ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 14/เรื่องที่ 2
๏ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอุไทยธรรม พระราชสมบัติ พระเทพรัตนนรินทร์ หมื่นมณีรักษา พร้อมกันทั้งหลวงอไภยณรงค์บุญสา หลวงสุนทรภักดีบุญไทย ขุนชำนาญภาษาทองคำ นายอยู่ล่ามพะม่า นั่งฟังคำมหาโคผู้บิดา มหากฤชผู้บุตร ซึ่งหนีจากเมืองพะม่าเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร เมืองวิเชียรปราการมลาประเทศเชียงใหม่บอกส่งมาถึงกรุงเทพฯ ศรีอยุธยา ณวันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียนักษัตร โทศก ขอพระราชทานกราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ละอองธุลีพระบาท
ด้วยข้อความว่า เมื่อครั้งอ้ายพะม่ายกมาตีกรุงเทพฯ ศรีอยุธยา ได้นั้น มหาโคเป็นฆราวาศ อายุ ๒๗ ปี ตามเจ้าวัดประดู่ไปพลัดกันตกอยู่ณเมืองเปร จึงบวชเป็นภิกษุได้ ๑๔ พรรษา แล้วสึกออก มีภรรยา เกิดบุตร คือ ตัวมหากฤชนั้น ได้อาศัยในสำนักมารดาเจ้าจีนกู ครั้นหม่อง ๆ ชิงเอาสมบัติของจีนกูได้ ได้อยู่ ๗ วัน ประโดงชิงเอาสมบัติหม่อง ๆ นั้นต่อไป แล้วให้ฆ่าเจ้าหม่อง ๆ เจ้าจีนกูเสีย มหาโคไปอาศัยอยู่ด้วยแมงฉ่วยตองละ เมื่อเจ้าประโดงได้ราชสมบัติเมืองอังวะณข้างขึ้น เดือนห้า ปีขาลนักษัตร จัตวาศกนั้น จัดแจงกิจการบ้านเมืองทั้งคฤหัสถ์และสมณะ เจ้าอังวะถือความว่า มีเพลงนิมิตรเป็นคำชายว่าแก่หญิง ๆ ตอบชายออกชื่อบ้านหม่องต่อง จึ่งให้นิมนต์เอาพระสงฆ์บ้านหม่องต่องมาเป็นอาจารย์ ให้อาจารย์กับสังฆการีพร้อมกันถามกิจวินัยสิกขาแก่พระสงฆ์ราชาคณะสำรับเก่าเป็นหลายประการ แต่ประการหนึ่งนั้นว่า พระราหุลสามเณรเป็นบรมพุทธโอรสก็ทรงจีวรคลุมเป็นอย่างอยู่ เหตุใดจึงไม่กระทำตามสิกขาซึ่งมีมาแต่ต้น เอาพระอะตุลาจารย์ผู้เป็นราชาคณะใหญ่กับทั้งราชาคณะผู้น้อยสำรับเก่าเป็นผิด ให้สังฆการีฉุดคร่าแย่งเอาจีวรกาสาเสีย เอาผ้าขาวให้นุ่ง แล้วมัดเอาตัวออกไปเสียจากที่ปิฎกสถาน จำไว้
ครั้นเวลารุ่งเช้า ให้โกนเศียรสี่แฉก เอาหมึกทาหน้า เอาแป้งทาตัว ให้ทัดดอกไม้รัง ๆ หู เอาเชือกผูกเอวอะตุลาจารย์ใส่กะชะแสรกหาม ส่วนผู้น้อยนั้น ให้มัดมือไพล่หลัง เอาเชือกร้อยหู แล้วผูกฅอตีฆ้องตะเวนไปทั่วเมือง แล้วตั้งราชาคณะใหม่ ให้ห่มจีวรคลุมทั้งสมณะและสามเณรสืบมา หามีรัดประคดอกไม่ ตราบเท่าจนทุกวันนี้
ข้อหนึ่ง เจ้าอังวะให้หาประชุมโหรพะม่าและพราหมณาจารย์อันรู้ซึ่งวิสัยไตรเพทางคปกรณ์ทั้งปวงมาซักไล่จนไปเป็นอันมาก จึงตั้งตัวเป็นอาจารย์บอกสอนเอาเป็นสานุศิษย์ ให้แจกตำราอากาศปกรณ์แก่ราชาคณะอธิการทั้งปวงให้เรียนดูดาวนักขัตฤกษ์ และวิเศษดารา และดาวพระเคราะห์ทั้งปวงทั่วทุกอาราม แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะอธิการทั้งหลายเข้าไปในวังเวลากลางคืนเนือง ๆ เจ้าอังวะออกถามพระสงฆ์ทั้งปวงให้ชี้บอกดวงดาวราษีนักษัตรและดาวพระเคราะห์ แล้วถามมหาหม่องต่องว่า พระเคราะห์ทั้งเก้า ดาวนักขัตฤกษ์ วิเศษดาราในอากาศนั้น เดิรสูงต่ำเพียงใด เขาพระสุเมรุนั้นเล็กใหญ่ จมลงไปในน้ำ และสูงขึ้นไปโดยอากาศมากน้อยเท่าใด มหาหม่องต่องว่า จะไปดูหนังสือก่อน เจ้าอังวะจึงว่า บวชเอาแต่กินแล้วนอนหลับตา หารู้จักอะไรไม่ ได้เป็นอาจารย์ขึ้นทั้งนี้เพราะมีลางนิมิตรต้องนาม ข้อความอันใดซึ่งถามมหาหม่องต่องว่าตามไปนั้น เจ้าอังวะว่า รู้แต่พลอย ๆ ผสม เอาจริงไม่ได้ ลางทีถามไป มหาหม่องต่องไม่ตาม ติว่า พูดเปล่า ไม่เอาการ ดีแต่ขัด ขับเสียจากวัง
๏ประโดงครองราชสมบัติได้ ๒ ปี แล้วให้อินแซะยกกองทัพไปตีเมืองตะระเขิ่ง ได้พระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ หน้าตัก ๘ ศอก มาประดิษฐานตำบลดอนหนองแตกแซรา สร้างเป็นอารามใหญ่ ๚
๏ประโดงได้เป็นเจ้าเมืองอังวะตั้งแต่ศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลนักษัตร จัตวาศก อยู่ปีหนึ่งแล้วยกขึ้นไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ๚
๏ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็งนักษัตร สัปตศก เจ้าอังวะให้เกณฑ์กองทัพยกเข้ามารบพุ่งกรุงศรีอยุธยา บรรดาไทยที่มีในอังวะให้กวาดเอามาตาม ตัวมหาโคติดมาด้วย ได้บอกป่วยแวะเข้าอยู่ณวัดพระครูเมืองจิตตอง ๆ ว่า กองทัพเจ้าอังวะยกไปไม่ช้าเดือนหนึ่งเศษก็จะกลับมาดอก อุบาสกอย่าไปเลย ครั้นถึงเดือนห้า เจ้าอังวะแตกกลับออกไป อยู่ได้ ๒ ปี กระทำการฉลองวัดพระพุทธรูปสำริดใหญ่ ๚
๏ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูนักษัตร เบญจศก ยกขึ้นไปตั้งอยู่ณแมงกอม สร้างพระเจดีย์ใหญ่ ในปีนั้น กามะสะแข่งกับมหาหม่องต่องเกิดวิวาทแก่กัน มหาหม่องต่องนั้นเข้าไปถวายพระพรแก่เจ้าอังวะว่า กามะสะแข่งถือดาบเดินขึ้นกุฎีแล้วเข้าทุบถองอาตมา เจ้าอังวะให้หาตัวกามะสะแข่งถาม กามะสะแข่งแก้ความว่า ไปนิมนต์ถึงสามปี มหาหม่องต่องให้ตีขับคนใช้เสียสามหน จึงออกไปถึงบนกุฎี มหาหม่องต่องฉวยไม้ไล่ตีออกมา กามะจึงตอบมหาหม่องต่องนั้นจริง เจ้าอังวะจึงว่า มหาหม่องต่องเป็นราชาคณะผู้ใหญ่ กามะก็ไม่เกรงกลัว ตัวกามะเป็นลูกเจ้า มหาหม่องต่องเล่าก็ไม่รู้จัก ผิดเป็นอยู่คนละอย่าง จะว่าข้างใครชอบก็ว่าไม่ได้ ให้เลิกความเสีย ๚
๏จุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็งนักษัตร นพศกนั้น เจ้าอังวะได้ยินเพลงลางนิมิตรมีขึ้นว่า “นกกระทาขันบนเขา เอาหางมาแต่ยายเจ้าเข้าเกรียบ ริมรอบขอบลิ กลางจะบิไป เมืองใหญ่จะแตกเสียเอย” นั้น เจ้าอังวะพิเคราะห์เห็นความว่า ลางนี้มีเป็นข้อใหญ่ให้เมืองพะม่าเสียศูนย์เป็นมั่นคง จึงคิดการแก้อันตรายวิบัติ ให้เอาเจ้าหลานผู้หญิงองค์หนึ่งซึ่งกำหนดไว้จะให้เป็นเมียของหลานชายเอาไปไว้ในตำหนักสวน เอาเจ้าจักแกงผู้หลานตั้งเป็นผู้มีบุญยกกองทัพ ๙ กองออกไปเที่ยวประพาศป่า ได้นางองค์หนึ่ง แล้วยกกองทัพเข้าตีชิงเอาเมืองได้ เข้าอยู่ในวัง ตั้งการภิเศกซ้อนมือครองราชสมบัติเป็นผู้มีบุญมาใหม่ ทำทั้งนี้หวังจะให้บรรเทาโทษแห่งลางนิมิตร ๚
๏ในปีมะเส็ง นพศกนั้น เจ้าอังวะเกณฑ์ให้อินแซะหวุ่นกับอุบากองยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ แตกกลับไป เสียอุบากองแก่กรุงไทยมาคนหนึ่ง ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมียนักษัตร สัมฤทธิศก กามะสะแข่งก่อการกบฏ เจ้าอังวะรู้จึงอุบายว่า จะรบกรุงไทย หวังจะขยายคนตองอูเสียจากเมือง ให้เกณฑ์กามะสะแข่งเป็นทัพเกียกกาย เมียงหวุ่นเป็นนายกองหน้า เจ้าอังวะยกมาตั้งอยู่เห่ยจี่ เหนือตองอูทาง ๓๐๐ กามะสะแข่งแต่งหนังสือลับลอบให้เมียงหวุ่น แล้วคิดกลกับกะเหรี่ยงให้ยกมาเป็นยางแดง จะตีเอาตองอู แล้วบอกหนังสือว่า จะไปเฝ้าขอเอาคนมาช่วยรักษาเมืองตองอูอีก เจ้าอังวะรู้กลกามะสะแข่งจะทำร้าย จึงจัดแจงทัพออกจับอ้ายกะเหรี่ยง แล้วให้จับเอาตัวเมียงหวุ่นกองหน้าและกามะผู้ลูกผูกจำโซ่ตรวน แล้วก็เลิกทัพกลับไปแต่ศักราช ๑๑๖๑ ปีมะแมนักษัตร เอกศก ๚
๏ตั้งแต่ศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมียนักษัตร สัมฤทธิศกนั้นมา ในเมืองอังวะมีผู้อาชญาสิทธิ ๓ แห่ง แม้นนักโทษถึงตาย ฝ่ายอาชญาเจ้าอังวะนั้นให้ตัดศีรษะ อาชญาอินแซะนั้นให้เชือดเนื้อแต่เท้าขึ้นไปจนถึงฅอ แล้วจึงเอาดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ลางทีให้เอาเลื่อยตัดฅอเสียบ้าง อาชญาเจ้าจักแคงผู้หลานนั้น ให้ตัดขาเสียข้างหนึ่ง แล้วจึงให้คลอกด้วยเพลิง ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมียนักษัตร สัมฤทธิศก เจ้าอังวะถือเอาความรู้ครูอาจารย์ข้างแขกว่า เวลาเช้านั้น ตะวันตกจากทวีปโน้นเข้ามาทวีปนี้ ห้ามมิให้พระสงฆ์ฉันจันหัน ว่า ตะวันยังไม่ควรเวลา ถ้าถึงตะวันเที่ยงเมื่อใด จึงให้ฉันจันหันเช้า ครั้นเพลาตะวันตกลับแลเห็นดาว เจ้าอังวะว่า ตะวันออกจากทวีปเรา ถือเอาเป็นเวลาเที่ยง ให้พระสงฆ์ฉันเป็นเวลาเพล เจ้าอังวะสั่งให้ทำดังอาจารย์แขกว่านี้จึงชอบ ประการหนึ่ง ลางปีให้พระสงฆ์จำพรรษาแต่เดือนห้า ลางปีให้จำพรรษาเดือนหกก็มีบ้าง ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๒ ปีวอก โทศก เกิดโจรกำเริบตีปล้นบนบกและทางน้ำเป็นหลายกอง ๆ หนึ่ง อ้ายมะยัดแส่งบ่าวเมียงหวุ่น กั้นร่มทอง มีพวกพ้องประมาณเจ็ดร้อยแปดร้อย เที่ยวย่ำยีตีหัวเมืองทางใต้ฝ่ายดอน เจ้าอังวะเกณฑ์ทัพเที่ยวสะกัดตีเป็นหลายกองมาช้านาน แต่กองอินแซบนั้น กามะนิกยอของนายหนึ่ง ไพร่ ๑๕๐ มหากฤชนายหนึ่ง ไพร่ ๑๕๐ สองนายไพร่ ๓๐๐ ม้า ๑๕ ตัว ยกไปเที่ยวสะกัดทุกแขวง ๆ จังหวัดหัวเมืองน้อยใหญ่ยับไปด้วยโจรจุดเผาบ้านเรือนและเสบียงอาหาร กองทัพนั้นก็พาลพาโลริบฤๅจับตัวจำส่งไป ได้ความยากแค้นเป็นหนักหนา บ้านที่มีจำนวนหลังคาพันหนึ่งถึงสองพันเรือนนั้นจะคงมีแต่บ้านละร้อยเรือนบ้าง ห้าสิบเรือนบ้าง ลางแห่งก็ทิ้งภูมิลำเนาหนีเร้นไป ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๓ ปีระกา ตรีศก เจ้าอังวะให้หล่อพระพุทธรูปยืนด้วยเหล็กองค์หนึ่ง สูงแปดศอก ถวายพระนามว่า จันทามุนี ประดิษฐานไว้ณมณฑปในวัง แล้วทำรูปพระอรหันต์ด้วยไม้จำปา นั่งสมาธิ หน้าตักศอกคืบ แปดสิบองค์ ทำกุฎียกน้อยใส่รูปพระอรหันต์รอบมณฑปพระมหาจันทามุนี แล้วเจ้าอังวะให้ตีฆ้องป่าวประกาศราษฎรชาวเมืองว่า พระพุทธสาสนาของสมเด็จพระกรุณากำหนดไว้แต่เพียง ๕๐๐ ปี บัดนี้ สิ้นพระพุทธสาสนาแล้ว แต่นี้สืบไป ให้ราษฎรทั้งหลายเข้ามาทำบุญให้ทานแต่ฉะเพาะพระพุทธรูปและรูปพระอรหันต์ จะมีประโยชน์ไปภายหน้า อันจะทำบุญแก่ภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้หามีผลประโยชน์ไม่ เจ้าอังวะให้เอาบุตรข้าพระโกนศีรษะนุ่งแต่งผ้าเหลืองไว้สำหรับครบองค์พระอรหันต์ ครั้นเจ้าอังวะทำบุญครั้งใด ให้แต่งเครื่องสักการบูชาบิณฑบาตถวายไว้ที่หน้าพระพุทธปฏิมากรส่วนหนึ่ง อังคาดบิณฑบาตทานส่วนพระอรหันต์ ๘๐ องค์นั้น ให้คนนุ่งผ้าเหลืองนั้นนั่งหน้าพระอรหันต์เป็นผู้ฉันแทน ครั้นเสร็จการทานปัจจัย ให้อาลักษณนั่งตรงหน้าพระปฏิมากรทำภัตตานุโมทนาบอกอานิสงส์ผลทานแล้วให้ศีลแก่เจ้าอังวะ ครั้นสำเร็จการทำบุญแล้ว เจ้าอังวะให้เอาใบบัวและใบตองซึ่งปูลาดลานดินไล้มูลโคไว้นั้น เอาเข้าสุกใส่เรียงกันไปทุกใบบัว ตักเอาแกงถั่วเทศถั่วเขียวใส่ทุกกระทงเข้า เจ้าอังวะนั่งบริโภคเป็นประธาน เจ้าลูกเจ้าหลานกับทั้งข้าราชการพวกบริวารใหญ่น้อยก็พร้อมกันบริโภคด้วยเจ้าอังวะในเพลานั้น แล้วเจ้าอังวะประกาศห้ามไม่ให้สัปปุรุษทายกทำบุญให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ถ้าผู้ใดไม่ฟังจะเอาโทษ และว่า พระภิกษุรูปใดพอใจบวชอยู่ร่ำเรียน ก็ให้คิดอ่านทำไร่นาค้าขายหากินเอง ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๔ ปีจอนักษัตร จัตวาศก เจ้าอังวะให้เรียกเอาเงินแก่ราษฎร ๑๐ เรือนเอา ๓๓ บาท ๓ สลึง ๓ เฟื้อง ๓ ไพ ๓ กล่ำ ๓ กล่อมครั้งหนึ่ง ครั้นถ้วนสามปี ให้เอาอีกทีหนึ่ง เรือนละ ๓๓ บาท ๓ สลึง ๓ เฟื้อง ๓ ไพ ๓ กล่ำ ๓ กล่อม ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๕ ปีกุนนักษัตร เบญจศก บังเกิดทัพโจรใหญ่ขึ้นกองหนึ่ง นายกองทัพนั้นในสำคัญเล่าฦๅกันว่า เป็นเชื้อเจ้าอังวะเก่า แต่เจ้าอังวะทุกวันนี้แปลงความเรียกว่า งะตอ ๆ นั้นยกกองทัพห้ากองเข้ามาตั้งอยู่ณตำบลเหนือเมืองเม่ยตูทางคืนหนึ่ง มีหนังสือมาถึงเมืองเม่ยตูถึงประโดงและกรมการนายบ้านนายอำเภอทุกเมืองให้ออกไปกราบถวายบังคมถือน้ำพิพัฒน์สัจจา ฝ่ายผู้รักษาเมืองกรมการทั้งปวงนั้นเอาหนังสือบอกส่งเข้ามาณแมงกวม เจ้าอังวะให้เกณฑ์ทัพ ๓ กอง ๆ ลำละสามพัน อ้ายโปนายทัพนั้น ข้าเจ้าจักแกงเป็นผู้อาสายกขึ้นไป งะตอเอากองทัพซุ่มไว้ในป่า ๔ กอง ตั้งล่อกองเดียว ครั้นกองแมงกวมไปถึง ยกเข้าตีงะตอ ๆ ออกยืนอยู่ผู้เดียว ครั้นสิ้นคราวปืน งะตอจึงร้องว่า มึงยิงสิ้นแล้วก็หยุดอยู่เถิด กองทัพทั้งปวงก็สงบนิ่งอยู่ งะตอให้จับเอาตัวนายทัพฆ่าเสีย เพราะว่าเป็นคนอาสา แต่ไพร่พลคนกองทัพนั้น งะตอให้กลืนพริกไทยไว้คนละเม็ดเป็นสาบานแช่งว่า ถ้าผู้ใดไม่ซื่อ ให้พริกไทยทลุสะดือออกมาถึงแก่ความตาย แล้วว่า ผู้ใดสมัคร์อยู่ด้วยก็ตามใจ จะใคร่กลับไปบ้านก็ตามเถิด แล้วงะตอแต่งหนังสือใส่แพลอยลงมาว่า หัวเมืองย่างกุ้ง มัตมะ หงสา ตองอูนั้น เป็นข้าของตูหมด สบถถือสัตย์สิ้นแล้วณวันนั้นคืนนั้น ตูจะลงไปนมัสการพระมหาเจดีย์กองมุตอณเมืองจักแกง ให้ตาเฒ่าโยมอุปฐากพระเจ้าองค์ใหญ่ปลูกตำหนักไว้รับเสด็จ ตูนมัสการสำเร็จแล้ว จะเสด็จเข้าไปครองสมบัติเมืองอมรบุรีทีเดียว ผู้ได้หนังสือถือไปให้อินแซะ ๆ เห็นว่า ถ้อยคำนั้นหยาบช้า หาเอาขึ้นว่าไม่ ให้เกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปจับอีก ๒ ครั้ง กองทัพทั้งปวงยกเชือนไปไม่เข้าสู่ ส่วนงะตอเห็นเหตุอันหนึ่งจึ่งเลิกทัพ เมื่อจะกลับนั้น รับศีลสำนักสมภารแขวงเมืองเม่ยตู แล้วกลับไปอยู่ในป่าเมืองมหาแปลง คนแขวงเมืองเม่ยตูซึ่งรู้เห็นเอาความบอกแก่กรมการ ๆ บอกลงมาถึงเจ้าอังวะ ๆ ให้จับสมภารมาถามได้ความว่า ให้ศีลจริง เจ้าอังวะว่า สมภารเป็นครูงะตอ ให้เอาไปฆ่าเสีย ฝ่ายบิดางะตอรู้ความจึงว่าแก่งะตอว่า ตัวทำให้สมภารพลอยตายเสียดังนี้ ตัวอย่ามีชีวิตอยู่เลย กลับเข้าไปตายเสียเถิด งะตอกับบ่าว ๓ คนกลับเข้ามาทางเมืองหน้าด่านกะแซ ชาวด่านจับตัวงะตอบอกส่งณแมงกวม แต่บ่าว ๓ คนนั้นหนีกลับไป ตัวงะตอนั้น เจ้าอังวะให้จำด้วยโซ่ตรวนเป็นหลายชั้น โซ่ตรวนนั้นก็หลุดไป งะตอก็ไม่หนีจากผู้คุม เจ้าอังวะให้มีกะทู้ถามว่า ตัวทำการหยาบช้ายกกองทัพเข้ามาแล้วเหตุใดจึงกลับหนี บัดนี้ ตัวคิดประการใดจึงกลับเข้ามาแต่ตัวผู้เดียวอีกเล่า งะตอให้การว่า ต้องคำตำหนิติเตียนของพวกเพื่อนว่า ไม่ถึงกำหนดโชคซึ่งจะได้ราชสมบัติ มาคิดการด่วนได้ใจเร็ว เราจะพลอยเสียการด้วย ตัวมักได้ก็ให้ไปเอาสมบัติแต่ผู้เดียวเถิด จึงเข้ามาแต่ผู้เดียวดังนี้ ครั้นผู้คุมให้เข้างะตอ ๆ เอาเท้าถีบเสีย ว่า เข้าของมึงไม่สมควรแก่กูผู้เป็นเชื้อวงศ์กระษัตริย์ ผู้คุมบอกความไปถึงเจ้าอังวะ ๆ ให้ส่งหัวป่าพ่อครัวว่างะตอถือตัวว่า เป็นเชื้อวงศ์กระษัตริย์ ให้พ่อครัวจัดแจงสำรับเข้าใส่ตะลุ่มแว่นฟ้าเหมือนของเจ้าอังวะ ส่งไปให้งะตอกินเถิด มันก็จะตายอยู่แล้ว ๆ ให้ส่งตัวงะตอลงไปไว้ณศาลาลูกขุนเมืองใหม่ ให้ตีฆ้องป่าวชาวเมืองก็ชวนกันมาถามงะตอว่า คิดการอย่างไรจึงทำดังนี้ งะตอตอบว่า ยกมาจะเอาราชสมบัติ แต่ทว่า ยังหาถึงกำหนดโชคไม่ จึงไม่สำเร็จความคิด อายแก่พวกเพื่อน จึงเข้ามาสู้ตาย ว่าแล้วก็หัวเราะ ครั้นถ้วน ๓ วัน เจ้าอังวะให้เอาตัวขึ้นไปใส่เตาชักด้วยสูบ ๔ ใบแต่เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ด้วยเพราะว่าเป็นเชื้อกระษัตริย์ งะตอไม่ระทดท้อ ยืนยิ้มอยู่ในเพลิง จนถึงเวลาพลบค่ำ พวกเพ็ชฌฆาตจึงอ้อนวอนว่า อย่าทนลำบากไปเลย งะตอจงว่า สูจะให้ตาย ก็ไปเอาน้ำมาให้กูกิน ครั้นได้กินน้ำแล้ว ก็ล้มลงกับที่ พวกเพ็ชฌฆาตกวาดเอาฝุ่นทรายทิ้งทับลง แล้วก็เลิกกลับไป ๚
๏ณศักราช ๑๑๖๘ ปีขาลนักษัตร อัฐศก ฦๅกันณเมืองอังวะว่า มีคนดีผู้หนึ่งพูดจาอ้างอวดความรู้ แล้วสรรเสริญถึงงะตอว่า ฆ่าไม่ตาย ตัวนั้นพูดจาไม่ย่อท้อ ต่อกรมการเมืองเปร ๆ เอาตัวไปจำไว้ใส่โซ่ตรวนก็ไม่ติด เจ้าอังวะจึงใช้เรือทองลงมาจับเอาตัวขึ้นไป แล้วเจ้าอังวะถามว่า งะตอสิให้ฆ่าตายเสียแล้ว เหตุใดจึงว่า ไม่ตาย ชายแก่คนนั้นจึงว่าแก่เจ้าอังวะว่า งะตอนั้นเป็นเพื่อนลูกศิษย์ครูเดียวดีเหมือนกันกับเรา ซึ่งเอาไปฆ่าเสียนั้น งะตอหาตายไม่ ถ้าตาย โยมอุปฐากพระเจ้าองค์ใหญ่กลัว ก็ให้นิ่งอยู่เถิด อย่ารบกวนเขาวุ่นวาย แม้นไม่ฟังคำเราว่า จะพากันฉิบหายเสียหมด เจ้าอังวะจึงสั่งว่า ตาคนนี้เป็นบ้า อย่าให้เข้ามาในวังต่อไป แต่นั้นมาสักสองสามวัน ชายแก่นั้นก็หายเงียบไป ๚
๏ราชการเมืองพะม่านั้นเห็นฟั่นเฟือนนัก อุเยนมูผู้รักษาสวนหลวงทูลเจ้าอังวะว่า จะขอเรียกส่วยต้นผลไม้ให้ได้ทองปีละร้อยชั่ง เจ้าอังวะสั่งให้ทำตามถนัด อุเยนมูเห็นสวนต้นผลไม้ของราษฎรผู้ใดดี เอากรุยไปปักที่ตำบลนั้นเป็นสวนหลวง โบราณเคยเรียกต้นไม้ม่วง ไม้มะขาม แต่ต้นละสลึงเงิน สองสลึงเงิน ทุกวันนี้ เรียกเอาต้นละสลึงทอง สองสลึงทอง เจ้าลูกเจ้าหลานเจ้าอังวะว่า อุเยนมูเรียกส่วยต้นผลไม้มากกว่าพิกัดเก่า เก็บเอาเรือกสวนของราษฎรเป็นหลวงเสียมากมาย ราษฎรทั้งหลายเดือดร้อนร้างที่หนีถิ่นไป ภูมิลำเนาเปล่าว่างร้างเซเสียเป็นอันมาก เจ้าอังวะว่า มันทำเงินทำทองมาใส่คลังทั้งนี้จะไปไหน ก็จะได้แก่ลูกหลานทั้งสิ้น ถิ่นฐานลำเนาซึ่งเปล่าว่างร้างนั้นก็ดี จะได้เป็นที่ช้างม้าอาศัยอีก ๚
๏ณศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรงนักษัตร สัมฤทธิศกนั้น ได้ยินว่า เจ้าอังวะสั่งให้เก็บเด็กชายลูกทนายเลือกเอาแต่อายุ ๑๑ ปีขึ้นไปได้ประมาณ ๑๕๐๐ เศษ ลางคนรักลูก เอาทรัพย์ไปช่วยคนทั้งครัว เอาแต่ตัวลูกส่งไปแทนบุตรของตัว บิดามารดาทั้งครัวนั้นปล่อยเสียเป็นไทย ครั้นเจ้าอังวะได้เด็กพร้อมแล้ว ให้พิจารณาไล่เลียงซักถามได้ความว่า เป็นลูกหมู่แท้บ้าง ลางคนก็ช่วยมาแทนตัว คนซึ่งแทนตัวลูกหมู่นั้นก็เอาไว้ว่า ได้ด้วยบุญของตน ให้สืบไล่เอาลูกหมู่เดิมนั้นจงได้ ผู้ซึ่งเสียทรัพย์ช่วยไถ่คนให้ไปแทนนั้น ให้อันตรธานทรัพย์ศูนย์เสียเปล่า ๚
๏ข้อหนึ่ง เจ้าอังวะคบพวกเพื่อนเด็กเอาเพศเป็นทารก ชวนกันเที่ยวฉกชิงทิ้งขว้างเย่าเรือนขุนนาง ชิงของกลางตลาดได้แล้วก็เดิรกินไป ข้อนี้จะแก้เหตุอันใดไม่แจ้ง ๚
๏ณศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรงนักษัตร สัมฤทธิศก อินแซะถึงแก่ความตาย ลูกชายได้เป็นที่แทนณเมืองใหม่นั้น เจ้าอังวะให้จักคุสะแข่งผู้น้องอินแซะอยู่รักษา มีอาชญาสิทธิเหมือนอินแซะผู้ตาย ๚
๏ถึงณศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็งนักษัตร เอกศก ให้พิจารณาลูกชายหญิงอันอยู่ในเรือนบิดามารดาแต่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไปว่า ควรมีเย่าเรือนได้ ให้เรียกเอาเงินทั้งครัวเดิมและลูกขึ้นเสมอครัวละ ๓๓ บาท ๓ สลึง ๓ เฟื้อง ๓ ไพ ๓ กล่ำ ๓ กล่อม เจ้าอังวะสั่งให้เรียกเอาเงินแก่ราษฎรอย่างนี้ มีรับสั่งให้เรียกครั้งใด เจ้าเมืองกรมการให้เรียกเอาแก่แขวงนายบ้านนายอำเภอทุกครัวเรือน ราษฎรเสียเงินให้ไปไม่เว้นเรือน ส่วนกรมการและสัสดีเคยบังบัญชีคนไว้ ส่งจำนวนเงินไปแต่บัญชียื่นทะเบียนไว้ ครั้นส่งเงินเข้าไป เจ้าอังวะเข้าใจว่า เจ้าเมืองกรมการและสัสดียังบังบัญชีคนไว้ หาได้เงินไปเข้าคลังสิ้นเชิงไม่ สั่งออกมาว่า ให้เรียกส่งจงสิ้นเชิง เจ้าเมืองกรมการเรียกเอาเงินแก่ราษฎรทั่วทั้งสิ้นอีกเล่า เอาส่งไปเข้าคลังบ้าง แบ่งกันกินเสียบ้าง ข้างเจ้าอังวะก็เห็นว่า ได้เงินยังหาครบจำนวนคนไม่ มีรับสั่งลงมาว่า หาสิ้นเชิงไม่ ให้เรียกเอาเงินส่งเข้าไปให้ครบครัวเรือนจงทุกตำบล เจ้าเมืองกรมการสัสดีเรียกเอาเงินแก่ราษฎรตามบัญชีจำนวนคนทุกครัวเรือนอีกเล่า การทั้งนี้ก็เป็นเรียกเอาเงินเสมอปีละ ๓๓ บาท ๓ สลึง ๓ เฟื้อง ๓ ไพ ๓ กล่ำ ๓ กล่อมอยู่ทุกปี ราษฎรได้ความเดือดร้อน ยกอพยพหนีทิ้งที่เย่าเรือนเสียเป็นอันมาก ๚
๏ณศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียนักษัตร โทศก เจ้าเมืองมัตมะบอกหนังสือกล่าวโทษอะเติงหวุ่นขึ้นไปว่า อะเติงหวุ่นยกทัพลงมาเกณฑ์เอาคนเมืองมัตมะไปสิ้นเชิง แล้วยกมาตั้งอยู่ณตำบลยองยัน ตั้งรั้วระเนียดค่ายไม้จริง ปลูกเรือนถึง ๑๐ หลัง ทั้งรีและขวางหลังละ ๙ ห้อง ตั้งหอกลองสูงใหญ่ ใช้คนไม่ปราณี ทั้งเสียด้วยฆ่าตีและป่วยตาย ฝ่ายกองทัพที่ยกไปตีเมืองถลางก็ไม่ได้ ไพร่พลเสียซ้ำไปอีกเป็นมากมาย ฝ่ายข้างอะเติงหวุ่นนั้นทำการเกินขนาด นายทัพนายกองโบราณจะคิดอ่านเป็นประการใดต่อไปนั้นไม่แจ้ง แคลงอยู่ ๚
๏ฝ่ายอะเติงหวุ่นรู้ข่าว จึงบอกกล่าวโทษเจ้าเมืองมัตมะว่า ยกลงมาเกณฑ์เอาคนเมืองมัตมะ เจ้าเมืองมัตมะก็หาให้คนครบจำนวนเกณฑ์ไม่ กองทัพซึ่งยกไปตีเมืองถลางล้อมเข้าไว้ได้แล้ว คนกองทัพน้อยกว่าการ ต้องถอยทัพเสีย ๆ ไพร่พลล้มตาย ทั้งนี้ เพราะเจ้าเมืองมัตมะมิปลงใจในราชการ คิดอ่านเอาแต่งานตน ขัดขวางบังคนไว้เอาประโยชน์ใส่ตัว เจ้าอังวะจึงมีหนังสือลงมาถึงเมืองมัตมะว่า ถ้าสิ้นภิกขุสงฆ์สุวานวิฬาร์หามีในเมืองมัตมะไม่ เห็นว่า เมืองมัตมะจะไม่มีคน ให้เร่งเกณฑ์คนเมืองมัตมะแต่อายุ ๑๑ ปี ๑๒ ปี ให้อะเติงหวุ่นให้พอราชการจงได้ กับข้อหนึ่งว่า ภิกษุสงฆ์รูปใดพอใจบวชอยู่ร่ำเรียน ก็ให้คิดอ่านทำไร่นาค้าขายหากินเอง ห้ามอย่าให้สัปปุรุษทายกทำบุญให้ทานด้วย เมื่อมหาโค มหากฤช ยังตกอยู่ณแขวงเมืองมัตมะนั้น ได้ยินข่าวว่า ให้หาอะเติงหวุ่นเป็นหลายหน ฝ่ายอะเติงหวุ่นบอกขัดว่า เจ้าลูกเจ้าหลานให้หา มิใช่เจ้าข้ากัน ต่อเจ้าอังวะให้หาจึงจะกลับไป ๚
๏เมื่อมหาโค มหากฤช ออกจากเมืองอังวะลงมาอยู่ตำบลวัดบ้านกยอกกี่วัสสาหนึ่ง แล้วลงมาอยู่ณบ้านแลกป่าน ระหว่างแขวงเมืองจิตตองวัสสาหนึ่ง ครั้นถึงศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรงนักษัตร สัมฤทธิศก ลงมาอยู่ณเกาะขเอิง แขวงมัตมะ วัสสาหนึ่งนั้น มหาโค มหาฤช ได้ยินข่าวว่า อะเติงหวุ่นยกทัพจากอังวะมาถึงมัตมะ ตั้งทัพอยู่ณวัดทุ่ง วัดวังกะปอ เกณฑ์เอาคนเมืองมัตมะให้ตั้งล้อมรักษากองทัพอ้ายพะม่าทั้งปวงไม่ให้หนี แล้วยกข้ามฟากมาเมืองเมาะลำเลิง คนกองทัพยกหนีพวกหนึ่งทั้งนายทั้งไพร่เป็นคนสามพัน ครั้นถึงณเดือน ๑๒ มหาโค มหากฤช ค่อยเลื่อนมาตามลำเนากะเหรี่ยง มาถึงกองทัพอ้ายพะม่ารักษาด่านเมืองตรางณเดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ อ้ายพะม่าได้ข่าวว่า ทัพเชียงใหม่ยกออกไปตีทัพอ้ายพะม่าณเมืองตราง อ้ายพะม่าใช้กองตะเวนออกสืบถึงแม่น้ำคง ไม่ได้เนื้อความแล้วก็สงบไป มหาโค มหากฤช อุบายความเดิรมาตามลำเนากะเหรี่ยงอีก ๑๑ วันถึงเมืองยอม พักอยู่ ๒ วัน แล้วชาวด่านพาส่งเข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่ณเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ท้าวเทพเมืองเชียงใหม่ถามว่า มาด้วยกิจสิ่งใด มหากฤชบอกว่า รฦกถึงถิ่นฐานบ้านเมืองณกรุงไทย กับทั้งจะใคร่ชมพระบรมโพธิสมภาร จึงมา แล้วพระยาอุปราชถามถึงราชการเมืองพะม่าและมาถามว่า ถ้ากองทัพกรุงเทพมหานครศรีอยุธยายกไปตีเมืองพะม่านั้น เห็นจะได้ฤๅไม่ได้ มหาโค มหากฤช บอกข้อราชการตามสังเกตมา แม้นกรุงเทพมหานครศรีอยุธยายกกองทัพไปมากหลายทาง เห็นจะได้เมืองพะม่า เมื่อมหาโค มหากฤช มาอาศัยอยู่ณวัดรามัญใน ๗ วันนั้น ได้รู้เห็นว่า พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ พระยาอุปราชเมืองลำพูน กับทั้งเมืองนครลำปาง เกณฑ์กองทัพจับการจัดแจงคน ๕๐๐๐ นอกนั้นกองทัพยางแดงกับทั้งทัพซึ่งยกขึ้นไปช่วยมหาขนานนั้น จะยกออกไปตีทัพอ้ายพะม่า ๓๐๐๐ ซึ่งตั้งรักษาอยู่ณตำบลกะเติงติอันเป็นหนทางเมืองเชียงใหม่มัตมะเมืองตองอูย่างกุ้งร่วมกัน กำหนดทัพนั้นจะยกณเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียนักษัตร โทศกนี้ ขอเดชะละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม.