นสว่างแต่ข้างขึ้น
กระต่ายมึนเมาเพ็ญจนเป็นบ้า
อันทรามวัยใสสุกทุกเวลา
น้ำใจข้ามึนเมาทั้งขึ้นแรม
ได้ยลพักตร์รักเหลือไม่เบื่อรัก
อกจะหักเพราะอนงค์ศรทรงแหลม
ให้แค้นคิดจิตเจ็บที่เหน็บแนม
ไม่ยิ้มแย้มเยื้อนให้ชื่นใจเอย ฯ
บ้างก็กล่าวว่า นางมีผิวเหมือนดอกจำปา มีผมเหมือนนางงู มีบาทเหมือนทับทิม (เพราะย้อม) มีตาเหมือนตาเนื้อตามเคย คิ้วเหมือนธนูก่งตามอย่างคิ้วที่นิยมว่างาม เดินเหมือนหงส์ ฯลฯ ฯลฯ
แลไม่มีใครลืมกล่าวว่า นางมีสำเนียงไพเราะเหมือนนกกาเหว่า แลทุกคนกล่าวว่า ถ้านางอัจฉราลงมาเปรียบประชันความงาม นางอัจฉราจะได้อาย
แต่บัณฑิตแลกวีนับจำนวนร้อยซึ่งประชันกันแต่งกาพย์กลอนสรรเสริญความงามนางมุกดาวลีนั้น จะจูงใจให้นางรักผู้แต่งผู้ใดผู้หนึ่งก็หามิได้ เพราะธรรมดาหญิงย่อมจะเคยได้ยินคำยกยอความงามจนชินหู แม้จะยอด้วยกาพย์กลอนไพเราะก็ไม่เป็นของแปลก ถ้ายิ่งกาพย์กลอนเลว ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วก็ยิ่งเบื่อหนักขึ้น แลพระองค์ผู้ทรงสติปัญญาสามารถย่อมจะทรงทราบว่า วิธียอหญิงงามต้องยอว่า มีวิชาปราดเปรื่อง หรือยกคุณที่ไม่มีขึ้นกล่าว จึ่งจะเป็นเครื่องจับใจนางสวย กล่าวตรงกันข้าม ถ้านางเป็นผู้ที่หาความสวยยาก ถึงหากจะเป็นคนมีเชาวน์ ก็อาจยอให้ต้องใจได้ด้วยกล่าวถึงความงามอันสุขุม อันเป็นของไม่หาง่ายเหมือนความงามซึ่งล่อตา ดังนี้เป็นต้น ความยอนั้นเปรียบเหมือนหินกับเหล็กซึ่งทำให้เพลิงแห่งความรักเกิดได้
ส่วนนางมุกดาวลีนั้นเบื่อกาพย์กลอนจนเกลียดกวีไปทั้งหมด วันหนึ่งจึงบอกแก่บิดาว่า ถ้าจะหาผัวให้ ต้องหาชายที่รูปร่างดี ไม่เคยแต่งกาพย์กลอนเป็นอันขาด อนึ่ง ชายที่จะเป็นสามีนางนั้น ต้องเป็นคนเชาวน์ไวประกอบด้วยความรู้ ยิ่งรู้มากยิ่งดี ขอแต่อย่าให้เป็นความรู้ในเชิงกาพย์กลอนเท่านั้น
อยู่มาช้านาน มีชายหนุ่มสี่คนมาจากสี่ทิศ ต่างคนประกอบคุณงามความดีของตนเสมอกัน ทั้งในเชิงปัญญา ในกำลัง แลในความรู้ คนทั้งสี่เข้าไปหาพราหมณ์หริทาส แสดงประสงค์จะได้บุตรีพราหมณ์เป็นภริยา หริทาสจึ่งนัดให้มาพร้อมกันในวันรุ่งขึ้นเพื่อจะได้ประกวดความดีกันในการสนทนาแสดงความรู้
วันรุ่งขึ้น ชายทั้งสี่ก็มาตามนัด ชายคนหนึ่งที่ชื่อ มหาเสนี กล่าวแสดงปัญญาว่า "ชายใดมีจำนงหาความไม่เปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ชายนั้นเป็นคนโง่ เพราะความเป็นไปของโลกนั้นอ่อนเหมือนต้นกล้วย แตกดับง่ายเหมือนฟองทะเล
"สิ่งทั้งหลายในที่สูงไม่ช้าจะล้ม สิ่งทั้งหลายในที่ต่ำคงจะสลายไปทั้งสิ้น
"ญาติที่ตายไปแล้วกินน้ำตาของญาติที่คงมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่เต็มใจ เพราะฉะนั้น:–
"จักทำบุญตรวจน้ำ จงอย่าให้ใจช้ำ อกด้วยอาดูร พ่อเอย"
นางมุกดาวลีนั่งฟังอยู่หลังฉาก ได้ยินมหาเสนีกล่าวดังนั้น ก็ว่า "ชายคนนี้พูดไม่มีมงคลเลย มิหนำซ้ำ กำเริบเอากลอนเลว ๆ มากล่าวด้วย คนเป็นกวีใช้ไม่ได้"
ชายคนที่สองกล่าวว่า "หญิงใดปฏิบัติชายผู้ซึ่งบิดามารดายกให้ด้วยดี หญิงนั้นได้ชื่อว่า เป็นหญิงดี และคัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่า หญิงใดเป็นโยคินีในเวลาสามียังอยู่ หญิงนั้นทำให้สามีอายุสั้น แลจะตกในกองไฟภายหลัง"
คำที่ชายทั้งสองกล่าวนี้ นางมุกดาวลีเห็นโง่ที่สุด จึ่งนึกในใจนางว่า จะไม่ยอมคำนึงถึงชายคนนั้นเป็นอันขาด
ชายคนที่สามเป็นตระกูลนักรบชื่อ คุณากร กล่าวว่า "มารดาคุ้มครองบุตรเมื่อเป็นทารก บิดาคุ้มครองเมื่อจำเริญวัยใหญ่ขึ้น แต่บุรุษซึ่งเป็นชาตินักรบย่อมจะคุ้มครองรักษาสกุลของตนทุกเมื่อ ธรรมเนียมแห่งโลกแลหลักที่ตั้งของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้"
คนที่ประชุมฟังอยู่นั้น เมื่อได้ยินคุณากรกล่าวดังนี้ ก็พากันสรรเสริญว่า เป็นคนกล้า ควรเป็นที่เคารพ
ส่วนชายคนที่สี่เป็นตระกูลพราหมณ์ชื่อ รัตนทัตต์ เมื่อได้ยินชายทั้งสามคนกล่าวแสดงปัญญาดังนั้น ก็นิ่งอยู่ มิได้พูดประการใด จนชายทั้งสามคิดว่า เป็นเพราะเหตุโง่เขลาเบาความรู้ แต่ครั้นพราหมณ์ผู้เป็นบิดานางแลคนอื่น ๆ ที่ประชุมฟังกันอยู่นั้นกล่าวคะยั้นคะยอให้พูด รัตนทัตต์ก็พูดสั้น ๆ ว่า "ความนิ่งนั้นดีกว่าความพูด" ครั้นเมื่อเขาเตือนให้พูดอีก ก็กล่าวว่า "คนฉลาดไม่ประกาศอายุของตน ไม่ประกาศให้ใครทราบเมื่อถูกหลอก ทั้งไม่ประกาศความมีทรัพย์หรือความเสียทรัพย์ ไม่ประกาศความบกพร่องในครอบครัว ไม่ร่ายมนต์ให้คนได้ยิน แลไม่ประกาศความรักภริยา หรือวิธีประสมยา หรือหน้าที่ประพฤติธรรม หรือของให้ หรือคำกล่าวโทษ หรือความไม่มีสัตย์แห่งภริยาตน"
เมื่อชายคนที่สี่ได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็เป็นอันสิ้นการประลองปัญญาในวันนั้น พราหมณ์หริทาสเจ้าของบ้านแสดงความเสียใจต่อชายคนที่หนึ่งแลที่สอง แลให้ของเล็กน้อย แล้วก็เอาน้ำมันหอมประพรมเสื้อผ้าชายสองคน แลรดน้ำดอกไม้เทศที่ศีศะ แล้วก็ให้พลู เชิญให้กลับ ส่วนชายคนที่สามแลที่สี่ คือ คุณากร แลรัตนทัตต์นั้น พราหมณ์หริทาสเชิญให้มาใหม่ในวันรุ่งขึ้น ชายทั้งสองก็มาตามนัด ครั้นนั่งลงพร้อมกันแล้ว พราหมณ์หริทาสจึ่งถามว่า "ท่านทั้งสองมีปัญญาดังที่แสดงโดยคำพูดเมื่อวานนี้ บัดนี้ ท่านจงแสดงให้เห็นว่า ปัญญาของท่านมีผลเป็นความรู้แลประโยชน์อะไรบ้าง"
คุณากรกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้สร้างรถขึ้นไว้รถหนึ่ง รถนั้นอาจพาข้าพเจ้าไปถึงไหนได้ทุกแห่งในพริบตาเดียว"
รัตนทัตต์กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามีความรู้ชุบคนตายให้ฟื้นคืนเป็นมาได้ แลอาจสอนเพื่อนของข้าพเจ้าให้สามารถเช่นกัน"
เวตาลเล่ามาเพียงนี้ก็หยุดไว้แล้วทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ชายหนุ่มมีความรู้ประเสริฐทั้งสองคนเช่นนี้ พระราชาจะทรงดำริห์ว่า พราหมณ์หริทาสจะควรเลือกชายคนไหนเป็นเขย แต่พระวิกรมาทิตย์ไม่ทรงตอบ เหตุไม่ทรงทราบว่า จะตอบประการใด หรือเหตุได้พระสติว่า เป็นกลเวตาลลวงถาม ก็เป็นได้ทั้งสองประการ ครั้นพระวิกรมาทิตย์ไม่ทรงตอบ จนเวตาลเห็นได้ว่า จะล่อให้ตรัสตรงนี้ไม่สำเร็จแล้ว ก็เล่าต่อไปว่า เมื่อชายหนุ่มทั้งสองได้แสดงความรู้ให้ที่ประชุมทราบดังนี้แล้ว พราหมณ์หริทาสยังลังเลในใจ ไม่แน่ว่า จะเลือกคนไหนดี จึงเรียกให้นางมุกดาวลีออกมากลางที่ประชุม ถามว่า นางจะเลือกชายคนไหน นางมุกดาวลีก้มหน้านิ่งไม่ตอบว่ากระไรด้วยวาจา แต่ชายหางตาดูรัตนทัตต์ พราหมณ์หริทาสเห็นดังนั้น ก็กล่าวภาษิตมีความว่า มุกดาควรร้อยเป็นสร้อยกับมุกดาด้วยกัน แลยกลูกสาวให้แก่รัตนทัตต์ตามใจธิดาประสงค์
ฝ่ายคุณากรชาตินักรบเห็นดังนั้นก็แค้นใจ มือจับหนวดบิดขึ้นไปจนถึงตาซึ่งแดงด้วยความโกรธ มือก็เวียนไปจับดาบร่ำไป แต่คุณากรเป็นคนเกิดในสกุลดีมียุติธรรมในใจ ถึงแม้จะขุ่นเคืองใจถึงเช่นนี้ ไม่ช้าก็หายโกรธ
ฝ่ายมหาเสนี คือ ชายคนหนึ่ง ซึ่งถูกคัดออกไปแต่วันแรกนั้น ชรอยจะเป็นด้วยกวีดอกกระมัง จึงเป็นคนไม่มีความอายเลย ครั้นเมื่อพราหมณ์หริทาสได้มั่นกำหนดการวิวาหะนางมุกดาวลีแล้ว มหาเสนีได้ทราบ ก็กระทำการอุกอาจเข้าไปในที่ประชุม พูดจาแสดงความโกรธ แลกล่าวภาษิตกาพย์กลอนที่ไม่เข้าเรื่องด้วยเสียงดังกลบไปในเรือน ยกคุณชั่วแห่งหญิงทั้งหลายขึ้นกล่าวว่า ในโลกนี้ หญิงเป็นบ่อเกิดแห่งกองทุกข์ เป็นยาพิษอย่างแรง เป็นที่อยู่แห่งความกระวนกระวายใจ เป็นผู้สังหารความกำหนดแน่ในใจคน เป็นผู้กระทำให้เกิดความมึนเมารัก แลเป็นโจรปล้นคุณความดีทั้งหลายในโลก เมื่อได้กล่าวประหัตประหารหญิงเช่นนี้แล้ว ก็กล่าวต่อไปถึงบิดาแห่งนาง เรียกหริทาสว่า "มหาพราหมณ์" ซึ่งรับโคแลทองคำเป็นสินจ้าง แลเป็นคนบูชาลิง ส่วนพราหมณ์แลลูกแห่งพราหมณ์ทั้งหลายนั้นใช้ไม่ได้หมด รวมทั้งรัตนทัตต์ด้วย ครั้นคนที่อยู่ในที่ประชุมนั้นช่วยกันห้ามปราม มหาเสนีก็ยิ่งแสดงความโกรธมากขึ้น จนพราหมณ์หริทาสตกใจกลัวสำเนียงแลอาการมหาเสนีเป็นกำลัง ในที่สุด มหาเสนีสาบาลว่า แม้นางมุกดาวลีจะได้มั่นแล้วก็ตาม ถ้าเขาไม่ได้นางเป็นภริยา เขาก็จะฆ่าตัวตาย แล้วเป็นผีมากวนแลทำร้ายคนในบ้านนั้นทั้งบ้าน
ฝ่ายคุณากรเป็นชาตินักรบมีใจกล้า ครั้นได้ยินมหาเสนีพูดดังนั้น ก็แนะนำว่า ให้รีบฆ่าตัวตายเสียเถิด แลเมื่อเป็นผีแล้ว จะทำอะไรก็แล้วแต่สมัค แต่พราหมณ์หริทาสห้ามคุณากรไม่ให้พูดแสดงน้ำใจร้ายกาจ มหาเสนียิ่งโกรธใหญ่ เกิดความกล้าเพราะเกลียด เพราะรัก แลเพราะโกรธ ก็ชักเชือกบ่วงออกจากอกวิ่งออกไปจากเรือนแล้วผูกคอแขวนตัวตายอยู่กับต้นไม้ข้างเรือนนั้น
ครั้นเวลาเที่ยงคืน ผีมหาเสนีก็ทำจริงดังที่กล่าวไว้เมื่อยังมีชีวิต แสดงตัวเป็นรูปรากษสมาที่เรือนพราหมณ์หริทาส ทำให้พราหมณ์แลคนทั้งหลายตกใจเป็นกำลัง ครั้นรากษสมาทำอาการคุกคามจนคนกลัวหลบซ่อนไปหมดแล้ว ก็พานางมุกดาวลีเหาะหายไปเสียจากเรือนแลกล่าวบอกไว้ว่า ถ้าจะตามให้พบ ให้ไปตามบนยอดสูงที่สุดแห่งเขาหิมาลัย
ฝ่ายพราหมณ์หริทาส เมื่อเกิดเหตุดังนี้ ก็วิ่งไปเรือนรัตนทัตต์ ปลุกให้ตื่นขึ้น แล้วพราหมณ์หริทาสก็ปากสั่นเล่าความให้ผู้จะเป็นบุตรเขยทราบทุกประการ รัตนทัตต์พราหมณ์หนุ่มทราบเรื่องก็ตกใจเป็นกำลัง ออกวิ่งไปเรือนคุณากรนักรบ แลวิงวอนให้ช่วย คุณากรเป็นคนใจดี แม้จะได้ขุ่นเคืองด้วยเหตุแพ้รัตนทัตต์ในทางรักก็จริง แต่เมื่อผู้ชนะมาวานให้ช่วย กยอมช่วย จึ่งจัดรถซึ่งพาเหาะได้ แล้วสองคนก็ขึ้นนั่งบนรถ แลบอกพราหมณ์หริทาสให้นอนใจว่า จะได้ลูกสาวคืนมาในไม่ช้า คุณากรก็ร่ายมนต์ให้รถลอยขึ้นในอากาศ รัตนทัตต์ก็ร่ายมนต์ไล่ผีมิให้มากีดกั้น
รถก็พาลอยไปถึงยอดสูงสุดแห่งเขาหิมาลัย อันเป็นที่ซึ่งผีมหาเสนีพานางไปทิ้งไว้นั้น
ครั้นชายหนุ่มทั้งสองพานางมาส่งคืนต่อบิดาแล้ว พราหมณ์หริทาสเกรงจะเกิดเหตุอื่นขึ้นอีก ก็รีบให้โหรหาฤกษ์ทำการวิวาหะโดยเร็ว แลเมื่อฤกษ์ดี ก็เอาขมิ้นทามือลูกสาวตามธรรมเนียม
การแต่งงานครั้งนั้นครึกครื้นนัก กวีใหญ่น้อยซึ่งรักนางไม่สมหมาย ได้ความทุกข์ถึงอกหัก มีจำนวนสองโหลเศษ ฝ่ายรัตนทัตต์เจ้าบ่าว เมื่อได้วิวาหะเสร็จตามพิธีแล้ว ก็ลาพราหมณ์หริทาสพาภริยาจะกลับไปบ้านเดิม คุณากรนักรบมีความภักดีต่อนางแลต่อรัตนทัตต์ผู้เพื่อน ก็สาบาลว่า จะไม่ทิ้งคนทั้งสองนั้นก่อนที่ไปถึงบ้านเดิมแห่งเจ้าบ่าว นางแลชายหนุ่มทั้งสองก็ลาพราหมณ์หริทาสออกเดินทางไป แลทางเดินต้องข้ามยอดเขาวินธยะอันเป็นที่มากด้วยภัยประการต่าง ๆ เมื่อถึงหน้าผา แลดูลงไปก็ลึกน่ากลัว เมื่อถึงลำธาร น้ำก็เชี่ยวไหลกระแทกหิน ยากที่จะข้ามได้ปราศจากอันตราย ประเดี๋ยวก็เข้าป่าชัฏซึ่งมืดเหมือนมรณะ ยากที่จะหาทางเดินไปได้ ประเดี๋ยวสายฟ้าก็ฟาดสาดฝนลงมาจนหนาวเย็นสท้านทั่วสรรพางค์กาย เมื่อยามร้อนก็ร้อนจนนกตกตายลงมาจากอากาศ รอบข้างก็ก้องด้วยเสียงสัตว์ร้ายต่าง ๆ ซึ่งมิใช่มิตรแห่งมนุษย์ เมื่อทางเดินลำบากถึงเพียงนี้ เราท่านก็น่าสงสัยว่า เหตุใดคุณากรจึงไม่พาบ่าวสาวขึ้นรถเหาะไปส่ง เหตุจะอย่างไรก็ตาม การเดินทางครั้งนั้นใช้เดิรดิน ไม่ใช่เดิรอากาศ แลคนทั้งสามก็ได้ความลำบากดังกล่าวมาแล้วแลจะปรากฏต่อไปในเรื่องนี้
แต่คนทั้งสามก็ทนดำเนิรทางไปด้วยอานุภาพพระกามเทพ จนพ้นป่าใหญ่ไปถึงที่ราบแล้ว คืนหนึ่ง นางมุกดาวลีฝันว่า นางเดินลุยไปในหนองน้ำขุ่นโสโครก นางอุ้มเด็กคนหนึ่งซึ่งมีอาการเหมือนเจ็บ เด็กนั้นดิ้นแลร้องครวญคราง มีเด็กอื่นเป็นอันมากได้ยินร้องก็ร้องบ้าง เด็กเหล่านั้นรูปร่างพิกล บางคนก็ป่องเหมือนคางคก บางคนก็ผอมยืดนอนอยู่ตามขอบหนอง บางคนก็ลอยอยู่เหนือน้ำ เด็กเหล่านั้นมีอาการเหมือนหนึ่งระดมกันร้องใส่เอานาง ประหนึ่งว่า นางเป็นเหตุให้ต้องร้องไห้ แลจะว่ากล่าวปลอบโยนหรือขู่เกรี้ยวกราดประการใด ก็ไม่นิ่งทั้งนั้น
ครั้นนางตื่นขึ้น ก็เล่าความฝันให้ชายทั้งสองฟัง รัตนทัตต์ผู้สามีได้ฟังแล้วก็นิ่งตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงบอกภริยาแลเพื่อนว่า จะเกิดเหตุใหญ่เป็นภัยแก่คนทั้งสามในไม่ช้านั้น ครั้นรัตนทัตต์ทำนายดังนี้แล้ว ก็หยิบด้ายออกมาเส้นหนึ่ง ตัดออกเป็นสามท่อน แจกกันคนละท่อน แล้วอธิบายว่า ถ้าเกิดเหตุเป็นภัยแก่ร่างกาย ให้เอาเชือกนั้นผูกเข้าที่แผล ๆ ก็จะหายไปในทันที ครั้นแจกเชือกแล้ว รัตนทัตต์ก็สอนมนต์ให้ภริยาแลเพื่อนท่องจำไว้ เป็นมนต์ที่ชุบคนให้คืนชีวิตได้ แม้คนตายที่ถูกแจกไปเป็นดาวแล้ว ก็ไม่ทนกำลังมนต์ได้ มนต์นั้นเป็นอย่างไ รข้าพเจ้าไม่ควรนำมากล่าวให้ทรงทราบ
เวตาลเล่าต่อไปว่า ตามที่รัตนทัตต์ทำนายฝันไว้นั้น ไม่ช้าก็เกิดเหตุตามพยากรณ์ คือ ในตอนเย็น เมื่อคนทั้งสามเดินพ้นจากป่าออกทุ่ง ก็มีคนพวกหนึ่งเรียกว่า กิราตะ มีจำนวนเป็นอันมาก พากันเข้าทำร้าย เบื้องต้นมีกิราตะคนหนึ่งร่างเล็ก ตัวดำ ถือธนูแลศรทำด้วยหวาย ยืนขวางทางทำกิริยาเป็นสัญญาให้คนทั้งสามหยุดแลวางอาวุธ ครั้นคนทั้งสามไม่หยุด กิราตะก็พูดเสียงโกรธดังก้องไปเหมือนนกที่ตกใจกลัว ตาก็เหลือกไปเหลือกมาแลแดงด้วยความโกรธ มือถืออาวุธชูขึ้นแกว่งอยู่บนศีศะ ในทันใดนั้น พวกกิราตะก็หลั่งกันออกมาจากพุ่มไม้แลที่กำบังหลังก้อนหิน ต่างคนช่วยกันยิงธนูมาดังห่าฝน
การต่อสู้ซึ่งกำลังไม่พอกันนั้นไม่เป็นไปได้นาน คุณากรนักรบถือดาบในมือขวา ใช้แขนอันมีกำลังไล่ฟาดฟันศัตรูล้มตายลงหลายสิบคน แต่พวกกิราตะก็หนุนเนื่องกันเข้ามาเหมือนหมู่แตนซึ่งมีผู้ทำลายรัง ไม่ช้าคุณากรก็ถูกอาวุธสิ้นกำลังล้มลง ฝ่ายรัตนทัตต์นั้น เมื่อศัตรูมีมา ก็พานางหลบไปซ่อนไว้ในโพรงไม้แห่งหนึ่ง แล้วกลับมาต่อสู้กับชาวป่า ไม่ช้าก็ถูกอาวุธสิ้นกำลังลงเหมือนกัน ฝ่ายพวกกิราตะนั้น ครั้นชายทั้งสองล้มลงแล้ว ก็ชักมีดออกตัดศีศะให้ขาดไปจากตัวทั้งสองศพ แล้วปลดเอาของมีค่าทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในตัวชายสองคนนั้น เสร็จแล้วก็พากันกลับไป หาตามไปทำร้ายนางซึ่งซ่อนอยู่ในโพรงไม้นั้นไม่
ฝ่ายนางมุกดาวลีตกใจเพียงจะสิ้นชีวิต ครั้นได้ยินสงบเสียงลงไป ก็ออกจากโพรงไม้เมียงมองดู ไม่เห็นพวกโจรชาวป่า เห็นแต่ศพสามีแลเพื่อนกลิ้งอยู่กลางดิน หัวตกอยู่ห่างตัวทั้งสองหัว นางก็นั่งลงร้องไห้ครวญครางอยู่ช้านานจนจวนค่ำ จึ่งคิดขึ้นได้ถึงวิชาที่เรียนรู้จากสามีในวันนั้นเอง นางจึ่งหยิบเอาด้ายวิเศษออกมา ยกเอาหัวทั้งสองหัวมาวางต่อกับตัวสองตัว แล้วเอาด้ายผูกหัวกับตัวเข้าไว้ด้วยกัน แต่เวลานั้นเป็นเวลามืด เห็นไม่ถนัด แลทั้งเป็นเวลาที่นางกำลังตื่นตกใจ ไม่ทันได้พิจารณาเลอียด หัวแลตัวที่ต่อกันนั้นผิดสำรับกันไป นางไม่ทันสังเกต ก็นั่งลงร่ายมนต์สํชีวนีซึ่งสามีได้สอนไว้ พอร่ายมนต์จบ ชายสองคนก็มีชีวิตคืนมา ต่างคนต่างลืมตาแลลุกขึ้นนั่งลูบคลำตัวเองเหมือนหนึ่งจะดูว่า ร่างกายยังอยู่ครบหรือไม่ แต่เมื่อลูบพบร่างกายเต็มทั้งตัวแล้วก็ไม่หายสงสัย ต่างคนเห็นว่า จะมีอะไรผิดสักแห่งหนึ่ง จึ่งเอามือคลำหน้าผากแล้วแลดูลงไปตลอดถึงเท้า แล้วต่างลุกขึ้นยืนมองดูแขนแลขาของตน แลดูผ้านุ่งห่มซึ่งพวกโจรเหลือทิ้งไว้ให้น้อยที่สุด
ฝ่ายนางมุกดาวลี เมื่อเห็นชายทั้งสองทำกิริยาประหลาดดังนั้น ก็นึกว่า เป็นด้วยความยุ่งในมันสมองของคนซึ่งเป็นโรคถูกตัดหัวหายขึ้นใหม่ ๆ นางจึ่งยืนดูอยู่ครู่หนึ่ง แล้ววิ่งเข้าไปกอดชายซึ่งนางคิดว่า เป็นสามี แต่เขาไม่ยอมให้นางเข้าชิดตัว กลับผลักเสียแล้วบอกว่า นางเข้าใจผิด นางมุกดาวลีลอายในใจเป็นกำลัง ก็วิ่งเข้ากอดคอชายอีกคนหนึ่งซึ่งนึกว่า เป็นสามีของตนแน่ แต่ชายคนนั้นก็ผลักนางไว้ให้ห่างแลบอกว่า เข้าใจผิดเหมือนกัน
ในขณะนี้ นางรู้สึกขึ้นมาว่า ได้ต่อหัวผิดตัวเสียแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็นั่งลงร้องไห้ราวกับอกจะแตกไปกับที่
หัวพราหมณ์รัตนทัตต์กล่าวว่า "นางนี้เป็นเมียของท่าน"
หัวคุณากรนักรบกล่าวว่า "นางนี้เป็นเมียของท่าน ไม่ใช่ของข้า"
ตัวคุณากรกับ⟨หัว⟩รัตนทัตต์กล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น นางก็เป็นเมียของข้า"
ตัวรัตนทัตต์กับหัวคุณากรตอบว่า "หามิได้ นางเป็นเมียของข้าต่างหาก"
คุณากร-รัตนทัตต์กล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น ข้าคือผู้ใด"
รัตนทัตต์-คุณากรกลับถามว่า "ก็เจ้านึกว่า ข้าคือผู้ใด"
หัวพราหมณ์ตัวนักรบกล่าวว่า "นางต้องเป็นเมียของข้า"
หัวนักรบตัวพราหมณ์กล่าวว่า "เจ้าโกหก นางเป็นเมียของข้าต่างหาก
หัวทั้งสองพูดพร้อมกันว่า "เจ้าพูดอย่างคนพาล ฟังไม่ได้"
เวตาลกล่าวต่อไปว่า หัวสองหัวแลตัวสองตัวโต้เถียงกันไม่มีทางที่จะยินยอมกันได้ ผู้ที่จะตัดสินได้แน่นอนก็เห็นจะมีแต่พระพรหมพระองค์เดียว ส่วนข้าพเจ้านั้น นอกจากจะตัดหัวต่อเสียใหม่แล้ว ก็ไม่รู้จะวินิจฉัยอย่างไรได้ แลข้าพเจ้าเชื่อเป็นแน่ว่า แม้พระองค์ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐ ก็ไม่ทรงปัญญาพอตัดสินได้ว่า นางมุกดาวลีเป็นภริยาของหัวแลตัวสำรับไหน อันที่จริง พวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นเวตาลด้วยกันกระซิบบอกต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อหัวแลตัวสองสำรับนั้นตายไปเฝ้าธรรมราชา (คือ พระยม) ปัญหาอันเดียวกันก็ไปกิดขึ้นในยมโลก เพราะหัวทั้งสองต่างปฏิเสธบาปกรรมต่าง ๆ ซึ่งตัวได้ทำไว้ในเมืองมนุษย์ แม้ธรรมราชาก็พิศวง ไม่รู้จะแจกคแนนโทษอย่างไรได้
ตรงนี้ พระธรรมธวัช พระราชบุตร ทรงนึกขันข้อที่หัวต่อผิดตัว แลเผลอพระองค์ไม่ทันนึกถึงพระราชบิดา ก็ทรงพระสรวลขึ้นด้วยสำเนียงอันดัง พระวิกรมาทิตย์ พระราชบิดา ทรงขัดเคืองพระราชบุตร ก็ตรัสว่า ความเห็นขันในขณะซึ่งไม่มีสิ่งใดขันนั้นเป็นเหตุให้คนดูแคลน แลทรงอ้างภาษิตซึ่งบิดามักจะชอบเอามากล่าวแก่บุตรว่า ความหัวเราะนั้นเป็นเครื่องส่อน้ำใจปราศจากความคิด แล้วรับสั่งต่อไปว่า "คัมภีร์ศาสตร์แสดงว่า... ... ..."
เวตาลกล่าวว่า "ดูไม่สู้จำเป็นที่พระองค์จะต้องทรงอธิบายให้แจ่มแจ้งถึงเพียงนั้น คำที่รับสั่งก็คงเป็นคำของชัยเทวะหรือคนอื่นในหมู่กวีแก้วทั้งเก้า แต่คนเก้าคนนั้นรู้กาพย์กลอนของตัวเองดีกว่ารู้คัมภีร์ศาสตร์เป็นอันมาก"
พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งชั่งพระหฤทัยว่า จะลงโทษเวตาลที่กล่าวค้านขึ้นกลางคันหรือไม่ อีกครู่หนึ่งจึ่งรับสั่งแก่พระราชกุมารต่อไปว่า "คัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่า แม่น้ำพระคงคาเป็นใหญ่ในหมู่แม่น้ำทั้งปวง เขาพระสุเมรุเป็นใหญ่กว่าเขาทั้งหลาย ต้นกัลปพฤกษ์เป็นใหญ่กว่าต้นไม้ทั้งปวง แลในภาคแห่งกายมนุษย์นั้น หัวเป็นใหญ่แลประเสริฐที่สุด กล่าวโดยความอันแสดงในคัมภีร์ศาสตร์เช่นนี้ นางมุกดาวลีต้องเป็นภริยาของชายสำรับซึ่งหัวเคยเป็นสามีของนาง"
เวตาลหัวเราะแล้วทูลตอบว่า "ความเห็นของข้าพเจ้าไม่ตรงกับคัมภีร์ศาสตร์ แลไม่ตรงกับพระราชดำริห์แห่งพระองค์ คือ ข้าพเจ้าเห็นว่า นางมุกดาวลีเป็นภริยาของชายสำรับที่กายเคยเป็นผัวนาง เพราะเหตุว่า กายนั้นมีอุทรซึ่งเป็นที่อยู่แห่งวิญญาณอันมีความไม่รู้ดับเป็นสภาพ ส่วนหัวนั้นเสมอกับหม้อกระดูกหม้อหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรอยู่ข้างในนอกจากมันสมองซึ่งเป็นเยื่อข้นเสมอกับมันสมองแห่งลูกงัวเท่านั้น"
พระวิกรมาทิตย์รับสั่งด้วยสำเนียงพิโรธว่า "เอ็งไม่นึกหรือว่า วิญญาณนั้น เมื่อเข้าไปในตัวมนุษย์แล้ว ก็มีสำนักอยู่ในมันสมอง แลพิจารณาการภายนอกเห็นได้จากสำนักนั้น"
เวตาลตอบว่า "วิญญาณจะมีสำนักอยู่ที่อุทรคนก็ตาม หรือที่มันสมองก็ตาม สำนักของข้าพเจ้านั้นอยู่ที่ต้นอโศกเป็นแน่"
พูดเท่านั้นแล้ว เวตาลก็ออกจากย่ามหัวเราะก้องฟ้าลอยไป พระวิกรมาทิตย์กับพระราชบุตรก็เสด็จหันพระพักตร์คืนไปยังต้นอโศก ทรงปลดเวตาลลงมาใส่ย่าม แล้วก็รับสั่งแก่เวตาลว่า ให้เล่าเรื่องจริงไปอีกเรื่องหนึ่ง