ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 17 (2463)

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17
ตราของหอพระสมุดวชิรญาณ
ตราของหอพระสมุดวชิรญาณ
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๗
ตำนาน เรื่อง เลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ทรงนิพนธ์
พิมพ์ครั้งที่ ๒
แจกในงานศพนางยิ้ม มารดาคุณหญิงอินทรมนตรี
ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓
โรงพิมพืโสภณพิพรรฒธนากร

หลวงโสภณอักษรกิจมาแจ้งความณหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า คุณหญิงอินทรมนตรีจะปลงศพสนองคุณนางยิ้มผู้เปนมารดา เจ้าภาพงานศพนี้ให้หลวงโสภณอักษรกิจมาขออนุญาตพิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๗ ซึ่งว่าด้วยเรื่องตำนานการเลิกหวยแลบ่อนเบี้ย เปนของแจกเนองในการกุศลทักษิณานุปทานที่บำเพ็ญนั้น

กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณอนุญาตให้พิมพ์ตามประสงค์ แลขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญในการปลงศพสนองคุณบุรพการี ทั้งที่พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลายอิกครั้งหนึ่ง หวังใจว่า ผู้ที่ได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปคงจะอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

  • สภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓

เรื่องตำนานการเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าเก็บเนื้อความจากหนังสือจดหมายเหตุต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร คือ หนังสือราชกิจจานุเบกษา เปนต้น มาเรียบเรียงขึ้นเปนเรื่องตำนาน เพื่อจะให้ทราบเรื่องราวของอากรหวยแลอากรบ่อนเบี้ยตั้งแรกมีขึ้นในเมืองไทย จนกระทั่งได้เลิกหมดมิให้เล่นกันต่อไป ความข้อใดไม่มีหนังสือจะสอบสวน ก็ได้ไต่ถามตามผู้รู้เห็นซึ่งยังมีตัวอยู่ แลถามเจ้าพนักงานในกระทรวงพระคลังบ้าง แต่งประกอบกับความรู้แลความคิดเห็นของข้าพเจ้าเอง จนตลอดเรื่อง ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยสงเคราะห์นั้นทั่วกัน

หนังสือเรื่องนี้ เห็นว่า เปนเรื่องพงศาวดาร จึงได้พิมพ์รวบรวมไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดาร นับเปนภาคที่ ๑๗ ได้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๔๖๒ แต่เมื่อพิมพ์ครั้งนั้น มีเวลาน้อย แต่งพลางส่งลงพิมพ์พลาง ไม่มีเวลาที่จะสอบสวนได้กว้างขวาง ได้คิดเห็นอยู่แต่ครั้งนั้นว่า เรื่องราวที่แต่งไปคงจะยังมีวิปลาศแลบกพร่องอยู่ ครั้นพิมพ์หนังสือนั้นแล้ว วานพระยาโบราณราชธานินทร์ตรวจ ก็ปรากฎว่า ยังบกพร่องจริง ด้วยยังมีความในกฎหมายเก่าว่าด้วยบ่อนเบี้ยซึ่งยังมิได้ตรวจอยู่หลายแห่ง คือ

ในพระธรรมนูญว่า ตราปักษาวายุภักษ์ของพระยาราชภักดีเปนผู้ตั้งนายอากรบ่อนเบี้ย แห่ง ๑

ในลักษณะเบ็จเสร็จ ห้ามมิให้ข้าราชการเล่นเบี้ย และว่าด้วยการเล่นเบี้ยเงินติดค้าง แห่ง ๑

ในลักษณพยาน ห้ามมิให้ฟังคำนักเลงเล่นเบี้ยบ่อนเปนพยาน เว้นแต่โจทย์จำเลยยอมให้ฟังทั้ง ๒ ฝ่าย แห่ง ๑

สามแห่งที่กล่าวมานี้ เข้าใจว่า เปนกฎหมายตั้งครั้งกรุงเก่า แลยังมีกฎหมายตั้งครั้งรัชกาลที่ ๑ เนื่องด้วยบ่อยเบี้ยอิก ๓ บท คือ

ในพระราชกำหนดใหม่ บทที่ ๒ เพิ่มพระราชอาญาลงแก่ข้าราชการที่เสพสุราแลเล่นเบี้ย แห่ง ๑

พระราชกำหนดใหม่ บทที่ ๒๖ กำหนดอัตราเงินที่นายบ่อนขาดรองให้คนเล่นเบี้ย

ในพระราชบัญญัติ บทที่ ๘ ว่าด้วยกระทรวงศาลที่จะพิจารณาความซึ่งเกิดด้วยการเล่นเบี้ย แห่ง ๑

รวมกฎหมายเก่าเกี่ยวด้วยการบ่อนเบี้ยซึ่งตั้งในรัชกาลที่ ๑ กรงรัตนโกสินทร์ ๓ แห่งด้วยกัน ถ้าว่าโดยเนื้อเรื่อง ก็เปนแต่ปรากฎความพิศดารขึ้น แต่หาได้ลบล้างความสำคัญข้อใดที่ได้เรียบเรียงไว้ไม่

นอกจากกฎหมายเก่าที่ได้กล่าวมา ยังได้พบในสำเนาตราตั้งนายอากรบ่อนเบี้ย ได้ความแปลกออกไปอิกอย่าง ๑ ว่า บ่อนเบี้ยแต่ก่อนนั้น กำหนดเปน ๒ อย่าง เรียกว่า บ่อนเบี้ยจีน อย่าง ๑ บ่อนเบี้ยไทย อย่าง ๑ ต่างกันด้วยวิธีเล่น บ่อนจีนยอมให้เล่นติดคิดบาญชีหักใช้กันได้ตามประเพณีจีน แต่บ่อนไทยให้เล่นเงินสด แต่เดิมตั้งบ่อนแยกกัน ต่อมาจึงรวมเปนบ่อนเดียวกัน

ข้าพเจ้าได้ตั้งใจว่า มีโอกาศเมื่อใด จะแก้ไขหนังสือเรื่องตำนานบ่อนเบี้ยให้ตรงตามความรู้ที่ได้ใหม่ให้บริบูรณ แต่ยังไม่มีโอกาศจะทำได้ บัดนี้ หลวงโสภณอักษรกิจจะขออนุญาตพิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๗ เปนครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าจะแก้ไขให้บริบูรณไม่ทัน จึงแต่งแจ้งความนี้ไว้ให้ทราบ


วิธีเล่นหวยแลถั่วโปเปนของจีนคิดเล่นขึ้นก่อน แล้วพวกจีนพาไปเล่น จึงได้มีแพร่หลายต่อไปในประเทศอื่น ๆ ข้าพเจ้าได้วานหลวงเจนจีนอักษรให้ช่วยสอบสวนหาเรื่องเหตุเดิมที่จะมีการเล่นเหล่านี้ขึ้นในเมืองจีน ได้ความในหนังสือยี่จับสี่ซื้ออ๋าวหั่งจือ เปนเรื่องพงษาวดารจีนตอนราชวงศ์ตั้งฮั่นว่า เมื่อครั้งราชวงศ์ตั้งฮั่นเปนใหญ่ในเมืองจีน ในแผ่นดินพระเจ้าสูนฮ่องเต้อันเปนรัชกาลที่ ๗ เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๖๖๙ จน พ.ศ. ๖๘๘ นั้น ขุนนางจีนคน ๑ ชื่อ เลี่ยงกี คิดการเล่นพนันขึ้นอย่าง ๑ เดิมเรียกว่า อีจี๋ แปลว่า กระแปะคิด วิธีเล่น ใช้นับ ๔ เปนเกณฑ์ คือ เอากระแปะหลาย ๆ สิบกระแปะมากองเข้า แล้วเอาภาชนะอันหนึ่งครอบกองกระแปะนั้นไว้ ให้คนทั้งหลายที่เล่นด้วยกันทายว่า จะเปนเศษหนึ่งฤๅ สอง ฤๅสาม ฤๅครบสี่ เมื่อทายกันแล้ว จึงเปิดภาชนะที่ครอบออก แล้วนับกระแปะปัดไปทีละ ๔ กระแปะ ๆ ปัดไปจนกระแปะในกองนั้นเหลือเปนเศษหนึ่ง ฤๅสอง ฤๅสาม ฤๅสี่ ตรงกับที่ผู้ใดทาย ผู้นั้นก็เปนถูก ใครวางเงินแทงเท่าใด ถ้าถูก เจ้ามือก็ต้องใช้ให้ ใครแทงไม่ถูก เจ้ามือก็ริบเงินที่แทงเสีย.

ต่อมาถึงครั้งล่ำปักเฉียว เวลาเมืองจีนแตกกันเปนภาคเหนือกับภาคใต้ ต่างรัฐบาลกัน ในระหว่าง พ.ศ. ๙๖๓ จน พ.ศ. ๑๑๓๒ ในสมัยนั้น การเล่นที่เรียกว่า อีจี๋ (ทำนองจะเปนเพราะเอาสิ่งอันใดกองแทนกระแปะให้สังเกตง่ายขึ้นจึง) เรียกแปลงชื่อว่า "ทัวหี่" แปล ว่า เล่นแจง.

ครั้นต่อมาเมื่อราชวงศ์ถังเปนใหญ่ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๖๑ จน พ.ศ. ๑๔๕๐ มีผู้แปลงชื่อการเล่น "ทัวหี่" มาเรียกว่า "ทัวจี๋" แปลว่า แจงกระแปะ (เพราะกลับเล่นด้วยกระแปะ) แต่ทุกวันนี้เรียกกันเปนหลายอย่าง เรียกว่า "กิมจี๋ทัว" แปลว่าแจงกระแปะทอง (เพราะว่ากระแปะที่เล่นนั้นขัดปลั่งเหมือนกับทอง) ก็มี เรียกกว่า "ทัว" แปลว่า ถั่วเท่านั้น บ้างก็มี คงเรียกว่า "ทัวจี๋" ก็มี เรื่องมูลเหตุของการเล่นแจงมีมาดังนี้.

เรื่องเหตุเดิมที่จะเกิดการเล่นโป ซึ่งจีนเรียกว่า "ป๊อ" นั้น ยังไม่พบอธิบาย ได้ความแต่ว่าเ ปนของคิดขึ้นที่อำเภอเจี๋ยวอาน ในมณฑลฮกเกี้ยน แลว่า มีขึ้นในสมัยเมื่อตอนปลายราชวงศ์ใต้เหมงฤๅเมื่อต้นราชวงศ์ใต้เชงเปนใหญ่ในเมืองจีน ประมาณราว พ.ศ. ๒๑๐๐ เพราะฉนั้นโปเปนของมีขึ้นทีหลังถั่วช้านาน (โปมี ๒ อย่าง เราเรียกว่า "โปกำ" เพราะกำเหมือนถั่ว ผิดกันแต่วิธีแทงอย่าง ๑ เรียกว่า "โปปั่น" ใช้ครอบทองเหลืองมีลิ้นรูปเหมือนลูกบาตอยู่ข้างใน ปั่นไปครอบไปจนได้เหลี่ยมแล้วเปิดฝา ซีกขาวที่ลิ้นอยู่ตรงแต้มไหนถือว่า ออกแต้มนั้นนี้อย่าง ๑) ได้ความในเรื่องมูลเหตุที่จะเกิดการเล่นโปแต่เท่านี้

ส่วนเหตุเดิมที่จะเกิดหวยนั้น ได้ความในหนังสือซื่อยังว่า หวยเปนของพึ่งคิดขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าเตากวาง รัชกาลที่ ๖ ในราชวงศ์ใต้เชง เสวยราชย์แต่ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๖๔ จนปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ตรงกับรัชกาลที่ ๒ ต่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทรนี้) ว่า มีผู้คิดเล่นที่อำเภอว่างง่ามในมณฑลเจ๊เกี๋ยงก่อน จีนเรียกว่า "ฮวยหวย" คือทำป้ายเล็ก ๆ ๓๔ ป้าย เขียนชื่อคนโบราณลงป้ายละชื่อ ชื่อคนโบราณเหล่านั้น คือ ชื่อว่า สามหวย ง่วยโป๊ เปนต้น ล้วนเปนคนครั้งราชวงศ์ซ้องทั้งสิ้น ลักษณที่เล่นนั้น เจ้ามือเลือกป้ายอัน ๑ ใส่ลงในกระบอกไม้ ปิดปากกระบอกเสียแล้วเอาแขวนไว้กับหลังคาโรง ให้คนทายว่าจะเปนชื่อคนไหนใน ๓๔ ชื่อนั้น ถ้าทายถูกเจ้ามือก็ใช้ให้ ๓๐ ต่อ ถ้าทาย ผิดก็เอาเดิมพันเสีย เรื่องมูลเหตุที่ถั่วโปแลหวยเกิดขึ้นในเมืองจีน สืบได้ความดังแสดงมานี้.

ทีนี้ จะกล่าวถึงเรื่องตำนานการเล่นถั่วโปแลหวยมามีขึ้นในเมืองไทยตลอดจนถึงเรื่องตำนานที่เลิกการเล่นเหล่านั้นต่อไป การเล่นถั่วแลโปจะเข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้แน่ ทราบได้แต่หวยซึ่งจะอธิบายต่อไปข้างน่า ถึงกระนั้น ก็มีเค้าเงื่อนพอจะสันนิฐานได้บ้าง ด้วยปรากฎในเรื่องมูลเหตุว่า การเล่นถั่วเกิดขึ้นในเมืองจีนกว่า ๑๗๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนโปนั้นเกิดขึ้นได้ประมาณ ๓๕๐ ปี อาไศรยเหตุที่จีนไปมาค้าขายกับเมืองไทยตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าจะประมาณว่า จีนได้พาการเล่นถั่วมาถึงเมืองไทยแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงกรุงศุโขไทย แลได้พาโปเข้ามาเล่นในเมืองไทยเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองฤๅสมเด็จพระนารายณ์ครองกรุงศรีอยุทธยา ก็เห็นจะไม่คลาศเคลื่อนห่างไกลนัก แต่มาคิดดูเห็นว่า วิธีเล่นถั่วอย่างโบราณ เห็นจะเล่นอย่างเดียวกับ "กำตัด" คือ ไทยเราเอาการเล่นถั่วของจีนนั้นเองมาเล่น แต่มาเรียกกันว่า "กำตัด" จึงเล่นกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ครั้นเมื่อจีนเอาโปเข้ามาเล่นอิกอย่าง ๑ รัฐบาลเห็นว่า จีนชอบเล่นถั่วโปกันโดยมาก แลผู้เปนเจ้ามือก็ได้กำไรมาก เกรงราษฎรจะหลงเล่นถั่วโปกันเกินไป จึงคิดวิธีอากรบ่อนเบี้ยขึ้น ให้เล่นถั่วโปได้แต่ผู้ที่รัฐบาลอนุญาต แลให้ผู้รับอนุญาตต้องเสียเงินเข้าท้องพระคลังเปนผลประโยชน์แก่แผ่นดินด้วย เข้าใจว่า อากรบ่อนเบี้ยเกิดขึ้นด้วยประการฉนี้.

อากรบ่อนเบี้ยมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะมีขึ้นในรัชกาลไหนทราบไม่ได้แน่ ได้สอบสวนจดหมายเหตุที่ฝรั่งแต่งไว้ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ หาปรากฎว่ามีอากรบ่อนเบี้ยไม่ มาพบหลักฐานว่า มีอากรบ่อนเบี้ยในเมืองไทยเปนแน่นั้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ด้วยมีปรากฎในกฎหมาย คือ พระราชกำหนดเก่าบท ที่ ๔๒ ซึ่งตั้งเมื่อณวันพุฒ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๑๑๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๙๙) ก่อนสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐสวรรคต ๒ ปี ความในพระราชกำหนดนั้นว่า ขุนทิพกับหมื่นรุดอักษรยื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยขึ้นในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทสงคราม เมืองสมุทปราการ รับจะประมูลเงินหลวงขึ้นเสมอปีละ ๓๗๑ ชั่ง (๒๙๖๘๐ บาท) ทรงพระราชดำริห์ว่า หัวเมืองทั้ง ๓ นั้นเปนที่ใกล้สวนบางช้าง อันเงินอากรสวนขึ้นพระคลังอยู่เปนอันมาก แลได้มีกฎ รับสั่งห้ามอยู่แต่ก่อนว่า มิให้ตั้งบ่อนเบี้ยในหัวเมืองเหล่านั้น ซึ่งผู้มีชื่อมายื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลดังนี้ผิดอย่างธรรมเนียม แลจะกระทำให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรทั้งปวงได้รับความเดือดร้อนขัดสนต่อไป จึงมีพระราชโองการสั่งแก่ออกญารัตนาธิเบศร์ ผู้ว่าราชการที่สมุหมณเฑียรบาล ให้เอาตัวผู้กราบทูลขอประมูลลงพระราชอาญาฯ แลต่อไปเมื่อน่า ถ้ามีผู้มาร้องขอประมูลพระราชทรัพย์ด้วยการอย่างใดให้ (เจ้าพนักงาน) พิเคราะห์ดูแต่ที่ชอบที่ควร จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ แลห้ามมิให้ไปเดินเหินเจ้านายแลข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายใน (อันมิใช่เจ้าน่าที่) ให้กราบทูลให้เปนอันขาด เนื้อความตามพระราชกำหนดที่กล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิฐานเรื่องตำนานอากรบ่อนเบี้ยได้หลายข้อ คือ

ข้อ  ที่ปรากฎในกระแสพระราชดำริห์ว่า ได้มีกฎห้ามมิให้ไปตั้งบ่อนเบี้ยในหัวเมืองที่ใกล้สวนใหญ่อันเปนที่ได้เงินอากรหลวงอยู่ปีละมาก ๆ เช่นนี้ ส่อให้เห็นว่า เมื่อรัฐบาลจะตั้งอากรบ่อนเบี้ยขึ้นนั้น ได้มีความคิดจะยอมให้เล่นเบี้ยแต่ในที่บางแห่ง อิกประการหนึ่ง ที่ว่า ถ้าให้ไปตั้งบ่อนเบี้ยขึ้น จะกระทำให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรเดือดร้อนขัดสนฉนี้ ส่อให้เห็นว่า ยอมให้เล่นถั่วโปแต่คนบางจำพวก ไม่ใช่ยอมให้เล่นเปนสาธารณทั่วไป จึงสันนิฐานว่า การที่ตั้งอากรบ่อนเบี้ยนั้น เดิมเห็นจะประสงค์ให้แต่สำหรับจีนเล่น อย่างเดียวกับตั้งอากรฝิ่นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทรนี้ แต่แรกก็ยอมให้สูบแต่จีน ห้ามมิให้ไทยสูบฝิ่น.

ข้อ  ที่ปรากฎว่า ผู้ถวายเรื่องราวขอ "ประมูลเงินขึ้นเสมอปีละ ๓๗๑ ชั่ง" ดังนี้หมายความว่า รวมทั้งจำนวนเงินอากรเดิมอยู่ในนั้นด้วย คือว่า จะรับทำทั้งอากรบ่อนเบี้ยซึ่งมีอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาแล้ว แลขอขยายเขตรตั้งบ่อนต่อออกไปตามหัวเมืองทั้ง ๓ นั้น จึงยอมเพิ่มเงินหลวงขึ้นเปนปีละ ๓๗๑ ชั่ง ในข้อนี้เปนอันได้ความว่า เงินอากรบ่อนเบี้ยเวลานั้นรวมทั้งสิ้นเห็นจะไม่เกินปีละ ๓๕๐ ชั่ง.

ข้อ  ที่ในคำขอประมูลมิได้ออกชื่อเมืองนครไชยศรี เมืองสาครบุรี แลเมืองธนบุรี ข้ามไปขอตั้งที่เมืองราชบุรี เมืองสมุทสงคราม และเมืองสมุทปราการ ดังนี้ส่อให้เห็นว่า เมืองนครไชยศรี เมืองสาครบุรี แลเมืองธนบุรีเห็นจะมีบ่อนเบี้ยรวมอยู่ในอากรแต่ก่อนแล้ว เพราะเปนที่มีจีนตั้งอยู่มากทั้ง ๓ เมือง โดยนัยนี้สันนิฐานว่า เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๙๙ ปีที่ตั้งพระราชกำหนดอันกล่าวมานั้น บ่อนเบี้ยเห็นจะมีแต่ที่ในกรุงศรีอยุทธยากับหัวเมืองที่ใกล้เคียงอิกบางเมือง คือเ มืองนนทบุรี ๑ เมืองธนบุรี ๑ เมืองนครไชยศรี ๑ เมืองสาครบุรี ๑ บางทีจะมีที่เมืองฉะเชิงเทรา ด้วยอิกเมือง ๑ แต่ที่เมืองวิเศษไชยชาญกับเมืองลพบุรีนั้นสงไสยอยู่ แลอากรบ่อนเบี้ยทั้งปวงรวมอยู่ในนายอากรคนเดียว.

ข้อ  ที่เงินอากรบ่อนเบี้ยทั้งสิ้นไม่ถึงปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า คงจะตั้งบ่อนแต่ตามหมู่บ้านจีนเปนพื้น บางที่จะพึ่งเกิดอากรบ่อนเบี้ยขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐนั้นเองก็จะเปนได้ ด้วยเมื่อปีชวดที่ตั้งพระราชกำหนดที่กล่าวมานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐเสวยราชย์มาได้ ๒๔ ปี ดูบ่อนเบี้ยยังไม่แพร่หลาย แลเงิน อากรก็ไม่เท่าใดนัก ถ้าอากรบ่อนเบี้ยได้ตั้งมาถึงสี่สิบห้าสิบปี เห็นเงินอากรจะมากกว่านั้น.

เมื่อล่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐมาแล้ว ในระหว่างเวลา ๙ ปีเมื่อก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า อากรบ่อนเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หามีจดหมายเหตุปรากฎไม่ แต่เมื่อถึงชั้นกรุงธนบุรีนั้น ทราบการที่เปลี่ยนแปลงได้เปนแน่อย่าง ๑ ว่า ปล่อยให้ไทยเล่นถั่วโปได้ไม่ห้ามปราม ด้วยมีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว โปรดให้มีการเล่นรื่นเริง ให้ฝีพายทนายเลือกกำถั่วกันน่าพระที่นั่ง เล่นกันถึงกระดานละ ๕๐ ชั่งก็มี ๑๐๐ ชั่งก็มี เพราะคราวนั้นรวยกันมาก แลว่า เปนการสนุกนักดังนี้ เห็นได้ว่า พวกฝีพายทนายเลือกรู้จักเล่นถั่วโปกันชำนาญมาแล้วแต่ครั้งกรุงธนบุรีเปนเวลาบ้านแตกเมืองเสียมาใหม่ ๆ พึ่งจะกลับเปนอิศร ผู้คนพลเมืองยังเบาบางบกพร่อง บ่อนเบี้ยเห็นจะไม่มีกี่ตำบลนัก คงรวมอยู่ในนายอากรคนเดียวอย่างครั้งกรุงเก่า เปนแต่อนุญาตให้ไทยเล่นได้ตามใจไม่ห้ามปราม แลมีประเพณีอิกอย่าง ๑ ซึ่งปรากฎในชั้นหลังว่า ถึงเวลาตรุษจีน ตรุษไทย แลสงกรานต์ ยอมให้ราษฎรเล่นเบี้ยกันได้ในที่ทั้งปวงตามชอบใจ มิให้นายอากรห้ามปราม ประเพณีอันนี้บางทีจะมีขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรีก็จะเปนได้ ด้วยสมัยนั้นทำศึกสงครามไม่ขาดปี มีทั้งทหารไทยแลทหารจีน การที่ให้สนุกสนานเปนการเอาใจไพร่พลให้ร่าเริง ดังเช่นโปรดให้เล่นถั่วโปกันน่าพระที่นั่งที่เมืองนครฯ มีอยู่เปนตัวอย่าง.

ถึงกรุงรัตนโกสินทร ในชั้นแรกไม่ใคร่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบได้ว่า การอากรบ่อนเบี้ยเปนอย่างไร จึงสันนิฐานว่า จะคงมีมาอย่างครั้งกรุงธนบุรี จะผิดกันก็แต่ที่ไม่ทรงอุดหนุนการเล่นเบี้ยนัก มีการเนื่องในอากรบ่อนเบี้ยอย่าง ๑ ซึ่งปรากฎว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เดิมบ้านพวกจีนตั้งอยู่ตรงที่สร้างพระบรมมหาราชวังทุกวันนี้ ครั้นเมื่อย้ายพระนครมา สร้างฝั่งตวันออก จะสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดให้พวกจีนย้ายลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สำเพ็ง บ่อนเบี้ยสำหรับบ้านจีนเดิมสร้างที่ริมแม่น้ำตรงน่าวัดเกาะ แล้วย้ายมาตั้งริมถนนสำเพ็งที่กงสีล้ง บ่อนกงสีล้งนี้เปนหัวน่าบ่อนเบี้ยทั้งปวง ตลอดมาจนจัดการลดบ่อนเบี้ยลงเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ที่ว่าเปนหัวน่านั้น คือ เปนต้นแบบแผนแลสัญญาอาณัติแก่บ่อนเบี้ยทั้งปวง เปนต้นว่า ถึงตรุษสงกรานต์อันเปนเวลาที่ราษฎรจะเล่นถั่วโปกันได้ตามชอบใจ นายบ่อนกงสีล้งเปนผู้มีน่าที่ที่จะตีม้าล่อบอกเปนสัญญาแก่ชาวพระนครว่า "เล่นเบี้ยได้ละ" ครั้นเมื่อสิ้นตรุษสงกรานต์ นายบ่อนกงสีล้งก็มีน่าที่ที่จะตีม้าล่อบอกประกาศให้เลิกเล่น ฉนี้เปนตัวอย่าง มีเนื้อความปรากฎในจดหมายเหตุเก่าครั้งรัชกาลที่ ๒ อิกข้อ ๑ ว่า เงินอากรบ่อนเบี้ยครั้งนั้นปีละ ๒๖๐,๐๐๐ บาท[1] ความข้อนี้ก็มีทางที่จะสันนิฐานเรื่องตำนานอากรบ่อนเบี้ยได้อีกบ้าง คือ

 ตั้งแต่ออกพระราชกำหนดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙ อันกล่าวมาแล้ว นับเวลามาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ได้ ๖๘ ปี ในระหว่างเวลาเท่านี้ เงินอากรบ่อนเบี้ยขึ้นถึง ๑๐ เท่า คิดดูว่า จะขึ้นเพราะเหตุใด จะว่าเพราะผู้คนพลเมืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ใช่เหตุ ด้วยเมื่อเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึกเสียผู้คนเปนอันมาก หากจะมีผู้คนเพิ่มขึ้นในระหว่างนั้น จำนวนคนก็เห็นว่าจะไม่มากกว่าครั้งกรุงเก่าเท่าใดนัก จึงส่อให้เห็นว่า ที่เงินอากรขึ้นถึงปานนั้น คงเปนเพราะเหตุที่เปิดให้ไทยเล่นเบี้ย แลมีบ่อนเบี้ยแพร่หลายออกไปตามหัวเมืองมากขึ้นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีฤๅแต่ชั้นกรุงเก่าตอนปลายก็จะเปนได้ เงินอากรบ่อนเบี้ยคงขึ้นเรื่อยมาโดยอันดับแต่ครั้งกรุงเก่าฤๅครั้งกรุงธนบุรีแล้ว มาถึงรัชกาลที่ ๒ ไม่มีศึกสงคราม ผู้คนได้ทำมาค้าขายเปนปรกติ เงินอากรบ่อนเบี้ยก็คงขึ้นอิกบ้าง แต่หาได้ขึ้นโครมครามในคราวหนึ่งคราวเดียวมากมายเท่าใดไม่ ถ้ามีอย่างนั้น ก็คงเปนเรื่องเล่าฦๅกันเปนอัศจรรย์ปรากฎมาจนภายหลัง

 มีข้อสันนิฐานอิกอย่าง ๑ ว่า จำนวนเงิน ๒๖๐,๐๐๐ นั้นมากอยู่ ในสมัยนั้นรัฐบาลเห็นจะไม่ยอมให้อยู่ในมือนายอากรเดียว เพราะฉนั้น อากรบ่อนเบี้ยซึ่งปรากฎในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ครั้งกรุงเก่าว่าอยู่ในนายอากรเดียว เห็นจะแยกกันเปนหลายคนขึ้นในชั้นหลังมา จะเปนในชั้นกรุงเก่าตอนปลายฤๅในชั้นกรุงธนบุรีก็เปนได้ ครั้นเมื่อมีนายอากรเปนหลายคนขึ้น จึงเกิดลักษณการแบ่งแขวงอากรบ่อนเบี้ยขึ้นพร้อมกัน คือ นายอากรคน ๑ ให้เปนนายบ่อนแต่ในแขวงอัน ๑ ที่ตัวได้รับอำนาจ ข้อนี้เปนข้อสำคัญอันหนึ่งของลักษณอากรบ่อนเบี้ยซึ่งจะอธิบายต่อไปข้างน่า

ในรัชกาลที่ ๓ จัดระเบียบแบบแผนการภาษีอากรต่าง ๆ หลายอย่าง ประกอบกับที่การค้าขายเจริญขึ้นโดยลำดับมา ปรากฎว่า เงินอากรบ่อนเบี้ยได้ราวปีละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากเงินอากรหวยซึ่งตั้งขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้นอิกอย่าง ๑ ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างน่า ครั้นต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งอากรการพนันเพิ่มเข้าในอากรบ่อนเบี้ยอิกอย่าง ๑ บัญญัติว่าถ้าใครจะเล่นพนันเอาทรัพย์สินกันในการเล่นเหล่านี้ คือ ไพ่จีน ๑ ไพ่ไทย ๑ ไพ่แปดเก้า ๑ ไพ่ช้างงา ๑ ต่อแต้ม ๑ พุ่งเรือ ๑ หมากรุก ๑ สะแก ๑ สะกา ๑ ดวด ๑ วิ่งวัวคน ๑ วิ่งวัวระแทะ ๑ วิ่งม้าฤๅวิ่งวัวควาย ๑ แข่งเรือ ๑ ชนไก่ ๑ ชนนก ๑ กัดปลา ๑ ต้องเสียภาษีแกอากรบ่อนเบี้ยในแขวงที่จะเล่นนั้นก่อนจึงจะเล่นได้ เงินอากรการพนันบวกขึ้นในอากรบ่อนเบี้ย เพราะฉนั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เงินอากรบ่อนเบี้ยปี ๑ ได้ราว ๕๐๐,๐๐๐ บาท[2] ลักษณอากรบ่อนเบี้ยที่แก้ไขขยายการโดยลำดับแต่ก่อนมา สอบสวนทราบได้แต่เปนเค้าความดังแสดงมา ทราบไม่ได้ชัดว่า การอย่างไหนเกิดขึ้นครั้งใดเพียงใด ได้แต่ยุติว่า การอากรบ่อนเบี้ยในเมืองไทยเจริญ แพร่หลายโดยลำดับมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงได้โปรดให้จัดการลดบ่อนเบี้ยให้น้อยลงตั้งแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ เปนต้นมา

การเล่นถั่วโปในเมืองไทยนับว่า เจริญแพร่เหลายถึงที่สุดเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ มีจำนวนบ่อนเบี้ยในกรุงเทพฯ รวมกับแขวงเมืองนนทบุรีเบ็ดเสร็จ ๔๐๓ ตำบล บ่อนเบี้ยมีตามหัวเมืองทุกมณฑลรวมกันอิกประมาณ ๒๑๐ ตำบล ลักษณการอากรบ่อนเบี้ยในเวลานั้นเปนอย่างไรจะอธิบายในตอนต่อไปนี้

 ที่เรียกว่าเล่นเบี้ยนั้น เฉภาะการเล่น ๓ อย่าง คือ ถั่วอย่าง ๑ โปอย่าง ๑ กำตัดอย่าง ๑ กำตัดเล่นเหมือนกับถั่ว ผิดกันแต่วิธีแทง แทงกำตัดก็ไม่สนุกเหมือนกับถั่ว เพราะฉนั้น ไม่ใคร่จะได้ เหมือนเปนแต่เอาชื่อเข้าอากรไว้โดยประสงค์จะห้ามมิให้ผู้อื่นเอาถั่วไปปลอมเล่นเปนกำตัดเท่านั้น อากรบ่อนเบี้ย คือ ห้ามมิให้ผู้ใดเล่นเบี้ยโดยนายอากรมิได้อนุญาต ฤๅถ้าจะว่าอิกอย่าง ๑ ว่า ห้ามมิให้ผู้อื่นเปนเจ้ามือเล่นเบี้ยนอกจากนายอากร ว่าเช่นนี้ก็ได้เหมือนกัน เพราะการเล่นเบี้ยจำต้องมีเจ้ามือจึงเล่นได้ เมื่อเปนเจ้ามือได้แต่นายอากร ใครไม่ได้อนุญาตของนายอากรก็เล่นเบี้ยไม่ได้อยู่เอง

 ลักษณที่จะตั้งนายอากรบ่อนเบี้ยนั้น รัฐบาลกำหนดท้องที่เปน "แขวง" สำหรับทำอากร ถ้าหัวเมืองก็กำหนดว่า เมือง ๑ เปนแขวง ๑ แต่ในกรุงฯ เปนที่มีผู้คนมาก ต้องกำหนดท้องที่เปนหลายแขวง แต่มีเขตรเปนกำหนด แลมีชื่อเรียกโดยเฉภาะทุกแขวง ดังเรียกแขวงท่าช้างแลแขวงตลิ่งชันเปนต้น เมื่อก่อนจะสิ้นปี ถ้าผู้ใดอยากจะเปนนายอากรบ่อนเบี้ยแขวงไหนในปีน่า ก็ทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติว่า จะขอผูกอากรบ่อนเบี้ยแขวงนั้น แลจะยอมส่งเงินหลวงปีละเท่านั้น ถ้าไม่มีผู้อื่นขอในแขวงเดียวกัน แลเจ้าพนักงานเห็นว่า จำนวนเงินหลวงที่ผู้นั้นรับจะส่งสมควรแล้ว ก็เปนอันยุติว่าผู้นั้นจะได้ ถ้าหากว่าในแขวงเดียวกันมีผู้ขอเปนนายอากรหลายคนด้วยกัน ก็ต้องให้ประมูลกัน ใครรับส่งเงินหลวงมากกว่าผู้อื่น ก็เปนยุติให้คนนั้น เมื่อยุติว่าผู้ใดจะได้ทำอากร ผู้นั้นจะต้องหาผู้อื่นซึ่งเจ้าพนักงานไว้ใจมารับเปนประกันคน ๑ เปนผู้รับเรือน (คือ เปนประกันของประกัน) อิกคน ๑ แล้วต้องส่งเงินหลวงล่วงน่าเท่าจำนวนเงินงวด ๓ เดือน เปนเงินประกัน ๒ เดือน เป็นเงินงวดสำหรับเดือน ๔ เดือน ๑ จึงจะได้รับตราตั้งเปนนายอากรตลอดเวลาปี ๑ นับตั้งแต่ขึ้นปีใหม่ไปจนสิ้นปี เมื่อสิ้นปีลง ถ้าไม่มีผู้ใดมาว่าประมูล นายอากรคนเก่าก็ได้ทำต่อไปอีก เว้นแต่ถ้านายอากร "ฟ้องขาด" คือ ไม่รับทำ ฤๅขอลดเงินหลวง จึงประกาศเรียกประมูลใหม่

 ผู้ที่เปนนายอากรบ่อนเบี้ยนั้น คนทั้งหลายมักเรียกว่า "ขุนพัฒน์" เพราะเหตุใด มีอธิบายว่า เพราะประเพณีเก่ามีการหลายอย่างซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้แต่ผู้มีบันดาศักดิ์ ดังเช่น การที่จะเปนถ้อยความในโรงศาล แต่ก่อนต้องเปนผู้มีบันดาศักดิ์ถือศักดินาแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป จึงจะแต่งทนายว่าความต่างตัวได้ คงจะเปนด้วยข้อนี้เองที่จำต้องให้เจ้าภาษีนายอากรมีบันดาศักดิ์ เพราะมักจะต้องฟ้องร้องผู้ลักเล่นการพนัน จะได้แต่งทนายว่าความต่างตัวได้ไม่เสียประโยชน์การทำอากร เพราะฉนั้น เมื่อตั้งผู้ใดเปนเจ้าภาษีนายอากร ถ้าแลผู้นั้นยังมิได้มีบันดาศักดิ์อยู่ก่อนแล้ว จึงมีความในตราตั้งว่า ให้ผู้นั้นเปนขุนนั่น ๆ ตำแหน่งเจ้าภาษีฤๅนายอากรนั้น ๆ แต่เปนอยู่ชั่วเวลาเปนเจ้าภาษีนายอากรเท่านั้น ถ้าออกจากเจ้าภาษีนายอากร ก็ต้องออกจากบันดาศักดิ์กลับลงมาเปนราษฎรอย่างเดิม เปนประเพณีมาดังนี้ แลนามตามบันดาศักดิ์ของนายอากรบ่อนเบี้ยนั้นเดิมเปนที่ "พัฒนสมบัติ" ภายหลังมาเมื่อมีนายอากรหลายคนขึ้น ตั้งนายอากรใหม่ ใช้ชื่อคำว่า "พัฒน์" ขึ้นต้นทุกคน เช่น ขุนพัฒนาภิรมย์ ขุนพัฒนโภไคย ขุนพัฒนภักดี ขุนพัฒนานุการ ทำนองนี้เปนตัวอย่าง คนทั้งหลายเรียกแต่ด้วยต้นชื่อว่า "ขุนพัฒน์" ด้วยเหตุนี้คำว่า "ขุนพัฒน์" จึงเปนชื่อสำหรับเรียกบรรดานายอากรบ่อนเบี้ยทั่วไปทุกคน

 ผู้ใดได้เปนขุนพัฒน์ คือ นายอากรบ่อนเบี้ยแขวงใด จะตั้งบ่อนเบี้ยในแขวงของตนมากน้อยสักกี่ตำบลก็ตั้งได้ ถ้าตั้งบ่อนน้อยแห่ง ก็ได้เงินน้อย แต่ถ้าตั้งมากเกินจำนวนคนแทง ก็เปลืองสัวหุ้ยเปล่า เพราะฉนั้น ขุนพัฒน์จึงต้องกะประมาณการที่จะตั้งบ่อนให้พอเหมาะแก่ผู้คนในแขวงนั้นจะไปแทงได้สดวกทั่วกัน จึงมักตั้งบ่อนเบี้ยที่ตลาดยี่สารอันเปนที่ประชุมชนในแขวงนั้น ถ้าริมแม่น้ำ ก็ใช้แพเปนบ่อน ถ้าตั้งห่างแม่น้ำขึ้นไป ก็ปลูกเปนโรง การปลูกสร้างบ่อน นัยว่าต้องทำด้วยทุนรอนของขุนพัฒน์เองทั้งสิ้น แต่ที่จริงนั้น ขุนพัฒน์หาต้องลงทุนรอนอย่างใดไม่ เพราะบ่อนเปนของตั้งประจำที่ประชุมชน ไม่ต้องย้ายตำแหน่งแห่งที่ไปไหน ใครเปนเจ้าของที่ก็ย่อมยินดีที่จะสร้างบ่อนให้ขุนพัฒน์เช่า ถึงขุนพัฒน์คน ๑ ออกแล้ว ขุนพัฒน์คนใหม่ก็ต้องขอเช่าบ่อนนั้นเล่นต่อไป แลยังมีประเพณีการอิกอย่าง ๑ คือ ขุนพัฒน์ไม่ได้เปนนายบ่อนในแขวงของตนทุกบ่อนทั่วไป เมื่อว่าอากรได้ไปแล้ว บ่อนไหนไม่ประสงค์จะทำเองก็ขายช่วงแก่ผู้อื่นต่อไป มีผู้ที่อยู่ประจำท้องที่ที่ตั้งบ่อนมักเปนผู้รับช่วงโดยมาก บางคนเปนนายบ่อนอยู่หลาย ๆ ปีก็มี ประโยชน์ของขุนพัฒน์ยังมีอิกอย่าง ๑ คือ ในท้องที่แขวงของตน ถ้าเจ้าของบ้านแห่งใดมีการงาน ดังเช่นงานโกนจุกบุตรหลานเปนต้น จะหาขุนพัฒน์ไปกำถั่วปั่นโปให้พวกพ้องเล่นเปนการครึกครื้นที่บ้านนั้นก็ได้ แม้ที่สุดถึงไม่มีใครหา ถ้าในท้องที่แห่งใดในแขวงนั้นมีการนักขัตฤกษ์ดังเช่นงานฉลองวัดฤๅไหว้พระซึ่งคนประชุมกันมาก ขุนพัฒน์ก็มักให้เอาถั่วโปไปตั้งในบริเวณงานให้คนเล่นได้ด้วย

 ขุนพัฒน์ผู้เปนนายอากรบ่อนเบี้ยมีอำนาจหลายอย่าง คือ อำนาจตามบันดาศักดิ์ เช่น แต่งทนายว่าความได้เปนต้นอย่าง ๑ จับกุมผู้ประพฤติเกะกะในบริเวณบ่อนใส่ขื่อได้ แต่ต้องส่งตัวไปให้เจ้าพนักงานชำระอย่าง ๑ ตรวจจับผู้ลักเล่นเบี้ยแลการพนันในท้องที่ของตน ฟ้องร้องเรียกเอาเงินสินไหมเบี้ยปรับอย่าง ๑ เหล่านี้เปนอำนาจสำคัญ

 ผลประโยชน์ที่นายอากรบ่อนเบี้ยได้นั้น คือ ได้กำไรในการเล่นเบี้ยอย่าง ๑ ได้กำไรในการขายช่วงบ่อนเบี้ยอย่าง ๑ ค่าธรรมเนียมอนุญาตเล่นการพนันต่าง ๆ อย่าง ๑ ได้สินไหมจากผู้ล่วงลเมิดอากรบ่อนเบี้ยแลการพนันอย่าง ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้เปนผลประโยชน์ที่ได้โดยตรง ยังมีผลประโยชน์ที่ได้ในทางอ้อมอิกอย่าง ๑ เกิดแต่ ความลำบากที่ใช้เงินปลีกในบ่อน เพราะเงินปลีกเปนของเล็กจะหยิบจะยกยาก นายอากรจึงคิดจะทำคะแนนสำหรับเล่นเบี้ยที่ในบ่อน เรียกว่า "ปี้" ปี้ชั้นแรกนั้นหล่อด้วยโลหะบ้าง หล่อด้วยแก้วบ้าง ต่อมาชั้นหลังคิดสั่งให้ทำปี้ด้วยดินถ้วยชามเคลือบสีส่งมาแต่เมืองจีน ปี้ของนายอากรคน ๑ ก็ทำให้รูปแลลวดลายผิดกับปี้ของนายอากรคนอื่น แต่คงเปนราคาปี้ละสลึงอย่าง ๑ ปี้ละเฟื้องอย่าง ๑ ปี้ละ ๒ ไพอย่าง ๑ เหมือนกันทั้งนั้น เวลาคนเข้าไปเล่นเบี้ย ถ้าแทงถูกนายบ่อนก็ใช้ด้วยปี้ ฤๅคนเล่นจะเอาเงินปลีกไปแลกปี้ แลเอาเงินบาทแตกปี้มา แทงแต่แรกก็ได้ เมื่อคนเล่นจะกลับจากบ่อนก็เอาปี้ส่งนายบ่อนเปลี่ยนเอาเงินกลับมาบ้าน การใช้ปี้แต่แรกเปนแต่คะแนนสำหรับเวลาเล่นเบี้ยดังกล่าวมานี้ แต่ทีหลังมาคนเล่นขี้คร้านแลกเงินทุกวัน ๆ ก็เลยพกปี้กลับมาบ้านเรือน โดยเชื่อว่าจะไปแลกเอาเงินเมื่อใดก็ได้ แล้วเลย ใช้หนี้สินซื้อหากันด้วยปี้ โดยความไว้ใจนายอากรบ่อนเบี้ย ปี้จึง กลายเปนอย่างธนบัตร เกิดประโยชน์แก่นายอากรบ่อนเบี้ย อย่างธนบัตรเปนประโยชน์แก่ธนาคารขึ้นอิกอย่าง ๑ ว่าที่แท้เปนประโยชน์แก่นายอากรยิ่งกว่าธนบัตรเสียอิก เพราะมีเวลาดังเช่นนายอากรจะเปลี่ยนตัวก็ดี ฤๅมีผู้สั่งปี้ปลอมเข้ามาก็ดี ถ้านายอากรจะเลิกปี้เดิม เมื่อใด เพียงเอาม้าล่อตีที่น่าบ่อนประกาศบอกว่าจะเลิกปี้อย่างนั้น แลให้เวลาสักสิบสี่สิบห้าวันแล้ว พ้นไปใครจะเอาปี้ไปขอแลกเงินก็ไม่รับ นายอากรจึงได้กำไรในการใช้ปี้มาก ด้วยเหตุนี้ใครเปนนายอากรบ่อนเบี้ยก็คิดทำปี้ขึ้นใหม่เรื่อยมา มีผู้ที่ได้ลองรวบรวมปี้ต่าง ๆ ว่ามีปี้ กว่า ๕,๐๐๐ อย่าง จนประกาศห้ามเมื่อในรัชกาลที่ ๕ จึงได้เลิกปี้แต่นั้นมา ๗ ส่วนความรับผิดชอบของขุนพัฒน์ผู้เปนนายอากรบ่อนเบี้ยนั้นนอกจากที่ต้องรับผิดชอบทำการอากรให้เรียบร้อยโดยสุจริต ยังต้อง ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีทุกคราว แลต้องรับผิดชอบแทนผู้ที่เข้าหุ้นส่วนด้วย เพราะถ้าหากว่าเงินหลวงติดค้าง พระคลังมหาสมบัติ เร่งเอาแต่แก่ขุนพัฒน์คนเดียว ถ้าไม่ส่งเงินได้ตามงวด เจ้าพนักงานเอาอากรออกเลหลัง ถ้าเงินหลวงขาดเท่าใด ก็เอาแก่ขุนพัฒน์ ถ้าขุนพัฒน์ส่งเงินที่ขาดนั้นไม่ได้ ก็ต้องติดเวรจำไปกว่าจะส่งเงินครบฤๅโปรดปล่อยโดยพระมหากรุณา เพราะแต่ก่อนยังไม่มีกฎหมาย ยอมให้ล้มละลาย ส่วนผู้ที่เปนประกันนั้นต้องใช้เงินแทนขุนพัฒน์ในเวลาเงินหลวงขาดด้วยประการทั้งปวง แลเปนผู้ทำอากรในเวลาเมื่อ ขุนพัฒน์ล้มตายด้วยอิกอย่าง ๑ ส่วนผู้รับเรือนก็เช่นนั้น แต่เปนสำหรับตัวผู้เปนประกัน ว่าโดยลักษณการอากรบ่อนเบี้ยมีเนื้อความ ดังแสดงมานี้ ลักษณการในบ่อนเบี้ย

ทีนี้จะกล่าวถึงลักษณการในบ่อนเบี้ยต่อไป ความตอนนี้มีสมาชิกผู้ ๑ จะเปนใครหาทราบไม่ ได้แต่งส่งมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ความที่แต่งถ้วนถี่ดี เปนแต่ขาดความอยู่ บางข้อ เช่นวิธีแทงถั่วโปเปนต้น ข้าพเจ้าได้ถามพระยาสุนทรพิมล เก็บคำชี้แจงแทรกลงตรงที่ความขาดนั้นบางแห่ง ได้คัดมาพิมพ์ไว้ต่อไปในตอนนี้ เรื่องถั่วโป เรื่องต่าง ๆ เห็นมีผู้ส่งมาลงวชิรญาณเปนอันมากแล้ว ตลอดจนเรื่องหวยก็มีผู้ส่งมาลงพิมพ์ แต่เรื่องถั่วโปซึ่งนับว่าเปนการเล่นเหมือนกันยังไม่เห็นใครส่งมาลงเลย ข้าพเจ้าถือโอกาศอันนี้ แลมีเวลาว่างพอจะเรียบเรียงส่งมาลงวชิรญาณได้บ้าง จึงได้เรียบเรียง เรื่องนี้ส่งมาลงพิมพ์ เพื่อให้ท่านสมาชิกอ่านเล่นแก้รำคาญ ถั่วโปนี้เปนการเล่นอันอาจจะให้สนุกเพลิดเพลินได้เหมือนกับการเล่นอื่นๆ แต่ผิดกับการเล่นอย่างอื่นอยู่ประการ ๑ ที่ถั่วโปมีแรง ดูดร้ายแรงนัก สำหรับดูดความนิยมของคนบางจำพวกให้ลุ่มหลง ยินดีในการเล่นถั่วโป โดยที่มาดหมายว่าจะรวยได้ทรัพย์สมบัติมาเปนประโยชน์แก่ตน จึงได้พากันประพฤติการเล่นถั่วโปจนสิ้นเนื้อประดา ตัวเปนอันมาก ที่สุดจนยอมตัวลงเปนทาษให้เขาใช้ดังวัวควายล้มตายอยู่ในเรือนเบี้ย เพราะเหตุที่เล่นถั่วโปก็มีนับด้วยร้อยด้วยพัน เพราะ วิไสยของคนเล่นถั่วโป ถ้ารวยได้เงินมาครั้งใดก็เกิดความยินดีอิ่มอก อิ่มใจ คิดกำเริบทะเยอทะยานอยากจะได้ ให้มากยิ่งกว่านั้นขึ้นไป ถ้าหากเสียทรัพย์ไปฝ่ายเดียว ฤๅได้ ๆ แล้วกลับเสีย ๆ แล้วกลับได้ ๆ แล้วกลับเสียอิกเล่าฉนี้ ความนิยมยินดีฤๅความร้อนใจซึ่งเปลี่ยนน่า กันสิงสู่อยู่ในสันดาน ก็ยิ่งทำความทะเยอทะยานให้กล้าแขงแรงร้าย ขึ้นไปกว่านั้นอิก ถึงคราวเสียก็คิดแต่จะเล่นให้ได้ทุนกลับคืนมา เมื่อเสียไปอิกก็ยิ่งคิดจะตามต่อทุนร่ำไป ครั้นถึงคราวได้ทุนมาแล้วก็ยังจะเล่นหากำไรต่อไปอิกดังนี้ ความนิยมเปนอันเดินสู่ที่ยิ่งอยู่เสมอทั้ง ๒ ฝ่ายฉนี้ คนจึงประพฤติการเล่นถั่วโปมีมากขึ้นทุกที เพราะใครลงลุ่มหลงเล่นแล้ว ก็ไม่มีเวลาจะหาอุบายอันใดมาหักห้ามตัดแรงดูดอันนั้นให้เหือดหายไปได้ ส่วนคนที่ไม่เคยเล่นก็เห็นแต่ว่ามีทุนบาทเดียว ถ้าแทงถูกอ๋อได้ถึง ๓ ต่อ คือ ๓ บาท วันหนึ่งสบเหมาะก็จะได้ ถึง ๒๐ ชั่ง ๓๐ ชั่ง ๔๐ ชั่ง ดังนี้ด้วยกันโดยมาก ไม่ได้นึกถึงทางที่จะพินาศ ฉิบหายเพราะการเล่นเลย ต่อเมื่อไรได้รับความรู้สึกเพราะถูกข่มขี่กัก ขังด้วยอาญา ฤๅความจำเปนอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นแหละบางคนจึง จะหลุดพ้นจากแรงดูดของถั่วโปไปได้บ้าง แต่ก็น้อยนักหนา อีกประการ ๑ เพราะนิสัยของคนบางจำพวก มีความเกียจคร้านที่จะประกอบการงานหาเลี้ยงชีพ คนจำพวกที่เกียจคร้านนั้น เมื่อจะต้อง ทำการงานหาผลประโยชน์เลี้ยงชีพ ก็อยากหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องลำบากเหน็ดเหนื่อย ก็การเล่นถั่วโปนี้ไม่ต้องออกแรงทำอันใด เปนแต่มีทุน ไปนั่งจ้องแทงเอา ประเดี๋ยวถูกก็ได้เงินมากินก็แล้วกันไป เพราะเหตุ นี้คนจำพวกนั้นจึงได้พากันไปพอใจประพฤติการเล่นถั่วโป เพื่อจะหาเลี้ยงชีพโดยไม่ต้องออกแรงทำอันใดให้เหนื่อยกาย ทั้งได้ความสนุกด้วย ไม่ใคร่มีใครคิดเห็นว่าการเล่นถั่วโปเสียเปรียบขุนพัฒน์เพียงใด การที่ขุนพัฒน์เขาจัดการได้เปรียบอย่างใด ข้าพเจ้าจะอธิบายต่อไป ลักษณการในโรงบ่อน

ใครเปนขุนพัฒน์ ถ้ามีทุนรอนของตัวพอเพียงแล้ว ก็ไม่ต้อง หาหุ้นส่วนมาเข้ากัน ถ้าทุนน้อยไม่พอแก่การที่จะทำอากรให้ตลอดไปได้ ก็ต้องหาผู้อื่นมาเข้าหุ้นส่วนตามแต่จะหาได้มากแลน้อยไม่กำหนด แล้วเชิญไปประชุมในที่อันควรแห่ง ๑ ว่ากล่าวตกลงจะเข้าทุนกันคนละเท่าใด ก็ทำเปนหนังสือสำคัญสัญญาให้ไว้แก่กันคนละฉบับ ถ้า เปนที่เชื่อถือกันแล้วไม่ต้องทำ แต่ต้องมีบาญชีกลางไว้ ๒ ฉบับ ซึ่ง เปนหลักฐานของถ้อยคำเมื่อกล่าวในที่ประชุมนั้น ใจความก็แสดงว่า "มีคนเท่านั้นคน ออกเงินลงทุนในครั้งแรกคนละเท่านั้น ๆ " ลง ท้ายก็ขยายความกล่าวท้าไว้หน่อยว่า เมื่อทุนรอนขาดเหลือไม่พอเพียงอย่างใด ก็จะได้ประชุมกันครั้งหลังต่อไป แล้วประทับตราลงชื่อ มอบให้หัวน่าแห่งที่ประชุมรักษาไว้ฉบับ ๑ แล้วนำเงินมาลงกันตามสัญญา มอบเงินแลบาญชีฉบับ ๑ ให้แก่ผู้ที่จะเปนขุนพัฒน์รักษาไว้ นี่แหละเปนการสำคัญ ที่จำเปนจะต้องจัดในคราวแรกให้เรียบร้อยตามสมควร ส่วนการนอกจากนี้ซึ่งเปนน่าที่ในโรงบ่อน ก็มอบให้ขุนพัฒน์จัดต่อไป การตั้งบ่อนในชั้นต้น ขุนพัฒน์จะต้องเลือกหาจีนที่มีความรู้ชำนาญในน่าที่การที่จะจัดให้ครบเต็มตามกำหนด คือ ข้อ ๑ จะต้องมีเสมียนเอกไว้สำหรับโรงคน ๑ เสมียนเอกต้องมีความรู้ชำนาญวิธีทำสรรพบาญชีสำหรับการบ่อนเบี้ยเปนทุกอย่าง เมื่อเวลาถั่วโปเปิดการเล่นแล้ว จะได้ทำบาญชีรับเงินที่ได้มาฤๅจ่ายเงิน ที่เสียไปลงในบาญชีบานใหญ่ฉบับ ๑ แลทำเปนบาญชีรายเลอียดอิกหลายฉบับ จ่ายไปแก่จีนทำโปครบทุกเสื่อ เพื่อเมื่อเวลาโปกินฤๅตาย คือได้ฤๅเสียลงที่เสื่อไหน ก็จะได้จดลงเปนรายเลอียดมีแจ้งทุกเสื่อ ไป แลมีบาญชีการจรอิกฉบับ ๑ สำหรับจดหมายเหตุว่า ได้รับเงินฤๅจ่ายเงินนอกจากธรรมดา ตามเหตุการณ์อันใดที่เกิดขึ้นก็จดลงในเล่มนี้ทั้งสิ้น แลบาญชีกลางที่ขุนพัฒน์รักษาไว้นั้น ก็ต้องคัดสำเนามอบให้เสมียนรักษาไว้ด้วย เมื่อสิ้นเดือนลงฤๅถึงคราวส่งบาญชี จะได้รวมบาญชีส่งแก่ขุนพัฒน์ทุกคราวไป เสมียนมีความรู้ทำได้เพียงเท่านี้จึงจะเปนอันใช้ได้ ข้อ ๒ ต้องหาคนถุงเค้า คือคนสำหรับเก็บเงินจ่ายเงินคน ๑ ต้องเปนคนฉลาดไหวพริบดี เช่นเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นที่เสื่อไหน เปนต้นว่าเทลาะวิวาทถุ้มเถียงกันด้วยชั้นเชิงฤๅเหตุใด ๆ ก็สามารถที่จะวินิจฉัยว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้เหตุการณ์นั้นเรียบร้อยตลอดไปได้ ไม่ต้องให้ร้อนใจถึงขุนพัฒน์ ว่าที่แท้ก็คือเปนผุ้ดูแลการแทนขุนพัฒน์ได้ตลอดทุกน่าที่ การนอกจากนี้ก็คือดูเงินเปนด้วย ข้อ ๓ ต้องหาคนกำถั่วใหญ่คน ๑ ฤๅ ๒ คนตามแต่จะหาได้ มีความรู้สามัญก็คือแจงเบี้ยเปน ไม่หนักไม่เบา คือไม่ขาดๆ เกินๆ ได้แล้วก็เปนอันใช้ได้ แต่ถ้าหาได้ที่มีความรู้วิเศษแปลกจากสามัญ คือกำเบี้ยขึ้นมือรู้ว่าจะออกนั่นออกนี่ได้ ฤๅยิ่งได้ที่สามารถจะรู้ว่ากอบเบี้ยออกไปทีนี้จะออกประนั้นประตูนี้ได้ แล้วมีอุบายถ่ายเทแก้ไขให้ออกโน่นออกนี่ หลีกเลี่ยงไปจากเค้าเงื่อนอย่าให้กินใจคนแทงได้ก็ยิ่ง ดีนัก แต่คนมีความรู้อย่างนี้ยากที่จะหาได้ ถ้าขุนพัฒน์ได้ไว้สำหรับบ่อนสักคน ๑ แล้ว ก็หวังใจได้ว่าในปีนี้การเล่นถั่วใหญ่คงไม่สั่วเสีย ข้อ ๔ ต้องหาหัวเบี้ยใหญ่คน ๑ มีความรู้ดูเงิน เปนต้นรู้ว่า เงินดี เงินแดงได้รวดเร็ว แลมีความแม่นยำจำคนเล่นได้ถ้วนหน้า คือ ในเวลาที่มานั่งในเสื่อรู้ว่าคนนั้นคนนี้ถูกแล้วกี่ครั้ง ควรเก็บหัวเบี้ยได้ฤๅ ยัง แลจะใช้เงินเก็บเงินเมื่อเวลาถั่วออกแล้วก็คล่องแคล่ว ไม่ขัดขวางทันการทันเวลา เมื่อกล่าวโดยย่อก็คือเปนคนฉลาดประเปรียวคล่อง แคล่วไม่เสียรัดเสียเปรียบแก่คนแทง จึงจะเอามาเปนหัวเบี้ยได้ ข้อ ๕ ต้องหาคนทำโปปั่นกับหัวเบี้ยเสื่อ ๑ รวม ๒ คน ทำโปกำเสื่อ ๑ ก็รวม ๒ คนเหมือนกัน เมื่อจะตั้งโปปั่นแลโปกำมากน้อยกี่เสื่อ ก็ต้องหาคนให้เต็มตามประสงค์ คนเหล่านี้จะต้องมีความรู้แลกิริยาอาการให้คล้ายคลึงกับถั่วใหญ่ คนที่หามาเหล่านี้จะต้องเข้าใจว่าเปนคนสำคัญที่ขุนพัฒน์ย่อมเห็นคุณวุฒิแล้ว แลประกอบด้วยความซื่อตรง แลหลักฐานหลายอย่าง ว่าให้เห็นกันง่าย ๆ ก็คือเหมือนใครจะเข้ามาทำ การกับขุนพัฒน์ ต้องมีประกันแลรับเรือนพร้อมกันจนเปนที่เชื่อใจของขุนพัฒน์ได้แล้ว นั่นและจึงจะได้เข้ามาทำการด้วยกันได้ เพราะไหน จะต้องให้เงินเดือนตามคุณวุฒิก็ชั้น ๑ แล้ว ถ้าไม่ซื่อตรงต่อขุนพัฒน์ก็ยังจะต้องเสียยุบเสียยับเข้าไปอิกชั้น ๑ เล่า เพราะฉนั้นการในชั้นต้นนี้ขุนพัฒน์จะต้องจัดให้เรียบร้อย แลคนใช้ในโรงบ่อนนอกจากนี้ก็ยังต้องมีอิกหลายคน แต่ไม่จำเปนจะต้องจารไนให้ทั่วไป เพราะการนอกจากที่กล่าวมาเปนแต่การเล็กน้อย ขาดบ้างเหลือบ้างก็ไม่ขัดขวางอะไรนัก เมื่อขุนพัฒน์มีคนทำการเต็มตามน่าที่แล้ว ก็ลงมือเปิดการเล่นถั่วโปต่อไป การเล่นที่เล่นในบ่อนมี ๓ อย่างด้วยกัน คือ ถั่วใหญ่อย่าง ๑ โปปั่นอย่าง ๑ โปกำอย่าง ๑ ถั่วใหญ่นับว่าเปนประธานของบ่อนเบี้ยเพราะเปนการที่คนเล่นได้พร้อมกันมาก แลเงินที่ได้เสียกันมากกว่าอย่างอื่น บ่อน ๑ มักจะมีถั่วใหญ่แต่วงเดียว ปูเสื่อผืนใหญ่สำหรับ เล่นไว้กลางบ่อน มีขุนพัฒน์บางคนได้ลองตั้งถั่วใหญ่เปน ๒ วง หวัง จะให้คนเล่นได้มากขึ้น แต่ครั้นเล่นไปเห็นเสียเปรียบคนแทง เพราะ คนแทงเลือกดูเห็นวงไหนเปนเวลาถั่วตาย เจ้ามือเสียก็รุมกันเล่นแต่ วงนั้น ไม่ไปเล่นวงที่ถั่วกิน ด้วยเหตุนี้ขุนพัฒน์จึงเล่นถัวใหญ่แต่บ่อนละวงเดียว โปปั่นนั้นกระบวนเล่นสนุกพลิกแพลง มักชอบเล่นแต่ นักเลงผู้ชาย แลวง ๑ คนเล่นไม่ได้มากเหมือนกับถั่วใหญ่ บ่อน ๑ จึงมีเล่นหลายวง แล้วแต่มีนักเลงมาเล่นพอจะตั้งวงได้นายบ่อนก็เอาเสื่อปูให้เล่นกันวง ๑ ส่วนโปกำนั้นเปนทำนองพันทางในระหว่างถั่วกับโปปั่น คือกำด้วยเบี้ยเหมือนกับถั่ว แต่วิธีแทงอย่างโป เปนของ คนที่มีทุนน้อยชอบเล่น เพราะถั่วกับโปปั่นนายบ่อนยอมให้เล่นเพียงสลึง ๑ เปนอย่างต่ำ แต่โปกำนั้นจะเล่นเพียงเฟื้องฤๅ ๒ ไพก็เล่นได้ จึงมักตั้งวงตอนขอบบ่อนแล้วแต่มีใครจะเล่นนายบ่อนก็ทำให้แทง วิธีเล่นถั่วโปมีแต้มสำหรับแทงแต่ ๔ ประตูเท่านั้น คือแต้มหน่วย (คือ ๑) แต้ม ๒ แต้ม ๓ ครบ (คือ ๔) ที่สำหรับแทงนั้นเอาเสื่อปู แล้วหมายเส้นเปนแกงแนงอย่างนี้ x ช่องล่างตรงที่เจ้ามือนั่ง หมายว่าประตูครบ ช่องข้างซ้ายเจ้ามือหมายว่าประตูหน่วย ช่องบนตรงข้ามกับเจ้ามือหมายว่าประตู ๒ ช่องข้างขวาเจ้ามือหมายว่าประตู ๓ เข้าใจกันซึมทราบไม่ต้องเขียนแต้มบอกไว้ที่เสื่อ ลักษณเล่นถั่วนั้น เจ้ามือเอาเบี้ยราว ๑๐๐ จน ๒๐๐ เบี้ยมากองไว้ข้างน่า คนเล่นประมาณว่าจะออกประตูไหน ก็วางเงินแทงประตูนั้น ตามวิธีแทงที่จะกล่าวต่อไป ข้างน่า เมื่อแทงแล้วเจ้ามือก็นับเบี้ยที่กองไว้แจงออกทีละ ๔ เบี้ย ๆ แล้วปัดไปจนเหลือเศษเปนที่สุด ถ้าเศษ ๑ ฤๅ ๒ ฤๅ ๓ ฤๅ ๔ แต้มไหนก็คือถั่วออกแต้มนั้น โปกำก็แจงเบี้ยทำนองเดียวกัน ผิดกับถั่วแต่ กองเบี้ยน้อยกว่า แลปล่อยให้คนแทงเห็นกองเบี้ยแวบหนึ่ง พอล่อ ให้คาดแต้มแล้ว เอาถ้วยครอบกองเบี้ยเสียมิให้เห็น จนกระทั่ง แทงเสร็จแล้วจึงเปิดถ้วยออกนับเบี้ย ส่วนโปปั่นนั้น มีโปทองเหลือง รูป ๔ เหลี่ยม มีฝาครอบตัวมิดเหมือนกับกล่อง ที่ตัวโปมีช่อง ๔ เหลี่ยมพอใส่ลิ้นโปลงไปเต็มพอดี ไม่ให้ล้นโปพลิกไปทางไหนได้ สิ้นโปนั้นรูปร่างเหมือนลูกบาตสลักทั้ง ๖ ด้าน แลทาสีขาวซีก ๑ แดงซีก ๑ เหมือนกันทั้ง ๖ ด้าน วิธีที่เล่นเจ้ามือเอาลิ้นลงในโปไม่ให้คนแทงเห็น แล้วปิดฝาโปออกมาตั้งให้คนแทง ยอมให้คนแทงปั่นโป ไปตามชอบใจ จนตกลงว่าจะตั้งตลับโปให้ด้านไหนตรงกับแต้มไหนแล้วจึงเปิด ถ้าลิ้นโปซีกขาวตรงกับงไหนแต้มไหน ก็นับว่าโปออก แต้มนั้น วิธีเล่นถั่วโปเปนดังกล่าวมานี้ ส่วนวิธีแทงถั่วโปมี ๕ อย่างด้วยกัน เรียกว่าแทงอ๋ออย่าง ๑ แทงเลี่ยมอย่าง ๑ แทงเหม็งอย่าง ๑ แทงชั้วอย่าง ๑ แทงกั๊กอย่าง ๑ แทงอ๋อนั้น แทงประตูเดียว ถ้าถูกเจ้ามือใช้ ๓ ต่อ ถ้าออกแต้มอื่นเปนกิน

แทงเลี่ยมนั้น แทงประตู ๑ ติดเผื่อประตู ๑ เช่นแทงเลี่ยม ๒ ติด ๓ ถ้าออก ๒ เจ้ามือใช้ ๒ ต่อ ถ้าออก ๓ เป็นเจ๊า (คือเสมอ ตัว) ถ้าออกหน่วย ออกครบจึงกิน จะแทงแต้มไหนติดแต้มไหนแล้วแต่จะเลือกตามชอบใจ แทงเหม็งนั้น แทงประตู ๑ ติดเผื่อ ๒ ประตู ถ้าถูกเจ้ามือใช้แต่ต่อเดียว ถ้าออกแต้ม ๒ ข้างเปนเจ๊า เจ้ามือกินแต่ออกแต้มตรงกันข้ามกับที่แทงประตูเดียว เช่นแทงเหม็ง ๒ ถ้าออก ๒ เปนถูก ออกหน่วย ออกสาม เปนเจ๊า เจ้ามือกินแต่ออกครบประตูเดียว แทงชั้วนั้น แทงประตู ๑ ติดเผื่อ ๒ ประตูอย่างเหม็ง ผิดกันแต่ผู้แทง เลือกประตูให้กิน เช่นแทงชั้ว ๒ ติด ๓ ถ้าออก ๒ ถูก เจ้ามือ ใช้ต่อเดียว ถ้าออก ๓ ออกครบเจ๊า กินแต่ออกหน่วยที่ตรงข้ามกับแต้มติดประตูเดียว แทงกั๊กนั้น แทง ๒ ประตู ถ้าถูกประตูไหนก็ใช้ต่อเดียว เหมือนกัน ถ้าออก ๒ ประตูที่ไม่ได้แทงเปนกิน แต่เดิมวิธีเล่นถั่วยอมให้แทงแต่เหม็งกับกั๊ก มาชั้นหลังให้แทงทั้ง ๕ อย่างเหมือนกับโป เพราะฉนั้นวิธีแทงถั่วกับโป จึงไม่ผิดกัน เมื่อผู้แทงถูก เจ้ามือใช้ทรัพย์ให้ ยังขอชักหัวเบี้ยจากเงินที่ได้เรียกว่าต๋ง เปนส่วนลดราวร้อยละ ๑๐ เพราะฉนั้นจึงกล่าวกันว่า คนที่ไปเล่นถั่วโปนั้น โดยจะแทงถูกทีกินทีเสมอไปก็หมดพก หมดที่ถูก ขุนพัฒน์ต๋งนั้นเอง แต่ฝ่ายขุนพัฒน์นั้น ที่จริงก็มีความยากอยู่ในน่าที่ แลมีทางเสียที่จะต้องระวังอยู่มากหลายอย่าง เบื้องต้นแต่จะต้องคิดอ่านให้คนชอบมาเล่นที่บ่อนของตนให้มาก ถ้าคนพากันเบื่อไม่มาแทงขุนพัฒน์ ก็ต้องฉิบหาย เพราะฉนั้นจึงต้องคิดล่อให้คนมาที่บ่อน เช่นติดตลาด ยี่สารร้านรวงให้ครึกครื้น แลหาเครื่องมโหรศพ มีงิ้วแลลครเปนต้น มาเล่นให้คนดูที่น่าบ่อน ประสงค์จะให้คนไปดูแล้วเลยเข้าไปเล่นเบี้ย แต่ก่อนมาพวกเจ้าของลครหากินได้ด้วยรับเล่นตามบ่อนโดยมาก เรียกว่าเล่นงานเหมา เพราะเขาหาไปเล่นเหมาค่าจ้างกันเปนคราวละ ๗ วัน ๑๐ วันเปนกำหนด ขุนพัฒน์ยังจะต้องตรวจตราดูการในบ่อนของตนด้วยต้องหมั่นไปทุกวัน ต่อมีคนถุงเค้าที่ไว้ใจได้จริง ๆ จึงเว้นได้บ้างเปน ครั้งเปนคราว แต่ถึงอย่างไรก็ต้องระวังรักษาอย่าให้ความฉิบหายในเหตุ ๓ ประการเกิดขึ้นได้ คือ ฉิบหายด้วยธรรมดาเองประการ ๑ ฉิบหายด้วยแพ้ความรู้ผู้อื่นประการ ๑ ฉิบหายด้วยพวกขุนพัฒน์เองเปนไส้ศึกประการ ๑ เหตุ ๓ ประการนี้ ถ้าเกิดมีขึ้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วขุนพัฒน์จำเปนจะต้องแก้ไขด้วยอุบายอันใดให้สงบเรียบร้อยตลอดไปโดยเร็วจงได้ เพราะถ้าทิ้งไว้ช้าก็จะเหมือนแกล้งตัวเองให้รับความฉิบหายมากขึ้นทุกทีเปนลำดับ ๑ ความฉิบหายที่เกิดขึ้นโดยธรรมดาเองนั้น คือที่ถั่วใหญ่ก็ดี โปปั่นโปกำก็ดี บางคราวอาจจะตายลง คือกำออกไปฤๅครอบออกไปทีไร เขาก็พากันแทงถูกไม่มีเวลากินได้ ว่าตามที่เขาถือกัน เขา ว่าเปนเพราะถึงคราวซวย (คือคราวเสีย) ของขุนพัฒน์ เปนเวลาเฮง (คือรวย) ของคนแทง มาประจวบกันเข้าทั้ง ๒ ฝ่าย ตามคราวตามสมัยที่จะเปนได้จริงบ้างเช่นนี้ ลักษณการแก้ไขก็ไม่เห็นมีอุบายอันใดเปนแต่ขุนพัฒน์เห็นว่าเสียลงไปมาก ก็ไปนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นฉันเช้า สะเดาะเคราะห์ฤๅไหว้เจ้าไหว้ผีไปตามที ผลัดเปลี่ยนยักทำไปกว่าจะมีเวลารวยขึ้นได้ ก็ได้ชื่อว่าหมดเคราะห์ฤๅเจ้าฤๅผีซึ่งเปนที่นับถือของเขา ท่านช่วยแล้วก็เปนอันแล้วกัน ความข้อนี้ถ้าว่าตามความเห็นแล้ว ก็เห็นว่าถึงโดยจะไม่ต้องแก้ไขอันใดเลยก็คงกลับมีเวลารวยได้ เพราะการเล่นพนันย่อมมีเวลาได้แลเวลาเสียเปนคู่กันเปนธรรมดาเช่นนี้ทั่วไปทุกอย่าง เพราะฉนั้น ถ้าใครเปนนักเลงเล่นได้ รวยแล้วไม่เลิกเสียยังขืนเล่นอยู่ร่ำไป ก็คง เสียลงบ้างเหมือนกัน อาไศรยความที่เปนธรรมดาเท่านี้ ไม่ต้องทำอะไรเลยก็คงมีเวลารวยขึ้นเอง ขอแต่ให้คนที่เล่นรวยแล้วนั้นกลับมาเล่นร่ำไป ก็คงเสียลงเปนแท้ไม่ต้องสงไสยเลย ๒ ฉิบหายด้วยแพ้ความรู้ผู้อื่นนั้น คือธรรมดานักเลงที่เล่นเสียลงแล้ว ก็ย่อมคิดหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งไปเล่นแก้ตัวร่ำไป เมื่อมีความคิดเห็นช่องทางที่จะรอดตัวได้อย่างใดก็ฝึกหัดไว้ ให้ชำนิชำนาญแล้วจึงไปเล่น ถ้ารวยได้สมประสงค์ก็เลยถือเอาความรู้อันนั้นเปนลัทธิทางที่จะเล่นต่อไป เช่นตัวอย่างที่ข้าพเจ้าจะนำมากล่าวนี้ คือนักเลงบางเหล่าเขามักฝึกหัดวิธีลักเปิดโป ฤๅเปลี่ยนโปจนชำนิชำนาญคล่องแคล่วทุกท่าแล้ว เมื่อไปเล่น เขาลักเปิดโปให้เห็นได้ว่าจะออกแต้มไหน เขาก็รวยทุกครั้ง กระบวนลักเปิดโปนี้คิดประดิษฐ์เปนท่าทางต่าง ๆ เพื่อ ปราถนาจะให้พ้นความไหวพริบของขุนพัฒน์ ถ้าขุนพัฒน์รู้เท่าทันถึงเขา ท่าไหน เขาก็คิดยักเปนท่าอื่นร่ำไป จนมีชื่อเสียงต่างๆ ตามท่านั้น เรียกว่า ท่ามังกรชูแก้วก็มี เสือลากหางก็มี กวางเหลียวหลังก็มี บังบิดแกนก็มี ท้าวแขนขออีแปะก็มี ผ้าแตะบ่าพลัดตกก็มี ยกก้นดูห้อเถาก็มี เหล่านี้ล้วนท่าทางที่ฝึกหัดไว้ลักเปิดโปทั้งนั้น การลักเปิดโปตามท่าทางต่าง ๆ กันนี้ เมื่อคราวแรก ๆ ขุนพัฒน์ฤๅคนทำโปคงไม่รู้เท่าถึงความรู้ของนักเลงเหล่านั้นก่อน เพราะกิริยาอาการที่จะลักเปิดโปโดยท่าทางอย่างใด ก็ไม่สู้ผิดแผกแปลกไปจากกิริยาอาการของคนที่เล่นตามธรรมดานัก เพราะฉนั้นจึงยากที่จะจับไหวพริบได้โดยเร็ว ต่อเมื่อไรได้เห็นเสียหนหนึ่งฤๅสองหนแล้ว นั่นแหละ จึงจะรู้สึกได้ว่ากิริยาอาการอย่างนั้น ๆเปนลัทธิสำหรับลักเปิดโปของคนจำพวกนั้น ๆ เมื่อขุนพัฒน์คนใดถูกเข้ารู้สึกแล้ว ทางที่จะแก้ไขก็มีแต่พาลรีพาลขวางทุบตีจับเอาตัวไว้ แล้วส่งไปยังเจ้าพนักงาน ไม่มีทางอื่นที่จะแก้ไขให้ดีกว่านี้ขึ้นไปได้ การลักเปิดโปนี้เปนทางฉิบหายของ ขุนพัฒน์ได้อย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใคร่จะมีใครลักเปิดได้ เพราะ ขุนพัฒน์รู้เท่าเสียแทบทั้งนั้นแล้ว อิกอย่าง ๑ เรียกว่าการลักเปลี่ยนโป คือ เปลี่ยนลิ้นโปที่เล่น ถ้าเขาเปลี่ยนได้ก็เปนทางฉิบหายสำคัญของขุนพัฒน์เหมือนกันแต่รอดตัวที่เปนการเปลี่ยนได้โดยยาก เพราะต้องมีพวกของขุนพัฒน์เปนใจเล่นด้วย จึงจะลักเปลี่ยนได้ ถ้าลงเปลี่ยนโปได้บ่อนใด ความฉิบหายของขุนพัฒน์บ่อนนั้นก็เปนอย่างร้ายแรงยากที่จะแก้ไขได้ เพราะจะจับไหวพริบอย่างใดก็ไม่ได้สักท่า ต่อเมื่อใดพิจารณาดูที่โปจึงจะรู้ได้ เพราะธรรมดาโปที่คนจำพวกนั้นเอามาเปลี่ยน ย่อมมีกลไกทำไว้สำหรับให้เจ้าของสังเกตุรู้ได้ว่าโปจะออกแต้มไหน เพราะฉนั้นย่อมมีที่แปลกกับโปธรรมดา แต่ความรู้ที่จะลักเปิดโปฤๅลักเปลี่ยนโปนี้ เดี๋ยวนี้ขุน พัฒน์รู้เท่าถึงท่าทางของความรู้ทั้ง ๒ อย่างเสียหมดแล้ว เพราะบอกกิริยาอาการอย่างนั้นๆ เปนความรู้ที่เขาจะลักเปิดโปให้คนทำโปเข้าใจ รู้ไว้ทุกเสื่อ แลเมื่อเวลาเลิกบ่อนก็ให้ถุงเค้าเก็บโปลั่นกุญแจไว้เสียในหีบ ถ้าทำอย่างนี้ทุกวันไปก็เปนพ้นความฉิบหายที่จะมีมาโดยทางนี้ได้ ๓ ที่ฉิบหายเพราะพวกขุนพัฒน์เปนไส้ศึกแก่คนแทงนั้น ก็คือเช่นลักเปลี่ยนโปให้คนแทง ฤๅทำโปรู้แล้วนัดแนะบอกใบ้ให้แก่คน แทง ฤๅกำถั่วใหญ่เบี้ยขึ้นมือรู้ว่าจะออกนั่นออกนี่บอกใบ้แยบคายให้แก่คนแทง เล่นได้เงินไปแล้วแบ่งปันกันตามมากแลน้อยเหล่านี้ก็เปนความฉิบหายสำคัญอิกอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ความฉิบหายอย่างนี้ ดูเหมือนจะร้ายแรงกว่าทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะคนของขุนพัฒน์แต่ละคน ๆ ก็ล้วนเปนคนไว้เนื้อเชื่อใจได้แล้วทั้งนั้น เมื่อมาเกิดขึ้นเช่นนั้น ก็เปนอันเหลือนิสัยที่ขุนพัฒน์จะหยั่งรู้ แลยากที่จะแก้ไข อยู่เอง ต่อเมื่อไรนานไปทราบความระแคะระคายบ้างเล็กน้อย แล ไม่ชอบใจจะไล่เสียฤๅจะชำระทำโทษทัณฑ์กันอย่างใด ก็ได้แต่เท่านั้นเพราะฉนั้นความฉิบหายทางนี้ ขุนพัฒน์จึงต้องระวังรักษาอยู่เปนนิตย์ แลมีความกลัวเกรงมากกว่าทางอื่น ถ้าขุนพัฒน์มีความระวังหนทางแห่งความฉิบหายที่จะมาถึง แลป้องกันไว้ได้ ให้เปนกันตามธรรมดาแล้ว ถึงโดยจะได้เสียมากน้อยเท่าใด การเล่นถั่วโปนี้ขุนพัฒน์ก็คงมีแต่ได้เปรียบคนแทง ไม่มีที่จะขาดทุน แต่ประเพณีข้างฝ่ายคนเล่นนั้น เมื่อแทงเสียมาก็คิดหาอุบายไปเล่นแก้ตัวอิก คิดได้ทางนี้เมื่อไปเล่นเสียมาก็กลับคิดหาอุบายที่จะเล่นทางอื่นต่อไป ก็สมกับคำที่เขาพูดกันว่า " ไม่ได้ด้วยเล่ห์สู้ด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์สู้ด้วยคาถา " คำพูดอย่างนี้เปนตรงกันกับนักเลงเล่นถั่วโปทีเดียว เพราะไปเล่นเสียหนักเข้าก็หันเข้าหาผู้วิเศษที่ยกตนว่าสำเร็จในทางสะระตะ ฤๅบอกกระดานไชย ฤๅมีน้ำมันทาตาเห็นโปแลอะไรต่ออะไรอิกหลายอย่าง เมื่อได้ไปเล่นตามลัทธิของผู้วิเศษแต่อย่างใด ถ้ารวยมาก็ยกย่องสรรเสริญท่านผู้นั้นว่าวิเศษดีในทางนั้น ๆ กิติศัพท์อื้อฉาวไป ก็พากันเอามาเล่นต่อ ๆ ไปอิก ถ้าไปเล่นเสียลงก็สิ้น นับถือ คิดหาผู้วิเศษในทางอื่นต่อไปไม่มีที่สุดลงได้ วน ๆ เวียน ๆ ตามกันไปดังนี้ ถ้าจะมีความคิดเห็นเสียสักนิดเดียวว่า " ของวิเศษ อันใดมีจริงแล้ว ขุนพัฒน์จะกล้ายอมเสียเงินอากร รับตั้งโรงบ่อน เล่นมาได้จนทุกวันนี้แลฤๅ อิกประการ ๑ คนที่ได้ของวิเศษไปเล่นนั้น มีใครที่ร่ำรวยถึงตั้งตัวได้บ้างฤๅไม่ " ถ้าคิดดังนี้ก็จะพากันมีสติไว้ตรวจสอบความจริงดีกว่าอย่างอื่น

เรื่องเลิกบ่อนเบี้ย

ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดแก้ไขวิธีการปกครองพระราชอาณาจักร เริ่มด้วยโปรดให้จัดการ พระคลังก่อนอย่างอื่น พระราชประสงค์ซึ่งจะเลิกบ่อนเบี้ยมีมาแต่แรกจัดการพระคลัง แต่หากขัดข้องอยู่ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือประการ ที่ ๑ เงินภาษีอากรผลประโยชน์แผ่นดินยังตกเรี่ยเสียหายอยู่มาก เงินหลวงที่ส่งมาถึงพระคลังมหาสมบัติไม่พอจ่ายใช้ในราชการ จึงโปรด ให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เมื่อปีกุญ พ.ศ.๒๔๑๘ รวบรวมการภาษี อากร ซึ่งแยกย้ายอยู่หลายกระทรวงต่างกันมาไว้ในกระทรวงพระคลังเพื่อจะจัดการเก็บผลประโยชน์แผ่นดินให้ได้มากขึ้น ถ้าจะเลิกฤๅจะลดบ่อนเบี้ยในเวลาเงินผลประโยชน์แผ่นดินยังได้น้อย ก็จะกลับขาดผลประโยชน์แผ่นดิน เปนปรปักษ์แก่การที่จัดอยู่ในเวลานั้น จึงต้องรอ ไว้ก่อน ประการที่ ๒ ในเวลาต่อมา เมื่อการหอรัษฎากรพิพัฒน์ค่อยเปนรเบียบเรียบร้อย เงินภาษีอากรก็ทวีขึ้น แต่การที่จะเลิกบ่อน เบี้ยก็กลับยากขึ้น ด้วยเปนอากรประเภทที่เงินมาก เจ้าพนักงานในกระทรวงพระคลังไม่กล้ารับผิดชอบคิดลดเลิกบ่อนเบี้ย ด้วยเกรงเงินพระคลังจะไม่พอใช้จ่ายราชการแผ่นดิน เพราะเมื่อจัดการบ้านเมือง มาโดยลำดับ ถึงได้เงินผลประโยชน์แผ่นดินมากขึ้น รายจ่ายใช้ ราชการต่างๆ ก็มากขึ้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้การที่จะเลิกบ่อนเบี้ยจึงต้องรอมาอิกตอน ๑ จนถึงปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ ในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จดำรงตำแหน่งอธิบดี๑ กระทรวงพระคลัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เปนรองอธิบดี กราบบังคมทูลรับที่จะคิดอ่านลดบ่อนเบี้ยลงตามพระราชประสงค์มิให้ขัดขวางแก่ประโยชน์ของราชการบ้านเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศเมื่อณวันอังคาร เดือนอ้ายแรม ๑๓ ค่ำ ปีกุญ จุลศักราช ๑๒๔๙ พ.ศ. ๒๔๓๐ กำหนดการลดบ่อนเบี้ยในปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ ดังนี้ ประกาศหอรัษฎากรพิพัฒน์

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ อธิบดีที่ ๑ ในกรมพระคลังมหาสมบัติ รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า การเล่นพนัน ต่าง ๆ ซึ่งชาวสยามเคยเล่นเปนการสนุก แลแข่งขันพนันกันด้วย ทรัพย์สมบัติพัสดุเงินทองต่าง ๆ นั้น ที่เปนการพนันของชาวสยาม แท้ก็มีแต่วิ่งม้า วิ่งวัว ชนนก ชนไก่ ชนปลา แลไพ่ต่าง ๆ เหล่านี้ เปนต้น การเล่นโปถั่วนั้นเปนวิชาพนันของจีน พวกจีนพากันเข้ามาพึ่งพระบรมเดชานุภาพอาไศรยทำมาหากินอยู่ในกรุงสยาม ได้ความผาศุกหากินอยู่ตามภูมลำเนาแล้ว พากันก่อการเล่นโปถั่วซึ่งเปนวิชาถนัดของตนขึ้น ชักชวนคนไทยให้หลงเล่นไปด้วย ทำให้เปนการเสียทรัพย์ ๑ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังเปนแต่อธิบดี พึ่งเลื่อนขึ้นเปนเสนาบดี ต่อ ร.ศ. ๑๑๑ พร้อมกับเสนาบดีที่ตั้งใหม่อิกหลายกระทรวงเสียเวลาเสียประโยชน์การค้าขาย แลทำให้สันดานหมกมุ่นไปในสิ่ง ซึ่งหาประโยชน์มิได้ เปนการร้ายแรงยิ่งกว่าการเล่นซึ่งชาวสยาม เคยเล่นกันมา เพราะฉนั้นโปถั่ววิชาของจีนนี้ เปนวิชาอุปเท่ห์ที่มา ชวนคนไทยให้เสียประโยชน์ บัดนี้ในแขวงกรุงเทพฯ มีโรงบ่อนใหญ่น้อยตั้งเล่นโปถั่วอยู่ในถนนใหญ่น้อย แลแลวกตรอกลำน้ำลำคลองต่างๆ เปนอันมาก แล ยังมีบ่อนย่อยเล็กน้อยเที่ยวตั้งแสวงหาผู้เล่นอยู่อิกมากกว่ามาก ได้ความตามบาญชีเจ้าพนักงานกรมพระคลังสินค้าว่า ในแขวงกรุงเทพ ฯ นี้ มีบ่อนใหญ่ตั้งเล่นโปถั่วประจำอยู่ ๑๒๖ ตำบล แลยังมีบ่อนย่อยเล็ก ๆ อิกประมาณ ๒๗๗ ตำบล แต่ประมาณมิได้แน่ เพราะบางทีตั้งเล่น อยู่แต่ ๑๕ วันบ้าง เดือนหนึ่ง ๒ เดือน ๓ เดือนบ้าง แล้วเลิกเสีย ฤๅบางทีเล่นอยู่ตลอดปีบ้าง อาไศรยเที่ยวเร่แสวงหาผู้เล่นในหมู่ประชุมชนได้ความดังนี้ จึงทรงพระราชดำริห์ว่าการพนันคือโปถั่ววิชาของจีน ซึ่งเห็นว่าเปนของชั่วชวนชาวสยามให้ประพฤติตนเปนนักเลงหลงเล่นอยู่ ทำให้เสียประโยชน์นี้ ควรจะผันผ่อนห้ามปรามเสียให้น้อยเบาบางจนเลิกเสียทั้งสิ้นได้โดยความเรียบร้อย แต่ครั้นจะห้ามปรามให้เปนการเด็ดขาดให้เลิกเสียทีเดียวในขณะเดียว พวกจีนซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรม เดชานุภาพอาไศรยทำมาหากินอยู่ในกรุงสยามเคยประพฤติชอบเล่นโปถั่ว ซึ่งเปนการพนันสำหรับชาติอยู่จะได้ความร้อนลำบาก อาไศรยพระราชดำริห์ซึ่งทรงพระมหากรุณาแก่หมู่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เพื่อจะมิให้ชาวสยามริเปนนักเลงหลงเล่นการพนันโปถั่วเพลิดเพลินไปให้เสียประโยชน์ แลมิให้เปนที่เดือดร้อนแก่พวกจีนซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมเดชานุภาพอาไศรย ทำมาหากินอยู่ในกรุงสยามได้ความเดือดร้อน จึงมีพระบรมราชโองการ มาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรม พระจักรพรรดิพงศ์ อธิบดีที่ ๑ ในกรมพระคลังมหาสมบัติ มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานกรมพระคลังสินค้า ไปกะที่โรงบ่อนซึ่งเล่นถั่วอยู่ใน แขวงกรุงเทพฯ ให้คงไว้เปนที่เล่นของพวกจีนนักเลงซึ่งเคยเล่นบ้าง พอสมควร นอกนั้นห้ามให้เลิกเสียมิให้เล่นต่อไป คือบ่อนใหญ่ตั้งเล่นโปถั่ว ๑๒๖ นั้น ให้คงเล่นอยู่แต่ ๖๗ ตำบล ให้เลิกเสีย ๕๙ ตำบล แลบ่อนย่อยอิกประมาณ ๒๗๗ ตำบล ซึ่งเหลือประมาณนั้นให้เลิกเสียให้หมด ต่อไปห้ามมิให้เล่นเปนอันขาด แลโรงบ่อนซึ่งอนุญาตให้ คงเล่น เคยตั้งเล่นอยู่ที่สถานใด ก็ให้ตั้งเล่นอยู่ในที่นั้น มิให้ ย้ายแขวงตำบลไปได้ กำหนดให้เปิดการเล่นแต่เวลาโมงเช้าจน ถึงเวลา ๕ ทุ่ม แลเวลาที่เล่นนั้นให้มีโปลิศประจำอยู่ทุกบ่อน เพื่อ มิให้จีนเจ้าของบ่อนทำความบังอาจล่วงเกินสิ่งใดแต่โดยอำนาจของเจ้าของบ่อนนั้น การที่จะจัดให้เลิกโรงบ่อนนี้ กำหนดจะได้ลงมือตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕ ปีชวดยังเปนนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ แลต่อไปนั้นถ้าถึงวันกำหนดแล้ว ผู้หนึ่งผู้ใดบังอาจเล่นการพนันโปถั่วในที่ห้าม คือ ที่ให้เลิกเสียฤๅในที่ที่ไม่ได้อนุญาตให้เล่น จับตัวได้พิจารณาเปนสัตย์ ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดกฎหมาย ประกาศมาณวันอังคาร เดือน ๑ แรม ๑๓ ค่ำ ปีกุญนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ เปนวันที่ ๖๙๖๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ตามประกาศปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ นี้ ลักษณอากรบ่อนเบี้ยแก้ไขหลายอย่าง คือ (๑) เดิมในจังหวัดกรุงเทพ ฯ (รวมทั้งเมืองนนทบุรีอันเขตร คาบเกี่ยวกับกรุงเทพ ฯ นั้น) มีจำนวนบ่อนเบี้ย ๔๐๓ บ่อน เลิกเสีย ๓๓๖ บ่อน คงให้เล่นต่อไปแต่ ๖๗ บ่อน แลบ่อนทั้ง ๖๗ บ่อนนี้ให้มี ที่ตั้งเปนกำหนด คือ บ่อนเบี้ยในบริเวณพระนคร ๑๓ ตำบล๑ ๑ ท่าพระ ๒ แพลอยหลังวัดชะนะสงคราม ๓ บางลำภู ๔ ริมโรงหวย (น่าวังบุรพา) ๕ นอกกำแพง (อยู่ตรงกับวัดบรินายก) ๖ วัดราชบุรณ (ริมวังกรมพระเทเวศร์) ๗ ท่าเตียน ๘ โรงม้า (เดิมอยู่ริมสพานช้างโรงสี แล้วย้ายไป อยู่ถนนเฟื่องนครเมื่อทำโรงทหาร) ๑ ชื่อตำบลที่เรียนในหนังสือราชกิจจานุเบกษา รู้ไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหนหลายแห่ง ถามได้อธิบายจาก พระยาสุนทรพิมลบ้าง พระอนุวัตน์ราชนิยมบ้าง พระอักษรสมบัติบ้าง๙ ตลาดเสาชิงช้า ๑๐ บ้านลาว (สี่แยกถนนเจริญกรุง) ๑๑ บ้านหม้อ ๑๒ คอกโค (ริมบ้านแขก) ๑๓ ท้องน้ำ (แพจอดปากคลองหลอดริมท่าช้างวังน่า) บ่อนเบี้ยในท้องสำเพ็ง ๑๐ ตำบล ๑๔ สพานหัน ๑๕ สำเพ็ง (กงสีล้ง) ๑๖ มาเกงอ๋าว (ตรอกเว็จขี้) ๑๗ ตลาดเข้าสาร ๑๘ ศาลเจ้าเก็งเอียะ (ศาลเจ้าต้นไทร) ๑๙ ศาลเจ้าเก่า ๒๐ เล่งบวยเอี๋ย (ตรอกเจ๊สัวเนียม) ๒๑ ตลาดน้อย ๒๒ เซียนกง (เหนือวัดสำเพ็ง) ๒๓ ศาลเจ้าเนียกง บ่อนเบี้ยนอกพระนครข้างทิศตวันออก ๘ ตำบล ๒๔ บ้านบาตร ๒๕ ริมวัดสระเกษ ๒๖ สวนมลิ

๒๗ ริมวัดสามง่าม ๒๘ บ้านตากแดด (คลองผดุง ใกล้สี่แยกมหานาค) ๒๙ บ้านหัวหมาก (คลองแสนแสบ) ๓๐ ริมวัดบำเพ็ญ (คลองแสนแสบ) ๓๑ คลองจั่น (คลองแสนแสบ) บ่อนเบี้ยนอกพระนครข้างทิศใต้ ๑๔ ตำบล ๓๒ สพานเหล็ก (สพานดำรงสถิตย์) ๓๓ ริมวัดสามจีน (หัวลำโพง) ๓๔ บ้านทวาย ๓๕ ริมวัดแก้วฟ้า (เชิงสพานพิทยเสถียร) ๓๖ บางรัก ๓๗ ริมวัดทองธรรมชาติ ๓๘ บางน้ำชน ๓๙ ดาวคะนอง ๔๐ ท้ายถนนตก ๔๑ บางโคล่ ๔๒ บางแจงร้อน ๔๓ บางราชบุรณะ ๔๔ บางขุนเทียร ๔๕ บางเชือกหนัง

บ่อนเบี้ยนอกพระนครข้างทิศตวันตก ๑๓ ตำบล ๔๖ บ้านขมิ้น ๔๗ ริมวัดอรุณ ๔๘ คลองบางกอกใหญ่ (ตลาดพลู) ๔๙ คลองบางกอกน้อย (แพจอดปากคลอง) ๕๐ ริมวัดบุบผาราม ๕๑ น่าเก๋ง (แพจอดใต้วัดกัลยาณมิตร) ๕๒ สพานหก (คลองบางกอกใหญ่) ๕๓ ซินกั๋ง (คลองภาษีเจริญ) ๕๔ บ้านหนองแขม (คลองภาษีเจริญ) ๕๕ บางระมาด ๕๖ ริมวัดไชยพฤกษมาลา ๕๗ บางคูเวียง บ่อนเบี้ยนอกพระนครข้างด้านเหนือ ๑๐ ตำบล ๕๘ บางยี่ขัน ๕๙ สามเสน ๖๐ บางกระบือ ๖๑ บางโพธิ์ ๖๒ สี่แยกบางซื่อ ๖๓ สี่แยกบางเขน

๖๔ บางกรวย ๖๕ ตลาดขวัญ ๖๖ คลองเกร็ด ๖๗ บ้านกระแชง (๒) เดิมอากรบ่อนเบี้ยผูกเปนแขวง นายอากรจะตั้งบ่อนกี่บ่อนแลจะตั้งที่ตำบลไหนในแขวงของตนก็ตั้งได้ตามชอบใจ ที่แก้ใหม่ให้ ผูกอากรเปนตำบลแลเฉภาะบ่อนเดียว นายอากรผูกบ่อนตำบลไหนเล่นได้แต่ในบ่อนตำบลนั้น จะไปเล่นเบี้ยนอกบ่อน ฤๅเล่นเปนหลายบ่อน ไม่ได้ ฝ่ายข้างราษฎรจะเล่นเบี้ยก็ต้องไปเล่นที่ในบ่อน จะหานายอากรไปติดบ่อนที่บ้านเรือนดังแต่ก่อนไม่ได้ การที่จะกำหนดเขตรแขวงของนายอากรบ่อนเบี้ย ยังคงใช้แต่สำหรับอนุญาตอากรการพนัน ซึ่ง ยังรวมอยู่กับอากรบ่อนเบี้ยด้วยกัน ๓ แต่ก่อนมานายอากรจะเล่นเบี้ยเวลาใดใดก็เล่นได้ ที่แก้ใหม่ให้เปิดบ่อนเล่นเบี้ยได้แต่เวลาโมงเช้า (๗ ก.ท.) จน ๕ ทุ่ม (๑๑ ล.ท.) ต้องเลิก ๔ ห้ามไม่ให้ราษฎรเล่นถั่วโปกันในเวลานักขัตฤกษ์ตรุษสงกรานต์ ดังแต่ก่อน การที่จัดแก้ไขอากรบ่อนเบี้ยเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ ดังกล่าวมาเปนการเปลี่ยนแปลงแต่เฉภาะบ่อนเบี้ยที่ในกรุงเทพฯ ส่วนบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองทั้งปวงยังให้คงเปนไปตามเดิม เพราะเวลานั้นยังไม่ได้ ลงมือจัดการเทศาภิบาลในหัวเมือง แลรัฐบาลประสงค์จะทดลองดู เสียชั้นหนึ่งก่อน ว่าเงินอากรบ่อนเบี้ยจะตกสักเท่าใด ถ้าไม่ตกมากเกินประมาณไป ก็จะได้คิดลดบ่อนเบี้ยให้ติดต่อกันไปอิก ครั้นจัดการแก้ไขแล้วเห็นเงินอากรบ่อนเบี้ยไม่ตกมากนัก จึงได้ตกลงเปนยุติว่า ต่อไปจะเลิกบ่อนเบี้ยปีละ ๑๐ บ่อนเปนกำหนด ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๐๘ ตรงกับปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้ประกาศเลิกบ่อนเบี้ยในจังหวัดกรุงเทพฯ อิก ๑๐ ตำบล คือ ๑ ตำบลคอกโค ในบริเวณพระนคร ๒ ตำบลริมวัดบุบผาราม ๓ ตำบลริมวัดทองธรรมชาติ ๔ ตำบลริมวัดบำเพ็ญ ๕ ตำบลบ้านตากแดด ๖ ตำบลบ้านหัวหมาก ๗ ตำบลบางกระบือ ๘ ตำบลบ้านหนองแขม ๙ ตำบลบ้านแจงร้อน ๑๐ ตำบลบางโคล่ คงเหลือบ่อนเบี้ยในจังหวัดกรุงเทพฯ ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ รวม ๕๗ ตำบล

ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ เลิกบ่อนในจังหวัดกรุงเทพฯ อิก ๑๐ ตำบล คือ ๑ ตำบลโรงม้า ในบริเวณพระนคร ๒ ตำบลริมวัดราชบุรณะ ในบริเวณพระนคร ๓ ตำบลแพลอยหลังวัดชนะสงคราม ในบริเวณพระนคร ๔ ตำบลบ้านบาตร ๕ ตำบลสวนมลิ ๖ ตำบลศาลเจ้าเนียกง ๗ ตำบลบางน้ำชน ๘ ตำบลดาวคะนอง ๙ ตำบลบางเชือกหนัง ๑๐ ตำบลสี่แยกบางซื่อ คงเหลือบ่อนเบี้ยในจังหวัดกรุงเทพฯ ในปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ รวม ๔๗ ตำบล ในรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ หาได้เลิกบ่อนเบี้ยไม่ เพราะรัฐบาลกำลังคิดวิธีใหม่ เหตุที่จะคิดวิธีใหม่นั้น เพราะมีนายอากรบ่อนเบี้ยพากันมาร้องต่อเจ้าพนักงานพระคลังว่า บ่อน ที่ให้ผูกอยู่ในท้องที่ไม่เหมาะแก่การอากรบ้าง โรงบ่อนเล็กไม่พอแก่การเล่นบ้าง นายอากรจะแก้ไขอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยโรงบ่อนเปนของ เชลยศักดิ์ นายอากรเปนแต่เช่าทำอากรไปชั่วปี ๑ ๆ รัฐบาลจึงคิดจะจัดการใหม่ คือจะทำเปนโรงบ่อนของหลวงให้นายอากรเช่า สร้างให้ใหญ่โตมั่นคงพอแก่การ แลเลือกที่สร้างให้เหมาะแก่การอากรให้ ทุกแห่ง แต่รัฐบาลคิดเห็นอยู่อิกส่วน ๑ ว่า ถ้าสร้างโรงบ่อนให้ดี ขึ้นเช่นนั้น คงจะยั่วให้คนเล่นเบี้ยมากขึ้น รัฐบาลสิประสงค์จะเลิกบ่อนเบี้ย จะกลับไปบำรุงให้ยิ่งเจริญขึ้นก็หาควรไม่ จึงยุติว่าจะสร้างบ่อนหลวงให้มีแต่น้อยบ่อน แล้วเลิกบ่อนอื่นเสียให้หมด ให้เงินอากร ที่จะขึ้นทางบ่อนหลวงพอกลบลบกับจำนวนเงินที่จะขาดเพราะเลิกบ่อนอื่นโดยจะขาดก็อย่าให้มากนัก การสร้างบ่อนหลวงต้องทำอยู่ตลอดปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงมิได้เลิกบ่อนด้วยเหตุนี้ ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ จัดการใหม่ดังกล่าวมา เลิกบ่อนบรรดาอยู่ในบริเวณพระนครทั้งหมด แลเลิกบ่อนที่อื่น ๆ ในจังหวัดกรุงเทพฯ อิกหลายตำบล รวมจำนวนบ่อนที่เลิกในปีนี้ ๓๑ ตำบล ให้คงเล่นเบี้ยแต่ในบ่อนของหลวง ๑๖ บ่อน คือ ๑ บ่อนสพานหัน (บ่อนหัวเม็ด) ๒ บ่อนท้องสำเพ็ง ๓ บ่อนตลาดน้อย ๔ บ่อนตลาดเข้าสาร ๕ บ่อนสพานเหล็ก ๖ บ่อนเล่งบวยเอี๋ย ๗ บ่อนหัวลำโพง

๘ บ่อนบ้านทวาย ๙ บ่อนบางรัก ๑๐ บ่อนคลองบางกอกใหญ่ (ตลาดพลู) ๑๑ บ่อนบางระมาด ๑๒ บ่อนบ้านขมิ้น ๑๓ บ่อนบางลำภู (ภายหลังเรียกบ่อนตลาดนางเลิ้ง) ๑๔ บ่อนสามเสน ๑๕ บ่อนตลาดขวัญ ๑๖ บ่อนปากเกร็ด การแก้ไขคราวนี้ นอกจากลดจำนวนบ่อน ยังมีอย่างอื่นอิก ๒ อย่าง คือ ให้เลิกปี้มิให้ใช้ แลมิให้นายอากรทำปี้อิกต่อไปอย่าง ๑ ห้ามมิให้นายอากรยอมให้เด็กเล่นเบี้ยอย่าง ๑ ในระหว่าง ร.ศ.๑๑๒ จน ร.ศ. ๑๑๖ คือแต่ปีมเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ จนปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ ไม่ได้มีการแก้ไขอากรบ่อนเบี้ย ด้วยรัฐบาลเห็นว่าบ่อนในกรุงเทพฯ ได้ลดถึงที่ชั้น ๑ แล้ว แต่บ่อนเบี้ยทางหัวเมืองยังไม่ได้จัดการลดหย่อนลงอย่างไรเลย เห็นว่าในชั้นนี้ควรจะจับลดเลิกบ่อนเบี้ยออกไปถึงหัวเมือง แต่หัวเมืองพึ่งลงมือจัดแก้ไขวิธีปกครองเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ คือปีมเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงต้องรอการเทศาภิบาลให้พอลงระเบียบเรียบร้อยก่อน

อนึ่งในปีมเสงนี้กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เสด็จออกจากตำแหน่งในกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงพระคลังในระหว่างนั้นรับราชการอยูไม่ช้าต้องย้ายไปกระทรวงอื่น จนปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยเปนเสนาบดีกระทรวงพระคลัง จึงจับจัดการแก้ไขอากรบ่อนเบี้ยต่อมาอิกตอน ๑ ในรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ตรงกับปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ อาไศรยเหตุที่ได้รวมเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ เมืองนนทบุรี เมืองประทุมธานี เข้าในเทศาภิบาลมณฑลกรุงเทพฯ จึงเลิกบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ ทั้งหมด คงไว้แต่ที่เมืองสมุทรปราการบ่อน ๑ ที่ปากลัดเมืองนครเขื่อนขันธ์บ่อน ๑ บ่อนทั้งมณฑลกรุงเทพฯ จึงมีแต่ ๑๘ บ่อนด้วยกัน ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๑๗ ตรงกับปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ ลงมือเลิกบ่อนหัวเมืองแต่ปีนี้ คือ มณฑลนครศรีธรรมราช เลิกบ่อนเบี้ยหมดทั้งมณฑล มณฑลชุมพร เลิกบ่อนเบี้ยหมดทั้งมณฑล มณฑลกรุงเก่า เดิมมีบ่อนเบี้ย ๗๑ ตำบล เลิกเสีย ๒๒ ตำบล คงอยู่ ๔๙ ตำบล มณฑลนครไชยศรี เดิมมีบ่อนเบี้ย๑๘ ตำบล เลิกเสีย ๒ ตำบล คงอยู่ ๑๖ ตำบล

มณฑลนครสวรรค์ เดิมมีบ่อนเบี้ย ๒๖ ตำบล เลิกเสีย ๘ ตำบล คงอยู่ ๑๘ ตำบล มณฑลพิศณุโลก เดิมมีบ่อนเบี้ย ๑๕ ตำบล เลิกเสียตำบล ๑ คงอยู่ ๑๔ ตำบล มณฑลปราจิณ เดิมมีบ่อนเบี้ย ๓๓ ตำบล เลิกเสีย ๗ ตำบล คงอยู่ ๒๖ ตำบล๑ มณฑลนครราชสิมา เดิมมีบ่อนเบี้ย ๑๑ ตำบล เลิกเสีย ๔ ตำบล คงอยู่ ๗ ตำบล มณฑลจันทบุรี เดิมมีบ่อนเบี้ย ๒๖ ตำบล เลิกเสีย ๒ ตำบล คงอยู่ ๒๔ ตำบล มณฑลราชบุรี มณฑลภูเก็จ มณฑลบุรพา มณฑลอุดร ๔ มณฑลนี้ยังหาได้ลดไม่ จำนวนบ่อนเบี้ยหัวเมืองที่ได้เลิกเมื่อปีจอ พ.ศ ๒๔๔๑ รวมเลิก ๒ มณฑล กับบ่อนอิก ๔๖ ตำบล แลจัดการบ่อนหัวเมืองให้เหมือนกรุงเทพฯ คือให้เล่นได้แต่ที่ในบ่อนแห่งเดียวเปนต้น ถึงรัตนโกสินทร ศก ๑๑๘ ตรงกับปีกุญ พ.ศ. ๒๔๔๒ เลิกบ่อนในกรุงเทพฯ ๒ ตำบล คือ บ่อนตลาดเข้าสารตำบล ๑ บ่อนตลาด สำเพ็งตำบล ๑ ๑ จำนวนบ่อนเบี้ยมีอยู่เดิมในมณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครไชยศรี มณฑลพิศณุโลก มณฑลปราจิณ มณฑลจันทบุรี ตามที่ลงไว้ไม่แน่นักถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ตรงกับปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ ลงมือ จัดการแก้ไขอากรการพนัน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ อากรการพนันนี้เดิมรวมอยู่ในอากรบ่อนเบี้ย คือนายอากรบ่อนเบี้ยเปนผุ้เก็บอากรการพนันในแขวงบ่อนเบี้ยของตนด้วย ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงแก้ไขลักษณการปกครองพระราชอาณาจักร มีพระราชประสงค์จะเลิกวิธีที่ให้มีผู้ รับเหมาผูกขาดไปเก็บภาษีอากรเบียดเบียฬหากำไรจากราษฎรจึงโปรดให้จัดกรมสรรพากรเปนพนักงานเก็บภาษีอากร กรมสรรพากรในเก็บภาษีอากรในมณฑลกรุงเทพฯ กรมสรรพากรนอกเก็บภาษีอากรใน หัวเมืองมณฑลอื่นทั่วไป แล้วให้ส่งภาษีอากรเคยให้มีเจ้าภาษี นายอากรรับผูกขาดมายังกรมสรรพากรเปนอย่าง ๆ โดยลำดับมา ใน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นี้ โปรดให้ยกอากรการพนันตามหัวเมืองหาให้กรมสรรพากรนอกจัดเก็บ แลต่อมาถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๒ โปรด ให้ยกอากรการพนันในมณฑลกรุงเทพฯ มาให้กรมสรรพากรในเปนพนักงานเก็บ แลโปรดให้แก้ไขวิธีอากรการพนัน คงเก็บเงินอากร แต่การเล่นซึ่งได้เสียกันมากๆ เช่นเล่นไพ่เปนต้น ส่วนการเล่นอันเปนเครื่องรื่นเริงสำหรับมหาชน ดังเช่นวิ่งม้า วิ่งวัวคนแลแข่งเรือเปนต้นนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้เอาออกจากอากร ปล่อยให้ราษฎรเล่นได้ตามชอบใจหลายอย่าง ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๔๖ ต้องกลับตั้งบ่อนเบี้ยขึ้นในมณฑลนครศรีธรรมราชกับมณฑลชุมพรอิก แต่ให้ แก้ลักษณบ่อนเบี้ยในมณฑลภูเก็จ อันยังมิได้ลดหย่อนมาแต่ก่อนให้เปนแบบเดียวกันทั้ง ๓ มณฑล เหตุที่จะต้องกลับตั้งบ่อนเบี้ยแลจัดการแก้ไขดังกล่าวมานี้ เกิดแต่เรื่องจีนกุลีไม่เต็มใจมาทำเหมืองแร่ดีบุก ในหัวเมืองมณฑลเหล่านั้น เพราะไม่มีบ่อนเบี้ย ด้วยวิไสยพวกจีน กุลีที่ทำการขุดแร่หาแร่อยู่ตามเหมือง เวลาว่างการเคยเล่นเบี้ยเปน การรื่นเริงสำหรับแก้รำคาญ ครั้นห้ามเล่นเบี้ยเสียพวกจีนกุลีก็พากันรวนเรไม่อยากจะอยู่ทำเหมืองแร่ จึงโปรดให้จัดการใหม่ คือ ให้ มีบ่อนเบี้ยแต่เฉภาะตำบลที่มีจีนกุลีอยู่ทำเหมืองมาก ๆ มิให้มีบ่อนในที่อื่นนอกจากนั้น แลให้เล่นเบี้ยได้แต่จีน นอกจากจีนมิให้ใครเล่นเหมือนกันทั้ง ๓ มณฑล แต่ผ่อนให้เล่นอย่างนี้เพียง ๒ ปี ต่อมาเทศาภิบาลคิดหาการเล่นอย่างอื่น มีต่อแต้มแลไพ่ผ่องเปนต้น ให้จีนกุลีเล่นแทนถั่วโปได้ ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ ตรงกับปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองอิก ให้เลิกหมดทีเดียว ๗ มณฑล ลดบ่อนเบี้ยลง ๔ มณฑล คือ มณฑลภูเก็จ เลิกหมดทั้งมณฑล มณฑลนครศรีธรรมราช เลิกหมดทั้งมณฑล มณฑลชุมพร (คือมณฑลสุราษฎร์) เลิกหมดทั้งมณฑล มณฑลพิศณุโลก เลิกหมดทั้งมณฑล มณฑลจันทบุรี เลิกหมดทั้งมณฑล มณฑลบุรพา เลิกหมดทั้งมณฑล มณฑลอุดร เลิกหมดทั้งมณฑลมณฑลกรุงเก่า เลิก ๒๒ ตำบล มณฑลนครไชยศรี เลิก ๕ ตำบล มณฑลราชบุรี เลิก ๗ ตำบล มณฑลปราจิณบุรี เลิก ๑๐ ตำบล ในมณฑลกรุงเทพฯ ก็โปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยในปีมะเสงนั้นอิก ๕ บ่อน คือ ๑. บ่อนบางระมาด ๒. บ่อนตลาดขวัญ ๓. บ่อนปากเกร็ด ๔. บ่อนปากลัด ๕. บ่อนเมืองสมุทปราการ ยังคงเหลือบ่อนเบี้ยในมณฑลกรุงเทพฯ ๑๓ บ่อน หัวเมืองยังมีบ่อนเบี้ยอยู่ ๔ มณฑล เปนจำนวนบ่อนเบี้ยหัวเมืองเหลืออยู่หมดด้วยกัน ๒๒ บ่อน ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ตรงกับปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ โปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยที่ยังมีอยู่ในหัวเมืองหมดทุกมณฑล คงเหลือบ่อนเบี้ยแต่ในจังหวัดกรุงเทพฯ ๑๓ บ่อน เพราะฉนั้นเปนอันหมดสิ้นบ่อนเบี้ยในหัวเมืองแต่ปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ มา ถึงตอนนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนารถ เปนเสนาบดีกระทรวงการคลังฯ

ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ตรงกับปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ เปนปีที่สุดในรัชกาลที่ ๕ บ่อนเบี้ยซึ่งยังเหลืออยู่แต่ในกรุงเทพฯ ๑๑ ตำบลนั้น โปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยที่บ้านขมิ้นตำบล ๑ กับบ่อนเบี้ยที่บ้านทวายตำบล ๑ รวมเปน ๒ บ่อน ยังเหลือบ่อนเบี้ยมีต่อมาในรัชกาลปัตยุบันนี้ ๙ บ่อน ในรัชกาลปัตยุบันนี้ พระบาทสมเด็จอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้คงจัดการที่จะเลิกบ่อนเบี้ยต่อมา ในรัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ตรงกับปีกุญ พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลิกบ่อนเบี้ยที่ตลาดน้อยบ่อน ๑ กับบ่อนเบี้ยที่คลองบางกอกใหญ่บ่อน ๑ รวมเปน ๒ ตำบล ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ โปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยที่สามเสนบ่อน ๑ กับบ่อนเบี้ยที่สพานหันอิกบ่อน ๑ รวมเปน ๒ ตำบล จึงเหลือบ่อนเบี้ยต่อมาแต่ ๕ ตำบล คือ ๑. บ่อนบางรัก ๒. บ่อนหัวลำโพง ๓. บ่อนเล่งบวยเอี๋ย ๔. บ่อนสพานเหล็ก ๕. บ่อนตลาดนางเลิ้ง ในระหว่างปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ จนปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ หาได้เลิกบ่อนเบี้ยไม่ เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังเตรียมการที่จะเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยให้หมดไปด้วยกัน จำนวนเงินหลวงจะต้องขาดถึงปีละ ๖,๗๕๕,๒๗๖ บาท จำต้องรวมเงินเหลือจ่ายประจำปีเตรียมไว้ทดแทนเงินที่จะตก จนกว่าผลประโยชน์แผ่นดินจะเจริญขึ้นในทางอื่น จึงต้องรอมาจนปีมโรง พ.ศ.๒๔๕๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลิกหวย เลิกหวยแล้วปี ๑ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิก บ่อนเบี้ยพร้อมกันหมดทั้ง ๕ ตำบล แลทรงตั้งพระราชบัญญัติ ห้ามมิให้ใครเล่นหวยเล่นถั่วโปในพระราชอาณาจักรต่อไปเปนอันขาด อากรบ่อนเบี้ยมีมาในเมืองไทย ตั้งแต่แรกตั้งขึ้นจนกระทั่งเลิกถ้าจะประมาณเวลาก็ราวสัก ๑๘๐ ปี เงินอากรได้เปนของหลวงอย่างสูงที่สุดเคยได้ในรัชกาลที่ ๕ ถึงปีละ ๖,๘๗๙,๕๒๖ บาท แต่ก็ไม่เปนเหตุซึ่งจะเปลี่ยนแปลงกระแสพระราชดำริห์ที่จะเลิกบ่อนเบี้ยทั้งปวงเสีย โดย มีพระราชประสงค์จะให้ไพร่บ้านพลเมืองได้เงินไว้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพให้เปนประโยชน์แก่ตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ลดจำนวนบ่อนเบี้ยโดยลำดับมาทั้ง ๒ รัชกาล ยอมให้เงินอากรตกต่ำลงโดยลำดับมา จนถึง ๒,๘๘๖,๔๓๑ บาท ในปีที่สุดซึ่งมีบ่อนเบี้ย ก็ทรงสละขาดพระราชทานแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยพระมหากรุณา อากรบ่อนเบี้ยจึงได้เลิกหมดสิ้นกรุงสยามเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ปีมเสง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ด้วยประการฉนี้แล

ตำนานหวย ว่าด้วยเหตุที่จะเกิดเล่นหวยในเมืองไทย

วิธีเล่นหวยเกิดขึ้นในเมืองจีนดังกล่าวมาข้างต้น เกิดขึ้นแล้วไม่ช้าก็เข้ามาถึงเมืองไทย เรื่องมูลเหตุที่จะตั้งอากรหวยขึ้นในเมืองไทย มีในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ดังนี้ ว่า "เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีเถาะ (พ.ศ. ๒๓๗๔) น้ำมาก เมื่อปีมะโรง (พ.ศ. ๒๓๗๕) น้ำน้อยเข้าแพงต้องซื้อเข้าต่างประเทศเข้ามาจ่ายขาย คนก็ไม่มีเงินจะซื้อเข้ากิน ต้องมารับจ้างทำงานคิดเอาเข้าเปนค่าจ้างเจ้าภาษีนายอากรก็ไม่มีเงินจะส่งต้องเอาสินค้าใช้ค่าเงินหลวง ที่สุดจนจีนผูกปี้ก็ไม่มีเงินจะให้ ต้อง เข้ามารับทำงานในกรุงฯ จึงทรงพระราชดำริห์แคลงไปว่า เงินตราบัวเงินตราครุธ เงินตราปราสาท๑ ได้ทำใช้ออกไปก็มาก หายไปเสีย หมด ทรงสงไสยว่าคนจะเอาเงินไปซื้อฝิ่นมาเก็บไว้ขายในนี้ จึงโปรดให้จับฝิ่นเผาฝิ่นเสียเปนอันมาก ตัวเงินก็ไม่มีขึ้นมา แลจีนหงพระศรีไชยบาน๒ จึงกราบทูลว่า เงินนั้นตกไปอยู่ที่ราษฎรเก็บฝังดินไว้มากไม่เอาออกใช้ ถ้าอย่างนี้ที่เมืองจีนตั้งหวยขึ้นจึงมีเงินมา จึงโปรดให้ จีนหงตั้งหวยขึ้น" ดังนี้ แลมีในจดหมายเหตุอิก๓ แห่ง ๑ ว่าเจ๊สัวหง ๑ คือเงินบาทพดด้วงที่ทำเมื่อในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ แลรัชกาลที่ ๓ ๒ ตำแหน่งเปนนายอากรสุรา เรียกกันว่า เจ๊สัวหง ๓ นายกล่ำกล่าวไว้ในกลอนเพลงยาวกำเนิดหวยแรกออกหวยเมื่อเดือนยี่ ปีมแม ก็ต้องด้วยกระแสพระราชนิพนธ์ จึง ยุติได้เปนแน่ว่า การเล่นหวยแรกมีขึ้นในเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีมแม จุลศักราช ๑๑๙๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๘ ปี เรื่องประวัติของการอากรหวย เล่ากันมาว่าเมื่อแรกเจ๊สัวหงทำอากรนั้น โรงหวยตั้งอยู่ในกำแพงเมืองใกล้สพานหัน แล้วเลื่อนมาอยู่ที่น่าวังบุรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้ โรงหวยอยู่ตรงที่ว่านี้ตลอดมาจนในรัชกาล ที่ ๕ เกิดไฟไหม้เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ จึงย้ายโรงหวยมาอยู่ที่ริมประตูสามยอด ตลอดจนกระทั่วเลิกอากรหวยในรัชกาลปัตยุบันนี้ เจ๊สัวหงออกหวยเวลาเช้าวันละครั้ง ต่อมาไม่ช้าพระศรีวิโรจน์เห็นเจ๊สัวหงมีกำไร จึงกราบทูลขอตั้งอิกโรง ๑ โรงหวยของ พระศรีวิโรจน์อยู่ทางบางลำภู ออกหวยเวลาค่ำวันละครั้ง หวยจึงมี เปน ๒ โรง เรียกกันว่าโรงเช้าโรง ๑ โรงค่ำโรง ๑ ต่อมาหวย โรงพระศรีวิโรจน์ให้นายตราดิศทำ นัยว่าการไม่เรียบร้อย ที่สุด อากรหวยจึงไปรวมอยู่ที่โรงเจ๊สัวหงแห่งเดียว เปนต้นเหตุที่จะออกหวยเปน ๒ เวลา แลคงเรียกตามมูลเหตุเดิมว่า หวยโรงเช้าเวลา ๑ หวยโรงค่ำเวลา ๑ มาจนกระทั่งเลิกอากรหวย เงินอากรหวยนั้นได้ ยินว่าเมื่อแรกตั้งอากรหวยในรัชกาลที่ ๓ เงินอากรราวปีละ ๒๕๐ ชั่ง คือ ๒๐,๐๐๐ บาท เจ๊สัวหงจะได้ทำอยู่กี่ปี แลผู้ใดจะได้ทำต่อมาหาทราบไม่ ปรากฏแต่ว่าต่อมาจัดเปนอากรให้ว่าประมูลกันคราวละปีเหมือนกับอากรบ่อนเบี้ย แลผู้ที่ได้เปนนายอากรหวยมีบันดาศักดิ์เปนที่ขุนบานเบิกบุรีรัตน คนทั้งหลายจึงได้พากันเรียกนายอากรหวยว่า " ขุนบาน ๑ " เหมือนอย่างเรียกนายอากรบ่อนเบี้ยว่า "ขุนพัฒน์" ฉนั้นเมื่อการออกหวยมีการประมูลกันเปนอากร เงินหลวงก็เพิ่มทวีขึ้นโดยลำดับมา เมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีผู้ขอผูกอากรหวยออกไปตั้งที่เมืองเพ็ชร บุรีอิกแห่ง ๑ แลว่าที่กรุงเก่าอิกแห่ง ๑ แต่เล่นอยู่ได้ไม่ช้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประพาศ ทรงสังเกตเห็นราษฎรพากันยากจนลงไป จึงโปรดให้เลิกหวยที่เมืองเพ็ชรบุรีแลที่กรุงเก่า เสีย แต่นั้นรัฐบาลก็มิได้ยอมอนุญาตให้เล่นหวยในหัวเมืองอิก ต่อมาหวยจึงมีแต่ที่ในกรุงเทพฯ แห่งเดียว ว่าด้วยลักษณหวยที่แรกเล่นในเมืองไทย ตามที่ได้ความในหนังสือซื่อยัง ว่าแรกจะเกิดหวยขึ้นในเมืองจีนมีผู้เอาชื่อคนครั้งแผ่นดินซ้องมาตั้งเปนตัวหวย ๓๔ คน ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ครั้นต่อมามีผู้คิดเพิ่มเติมหวยขึ้นอีก ๒ ตัว เมื่อแรกหวยมี เข้ามาในเมืองไทย จึงมีจำนวนหวยเปน ๓๖ ตัวด้วยกัน แลหวย ๓๖ ตัวนั้น จีนเขาเรียกตามชื่อคนที่สมมตเอามาเปนตัวหวย ที่โรงหวยทำเปนฉากเขียนเครื่องหมายไว้หลายอย่าง เพื่อจะให้คนแทงรู้จัก ตัวหวย คือ เขียนรูปภาพคนซึ่งสมมตเปนตัวหวย อย่าง ๑ เขียนหนังสือจีนกำกับรูปภาพ บอกชื่อคนที่เปนตัวหวยอย่าง ๑ ๑ ชื่อขุนบานเบิกบุรีรัตน ดูทำนองเปนชื่อคิดในรัชกาลที่ ๔เขียนรูปสัตว์อันเปนชาติก่อนของคนที่เปนตัวหวยกำกับไว้ให้เปนที่สังเกตด้วยอิกอย่าง ๑ แต่เมื่อเอาหวยเข้ามาเล่นในเมืองไทย ไทยอ่านหนังสือจีนไม่ออกแลพูดภาษาจีนไม่ได้ เห็นแต่ฉากรูปภาพหวยก็รู้ไม่ได้ว่าเปนตัวไหน ๆ เจ๊สัวหงจึงคิดอ่านเอาตัวอักษรไทยเข้าหมายกำกับ เพื่อให้ไทยรู้จัก ตัวหวย ดังนี้ คือ อักษร ก หมายตัวอุปราช ชื่อสามหวย ชาติเปนชนี อักษร ข หมายตัวนายทหาร ชื่อง่วยโป๊ ชาติเปนเต่า อักษร ฃ หมายตัวขุนนางผู้ใหญ่ที่จอหงวน ชื่อเจียมกวย ชาติ เปนปลา อักษร ค หมายตัวผู้หญิงชาวตลาดสองคน ชื่อหะตั๋ง ชาติ เปนหอยแครง อักษร ฅ หมายตัวภรรยาเจ้าเมือง ชื่อเม่งจู ชาติเปนปลาตะเพียน อักษร ฆ หมายตัวหลวงจีน ชื่อยิดซัว ชาติเปนไก่ อักษร ง หมายตัวโจรนายทหาร ชื่อจีเกา ชาติเปนสิงโต อักษร จ หมายตัวนางชี ชื่ออันสือ ชาติเปนแมวป่า อักษร ฉ หมายตัวคนฆ่าหมูขาย ชื่อจีติด ชาติเปนแมวลาย อักษร ช หมายตัวพลเมือง ชื่อฮกซุน ชาติเปนสุนักข์ อักษร ซ หมายตัวคนโซ ชื่อแชหงวน ชาติเปนไก่ อักษร ฌ หมายตัวขุนนาง ชื่อฮวยกัว ชาติเปนไก่ฟ้า อักษร ญ หมายตัวคนใช้ของเจ้าเมือง ชื่อย่องเซง ชาติเปนห่าน

อักษร ด หมายตัวหลวงจีนเปนที่ปฤกษา ชื่อกวางเหม็ง ชาติ เปนม้า อักษร ต หมายตัวคนแจวเรือจ้าง ชื่อปิดติด ชาติเปนหมู อักษร ถ หมายตัวขุนนาง ชื่อพันกุ้ย ชาติเปนหอยสังข์ อักษร ท หมายตัวนางงาม ชื่อเซี่ยงเจียว ชาติเปนนกอีแอ่น อักษร ธ หมายตัวเจ้าเมือง ชื่อไท้เผง ชาติเปนมังกร อักษร น หมายตัวหลวงจีน ชื่อเทียนสิน ชาติเปนปู อักษร บ หมายตัวหลวงจีน ชื่อแจหลี ชาติเปนตะพาบน้ำ อักษร ป หมายตัวพลเมือง ชื่อกังสือ ชาติเปนงู อักษร ผ หมายตัวคนตกเบ็ด ชื่ออิวหลี ชาติเปนเหยี่ยว อักษร ฝ หมายตัวคนโซ ชื่อง่วนกุ้ย ชาติเปนกุ้งฝอย อักษร พ หมายตัวคนโซ ชื่อกิดปิ้น ชาติเปนแกะ อักษร ฟ หมายตัวลูกเขยเจ้าเมือง ชื่อเกากัว ชาติเปนกา อักษร ภ หมายตัวโจรที่เปนแม่ทัพ ชื่อคุนซัว ชาติเปนเสือ อักษร ม หมายตัวขุนนางนายทหาร ชื่อหันหุน ชาติเปนควาย อักษร ย หมายตัวขุนนาง ชื่อฮ่องชุน ชาติเปนนกยูง อักษร ร หมายตัวน้องสาวเจ้าเมือง ชื่อกินเง๊ก ชาติเปนผีเสื้อ อักษร ล หมายตัวหลวงจีน ชื่อเทียนเหลียง ชาติเปนปลาไหล อักษร ว หมายตัวหลวงจีน ชื่อแชหุน ชาติเปนนกกระสา อักษร ส หมายตัวขุนนาง ชื่อฮะไฮ้ ชาติเปนกบ อักษร ห หมายตัวคนขายถ่าน ชื่อบ้องหลิม ชาติเปนผึ้ง

อักษร ฬ หมายตัวคนโซ ชื่อง่วนกิด ชาติเปนเนื้อทราย อักษร อ หมายตัวนักเรียน ชื่อบ้วนกิ่ม ชาติเปนงูดิน อักษร ฮ หมายตัวขุนนางนายทหารรักษาด่าน ชื่อเจี๋ยสูน ชาติ เปนหมูป่า เพราะเหตุที่เอาอักษรไทยเข้ากำกับดังนี้ รัฐบาลจึงเรียกว่า "อากรหวย ก.ข." แลพวกไทยที่เล่นหวยจึงมักเรียกตัวหวยด้วยชื่อตัวอักษร แลชื่อจีนกำกับกัน ดังเช่นว่า "กอสามหวย ข้อง่วยโป๊ สอฮะไฮ้" เปนต้น บางตัวก็เอาคำไทยใช้แทนชื่อจีน เช่นว่า "จอหลวงชี ฉอขายหมู ตอเรือจ้าง" เปนต้น บางตัวก็เอาภาษาไทยเข้าแทนทีเดียว ดังเช่น "ผอผี ฝอฝน ฟอไฟ" ฉนี้ก็มี แต่ส่วนจีน ถึงจีนในเมืองนี้ เขาก็เรียกชื่อตัวหวยแต่ตามภาษาจีนว่า "สามหวย" แล "ง่วยโป๊" เปนต้น หาได้เรียกตัวอักษรไทยด้วยไม่ ได้ยินว่าเมื่อจีนเอาหวย เข้าไปตั้งเล่นในกรุงกัมพูชา ไม่ได้เอาอักษรเขมรเข้ากำกับตัวหวย อย่างในเมืองไทย เอารูปสัตว์ชาติหวยออกเปนตัวหวยให้แทง ทำนองเขมรก็เห็นจะเรียกชื่อตัวหวยตามชื่อสัตว์นั้นๆ ในภาษาเขมร แต่ส่วนจีนในเมืองเขมรก็เห็นจะเรียกชื่อหวยตามภาษาจีนเหมือนกับที่อื่น. ได้ยินเล่ากันมาว่า หวยครั้งเจ๊สัวหงนั้น เขียนฉากรูปตัวหวย มีเครื่องหมายพร้อมทุกอย่างแขวนไว้ให้คนดูชุด ๑ แลมีป้ายตัวหวยสำหรับออกอิกชุด ๑ ทำเปนป้ายย่อมๆ เขียนแต่ชื่อหวยด้วยอักษรจีนแลเขียนอักษรไทยที่หมายตัวหวยไว้ในป้ายนั้น เอาเก็บส้อนไว้ในห้องข้างในโรง ถึงเวลาจะให้คนแทงหวย เจ๊สัวหงก็เลือกป้ายใส่ถุงมาแขวนป้าย ๑ ใครจะแทงหวยต้องไปแทงที่โรงหวย กำหนดให้แทงได้ ตัวละบาท ๑ เปนอย่างมาก มีเสมียนนั่งคอยอยู่น่าโรง ใครจะแทง ตัวไหนเท่าไรก็ไปบอกเสมียน เสมียนรับเงินไว้แล้วเขียนโพยหวยให้ ไว้เปนสำคัญแก่ผู้แทง ว่าได้แทงตัวนั้น ๆ เท่านั้น ๆ ครั้นแทง กันเสร็จแล้ว ได้เวลาเจ๊สัวหงก็ออกมาชักป้ายตัวหวยออกจากถุงให้ คนรู้ว่าหวยออกตัวไหน ถ้าใครแทงถูกก็เอาโพยไปขึ้นเอาเงินที่เสมียนใช้ให้ ๓๐ ต่อ แต่ไม่คืนทุนเดิมให้ เพราะฉนั้นผู้ที่ถูกคงได้แต่ ๒๙ ต่อ ส่วนผู้ที่แทงผิดนายอากรก็เอาเงินเสียหมด กล่าวกันว่าครั้งเมื่อคนยังต้องไปแทงหวยถึงที่โรงหวยนั้น ถึงเวลาแทงหวยมีคนไปประชุมกันอยู่ที่น่าโรงหวยวันละมาก ๆ มักมีคนร้องขอให้นายอากรบอกเค้าเงื่อนบ้าง ว่าเอาหวยตัวไหนออกมาแขวนไว้ นายอากรจะเอาใจคนแทงจึงบอกใบ้พรางให้คิดบ้าง ก็ถูกใจคนแทงทีหลังมาถ้านายอากรไม่บอกใบ้ให้ คนก็ไม่พอใจนายอากรจึงต้องหาคนมาไว้สำหรับคิดใบ้บอกคนแทงทุก ๆ วัน จนเลยเปนประเพณีมา แต่ ผู้ที่คิดใบ้ก็หารู้ว่านายอากรจะออกหวยตัวไหนไม่ จึงกลายเปนแต่ใบ้สำหรับลวงคนแทงเท่านั้น อนึ่งเมื่อแรกเอาหวยมาเล่นในเมืองนี้ เล่นเต็มตามแบบจีนคือ ในหวย ๓๖ ตัวนั้น ถ้าออกตัวใดแล้ว ต้องเว้นหวยตัวนั้นแลตัวอื่นที่มีชื่อพ้องกันเสีย ๓ วัน จึงจะเอากลับมาออกได้อิก ยกตัวอย่างดังออกตัวบ.แจหลีแล้ว ต้องเว้นตัว บ. แจหลี ตัว ผ. เอียวหลี จะออกภายใน ๓ วันไม่ได้ฉนี้เปนต้น เล่ากันว่าครั้ง เมื่อหวยยังมี ๒ โรง เจ๊สัวหงออก ตัว ง. จีเกา มีคนแทงไม่ยอมให้เงิน ทำนองจะหาว่าเปนตัวพ้องกับ ฟ. เกากัว ฤๅ ฉ. จีติด ที่ได้ออกแล้วฤๅอย่างไรอย่างหนึ่ง เกิดวิวาทถึง จะตีรันฟันแทงกัน ฝ่ายข้างโรงพระศรีวิโรจน์ก็เกิดเหตุด้วยเรื่องออก ตัว ธ ไท้เผง แต่จะเปนเหตุอย่างไรหาปรากฎไม่ ถึงรัฐบาลต้องว่า กล่าวจึงตกลงลดตัวหวยเสีย ๒ ตัว คงให้มีแต่ ๓๔ ตัว แต่ยอมให้ออกติดต่อกันได้ ไม่ต้องเว้น ๓ วัน ตามแบบจีน จึงได้ยกตัว ง. จีเกา แลตัว ธ. ไท้เผง อันเปนตัวเกิดความเสีย ไม่ได้ออกแต่นั้นมา ลักษณะหวยเมื่อแรกตั้ง ได้ความดังกล่าวมานี้ ครั้นล่วงเวลามาเมื่อคนชอบเล่นมากขึ้น แลประมูลเงินอากรมากขึ้น นายอากรขอขยายการให้คนแทงหวยได้สดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงได้เกิดมีเสมียนหวย เที่ยวตั้งร้านรับแทงหวยในที่อื่นๆ แล้วเกิดจัดแขวงหวย มีผู้รับช่วงไปเที่ยวตั้งร้านให้ราษฎรแทงหวยทั่วทุกตำบลในจังหวัดกรุงเทพฯ การอากรหวยก็คอยขยายรูปโดยลำดับมา จนลักษณการอากรหวยเปนเช่นปรากฎในชั้นหลัง ดังจะกล่าวต่อไปนี้ ว่าด้วยลักษณอากรหวย ข้อความที่จะกล่าวถึงเรื่องอากรหวยต่อไปนี้ จะกล่าวแต่ธุระข้างนายอากรฝ่ายเดียว เพราะทางที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อากรหวยก็ทำ นองเดียวกับอากรอื่น ๆ คือมีการที่ว่าประมูลแลส่งเงินงวดเปนต้น ผิดกับอากรอื่นเปนข้อสำคัญอย่างเดียวแต่ที่อากรหวยต้องว่าประมูลทีหลังภาษีอากรอย่างอื่น ๆ หมด มักจะตกลงกันก่อนขึ้นปีใหม่เพียง ๒ วัน ๓ วันเท่านั้น เพราะถ้าตกลงก่อนหลายวันนักนายอากรเก่ากลัวคนในโรงหวยจะเอาใจออกหาก ไปเข้ากับนายอากรใหม่ บอกเค้าเงื่อนให้แทงหวยถูก อากรหวยมีทางเสียที่ต้องระวังมากกว่าอากรบ่อนเบี้ยหลายอย่างด้วยลักษณการเล่นพนันที่มีเจ้ามือ ผิดกันเปน ๒ ชนิด ชนิด ๑ เจ้ามือไม่สามารถจะรู้ผลได้ก่อน ดังเช่นถั่วก็ดีฤๅโปก็ดี เจ้ามือไม่สามารถจะ รู้ฤๅกำหนดล่วงน่าได้ว่าจะออกแต้มใด การเล่นชนิดนี้ที่จะได้เสียแล้วแต่ลักษณของการเล่นนั้นประกอบด้วยโชคไชยทั้ง ๒ สถาน แต่การเล่นอิกชนิด ๑ เจ้ามืออาจกำหนดได้ก่อนว่าจะให้ออกแต้มใด เล่ากันมาแต่ก่อนว่าการเล่นโปปั่นเจ้ามือก็ดูลิ้นโปรู้ก่อนว่าประตูออกจะอยู่ด้านไหน ทีหลังนักเลงฉลาดมีขึ้น เวลาปั่นโปทำขยับจะแทงด้านนั้นแล้วด้านนี้ สังเกตดูสีหน้าเจ้ามือไปด้วย ว่าจะพอใจฤๅไม่พอใจ โดยกระบวนนี้แทงโปถูกไม่ใคร่พลาด จนบางคนชื่อเสียงเลื่องฦๅถึงขุนพัฒน์กลัวไม่อยากจะเล่นด้วย ถ้าผู้นั้นเข้าไปบ่อนไหนเปนบ่อนพอดีพอร้าย นายบ่อนก็นับเงินสิบบาทสามตำลึงใส่พานยื่นให้เปนของกำนัน ขออย่าให้ผู้นั้นเล่นโป ทีหลังมามีจีนเจ้าความคิดรู้อุบายของผู้แทงจึงคิดแก้ คราวนี้เอาลิ้นใส่โปไม่ให้ตัวของตัวเองรู้ว่าแต้มออกอยู่ด้านไหน เอาออกมาให้แทงก็กินผู้ชำนาญหมดพก ด้วยผู้ชำนาญหมดที่สังเกต แต่นั้นมาพวกทำโปปั่นก็เอาอย่างกัน หลับหูหลับตาเอาลิ้นใส่โปออกไปให้นักเลงแทง โปปั่น จึนกลายเปนได้เสียโดยลักษณแลโชคไชยเหมือนกับโปกำแลถั่วใหญ่ ส่วนหวยนั้นขุนบานต้องเลือกตัวออก รู้ว่าจะออกตัวไหนก่อนทุกคราวถึงนักเลงจะเข้ามาจ้องสังเกตดูหน้าขุนบานไม่ได้อย่างวิธีแทงโปปั่นที่ว่ามา ก็ดี นักเลงยังมีวิธีคิดยิดต๊อก คือ วันไหนหวยออกตัวไหนจดไว้ทุก ๆ วัน เมื่อหลายวันเข้าตรวจพิเคราะห์ดูลำดับตัวหวยที่ออก จับวิถีจิตรของ ขุนบานวาชอบเลือกตัวหวยอย่างไร คือออกตัว ๑ แล้วมักเลือกข้ามลำดับ ไปกี่ตัว ฤๅมักเว้นเสียกี่วันจึงออกตัวเดิมอิกครั้ง ๑ ดังนี้เปนต้น เมื่อจับวิถีจิตรของขุนบานได้ก็อาจจะแทงถูกได้มากๆ เพราะหวยมีปะตูกินมากกว่าถั่วโปก็จริง แต่มีปะตูถูกมากกว่าเหมือนกัน เปนต้นว่าโดย จะแทงสัก ๑๐ ตัว ถ้าถูกตัว ๑ ก็ยังได้กำไรมาก พวกนักเลงจึงชอบเล่นกันมาก แลนักเลงที่เล่นหวยกับนักเลงที่เล่นเบี้ยก็ผิดกัน การเล่นเบี้ยต้องไปเล่นถึงบ่อน เพราะฉนั้นนักเลงที่เล่นเบี้ยมักจะเปนแต่คนชั้นต่ำ ส่วนนักเลงเล่นหวย อยู่ที่ไหน ๆ แม้ที่สุดอยู่ในมุ้งม่านบ้านช่องไม่ต้องให้ปรากฏตัวก็เล่นได้มักเปนคนชั้นสูงขึ้นมา จึงมีคนเจ้าความคิดที่จะคอยต่อสู้ขุนบานมากกว่าพวกที่จะต่อสู้ขุนพัฒน์หลายเท่า เปนนายอากรหวยจึงต้องระวังมีไหวพริบยิ่งกว่าการพนันอย่างอื่น ๆ ข้าพเจ้าได้เคยถามพวกออกหวยว่าเหตุไรจึงไม่หลับตาออกหวยเสียเหมือนอย่างพวกออกโปปั่นบ้าง เขาตอบว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ด้วยเงินเดิมพันที่ได้จาก พวกหลับตาแทง ฤๅแทงตามลัทธิที่เชื่อผีสาง น้อยกว่าเดิมพันที่ได้จากจำพวกที่แทงดักใจขุนบาน ถ้าไม่ให้ดักใจขุนบานได้ เดิมพันก็คงตกมาก ขุนบานจะใช้เงินอากรไม่ไหว จึงจำต้องล่อให้คนดักทายใจระวังยักย้ายถ่ายเทหาช่องทางตรวจวิถีจิตรของคนแทง คอยหลีกเลี่ยงอย่าให้เสียทีคนแทงได้ การทำอากรหวยยากกว่าภาษีอากรอย่าง อื่นด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ วิธีขุนบานจัดการอากรหวยอย่างไรจะอธิบาย ต่อไป ๑ ว่าด้วยแขวงหวย เมื่อผู้ใดได้เปนขุนบานนายอากรหวย ในชั้นแรกได้แต่เอาพวกพ้องไปกำกับตรวจตราการในโรงหวย กับเปลี่ยนป้ายตัวหวยและเปลี่ยนกลองสัญญาใบ ๑ (เหตุใดป้ายตัวหวยกับกลองสัญญาจึงเปนของสำหรับตัวผู้เปนนายอากรก็หาทราบไม่) แต่นอกจากนั้นยังต้องอาไศรยคนเดิมครั้งนายอากรคนเก่าทั้งนั้น เพราะอากรหวยตกลงต่อวันจวนสิ้นปี ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว ต่อนายอากรใหม่เข้าทำการแล้วจึงตั้งต้นจัดการอากรปีของตน เริ่มด้วยออกประกาศกำหนดวันนัดประมูลแขวงหวย แขวงหวยมีเปน ๒ อย่าง เรียกว่าแขวงในกรุงฯ คือแขวงท้องที่ใกล้ ไปมากับโรงหวยได้ทุกวันนั้นอย่าง ๑ เรียกว่าแขวงหัวเมือง คือแขวงท้องที่ไกล จะไปมากับโรงหวยไม่ได้ทุกวันอิกอย่าง ๑ แต่ แขวงคงอยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ ทั้ง ๒ อย่าง เพราะรัฐบาลไม่ยอม ให้เล่นหวยในมณฑลอื่น ที่เรียกว่าแขวงในกรุงฯ มีประมาณ ๑๙ แขวง ๑ วิธีอากรหวยที่จะกล่าวต่อไปนี้ แต่งตามอธิบายของ นายฮวด กระแสเวศแขวงหัวเมืองก็มีประมาณ ๑๙ แขวงเท่า ๆ กัน การปันแขวงทั้งปวงนี้มีเขตรแดนกันชัดเจน แต่ไม่ได้ถือเอาเขตรบ้านเมือง ฤๅขนาดท้องที่เปนหลัก กำหนดแต่ด้วยจำนวนผู้คนอันอยู่ในท้องที่เปนประมาณ บางแห่งท้องที่เล็กแต่เปนที่ประชุมชนก็แบ่งเปนหลายแขวง ปันแขวงกัน ในถนนสายเดียวก็มี การกำหนดแขวงไม่มีข้อบังคับนายอากรจะเปลี่ยนแปลงเมื่อใดก็ได้ แต่เพราะเคยทำกันมาเสียจนเรียบร้อย เข้าใจกัน ซึมซาบ นายอากรจึงมักคงแขวงอยู่อย่างเดิม หาใคร่เปลี่ยนแปลงไม่ น่าที่ของแขวงหวยในกรุงฯ กับแขวงหวยหัวเมืองผิดกัน แขวงในกรุงฯ มีธุระเพียงเปนผู้รับหวยที่ราษฎรแทงในท้องที่ แลเงินเดิมพันที่ราษฎรแทงหวยส่งโรงหวยทุก ๆ วัน ถ้าใครแทงถูกแขวงก็รับเงิน ของนายอากรไปใช้ให้เขาตามสัญญา แต่แขวงหวยหัวเมืองเปนเจ้ามือหวยในแขวงนั้นเอง เปนแต่ต้องถือหวยที่ออกในกรุงเทพฯ เปนที่ได้ แลเสีย จะขาดทุนได้กำไรเปนของแขวงทั้งสิ้น เพราะน่าที่ของแขวง ผิดกันดังกล่าวมานี้ ลักษณการที่แขวงเกี่ยวข้องกับนายอากรจึงต้องจัดผิดกัน แขวงในกรุงฯ เปนแต่ผู้ทำการให้ขุนบาน ๆ ไม่ต้องอุดหนุน ทุนรอนอย่างไร แต่แขวงหัวเมืองนั้นขุนบานต้องไปเข้าหุ้นด้วยครึ่งหนึ่งฤๅบาทละสลึงตามแต่จะตกลงกันทุกแขวง หาไม่ก็ไม่มีใครกล้ารับ เปนแขวง เพราะกลัวขุนบานจะลอบไปแทงเอง ผลประโยชน์ที่ขุนบานเรียกจากแขวงทั้งปวงนั้น แขวงในกรุงฯ ขุนบานเรียกเอาเงินแป๊ะเจี๋ย แปลว่าเงินกินเปล่า ใครยอมให้แป๊เจี๋ยะมากกว่าผู้อื่น ก็ให้คนนั้นเปนแขวง แลเงินแป๊ะเจี๋ยะนั้นต้องส่งเปน เงินสดทั้งหมดตั้งแต่แรกได้เปนแขวง เพราะขุนบานอาไศรยเงินแป๊ะเจี๋ยะ นี้ที่มาส่งเงินล่วงน่าเข้าพระคลัง ถ้าหากจะให้ขุนบานผ่อนผันติดค้างบ้าง ก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้ขุนบาน ส่วนแขวงหัวเมืองนั้น ขุนบานให้ช่วย เสียเงินอากร ใครรับเสียเงินอากรมากกว่าผู้อื่น ผู้นั้นก็ได้เปนแขวง นอกจากเสียแป๊ะเจี๋ยะแลเงินอากร ผู้เปนแขวงยังต้องหานายประกันแลผู้รับเรือนให้ขุนบานให้มั่นคงอย่าง ๑ แลต้องส่งเงินประกัน ไว้ด้วยอิกอย่าง ๑ เงินประกันแขวงกรุงเทพฯ นั้น ขุนบานเรียกมาก ฤๅน้อยตามที่เปนแขวงมีผลประโยชน์มากฤๅน้อย ไม่เสมอกันทุกแขวง แลยังต้องให้แขวงทำหนังสือสัญญาให้ขุนบาน ยอมรับประพฤติ ข้อ ๑ ว่าจะไม่ฉ้อฉนปิดบังเดิมพันอากรหวย ถ้าทำผิดข้อนี้ยอมให้ขุนบานริบเงินประกันแลถอดจากแขวงข้อ๒ รับจะเปิดเผยบาญชีแลกิจการทั้งปวง ให้ผู้ตรวจของขุนบานตรวจได้ทุกเมื่อ ถ้าทำผิดข้อนี้เมื่อใดยอมให้ตัดค่าน้ำอันเปนส่วนลดของแขวงทุกครั้ง ข้อ ๓ ยอมสัญญาว่าจะส่งโพยแล เงินเดิมพันให้ทันกำหนดของขุนบานทุกเมื่อ ถ้าทำผิดข้อนี้ ยอมให้ตัดเงินค่าน้ำทุกครั้งเหมือนกัน แลยังมีข้อสัญญาในการอย่างอื่นเบ็ดเตล็ดอิกหลายข้อ ยกมาว่าแต่ข้อสำคัญ ส่วนแขวงหัวเมืองนั้น ขุนบานให้ส่งเงินอากรล่วงน่า ๓ เดือน คิดเปนเงินอากรสำหรับเดือนต้น คือเดือน ๕ ฤๅเดือนเมษายนนั้นเดือน ๑ เปนเงินประกัน ๒ เดือน ต่อไปแขวงต้องส่งเงินอากรล่วงน่าเปนรายเดือน แต่ขึ้นเดือนที่ ๒ ไปเดือนละครั้ง จนถึงเดือนที่ ๑๑ ขุนบานจึงยอมให้หักเงินประกันมาใช้เปนเงินอากร ส่วนข้อสัญญาที่แขวงหัวเมืองต้องทำให้ขุนบานนั้น มีข้อสำคัญแต่ที่ต้องยอมให้คนของขุนบานตรวจตราบาญชีแลการงานได้ทุกเมื่อ อนึ่งแขวงหวยทั้งในกรุงฯ แลหัวเมืองต้องรับซื้อสมุด " โผ " สำหรับจดบาญชีการอากรหวยในแขวงนั้นไปจากขุนบานแห่งเดียว จะไปใช้สมุดอื่นไม่ได้ เพราะสมุดโผเปนหลักสำหรับตรวจสอบบาญชี ต้องมีตราขุนบานประทับประจำทุกใบสมุดการจำหน่ายโผนี้กล่าวกันว่าขุนบานมักให้เปนผลประโยชน์ของภรรยา เพราะสั่งสมุดโผมาแต่เมืองจีนราคาประมาณเล่มละ๑๕ สตางค์ เอามาประทับตราขุนบานแล้วขายให้แขวงเล่มละบาท ๑ มีกำไรปีละมากๆ แขวงเอาไปขายเสมียนหวยเล่มละบาท ๑ กับ ๕๐ สตางค์ ได้กำไรอิกชั้น ๑ จึงไม่รังเกียจ มีข้อบังคับอิกอย่าง ๑ ว่า ผู้ที่เปนแขวงหวยต้องตั้งที่ทำการอยู่ในท้องที่แขวงของตนแห่ง๑ แลต้องทำป้ายปิดไว้ที่ที่ทำการเปนสำคัญบอกว่าแขวงหวยแขวงนั้น ๆ ให้ผู้ที่มีกิจธุระไปมารู้ได้เสมอ อิกประการ ๑ ต้องมีดวงตรายี่ห้อประจำแขวง จะใช้ตราอย่างไรก็ได้ แต่อย่าให้ซ้ำกับแขวงอื่น แลต้องลงทเบียนไว้ ที่ขุนบานด้วย ใครผูกแขวงหวยแขวงใดได้ไป ก็มีอำนาจแต่ผู้เดียวที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นตั้งม้าเขียนหวย (คือรับราษฎรแทงหวย) ในแขวงนั้นได้ จะอนุญาตให้ตั้งม้าเขียนหวยสักกี่แห่งๆ ก็ได้ตามชอบใจ ใครจะเปนเสมียนเขียนหวยหาผลประโยชน์ในแขวงนั้น ต้องมาขออนุญาตต่อแขวงต้องตกลงยอมให้เงินต่อแขวงตามอัตราที่แขวงกำหนด ถ้าเปนท้องที่มีคนแทงเงินเดิมพันมากแขวงก็เรียกค่าอนุญาตมาก ท้องที่เงินเดิมพันน้อยแขวงก็เรียกน้อยลงมา อัตราค่าอนุญาตที่แขวงเรียกจากเสมียนเขียนหวย เรียกเปนรายม้าที่ตั้งเขียน ม้า ๑ ตั้งแต่เดือนละ ๑๐ บาทลงมาจนเดือนละ ๔ บาท ตามท้องที่ดีฤๅเลวดังกล่าวแล้ว ผู้ที่ได้รับอนุญาตตั้งม้าเขียนหวย ต้องมีประกันสัญญาต่อแขวงคล้าย ๆ กับที่แขวงมีต่อขุนบานฉนั้น แลต้องรับดวงตราสำคัญไปจากแขวงดวง ๑ ในดวงตรามีอักษรบอกว่าเปนม้าที่เท่านั้น ๆ ในแขวงนั้น ๆ แขวงคิดเอาค่าตราจากผู้เขียนหวยดวงละ ๒๕ สตางค์ แต่เมื่อจะไม่เขียนหวยต่อไปต้องส่งตราคืนให้แขวง อิกอย่าง ๑ ต้องรับซื้อสมุดโผ ไปจากแขวงด้วย การที่กล่าวมานี้เหมือนกันทั้งเสมียนที่เขียนหวยแขวงในกรุงฯ แลแขวงหัวเมือง อนึ่งแขวงยังต้องมีผู้ช่วยอิกแขวงละหลายคน ที่สำคัญนั้น คือ ผู้ดูการต่างหูต่างตาแขวง เรียกว่าผู้จัดการคน ๑ ผู้รักษาเงินคน ๑ แลผู้ทำบาญชีคน ๑ ผู้ช่วยของแขวงในกรุงฯ แล้วแต่แขวงจะเลือกหา ขุนบานไม่เกี่ยวข้อง แต่ผู้ช่วยแขวงหัวเมืองขุนบานเห็นชอบด้วยจึงตั้งได้ เพราะขุนบานเปนผู้มีหุ้นส่วนอยู่ด้วย ขุนบานมักตั้งคนของตัวไปอยู่กำกับแขวงละคนเปนอย่างน้อย ผลประโยชน์ที่แขวงหวยแลเสมียนเขียนหวยได้ในการอากรหวยนั้น แขวงในกรุงฯ มีผลประโยชน์ ๓ ทาง คือทางที่ ๑ ได้ค่าอนุญาตตั้งม้าเขียนหวย ถ้าในแขวงใดมีร้านเขียนหวยมากก็ได้เดือนละมาก ๆ ถ้ามีน้อยก็ได้น้อยลงมา ทางที่ ๒ ได้ค่าน้ำ คือส่วนลดในเดิมพันที่นำส่งโรงหวย ขุนบานยกให้ร้อยละ ๒ ครึ่ง แต่ต้องแบ่งไปแจกร้านเขียนหวยเสียกึ่ง ๑ แขวงคงได้ส่วนลดแต่ร้อยละ ๑ กับเศษหนึ่งสี่ตามจำนวนเดิมพันของแขวงนั้น ทางที่ ๓ ได้กำไรค่าจำหน่ายสมุดโผ ค่าจำหน่ายตรา แลถ้าแขวงต้องไปรับโพยหวยถึงร้านใด ยังได้ค่าเดินทางจากเสมียนหวยร้านนั้น บวกขึ้นในค่าอนุญาตอิกเดือนละ ๖ สลึง เหล่านี้นับเปนรายได้เบ็ดเตล็ด ส่วนแขวงหัวเมือง เพราะเหมือนเปนตัวขุนบาน ในแขวงนั้นดังกล่าวมาแล้ว มีทางที่ได้ผลประโยชน์เปน ๔ ทาง ผิดกับแขวงในกรุงฯ คือทางที่ ๑ ได้เดิมพันที่หวยกิน แต่ถ้าหวยถูกก็ต้องออกเนื้อใช้เขา ทางที่ ๒ ได้ค่าน้ำชักจากผู้ถูกหวยเท่าทุนต่อ ๑ ทาง ที่ ๓ ได้ค่าอนุญาตร้านเขียนหวย เหมือนแขวงในกรุงฯ ทางที่ ๔ ได้ผลประโยชน์เบ็ดเตล็ด คือขายสมุดโผ เปนต้น ส่วนเสมียนเขียนหวยนั้นมีผลประโยชน์ ๒ ทาง คือทางที่ ๑ ได้ค่าน้ำของขุนบานร้อยละ๑ กับเศษหนึ่งสี่ตามจำนวนเดิมพันที่ส่งไป ทางที่ ๒ ได้ค่าน้ำจากผู้แทงหวย ถ้าใครถูกเสมียนหวยชักค่าน้ำเท่าทุนที่ถูกต่อ ๑ เหมือนกันทั้งเสมียนเขียนหวยแขวงในกรุงฯ แลแขวงหัวเมือง ว่าด้วยแทงหวย เครื่องล่อลวงให้คนแทงหวยมีหลายอย่าง เบื้องต้นก็คือที่เจ้ามือยอมใช้ ถึง ๓๐ ต่อ ข้อนี้เปนเหตุให้คนคิดเห็นว่าจะรวย เพราะถึงจะแทง ผิดไปสัก ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ถูกเข้าครั้งเดียวก็ยังได้กำไร ฤๅมิฉนั้น หากว่าจะแทง ๑๐ ตัว ๒๐ ตัวถูกเข้า ๑ ก็ยังได้กำไร ถ้ายิ่งเปนคน เชื่อความคิดแลวิชาของตนว่า จะแทงตัวเดียวสองตัวให้ถูกได้ ในคราวเดียว ก็เห็นช่องที่จะรวยยิ่งกว้างขวาง เพราะคนเล่นหวยไม่คิดเห็นว่าเหมือนตัวคนเดียวจะไปสู้คนตั้ง ๓๐ จึงพากันชอบเล่นหวยแลฉิบหายกันเพราะแทงหวยเปนอันมาก ข้อใหญ่ใจความสำคัญของคนแทงหวย ก็คือที่จะต้องคิดให้ถูกว่าหวยจะออกตัวใดแล้วดักแทงหวยตัวนั้น การเลือกตัวหวยที่จะแทงนี้เรียก ว่าหาหวยดี มีวิธีของคนเล่นหวยหลายอย่าง บางคนก็ใช้ความคิดบางคน ก็เที่ยวหาโดยทางความรู้ จะอธิบายเฉภาะแต่วิธีที่มีหลักฐานอยู่บ้าง วิธีหาหวยดีด้วยความคิดนั้น ใจความก็คือคิดเดาใจขุนบานว่าจะออกหวยตัวใด เช่นกระบวนคิดยิดต๊อก ดังกล่าวไว้ ในที่อื่นแล้วนั้นเปนต้น มีตำราของจีนตั้งไว้สำหรับให้คิดก็หลายอย่าง ดังเช่นเขารวมตัวหวยที่เปนคนชนิดเดียวกัน จัดไว้เปนพวก ๆ ในตำราเปน ๖ หมวด คือ- หมวดที่ ๑ ตัว ถ ย ญ ซ ๔ ตัวนี้ จีนเรียกว่าสี่จอหงวน แปลว่า หมวดขุนนาง ๔ คน หมวดที่ ๒ ตัว ฆ บ จ น ว ล ๖ ตัวนี้ จีนเรียกว่าลักเต้าสือ แปล ว่าพระทั้ง ๖ หมวดที่ ๓ ตัว ฝ ฬ พ ซ ๔ ตัวนี้ จีนเรียกว่าสี่คิดเจี๊ยะ แปลว่าคนโซทั้ง ๔ หมวดที่ ๔ ตัว ท ร ค ต ๔ ตัวนี้ จีนเรียกว่าสี่จาโบ๊ แปลว่า ผู้หญิงทั้ง ๔

หมวดที่ ๕ ตัว ข ม ต ฮ ภ ๕ ตัวนี้ จีนเรียกว่าโง่วโฮ้วจั่ง แปลว่าเสือทั้ง ๕ หมวดที่ ๖ ตัว ช บ ด ฉ ผ ห ส อ ก ฟ ฌ ๑๑ ตัวนี้ จีนเรียก ว่าซุ่ยยี่ แปลว่าหวยนอกเกณฑ์ ที่จัดเปนหมวดดังนี้หวังจะให้เปนเครื่องกำหนด สำหรับสังเกตเหตุการณ์ที่จะทำให้อารมณ์ผู้ออกหวยหมกมุ่นอยู่ในบุคคลจำพวกใด ยก ตัวอย่างเช่นดังวันใดขุนบานทำบุญมีกงเต๊ก คาดว่าเวลาขุนบานเลือกตัวหวยในวันนั้นอารมณ์คงนึกอยู่ถึงพระ ก็แทง ฆ บ จ น ว ล ดักไว้ ฤๅมิฉนั้นถ้าวันใดเปนวันฤกษ์วันมงคลของขุนบาน ดังเช่นวันประเดิมออกหวย คาดว่าขุนบานคงไม่ออกตัวหวยอันเปนอัปรมงคลเปนต้น ดังเช่นหวยในจำพวกโจรแลจำพวกคนโซ ก็กันตัวหวยพวกนั้นออกเสียได้ แล้วคิดคาดเหตุการณ์ประกอบว่าขุนบานจะเลือกหวยตัวมงคลประเภทไหนก็แทงหวยประเภทนั้นดักขุนบานต้องมีไหวพริบคอยระวังในเหตุการณ์ที่เขาจะคาดอยู่เสมอ ถ้าเผลอก็อาจจะเปนดังเขาคาดได้จริงๆ ยังมีเกณฑ์อย่างอื่นที่จะคิดแทงดักใจขุนบานได้อิกหลายอย่าง บางทีเกิดไฟไหม้ในวันนั้นขุนบานไม่ทันคิดเฉลียว ปล่อยอารมณ์ให้ไปเลือกตัว ฟ ออกมา หวยก็ถูกพวกไทย ๆ แทงดักได้มาก ๆ มีเรื่อง ๑ เกิดขึ้นเมื่อก่อน เลิกหวยไม่ช้านัก มีจีนผู้ดีคน ๑ ไปเล่นเบี้ยที่บ่อนซึ่งขุนบานรับผูกอยู่บ่อน ๑ เสียโปกว่า๑๐,๐๐๐ บาท นึกว่าค่ำวันนั้นขุนบานคงเอาเรื่องชนะโปเปนนิมิตรออกหวย ดักแทงตัว ข ง่วยโป๊ ก็ถูกได้เงินขุนบานไปราว ๒๐,๐๐๐ บาท แต่การที่แทงจะแทงดักใจขุนบานฤๅแทงอย่างใด ๆ ก็ตาม ต่อแทงถูกจึงเกิดเล่าฦๅรู้เรื่องกัน ที่ดักผิดหวยกินฉิบหายนั้น ไม่มีใครเล่าฦๅก็เงียบหายไป ยังการที่หาหวยโดยกระบวนสืบสวนนั้น ก็คือการที่เที่ยวสืบถามตรวจตราหาเค้าเงื่อนว่าขุนบานจะออกหวยตัวไหนในวันหนึ่งวันใด มีวิธีหลายอย่างเหมือนกัน เบื้องต้นก็คือพยายามที่จะถามตัวขุนบานเอง อันนี้เปนวิธีเก่ามีมาแต่ครั้งเจ๊สัวหง ขุนบานถูกถามรำคาญจึงจ้างคนคิดใบ้ลวงบอกไว้น่าโรงหวยทุกวัน แต่ทางทีขุนบานถูกผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอ้อนวอนถาม บอกใบ้ให้จริงๆ เขาแทงถูกก็มีบ้าง หลวงอุดรภัณฑ์ พานิช เต็ง เคยเล่าว่าตัวเองเมื่อครั้งออกหวยก็เกือบเสียทีคนแทงครั้ง ๑ ปีนั้นหลวงอุดรแรกออกหวยยังไม่ชำนาญ ต้องอาไศรยท่านผู้ ๑ เปน ผู้ช่วยเลือกตัวหวย วันหนึ่งมีคนที่ท่านผู้นั้นใช้สอยอยู่ในเรือนขอใบ้หวย ท่านคิดอยู่แล้วว่าวันนั้นจะออกตัวไหนจึงบอกใบ้ให้ หมายว่าพอจะให้คิดทายเล่นสนุกๆ ครั้นเวลาค่ำทานผู้นั้นไปโรงหวย บอกแนะนำ ให้หลวงอุดรออกหวยตัวที่คิดไว้แล้ว กลับมาบ้านจึงรู้ความว่ามีผู้อื่นมาวานคนในเรือนให้ขอใบ้ แลได้ใบ้ไปคิดทายถูกด้วย พอรู้เข้าก็ตกใจให้คนรีบไปบอกหลวงอุดรว่า อย่าให้ออกหวยตัวที่แนะให้เปนอันขาด คนบอกไปถึงจวนเวลาออกหวย พอหลวงอุดรเปลี่ยนตัวหวยทัน หาไม่หวยคืนนั้นก็เห็นจะถูกเข้าถนัด นอกจากที่จะพยายามไต่ถามขุนบาน ยังมีพวกที่คิดลักดูเครื่องกำหนดจดจำของขุนบาน คือโพยเถาเปนต้น เอาไปเปนหลักคิดทายใจขุนบาน พวกนี้มักเปนคนในโรงหวยเอง ฤๅมิฉนั้นก็บนบานคนในโรงหวยให้เอาใจออกหากเพราะเหตุนี้ขุนบานจึงมิใคร่ไว้ใจคนในโรงหวย ยังพวกที่หาหวยดีโดยทางวิทยาคม เช่นบนบานขอหวยต่อวัตถุแลบุคคลที่ตนนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ก็มีเปนอเนกปริยาย วิธีที่ขอหวยจากวัตถุทั้งปวงนั้นจะยกไว้ จะยกตัวอย่างแต่ที่ขอต่อบุคคล แลไม่กล่าวถึงพวกอสัจ อลัชชี ที่ให้หวยเขาโดยมิจฉาชีพ บางทีคน ดีๆ เช่นพระสงฆ์ซึ่งคนทั้งหลายนับถือคุณวุฒิ ถ้าองค์ใดมักชอบประพฤติแปลก ๆ ก็มักมีคนเลยเข้าใจไปว่าท่านใบ้หวยให้เปนทาน เคยมีพระราชาคณะองค์ ๑ ที่มักประพฤติแปลก ๆ อย่างนั้น แต่งวัดรับเสด็จกฐินปี ๑ เอาตุ๊กตากระดาษที่เขาทำเปนรูปช้างมาตั้งรายตามกำแพงแก้ว พวกนักเลงหวยที่ไปในกระบวนพระกฐินวันนั้น เอาช้างเปนนิมิตรมาแทงตัว ฉ ช ฌ หวยเจ้ากรรมออกตัว ฌ ถูกกันได้จนเลื่องฦๅครั้ง ๑ ต่อมามีพระครูอิกองค์ ๑ ซึ่งมีชื่อเสียงในทางวิปัสสนาธุระ ผู้คนนับถือมาก พวกนักเลงหวยไปพูดจาเลียบเคียงหาเลศนัย ท่านพระครูหลงพูดด้วยโดยซื่อ ไม่รู้ว่าเขาขอหวย พวกนักเลงจับเลศนัย มาคิดแทงหวยถูกสักครั้ง ๑ ฤๅ ๒ ครั้ง ก็เกิดเลื่องฦๅว่า ท่านพระครูองค์นั้นใบ้หวยแม่น ทีนี้ก็มีแต่คนพากันไปเลียบเคียงขอหวย ท่าน พระครูจะพูดจาว่ากะไรฤๅทำอย่างไรก็กลายเปนใบ้หวยไปหมด ครั้นท่านพระครูรู้ตัวว่าเขามาลวงขอหวยก็ขัดใจ คราวนี้เห็นใครไปพูดจาเลียบเคียงเข้าใจว่าจะไปขอหวยก็ขับไล่เสียจากุฎีการที่ขับไล่นั้นคนกลับก็เข้าใจว่าใบ้หวยให้ตัว ล ฬ ยังพากันกลับไปขออิก ที่สุดท่านพระครูฉวยพลองลากออกมาจะขู่ คนก็เข้าใจว่าใบ้ตัว ผ พ ภ จนท่านพระครูไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ต้องปิดประตูกุฎีลั่นกลอนไม่รับแขกอยู่เปนช้านาน พวกศิษย์หาญาติโยมพากันสงสาร คอยห้ามปรามคนไม่ให้ขอหวยคนจึงค่อยเสื่อมซาไป วิธีหาหวยดีไม่มีขีดคั่นความเชื่อของมนุษย์ แม้ที่สุดจน พระพุทธรูปฤๅต้นไม้ก็มีคนไปอธิฐานขัดถูดูรอยตัวหวยเผื่อจะผุดโผล่ขึ้นมาให้บ้าง แต่วิธีปลาดจริงๆ นั้น เกิดขึ้นเมื่อก่อนจะเลิกหวยไม่กี่ปี นัก ใครจะเป็นผู้คิดก็หาทราบไม่ เกิดเปนลัทธิอัน ๑ ถึงวันเข้าพระวัสสาเขียนตัวหวยครบทุกตัวแล้วเอาคว่ำไว้ ในที่ซ่อนเร้นเช่นในหม้อเปนต้น ปิดผนึกเสียให้แน่นแล้วบูชาอธิฐานไปจนตลอดพรรษา เมื่อถึงวันก่อนจะออกพรรษาเปิดผนึกดู ถ้าหวยใดหงายขึ้นในนั้นก็เชื่อว่าจะออกตัวนั้นเมื่อวันออกพรรษา คนเชื่อถือวิธีนี้แพร่หลายมาก จนเกิดเปนประเพณี พอถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ มีคนเข้ามากรุงเทพฯ มากมายหลายร้อยหลายพันมาทั้งทางรถไฟแลทางเรือ ถึงเพลาค่ำลงคนแน่นท้องถนน ตั้งแต่น่าโรงหวยลามไปจนในถนนเจริญกรุงทุกปี เสมอมีงานอะไรเปนการใหญ่ของขุนบานอย่าง๑ ที่แท้ก็เสมอพากันเข้ามาอำนวยพรขุนบานนั้นเอง เพราะหวยดีโดยทางวิทยาคม ขุนบานไม่กลัวเหมือนหวยดี โดยทางความคิด ยิ่งแทงมากก็ยิ่งชอบใจ แต่คนแทงก็ยังเชื่อถือกันอยู่นั่นเอง จำนวนคนแทงหวยจึงไม่ลดถอยน้อยลง มีคนแทงทุกแขวง ทุกวันไม่ขาด ลักษณแทงหวยแทงได้ ๒ อย่าง คือแทงอย่างสามัญอย่าง ๑ แทงอย่างวิสามัญ เรียกว่า "แทงหิ้ง" แปลว่าแทงแขวนอย่าง ๑ จะว่าด้วยลักษณอย่างสามัญก่อน แทงอย่างนี้ต้องไปแทงที่เสมียนเขียนหวยวิธีที่เสมียนเขียนหวยมีการแปลก ซึ่งควรจะต้องอธิบายโดยเฉภาะอยู่ ๓ อย่าง คือวิธีใช้ภาษาอย่าง ๑ วิธีเขียนหนังสือไทยอย่าง ๑ วิธี คิดเงินอย่าง ๑ วิธีใช้ภาษานั้น ขุนบานยอมให้ใช้ภาษาจีนแลภาษาไทยได้เหมือนกันทั้ง ๒ ภาษา เสมียนหวยร้านใดถนัดภาษาจีน จะเขียนหวยแลทำบาญชี แต่ด้วยอักษรแลภาษาจีนก็ได้ ถ้าเสมียนหวยร้านใดชำนาญภาษาไทยจะเขียนหวยแลทำบาญชีด้วยภาษาแลอักษรไทยก็ได้เหมือนกัน แต่จะใช้อย่างใดก็ให้ ใช้แต่อย่างนั้นอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้คนแทงจะเปนไทยฤๅจีนก็เลือกร้านแทงหวยตามภาษาที่ตนเข้าใจได้ วิธีเขียนอักษรไทยในการแทงหวยนั้นไม่เหมือนกับที่เขียนกันในอักขรวิธี เพราะต้องระวังมิให้เปลี่ยนปลอมตัวอักษรหนึ่งไปเปนตัวอักษรอื่นได้ โดยกระบวนเขียนต่อเติมแก้ไข ดังเช่นแก้อักษร ก เป็น ถ เปน ภ เปน ฌ เปนต้น เล่ากันว่าเคยเกิดลักแก้ตัวอักษรตั้งแต่ครั้งเจ๊สัวหง ๆ จึงต้องคิดวิธีเขียนเครื่องหมายไว้สำหรับกันแก้ ดังเช่นอักษร ก ต้องให้มีไม้ไต่คู้อยู่ข้างบน ก็ ดังนี้ แลตัว ข ต้องให้เขียน ขํ ดังนี้เปนตัวอย่าง คนเขียนหวยต้องระวังเครื่องหมายเหล่านี้เผลอไม่ได้ แม้เสมียนหวยเขียนขาดเครื่องหมาย ดังเช่นเขียน ก ขาด ๘ ส่งไป ถ้าหวยออกตัว ก ขุนบานตีกินไม่ยอมใช้ เสมียนผู้เขียนก็ต้องใช้ผู้แทงเอง อาจจะขาดทุนได้มาก ๆ วิธีคิดเงินในการแทงหวยนั้น ใช้เงินไทยตามมาตราจีน คือ ๑,๐๐๐ กระแปะต่อตำลึง ๑ คิดเอาเงินไทย ๑๐ สลึงเปนตำลึง กำหนดบาท ๑ เปน ๔๐๐ แปะ แล้วกระจายเศษออกไป สลึง ๑ เปน ๑๐๐ แปะ เฟื้อง ๑ เปน ๕๐ แปะ ในบาญชีที่แทงหวยใช้จดเปนแปะทั้งนั้น เรื่องคิดเงินเปนมาตราจีนนี้ เห็นจะเพื่อประโยชน์ให้ดีดลูกคิดสดวก เพราะมาตรเงินไทยเศษไม่เปนสิบเสมอกันเหมือนมาตราจีน การที่แปลก มี ๓ อย่างดังอธิบายมานี้ เวลาสำหรับคนแทงหวยอย่างสามัญนั้น โดยปรกติเสมียนหวยออกนั่งม้ารับเขียนหวยตั้งแต่ตลาดออกเวลาบ่าย ประสงค์จะให้เหมาะแก่เวลาคนไปตลาด ยอมให้คนแทงไปจนเวลา ๑๐ นาฬิกา ล.ท. อันเปนเวลาต้องส่งโพยไปยังโรงหวยเป็นที่สุด ฤาว่าอิกนัย ๑ ก็ราวยวันละ ๖ ชั่วโมงถ้าแขวงอยู่ไกลออกไป ต้องส่งโพยก่อน ๑๐ ล.ท. ก็เลื่อน เวลาออกนั่งม้าให้วันเข้า คงให้ได้มีเวลาคนแทงหวยราววันละ ๖ ชั่วโมง แต่แขวงที่อยู่ใกล้โรงหวย เช่นแขวงประตูสามยอดเปนต้น ยอมให้ คนแทงจนเวลาราว ๑ ก.ท. ส่งโพยต่อจวนตีกลองปุโหละขุนบานก็ยอมเพราะอยากให้เดิมพันมาก ส่วนแขวงหัวเมืองนั้นไม่ต้องส่งโพยไป ยังแขวง จะเขียนแต่เวลาไรไปจน ๑๐ ล.ท. ก็ได้ คนแทงหวยต้องแทงตั้งแต่ ๕๐ แปะ คือเฟื้อง ๑ ขึ้นไป เสมียนหวยจึงยอมให้แทง แต่ ๕๐ แปะนั้นจะแทงหวยสักกี่ตัว ถ้าไม่ต่ำ กว่าตัวละ ๕ แปะแล้วก็แทงได้ ฝ่ายข้างมากคงกำหนดให้แทงหวยได้เพียงตัวละบาท ๑ เปนอย่างมากเหมือนอย่างเมื่อครั้งเจ๊สัวหง ถ้าแทงหวยหวยตัวใดมากกว่าบาท ๑ ขึ้นไปเสมียนไม่เขียนให้ แต่ความข้อนี้ที่จริงเปนแต่ทำอุบายในบาญชีเท่านั้น ถ้าหากว่าใครจะแทงหวยตัว ๑ มากกว่าบาท ๑ ขึ้นไป บอกบาญชีแทงตัวนั้นให้เปนหลายหน แทงหนละ บาท ๑ จะแทงสักกี่ร้อยบาทเสมียนหวยก็ยอมให้แทง ลักษณการแทงหวย ผู้แทงต้องเอาเงินวางให้เสมียนหวยก่อนแล้วบอกว่าจะแทงหวยโรงเช้าตัวใดเปนเงินเท่าใด แลโรงค่ำจะแทงอย่างไร ด้วยลักษณแทงหวยโรงค่ำมีวิธีแทงได้หลายอย่าง เปนต้นว่าจะแทงถูกยกผิดซ้ำ เช่นแทงตัว ก โรงเช้า ถ้าถูกเปนเสร็จเพียงเท่านั้น ถ้ากินให้แทงซ้ำตัว ก ในโรงค่ำอิก ฉนี้ก็ได้ ฤๅจะแทงหู้ เช่นแทง ตัว ก ตัว ข โรงเช้า ถ้าถูกตัวใดตัวหนึ่งให้เอาเงินที่ขุนบานใช้แทงอิก ตัว ๑ ทั้งหมด ฤๅแต่เท่าหนึ่งเท่าใด ฉนี้ก็มี ยกมาแสดงพอเปน ตัวอย่าง เสมียนหวยเรียกเงินไว้แล้วจึงลงมือเขียนบาญชี บาญชีของเสมียนเขียนหวยมี ๓ อย่างด้วยกัน คือสมุดโผอย่าง ๑ ใบตอบอย่าง ๑ ใบโพยอย่าง ๑ สมุดโผ คือสมุดที่ขุนบานจำหน่ายไป เปนตัวบาญชีใหญ่สำหรับร้านเขียนหวย ต้องเขียนลงเดือนวันไว้ข้างบน ใครแทงหวยตัวใด เงินเท่าใดก็จดลงไปไม่ต้องลงชื่อผู้แทง ใช้ประทับตราประจำต่อกับ ใบตอบเปนสำคัญสำหรับตัวคน ใบตอบนั้น คือใบสำคัญทำให้แก่ผู้แทงหวย เขียนว่าวันนั้นแทงหวยตัวนั้น ๆ เงินเท่านั้น ๆ แทงอย่างนั้น ๆ เอาใบตอบนี้วางลงใน สมุดโผประทับดวงตราประจำต่อไว้ในช่องบาญชีที่ผู้นั้นแทง แล้วมอบใบตอบให้ผู้แทงถือไว้ ถ้าหวยถูกจะได้นำมาขึ้นเอาเงินใบโพยนั้น ทำสำหรับส่งโรงหวย ต้องทำเปนหวยโรงเช้า ส่วน ๑ โพยหวยโรงค่ำส่วน ๑ ไม่ปะปนกัน ตอนหัวค่ำทำแต่โพย โรงเช้า ส่วนโพยโรงค่ำทำต่อเมื่อหวยโรงเช้าออกแล้ว ลักษณการ เขียนโพยมีข้อบังคับว่า หวยในโพยใบ ๑ ไม่ให้แทงเกินตัวละ ๔๐๐ แปะ คือบาท ๑ แลจำนวนเงินในโพยใบ ๑ จะเปนหวยกี่ตัวก็ตาม ไม่ให้จำนวนเงินเกิน ๒,๐๐๐ แปะ คือ ๕ บาท เมื่อเขียนโพยเสร็จแล้ว พับเหน็บกระดาษเปนรูปสี่เหลี่ยมรี ยาวประมาณ ๔ นิ้ว กว้างประมาณนิ้ว ๑ เหมือนกันทุกใบ ต้องพับไม่ให้แลเห็นหวยข้างใน แต่ต้องเขียนบอกจำนวนเงินไว้ข้างหลังว่าในนั้นจำนวนเงินเท่านั้นแปะ ประทับตราร้านเปนสำคัญทุกใบ แล้วรวมโพยเข้าเปนมัด แลเขียนใบนำบอกว่าวันนั้น โพยเท่านั้นใบ รวมเปนเงินเท่านั้น เหน็บไว้กับมัดโพย สำหรับส่ง แขวงพร้อมกับโพย ครั้งถึงเวลากำหนด (ราว ๑๐ ล.ท. ฤๅก่อนหลังตามร้านที่ใกล้แลไกล) เสมียนหวยจึงเอาโพยกับใบนำไปส่งยังแขวง (ถ้าขอให้ แขวงไปรับต้องเสียเงินค่าเดิน ดังกล่าวมาแล้ว) ลักษณการที่เสมียนหวยส่งโพยไปแขวงผิดกัน คือแขวงใกล้ ซึ่งอาจจะกลับไปเขียนโพยหวยโรงค่ำส่งเมื่อหวยโรงเช้าออกแล้วได้นั้น ส่งแต่โพยหวยโรงเช้า ส่วนแขวงไกล ซึ่งจะกลับไปเขียนโพยหวย โรงค่ำส่งมาไม่ทัน ส่งโพยพวกโรงเช้าแล้ว ต้องมอบโผให้แขวง ๆ มาหาที่เขียนโพยโรงค่ำที่ใกล้ ๆ โรงหวยแขวงหัวเมืองนั้น เขียนแต่โผกับใบตอบ ไม่ต้องเขียนโพย เอาโผไปส่งแขวงแทนโพยทุกวัน แขวงเอาโผใส่กำปั่นลั่นกุญแจ ๓ ดอก คือของผู้แทนขุนบาน ๑ ของแขวง ๑ ของเสมียนบาญชีดอก ๑ รักษา ไว้จนรู้ว่าหวยออกใดแล้วจึงไขกำปั่น แขวง (ในกรุงฯ) รับโพยจากเสมียนแล้ว ตรวจจดบาญชีโพยแลบาญชีเงินไว้สำหรับแขวงส่วน ๑ แลทำใบนำ บอกนามแขวง บอกวันเดือน บอกจำนวนโพย แลบอกจำนวนเงินลงในใบนำนั้น แล้วคุมโพยกับใบนำสำหรับหวยโรงเช้ามาส่งยังโรงหวย ต้องส่งในระหว่าง แต่เวลาโรงหวยตีกลองสัญญาเรียกโพยจนตีกลองปุโหละบอกห้าม คือในระหว่างเวลาแต่ ๑๑ ล.ท. ไปจนราว ๒ ก.ท. วิธีแทงหวยหิ้งนั้น สำหรับพวกนักเลงขาใหญ่ที่จะแทงดักใจขุนบานด้วยจำนวนเงินมาก ๆ ขุนบานยอมให้พวกแทงหวยหิ้งเขียนโพยเอง และเอาโพยของตนไปส่งที่โรงหวยได้เหมือนอย่างกับเปนแขวง แต่ว่าต้องแทงคราว ๑ ไม่ต่ำกว่า ๒๒ บาทลงมา แลต้องทำโพยให้ถูกต้องแบบแผนอย่างโพยหวยสามัญ คือวิธีเขียนตัวอักษรแลกำหนดในโพย ใบ ๑ ไม่ได้แทงมากกกว่าตัวละบาท ๑ แลรวมเงินในโพยใบ ๑ ไม่ให้เกิน ๕ บาทเหล่านี้ ลักษณแทงหวยหิ้งกับแทงหวยสามัญที่ผิดกันเปนข้อสำคัญนั้น คือแทงหวยสามัญ เมื่อหวยโรงเช้าออกแล้ว ขุนบาน แก้โพยออกดูรู้ว่าผู้แทงๆ หวยตัวไหนมาก อาจจะคาดใจคนแทงว่า โรงค่ำคงจะแทงตัวไหน ๆ คิดยักย้ายตัวหวยโรงค่ำไปเสียให้ห่างได้การที่จะแทงหิ้ง ต่อแทงถูกผู้แทงจึงยอมให้เปิดโพยออกดูว่าแทงตัวใด ถ้าแทงผิดไม่ยอมเปิดโพยให้ขุนบานรู้ว่าได้แทงตัวใดทีเดียว ประสงค์จะไว้ดักแทงโรงค่ำต่อไป บางทีพวกแทงหิ้งอาจจะแทงถูกเอาเงิน ขุนบานไว้ ถึง ๑๐,๐๐๐ แล ๒๐,๐๐๐ บาทก็มี ด้วยเหตุนี้พวกนักเลงโตจึงชอบแทงหิ้ง ลักษณการในโรงหวย ก่อนที่จะอธิบายถึงวิธีออกหวย จะกล่าวถึงลักษณที่ขุนบานจัดการในโรงหวยก่อน จำนวนคนประจำการโรงหวยซึ่งขุนบานต้องให้เงินเดือน แลต้องตั้งโรงครัวเลี้ยงอาหารเวลาทำการ รวมเบ็ดเสร็จประมาณ ๒๐๐ คน จัดเปนตำแหน่งผู้ใหญ่ผู้น้อยมีน่าที่ต่างกันดังนี้ คือ หลงจู๊ใหญ่มีคน ๑ เปนผู้ดูแลการงานทั้งปวงต่างหูต่างตาของขุนบาน หลงจู๊ใหญ่นี้มักเปลี่ยนตามตัวขุนบาน หลงจู๊รองมีประมาณ ๑๘ คน เปนผุ้สำหรับเที่ยวตรวจตราการตามแขวงแลร้านเขียนหวยทั่วไป มักเปนคนทำการอยู่เสมอไป ไม่ใคร่ต้องผลัดเปลี่ยน คนเก็บเงินคน ๑ สำหรับเก็บรักษาเงินสดแลรับเงินจ่ายเงิน มักเปนคนของขุนบานอย่างหลงจู๊ใหญ่ หลงจู๊รอง สำหรับตรวจตราการในโรงหวยมีอิก ๒ คน สำหรับตรวจการกลางคืนคน ๑ ตรวจการกลางวันคน ๑ หลงจู๊ ๒ คนนี้มัก เปนคนทำการอยู่เสมอ ไม่ใคร่ต้องผลัดเปลี่ยนนายเสมียน คือผู้ที่เปนหัวน่าทำการเสมียนมี ๓ คน เสมียนที่ ๑ สำหรับทำบาญชีเงินรับจ่ายทั้งปวงคน ๑ เสมียนที่ ๒ สำหรับทำบาญชีโพยคน ๑ เสมียนที่ ๓ สำหรับสอบบาญชีทั้งปวงคน ๑ เสมียนทั้ง ๓ นี้ เปนผู้ชำนาญ มักเปนคนประจำอยู่เสมอ รองจากเสมียนถึงพวกพนักงาน มักเปนคนอยู่ประจำและฝึกหัดทำการติดต่อพ่อลูกหลานลงมาเปนพื้น พนักงานมี ๓ พวก คือ พนักงานกองตรวจโพยมี ๖ กอง ๆ ๑ มีคนดีดลูกคิดคน ๑ คนตีตราคน ๑ พนักงานกองเตี๊ยมเถามี ๑๐ กอง ๆ ๑ มีคนบอกคน ๑ คนจดคน ๑ ในพวกพนักงานเตี๊ยมเถานี้ มีคนสำคัญของขุนบานคน ๑ ฤๅ ๒ คน ซึ่งต้องเปนคนที่ไว้ใจได้จริงๆ สำหรับรวมบาญชีเติ๊ยมเถา คือ รวมยอดบาญชีว่าในวันนั้นคนแทงหวยตัวไหนเท่าไร ๆ รู้กันแต่กับ ขุนบานสำหรับกะตัวหวยที่จะออกต่อไป ที่กล่าวมาเปนพนักงานประจำน่าที่ นอกจากนี้ยังมีพนักงานกลางสำหรับช่วยเหลือในน่าที่ทั้งปวงตลอดจนคนทำครัว จึงรวมเบ็ดเสร็จประมาณ ๒๐๐ คน พนักงานโรงหวยแบ่งกันเปน ๒ พวก พวกพนักงานการกลางวันพวก ๑ พวกพนักงานการกลางคืนพวก ๑ พนักงานกลางวันมาทำงานแต่เช้าไปจนบ่าย พนักงานกลางคืนต้องมาถึงโรงหวยเวลา ๑๐ ล.ท. ได้กลับไปต่อเวลาสว่างเสมอทุกคืน ส่วนตัวขุนบานนั้นต้องมาออกหวยเองทั้งโรงเช้า แลโรงค่ำทุกวัน นอกจากนั้นก็มาตรวจตราการในเวลาอื่น ๆ บ้าง

ว่าด้วยลักษณการออกหวย ถึงเวลา ๕ ทุ่ม (๑๑ ล.ท.) ที่โรงหวยตีกลองสัญญาย่ำ ๓ ลา นกำหนดให้แขวงเอาโพยหวยโรงเช้าไปส่ง แต่ชั้นก่อนตีกลองเรียก โพยหวยโรงเช้าแต่เวลายาม ๑ (๙ ล.ท.) ต่อมาขุนบานประสงค์ จะให้มีเวลาสำหรับคนแทงหวยได้มากขึ้น จึงเลื่อนเวลาเรียกโพยออกไป ๒ ชั่วทุ่ม เมื่อตีกลองเรียกโพยแล้ว พวกแขวงก็นำโพยไปยังโรง หวย ส่งใบนำไปยังเสมียนคนที่ ๒ ส่วนโพยส่งไปยังพนักงานกอง ตรวจโพย พนักงานกองตรวจโพยแก้มัดเอาโพยออกตรวจ คน ๑ ประทับตราประจำวันของโรงหวยที่หลังใบโพยไปพลาง บอกยอดเงินที่เสมียนหวยเขียนไว้ที่หลังใบโพยไปพลาง อิกคน ๑ ก็ดีดลูกคิดรวมเงินตาม ไปจนสิ้นโพยแขวง ๑ ก็จดยอดเงินส่งไปยังเสมียนคนที่ ๒ สำหรับสอบกับใบนำที่แขวงทำยื่น ทำดังนี้ไปจนครบทุกแขวง ในตอนหวยเรียกโพยนี้เปนเวลาที่พวกแทงหวยหิ้งจะส่งโพยเข้าไปยังโรงหวย เสมียนคนที่ ๒ เปนพนักงานรับหวยหิ้ง แลรับเงินเดิมพันจากผู้แทง แล้วทำใบรับให้เปนสำคัญ ส่วนโพยนั้นส่งไปให้เสมียน กองตรวจโพยตีตราประจำวันแล้วก็เอาขึ้นแขวนไว้ใกล้ข้างน่าโรง ส่วนโพยสามัญเอาแขวนไว้ต่อเข้ามาข้างใน เมื่อเสมียนคนที่ ๒ ตรวจยอดเงินที่พนักงานกองตรวจโพยส่งมา สอบกับใบนำของแขวงจนครบทุกแขวงแล้ว จึงรวมยอดเงินขึ้นเสนอต่อขุนบานว่า เดิมพันหวยโรงเช้าวันนั้นเปนเงินเท่านั้น เมื่อเสร็จการตรวจดังกล่าวมานี้แล้วก็เปนอันเสร็จ ขุนบานจึงให้ตีกลองสัญญา ๓ ที เรียกว่าตีปุโหละ บอกว่าจะไม่รับให้แทงหวยแต่เวลานั้นอิกต่อไป เปนอันถึงเวลาที่จะออกหวย หลักที่ขุนบานจะเลือกตัวหวยออกนั้น สิ่งสำคัญก็โพยเถา คือบาญชีคนแทงหวยวันก่อนๆ ที่ให้ตรวจจดไว้ ว่าวันไหนคนแทงตัวใดมากน้อยอย่างไร ตรวจเทียบกันถอยหลังขึ้นไปตั้งเจ็ดวันแปดวัน คิดดูทางวิถีจิตรของคนแทงหวยว่าจะเปนอย่างไร แล้วคิดเลือกตัวหวยออกหลีกเลี่ยงอย่าให้แทงถูก โพยเถาของขุนบานเปนของที่ต้องปกปิดซ่อนเร้นอย่างที่สุด เพราะถ้านักเลงได้ไป จับหลักที่ขุนบานเลือกตัวหวย ได้แล้วก็อาจจะแทงถูกได้ไม่ยาก เล่ากันว่า แต่ก่อนขุนบานเอาตัวหวยออกมาแขวนไว้ในเวลาให้คนแทง เหมือนอย่างเมื่อครั้งเจ๊สัวหง แต่ถูกพวกในโรงหวยลักลอบดูตัวหวยบ้าง แม้ที่สุดจำตำหนิเชือกที่แขวนตัวหวยได้โดยความสังเกตบ้าง บอกให้คนข้างนอกแทงถูก จึงต้องเลิกวิธีเอาหวยออกแขวนก่อนนั้นเสีย รอจนถึงเวลาห้ามแทงแล้วขุนบานจึงเข้าไปหยิบตัวหวยใส่ถุง เอาออกมาแขวนที่ในมณฑลกลางโรง แล้วเปลื้องถุงออกให้เห็นตัวหวยใน ขณะนั้นเปนประเพณีดังนี้มาจนเลิกหวย เมื่อขุนบานออกหวยโรงเช้าแล้ว ลงมือจัดเรื่องโพยหิ้งก่อน ถ้าหวยกินเจ้าของก็คืนเอาโพยไป ถ้าหวยถูกก็ส่งโพยให้พนักงานแก้โพยออกตรวจ ตรวจโพยหวยหิ้งแล้วจึงตรวจโพยสามัญ ลักษณตรวจโพยสามัญนั้น ต้องเรียกระดมคนทั้งพนักงานกองตรวจโพยแลกอง เตี๊ยมเถามาช่วยกันตรวจ แต่การที่ตรวจชั้นนี้ประสงค์เพียงจะดูว่าโพยแขวงไหนถูกกี่ใบ แก้ใบโพยออกดูตัวหวยที่เขียนไว้ข้างในแล้ว กัน โพยที่มีหวยถูกไว้พวก ๑ กันโพยที่หวยกินไว้พวก ๑ ครั้นกันเสร็จแล้วจึงรวมโพยที่หวยถูกส่งไปยัง "กองนับตัวถูก" อิกกอง ๑ ซึ่งเปนผู้ชำนาญ แลมีคนไว้ใจของขุนบานฤๅตัวขุนบานอยู่กำกับด้วย ตรวจ ดูเห็นว่าเปนการถูกต้องก็ประทับตราประจำวันลงตรงตัวหวยที่ถูกทุกใบโพย ถ้าหากเห็นวิปลาศ ดังขาดเครื่องหมายตัวอักษรเช่น ก ขาด ไม้ไต่คู้ ๘ เปนต้น ขุนบานก็ตัดสิน "ตีกิน" คือว่ากิน ให้ประทับตรา ลงที่หวยนั้นหลายดวง แล้วไม่ยอมใช้เงินให้ พอตรวจคิดจำนวนเงินรู้เปนยุติว่าหวยหิ้งถูกเท่าใด ก็ใช้เงินให้ทันที ส่วนหวยสามัญแขวงใดมีหวยถูกเท่าใด เสมียนคนที่ ๒ ก็คิดบาญชีหักเงินกับแขวงให้เสร็จกันในขณะนั้น คือว่าหวยโรงเช้าวันนั้นเงินเดิมพันของแขวงนั้นเท่านั้น ถูกเท่านั้น กินเท่านั้น หักเดิมพันที่ กินใช้หวยที่ถูกเปนเงินเท่านั้น เหลือเงินเดิมพันที่แขวงจะต้องนำส่งโรงหวยฤๅถ้าถูกมากๆ โรงหวยจะต้องเพิ่มเงินให้แขวงเท่านั้น เปนยุติกันทุกแขวง ในเวลาเมื่อขุนบานตรวจโพยหวยถูกดังกล่าวมานี้ พวกพนักงานเตี๊ยมเถาก็ลงมือตรวจเตี๊ยมโพยส่วนที่หวยกินพร้อมกัน การที่เตี๊ยม เถานั้นสำหรับจะให้ขุนบานรู้ว่าหวยโรงเช้าวันนั้น ตัวไหนมีจำนวนคนแทงมากกว่ากันโดยลำดับลงมา เพื่อขุนบานจะได้คิดออกหวยโรงค่ำ หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแทงหู้ ลักษณเตี๊ยมนั้นแบ่งพนักงานออกเปน ๑๐ กอง ประสงค์จะให้พนักงานเตี๊ยมรู้โพยเถาแต่คนละเล็กละน้อย ไม่ให้สามารถหาหลักฐานสำหรับแทงหวยได้ กองเตี๊ยมเถากอง ๑ มีคนขานโพยคน ๑ คนแต้มคน ๑ คนขานโพยอ่านแต่ชื่อตัวหวยที่มี ในใบโพยไม่ต้องบอกเรือนเงิน ผู้แต้มมีกระดาษเขียนตัวหวยเรียงกัน ไว้ในนั้น ผู้อ่านขานตัวไหนครั้ง ๑ ก็แต้มหมึกลงเปนคะแนนที่ตัวหวยนั้นครั้ง ๑ พอหมดจำนวนโพยในกองของตนก็เขียนรวมยอดบอกจำนวน ที่แทงว่าตัว ก มีคนแทงกี่คน ตัว ข มีคนแทงกี่คน เปนต้นจนตลอด ทุกตัวหวย แล้วไปส่งให้ "เตี๊ยมใน" อันเปนคนสนิทของขุนบานที่ เปนผู้สำหรับรวมยอดเตี๊ยมเถาทุกแขวงเสนอต่อขุนบาน ครั้นเสร็จการเตี๊ยมเถาแล้วก็เปนเสร็จการส่วนหวยโรงเช้า ถึงเวลาที่จะเตรียมการสำหรับออกโรงค่ำต่อไป ลักษณการออกหวยโรงค่ำ ก็เปนทำนองเดียวกันกับหวยโรงเช้าหมดทุกอย่าง จะต้องอธิบายแต่เรื่องเขียนโพยซึ่งแปลกออกไปสักเล็กน้อย เพราะเมื่อคนไปแทงหวยในตอนเย็น บอกเสมียนหวยไว้เสร็จว่าให้แทงหวยโรงค่ำอย่างไร ๆ บางคนสั่งว่าหวยที่แทงวันนั้น ถ้าโรงเช้ากินให้แทงตามโรงค่ำอิก ถ้าเช่นนี้เสมียนก็เรียกเงินไว้เสร็จ แลบางที ถึงเขียนโพยเตรียมไว้แต่เวลาหวยโรงเช้ายังไม่ออก แต่บางคนสั่งว่าถ้าถูกโรงเช้าให้แทงหู้ คือเพิ่มเงินแทงหวยตัวนั้นๆ โรงเย็น ยกตัวอย่าง ดังว่าแทงตัว ก กับตัว ข ตัวละบาท ๑ แล้วสั่งไว้ว่าถ้าหวยโรงเช้าออกตัวหนึ่งตัวใด ให้เอาเงินที่ขุนบานใช้ให้แทงอิกตัว ๑ ในโรงค่ำทั้ง ๓๐ บาทก็ดี ฤๅแต่ ๒๐ บาทก็ดี อย่างนี้เรียกว่าแทงหู้ ลักษณแทงหู้ต้องถูกเสียตัว ๑ ก่อนแล้ว จึงแทงด้วยเงินกำไร เพราะฉนั้นการที่จะได้แทงฤๅไม่ได้แทงจะรู้ได้ต่อเมื่อหวยโรงเช้าออกแล้ว ด้วยเหตุนี้เสมียน หวยได้แต่จดคำสั่งไว้ในสมุดโผ ถ้าหวยโรงเช้าออกกินก็แล้วไป ถ้า ถูกก็ต้องเขียนโพยแทงโรงค่ำแทงให้เขา แต่คนแทงมีหลายรายมากด้วยกันมักถูกบ้างกินบ้างเปนปรกติ เสมียนหวยจึงต้องคอยฟังหวย โรงเช้าออกทุก ๆ คืน พอหวยออกคนโรงหวยก็เที่ยวเดินร้องบอกว่าหวยออกตัวไหน เสมียนหวยรู้ว่าหวยออกตัวไรแล้วก็ลงมือเขียนโพยหวยค่ำไปส่งแขวงอิกครั้ง ๑ เหมือนกับที่ส่งโพยหวยโรงเช้า แต่แขวง ที่อยู่ห่างไกล เช่นแขวงสามเสนฤๅถนนตกเปนต้น ที่เสมียนจะรู้ตัวหวยออก แลเขียนโพยส่งให้ไม่ทัน แขวงมาส่งโพยหวยโรงเช้าต้อง รับเอาโผของเสมียนหวยมาด้วย มาหาที่ตรวจโผเขียนโพยหวยโรงค่ำ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งใกล้โรงหวย ให้ทันส่งเวลาเรียกโพย โพยหวยโรง ค่ำ ๆ น้อยกว่าโรงเช้า ตีกลองเรียกโพยเวลาราว ๓ นาฬิกา ก.ท. พอ ๔ นาฬิกาเศษ ก็ตรวจโพยเสร็จได้ออกหวยโรงค่ำ เวลาออกหวยมีผิดปรกติปีละ ๒ คราว คือเมื่อออกพรรษาคราว ๑ เพราะคนตื่นกันเข้ามาเล่นหวยมากกว่าปรกติหลายเท่า กว่าจะได้ออกหวยโรงเช้าต่อราว ๔ นาฬิกา ก.ท. หวยโรงค่ำก็ต้องเลื่อนมาออกจนเวลาเช้าถึง ๘ หรือ ๙ นาฬิกา ก.ท. ทั้ง ๓ วัน อิกคราว ๑ ก็ตรุษจีน นั่นขุนบานประสงค์จะให้พวกที่ทำงานในโรงหวยได้ไปเล่นตรุษ ร่นเวลาเข้ามาเรียกโพยหวยโรงเช้าแต่บ่าย ๕ นาฬิกา ออกหวยโรงเช้าราว ๘ นาฬิกา หวยโรงค่ำออกราว ๑๑ นาฬิกา พอเที่ยงคืนก็ปล่อยให้ คนกลับทั้ง ๓ วัน การออกหวยในส่วนแขวงหัวเมืองนั้น พอเช้าขึ้นก็รู้ว่าหวยโรงเช้า โรงค่ำเมื่อคืนที่ล่วงแล้วออกตัวไร แขวงก็เปิดกำปั่นเอาสมุดโผออกมาคิดบาญชีกินแลถูก เหมือนอย่างในโรงหวยที่กรุงเทพฯ แล้วมอบโผคืนให้เสมียนหวยไปสำหรับเขียนหวยในวันนั้นต่อไป ลักษณออกหวยเปนดังแสดงมานี้ ว่าด้วยเงินอากรหวย ในบรรดาการงานที่ใช้คนมาก เห็นจะไม่มีการอันใดที่ทำเปนระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้นไปกว่าอากรหวย นับตั้งแต่วิธีจัดน่าที่ต่างๆ ตลอดจนฝึกหัดผู้คนใช้สรอยประจำการ ล้วนคล่องแคล่วชำนิชำนาญใครได้ไปดูในโรงหวย เพียงเห็นแต่พวกเด็ก ๆ ที่เขาหัดให้ตรวจโพย ก็ต้องเห็นเปนอัศจรรย์ บางทีถึงนึกว่าน่าเสียดาย การที่ทำได้เรียบ ร้อยถึงปานนั้น ไปเปนปรปักษ์เสียกับความเจริญของบ้านเมือง หา ไม่ก็จะเปนของควรอวดแขกบ้านแขกเมืองได้สักอย่าง ๑ ข้อที่การอากรหวยทำเปนระเบียบเรียบร้อยได้นั้น เพราะเหตุที่นายอากรเปนผู้ที่จะได้จะเสียในวิธีที่ทำการ ถ้าทำดีก็รวย ถ้าทำพลาดก็ฉิบหาย เพราะฉนั้นถึงนายอากรจะเปลี่ยนตัวกันเปนปีๆ ความมุ่งหมายของผู้เปนนายอากรทุกคนย่อมเปนอย่างเดียวกัน คือคิดอ่านแต่จะให้การสดวกดีอย่างที่สุดแลให้เปลืองตัวน้อยที่สุดด้วยกันทั้ง ๒ สถาน เมือนายอากรคนใดเห็นว่าวิธีการทำอย่างใดดี ก็เอาเปนแบบอย่างทำตามต่อกันมา วิธีการอย่างใดจะต้องแก้ไขฤๅจะต้องคิดขึ้นใหม่ ก็ต้องทำโดยความระมัดระวังไม่สุ่มสี่สุ่มห้า ครั้นได้วิธีอย่างใดดี คนภายหลังก็ต้องเอาอย่างนั้น เปนแบบแผนทำต่อๆ กันมา ด้วยเหตุนี้การในอากรหวยจึงมีแบบแผนทำลงรูปเรียบร้อย จนแทบจะไม่มีทางที่จะแก้ไขให้สดวกดียิ่งขึ้นไปได้ เว้นอย่างเดียวแต่เรื่องรักษาความสะอาดในโรงหวย ส่วนพวกคนทำการอากรหวยตั้งแต่เสมียนเขียนหวยจนพนักงานในโรงหวย เปนคนทำประจำ ที่อยู่โดยมาก ใครทำการอย่างใดก็ทำอย่างนั้นเสมอทุก ๆ วันก็ชำนิชำนาญ ว่าโดยย่อเพราะอากรหวยอาไศรยความคุ้นเคยเปนหลัก ทำติดต่อกันมาช้านาน วิธีการจึงเปนระเบียบเรียบร้อยถึงที่สุดที่จะเปนได้ การอย่างอื่นในอากรหวยได้อธิบายมาแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงการอันเกี่ยวด้วยเรื่องเงินในอากรหวยต่อไป ประเพณีในการอากรหวยถือเปนหลักอย่าง ๑ ที่ต้องใช้เงินสดกันไม่ให้ติดค้าง ที่จำเปนจะต้องติดค้างบ้างก็มีกำหนดแน่นอนไม่หละ หลวม ยกตัวอย่างเหมือนดังการส่งเงินเดิมพันที่เสมียนหวยส่งแขวง ก็ดี ที่แขวงส่งขุนบานก็ดี จะส่งเงินเดิมพันทุกวันพร้อมกับโพยหวย ไม่ได้ ด้วยจะต้องมีเงินสำรองไว้สำหรับใช้คนถูกหวย ทั้งที่แขวง แลที่ร้านเขียนหวย เขาจึงตั้งกำหนดเงินสำรอง เปนต้นว่าเสมียน หวยคน ๑ แขวงยอมให้เอาเงินเดิมพันไว้เปนเงินสำรองได้เท่านั้น ๆ เปนกำหนด ต่างกันตามที่เปนร้านมีคนแทงมากฤๅน้อย ถ้าเงินเดิมพันอยู่ในมือมากกว่ากำหนดเมื่อใดต้องส่งทันที ถ้าขืนเอาไว้แม้เกินไปจนบาท ๑ ก็ปรับ ส่วนแขวงขุนบานก็กำหนดเงินสำรองให้อย่างเดียวกัน แต่ ถึงเวลาหวยออก เมื่อคิดบาญชีเงินได้เสียเปนต้องสอบให้รู้กันทุกวัน ว่ามีตัวเงินสดของขุนบานอยู่ที่แขวงใดเท่าใด แลแขวงก็สอบว่ามีตัวเงินสดของแขวงอยู่ที่เสมียนหวยคนใดเท่าใดทุกๆ วัน ดังนี้เปนตัวอย่าง ส่วนเงินอากรที่ขุนบานต้องส่งพระคลังนั้น ได้ยินว่าเมื่อแรกตั้งอากรหวยในรัชกาลที่ ๓ เงินอากรหวยเพียงปีละสองร้อยห้าสิบชั่ง คือ ๒๐,๐๐๐ บาท มาถึงรัชกาลที่ ๔ เงินอากรมากขึ้นเปนปีละสองพันห้าร้อยชั่ง คือ ๒๐๐,๐๐๐บาท๑เงินอากรหวยขึ้นมากถึงที่สุดเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ตรงกับปีกุญ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ เปนเงินปีละสี่หมื่นแปดพันร้อยยี่สิบชั่ง คือ ๓,๘๔๙,๖๐๐ บาท วิธีส่งเงินอากรหวย รัฐบาล ให้ส่งเหมือนกับเงินภาษีอากรผูกขาดอย่างอื่น คือนายอากรต้องนำเงินส่งพระคลังล่วงน่าเท่าอัตราเงินงวด ๓ เดือน รัฐบาลเอาไว้เปนเงินประ กัน ๒ เดือน เปนเงินงวดสำหรับเดือนต้นเดือน ๑ ต่อไปพอขึ้นเดือนไหนนายอากรต้องส่งเงินงวดสำหรับเดือนนั้นล่วงน่า ตั้งแต่เดือนที่ ๒เปนต้นไป จนถึงเดือนที่๑๑ ที่๑๒ รัฐบาลจึงยอมหักเงินประกันให้เปนเงินงวดต่อไปจนสิ้นปี เงินเดิมพันคนแทงหวยในตอนหลังนี้ ทราบว่าหวยโรงเช้าราว ๓๐,๐๐๐บาทหวยโรงค่ำราว๑๐,๐๐๐บาทรวมกันราวคืนละ ๔๐,๐๐๐ บาท เปนปานกลาง บางทีถึงเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ก็มี เวลาตรุษจีน ๑ ตามบาญชีของสังฆราชปัลถัวมีในหนังสือเซอยอนเบาริงเดิมพันมากกว่าปรกติราวคืนละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ออกพรรษาวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำขึ้น ๑๕ ค่ำ ๒ คืนนี้เงินเดิมพันขึ้นไปถึงคืนละราว ๑๒๐,๐๐๐ บาท บางปีถึง ๑๔๐,๐๐๐ บาทก็มี โดยปรกติ ขุนบานจะต้องออกหวยให้กิน คืน ๑ ราวสัก ๑๐,๐๐๐ บาท จึงจะไม่ขาดทุน เพราะเงินอากรต้องส่งพระคลังมาก แลค่าใช้สรอยในการทำอากรหวยก็มาก แลยังบางที หวยตาย เขาแทงถูก ขุนบานต้องใช้เขามากๆ คน ๑ คน ตั้ง ๑๐,๐๐๐ บาท บางทีถึง ๓๐,๐๐๐ บาท ก็มักมีเนืองๆ ทุกปีไม่ขาด แต่ถึงกระนั้น นายอากรก็คงได้กำไรมากบ้างน้อยบ้างทุกปี ที่จะขาดทุนนั้นน้อยนักเคยได้ยินว่านายอากรหวยขาดทุน ถึงรัฐบาลต้องให้คืนอากรกลางปีแต่คราวเดียว เหตุที่ขาดทุนนั้นเพราะไม่มีตัวเงินสดจะสำรองส่งเงินงวดของหลวง ด้วยธรรมดาการแทงหวยไม่เสมอกันตลอดปี ในตอนต้นๆ ปีไปจนเข้าพรรษาเดิมพันหวยน้อยกว่าตอนปลายปี นายอากรออกหวยกินไม่ใคร่ท่วมเงินงวดของหลวง ต้องหาเงินจากที่อื่นมาสำรองไว้ส่งแทนเงินที่ขาด นายอากรคนนั้นหาเงินสำรองได้ไม่พอจึงต้องออกจากตำแหน่งขุนบาน แต่ก็ยังมีผู้อื่นที่จะรับทำอากรเปนอันมาก จึงได้ประมูลอากรหวยมามิได้ขาด จนเมื่อปีที่สุดก่อนที่จะเลิก เงินอากรหวยยังสูงถึง ๓,๔๒๐,๐๐๐ บาท ว่าด้วยเลิกหวย เรื่องที่จะเลิกอากรหวย เมื่อในรัชกาลที่ ๕ เปนข้อซึ่งทรงพระราชดำริห์ตกลงแล้วว่าจะเลิกก็จริง แต่ยังหาได้มีความคิดเปนยุติว่าจะเลิกเมื่อไรในครั้งนั้นไม่ ด้วยเงินผลประโยชน์แผ่นดินที่ได้จากอากรบ่อนเบี้ยกับอากรหวยรวมกัน เคยได้อยู่เปนอย่างมากถึงปีละ๙,๑๗๐,๖๓๕ บาท จะตัดขาดหมดในทันที ฤๅแม้แต่ภายในน้อยปี เกรงผลประโยชน์ แผ่นดินที่จะเกิดขึ้นทดแทนทางอื่นจะขึ้นไม่ทันกัน ก็จะกลับเปนเหตุติดขัดในการงานที่จะทรงจัดราชการบ้านเมืองเพราะเงินไม่พอจ่าย ด้วยเหตุนี้ความมุ่งหมายในรัชกาลก่อนมีอยู่เพียงจะผ่อนลดเบี้ยลงโดยลำดับ เมื่อเลิกบ่อนเบี้ยหมดแล้วจึงจะเลิกอากรหวยต่อทีหลัง มาถึงรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อโปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยต่อมาจนเหลืออยู่แต่ ๕ ตำบล ความปรากฎเพียงว่ามีพระราชประสงค์จะให้เร่งเลิกบ่อนเบี้ยแลอากรหวยให้เร็วกว่าแต่ก่อน ได้โปรดให้กระทรวงพระคลังรวบรวมเงินเหลือจ่ายประจำปีเตรียมไว้ทดแทนเงินที่จะตก คนทั้งหลายภายนอกยังเข้าใจกันอยู่ว่า กระทรวงพระคลังคงจะเลิกบ่อนให้หมดก่อน แล้วจึงคิดเลิกอากรหวยต่อไป เพราะเงินอากรทั้ง ๒ อย่าง รวมกัน แม้เมื่อเลิกบ่อนเบี้ยไปเปนอันมากแล้ว ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ เงินยังมากถึงราวปีละ ๖,๖๐๐,๐๐๐ บาท อิกประการ ๑ การที่จะเลิกอากรหวยไม่มีทางที่จะผ่อนลดลงได้เหมือนกับบ่อนเบี้ย ต้องคงไว้ทั้งนั้น ฤๅเลิกหมดในคราวเดียว ด้วยเหตุนี้คนภายนอกจึงไม่ได้คาดว่ากระทรวงพระคลังจะสามารถเลิกอากรหวยได้โดยเร็ว ไม่มีใครรู้ว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังได้ทรงพยายามตระเตรียมการมาแล้วหลายปี ครั้นเห็นประกาศปรากฎว่า ทรงพระกรุณาโปรดให้เลิกอากรแลห้ามการเล่นหวย ตั้งแต่ปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ไป ก็เปนการผิดคาดปลาดใจของคนทั้งหลาย เปนเหตุให้บังเกิดความชื่นชมยินดีในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั่วไปเปนอันมาก

อากรหวย ก.ข. แรกตั้งขึ้นในเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๓๗๘ เลิกในรัชกาลที่ ๖ เมื่อณวันที่ ๑ เมษายน ปีมโรง พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ ประมวลเวลาอายุของอากรหวย ก.ข. ตั้งแต่เกิดขึ้นในเมืองไทยจนกระทั่งเลิกลับดับสูญ พอได้ ๘๑ ปี

ว่าด้วยคุณแลโทษของหวยแลบ่อนเบี้ย

จะกล่าวแถมท้ายถึงคุณแลโทษของหวยแลบ่อนเบี้ยต่อไปอิกสักหน่อย อากรทั้ง ๒ อย่างนั้น เปนการค้าความชั่วก็จริง แต่ถ้าจะค้นหาข้อที่เปนคุณก็มีอยู่บ้าง จะว่าแต่ที่เปนข้อสำคัญ คือ ที่เปนอุบายการเก็บภาษีจากราษฎรอย่างหมดจด (ที่ว่าหมดจดนั้นไม่ได้หมายความว่าดี) ถ้าหากว่า ประสงค์แต่จะให้ได้เงินเปนประมาณแล้ว ไม่มีวิธีเก็บภาษีอากรอย่างอื่นจะสดวกยิ่งกว่าอากรหวยแลบ่อนเบี้ย เพราะรัฐบาลไม่ต้องตั้งพิกัดอัตราเรียกเร่งรบกวนให้ราษฎรบ่นว่าเดือดร้อน ราษฎรก็พากันสมัคหาเงินมาเสียให้รัฐบาล แม้จนสิ้นเนื้อประดาตัว ที่สุดถึงต้องขายสมบัติบ้านช่องตลอดจนขายตัวเอง ก็ยังเต็มใจที่จะเสียภาษีโดยทางบ่อนเบี้ยแลอากรหวย ไม่มีคนเสียคนใดที่จะบ่นว่าเดือดร้อนเพราะมีบ่อนเบี้ยฤๅมีโรงหวย อย่างว่าเวลาโทมนัศเมื่อเล่น หวยเล่นเบี้ยเสียทรัพย์มาก ก็โทษตัวเองว่าเพราะคิดไม่ถูกฤๅเคราะห์ไม่ดี ที่จะโทษหวยแลบ่อนเบี้ยนั้นหามีไม่ ส่วนคุณของหวยแลบ่อนเบี้ยเห็นมีอยู่เท่านี้ แต่ส่วนโทษนั้นมีเปนเอนกปริยาย ว่าโดยย่อก็คือ เปนเหตุที่ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองยากจน ไม่มีกำลังที่จะประกอบการให้ตนเองแลบ้านเมืองมีความเจริญประการ ๑ เปนเหตุให้ไพร่บ้านพลเมืองเกิดนิไสยเปนคนพาลสันดานชั่วประการ ๑ แต่ถ้าจะพิจารณาต่อไปว่า หวยกับบ่อนเบี้ยให้โทษผิดกันอย่างไร เห็นว่า บ่อนเบี้ยให้โทษแก่คนชั้นต่ำเปนพื้น เพราะการเล่นเบี้ยต้องไปเล่นถึงบ่อน จึงมักไปเล่นแต่คนชั้นต่ำ คนชั้นสูงที่ไปเล่นเบี้ยถึงบ่อนโดยตรงฤๅลักเล่นเบี้ยตามบ้านเรือนมีไม่มากมายเท่าใดนัก ส่วนหวยนั้นให้โทษแก่คนชั้นสูงมากกว่าคนชั้นต่ำ เพราะอาจจะเล่นได้ในที่ลับ ไม่ต้องออกหน้าไปแทงถึงโรงหวย ผู้ดีจึงชอบเล่น กระบวนทางได้เสียก็ผิดกัน เล่นเบี้ยนั้น มีทุนไปเท่าใดก็มักเล่นหมดพกในเวลาเดียว แต่เล่นหวย ชักทุนทีละน้อยค่อยเล่นค่อยเปลืองไป ถ้าจะอุประมา คนเล่นเบี้ยเหมือนเปนอหิวาตะกะโรค คนเล่นหวยเหมือนเปนวรรณโรค ใครลงได้เปนแล้วก็มักตายผิดกันแต่อย่างหนึ่ง ตายเร็ว อิกอย่างหนึ่ง ตายช้า ที่นักเลงเล่นเบี้ยฤๅเล่นหวยคนใดจะเล่นรวยจนถึงตั้งตัวได้เพราะการเล่นเบี้ยเล่นหวยนั้นยังไม่ปรากฎตัวเลย กล่าวกันว่า พระภาษี เล็ก ตั้งตัวได้จนถึงได้สร้างวัดด้วยเล่นเบี้ยมีอยู่คน ๑ แต่ก็มิใช่รวยเพราะแทงถั่วโปฤๅแทงหวย ที่ตั้งตัวได้เพราะรับผูกอากรบ่อนเบี้ยแลทำภาษีอากรอย่างอื่นด้วย จึงได้รวยจนได้สร้างวัดภาวนาภิรตารามอันปรากฏอยู่ในคลองบางกอกน้อยนั้น แต่ถึงจะมีบ้างก็ไม่ถึงหนึ่งในหมื่นในแสนของจำนวนคนที่เสียทรัพย์เสียตัวป่นปี้ไปเพราะหลงเล่นเบี้ยแลเล่นหวย เพราะฉนั้น ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพยายามมาทั้ง ๒ รัชกาล จนได้เลิกหวยแลบ่อนเบี้ยหมดสิ้นสยามประเทศนี้ ควรคนทั้งหลายจะระฦกถึงพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ ทั่วกัน.

แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ที่ใครจะหวนกลับไปติโทษรัฐบาลแต่ก่อน แม้แต่ครั้งกรุงเก่า ในข้อที่ตั้งอากรบ่อนเบี้ยแลอากรหวยขึ้นก็ดี ฤๅในข้อที่ยอมให้อากรทั้ง ๒ นี้มีมาเปนช้านานก็ดี ก็หาควรไม่ เพราะรัฐบาลทั่วทุกประเทศจำต้องมีเงินสำหรับใช้สรอยในการปกครองบ้านเมือง ก็ต้องขอเฉลี่ยเรี่ยรายมาจากราษฎร จึงต้องคิดวิธีการเก็บภาษีอากร โดยประสงค์จะให้ได้เงินมาให้พอใช้ในการปกครองบ้านเมืองนั้นอย่าง ๑ จะเก็บแต่พอควรแก่กำลังที่ราษฎรจะเสียได้ คือ ใครมีน้อยก็ให้เสียแต่น้อย ใครมั่งมีมากก็ให้เสียมากขึ้นไปตามกำลังอย่าง ๑ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องคิดวิธีเก็บภาษีอากรเปนหลายอย่างหลายประการ แต่เมื่อคิดจะเก็บภาษีอากรอย่างใด ย่อมคิดโดยตั้งใจจะมิให้ราษฎรได้ความเดือดร้อน แลมิให้เปนการเสื่อมเสียแก่บ้านเมือง ก็อากรบ่อนเบี้ยก็ดี อากรหวยก็ดี มิได้เปนการบังคับเรียกเอาเงินทอง แล้วแต่ใครจะสมัคก็เล่น ไม่สมัคเล่นก็แล้วไป จึงนับว่า ไม่เปนการเดือดร้อนแก่ราษฎร ข้อที่เกรงว่า จะเปนการเสื่อมเสียแก่บ้านเมืองนั้นเล่า ในชั้นแรกเมื่อคนยังเล่นกันน้อย ก็ยังไม่ปรากฏการเสื่อมเสียอย่างใด ต่อนานมาเมื่อคนชอบเล่นกันแพร่หลายไปทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง โทษที่เกิดแต่อากรบ่อนเบี้ยแลอากรหวยจึงปรากฏกระจ่างขึ้นโดยลำดับมา ถึงกระนั้น ราษฎรเองก็มิได้แลเห็น ยังหลงเล่นกันอยู่ตั้งหมื่นตั้งแสน มิได้อยากจะให้รัฐบาลเลิกบ่อนเบี้ยแลอากรหวย ฝ่ายรัฐบาลเมื่อแลเห็นโทษของบ่อนเบี้ยแลอากรหวย ประสงค์จะเลิก ก็ยังติดขัดด้วยเงินอากร ๒ อย่างนี้เพิ่มพูลมาโดยลำดับ จนเปนผลประโยชน์อย่างสำคัญในทางได้ของรัฐบาลส่วน ๑ ซึ่งตัดขาดในทันทีจะเสียราชการบ้านเมือง เพราะเหตุนี้ จึงยังมีอากรทั้ง ๒ อย่างนั้นมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงได้เริ่มจัดการที่จะเลิกบ่อนเบี้ยแลอากรหวย ดังแสดงมาในเรื่องตำนาน

จบเรื่องตำนานเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยเพียงนี้ ๚ะ

  1. มีในจดหมายเหตุของหมอครอฟอตซึ่งเปนทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒
  2. ตามบาญชีของสังฆราชปัลคัว มีในหนังสือเซอยอนเบาริง

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก