ข้ามไปเนื้อหา

บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 12

จาก วิกิซอร์ซ
เรื่อง ยิงปืนบอกเวลา

ปัญหา การยิงปืนบอกเวลาเที่ยงนั้นมีมาแต่ครั้งใด? ได้แบบอย่างมาแต่ไหน?

ตอบ เรื่องยิงปืนบอกเวลานี้มีมานานแล้ว เดิมทีเดียว ที่ป้อมมุมพระราชวังมีปืนใหญ่ประจุอยู่สี่ป้อมเสมอ ป้อมละกระบอก เป็นปืนสัญญา ตามที่เห็นด้วยตาตนเองนั้น มีอยู่กะบอกหนึ่งที่ป้อมมุมวัดพระเชตุพน ปืนนั้น ถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเช้าตรู่ ยิงทุกวัน กล่าวกันเป็นสองนัย นัยหนึ่งว่า เป็นการเปลี่ยนดินปืน แต่ว่าตามความคิดเห็นว่า ที่จริงนั้น เป็นสัญญาเปิดประตูวังที่ปิด เพื่อลดหย่อนการพิทักษ์รักษาพระราชวังในเวลากลางคืน ที่ยิงปืนนั้นเพื่อให้ได้ยินพร้อมกันทุกด้าน อีกนัยหนึ่งนั้น เป็นสัญญาบอกเมื่อไฟไหม้ ถ้าไฟไหม้นอกพระนคร ยิงนัดเดียว ถ้าไฟไหม้ในพระนคร ยิงสามนัด ถ้าไฟไหม้ในพระราชวัง ยิงต่อ ๆ ไปหลายนัดจนไฟดับจึงหยุด เป็นธรรมเนียมดังนี้

มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งเป็นของคู่กันที่เป็นส่วนสำหรับพระนคร เข้าใจว่า ได้มาจากเมืองจีน ไทยเรามีมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แม้เรื่องยิงปืนก็คงมีมาก่อนแต่ครั้งกรุงเก่า ประเพณีของพระนครที่คู่ไปกับยิงปืน ก็คือ ตีกลอง เดิมมีหอกลองอยู่ที่หน้าวัดพระเชตุพนหอหนึ่งเป็นสามชั้น แขวนกลองสามใบใหญ่และย่อมขึ้นไปเป็นลำดับกัน กลองใบใหญ่อยู่ชั้นล่าง เรียกชื่อว่า ย่ำพระสุรศรี สำหรับตีเวลาพระอาทิตย์ตก เป็นสัญญานให้ปิดประตูพระนคร ใบชั้นกลางชื่อ อัคคีพินาศ สำหรับตีเมื่อเกิดไฟไหม้ เป็นสัญญาเรียกราษฎรให้ช่วยกันดับไฟ ดูเหมือนมีกำหนดว่า ไฟไหม้นอกพระนคร ตีสามครั้ง ถ้าไฟไหม้ในพระนคร ตีมากกว่านั้น กลองใบยอดชื่อ พิฆาตไพรินทร์ ตีให้รูว่า มีข้าศึกมาประชิดติดพระนคร ทุกคนต้องมาพร้อมกันช่วยรักษาหน้าที่

มูลเหตุของการยิงปืนเที่ยงนั้น จำได้อยู่ว่า แรกเราไปได้ยินอังกฤษเขายิงสัญญาที่เมืองสิงคโปร์สำหรับให้คนตั้งนาฬิกา ไทยเราไปเห็นเข้า อยากจะให้มีปืนเที่ยงที่กรุงเทพบ้าง ดูเหมือนจะโปรดให้ทหารเรือยิงขึ้นที่ตำหนักแพก่อน ครั้นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจัดทหารปืนใหญ่มีขึ้นในทหารล้อมวังแล้ว จึงขอหน้าที่ยิงปืนเที่ยงมาให้ทหารปืนใหญ่ล้อมวังยิงที่ป้อมทัศนากรอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับไปเป็นหน้าที่ของทหารเรืออีก ปืนเที่ยงยิงมาจนมีไฟฟ้า โรงไฟฟ้ารับขยิบตาเวลาสองทุ่ม เป็นสัญญานตั้งนาฬิกาแทน