บันทึกลับ ทรงเรียกคณะราษฎรเข้าเฝ้า วันที่ 30 มิถุนายน 2475
วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์, พระยาศรีวิสาร, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหล กับหลวงประดิษฐมนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย. มีพระราชดำรัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติ ทรงนึกว่า ถูกเลือกทำไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
๑.คงต้องการให้ลบล้างกิจการที่รัชชกาลที่ ๖ ทำไว้ จึ่งได้ทรงพยายามใช้หนี้และแก้ไขให้ฐานะการเงินเฟื่องฟูขึ้น ครั้นเสด็จไปอเมริกากลับมา การเงินเพลียลง ทรงรู้สึกว่า ไม่ใช่โทษผิดของพระองค์ เป็นเพราะเหตุการณ์ภายนอก แต่ก็ทรงรู้สึกว่า ได้แก้ไขช้าไปบ้างและอ่อนไปบ้าง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรู้สึกว่า จะดันทุรังไปก็ไม่ใคร่ได้ ด้วยมีผู้ใหญ่ที่ชำนาญการห้อมล้อมอยู่
๒.อีกอย่าง ๑ ทรงเห็นว่า ควรจะต้องให้ Constitution มาแต่รัชชกาลที่ ๖ แล้ว และเมื่อได้ทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่า เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ. ครั้นเมื่อพระยากัลยา (F. B. Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้น ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี ในส่วนพระราชดำริ ในชั้นต้น อยากจะทำเป็น ๒ ทาง ทั้งล่าง ทั้งบน, ข้างล่าง ให้มีเทศบาลเพื่อสอนราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึ่งโปรดให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ดั่งที่หลวงประดิษฐทราบอยู่แล้ว แต่การณ์ก็ช้าไป, ในส่วนข้างบน ได้ทรงตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้นเพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึ่งตั้งที่ประชุมขึ้น หวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา ครั้นเสด็จไปอเมริกา ก็ได้ให้ interview ว่า จะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมา ยิ่งรู้สึกแน่ว่า จะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึ่งได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ ๆ กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอิกผู้ ๑ ก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารและนายสตีเวนส์ขัดข้องเสียดั่งนี้ การก็เลยเหลวอิก ต่อมา ได้เตรียมว่า จะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปีแล้ว เพราะจะเป็นขี้ขลาด รอว่า พองานแล้ว จะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่า กำลังเป็นเวลาโภคกิจตกต่ำ ถึงกระนั้น ก่อนเสด็จไปหัวหิน ก็ได้ทรงพระราชดำริอิกที่จะให้มี Prime Minister ให้มีสภา interpellate เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าแต่ละอย่าง ๆ จะเป็นได้ก็ลำบากเหลือเกิน หวังว่า จะเห็นด้วยว่า พระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ได้ทำการมานานตั้ง ๒๐ ปีก่อนพระองค์.
แปลนที่ ๒. คิดจะให้เสนาบดีมุรธาธร (preside) เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระองค์จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจำนวนกรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่อย่างรัฐสภา ได้ทรงเตรียมไว้ ๒ แปลนอย่างนี้ เอาติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทำ (memo) บันทึกเสนอเสนาบดีสภา ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ ก็ปรากฏว่า ช้าไปอีก ที่คณราษฎรทำไป ไม่ทรงโกรธกริ้ว และเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่อง ก็คาดแล้วว่า คงจะเป็นเรื่องการปกครอง เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทำความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก ในวันนั้น ได้ทรงฟังประกาศของคณราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย.
เมื่อได้ทรงฟังประกาศดังนี้ รู้สึกว่า เห็นจะเป็นขบถกระมัง จึงปรึกษา มีทาง ๓ ทาง ถ้าจะหนี ก็มีเวลาตั้ง ๒๔ ชั่วโมง พอหนีได้ จะสู้ ก็ยังมีกำลังทหารทางหัวเมือง แต่ทรงพระราชดำริว่า ถ้าหนี จะร้ายใหญ่ อาจฆ่ากันตาย และร้ายแก่พระราชวงศ์ การจะต่อสู้ ก็ไม่อยากทำ จึ่งได้ทรงรับโดยไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ ในการที่ทรงรับ ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระองค์มีพระอาการทุพพลภาพ และไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ที่ทรงรับกลับเข้ามาก็โดยตั้งพระราชหฤทัยจะสนับสนุนคณราษฎรให้จัดตั้งพระธรรมนูญการปกครองให้เป็นปึกแผ่น ทั้งนี้ อาจมีพวกเจ้านายรู้สึกว่าเป็นทางขลาดก็ได้.
ในประกาศของคณราษฎรที่กล่าวหาว่า พระองค์ตั้งแต่งคนสอพลอนั้น ไม่จริง ได้ทรงปลดคนที่โกงออกก็มาก แต่ลำพังพระองค์ ๆ เดียว จะเที่ยวจับคนโกงให้หมดเมืองอย่างไรได้ แม้คณนี้ก็คอยดูไป คงจะได้พบคนโกงเหมือนกัน ทรงเชื่อว่า พระราชวงศ์ทุกพระองค์ได้ตั้งพระทัยช่วยราชการโดยจริง ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาษ หรือว่าหลอกลวง ก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นได้ว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นำ และผู้นำนั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสียไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้น เสียใจมาก.
เมื่อได้เห็นประกาศ ไม่อยากจะรับเป็นกษัตริย์ แต่โดยความรู้สึกดั่งกล่าวมาข้างต้นว่า เทวดาสั่งเพื่อจะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยราบคาบ จึ่งจะทรงอยู่ไปจนรัฐบาลใหม่เป็นปึกแผ่น เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว จะทรงลาออกจากกษัตริย์ เมื่อเขียนประกาศ ทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกัน ทำไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดดังนั้นแล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว ไม่ทรงทราบใครเป็นผู้เขียนประกาศนั้น แต่ทรงคิดว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้เขียน จึ่งทรงต่อว่า การเขียนประกาศ กับการที่ทำของคณราษฎร เปรียบเหมือนเอาผ้ามาจะทำของ แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอามาชักขึ้นเป็นธง จะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ จึ่งทรงรู้สึกว่า จะรับเป็นกษัตริย์ต่อไปไม่ควร อิกประการ ๑ ประกาศนี้คงตกอยู่ในมือราษฎรเป็นอันมาก ทำให้ขาดเสียความนิยม เมื่อไม่นับถือกันแล้ว จะให้เป็นกษัตริย์ทำไม เท่ากับจับลิงที่ดูมาใส่กรงไว้ จึ่งมีพระราชประสงค์จะออกเสีย เพราะรู้สึกว่า เสีย Credit ทุกชั้น ทำให้คนเกลิยดหมด แต่จะทรงยอมอยู่ไปจนเหตุการณ์สงบ เวลานี้ จะดูหน้าใครไม่ได้ จะรับแขกไม่ได้ จะอยู่โดยเงียบ ๆ แต่จะเชิญเสด็จให้ไปที่สภา ก็จะเสด็จเพื่อช่วยความมั่นคง เมื่อการงานของประเทศเรียบร้อย ขออนุญาตไปพักผ่อนเงียบ ๆ ไม่ได้ต้องการเงินทอง ขอแต่ให้ได้ใช้สรอยทรัพย์สมบัติเดิมที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพอกินไป.
อีกอย่าง ๑ อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริจะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์ พระเนตร์ก็ไม่ปกติ คงทนงานไปไม่ได้นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึ่งอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งกรมขุนชัยนาทเป็น Regent ก็สมควร จะได้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่ เพราะพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือ หรือคณราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร.
หลวงประดิษฐมนูธรรมกราบบังคมทูลว่า พวกคณราษฎรไม่ทราบเกล้าฯ ว่า จะพระราชทาน Constitution คิดว่า การเปลี่ยนแปลง อาจไม่เสด็จกลับ อาจไม่พระราชทานตามที่ขอร้อง เป็นด้วยไม่รู้เท่าถึงพระบรมราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นการมุ่งร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทราบเกล้าฯ ดั่งนี้ ก็จะไม่มีความเข้าใจผิดอิกต่อไป และคงมีความเคารพนับถือในพระบารมีอยู่ตามเดิม.
มีพระราชดำรัสว่า กระดาษที่ประกาศออกไปเกลื่อนเมืองล้วนเป็นคำเสียหาย จะปรากฏไปในพงศาวดาร เมื่อมีดังนี้แล้ว ถึงจะแก้ไขใหม่ก็ลำบาก เมื่อสิ้นธุระแล้ว ขอให้ปล่อยพระองค์ออกจากกษัตริย์ดีกว่า เพราะทรงรู้สึกว่า คณราษฎรเอาพระองค์ใส่ลงในที่ ๆ เลวทราม หรือมิฉะนั้น พระองค์ก็ตาขาวเต็มที ซึ่งที่จริงมีถึง ๓ ทาง ทั้งสู้ ทั้งหนี คนไม่รู้ก็หาว่าขี้ขลาด.
มีความอีกข้อ ๑ ได้ทรงทราบข่าวเรื่องจะยึดเงิน ไม่ทราบว่า จะทำจริงหรือไม่เพียงไร ถ้าจะริบ ทรงขอลาออกเสียก่อน เพราะจะยอมเป็นหัวหน้าบอลเชวิคร่วมมือริบทรัพย์ญาติด้วยไม่ได้ เป็นยอมตาย ที่คณราษฎรจะคิดหาเงินจากคนมั่งมีด้วย Taxation นั้น ทรงยอมได้ แต่ในประกาศของคณราษฎรที่พูดออกไปนั้น ทำให้ต่างประเทศมีความสงสัย ทรงขอบอกว่า เมืองไทยจะทำอย่างเมืองจีนไม่ได้ และจะเปรียบกับอาฟกานิสตานก็ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศผิดกัน เมืองไทยประเทศใกล้เคียงเอาเรือรบมาเมื่อไรก็ได้ จึ่งทรงขอทราบว่า คณราษฎรได้คิดดั่งนั้นจริงหรือ
พระยามโนปกรณ์กราบบังคมทูลว่า คณราษฎรไม่ได้คิดดั่งนั้นเลย คิดจะหาเงินโดยทางภาษีกับทาง Internal loan เท่านั้น
มีพระราชดำรัสว่า เมื่อได้รับคำยืนยันว่า ไม่ริบทรัพย์ จะจัดทางภาษีและทางกู้เงินในประเทศ จะทรงช่วยได้ พระคลังข้างที่มีอยู่ ๖ ล้าน จะยอมให้ แต่เงินนี้เป็นหลายเจ้าของด้วยกัน และมีทางอื่นที่ได้ทรงช่วยอยู่หลายประการ เช่น ในเรื่องลดเงินพระคลังข้างที่ และช่วยแบงก์สยาม ซึ่งเสนาบดีคลังและที่ปรึกษาในครั้งนั้นแนะนำให้ล้มเสีย ได้ทรงให้แบงก์ยืมโดยไม่เอาดอกเบี้ย ได้ทำโดยตั้งใจดีทุกอย่าง จึงเสียใจและน้อยใจมากที่คณราษฎรได้ออกประกาศไปดั่งนั้น.
อีกอย่าง ๑ ขอบอกว่า ที่มีเสียงต่าง ๆ ว่า จะให้ถอดเจ้านั้น ทำไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อคณราษฎรจะทำ ก็ขอให้พระองค์ออกจากกษัตริย์เสียก่อน ทรงเห็นว่า จะทำอย่างนี้ได้ คือ ในฝรั่ง อย่าให้เรียกหม่อมเจ้าว่า His Highness ให้เรียกแต่ว่า หม่อมเจ้า เฉย ๆ และที่จะให้เจ้ามีน้อย ก็ทรงเห็นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มีมากนัก แต่จะถอดถอนไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตายไปเอง แล้วตีวงจำกัดเสียสำหรับภายหน้า.
พระยามโนปกรณ์กราบบังคมทูลว่า เรื่องถอดเจ้ายังไม่ได้คิด.
มีพระราชดำรัสว่า ใน ๒ อย่าง เป็นไม่ยอมทำ คือ ริบทรัพย์ กับถอดเจ้า พระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่ในการที่จะช่วยราษฎรให้ราษฎรทุกคนได้ถือที่ดินและมีนาของตนเอง ไม่ควรให้ที่ดินตกไปในมือชาวต่างประเทศ แต่ยังทำลงไม่เป็นผล ด้วยถูกสัญญาทางพระราชไมตรีผูกมัด มีหลายข้อที่ได้ทรงพระราชดำริไว้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะดำเนิรการต่อไป.
มีเรื่องธุระที่ได้ทรงพระราชดำริไว้ คือ พระองค์เจ้าบวรเดชกราบบังคมทูลว่า มิสเตอร์กรุดมีโทรเลขมาว่า เวลานี้ Bond สยามราคาตกลง ๔% ถ้ายังมีการเกาะกุม แสดงว่า การเป็นไปยังไม่เรียบร้อย ต่างประเทศคงยังไม่วางใจ ในเวลานี้ ไม่ทราบว่า คณราษฎรได้ปล่อยใครไปบ้าง.
พระยาพหลกราบบังคมทูลว่า ได้ปล่อยสมเด็จ ๒ องค์ พระองค์เจ้าภาณุ กับหม่อมเจ้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์.
มีพระราชดำรัสว่า การเกาะกุมจะเป็นไปนานเท่าไร ถ้าเลิกเสียได้ยิ่งดี.
พระยาพหลกราบบังคมทูลว่า คณราษฎรอยากจะทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่มีบางคนไม่ยอมทำสัตย์ปฏิญาณ เช่น พระยาสีหราชเดโช ถึงจะเอาชีวิต.
มีพระราชดำรัสว่า มีใครบ้างที่ไม่ยอมให้สัตย์ ขอให้ ๆ ชื่อ จะได้ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาไปแนะนำ เพราะว่า ถ้ามัวแต่คิดกันไม่หยุด เมืองไทยก็จะกลายเป็นเม๊กซิโก ยิ่งกักไว้นาน ทำให้รู้สึกว่า การภายในไม่ปกติ จะร้าย ที่สำคัญที่สุดนั้น ก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ.
มีพระราชดำรัสว่า การที่เอาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ไปกักมีความเสียหายเหมือนดั่งดาพ ๒ คม คนรักท่านมาก คนเกลียดก็มากเหมือนกัน ถ้ายิ่งกักไว้นานวัน อาจมีคนรักมากขึ้น ในเมืองไทย เกลียดคนมีอำนาจ ในรัชชกาลที่ ๖ ท่านไม่สู้มีอำนาจในราชการ มีคนรักมาก ครั้นมาในรัชชกาลนี้ ทรงรักใคร่นับถือ ท่านมีอำนาจขึ้น คนเกลียดก็มากขึ้น ทรงสังเกตว่า ในเมืองไทย ถ้าใครถูกเคราะห์ร้าย ยิ่งมีคนรัก ทั้งทหารบกทหารเรือชอบท่านอยู่มาก ถ้ายิ่งนานวัน จะยิ่งมีพวกมากขึ้น ทรงเห็นควรปล่อยให้ไปอยู่วัง หรือให้เสด็จไปต่างประเทศเสีย เพราะเดี๋ยวนี้ ต้องระวังอยู่ทั้ง ๒ ทาง ถ้าคณราษฎรเห็นชอบด้วย จะทูลเองหรือจะให้รับสั่งกับพระองค์ท่านก็ได้.
พระยามโนปกรณ์กราบบังคมทูลว่า เห็นดีที่จะให้เสด็จต่างประเทศ แต่อย่าให้เป็นการเนรเทศ. มีพระราชดำรัสว่า รายละเอียดนั้นให้คิดเอง จะได้ไม่ได้ชื่อว่าทารุณ.
มีพระราชดำรัสว่า จะเอาที่ไหนเป็นที่ประชุมต่อไป, ที่ศาลาสหทัยพอหรือไม่. หลวงประดิษฐ์กราบบังคมทูลว่า คณราษฎรคิดไว้ว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม.
มีพระราชดำรัสว่า มีพระราชบัญญัติอีกหลายอย่างที่ควรยกเลิก เช่น เรื่ององคมนตรีและอภิรัฐมนตรี. โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหิธรไปติดต่อกับพระยามโนปกรณ์.
มีพระราชดำรัสถามว่า ใครร่างพระธรรมนูญ. พระยามโนปกรณ์ได้กราบบังคมทูลชื่อ. มีพระราชดำรัสว่า จะถามพระราชดำริก็ได้ ที่จริง ได้ทรงศึกษาเรื่องพระธรรมนูญการปกครองมามาก และมีความคิดความเห็นเหมือนที่คนหนุ่มได้คิดกัน ร่างพระธรรมนูญของจีนก็มี ทรงยินดีจะช่วยให้งานเดิร.
พระยาศรีวิสารกราบบังคมทูลว่า มีความรู้สึกที่ทรงช่วยเหลือเพื่อความมั่นคง เรื่องที่ทรงพระราชดำริจะลาออกนั้น ขอพระราชทานให้งดไว้ก่อน. มีพระราชดำรัสว่า จะดูก่อน ไม่ทราบว่า อาการแห่งพระเนตร์จะทุพพลภาพเพียงไร เพราะการผ่าพระเนตร์ไม่ได้ผลสมคาด ถึงไม่มีเหตุเรื่องเปลี่ยนการปกครอง ก็ได้ทรงพระราชดำริที่จะลาออก การต่อไปยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพระเนตร์ดี และแสดงให้เห็นว่า คณราษฎรไม่ทำให้พระองค์เป็นที่เสื่อมความนิยม ก็อาจจะอยู่ต่อไป ในชั้นนี้ ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน.
พระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงประดิษฐมนูธรรมกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ล่วงเกิน โปรดพระราชทานอภัย และมีพระราชดำรัสว่า ในการที่ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนการปกครองนั้น ได้ทรงเคยตักเตือนแก่ผู้ที่ทัดทานหลายครั้งว่า อย่าดูถูกคนไทยว่าจะไม่คิดและทำการเช่นนี้ได้. พระยาพหลกราบบังคมทูลว่า ได้ยินคนพูดดูถูกดั่งนี้เหมือนกัน จึ่งได้คิดการโดยพลีชีวิต. หลวงประดิษฐมนูธรรมรับจะไปพิจารณาหาทางร่างประกาศถอนความที่ได้ปรักปรำและขอพระราชทานอภัยให้เป็นที่สมพระเกียรติยศ.
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- มหิธร (ลออ ไกรฤกษ์), เจ้าพระยา. (2545). บันทึกลับ. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 314–323). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก