ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 2 (2457)/เรื่องที่ 5

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ พงศาวดารเมืองกลันตัน
พงษาวดารเมืองกลันตัน
(ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน)

ได้ทราบว่า เดิมเมืองกลันตันเปนบ้านเล็กเมืองน้อยอยู่ แต่พรรคพวกของตัว เมื่อตุวันมาโซเปนเจ้าเมืองตรังกานู ตั้งบ้านเมืองเปนพากภูมขึ้นแล้ว ยกทัพมาตีเมืองกลันตันไปเปนหัวเมืองขึ้นเมืองตรังกานู วงษ์ตระกูลเจ้าเมืองกลันตันครั้งนั้นจะสาบสูญไปอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่เมืองกลันตันมีที่ฝังศพอยู่ตำบลหนึ่ง ทำไว้มั่นคงงดงาม ดูจะเปนที่ฝังศพผู้ดีอยู่ แต่ทุกวันนี้ หามีผู้ใดไปคำนับปีใหม่ตามธรรมเนียมแขกไม่ ที่ตำบลนั้นกับที่ฝังศพวงษ์ตระกูลพระยากลันตันทุกวันนี้ไกลกันประมาณ ๕ เส้น วงษ์ตระกูลพระยากลันตันก็ไม่ได้ไปคำนับ

วงษ์ตระกูลพระยากลันตัน สะนิปากแดง ทุกวันนี้ เดิมรายาทวอเปนพระยากลันตัน ก็ยังเปนหัวเมืองขึ้นเมืองตรังกานูอยู่ พระยากลันตัน รายาทวอ เปนเจ้าเมืองมาช้านาน มีบุตรชายชื่อ ตุหวันหลงมะหมัด ๑ ชื่อ ตุหวันตำมะโหงง ๑ ชื่อ ตุหวันบาโหงย ๑ ชื่อ ตุหวันหลงษาลอ ๑ แต่ต่างมารดากัน ครั้นพระยากลันตัน รายาทวอ ถึงแก่กรรมแล้ว บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ ปฤกษาพร้อมกันให้เรียกชื่อศพพระยากลันตัน รายาทวอ ว่า บาระหุมหลงยุนุ

บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ พร้อมกันยกตุหวันหลงมะหมัด บุตรผู้ใหญ่ของบาระหุมหลงยุนุ ขึ้นเปนพระยากลันตัน ยกตุหวันหลงษาลอขึ้นเปนรายามุดา เรียก พระยาบ้านทะเล ยกตุหวันตำมะโหงงเปนพระยาตำมะโหงง ตุหวันบาโหงยเปนพระยาบาโหงย เมืองกลันตันก็ยังเปนเมืองขึ้นเมืองตรังกานูอยู่ แต่ศักราชปีจำไม่ได้

ภายหลัง พระยากลันตันมีความโกรธพระยาตรังกานู แล้วปฤกษาพี่น้อง ศรีตวันกรมการ พร้อมกันจะทำต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ ทูลเกล้าฯ ถวาย ขอแยกเมืองกลันตันออกจากเมืองตรังกานู พระยากลันตันทำต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ พร้อมแล้ว ส่งมาเมืองสงขลานำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ขออยู่ใต้บังคับเมืองสงขลาเหมือนเมืองตรังกานู พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯ ดำรัสว่า เมืองกลันตันกับเมืองตรังกานูพรมแดนต่อกันอยู่ เกิดวิวาทไม่เข้ากันแล้วจะมาอยู่ในบังคับเมืองสงขลาด้วยกัน ถ้าพระยากลันตันทำความชอบความดีเกินหน้าเมืองตรังกานู พระยาตรังกานูจะเห็นไปว่า กรุงเทพฯ ทำนุบำรุงเมืองกลันตัน พระยาตรังกานูจะมีความน้อยใจไม่รู้หาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกลันตันมาอยู่ในใต้บังคับเมืองนครศรีธรรมราช เมืองกลันตันจึงได้ขาดจากเมืองตรังกานูแต่นั้นมา

พระยากลันตัน หลงมะหมัด ไม่มีบุตร พระยาตำมะโหงงมีบุตรชายชื่อ ตุวันกอตา ๑ ชื่อ ตุวันนิกากับ ๑ ชื่อ ตุวันสนิปากแดง ๑ ชื่อ ตุวันมุสู ๑ สี่คน พระยาบาโหงยมีบุตรชายชื่อ ตุวันตะเงาะ ๑ รายามุดา พระยาบ้านทะเล มีบุตรชายชื่อ ตุวันปะษา ๑ ชื่อ ตุวันนุสู ๑ สองคน เมื่อพระยาตำมะโหงงตายแล้ว พระยากลันตันรับตุวันกอตา ตุวันนิกากับ ตุวันสนิปากแดง ตุวันมุสู ไปเลี้ยงรักษาไว้ พระยากลันตันมีความรักตุวันสนิปากแดงมากกว่าพี่น้องทั้งปวง รายามุดา พระยาบ้านทะเล ถึงแก่กรรมก่อนพระยากลันตัน ครั้นณปีจอ สัมฤทธิศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยากลันตันถึงแก่กรรม อายุได้ ๙๓ ปี ได้เปนเจ้าเมืองว่าราชการอยู่ ๕๓ ปี ญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ปฤกษาพร้อมกันให้เรียกชื่อศพพระยากลันตัน หลงมะหมัด ว่า บาระหุมหลงมะหมัด พระราชทานเงินสลึงทำบุญในการศพ ๓๒๐๐ สลึง เปนเงิน ๑๐ ชั่ง

ณปีจอ สัมฤทธิศก แต่บรรดาหลาน แลญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า ตุวันสนิปากแดงเปนคนมีสติปัญญา บาระหุมหลงมะหมัดก็รักใคร่มาก ควรยกขึ้นเปนพระยากลันตันว่าราชการบ้านเมืองต่อไป ตุวันสนิปากแดงจึงจัดทำต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ แล้วแต่งให้พระยาบาโหงย ตุวันมุสู น้องตุวันสนิปากแดง ตุวันปะษา บุตรรายามุดา พระยาบ้านทะเล กับศรีตวันกรมการ ถือใบบอกส่งต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ มาณเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราชนำเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทถวายต้นไม้ทองเงินณกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า ญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ปฤกษาพร้อมกันให้ตุวันสนิปากแดงเปนพระยากลันตัน ก็โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตุวันสนิปากแดงเปนพระยากลันตันตามที่ได้ปฤกษาพร้อมนั้น แล้วตั้งให้ตุวันกอตา พี่พระยากลันตัน เปนพระยาสุนทรธิบดีศรีสุลต่านเดหวามหารายา พระยาจางวาง ตั้งให้ตุวันสนิกากับ พี่พระยากลันตัน เปนตนกูศรีอินดาราประตามหามนตรี ตั้งให้ตุวันมุสู น้องพระยากลันตัน เปนรายามุดา แต่บรรดาบุตรหลานบาระหุมหลงมะหมัดนั้นให้เรียกเปนตนกูทั้งสิ้น แต่พระยาบาโหงย ตนกูปะษานั้น หาได้โปรดตั้งให้มียศบรรดาศักดิ์ออกไปไม่ พระยาบาโหงย รายามุดา ตนกูปะษา เชิญท้องตราตั้งพระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้หลวงไชยพลภักดิ์กำกับไปถึงเมืองกลันตัน พระยาบาโหงยไม่ขึ้นเมืองกลันตัน เลยไปอยู่เมืองปาหัง แต่รายามุดา ตนกูปะษา ขึ้นเมืองกลันตัน พระยากลันตันรับแห่ท้องตราแล้ว ตนกูปะษาไปฟังท้องตราวันหนึ่งแล้วไม่ไปหาพระยากลันตันอิก เพราะตนกูปะษามีความโทมนัศว่า เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลยกย่องพระยากลันตันจนได้เปนเจ้าเมืองแล้ว ตัวไม่ได้เปนที่มียศบ้าง ก็อายแก่พรรคพวกบ่าวไพร่ ประการหนึ่ง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา เก็บริบเอาที่ไร่นาสวนป่าไม้ของตนกูปะษากับพวกตนกูปะษาไป ตนกูปะษาไปว่าแก่พระยากลันตัน ๆ ให้รายามุดา ตนกูศรีอินดารา คืนให้ ก็ไม่ได้ ประการหนึ่ง เข้าสารซื้อออกไปแต่กรุงเทพฯ จะจำหน่ายก็ไม่ได้ ด้วยพระยากลันตัน รายามุดา ป่าวร้องห้ามไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าไม่ให้มาซื้อเข้าสารตนกูปะษา ๆ ก็ยิ่งมีความโทมนัศมากขึ้น

ณวันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีจอ สัมฤทธิศก ตนกูปะษามีหนังสือไปชักชวนพระยาบาโหงย ตนกูตะเงาะ ตนกูหลงฮามัด มาคิดพร้อมกันกับพวกบุตรตนกูศรีปัตรามหารายาทั้งปวง ตั้งค่ายรอบบ้านตนกูปะษาแลตามลำน้ำใหญ่ถึงตลาด ๑๐ ค่าย ฝ่ายใต้ตั้งค่ายถึงสุหัยปีนังกับทำค่ายล้อมบ้านพระยากลันตัน ๓ พวก ๆ ตนกูปะษาพวกหนึ่ง พวกตนกูหลงฮามัดพวกหนึ่ง ตนกูศรีปัตรามหารายาพวกหนึ่ง ฝ่ายพระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ก็ตั้งค่ายสู้รบถึงยิงปืนใหญ่เล็กยังไม่แพ้ชนะกัน

พระยากลันตันมีใบบอกมายังเมืองนครศรีธรรมราช ณวัน ๑ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุน เอกศก แต่ครั้งนั้น พระยาศรีพิพัฒน์เปนแม่ทัพ ยกทัพกรุงเทพฯ ออกไปช่วยเมืองไทรบุรีรบตนกูมัศสาอัด หลานเจ้าพระยาไทรบุรี เปนขบถ พระยาศรีพิพัฒน์พักกองทัพอยู่เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้นำใบบอกไปปฤกษาพระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ ณเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ แต่งให้หลวงศรเสนี นายไพร่ ถือหนังสือไปด้วยเรือแกล้วกลางสมุทห้ามปรามพระยากลันตัน ตนกูปะษา มิให้วิวาทกัน หลวงศรเสนีไปถึงเมืองกลันตันณวันพุฒ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ ปีกุน เอกศก

ฝ่ายพระยาบาโหงยรู้ว่า หลวงศรเสนีพาเรือแกล้วกลางสมุทไปถึงเมืองกลันตัน ก็กลัวตัวมีความผิดอยู่ จึงชักชวนตนกูตะเงาะ ตนกูหลงฮามัด กับสมัคพรรคพวก นายไพร่ หนีไปอยู่ที่บ้านสลง แขวงเมืองตรังกานู หลวงศรเสนีหาได้พบตัวพูดจาไม่

หลวงศรเสนีว่ากล่าวห้ามปราม พระยากลันตัน ตนกูปะษา ก็หยุดรบกันแล้ว หลวงศรเสนีพาตัวตนกูปะษาขึ้นมาหาพระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ ณเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ ว่ากล่าวสั่งสอน ตนกูปะษาก็มีความอ่อนน้อม ให้ทานบนว่า ไม่วิวาทกับพระยากลันตัน

พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ จึงให้หลวงศรเสนีถือใบบอกพาตนกูปะษากับสมัคพรรคพวกมาด้วยเรือแกล้วกลางสมุทเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกรุงเทพฯ ตนกูปะษารับสารภาพผิด ไม่คิดวิวาทกับพระยากลันตันต่อไป ขอกลับออกไปทำราชการอยู่ด้วยพระยากลันตันตามเดิม

เจ้าพนักงานนำคำให้การทานบนตนกูปะษาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แลนำตนกูปะษาเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท มีพระราชปฏิสันถารแก่ตนกูปะษาหลายประการ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราถึงพระยาศรีพิพัฒน์ฉบับหนึ่ง พระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา ฉบับหนึ่ง ให้หลวงศรเสนีพาตนกูปะษากลับออกไปหาพระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ ณเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ ได้มีหนังสือถึงพระยากลันตันฉบับหนึ่ง ให้ตนกูปะษาเชิญท้องตราไปณเมืองกลันตัน ตนกูปะษากับพวกไปถึงเมืองกลันตันณวันอาทิตย์ เดือน ๑ แรม ๘ ค่ำ ปีกุน เอกศก ตนกูปะษาให้คนไปบอกพระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา ๆ ให้ศรีตวันกรมการ นายไพร่ มารับแห่ท้องตราแลหนังสือพระยาศรีพิพัฒน์ไปบ้านพระยากลันตันตามธรรมเนียม ตนกูปะษาไปหาพูดจากับพระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา เรียบร้อยเปนปรกติ พระยากลันตันแบ่งแขวงขึ้นเมืองกลันตันให้แก่ตนกูปะษา ๕ ตำบล ที่ไร่นาผู้คนซึ่งเกี่ยวข้องอยู่แต่ก่อนพระยากลันตันได้คืนให้เสร็จแล้ว ไพร่บ้านพลเมืองก็เรียบร้อยดี

ณวัน ๒ เดือน ๑๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีชวด โทศก พระยากลันตันมีใบบอกมายังเมืองนครศรีธรรมราชฉบับหนึ่ง หลวงศรีปะตุกาอาหลีซึ่งไปฟังราชการอยู่ณเมืองกลันตันบอกมาฉบับหนึ่ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชบอกนำส่งเข้ามาณกรุงเทพฯ มีความว่า เดิมพระยากลันตันให้ทำบาญชีเก็บส่วยจะทำต้นไม้ทองเงิน ใช้คนไปบอกพระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ให้มารับตราบาญชี ก็ไม่มา ภายหลังว่า ให้แบ่งแขวงให้เสร็จก่อน พระยากลันตันจึงแบ่งแขวงให้พระยาจางวางเท่ากับพระยากลันตัน รายามุดา ส่วนหนึ่ง ตนกูศรีอินดาราส่วนหนึ่ง บรรดาส่วยในเมืองก็แบ่งให้เหมือนกัน ภายหลัง คนร้ายก็เข้าอยู่ด้วยพระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา มาก ทำข่มเหงฟันแทงราษฎร ๆ มาฟ้องหลายราย พระยากลันตันว่ากล่าวก็ไม่ได้ พระยาจางวางใช้ให้รายามุดามาขอตราชื่อบารหุมต่อพระยากลันตัน ๆ ว่า ให้มาขอต่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยาจางวางว่า ถ้าไม่ให้ตรา จะทำให้วุ่น ไม่ให้สบาย พระยาจางวางทำตราหนังสือออกชื่อสุลต่านกลันตัน พระยากลันตันกับพระยาจางวางไม่ไว้ใจกัน พระยากลันตัน พระยาจางวาง ขุดคูทำสนามเพลาะสูง ๓ ศอก ๔ ศอกรอบบ้านทั้งสองบ้าน แลบ่าวพระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ทำข่มเหงฟันแทงบ่าวพระยากลันตันเนือง ๆ พระยากลันตันเหลือที่จะอดทนแล้ว ขอให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชหาตัวพระยาจางวางมาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ราชการที่เมืองกลันตันจะได้เรียบร้อย

เจ้าพนักงานนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯ ดำรัสว่า พระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา เปนพี่น้องกัน แต่ก่อนว่า รักใคร่กัน จะช่วยกันรักษาบ้านเมืองให้เรียบร้อย จึงได้ตั้งแต่งมียศบรรดาศักดิ์ออกไป ครั้นเหตุการเปนขึ้นเล็กน้อย จะรีบเอาตัวมายึดไว้ก็ยังไม่ควร จะเปนไปว่า เห็นแก่พระยากลันตันฝ่ายเดียว ต่อไปภายน่าจะสมานกันยาก จึงโปรดเกล้าฯ มีท้องตราออกไปถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่า ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีหนังสือขู่ว่ากล่าวให้แขงแรง ให้กรมการถือไปถึงพระยากลันตัน พระยาจางวาง สักครั้งหนึ่งก่อน การเห็นจะพอสงบไปได้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงมีหนังสือให้หลวงประเทศสงครามถือไปถึงพระยากลันตัน พระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ทราบความแล้ว พระยาจางวางว่าการสิ่งใด จะปฤกษาให้แก่พระยากลันตัน ถ้าผู้ใดทำผิด ก็ให้ทำตามโทษ แลครั้งนั้น พระยาจางวางทำบุญเข้าแขก บุตรพระยาจางวางก็ไปหาพูดจาเปนปรกติ แต่กิริยาพระยาจางวางกับพระยากลันตันไม่วางใจกันสนิท

ณวันอาทิตย์ เดือนเก้า ขึ้นสิบสองค่ำ ปีฉลู ตรีศก ตนกูปะษาเข้ามากรุงเทพฯ กล่าวโทษพระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา กูสะริมะ ว่า เก็บเอาที่นาสวนป่าไม้เรือนของตนกูปะษา พวกตนกูปะษาอิก ๑๙ เจ้าของ ตนกูปะษาได้บอกพระยากลันตัน ๆ บังคับให้คืนให้ตนกูปะษาแลพรรคพวก พระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา กูสะริมะ หาคืนให้ไม่ ฝ่ายพระยากลันตันก็บอกกล่าวโทษตนกูปะษาว่า ตนกูปะษาคิดไม่ตรงกับพระยากลันตัน ตนกูปะษาใช้คนไปคิดกับพระยาบาโหงย ตนกูหลงฮามัด ตนกูดาเระ ณเมืองตรังกานู ตนกูดาเระให้คนไปคิดกับรายา ๆ ฝ่ายเมืองลิงาช่วยตนกูปะษาทำร้ายเมืองกลันตัน ครั้นถามตนกูปะษา ๆ ว่า เมื่อตนกูปะษาเข้ามาณกรุงเทพฯ ตนกูหลงฮามัดมีหนังสือมาว่า ขอให้ช่วยคิดอ่านให้ตนกูหลงฮามัดได้กลับมาอยู่เมืองกลันตันเท่านั้น ตนกูปะษาจะได้คิดทำร้ายเหมือนหนังสือบอกพระยากลันตันหามิได้ เจ้าพนักงานนำใบบอกพระยากลันตันแลคำให้การทานบนตนกูปะษาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระยากลันตัน ตนกูปะษา ไม่สามัคคีรศ จะสมัคสมานให้ดีกันอิก ก็จะดีกันแต่ปาก ใจต่อใจร้าวฉานกันแล้ว ที่ไหนจะดีกันได้ จะต้องแยกบ้านเมือง จึงจะมีความศุขทั้งสองฝ่าย ครั้งนั้น พระยาตานีถึงแก่กรรม จึงโปรดให้เลื่อนพระยาหนองจิกไปเปนพระยาตานี ให้พูดจาเกลี้ยกล่อมให้ตนกูปะษาพาสมัคพรรคพวกมาอยู่เมืองหนองจิกใกล้เมืองสงขลา จึงจะสิ้นอริวิวาทแก่กัน เมืองหนองจิกเปนเมืองน้อย พวกตนกูปะษามาอยู่มาก บ้านเมืองจะได้บริบูรณ์มั่งคั่งขึ้น ตนกูปะษารับยอมมาอยู่เมืองหนองจิก จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยาสงขลา พระยากลันตัน ให้พระยาไชยาท้ายน้ำเปนข้าหลวงพาตนกูปะษาออกไปเมืองกลันตัน แบ่งครอบครัวสมัคพรรคพวกตนกูปะษาขึ้นมาเมืองหนองจิก พระยาไชยาท้ายน้ำไปจากกรุงเทพฯ ณวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด แรมสามค่ำ ปีฉลู ตรีศก ถึงเมืองกลันตันณวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีฉลู ตรีศก

ณวันพุฒ เดือนห้า แรมสี่ค่ำ ปีขาน จัตวาศก พระยาไชยาท้ายน้ำมีใบบอกให้หลวงพิพิธภักดีถือเข้ามาว่า พระยาไชยาท้ายน้ำได้เตือนตนกูปะษาที่จะให้พาสมัคพรรคพวกมาเมืองหนองจิก ตนกูปะษาว่า คนที่จะมานั้นยังติดไร่นาอยู่ ต่อเดือน ๖ เก็บเข้าในนาแล้ว จึงจะได้มา ตนกูปะษาขอหนังสือพระยาไชยาท้ายน้ำไปเกลี้ยกล่อมพระยาบาโหงย ตนกูหลงฮามัด ณเมืองตรังกานู ได้มาถึงเมืองกลันตันณวันพุฒ เดือนห้า ขึ้นห้าค่ำ ปีขาน จัตวาศก เปนจำนวนคนตัวนาย ๑๔ ไพร่ ๒๐๐ แขกเมืองตรังกานูมาด้วย ๒๐ รวม ๒๓๔ คน พักอยู่น่าบ้านตนกูปะษา พระยาไชยาท้ายน้ำได้ให้พระยาบาโหงย ตนกูหลงฮามัด ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพูดว่ากล่าวจะให้พระยาบาโหงย ตนกูหลงฮามัด มาอยู่เมืองหนองจิก ก็อิดเอื้อนอยู่ ดูจะไม่สมัคมา ฝ่ายตนกูปะษาก็บิดพลิ้วเชือนแชไป ตนกูปะษาเขียนหนังสือสัญญามาให้พระยาไชยาท้ายน้ำมีความว่า ถ้าตนกูปะษาได้เปนเจ้าเมืองกลันตัน จะให้เงินพระยาไชยาท้ายน้ำ ๑๐๐๐๐ เหรียญ ขุนสำเร็จภาษาล่าม ๕๐๐ เหรียญ เจ้าพนักงานนำหนังสือบอกพระยาไชยาท้ายน้ำกราบบังคมทูลพระกรุณา ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราชฉบับหนึ่ง ถึงพระยาสงขลาฉบับหนึ่ง ว่า เมื่อตนกูปะษาเข้ามาณกรุงเทพฯ นั้น พระยากลันตันก็บอกกล่าวโทษเข้ามา ครั้นถามตนกูปะษา ๆ ก็ไม่รับ แล้วตนกูปะษาว่าพระยากลันตันบอกกล่าวโทษเข้ามาเปนความมหันตโทษไม่จริง จะทำราชการอยู่ในบังคับพระยากลันตันต่อไปไม่ได้ ขอพาสมัคพรรคพวกมาอยู่เมืองหนองจิก จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยาท้ายน้ำเปนข้าหลวงออกมาแบ่งครอบครัวเมืองกลันตันมาอยู่เมืองหนองจิก ครั้นมาถึงเมืองกลันตัน ขอหนังสือพระยาไชยาท้ายน้ำไปเกลี้ยกล่อมพระยาบาโหงย ตนกูหลงฮามัด มาแล้ว ตนกูปะษาคิดกลับกลายจะไม่ไปเมืองหนองจิก ประการหนึ่ง พระยาจางวางก็เกิดอริวิวาทกับพระยากลันตันอยู่ ตนกูปะษากับพระยาจางวางจะคิดการอย่างไรก็เดินถึงกัน แต่ข้าหลวงมีอยู่ที่เมืองกลันตัน พระยาจางวางจึงจะทำเปนคนดีอยู่กับพระยากลันตัน ถ้าไม่แยกตนกูปะษากับสมัคพรรคพวกมาเสียให้ได้ ก็จะก่อเหตุใหญ่รบกับพระยากลันตันอิก การก็ยืดยาวไป ให้เกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองสงขลา เมืองละสองพัน ให้พระยาเสนหามนตรี พระสุนทรรักษ์ คุมลงไปสมทบกับพระยาไชยาท้ายน้ำณเมืองกลันตัน พระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปะษา เห็นไพร่พลกองทัพยกมามาก พระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปะษา จะได้เกรงอำนาจ การจึงจะสำเร็จได้ แต่เมื่อจะยกไปนั้น ให้กิติศัพท์ฦาว่า สิ้นเทศกาลนาแล้ว ถึงกำหนด ตนกูปะษาจะพาครอบครัวสมัคพรรคพวกขึ้นมาเมืองหนองจิก เจ้าพระยานคร พระยาสงขลา ให้พระยาเสนหามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ ลงมาช่วยพระยาไชยาท้ายน้ำรับครอบครัวตนกูปะษาจ่ายเสบียงอาหารมิให้ขัดสน

หลวงพิพิธภักดีรับท้องตรากราบถวายบังคมลาไปจากกรุงเทพฯ ณวันจันทร เดือนหก แรมแปดค่ำ ปีขาน จัตวาศก วางท้องตราเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา แล้วไปเมืองกลันตัน พระสุนทรนุรักษ์คุมไพร่เมืองสงขลาไปถึงเมืองกลันตันณวันพุฒ เดือนแปด อุตราสาธ ขึ้นสี่ค่ำ ปีขาน จัตวาศก พระยาเสนหามนตรีคุมไพร่เมืองนครศรีธรรมราชไปถึงเมืองกลันตันณวันเสาร์ เดือนแปด อุตราสาธ แรมแปดค่ำ ปีขาน จัตวาศก ได้ปฤกษาราชการเมืองกลันตันพร้อมด้วยพระยาไชยาท้ายน้ำ ว่ากล่าวตนกูปะษาก็อ่อนน้อมยอมมาเมืองหนองจิก ณวันจันทร์ เดือนสิบ ขึ้นแปดค่ำ ปีขาน จัตวาศก ตนกูปะษาได้พาครอบครัวออกเดินมาจากเมืองกลันตัน เปน ๑๓๘๘ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๖๘๖๓ คน การซึ่งรับส่งตนกูปะษาครั้งนี้ พระยาตรังกานูจัดเรือช่วยรับส่งตนกูปะษา ๓๐ ลำ ช้างเมืองสงขลา ๕๐ ช้าง ตนกูปะษา ๕ รวม ๕๕ ช้าง แม่กองละไมเมืองสายคุมไพร่ ๑๐๐ คนนำไปน่า พระยาระแงะคุมไพร่ ๑๐๐ คนไปข้างหลัง พระยาไชยาท้ายน้ำไปส่งถึงบ้านตุมปัต ให้ขุนหมื่นไปส่งจนพ้นเขตรแดนเมืองกลันตัน พระยาบาโหงย ตนกูหลงฮามัด กลับไปรับครอบครัวณเมืองตรังกานูตามตนกูปะษามาอยู่ที่เมืองหนองจิกด้วยกัน พระยาบาโหงย ๑ ตนกูหลงฮามัด ๑ ถึงแก่กรรมณเมืองหนองจิก เมื่อตนกูปะษามาจากเมืองกลันตันแล้ว ดูกิริยาพระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ก็อ่อนน้อมต่อพระยากลันตัน พระยาเสนหามนตรีจึงหาตัวพระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา มาณค่าย แล้วยึดตัวไว้ว่า จะพาเข้ามาณกรุงเทพฯ พระยาจางวาง รายามุดา ตนกูศรีอินดารา ก็ยอมจะเข้ามาโดยปรกติ พระยากลันตันจึงได้มาอ้อนวอนขอรายามุดา ตนกูศรีอินดารา ต่อพระยาเสนหามนตรีไว้ช่วยทำราชการที่เมืองกลันตัน พระยาเสนหามนตรีเห็นว่า รายามุดา ตนกูศรีอินดารา เปนผู้น้อย ก็ให้พระยากลันตันไว้ พระยาเสนหามนตรีพาพระยาจางวาง ๑ ตนกูสุหลง ๑ ตนกูกะจิ ๑ ตนกูสะนิ ๑ แขก ๕ ไพร่ ๓๓ รวม ๔๒ คน กับหวันหะนุ เจะหวัง แขกในพระยากลันตัน ให้คุมทองคำทรายหนัก ๒ ชั่งแขก ของถวาย เข้ามาด้วยพระยาเสนหามนตรี ถึงเมืองนครศรีธรรมราชณวันอังคาร เดือนสิบเอ็ด แรมสิบสามค่ำ ปีขาน จัตวาศก เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงมีใบบอกให้พระยาเสนหามนตรีพาพระยาจางวาง นายไพร่ ๔๒ คน กับหวันหะนุ เจะหวัง เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจางวางกับสมัคพรรคพวกออกไปอยู่ณเมืองนครศรีธรรมราช

ตนกูปะษาอยู่ณเมืองหนองจิกได้ ๓ ปี ณปีมะเสง สัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ ปี พระยาตานีป่วยถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตนกูปะษาเปนที่พระยาตานี ตนกู เปนพระพิพิธภักดี ผู้ช่วยราชการ พระยาตานีจึงพาสมัคพรรคพวกไปอยู่เมืองตานีบ้าง ยังตกค้างอยู่เมืองหนองจิกบ้าง พระยาตานีกับพระยากลันตันกลับมีความนับถือรักใคร่กันเหมือนแต่ก่อน พระยาตานีได้ขอตนกูจี บุตรหญิงของพระยากลันตัน ให้เปนภรรยาตนกูปูแตะ บุตรพระยาตานีคนหนึ่ง ครั้นแต่งงานแล้ว ตนกูปูแตะรับมาอยู่ณเมืองตานี

ณปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยายะหริ่งป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาจางวางไปเปนที่พระยายะหริ่ง ตั้งตนกูสุหลง บุตรผู้ใหญ่ เปนที่หลวงสุนทรรายา ผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่ง พระยายะหริ่งจึงพาบุตรกับแขกนายไพร่ไปอยู่เมืองยะหริ่ง ครั้นพระยายะหริ่งป่วยถึงแก่กรรมแล้ว หลวงสุนทรรายา บุตรหลาน พาสมัคพรรคพวกกลับไปอยู่ด้วยพระยากลันตันณเมืองกลันตัน

ณปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ พระยาตานี ตนกูปะษา ป่วยถึงแก่กรรม พระยาตานีมีบุตรชายชื่อ ตนกูปูเตะ ๑ ตนกูมะเดาะ ๑ ตนกูนีดอระฮัน ๑ ตนกูสบาสุ ๑ รวม ๔ คนอยู่ณเมืองตานี โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ตนกูปูเตะ บุตรผู้ใหญ่ เปนที่พระยาตานีทำราชการแทนบิดาสืบต่อไป พระยาตานีแลภรรยาได้ไปมาเยี่ยมเยียนพระยากลันตันมิได้ขาด พระยากลันตันได้รับบุตรพระยาตานีชื่อ ตนกูปะษา ซึ่งเปนหลานนั้น ไปอยู่เมืองกลันตัน พระยาตานีได้บุตรหญิงพระพิพิธภักดีเปนภรรยาคนหนึ่ง

ณปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคด้วยกระบวนเรือพระที่นั่งกลไฟทอดพระเนตรหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเลไปถึงเมืองตานี เมื่อเสด็จประทับณพลับพลาแหลมสน เมืองสงขลา พระยากลันตันพาตนกูปะษา ผู้บุตร เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทถวายตัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งตนกูปะษาเปนที่พระรัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศ ผู้ช่วยราชการเมืองกลันตัน

ณปีมะเสง เอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ ในรัชกาลที่ ๕ ฯพณฯ เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จัดเรือกลไฟชื่อประพาศอุดรสยามให้หลวงโกชาอิศหากเปนข้าหลวงออกไปรับพระรัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท เรือประพาศอุดรสยามไปจากกรุงเทพฯ ณวันพฤหัศบดี เดือนเจ็ด ขึ้นสองค่ำ ปีมะเสง เอกศก กลับมาถึงกรุงเทพฯ วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด แรมสิบสองค่ำ ปีมะเสง เอกศก เปนจำนวนคนเมืองกลันตัน พระรัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศ ๑ ตนกูพี่น้อง ๔ ศรีตวันกรมการ ๓๒ กับตันจีน ๒ ไพร่จีน ๗ ไพร่แขก ๒๐ รวม ๗๐ คน เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

ณวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหกค่ำ ปีมะเสง เอกศก โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรให้พระรัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศเปนพระยารัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศ ประเทศราชนฤบดินทร์ สุรินทรวิวังษา ผู้ว่าราชการแทนพระยากลันตัน พระราชทานดาบฝักทองเล่ม ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เรือประพาศอุดรสยามไปส่งพระรัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศออกจากกรุงเทพฯ ณวันพุฒ เดือนแปด บุรพาสาธ ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเสง เอกศก กลับมาถึงกรุงเทพฯ ณวันเสาร์ เดือนแปด อุตราสาธ ขึ้นสองค่ำ ปีมะเสง เอกศก

ณปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘ กำหนดแขกเมืองประเทศราชส่งต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย พระยา กลันตันแต่งให้หวันบาหยา นายไพร่ คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ เข้ามา แลมีใบบอกมาว่า พระยากลันตันแก่ชรา ขอมอบราชการบ้านเมืองให้พระยารัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศทำต้นไม้ทองเงินจัดเครื่องราชบรรณาการแทนพระยากลันตันต่อไป

ครั้นแขกเมืองกราบถวายบังคมลา โปรดเกล้าฯ มีท้องตราพระคชสีห์ตอบถึงพระยากลันตันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระยากลันตันแก่ชราแล้ว จะทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงพระยารัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศขึ้นเปนเจ้าเมือง จะโปรดเกล้าฯ เพิ่มยศพระยากลันตันขึ้นเปนจางวางเมืองกลันตัน ให้พระยากลันตันปฤกษาญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ถ้าเห็นดีพร้อมกัน ก็ให้มีหนังสือบอกเข้ามาให้ทรงทราบ

พระยากลันตัน รายามุดา พระยารัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศ จึงมีหนังสือบอกให้หวันมุดา นายไพร่ ถือมาทางเมืองนครศรีธรรมราช ๆ ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ มีความว่า พระยากลันตัน รายามุดา พระยารัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศ ปฤกษาญาติพี่น้องเห็นชอบพร้อมกันแล้ว แต่พระยากลันตันสั่งหวันมุดามานอกหนังสือบอกให้กราบเรียน ฯพณฯ ที่สมุหพระกลาโหม ว่า ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มยศบรรดาศักดิ์ขึ้นนั้น พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ แต่อักษรว่า จางวาง นั้นขอเปลี่ยนให้เปนอย่างอื่น

ฯพณฯ ที่สมุหพระกลาโหม ได้ทราบแล้ว นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานกรมพรอาลักษณ์แต่งนามลงในสัญญาบัตรว่า พระยาเดชานุชิต มหิศรายานุกูล วิบูลย์ภักดี ศรีสุลต่านมะหมัด รัตนธาดา มหาปธานาธิการ ผู้กำกับดูแลผิดแลชอบในราชการเมืองกลันตัน เสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอมรวิไสยสรเดช เจ้ากรมทหารปืนใหญ่ กับพระยาราชวังสรรค์ จางวางกรมอาษาจาม พระเสนหามนตรี ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช เปนข้าหลวงไปด้วยเรือรบชื่อ พิทยัมรณยุทธ เชิญสัญญาบัตรแลท้องตราตั้งพระยากลันตันเปนที่พระยาเดชานุชิต พระยารัษฎาธิบดีบุตรบุรุษย์พิเสศเปนที่พระยากลันตัน ณเมืองกลันตัน เรือรบใช้จักรออกจากกรุงเทพฯ ณวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก พระราชทานตั้งเสร็จแล้ว กลับมาถึงกรุงเทพฯ ณวันพฤหัศบดี เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีฉลู นพศก