นิทานเวตาล เรื่องที่ ๕
กลับไปหน้าหลัก | |
ก่อนหน้า | ถัดไป |
เวตาลเริ่มด้วยสำเนียงโอนอ่อนว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงปัญญายิ่งล้นหาผู้เสมอมิได้ในสามภพก็จริง แต่หมาซึ่งเป็นสัตว์สี่เท้ายังรู้พลาดแลล้มในเวลาเหยียบที่ลื่นฉันใด ผู้เป็นปราชญ์แม้ปัญญาจะทึบเพียงไร.... พระราชาทรงจับย่ามกระชาก เวตาลแกล้งร้องครวญครางเหมือนหนึ่งได้ความเจ็บปวด ครั้นหยุดร้องก็เล่าต่อไปด้วยสำเนียงแจ่มใสว่า
- ในเมืองชื่อ มาลยะ ตั้งอยู่แถบฝั่งเหนือแห่ง ภารตะวรรษ (คืออินเดีย) มีกรุงชื่อ จันทร์อุทัย พระราชาทรงนาม รันธีระ เป็นกษัตริย์คล้ายกับกษัตริย์อื่นอีกหลายองค์ซึ่งเป็นคนครึ่งเทวดา
- เมื่อยังหนุ่ม พระองค์เป็นชายชนิดที่เรียกสรรพรสิก เป็นผู้ยินดีในรสทั้งปวง โปรดเสวยของมีโอชะแปลกๆ ทั้งชนิดที่ต้องเคี้ยวแลไม่ต้องเคี้ยว ทั้งที่เป็นอาหารแลไม่เป็นอาหาร ทั้งที่มีเยื่อและไม่มีเยื่อ ส่วนของเสวยที่ไม่ต้องเคี้ยวนั้น โปรดเสวยคราวหนึ่งมีปริมาณมากๆ แลซ้ำถี่ด้วย อนึ่งเธอโปรดฟังดนตรีแลทอดพระเนตรนางระบำ ทรงหมกไหม้ใฝ่ฝันในกามคุณยิ่งกว่าทรงแสวงความรู้ หรือทำบุญต่อเทวดาหรือสนทนากับคนฉลาด ครั้นพระชนมายุพ้น ๓๐ ปีไปแล้ว ก็กลับพระองค์เป็นคนละคน ทรงละเว้นการคะนองยินดีในรูปรสกลิ่นเสียง ทรงประกอบราชกิจเป็นอย่างดี ไม่ช้านักก็ได้พระนามว่าเป็นพระราชาผู้เลิศ จะหาพระมหากษัตริย์ดีเสมอนั้นยาก
- การที่เป็นดังนี้ก็เป็นที่น่าสรรเสริญเพราะพระราชาซึ่งเป็นผู้แทนพระพรหมอยู่ในโลกนี้ โดยมากมักจะทรงยินดีในการกินแลดื่ม ทั้งทรงรื่นเริงในการระบำบำเรอ บูชากามเทพตลอดชีวิต
- ในหมู่ข้าราชการของพระรันธีระ มีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ คุณศังกร รับราชการในตำแหน่งธรรมาธิการของพระนคร
- คุณศังกรนี้เป็นคนแปลกเหล่า เพราะเป็นคนฉลาดด้วย ซื่อแลมียุติธรรมด้วย การตัดสินคดีย่อมทำโดยระมัดระวัง ในเวลาที่กินข้าวเย็นแล้วเสมอกับที่ยังไม่ได้กิน ถ้ามีผู้มาติดสินบน แม้สินบนนั้นจะทำให้ความเจริญเกิดในครอบครัวก็ยังไม่รับ ถ้าคนจนมาต้องคดี ก็มักจะได้รับสิ่งซึ่งคนจนไม่ใคร่ได้รับ คือความกรุณา ถ้าคนมั่งมีมาเป็นความก็ไม่จำเป็นจะถูกลงโทษเพราะมั่งมี เพื่อให้ปรากฏว่าธรรมมาธิการแลธรรมศาสตร์มิได้นับถือบุคคลผู้ใดเลย เมื่อนั่งบนบัลลังก์ว่าความ ก็มิได้ใช้วาจาทารุณดุด่าลูกความที่กล่าวตอบไม่ได้ แลไม่ถือว่าผู้ใดอุกอาจล่วงเกินในเวลาที่หาใครทำเช่นนั้นไม่
- ชนทั้งหลายในกรุงจันทร์อุทัย พากันรักแลนับถือคุณศังกร แต่ความรักแลความนับถือนั้น จะได้เป็นเครื่องป้องกันมิให้โจรกรรมเกิดแทบทุกวันก็หามิได้ จนประชาชนในกรุงจันทร์อุทัยไม่รู้จะป้องกันรักษาทรัพย์ของตนอย่างไร ในที่สุดพวกพ่อค้าซึ่งถูกโจรภัยยิ่งกว่าคนพวกอื่น พากันไปร้องทุกข์ต่อคุณศังกร กล่าวว่า
- "ข้าแต่ท่านผู้เป็นเสาแห่งกฎหมาย พวกเราถูกพวกโจรกระทำการข่มเหงจนสิ้นทรัพย์ไปเป็นอันมาก เราจะอยู่ในกรุงนี้ต่อไป ก็ไม่อาจอยู่ได้เสียแล้ว" คุณศังกรตอบว่า
- "สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นย่อมเกิดแล้ว เราจะแก้สิ่งที่เกิดแล้วให้กลับไม่เกิดนั้นแก้ไม่ได้ แต่ในภายหน้าเราจะมิให้ท่านต้องรับความเดือดร้อนอันนี้จะจัดการแก้ไขมิให้พวกโจรเป็นภัยแก่ท่านอีกได้"
- เมื่อได้กล่าวเช่นนี้แล้ว คุณศังกรก็เรียกเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ใต้บังคับมาสั่งให้เพิ่มจำนวนกันขึ้น แลให้ช่วยกันระวังรักษาการณ์ ชี้แจงวิธีการให้แยกกันเฝ้ารักษายามกลางคืน ให้เปิดทะเบียนจดชื่อแลตำแหน่งที่พำนักของคนเข้าออกในกรุงนอกกรุง ให้จัดหาผู้ชำนาญการสะกดรอยเท้า จัดเป็นหมู่เป็นกอง แม้โจรจะสวมเกือกโจร (ซึ่งมักจะทำด้วยด้วยท่อนแลเศษหนัง มีนิ้วอยู่ข้างส้นหรือมีวิธีล่อลวงอย่างอื่น) ก็อาจสะกดรอยตามไปจนจับตัวได้
- อนึ่งคุณศังกรสั่งอนุญาตต่อกองตระเวนว่า ถ้าพบขโมยกำลังกระทำโจรกรรมก็ให้ประหารชีวิตได้ด้วย ไม่ต้องตั้งปัญหาสักคำเดียว
- ดังนี้คนเป็นอันมาก ก็ช่วยกันตระเวนรักษาถนนในพระนครเพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายมิให้กำเริบ แต่โจรกรรมก็มิได้สงบไปเลย ชาวกรุงจันทร์อุทัยยังเสียทรัพย์เพราะขโมยอยู่เนืองๆ แทบไม่เว้นคืน อยู่มาไม่ช้าพวกพ่อค้าก็นัดกันไปประชุมเฉพาะหน้าคุณศังกร แล้วกล่าวว่า
- "ข้าแต่ท่านผู้เป็นอวตารแห่งยุติธรรม ท่านได้เปลี่ยนเจ้าพนักงานเป็นอันมากแล้ว ท่านได้จ้างคนยามเพิ่มขึ้นมากแล้ว แลท่านได้จัดการตระเวนมากขึ้นแล้ว แต่จำนวนโจรจะลดลงไปก็หามิได้ โจรกรรมยังเกิดอยู่อย่างเก่านั้นเอง"
- คุณศังกรได้ฟังดังนั้น ก็พาพวกพ่อค้าเข้าไปเฝ้าพระราชาในพระราชวัง แลบอกให้ถวายเรื่องราวบังคมทูลแทบฝ่าพระบาทพระมหากษัตริย์ ฝ่ายพระราชาเมื่อได้ทราบดังนั้น ก็ตรัสปลอบโยนพวกพ่อค้าเป็นอันดี แล้วรับสั่งว่า
- "พวกเจ้าจงวางใจเถิด คืนวันนี้เราจะจัดการอย่างใหม่ แลถ้าเทพเจ้าทรงกรุณาให้การเป็นไปดังหมาย พวกเจ้าก็คงจะสิ้นเดือดร้อนในครั้งนี้" ตรัสดังนั้นแล้วก็รับสั่งให้พ่อค้าทั้งหลายทูลลาจากที่เฝ้า
- เวตาลกล่าวต่อไปแก่พระกรมาทิตย์ว่า พระองค์คงจะได้เคยฟังคำกวีโบราณกล่าวไว้ว่า
- ธรรมดาคนเขลาเบาจิตคิดมิชอบ
- ย่อมเกิดกอปรด้วยความมิรู้บังคับยับยั้งใจ
- ออกแล่นไปตั้งแต่สุดทางข้างที่เป็นต้น
- วิ่งตะบันไปจนสุดหนปลายข้างโน้น
- ครั้นถึงที่สุดแห่งปลายโพ้นแล้วไซร้
- จะแล่นต่อไปก็มิรอด เพราะเป็นทางบอดอยู่เพียงนั้น
- ทั้งใจก็เต้นแลเส้นก็สั่นเพราะเหน็ดเหนื่อย
- ปัญญาก็เฉื่อยเพราะล้าแลช้า เพราะแล่นนั้นเอง
- ปราชญ์ในเพรงท่านจึงไม่สรรเสริญ
- ผู้ที่แล่นเร็วเพลินตั้งแต่ต้นจนปลาย
- ปราศความหมายว่าจะทำฉันใดในเมื่อสุดทางแล้ว
- ผิยังคลาดแคล้วความประสงค์มุ่งมาด
- จะเหาะเหินเดินอากาศก็เหาะไม่เป็น
- ดังฤาจะมิยากล้ำลำเค็ญเข็ญขร
- ประหนึ่งว่าต้องพิษศรแหลมเสี้ยม
- เหี้ยมทุกข์ที่อัดอั้นต้นหฤทัย
- เยียใดจะเสร็จหวังดังปรารถนาพ่อเอยฯ
- พระรันธีระเป็นพระราชาซึ่งประชาชนนับถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ธำรงธรรมทุกประการแล้ว ยังไม่พอพระหฤทัย ยังอยากจะกระทำให้เลิศกว่านั้นไปอีก ถึงทอดพระองค์ลงประกอบกิจซึ่งไม่พึงทรงกระทำเองเลย
- ในคืนนั้น พระราชาทรงปลอมพระองค์โดยวิธีผัดพระพักตร์ด้วยผงสีที่ทำให้พระฉวีผิดไป ปั้นหนวดเหนือพระโอษฐ์ตั้งขึ้นไปเกือบถึงพระเนตร แลแสกหนวดที่คางเอาปลายปัดไปทางพระกรรณทั้งสองข้าง ทั้งเอาขนหางม้าผูกพระนาสิกรั้งไปข้างหลังให้แน่นจนเปลี่ยนรูปไปเหมือนจมูกคนอื่น เมื่อแต่งพระพักตร์ดังนี้แล้วก็คลุมพระองค์ด้วยเสื้อผ้าเนื้อหยาบ รัดสะเอวแลขัดกระบี่ พระกรสอดโล่พร้อมแล้ว ก็เสด็จออกจากพระราชวังพระองค์เดียว มิได้ตรัสให้ใครทราบ
- ทรงดำเนินไปตามถนนในพระนคร คืนวันนั้นมืดนัก พระรันธีระทรงเดินไปในพระนครอันเงียบจนเกือบชั่วโมงหนึ่งก็มิได้พบปะใคร ครั้นทรงเดินเข้าไปในตรอกแห่งหนึ่ง หลังหมู่บ้านซึ่งเป็นที่อยู่แห่งพ่อค้า ได้ทอดพระเนตรเห็นหมาตัวหนึ่งซึ่งปรากฏเหมือนหมาไม่มีที่อาศัย หมานั้นนอนอยู่ข้างฝาเรือนแห่งหนึ่ง พระราชาทรงเดินเข้าไป พอใกล้เข้าไปก็มีชายคนหนึ่งลุกทะลึ่งขึ้นจากที่มืด ซึ่งได้นั่งเป็นที่กำบังอยู่ แล้วถามว่า
- "นั่นใคร" พระรันธีระตอบตรัสตอบว่า
- "ข้าเป็นขโมย เจ้าเป็นอะไร" ชายผู้นั้นตอบว่า
- "ข้าก็เป็นขโมยเหมือนกัน มาเราจงไปด้วยกันเถิด แต่เจ้าเป็นอะไร เป็นขโมยผู้ดีหรือขโมยไพร่" พระราชาตรัสตอบว่า "คนหากินอย่างเดียวกันต้องตั้งพิธีเอาใจกันสักหน่อยจึงจะต้องตำราโจร เวลานี้พระจันทร์ก็จะขึ้นอยู่แล้ว ถ้าระวังไม่ดีตุลาการได้ตัวเราไปชำระ เวลาถูกจับกับเวลาแขวนคอของเราจะไม่ห่างกันกี่มากน้อย" โจรกล่าวว่า
- "เจ้าจงสงบลิ้นของเจ้าเสียบ้างเถิด เราจะได้ลงมือทำการด้วยกัน"
- ดังนั้นพระราชาแลโจรก็พากันไปตามทาง พบพวกโจรแอบซุ่มด้อมมองอยู่ตามถนนเป็นอันมาก แต่ด้วยเหตุที่กำบังดี ผู้ที่ไม่รู้ร่องรอยก็หาพบปะพวกเหล่านั้นไม่ โจรบางคนก็ซุ่มเลี้ยงสุรากัน บางพวกก็ทำร้ายชีวิตเจ้าของทรัพย์ บางพวกก็ทาตัวด้วยน้ำมันแลทาขอบตาด้วยเขม่า แล้วท่องมนตร์ที่จะทำให้ตาสว่างเห็นได้ไกลในเวลามืด บางพวกก็ฝึกซ้อมวิชาซึ่งได้เรียนรู้เนื่องมาจากเทวดาผู้ถือหอกทองคือ พระกรรติเกยะ (สกันทะ) ผู้เป็นเจ้าแห่งโจรกรรม แลเป็นผู้ที่ได้แสดงตำราชื่อเจาริยวิทยาแก่ชายผู้หนึ่งชื่อ ยุคาจารย์ เป็นแบบฉบับสำหรับสั่งสอนศิษย์สืบมา
- โจรบางพวกฝึกฝนวิชาซึ่งกล่าวในตำราทั้ง ๔ อย่าง สำหรับการทำทางเข้าไปในเรือนคือ (๑) เจาะผนังเอาอิฐดินสุกออกทีละแผ่นๆ (๒) เจาะผนังตึกซึ่งก่อด้วยอิฐดินดิบ เมื่อกำแพงนั้นอ่อนด้วยความชื้น หรือแห้งเกราะด้วยแสงแดด หรือด้วยใช้น้ำเกลือ (๓) เทแลสาดน้ำราดผนังดิน (๔) เจาะฝาไม้
- อนึ่งลูกแห่งพระสกันทะเหล่านั้นเจาะฝาเป็นรูปดอกบัว รูปพระอาทิตย์ รูปพระจันทร์ข้างขึ้น รูปทะเลสาบ แลรูปหม้อน้ำ ตามวิธีที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ แลทาน้ำมันว่านยาเป็นเครื่องกำบังตัวมิให้ใครเห็น แลป้องกันอาวุธมิให้ถูกกาย
- ครั้นพระราชาแลโจรผู้เป็นสหาย กระทำโจรกรรมได้ทรัพย์มีราคาจนเต็มย่ามแล้ว โจรจึงกล่าวแก่พระราชาว่า "นี่แน่ะสหาย เราได้ทรัพย์มากแล้ว บัดนี้เราจะกลับไปที่ซ่อนของเรา อันเป็นที่ซึ่งพวกเราคอยการเลี้ยงเหล้าอยู่แล้ว"
- พระราชาทรงได้ยินก็ยินดีในพระหฤทัย ทรงตั้งจำนงจะตามไปดูความลับของซ่องโจรให้ได้ พระราชาแลโจรก็พากันไปตามทางที่จะกลับไปซ่อง ได้พบรูหนูรูหนึ่งตามทาง พระราชาทรงแสดงความยินดีทั้งในวาจาอาการ (เพราะการพบรูหนูถือกันว่าเป็นเครื่องส่งโชคดี) โจรเห็นดังนั้นก็เป็นที่พอใจ และเชื่อว่าพระราชาเป็นโจรอีกคนหนึ่งจริง จึงสอนให้ผิวพระโอษฐ์แลกล่าวคำอาณัติสัญญาณตามวิธีโจรในซ่องของตน แลทั้งสัญญาว่าจะยอมให้รับส่วนแบ่งแห่งทรัพย์ที่หาได้ในคืนนั้นด้วย
- ครั้นไปถึงประตูกรุง โจรก็เคาะติดๆ กันสองหน มีผู้เปิดประตูให้ทันที โจรก็พาสหายใหม่เดินไปจนใกล้จะถึงเขาเตี้ยแห่งหนึ่งห่างกำแพงเมืองประมาณ ๒ โกรศ ครั้นไปถึงป่ามืดก่อนถึงเขา โจรก็ยืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเอานิ้วใส่ปากผิวติดๆ กันสองครั้ง ดังก้องไปในป่าเงียบ คอยอยู่ครู่หนึ่งได้ยินเสียงตอบสัญญาณเหมือนนกเค้าแมวร้อง โจรก็ตอบสัญญาณอีกครั้งหนึ่งด้วยเสียงร้องเหมือนหมาใน
- ในทันใดนั้น คนถืออาวุธประมาณ ๖ คนก็ทะลึ่งขึ้นจากที่กำบังแลหญ้ารกเพื่อจะรับสัญญาณอีกครั้งหนึ่ง โจรก็ให้สัญญาณ แลพระราชาก็ทำตามที่โจรสอนไว้แล้วพากันผ่านเลยไป คนถืออาวุธซึ่งเป็นกองรักษาของโจรก็กลับหายไปในที่รกนั้นเอง
- ฝ่ายพระราชานั้นทรงสังเกตจำสัญญาณเหล่านี้ไว้หมด ทั้งทรงสังเกตทางเดินแลจำที่หมายไว้ทุกประการ แลเมื่อเข้าป่าแล้วยังได้ทรงถากต้นไม้ให้รู้ทางไว้อีกชั้นหนึ่ง ครั้นเดินไปได้ครู่ใหญ่ๆ ถึงเชิงหน้าผา โจรก็เดินเข้าไปทำกิริยาเคารพต่อหน้าผานั้น แล้วเดินไปถึงที่ว่างแห่งหนึ่งในที่ใกล้ เลิกหญ้าขึ้นแห่งหนึ่งก็เห็นฝาปิดปากหลุม โจรแลพระราชาก็ช่วยกันเปิดฝานั้นขึ้น เห็นแสงสว่างข้างใน แลได้ยินเสียงคนเป็นอันมากพูดกันอยู่ข้างล่าง โจรกล่าวแก่พระราชาให้ตามลงไปในหลุม แล้วก็ถือย่ามลงไปก่อนตามบันไดไม้ไผ่ พระราชาก็เสด็จตามลงไป ครั้นถึงพื้นล่างเห็นเป็นห้องใหญ่มีคบไฟจุดปักอยู่เป็นควันตลบไปทั้งนั้น
- เมื่อลงไปในที่สว่างใต้ดินเช่นนี้ ภายหลังที่เดินไปในป่ามืดก็ทำให้พระราชาทรงนึกถึงกรุงบาดาล ซึ่งทรงได้ยินพระราชมารดากล่าวถึงแต่พระองค์ยังเยาว์พระชนม์ ส่วนบนพื้นถ้ำนั้นปูด้วยพรมตั้งแต่อย่างดีที่สุดจนอย่างเลวที่สุดปะปนกัน มีถุงย่ามอาวุธแลทรัพย์ที่กระทำโจรกรรมมาได้แลเครื่องดื่มเครื่องกินต่างๆ วางเรียงรายไป
- โจรพาพระราชาเดินผ่านห้องนี้ไปเข้าอีกห้องหนึ่ง พบโจรเป็นอันมากเตรียมตัวสำหรับความสำราญ แลการเลี้ยงในเวลากลางคืน บางคนก็เปลี่ยนเสื้อซึ่งเปื้อนเปรอะเพราะเที่ยวซอกซอน บางคนก็ล้างเลือดจากมือแลเท้าของตน บางคนก็หวีผมซึ่งมากไปด้วยฝุ่น บางคนก็ทาตัวด้วยน้ำมันมะพร้าวอันอบแล้วให้หอม ล้วนเป็นคนจำพวกหยาบช้าทารุณแสนสาหัสทั้งนั้น บางคนชำนาญการแทงคนด้วยอาวุธแหลมซึ่งห้อยอยู่กับเอว บางคนเป็นผู้วางยาพิษฆ่าคนด้วยยาซึ่งใส่ถุงเล็กแขวนอยู่ที่แขนซ้าย บางคนก็ชำนาญการอย่างอื่นซึ่งมีที่หมายให้เห็นได้บ้าง ไม่มีบ้าง
- พระราชาเสด็จไปในที่ประชุมคนเหล่านี้ ให้คิดยินดีที่ได้ปลอมพระองค์อย่างสนิท ไม่มีใครในหมู่โจรที่จำพระองค์ได้ แม้ข้าราชการแลพวกที่รับจ้างเป็นผู้ตรวจการรักษาพระนคร ซึ่งที่จริงเป็นโจรแลมาอยู่ในชุมชนโจรคืนนั้น ก็จำพระราชาไม่ได้ พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นข้าราชการผู้เป็นกองตระเวนป้องกันโจรกลับเป็นโจรอยู่ในสำนักโจรดังนั้น ถ้าไม่ทรงสงสัยอยู่ก่อนก็ทรงทราบได้ในเวลานั้นว่าเหตุใดโจรกรรมจึงไม่สงบไปเลยในพระนคร
- ฝ่ายโจรซึ่งเป็นสหายพาพระราชาเข้าไปในซ่องโจรคืนนั้น ปรากฏจากอาการที่หมู่โจรต้อนรับว่าเป็นนายซ่อง นายโจรบอกให้คนทั้งหลายคำนับเพื่อนโจรที่มาใหม่ แล้วไต่ถามแลตอบกันถึงความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของคนทั้งหลายซึ่งออกทำการในคืนนั้น
- ไม่ช้าก็พากันไปในห้องเลี้ยง ต่างคนต่างนั่งลงตามที่ของตน กินอาหารดื่มสุราแลบริโภคสิ่งอื่นๆ ตามสมัครแลสบาย ครั้นเมื่อได้เลี้ยงแลรื่นเริงกันแล้วสองสามชั่วโมง คบไฟตามที่อยู่นั้นก็หมดไป แลความง่วงก็เกิดแก่คนพวกนั้น จนถึงคนที่ง่วงยากที่สุดก็ง่วง ต่างคนต่างเอนตัวลงนอนเกะกะกันไป บ้างก็ห่มผ้าแลเอาผ้าคลุมศีรษะหลับ บางคนนั่งพิงโงกนไปข้างหนึ่ง มีอาการแน่นิ่ง ด้วยพิษฝิ่นแลกัญชาเหมือนหนึ่งไม่รู้สึกอะไรเลย
- อีกสักครู่หนึ่งมีหญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้อง เป็นบ่าวรับใช้ของพวกโจรเหล่านั้น แลพระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงนั้นก่อนเวลาที่กล่าวนี้ไม่ ครั้นเข้ามาเห็นพระราชา หญิงนั้นจำได้ก็กล่าว่า
- "นี่เหตุไรพระองค์จึงเสด็จเข้ามาอยู่ในหมู่คนทำบาปเช่นนี้ พระองค์จงรีบเสด็จหนีไปเสียโดยเร็วเถิด ถ้าไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ตื่นขึ้นก็คงจะประหารชีวิตพระองค์เสียเป็นแน่" พระราชาตรัสตอบว่า
- "เราไม่รู้จักทาง เจ้าจงนำเราไปเถิด" หญิงนั้นก็ออกนำพระราชาให้เสด็จหนี พระองค์ทรงก้าวหลีกไปในเหล่าคนที่นอนกรนเกะกะกันไปรอบข้าง ทรงย่องด้วยพระบาทอันเบาเหมือนตีนเสือปลาจนถึงบันไดที่ทรงปีนขึ้นไปเปิดฝาหลุม ด้วยกำลังทั้งหมดที่มีในพระองค์ แล้วเสด็จขึ้นจากปากหลุม แลกระทำที่สังเกตไว้ แล้วปิดฝาหลุมแลเอาแผ่นหญ้าคลุมเสียตามเดิม
- ครั้นพระราชาเสด็จกลับถึงวัง พอเปลื้องเครื่องปลอมพระองค์ ทรงเครื่องราชาภรณ์ตามเคยเสร็จยังมิทันไร พวกพ่อค้าในพระนครก็ประชุมกันเข้าไปเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง พวกพ่อค้าเหล่านั้นกราบทูลว่า ในกลางคืนมีโจรกรรมใหญ่ๆ มากรายไปกว่าที่เคย แลเล่าเรื่องความเสียทรัพย์ถวาย แล้วทูลว่า
- "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุกดาแห่งยุติธรรม เมื่อวานนี้เอง พระองค์ทรงปลอบโยนพวกเรา โดยสัญญาว่าจะทรงใช้วิธีใหม่ป้องกันเรือน แลที่เก็บสมบัติของเรามิให้โจรเข้ามารบกวนได้ แต่ที่จริงเมื่อคืนนี้เราเสียทรัพย์ไปเพราะโจร ยิ่งกว่าที่ได้เป็นมาแล้วในคืนใดๆ เสียอีก"
- พระราชารับสั่งว่า ให้พวกพ่อค้าออกจากที่เฝ้าไปเถิด ทรงสาบานว่าครั้งนี้ ถ้าทรงทำลายพวกโจรที่กระทำบาปหยาบช้าทารุณเหล่านั้นไม่ได้ ก็จะสละชีวิตพระองค์เอง
- พระราชาตรัสสัญญาแก่พวกพ่อค้าดังนั้นแล้ว ก็ทรงกำหนดการในพระหฤทัยมิได้แพร่งพรายให้ใครรู้ แต่ตรัสสั่งทหารธนูพวกหนึ่งให้เตรียมตัวไว้สำหรับราชการลับ ครั้นข้าราชการที่ได้ทรงพบในซ่องโจรมาเข้าเฝ้า หรือได้ทอดพระเนตรเห็นในที่ใด ก็ตรัสให้ลอบจับเอาตัวไปประหารชีวิตเสียในที่ลับ เพราะเหตุว่าคนที่ตายแล้วนั้นผิดกับเวตาลในข้อที่นำเอาอะไรไปเที่ยวเล่าไม่ได้
- ครั้นเวลากลางคืน พระราชาทรงประมาณว่าถึงเวลาที่พวกโจรเที่ยวกระทำลักชิงปล้นสะดมเสร็จแล้ว คงจะคืนไปยังซ่องของตนเพื่อการเลี้ยงแลการสำราญอย่างแต่ก่อนๆ จึงทรงถืออาวุธออกนำหน้าพลออกจากพระนครไปยังหน้าผา ซึ่งอยู่ในป่ารกที่เป็นทางเข้าไปสู่ซ่องแห่งโจร แต่พวกโจรนั้นเมื่อโจรคนใหม่หลบหนีไปแต่ตอนกลางคืน ก็เกิดความสงสัยจึงเที่ยวสืบรู้ตัวว่าอาจมีภัยมาในคืนนั้น ครั้นจะแยกกันหลบหนีไปในตอนกลางวันก็กลัวว่า ทหารของพระราชาจะเที่ยวตามพบเป็นหมู่เล็กหมู่น้อย จะรวบรวมกันต่อสู้ไม่ได้ ครั้นถึงกลางคืนจะแยกกันหนีก็ยังกลัว เพราะรู้ว่ารุ่งเช้าคงจะถูกจับ
- ฝ่ายนายโจรเป็นผู้มีความคิดในทางที่จะสู้ทางเดียว ครั้นภัยจะมาถึงดังนี้ ก็ชักชวนพวกพ้องให้ประชุมกันต่อสู้ แลสัญญาว่าถ้าพวกโจรทำตาม ก็คงจะสู้ทหารพระราชาได้ดังหวัง
- พวกโจรรู้ว่านายเป็นคนกล้าก็มีความนับถือ ครั้นกล่าวชักนำดังนั้นก็เชื่อแลสัญญาว่าจะกระทำตามทุกประการ ครั้นเวลาค่ำ นายโจรก็ประชุมตรวจตราพลโจร ตรวจธนูแลศรแลอาวุธอื่นๆ แล้วพูดเอาใจแลนำออกเดินไปจากถ้ำ จัดให้พลเข้าซุ่มอยู่ริมทาง ตนเองปีนขึ้นไปบนแผ่นผาที่สูงเพื่อจะได้เห็นศัตรูมาแต่ไกล คนอื่นๆ ก็ก้มหูลงฟังที่แผ่นดิน เพื่อจะได้รู้ตัวเมื่อมีอริเข้ามาใกล้
- ครั้นพระจันทร์ขึ้น พวกโจรที่ซุ่มคอยดูอยู่ ก็เห็นพระราชาทรงนำทหารรีบเดินไปโดยมิได้ระมัดระวัง เพราะพระราชาทรงประมาทว่าพวกโจรกำลังหลับเพราะเลี้ยงดูกันตามเคย แลคงจะทรงจับโจรได้ในถ้ำใต้ดิน เพราะความประมาทของคนพาลพวกนั้น ดังนั้นพระราชาเองกลับเป็นผู้ประมาทเสียทีแก่โจร เพราะเมื่อพระองค์ทรงนำพลไปถึงที่โจรซุ่ม นายโจรก็ปล่อยให้เดินถลำเข้าไปจนพอดี จึงให้สัญญาณให้พวกที่ซุ่มอยู่โจนขึ้นจากที่ซ่อนพร้อมกัน เข้าตีพลพระราชาโดยที่มิทันรู้กัน ทหารหลวงก็พากันแตกตื่นกระจัดกระจาย พากันหนีไม่เป็นกระบวน ฝ่ายพระราชาเมื่อเห็นเสียทีก็เสด็จหนีกับเขาด้วย แต่นายโจรวิ่งตามไปร้องว่า
- "โหเหา ท่านผู้มีชาติเป็นนักรบก็หนีการรบด้วยหรือ"
- พระราชาทรงได้ยินดังนี้ ก็เสด็จหยุดยืนประจันหน้านายโจร ทั้งสองชักดาบออกต่อสู้กันเป็นสามารถ พระราชาเป็นผู้ชำนาญเพลงดาบยิ่งนัก แต่นายโจรก็ชำนาญเสมอด้วยพระองค์ ต่างคนต่างเริ่มการต่อสู้ด้วยวิธีที่คนชำนาญเพลงดาบย่อมกระทำ คือก้มตัวลงจนเกือบจะเป็นก้อนกลมๆ โจนไปเป็นวงรอบๆ ต่างคนต่างจ้องดูตากัน คิ้วขมวดแลริมฝีปากทำอาการแสดงความดูหมิ่นปฏิปักษ์ แลทั้งโจนไปมาโดยระยะที่คำนวณว่าจะได้เปรียบข้าศึก กระโดดเข้าไปราวกับกบกระโดด กระโดดกลับออกราวกับลิง แลเคาะโล่ด้วยดาบเป็นจังหวะเร็ว แลดังประหนึ่งเสียงกลอง
- พระราชาเห็นได้ที ทรงโจนเข้าไปเอาดาบฟาดขานายโจร พร้อมกับที่ทรงตวาดด้วยเสียงอันดัง นายโจรโดดขึ้นสูงจากดิน พระแสงดาบก็หวดไปใต้ขาโจรเปล่าๆ ไม่เป็นอันตรายแก่โจรเลย ในทันใดนั้น นายโจรแกว่งดาบเหนือศีรษะสามรอบแล้วฟาดลงมารวดเร็วดังหนึ่งสายฟ้า หมายเฉวียงบ่าพระราชา พระราชาทรงรับด้วยโล่ อาวุธโจรไม่ถูกต้องพระองค์ แต่ถึงกระนั้นก็ซวนเซไปด้วยกำลังโจร พระราชาแลโจรต่อสู้ซึ่งกันและกัน ต่างรุกแลรับ ต่างก็โจมฟันแลป้องปัดจนเหนื่อยอ่อนแลแขนชาไปทั้งสองฝ่าย ฝีมืออาวุธแลกำลังกายแลความกล้าก็เสมอกัน ไม่มีได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ช้านาน จนนายโจรเหยียบหินซึ่งกลิ้งได้พลาดล้มลง พระราชาก็ทรงโจนเข้าจับนายโจรมัดมือไขว้หลัง ทรงผลักไสให้โจรเดินเข้าสู่พระนคร โดยที่ใช้ปลายพระแสงดาบเป็นเครื่องบังคับ ส่วนพลโจรนั้นครั้นนายล้มลงก็พากันวิ่งหนีไปสิ้น
- ครั้นรุ่งเช้า พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตรนายโจรที่คุมขังไว้ รับสั่งให้คุมตัวออกมาอาบน้ำชำระกายหมดแล้วให้แต่งเสื้อผ้าอย่างดี แล้วให้ขึ้นนั่งบนหลังอูฐมีผู้จูงไปตระเวนรอบพระนคร มีผู้ร้องป่าวนำหน้าไปดังนี้
- "ชนทั้งหลายจงฟังพระราชโองการซึ่งโปรดให้เรามาป่าวร้อง คนๆ นี้คือโจรซึ่งลอบลักปล้นสะดมชาวกรุงจันทร์อุทัย ให้ชนทั้งหลายชวนกันมาประชุมเย็นวันนี้ในที่ว่างหน้าประตูนครด้านทะเล เพื่อจะได้รู้โทษแห่งการประกอบกรรมเป็นบาป แลดูตัวอย่างซึ่งจะทำให้คนทั้งหลายระวังตัวกลัวผิด" พระราชาได้ตรัสสั่ง แล้วให้ประหารชีวิตโจรด้วยวิธีเอาตัวขึ้นตีตะปูมือแลเท้าให้กางอยู่ทั้งสี่แลตัวตรง สิ่งใดโจรอยากกินให้ป้อนให้กินเพื่อชีวิตจะได้ยาวแลทนทุกข์อยู่ได้นาน เมื่อใกล้จะตายให้หลอมทองคำเทลงไปในคอ จนกว่าทองคำจะล้นแลแตกออกมาตามคอแลภาคอื่นๆ ในตัวโจร
- ครั้นเวลาเย็น ผู้คุมก็พาตัวโจรไปประหารชีวิตโดยวิธีที่กล่าวนั้น เผอิญกระบวนแห่นักโทษผ่านไปทางเรือนแห่งเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งมีทรัพย์มากล้นพ้นประมาณ เศรษฐีผู้นั้นมีลูกสาวเป็นที่รักชื่อ นางโศภนี นางเป็นผู้อยู่ในวัยเยาว์คือดอกไม้ประกอบด้วยความงามทุกประการ แลงามขึ้นทุกเวลาทุกขณะ นางนี้บิดาได้สงวนไว้มิให้ชายเห็น จะออกนอกกำแพงสวนก็ไม่ได้ เพราะนางนมซึ่งเป็นผู้ที่ชาวบ้านใกล้เคียงพากันนับถือว่า เป็นผู้ฉลาดรู้การล่วงหน้านั้น ได้ทำนายไว้ในขณะที่นางนมจะตายว่า นางโศภนีนี้จะเป็นนางงามซึ่งคนชมทั่วพระนคร จะไม่ได้สามีโดยวิวาหะแต่จะเป็นหม้ายสตี (คือแม่หม้ายซึ่งฆ่าตัวตายในกองเพลิงเผาศพผัว)
- ตั้งแต่นั้นมาเศรษฐีผู้บิดาก็ระวังรักษาบุตรีเหมือนหนึ่งเก็บมุกดาไว้ในหีบ แลกำหนดทางแห่งชีวิตของลูกสาวไว้โดยหวังว่าจะให้เป็นไปตลอดอายุ คือไม่ให้เกี่ยวข้องพัวพันกับชายเป็นอันขาด แต่การกำหนดทางแห่งชีวิตล่วงหน้าช้านานเช่นนั้น ปราชญ์ผู้เป็นกวีโบราณกล่าวกลอนไว้เป็นเครื่องจูงปัญญาว่า
O อันวิถีชีวิตเดินผิดง่าย
แม้นผิดหมายอาจถลำนำสู่เถิน
ใครกำหนดล่วงหน้าช้าเหลือเกิน
ถึงคราวเดินอาจผิดที่คิดไว้
ปัญญาเราแค่คืบสืบไม่ออก
เหลือจะบอกล่วงหน้าช้า ๆ ได้
อันวิถีชีวิตคิดอย่างไร
จักแจ้งใจข้างหน้าอนาคตฯ
- คำกลอนที่มีคติเป็นเช่นนี้ เศรษฐีผู้เป็นบิดานางโศภนีคงจะไม่เคยรู้ มิฉะนั้นกวีผู้กล่าวกลอนนั้นกล่าวทีหลัง หรือกล่าวเพื่อประโยชน์แก่ตัวกวีเอง มิได้เกี่ยวแก่ผู้อื่นนอกจากผู้ที่ได้ฟังกลอนโดยเฉพาะก็เป็นได้
- ความจริงจะอย่างไรก็ตาม แต่เศรษฐีบิดาได้กำหนดการไว้จะให้เป็นไปตลอดชีวิตลูกสาว แลตัวเศรษฐีเองก็กล่าวให้คนทั้งหลายทราบแน่นอนว่า ถ้าบุตรีสิ้นชีวิตบิดาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้เป็นอันขาด ความคิดอันนี้มั่นในใจเศรษฐีจนได้กำหนดตำแหน่ง แลวิธีฆ่าตัวตายไว้เสร็จ แต่ ศรคือผลแห่งกรรมปางก่อน อาจตามขึ้นไปถูกแร้งซึ่งร่อนอยู่เหนือเมฆ อาจตามลงไปถูกตัวหนอนซึ่งซ่อนอยู่ในดิน แลอาจแทรกน้ำลงไปถูกปลาในท้องมหาสมุทร ฉันใดเล่ามนุษย์จะหนีพ้นได ้
- ในเย็นวันที่จะประหารชีวิตนักโทษนั้น เผอิญเกิดไฟไหม้ขึ้นในบ้านเศรษฐีภาคที่เป็นที่อยู่แห่งหญิง หญิงทั้งหลายรวมทั้งนางโศภนีก็ต้องหนีออกจากห้องที่อยู่ภาคในบ้าน มาพักอยู่ที่ห้องริมถนน แลในถนนมีคนแน่นไปทั้งนั้น เสียงคนแจจันพูดกันไปตามทางในพระนคร มีคำกล่าวบอกกันว่าโน่นแน่โจรซึ่งได้ลอบลักปล้นสะดมคนทั้งหลายในพระนคร โจรจงสะทกสะท้านลาญใจเถิด พระราชามีรับสั่งจะให้ประหารชีวิตอยู่แล้ว ในเชิงรูปงามก็ดี มีทรงโอ่อ่าก็ดี มีกำลังความกล้าก็ดี จะหาใครในกรุงจันทร์อุทัยยิ่งนายโจรไปนั้นหาไม่ได้
- เมื่อนายโจรได้แต่งกายด้วยเครื่องแต่งงดงามดังนั้น แม้กระบวนแห่เป็นเครื่องอุจาดก็จริง แต่นายโจรก็ยังมีทรวดทรงอาการประหนึ่งพระราชบุตรขี่อูฐไปด้วยท่าทางงดงาม ผิวหน้ามิได้เสีย แลด้วยความไว้ตัว จะได้ยินคำเยาะเย้ยของประชาราษฎร์ก็แทบไม่ได้ยิน แม้ชาวพระนครทั้งหมดจะพากันแตกตื่นกระสับกระส่าย แลคลั่งเพราะจับโจรได้จะประหารชีวิต นายโจรมีกิริยาเพิกเฉย มิได้พลอยกระสับกระส่ายไปด้วย แต่ครั้นเมื่อได้ยินคนกล่าวให้สะทกสะท้านริมฝีปากโจรก็ขยับ ตามีแสงเหมือนแสงไฟด้วยความโกรธ หว่างคิ้วก็มุ่น
- ขณะนั้นนางโศภนีร้องกรีดขึ้นที่หน้าต่างที่แอบดูอยู่ นายโจรผ่านหน้าต่างไปหน้าเสมอกับหน้านาง แลอยู่ห่างกับแก้มอันซีดไม่กี่คืบ นางได้เห็นลักษณะงามของนายโจร แลในขณะที่นายโจรแสดงเค้าหน้าโกรธนั้น นางรู้สึกสะดุ้งเหมือนหนึ่งรู้สึกถูกสายฟ้า ในทันใดนั้นนางโศภนีก็วิ่งไปหาบิดา บอกว่า
- "บิดาจงรีบไปโดยเร็วแลขอโทษให้พระราชาปล่อยโจรนั้นเถิด"
- เศรษฐีบิดาตกใจเพราะคำที่บุตรีกล่าว ตอบว่า
- "โจรคนนั้นได้เป็นหัวหน้าทำการขโมยทุกประเภททั่วพระนคร แลบัดนี้ทหารศรของพระราชามีชัยจับตัวมาได้ก็โปรดให้ลงอาญาตามควรแก่โทษ พ่อเป็นอะไรจะเข้าไปทูลขอให้ทรงปล่อยโจรนี้ได้"
- นางโศภนีแสดงอาการทุกข์ ซึ่งดูประหนึ่งจะทำให้คลั่งไคล้ ตอบบิดาว่า
- "ถ้าบิดาจะทูลขอโทษให้พระราชาปล่อยโจรนั้นได้ด้วยยอมถวายสมบัติทั้งหลาย ของเรา บิดาจงสละทรัพย์ทั้งหมดถวายเสียเถิด ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้นายโจรนั้นมา ข้าพเจ้าจำต้องสละชีวิต"
- นางกล่าวแก่บิดาฉะนี้แล้ว ก็ชักผ้าคลุมศีรษะร้องไห้ลั่นไปทั้งตัวราวกับหัวใจจะแตกลงไปกับที่
- ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาเมื่อได้เห็นลูกสาวมีอาการดังนั้น แลรู้ใจว่าถ้าไม่สมประสงค์ นางก็จะสละชีวิตลงไปจริงดังกล่าวแลทั้งทราบว่าตัวเศรษฐีเอง เมื่อสิ้นบุตรีแล้วก็จะทนรักษาชีวิตต่อไปไม่ได้เพราะเหตุความโศกเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้ เศรษฐีจึงรีบเข้าเฝ้าพระราชาทูลด้วยสำเนียงอันสั่นเพราะเศร้าว่า
- "ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าขอถวายทรัพย์เป็นเงินตราสี่แสน แลขอประทานโทษนายโจรให้หลุดพ้นพระราชอาชญาเสียเถิด"
- พระราชาแปลกพระหฤทัย ทรงคิดว่าคนบ้าหลุดเข้าไปในพระราชวัง ทรงตริตรองว่าจะลงพระราชอาชญานายประตู ด้วยวิธีตัดศีรษะเสียบหรือผ่าอก หรือจะทำอย่างไหนดี ยังไม่ทันตกลงในพระราชหฤทัย แต่ครั้นทรงสังเกตกิริยาอาการต่อไป ก็ไม่ทรงเห็นได้ว่าเศรษฐีเป็นบ้า ครั้นทูลวิงวอนอีก ก็รับสั่งตอบว่า
- "โจรคนนี้ ได้ทำการปล้นสะดมย่องเบาฉกชิงวิ่งราวทุกประเภทโจรกรรม แลได้ทำทั่วพระนคร ผู้มีทรัพย์ได้รับทุกข์เพราะโจรนี้ทั่วหน้า อนึ่งโจรนี้ได้ทำร้ายทหารของเราจนย่อยยับ การที่จะขอให้ปล่อยไปให้พ้นโทษนั้น ปล่อยมิได้เป็นอันขาด"
- เศรษฐีได้ฟังรับสั่งดังนั้น ควรจะเห็นได้แล้วว่าจะทูลขอต่อไปก็ไม่มีประโยชน์แต่ยังไม่หยุดรำพันวิงวอนทั้งน้ำตา ด้วยทรัพย์สินบนด้วยเรื่องลูกสาวจะสละชีวิต แลด้วยข้อที่ตัวเองจะต้องตายไปตามกันแต่ก็ไม่มีประโยชน์ทั้งนั้น ครั้นเห็นได้แน่ว่าถึงจะอย่างไร พระราชาก็ไม่โปรด เศรษฐีจึงออกจากที่เฝ้าร่ำไห้ไปสู่เรือนของตน เล่าความให้บุตรีฟังว่า
- "ลูกเอ๋ย พ่อได้พยายามทุกลู่ทางแล้ว พระราชาก็ไม่โปรดตามที่เราประสงค์ มาเราจงตายไปด้วยกันเถิด"
- ฝ่ายเจ้าพนักงานผู้คุมเมื่อได้พานายโจรตระเวนรอบกรุงแล้ว ก็พาไปนอกประตูพระนคร แล้วจัดการลงโทษตามพระราชกำหนด นายโจรทนเจ็บปวดด้วยความมั่นคง ในใจปราศจากอาการแสดงทุกข์ แต่เมื่อมีผู้เล่าให้ฟังถึงนางโศภนี นายโจรอดใจไว้ไม่ได้ก็ร้องไห้ขึ้นด้วยเสียงอันดัง แสดงความเศร้าสงสารประหนึ่งหัวใจจะแตกออกไป อีกครู่หนึ่งก็หยุดร้องไห้กลับหัวเราะด้วยสำเนียงอันดัง ประหนึ่งอยู่ในที่รื่นเริงด้วยการเลี้ยง คนทั้งหลายที่ประชุมดูการประหารชีวิตอยู่นั้นพากันแปลกใจที่นายโจรหัวเราะเหมือนหนึ่งเห็นอะไรสนุก แลเมื่อหัวเราะในเวลาที่เหล็กแหลมกำลังแทงเข้าไปในเนื้อจนคนดูพากันเสียวไส้เช่นนั้น ใครเลยจะเห็นเหตุที่ควรรื่นรมย์
- ฝ่ายนางโศภนีผู้ได้มีคู่แล้วโดยใจนึก ครั้นนายโจรผู้สามีโดยวิวาหะอันมิได้กระทำนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว นางก็กล่าวแก่ตัวเองตามคติโบราณ ซึ่งกวีแต่งไว้ดังนี้
O ผมขนคนในกาย มีประมาณหมายประมวลเป็น สามสิบห้าล้านเส้น อาจจะนับถ้วนจำนวนมี o หญิงใดได้เผาตัว เมื่อ ณ เผาผัวจะได้ดี สามสิบห้าล้านปี นับฉนำซึ่งจะถึงฟ้า o ฉันใดคนคล้องงู ดึงประจากรูก็ขึ้นมา ฉันนั้นนางเหนี่ยวสา มีมิให้ตกนรกแรง o แม้นเขาเนาขุมทุกข์ เพลิงก็ร้อนรุกแลลุกแดง ถูกมัดรัดรึงแทง พิษจะเปรียบแหลนก็แสนอัน o เดือดร้อนเหลือผ่อนพัก โทษจะหนักนักสำนักทัณฑ์ เหตุหยาบบาปในบรรพ์ ทุกขะเหลือร้อนก็อ่อนเพลีย o ผัวเป็นเช่นนี้ไซร้ อาจจะคืนได้เพราะคุณเมีย เผาตัวเพลิงผัวเลีย ตายจะเป็นบุณยะจุนผัว o หน้าที่แห่งหญิงหม้าย กาละผัวตายก็เผาตัว ในใจไป่คิดกลัว ธรรมะจารีบ่มีเยง O ตราบใดหญิงยังขาด ใจบ่อาจคำนึงเกรง กริ่งกลัวเผาตัวเอง พร้อมกะศพผัวเพราะมัวมน o ตราบนั้นแม้นเกิดใหม่ คงจะไม่ใช่มนุษย์ชน จักมีสี่ตีนตน ย่อมจะต่ำต้อยมิน้อยเลยฯ
- นางโศภนีกล่าวแก่ตัวเองดังนี้แล้ว ก็กำหนดใจจะเผาตนในกองเพลิงเผาศพสามีผู้มิใช่ผัว เพื่อจะให้นายโจรได้ความสุขในโลกหน้า นางกำหนดใจดังนั้นแล้วก็แสดงความกล้าด้วยวิธีเผานิ้วด้วยคบเพลิง จนนิ้วนั้นไหม้เป็นถ่านไปทันที แล้วนางก็ลงล้างกายชำระมลทินในแม่น้ำ การเตรียมทำพิธีเผาตัวนั้น
- นางจัดให้มีผู้ขุดหลุมๆ หนึ่ง แล้วเอากิ่งไม้สดเรียงเป็นตาราง บนตารางวางฟืนแลเชื้อเพลิง คือ ปอ ชันแลฆีเป็นต้น เมื่อจัดตารางเผาศพแล้ว ก็เอาศพนายโจรมาชโลมน้ำมันให้สะอาด แต่งเครื่องเสื้อผ้าใหม่ เอาวางบนกองเชื้อเพลิง นางโศภนีกล่าววิงวอนเทพเจ้า ขอให้นางกับสามีได้อยู่เป็นสุขด้วยกันในสวรรค์ มีนางระบำเป็นผู้ปฏิบัติด้วยดี โดยจำนวนปีเท่ากับรัชกาลแห่งพระอินทร์ ๑๔ องค์ หรือเท่ากับจำนวนผมในเศียรแห่งนาง ครั้นเสร็จวิงวอนแล้วนางก็ให้เครื่องประดับกาย แลข้าวปลากระยาหารแจกจ่ายในหมู่มิตร แล้วเอาด้ายพันข้อมือทั้งสองข้าง เอาหวีใหม่ปักในผม แลทาหน้าผากด้วยแป้งสี แล้วเอาข้าวสารแลเบี้ยผูกที่ปลายผ้าอันเป็นเครื่องปกคลุมกาย ครั้นเสร็จแล้วนางเดินประทักษิณศพเจ็ดรอบ แลยื่นข้าวสารแลเบี้ยให้แก่ผู้ที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ในเวลาประทักษิณนั้น ครั้นเสร็จประทักษิณแล้ว นางก็ขึ้นนั่งบนกองฟืนที่พร้อมด้วยเชื้อไฟ เอาศีรษะแห่งนายโจรวางหนุนตักนางแล้วสั่งให้จุดไฟขึ้น คนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ช่วยกันจุดไฟขึ้นหลายแห่ง แล้วตีกลองแลเป่าสังข์เสียงสนั่นไป มีผู้เอาฟางโยนเติมเข้าไปในกองเพลิงทั้งเทชันและน้ำมันเนยลงไปในกองไฟอีกเป็นอันมาก แต่ความตายของนางโศภนีนั้นเป็นสหมรณะย่อมจะตายเป็นสุขเสมอแลเมื่อได้จุดไฟขึ้นแล้วผู้ใดจะได้เห็นกายนางเขยื้อนก็ไม่มีแท้จริงดูเหมือนจะตายไปก่อนที่เปลวไฟจะถึงตัว
- ฝ่ายเศรษฐีผู้เป็นบิดานั้น เมื่อบุตรีถึงแก่ความตายแล้ว ก็จัดให้ช่างเหล็กทำเหล็กคมขึ้นอันหนึ่งรูปเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก คมเหมือนมีดโกนแลพอดีกับคอของตน ปลายสองข้างมีโซ่ร้อยยาวพอเท้ายันได้ ตัวเศรษฐีนั่งลงหลับตา แล้วให้มีผู้เอาดินจากแม่น้ำไวตรณีมาถูตัวให้บริสุทธิ์แลร่ายมนตร์อันควรแก่พิธีแล้ว ก็เอาเท้ายันปลายโซ่หงายคอกระแทกไปด้วยกำลังแรงศีรษะก็ขาดตกกลิ้งอยู่กับพื้น
- เวตาลเล่ามาจนถึงเพียงนี้ก็หยุดนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง มีอาการเหมือนดังตรึกตรองถึงความสุขซึ่งเศรษฐีย่อมจะได้รับ เพราะการสละชีวิตตนโดยประการซึ่งเล่ามานี้ ตรงนี้พระธรรมธวัชพระราชบุตร ทูลถามพระราชาว่า นายโจรหัวเราะด้วยเหตุใด พระราชาไม่ทันคิด ทรงตอบพระราชบุตรว่า
- "หัวเราะเยาะหญิงสาวที่บ้าเหลือเกินนั้นแหละ" เวตาลกล่าวว่า
- "ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงปล่อยข้าพเจ้าจากย่ามอันเป็นที่ไม่มีสุขนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ความเข้าใจของพระองค์ว่านายโจรหัวเราะเยาะนางโศภนีนั้นผิดเสียอีกแล้ว ถ้าข้าพเจ้าไม่ทูลอธิบายเสียก่อนจึงกลับคืนไปยังต้นอโศก พระราชบุตรก็จะทรงเข้าใจผิดว่าเหตุใดนายโจรผู้กล้าจึงร้องไห้ และเหตุใดจึงหัวเราะในขณะที่บุคคลไม่พึงหัวเราะเลยเป็นอันขาด เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะทูลชี้แจงเสียก่อนจึงจะทูลลาไป
- "เหตุที่นายโจรร้องไห้นั้น เพราะไม่เห็นทางอันใดที่จะสนองคุณนาง ในข้อที่นางเต็มใจสละสิ่งซึ่งพึงสงวนทั้งหลายเพื่อจะช่วยชีวิตนายโจร แลการตันความคิดเช่นนี้เป็นเหตุให้เศร้าโศก"
- "แล้วนายโจรกลับคิดเห็นแปลกที่สุดที่นางมาเริ่มรักในเวลาที่ชีวิตของนายโจรจวนจะสิ้นอยู่แล้ว อนึ่งเทพยดาอำนวยการบางอย่างในการที่แปลกเหลือมนุษย์จะเข้าใจได้ เป็นต้นอำนวยทรัพย์มากมายแก่คนตระหนี่ซึ่งไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ได้ หรืออำนวยปัญญาแก่คนมีสันดานชั่ว ซึ่งเมื่อมีปัญญาแล้วก็ใช้ในทางที่ผิด หรืออำนวยเมียงามให้แก่คนโง่ซึ่งไม่รู้จักปกปักรักษาได้ หรืออำนวยฝนในที่ซึ่งดาดด้วยหินคือเขาเป็นต้น อันไม่เป็นทำเลซึ่งพืชพันธุ์จะงอกได้เลย นายโจรคิดถึงความแปลกๆ เช่นนี้ จึงหัวเราะในเวลาที่ไม่น่าจะหัวเราะ"
- "พระองค์ได้ทรงตอบปัญหาเนื่องในเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถวายนี้แล้ว แม้ทรงตอบอย่างเขลาๆ ก็เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าจะได้กลับคืนไปยังต้นอโศกตามคำสัญญาที่มีไว้ต่อกัน แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า มนุษย์อาจหัวเราะแลร้องไห้ อาจร้องไห้แลหัวเราะได้ด้วยเหตุทุกอย่างในโลก ตั้งแต่ความตายแห่งเพื่อนบ้านซึ่งมักจะไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเลย จนถึงความตายของตนเอง ซึ่งเกี่ยวกับตัวเป็นอันมาก ส่วนข้าพเจ้านั้นมีธรรมดาเป็นผู้หัวเราะเห็นขันทุกอย่างทุกเวลา เพราการหัวเราะย่อมช่วยให้มันสมองมีอาการฉับไว ช่วยให้ปอดมีกำลังขึ้น ช่วยให้เค้าหน้างดงามทวีขึ้น แล....ทูลลาที"
- ครั้งนี้พระราชาทรงรู้แล้วว่าเวตาลจะหนี จึงทรงปลดย่ามจากพระอังสาเอาลงไว้ใต้พระกร ทรงหนีบไว้แน่นแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เวตาลหลุดจากย่ามโดยง่ายตามเคย แลลอยหัวเราะก้องฟ้ากลับไปยังต้นอโศกตามเดิม
กลับไปหน้าหลัก | |
ก่อนหน้า | ถัดไป |