ข้ามไปเนื้อหา

บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 20

จาก วิกิซอร์ซ
เรื่อง พระพิมพ์ดินดิบดินเผา

ปัญหา พระพิมพ์ที่เห็นมีอยู่ทุกวันนี้ เหตุไรจึงมีทั้งดินดิบและดินเผา?

ตอบ แถวเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองตรัง มีถ้ำมาก ในถ้ำมีพระพิมพ์ดินดิบ ๆ เป็นแบบมหายานทั้งนั้น คือ เป็นรูปพระโพธิสัตว์ คาถาและตราข้างหลังเป็นอักษรสันสกฤต คือ เทวนาครี พระพิมพ์นี้ ทางเหนือเป็นพระพิมพ์ดินสุก ไม่ดิบอย่างทางใต้ พบใส่หม้อฝังดินเรียงรายไว้ตามถ้ำต่าง ๆ

เหตุที่จะรู้เรื่องนี้ ต้องเล่าให้ฟัง ครั้งหนึ่ง มีนายพันเอกฝรั่งคนหนึ่งมาจากพะม่าขอให้ช่วยนำเที่ยวพิพิธภัณฑสถาน เขาเคยอยู่เมืองธิเบตมาก่อน พาไปดูที่ตู้พระพิมพ์ ถามเขาว่า อย่างนี้ในธิเบตมีบ้างไหม? เขาบอกว่า ไม่ใช่แต่ว่ามี ละเดี๋ยวนี้เขายังทำกันทุกวัน ความเป็นดังนี้!

เรื่องพระพิมพ์นี้มีประวัติว่า กาลครั้งหนึ่ง พระมหาเถรองค์ใดองค์หนึ่งอันเป็นที่นับถือของชาวเมืองตายลง ฌาปนกิจศพเสร็จแล้ว เขาก็เอาอัฐิธาตุโขลกลงในครกผสมดินตีพิมพ์รูปพระโพธิสัตว์ สร้างอุทิศให้ไปเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ เอาเรียงไว้ในถ้ำ ที่โขลกแล้วพิมพ์ใส่หม้อเรียงไว้และไม่เผาทิ้งไว้ทั้งดิบ ๆ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาถือว่า เผาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เผาสรีระ จึงทำเป็นพระพิมพ์ดินดิบ ไม่ยอมเผาสองหน เพราะเป็นการเผาซ้ำ

ฝ่ายทางเหนือที่ทำดินสุกนั้นเป็นอีกประเพณีหนึ่ง คือ ประสงค์เพื่อปัญจอันตรธานว่า เมื่อสิ้นพระพุทธศาสนาแล้ว จะไม่มีใครรู้จักพระพุทธเจ้า จึงพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าด้วยดินเผาเก็บฝังไว้ใต้ดิน ในพระเจดีย์ ฯลฯ เพื่อให้คนชั้นหลังขุดพบ จะได้รู้จัก เป็นประโยชน์ต่างกันอย่างนี้ นี่คือเรื่องของพระพิมพ์