ข้ามไปเนื้อหา

นิทานโบรานคดี/นิทานที่ 5

จาก วิกิซอร์ซ


เมื่อ พ.ส. 2434 พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวซงพระกรุนาโปรดไห้ฉันเปนผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมตอบแกรนด์ดุ๊กซาเรวิตช รัชทายาทประเทสรุสเซีย (ต่อมาได้เสวยราชย์เปนพระเจ้านิโคลัสที่ 2) ซึ่งได้เข้ามาเฝ้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้นสกนั้น และโปรดไห้ไปยังราชสำนักอื่น ๆ ไนยุโรปเพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรน์แก่พระเจ้าแผ่นดินบ้าง เพื่อจเรินทางพระราชไมตรีบ้าง อีกหลายประเทส คือ ประเทสอังกริด ฝรั่งเสส เดนมาร์ค เยอรมนี รุสเซีย เตอรกี ครีส และอิตาลี รวมเปน 8 แห่งด้วยกัน ไนสมัยนั้น ตัวฉันรับราชการเปนตำแหน่งอธิบดีกะซวงธัมการซึ่งจะโปรดไห้สถาปนาเปนกะซวงเสนาบดี เมื่อฉันไปยุโปรด จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปว่า ขากลับจะอ้อมมาทางประเทสอเมริกาและยี่ปุ่น หรือจะกลับผ่านมาทางประเทสอียิปต์และอินเดีย เพื่อตรวดตราหาความรู้เอามาไช้ไห้เปนประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองก็ได้ เมื่อฉันไปถึงลอนดอน จึงปรึกสาพวกที่เขาชำนาญการเที่ยวเตร่ว่า จะกลับทางไหนดี เขาว่า ฉันยังจะต้องไปตามประเทสต่าง ๆ ไนยุโรปอีกหลายแห่ง กว่าจะเส็ดธุระจะตกถึงปลายเดือนธันวาคม ไปอเมริกาไนเวลานั้นเปนรึดูหนาว ที่ไนอเมริกาหนาวจัดนัก เกรงฉันจะทนไม่ไหว กลับทางอียิปต์และอินเดียดีกว่า เพราะเปนเวลาสบเหมาะกับรึดูสำหรับเที่ยวทางนั้น เขาบอกหย่างเดียวกันหลายคน ฉันก็ลงความเห็นเปนยุติว่า จะกลับทางอียิปต์และอินเดีย แต่เมื่อไถ่ถามผู้ที่ชำนาญทางอินเดีย ได้ความแปลกออกไปหย่างหนึ่งว่า การเที่ยวอินเดียไนสมัยนั้นผิดกับเที่ยวไนยุโรปเปนข้อสำคันหลายหย่าง เปนต้นว่า เที่ยวไนยุโรป ถ้ามีเงินพอไช้ ไปถึงไหนก็หาพาหนะและที่กินหยู่ได้ง่าย แต่ไนอินเดียมีโฮเต็ลแต่ไนเมืองไหย่ แม้โฮเต็ลเหล่านั้นก็ไม่สอาดสอ้านและต้องหยู่ปะปนกับผู้คนชั้นต่ำสำส่อน ไม่สบายเหมือนโฮเต็ลไนยุโรป พวกชั้นผู้ดีที่ไปอินเดีย ถ้าเปนข้าราชการ ก็ไปหยู่กับพวกข้าราชการด้วยกัน ถ้ามิไช่ข้าราชการ เขาก็มักไปพักหยู่กับญาติและมิตรที่มีบ้านเรือนเปนหลักแหล่ง มิไคร่มีไครไปหยู่โฮเต็ล อีกประการหนึ่ง เวลาออกจากเมืองไหย่ไปเที่ยวตามเมืองน้อย ถ้าไม่ได้รับความสงเคราะห์ของรัถบาลก็ลำบาก เพราะไม่มีที่พักนอกจากเปนของรัถบาล เมื่อซาบดังนี้ก็ออกวิตก ยังมิรู้ที่จะแก้ไขด้วยประการไดดี ผเอินสมเด็ดพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียโปรดไห้ฉันขึ้นไปเฝ้าที่พระราชวังบอล์มอรัลไนสก็อตแลนด์ ซงเลี้ยงกลางวันพระราชทานพร้อมกับพระราชโอรสธิดา เมื่อเสวยเส็ด ควีนสเด็ดขึ้นแล้ว พระเจ้าเอดวาดที่ 7 (เวลานั้นยังเปนปรินซ์ออฟเวลส์ รัชทายาท) ตรดชวนไห้ไปกินกาแฟและสูบบุหรี่ไนห้องที่ประทับของพระองค์ท่าน เมื่อซงสนทนาปราสัย ตรัดถามฉันว่า จะซงทำอะไรไห้เปนประโยชน์แก่ฉันได้บ้าง ฉันนึกขึ้นถึงเรื่องที่จะไปอียิปต์และอินเดีย จึงทูนว่า มีการหย่างหนึง ถ้าโปรดซงสงเคราะห์ได้ จะเปนประโยชน์แก่ฉันมาก ด้วยขากลับบ้านเมือง ฉันหยากจะแวะดูประเทสอียิปต์และอินเดีย แต่ไม่รู้จักกับไคร ถ้าโปรดตรัดแก่รัถบาลไห้ช่วยสงเคราะห์พอหย่าไห้มีความลำบากเมื่อไปถึงประเทสนั้น ๆ จะเปนพระเดชพระคุนหย่างยิ่ง ท่านตรัดรับว่า จะจัดประทานตามประสงค์ ฉันขอบพระหรึทัยแล้วทูนลามา พระเจ้าเอดวาดที่ 7 ซงทำหย่างไรฉันไม่ซาบ แต่เมื่อไกล้เวลาที่ฉันจะออกจากยุโรป กะซวงการต่างประเทสถามมายังสถานทูตไทยว่า กำหนดฉันจะไปถึงเมืองอาเล็กซานเดรียท่าขึ้นประเทสอียิปต์วันได ได้ซาบก็แน่ไจว่า รัถบาลอังกริดคงสงเคราะห์ตามกะแสรับสั่งของพระเจ้าเอดวาดที่ 7

เมื่อเส็ดราชการไนยุโรปแล้ว ฉันลงเรือที่เมืองบรินดีสี ประเทสอิตาลี พอไปถึงเมืองอาเล็กซานเดรีย กงสุลเยเนราลอังกริดที่เมืองนั้นลงมารับที่ไนเรือ แล้วพาไปส่งสถานีรถไฟ ขึ้นรถไฟไปถึงเมืองไกโร ลอร์ดโครเมอ (ผู้สำเหร็ดราชการอังกริดไนอีปยิปต์) เวลานั้นยังเปนเซอร์เอเวลิน แบริง มาคอยรับหยู่ที่สถานีรถไฟ พาขึ้นรถไปส่งที่โฮเต็ลเชปเหิดส์ อันเปนโฮเต็ลไหย่ที่สำนักของพวกผู้ดีที่ไปเที่ยวอียิปต์ เมื่อถึงโฮเต็ลแล้ว จึงได้ซาบความหย่างประหลาดไจว่า พระเจ้าติวฟิก ซึ่งเปนเคดิฟครองประเทสอียิปต์ (คงได้ซาบจากลอร์ดโครเมอ) โปรดไห้รับเปนแขกเมือง มีราชองครักส์คนหนึ่งมาหยู่ประจำกับฉัน เวลาจะไปไหน ๆ ก็มียานของหลวงจัดมาไห้ไช้ ไนสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ ไช้รถเทียมม้าคู่มีคนถือแส้วิ่งนำหน้ากับคนสองข้าง ถ้าไปเที่ยวทางทเลซาย เช่น ไปดูเจดีย์ปิรมิด ก็จัดอูถระวางไนผูกเครื่องอานกาไหล่ทองและกำมะหยี่ปักไหมทองมาไห้ขี่ ทั้งมีการเลี้ยงหย่างไหย่ประทานที่ไนวัง เส็ดเลี้ยงพาไปดูละคอนออปะราด้วยครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายอังกริด ลอร์ดโครเมอก็มีการเลี้ยง และผู้บันชาการทหานก็พาไปดูทหานซ้อมรบ ทั้งได้ไปดูวัตถุสถานของโบรานที่สำคันแทบทุกแห่ง ฉันพักหยู่ที่เมืองไกโร 4 วัน (ได้พบเจ้าพระยาอภัยราชา โรงลังยัคมินส์ ดังเล่าเปนเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า) ออกจากเมืองไกโรขึ้นรถไฟไปลงเรือที่เมืองอิสไมเลีย แล่นต่อมาไนคลองสุเอสจนออกทเลแดงทางมาอินเดีย พอลงเรือเมล์ถึงบอมเบ ก็มีข้าราชการอังกริด 2 คนคุมเรือของเจ้าเมืองออกมารับ คนหนึ่งเปนนายพันตรีชื่อ เฮส์ แสดเลอ มาบอกว่า ลอร์ดแลนสดาวน์ ผู้เปนอุปราช (ไวสรอย) ครองอินเดียไห้มาเชินฉันเปนแขกของรัถบาลตลอดเวลาที่หยู่ไนอินเดีย และไห้ตัวเขาเปนผู้มาหยู่ประจำด้วย อีกคนหนึ่งจะเปนตำแหน่งอะไรไนสำนักเจ้าเมืองบอมเบและชื่อไรฉันลืมไปเสียแล้ว มาบอกว่า ลอร์ดแฮริส เจ้าเมืองบอมเบ ไห้เอาเรือมารับ และขอเชินไปพักหยู่นะจวนเจ้าเมืองตลอดเวลาที่ฉันหยู่เมืองบอมเบ ได้ฟังก็ยิ่งประหลาด ด้วยเดิมประสงค์แต่เพียงจะไห้รัถบาลอินเดียช่วยสงเคราะห์พอมิไห้มีความลำบาก แต่จะเที่ยวไนอินเดียด้วยทุนของตนเอง มากลายเปนรับหย่างแขกเมืองซึ่งรัถบาลเลี้ยงดูไห้หยู่กินและจัดพาหนะไห้เที่ยวเตร่ทุกหย่างหมด ก็ต้องขอบพระเดชพระคุนพระเจ้าเอดวาดที่ 7 กับทั้งรัถบาลอังกริดยิ่งขึ้น พอลงเรือหลวงมาถึงท่าขึ้นบก ปืนไหย่ยิงสลุตรับ 21 นัด แล้วขึ้นรถมีทหานม้าแซงทั้งสองข้างแห่ไปยังบ้านเจ้าเมืองอันหยู่ริมชายทเลที่ปลายแหลม พบลอร์ดแฮริสกับภรรยาคอยรับหยู่ที่นั่น เมื่อถึงบ้านเจ้าเมืองแล้ว ซาบความต่อไปอีกว่า รัถบาลอินเดียได้คิดกะโปรแกรมที่ฉันจะเที่ยวไนอินเดียไว้ไห้ และได้บอกไปตามท้องที่ไห้ซาบล่วงหน้าแล้ว พอฉันถึงเมืองบอมเบ ก็ได้รับโทรเลขของเจ้าประเทสราชหลายองค์ คือ มหาราชาไนสัม ผู้ครองนครไฮเดอรบัด องค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครบะโรดา องค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครชัยบุระ (เรียกว่า ไชปัว) องค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครเบนารีส (คือ เมืองพารานสี) องค์หนึ่ง ล้วนเชินไห้เปนแขกเมือง เมื่อฉันไปประเทสนั้น ๆ ต้องมีโทรเลขตอบรับและขอบพระทัยไปตั้งแต่ยังไม่รู้จักกันทุกพระองค์ ระยะทางที่รัถบาลอินเดียกะไห้ฉันเที่ยวครั้งนั้นออกจากเมืองบอมเบไปเมืองไฮเดอระบัดซึ่งหยู่ข้างฝ่ายไต้ก่อน กลับจากเมืองไฮเดอระบัดย้อนทางมาข้างเหนือผ่านเมืองบอมเบขึ้นไปเมืองบะโรดา เมืองประยาคะแต่โบราน เดี๋ยวนี้เรียกว่า เมืองอะมะดะบัด เมืองชัยบุระ พูเขาอาบู ที่มีวัดไนสาสนาเชน (ชินะ) ทำงามมาก เมืองเดลี เมืองอาครา เมืองพารานสี เมืองคยา แต่แรกเขาไม่กะจะไห้ไปเมืองพุทธคยาเพราะไม่มีที่พัก แต่ฉันอยากจะไปด้วยประสงค์จะไปบูชาเจดียสถานที่พระพุทธเจ้าซงตรัสรู้ เขาจึงเพิ่มลงไนโปรแกรม ออกจากเมืองคยาไปเมืองกาละกัตตาแล้วไปเมืองดาชีลิง (อันตั้งหยู่บนพูเขาหิมาลัย) แล้วกลับมาลงเรือที่เมืองกาละกัตตา มายังเมืองร่างกุ้ง เปนที่สุดเขตประเทสอินเดียเพียงนั้น ฉันเที่ยวหยู่ไนอินเดียเดือนครึ่ง ตอนออกจากเมืองร่างกุ้ง ลงเรือ "เสดถี" ของห้างโกหงวน (สกุล นะระนอง) จัดไปรับกลับมาขึ้นที่เมืองระนอง เดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงซึ่งออกไปนะเมืองชุมพร กลับมากรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ส. 2434

การที่รัถบาลอินเดียต้อนรับหย่างเปนแขกเมืองครั้งนั้นเปนเหตุไห้ฉันได้เห็นอะไรแปลก ๆ ไนอินเดียผิดกับคนท่องเที่ยวสามัญหลายหย่าง โดยฉเพาะตามเมืองที่เปนประเทสราช ด้วยเจ้าผู้ครองมักไห้มีการต่าง ๆ อันนับว่าเปนของควนอวดไนเมืองนั้นไห้ฉันดู หรือว่าหย่างเข้าไจง่าย ๆ ก็ทำนองเดียวกับไทยเรารับเจ้าต่างประเทสนั้นเอง แต่จะเขียนเล่าทุกหย่างไปยืดยาวนัก จะพรรนนาว่าแต่ด้วยเห็นของแปลกซึ่งพ้องกับของที่มีไนเมืองไทยเราโดยได้แบบแผนมาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพอันเปนคติไนทางโบรานคดี

ที่เมืองชัยบุระ Jaipure มหาราชาไห้มีการชนช้างไห้ฉันดูที่ไนวัง ราชวังของมหาราชาชัยบุระนั้นไหย่โตมาก มีประตูทางเข้าหลายทาง มนเทียรที่ประทับ ที่ทำพิธี และที่ประพาส ตลอดจนโรงช้างต้นม้าต้น และสนามที่ฝึกหัดช้างม้า หยู่ไนบริเวนราชวังทั้งนั้น วันแรก ฉันไปเฝ้ามหาราชา เข้าทางประตูหนึ่งไปยังที่ท้องพระโรง มหาราชาตรัดภาสาอังกริดคล่อง ไม่ต้องมีล่าม แต่ต้อนรับตามประเพนีฝรั่ง วันรุ่งขึ้น ไปดูชนช้าง เข้าวังทางประตูอื่น ลงจากรถก็ถึงบันไดเชิงเทินก่อถมดินเหมือนหย่างเชิงเทินที่พเนียดคล้องช้างนะพระนครสรีอยุธยา เดินไปตามทางบนเชิงเทินนั้น ดูข้างด้านไนที่เปนที่เลี้ยงช้างทั้งนั้น ช้างหยู่ไนโรงยาวก็มี หยู่ไนคอกฉเพาะตัวก็มี เห็นช้างตัวหนึ่งหยู่ไนคอกมีโซ่ล่ามทั้ง 4 เท้า แยกปลายโซ่ไปผูกไว้กับเสาหมอสายละต้น เขาบอกว่า เปนช้างตกน้ำมัน และว่า เวลาช้างตัวไดตกน้ำมัน ก็เอาโซ่ล่ามไว้เช่นนั้นจนหายตกน้ำมันจึงเอาไปเลี้ยงหย่างปรกติตามเดิม เดินบนเชิงเทินต่อไปอีกหน่อยหนึ่งถึงหัวเลี้ยวเปนด้านสกัด มีสนามไหย่หย่างเราเรียกว่า "สนามชัย" หยู่ข้างหน้าพลับพลาที่มหาราชาทอดพระเนตรหยู่บนเชิงเทินด้านสกัดนั้น ตรงหน้าเชิงเทินลงไปมีกำแพงแก้วก่ออิถถือปูนแถวหนึ่งสูงขนาดพอเสมอไต้ตาคนยืนและทำช่องไห้คนลอดได้หลายทาง มีพวกกรมช้างหยู่ไนกำแพงแก้วนั้นหลายคน พอพวกเรานั่งที่บนพลับพลาเรียบร้อยแล้ว สักประเดี๋ยวก็เห็นคนขี่ม้าแต่งกายหย่างนายทหานอินเดียคนหนึ่งถือแพนเปนไม้ลำยาวสักเท่าทวนมีพู่ผูกข้างปลาย ล่อช้างพลายตัวหนึ่งวิ่งเหย่า ๆ ไล่ม้ามา เปนช้างงาสูงราว 5 สอกเสส หลังเปล่าไม่มีคนขี่ มีแต่ผ้าสักหลาดสีแดงผืนไหย่ผูกคลุมหลังผืนหนึ่งเท่านั้น ขนะนั้น มีนายทหานขี่ม้าถือแพนอีกคนหนึ่งล่อช้างพลายอีกตัวหนึ่งแต่งหย่างตัวก่อนเข้าสนามมาทางด้านข้างซ้าย แต่พอช้างสองตัวนั้นแลเห็นกันก็ผละจากม้าวิ่งตรงเข้าชนกัน ชนหยู่เพียงสัก 2 นาที เผอิญงาช้างตัวหนึ่งหักสะบั้น ผู้อำนวยการเห็นก็ถามฉันทันทีว่า จะโปรดไห้หยุดหรือยัง ฉันเข้าไจว่า เขาหยากไห้หยุด ก็ตอบว่า หยุดเถิด แต่ยังนึกฉงนว่า เขาจะห้ามช้างหย่างไร เห็นเขาโบกมือไห้สัญญา พวกกรมช้างที่แอบหยู่ไนกำแพงแก้วก็จุดดอกไม้ไฟหย่างไฟพเนียงมีด้ามถือวิ่งตรงเข้าไปที่ช้าง ช้างกลัวไฟก็เลิกชนวิ่งหนีแยกกันไป พอช้างสองตัวไปห่างแล้ว คนก็ขี่ม้าเข้าไปเอาแพนล่อพาช้างกลับไปโรงทั้งสองตัว ได้ดูชนกันครู่เดียว ผู้อำนวยการเขาบอกไห้ซาบเมื่อพายหลังว่า ธัมดาช้างชนนั้น ถ้าตัวไหนชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เห็นช้างตัวงาหักเสียที กลัวจะเลยเสียช้าง จึงได้ขอไห้รีบเลิกเสีย ฉันได้ดูชนช้างที่ชัยบุระแม้ดูเพียงครู่เดียวก็สนุกจับไจ ด้วยเปนการหย่างหนึ่งไนตำราคชสาสตรแต่ดึกดำบรรพซึ่งชาวอินเดียเขายังรักสามา เปนแต่มาแปลงเปนการกิลาไนสมัยเมื่อเลิกไช้ช้างรบพุ่งแล้ว ไทยเราก็มีวิชาคชสาสตรคล้ายกับชาวอินเดียดังจะพรรนนาไนนิทานเรื่องอื่นต่อไปข้างหน้า

วันหนึ่ง เขาพาฉันไปดูพิพิธภันทสถานของเมืองชัยบุระ ไปเห็นรูปปั้นเปนรือสีหย่างไนอินเดีย ทำท่าต่าง ๆ เหมือนหย่างรูปรือสีดัดตนไนวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อม ๆ ตั้งเรียงไว้ไนตู้ไบหนึ่ง ที่จิงควนฉันจะถามเขาว่า รูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่า รูปเหล่านั้นเปนแบบท่าดัดตนไห้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่า ไม่ไช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเปนแบบท่าต่าง ๆ ที่พวกดาบสบำเพ็นตะบะเพื่อบันลุโมขธัม ฉันได้ฟังก็นึกละอายไจไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เปนเจ้าของตำราเรื่องรือสีชีพราหมน์ แต่ก็เกิดหยากรู้แต่นั้นมาว่า เหตุไฉนรูปรือสีดัดตนที่เขาทำไนเมืองไทยจึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็นตะบะของชาวอินเดีย เมื่อกลับมาจึงค้นหาตำรารือสีดัดตน พบอธิบายปรากตไนศิลาจารึกเรื่องส้างวัดพระเชตุพนฯ ว่า พระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุลาโลกโปรดไห้ "ตั้งตำรายาและรือสีดัดตนไว้เปนทาน" ตามสาลารายริมกำแพงวัดพระเชตุพนฯ รูปรือสีดัดตนส้างไนรัชกาลที่ 1 เปนรูปปั้น และคงมีอักสรจารึกศิลาติดไว้ไกล้กับรูปรือสีบอกว่า ดัดตัวท่านั้นแก้โรคหย่างนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อปติสังขรน์วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็ดพระนั่งเกล้าเจ้าหยู่หัวโปรดไห้เปลี่ยนรูปรือสีเปนหล่อด้วยดีบุก และโปรดไห้พวกกวีแต่งโคลง 4 ขนานชื่อรือสีและบอกท่าดัดตนแก้โรคหย่างได ๆ จารึกสิลาติดประจำไว้กับรูปภาพตัวละบทหนึ่ง เรียกรวมกันว่า "โคลงรือสีดัดตน" พบตำราว่าด้วยเรื่องรือสีหรือดาบสทำท่าต่าง ๆ มีหยู่ไนเมืองไทยเพียงเท่านั้น จึงเปนปัญหาว่า ท่ารือสีดัดตนต่าง ๆ จะเปนท่าบำเพ็นตะบะของดาบสหย่างเขาว่าที่เมืองชัยบุระ หรือเปนท่าดัดตัวแก้โรคเมื่อยขบหย่างเช่นไทยถือเปนตำรา ฉันไม่รู้ว่าจะเปนหย่างไหนแน่มาช้านาน จนเมื่อออกมาหยู่เมืองปีนัง มีดาบสชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเคร่งครัดนักมาบำเพ็นตะบะนะเมืองปีนัง พวกชาวอินเดียที่เลื่อมไสเรี่ยไรกันซื้อที่ส้างอาสมไห้ดาบสนั้นหยู่แห่งหนึ่ง ฉันไปดูเห็นที่ตรงกลางบริเวนก่อเปนมนดป 8 เหลี่ยม หลังคาเปนซุ้มมียอดหย่างแบบอินเดีย มีมุขเด็ดข้างหน้าและเฉลียงโถงรอบมนดป เห็นตัวดาบสนั่งขัดสมาธิเหมือนหย่างพระประธานหยู่บนเตียงหน้ามุขเด็ด ผเอินผู้อุปถากพูดภาสาอังกริดได้ บอกอธิบายไห้รู้ว่า ดาบสนั้นสมาทานตะบะสองหย่าง คือ เว้นวจีกัมไม่พูดกับไคร ๆ หมด หย่างหนึ่ง กับนั่งสมาธิหยู่นะอาสนะอันเดียวตั้งเช้าจนค่ำทุกวันเปนนิจ หย่างหนึ่ง ฉันถามว่า ไนมนดปเปนที่สำหรับดาบสนอนหรือ เขาตอบว่า ยังไม่มีไครเคยเห็นดาบสตนนั้นนอนเลย โดยปรกติ พอค่ำ ดาบสก็ลุกจากอาสนะที่มุขเด็ดเข้าไปไนมนดป แต่ไปทำพิธีอีกชนิดหนึ่งเพื่อแก้เมื่อยขบ เห็นทำท่าต่าง ๆ บางที (ปลุก) ตัวลอยขึ้นไปก็มี ฉันได้ฟังก็เข้าไจแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย ได้ความรู้ว่า การดัดตนนั้นเปนส่วนอันหนึ่งของการบำเพ็นตะบะนั่นเอง เพราะนั่งหรือยืนทีเดียวตลอดวันยังค่ำ ทรมานร่างกายเกินวิสัย ก็ย่อมเกิดอาการเมื่อยขบ จึงคิดวิธีดัดตนสำหรับระงับทุกขเวทนาอันเกิดแต่บำเพ็นตะบะ แล้วตั้งเปนตำราไว้แต่ดึกดำบรรพ ที่พวกชาวเมืองชัยบุระเขาบอกว่า เปนวิธีของพวกดาบสนั้น ก็ถูก ที่ไทยว่า เปนวิธีแก้เมื่อยขบ ก็ถูก เพราะไทยเราไม่เลื่อมไสวิธีตะบะของพวกถือสาสนาฮินดู เอาแต่วิธีดัดตัวแก้เมื่อยขบมาไช้ จึงเกิดตำรารือสีดัดตนขึ้นด้วยประการฉะนี้

เมื่อฉันหยู่ที่เมืองชัยบุระนั้น จะไปไหน ๆ เขาไห้ไปรถไหย่เทียมม้าคู่ มีทหานม้าแห่แซงทั้งข้างหน้าข้างหลังไห้สมเกียรติยสของเจ้าต่างประเทส เพราะฉะนั้น เวลาไปไหนจึงมีคนดูทั้งสองข้างถนน วันหนึ่ง ฉันเห็นดาบสคนหนึ่งเกล้าผมสูง นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด มีประคำคล้องคอ ยืนหยู่ริมถนนข้างหน้าแถวคนดู เมื่อรถฉันไปถึงตรงหน้า ดาบสยิ้มยกมือเปนทำนองอวยพร ออกอุทานเปนภาสาสันสกริต ได้ยินเข้าหูคำหนึ่งว่า "หริราชา" นึกว่าแกอำนวยการก็ยิ้มรับแล้วเลยผ่านไป เมื่อผ่านไปได้สักหน่อยหนึ่ง ยังไม่ห่างกันนัก ฉันเหลียวหน้ากลับไปดู เห็นดาบสตนนั้นทำหน้าตาถมึงทึง ยกไม้ยกมือกวัดแกว่ง ปากก็ว่าอะไรยืดยาว ฉันไม่ได้ยินถนัด แต่รู้ทีว่า เปนกิริยาโกรธ จึงนึกว่า ที่ดาบสตนนั้นยิ้มแย้มไห้พรตอนแรกเห็นจะขอทาน ครั้นไม่ได้เงินก็โกรธขึ้ง ออกปากตอนหลังน่าจะเปนคำสาบสรรค Curse ฉันถามขุนนางอังกริดที่เขาไปด้วยไนรถว่า เปนเช่นนั้นหรือหย่างไร เขาไม่บอกตรง ๆ เปนแต่บอกว่า ประเพนีประเทสราชไนอินเดีย เวลามหาราชาสเด็ดไปไหน มีขบวนแห่ ย่อมโปรยเงินเปนทานแก่ราสดรที่มาหยู่ข้างราชวิถี พวกนั้นเคยได้เงิน จึงอยากได้อีก ฉันได้ฟังอธิบายก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกสองหย่าง คือ

ประเพนีพระเจ้าแผ่นดินโปรยเงินพระราชทานราสดรสองข้างราชวิถีก็มีไนเมืองไทยไนเวลาแห่สเด็ดโดยขบวนพยุหยาตรา เช่น เลียบพระนครหรือสเด็ดไปทอดพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราก็ซงโปรยเงิน ฉันได้เคยเห็นเมื่อเปนราชองครักส์แห่สเด็ดหลายครั้ง ถ้าซงพระยานมาสสเด็ดไปทางบก มีกรวยปักไว้ข้างที่ประทับ ไนกรวยมีขันทองลงยาไส่เงินสลึงเงินเฟื้องซงหยิบโปรยพระราชทานราสดรทั้งสองข้างทาง ถ้าสเด็ดไปทางเรือ ทำเปนลูกไม้กลมไส่เงินปลีกไว้ไนนั้น เมื่อซงโปรย ลูกไม้ก็ลอยน้ำหยู่ไห้ราสดรเก็บ เปนประเพนีไทยเราได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพหย่างหนึ่ง

ได้ความรู้อีกหย่างหนึ่งนั้น คือ การสาบสรรคซึ่งผู้มีริทธิ์เดชกะทำร้ายแก่ผู้อื่นอันมีกล่าวไนหนังสือเก่าทั้งทางสาสนาไสยสาสตรและพระพุทธสาสนาที่มาจากอินเดีย เพิ่งได้เห็นว่า วิธีสาบนั้นออกปากตะโกนแช่งเอาซึ่ง ๆ หน้า ไม่ลอบภาวนาสาบไนที่ลับเหมือนหย่างที่เรียกว่า "ทำกฤตยาคม" หรือำปั้นรูปเสกแช่งแล้วเอาไปฝังไว้ ส่อว่า วิธีสาบแช่งมีสองหย่างต่างครูกัน

ฉันได้เห็นของประหลาดเข้าเรื่องนิทานโบรานคดีที่เมืองชัยบุระ 3 หย่างดังพรรนนามา ยังมีของประหลาดได้เห็นแห่งอื่นไนอินเดีย จะเล่าไนนิทานเรื่องต่อไป