ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ประกาศของคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ ๒๕ [1]



ตามที่คณะปฏิวัติได้จัดตั้งนครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการและความสะดวกของประชาชนในด้านการจัดการปกครองท้องถิ่นของนครหลวงกรุงเทพธนบุรีสมควรจัดรูปการปกครองเป็นพิเศษแตกต่างจากท้องถิ่นอื่น คือเป็นเทศบาลสำหรับนครหลวงโดยเฉพาะ เพื่อให้เทศบาลนครหลวงสามารถบริหารท้องถิ่นได้โดยมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของราชการบริหารส่วนกลางยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีเป็นเทศบาลสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เรียกว่า เทศบาลนครหลวง

เทศบาลนครหลวงมีเขตตามที่เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีนี้อยู่ในวันประกาศให้ใช้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ ๒ ในระหว่างดำเนินการจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยเทศบาลนครหลวง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครหลวง ให้สภาเทศบาลนครหลวงประกอบด้วยสมาชิกซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจากผู้ที่เห็นสมควรมีจำนวนไม่เกินสามสิบหกคน และให้มีคณะเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงประกอบด้วยนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีอื่นอีกไม่เกินแปดคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจากผู้ที่เห็นสมควร

ให้ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงโดยตำแหน่ง

ข้อ ๓ สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลนครหลวงซึ่งได้รับแต่งตั้งสิ้นสุดลงเมื่อ

( ๑ ) ตาย

( ๒ ) ลาออก โดยยื่นใบลาต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย หรือ

( ๓ ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออก

ข้อ ๔ คณะเทศมนตรีต้องจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อ

( ๑ ) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี พ้นจากตำแหน่ง หรือ

( ๒ ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะเว้นนายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

ข้อ ๕ ความเป็นเทศมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

( ๑ ) ตาย

( ๒ ) ลาออก โดยยื่นใบลาต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย หรือ

( ๓ ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออก

ข้อ ๖ ให้เทศบาลนครหลวงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเทศบาลนครตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล และตามที่จะมีกฎกระทรวงกำหนด และอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับการควบคุมเทศบาลตามกฎหมาย ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย

ข้อ ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอำนาจหน้าที่ของเทศบาลนครหลวงตามข้อ ๖ และข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลนครหลวง หรือคณะเทศมนตรี หรือเทศมนตรี เพิ่มเติมจากกฎหมายว่าด้วยเทศบาล

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ข้อ ๘ ให้สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลนครกรุงเทพและสภาเทศบาลนครธนบุรีสิ้นสุดลง

ข้อ ๙ ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ งบประมาณ พนักงานเทศบาลและลูกจ้างของเทศบาลนครกรุงเทพและของเทศบาลนครธนบุรี ไปเป็นของเทศบาลนครหลวง

ข้อ ๑๐ ให้โอนบรรดาอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีของเทศบาลนครกรุงเทพหรือของเทศบาลนครธนบุรี เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงหรือนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวง

ข้อ ๑๑ ให้บรรดาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างของเทศบาลนครหลวงกรุงเทพและของเทศบาลนครธนบุรีคงปฏิบัติงานของเทศบาลนครหลวงต่อไปตามที่เคยปฏิบัติ ณ สถานที่เดิมจนกว่าเทศบาลนครหลวงจะสั่งเปลี่ยนแปลง

การปฏิบัติงานเกี่ยวกับภาษีอากร การทะเบียน การอื่นๆ รวมทั้งการติดต่อประสานงานให้ดำเนินไปเช่นเดิมจนกว่าจะมีการสั่งเปลี่ยนแปลง

ข้อ ๑๒ ให้บรรดาเทศบัญญัติ ระเบียบข้อบังคับ คำสั่งหรือประกาศของเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันประกาศให้ใช้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ คงใช้บังคับได้ต่อไปในเขตท้องถิ่นเดิมจนกว่าเทศบาลนครหลวงจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ข้อ ๑๓ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่ง เกี่ยวกับเทศบาลมาใช้บังคับแก่เทศบาลนครหลวงโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และคำว่า เทศบาล ในกฎหมายดังกล่าวให้หมายรวมถึงเทศบาลนครหลวงด้วย

ข้อ ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ ๑๕ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔
จอมพล ถ. กิตติขจร
หัวหน้าคณะปฏิวัติ

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม ๘๘/ตอน ๑๔๔ ก/หน้า ๘๒๐/๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔

ขึ้น


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"